ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > นับถอยหลังประชามติ รธน.: จาก Brexit ถึงร่างรัฐธรรมนูญไทย “บรรยากาศ” ประชามติอันแตกต่าง

นับถอยหลังประชามติ รธน.: จาก Brexit ถึงร่างรัฐธรรมนูญไทย “บรรยากาศ” ประชามติอันแตกต่าง

26 มิถุนายน 2016


บรรยากาศการรณรงค์ "อยู่ต่อ" (ป้ายสีแดง) หรือ "ถอนตัว" (ป้ายสีฟ้า) ที่เป็นไปอย่างคึกคักก่อนการทำประชามติ BREXIT ที่มาภาพ : http://news.nationalpost.com/news/world/matthew-fisher-nostalgia-misinformation-fuel-brexit-campaign-that-defies-conventional-logic
บรรยากาศการรณรงค์ “อยู่ต่อ” (ป้ายสีแดง) หรือ “ถอนตัว” (ป้ายสีฟ้า) ที่เป็นไปอย่างคึกคักก่อนการทำประชามติ Brexit ที่มาภาพ: http://news.nationalpost.com/news/world/matthew-fisher-nostalgia-misinformation-fuel-brexit-campaign-that-defies-conventional-logic

แม้ผลการทำประชามติว่าอังกฤษจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือไม่ หรือที่เรียกกันว่า Brexit (เป็นการผสมคำระหว่าง Britain+Exit) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 เมื่อเสียงโหวต “ถอนตัว” (leave) ชนะเสียงโหวต “อยู่ต่อ” (remain) ที่ 51.9% ต่อ 48.1% จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียง 33.57 ล้านคน คิดเป็น 72.2% ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด

และแม้ Brexit จะสร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก ทั้งต่อตลาดหุ้น ค่าเงิน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ฯลฯ อย่างทันทีทันใด ในขณะที่นักวิเคราะห์และสื่อมวลชนต่างคาดเดาผลกระทบทางลบ ทั้งต่ออังกฤษ ยุโรป ไปจนถึงโลก ในอนาคตอันใกล้

แต่เป็นที่น่าสนใจว่า แทบไม่มีใครออกมา “คัดค้าน” หรือ “โต้แย้ง” ผลของการทำประชามติครั้งนี้เลย กระทั่งนายเดวิด คาเมรอน หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม ที่ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ หลังผล Brexit ออกมา สวนกับสิ่งที่เขาต้องการ คือให้อังกฤษอยู่กับอียูต่อไป ก็ยังบอกต่อสาธารณชนว่า “ต้องเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน” ที่แสดงออกผ่านการทำประชามติครั้งนี้

เหตุใดผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายถึงเคารพผลการทำประชามติอันสั่นสะเทือนโลกครั้งนี้?

หนึ่งในเหตุผลสำคัญ น่าจะเป็นเพราะกระบวนการในการทำประชามติครั้งนี้ ที่เปิดโอกาสให้ “ผู้เห็นต่าง” ได้ออกมารณรงค์ให้ข้อมูลเพื่อจูงใจเหล่า voter อย่างเต็มที่

และเป็นกรณีศึกษาสำหรับการทำประชามติว่าจะรับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ กลายๆ

นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง โดยให้มีผลในเดือนตุลาคม 2559 หลังจากรู้ผล Brexit ซึ่งคะแนน "อยู่ต่อ" ที่เขาสนับสนุนพ่ายแพ้ให้กับ "ถอนตัว" ที่มาภาพ : http://www.bbc.com/news/uk-politics-eu-referendum-36619446
แม้จะต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง แต่นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ก็ยังขอให้ทุกฝ่าย “เคารพ” ผลการลงประชามติ Brexit ซึ่งคะแนนฝ่าย “อยู่ต่อ” ที่เขาสนับสนุนพ่ายแพ้ให้กับฝ่าย “ถอนตัว” ที่มาภาพ : http://www.bbc.com/news/uk-politics-eu-referendum-36619446

Brexit เกิดขึ้นจากการที่นายคาเมรอนไปประกาศระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2556 ว่าหากชนะเลือกตั้งก็จะจัดให้มีการทำประชามติเรื่องนี้ขึ้น เมื่อพรรคอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้งจึงมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการทำประชามติเกี่ยวกับสหภาพยุโรป พ.ศ. 2558 (European Union Referendum Act 2015) ให้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาอังกฤษ ก่อนที่นายคาเมรอนจะประกาศต่อสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ว่าจะทำประชามติว่าจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกอียูหรือไม่ ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2559

หลังจากผู้นำอังกฤษประกาศวันและเวลาหย่อนบัตรที่ชัดเจน บรรยากาศการรณรงค์ประชามติก็คึกคักขึ้นมาทันที!

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะกฎหมายแดนผู้ดี ได้กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อังกฤษ มีหน้าที่สนับสนุนให้กลุ่มรณรงค์ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะ leave หรือ remain ได้ออกมารณรงค์ผ่านช่องทางต่างๆ อย่างเต็มที่ โดย “ทุกคน” สามารถเป็นผู้รณรงค์ (campaigner) ได้หมด ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของบุคคลหรือองค์กร แต่หากต้องการใช้จ่ายเงินเกินกว่า 10,000 ปอนด์ (ราว 5 แสนบาท) จะต้องมาลงทะเบียนกับ กกต.อังกฤษ เพื่อให้เป็น “ผู้รณรงค์แบบลงทะเบียน” (registered campaigner) โดยจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดบางอย่าง

ทั้งนี้ กกต.อังกฤษยังสามารถเลือกกลุ่มรณรงค์ใดขึ้นมาเป็น “ผู้รณรงค์หลัก” (lead campaigner) ซึ่งจะได้สิทธิพิเศษเหนือผู้รณรงค์อื่นๆ อาทิ มีสิทธิใช้จ่ายเงินได้สูงถึง 7 ล้านปอนด์ (ราว 350 ล้านบาท), ได้พื้นที่ในเอกสารประชาสัมพันธ์ของ กกต.อังกฤษ, ได้ออกรายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับการทำประชามติ, ได้เงินกินเปล่า 600,000 ปอนด์ (ราว 30 ล้านบาท) เพื่อใช้ในการบริหารจัดการภายใน ฯลฯ

สำหรับกรณี Brexit กลุ่มรณรงค์หลักของฝ่าย “อยู่ต่อ” คือ กลุ่ม Britain Stronger in Europe ส่วนกลุ่มรณรงค์หลักของฝ่าย “ถอนตัว” คือ กลุ่ม Vote Leave ที่มี “นายบอริส จอห์นสัน” อดีตนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ซึ่งว่ากันว่าเป็น candidate นายกฯ อังกฤษคนต่อไปหลังนายคาเมรอนลงจากตำแหน่ง เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลัก

อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มรณรงค์อื่นๆ อีกหลายสิบกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวในการทำประชามติครั้งนี้ อาทิ กลุ่ม Labour In for Britain, กลุ่ม #INtogether, กลุ่ม Greens for a Better Europe ฯลฯ สำหรับฝ่าย “อยู่ต่อ” และกลุ่ม Leave.EU, กลุ่ม Grassroots Out, กลุ่ม Better Off Out ฯลฯ สำหรับฝ่าย “ถอนตัว” เป็นต้น

นายบอริส จอห์นสัน อดีตนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ผู้รณรงค์คนสนับสนุนเรียกร้องให้ชาวอังกฤษลงประชามติ "ถอนตัว" จากสหภาพยุโรป ที่มาภาพ : http://www.theguardian.com/politics/2016/mar/14/boris-johnson-attacks-obamas-hypocrisy-over-brexit-warning
นายบอริส จอห์นสัน อดีตนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ผู้รณรงค์คนสนับสนุนเรียกร้องให้ชาวอังกฤษลงประชามติ “ถอนตัว” จากสหภาพยุโรป ที่มาภาพ: http://www.theguardian.com/politics/2016/mar/14/boris-johnson-attacks-obamas-hypocrisy-over-brexit-warning

หากศึกษาคู่มือว่าด้วยการทำประชามติเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกอียูของอังกฤษ (Media Handbook: Referendum on the United Kingdom’s Membership of the European Union) ที่เผยแพร่ไว้บนเว็บไซต์ของ กกต.อังกฤษ ก็จะพบว่า กกต. แห่งเกาะร่ำรวยเชื้อชาตินี้ ไม่ได้มีหน้าที่ในการไปไล่จับผิด “เนื้อหา” การรณรงค์ประชามติ จะ Brexit หรือ remain ก็สามารถว่ากันไปได้อย่างเต็มที่

การกระทำผิดใดๆ เกี่ยวกับ “เนื้อหา” การรณรงค์ในบางกรณีจะเป็นหน้าที่ของตำรวจ เช่น ความผิดฐานทำให้เกิดความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติ ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความสงบเรียบร้อยสาธารณะ พ.ศ. 2529 (Public Order Act 1986) ในบางกรณีก็เป็นเรื่องที่คู่กรณีจะต้องไปยื่นฟ้องกันเอง เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาทใส่ร้ายป้ายสี

กระทั่งการโกงเลือกตั้ง หรือโกงประชามติ (electoral fraud) ไม่ว่าจะเป็นลงคะแนนแทน ข่มขู่คุกคามให้ลงคะแนนอย่างหนึ่งอย่างใด ติดสินบน (ซื้อเสียง) ลงทะเบียนด้วยข้อมูลเท็จ ฯลฯ กกต.อังกฤษก็มีหน้าที่เพียงทำงานร่วมกับตำรวจในการป้องกันและสอดส่องดูแล แต่หากพบว่ามีผู้กระทำผิดจริง ก็เป็นหน้าที่ของตำรวจในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดบุคคลนั้น

เมื่อไม่มีหน้าที่ในการจับผิด “เนื้อหา” การรณรงค์ บทบาทของ กกต.อังกฤษจึงไปอยู่ที่การประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้คนออกมาใช้สิทธิมากกว่า โดยเฉพาะการเชิญชวนให้คนมาลงทะเบียน เพราะก่อนจะไปออกเสียงได้จะต้องลงทะเบียนก่อน โดยสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า กกต.อังกฤษใช้งบในประชาสัมพันธ์ Brexit ไปถึง 6.4 ล้านปอนด์ (ราว 320 ล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นการใช้เงินโฆษณาทางโทรทัศน์ รวมถึงการจัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์หนาแปดหน้าเพื่อแจกจ่ายไปยังครัวเรือนในอังกฤษทั้ง 27 ล้านหลัง

กลุ่มคณาจารย์และนักวิชาการภายใต้ชื่อ "เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง" เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ออกมาประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ ที่มาภาพ : http://daily.bangkokbiznews.com/detail/247943
กลุ่มคณาจารย์และนักวิชาการภายใต้ชื่อ “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง” เป็นเพียงไม่กี่กลุ่ม ที่ออกมาประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ ที่มาภาพ: http://daily.bangkokbiznews.com/detail/247943

ลองย้อนกลับมาดูบรรยากาศการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ในไทย จะพบว่า แม้จะเหลือเวลาก่อนหย่อนบัตรเพียง 6 สัปดาห์ แต่บรรยากาศโดยรวมกลับค่อนข้างเงียบเหงา มีเพียงคนบุคคลไม่กี่กลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักการเมืองไม่ก็นักวิชาการเท่านั้น ที่ออกมาแสดงจุดยืนว่าจะ “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฯ

เหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการส่งสัญญาณอันสับสนในหมู่ผู้มีอำนาจ ว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติ) เพราะในขณะที่ กกต.ไทยระบุว่า การแสดงจุดยืนรับ-ไม่รับ สามารถทำได้ แต่ผู้มีอำนาจในรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับบอกว่าทำไม่ได้เลย

หรือในบางกรณีที่แม้ไม่ผิด พ.ร.บ.ประชามติ แต่กลับบอกว่าอาจจะผิดประกาศหรือคำสั่ง คสช. โดยมีโทษสูงสุดถึงขั้นยุบพรรคการเมือง!

ไม่รวมถึงกรณีที่กรรมการ กกต. บางคนไปประเดิม แจ้งความจับบุคคลบางกลุ่มว่ากระทำผิด พ.ร.บ.ประชามติ ทั้งที่การกระทำดังกล่าวควรจะได้รับมติจากที่ประชุม กกต. ก่อน

เมื่อเกิดความคลุมเครือว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ไม่แปลกใจที่บรรยากาศการรณรงค์ประชามติของไทยจะยังไม่คึกคักเท่าที่ควร

พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง ที่คณะผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่า มีเนื้อหาไม่ชัดเจน คลุมเครือ อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสน
พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง ที่คณะผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่ามีเนื้อหาไม่ชัดเจน คลุมเครือ อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสน

หลายคนอ้างว่า เหตุที่ กกต.ไทยต้องมาจับผิด “เนื้อหา” ของการรณรงค์ ก็เนื่องมาจาก พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง ได้กำหนดว่า ห้ามไม่ให้เผยแพร่ข้อมูลที่มีลักษณะบิดเบือน รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดุม หรือข่มขู่ ให้คนไปใช้เสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

เป็นมาตราเดียวกับที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 หรือไม่ “เพราะมีเนื้อหาไม่ชัดเจน คลุมเครือ อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสน จนไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นต่อเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่จะมีการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 และอาจมีการใช้เนื้อหาดังกล่าวไปดำเนินการกับประชาชนได้”

โดยศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินในวันที่ 29 มิถุนายน 2559 ซึ่งหลายคนก็คาดหวังว่าผลการวินิจฉัยดังกล่าวจะทำให้การรณรงค์ประชามติครั้งมีความชัดเจนมากขึ้นว่าอะไรทำได้-อะไรทำไม่ได้

บรรยากาศแห่งการออกมาเคลื่อนไหวให้ข้อมูล เพื่อที่ประชาชนได้จะได้ใช้ประกอบการตัดสินใจกำหนดอนาคตของตัวเองและของประเทศชาติจะได้กลับไปคึกคัก อย่างน้อยๆ ไม่แพ้การรณรงค์ก่อนทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ เมื่อปี 2550

หากเปิดให้ฝ่ายต่างๆ ได้รณรงค์อย่างเต็มที่ ไม่มีการสกัดกั้น เชื่อว่าไม่ว่าผลการทำประชามติออกมาอย่างไร คนส่วนใหญ่จะต้องยอมรับ ไม่ต่างจากกรณี Brexit ที่คนทั้งโลกยอมรับ แม้คาดการณ์กันว่าจะส่งผลร้ายมากกว่าผลดี