ThaiPublica > เกาะกระแส > นับถอยหลังประชามติ รธน.: วิวาทะว่าด้วยเรื่อง “ศาสนา” ในรัฐธรรมนูญ

นับถอยหลังประชามติ รธน.: วิวาทะว่าด้วยเรื่อง “ศาสนา” ในรัฐธรรมนูญ

19 มิถุนายน 2016


ที่มาภาพประกอบ : http://www.ibtimes.co.uk/thai-boys-makeup-shave-heads-eyebrows-become-buddhist-novices-1444088
ที่มาภาพ: http://www.ibtimes.co.uk/thai-boys-makeup-shave-heads-eyebrows-become-buddhist-novices-1444088

แม้ผลการสำรวจสำมะโนประชากรและเคหะของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ครั้งล่าสุด เมื่อปี 2557 จะระบุว่า คนไทยส่วนใหญ่ 94.6% นับถือ “ศาสนาพุทธ” รองลงมา คือ ศาสนาอิสลาม (4.2%) ศาสนาคริสต์ (1.1%) และศาสนาอื่นๆ รวมทั้งไม่มีศาสนา (0.1%)

แต่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับที่ผ่านมา ไม่เคยมีฉบับไหนระบุเฉพาะเจาะจงให้ส่งเสริมศาสนาหรือนิกายในศาสนาใดเป็นพิเศษ

โดยเนื้อหาเกี่ยวกับ “ศาสนา” ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือ “รัฐธรรมนูญฯ ฉบับถาวร” (ไม่รวมรัฐธรรมนูญฯ ฉบับชั่วคราว หรือธรรมนูญการปกครอง ที่เขียนโดยรัฐบาลทหารที่มาจากการยึดอำนาจ) ถึง 9 ฉบับ จากทั้งหมด 12 ฉบับ โดยปรากฏครั้งแรก ในรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปี 2489 เรื่อยมาจนฉบับปี 2492 ฉบับปี 2495 ฉบับปี 2511 ฉบับปี 2517 ฉบับปี 2521 ฉบับปี 2534 ฉบับปี 2540 และฉบับปี 2550

โดยเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฯ ฉบับถาวร ส่วนใหญ่มักเป็นการรับรอง “เสรีภาพในการนับถือศาสนา นิกาย ลัทธิ และเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อของตน” โดยมีข้อแม้ว่า จะต้องไม่เป็นปฏิปักษ์กับหน้าที่พลเมือง และขัดขวางความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฯ ฉบับปี 2489 ถึงฉบับปี 2534) ที่แม้จะมีการใช้ถ้อยคำที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ใจความสำคัญก็คล้ายคลึงกัน

กระทั่งรัฐธรรมนูญฯ ฉบับถาวร ปี 2540 ที่มีการระบุเพิ่มเติมไว้ในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐว่า “รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น” และ “ส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา” (มาตรา 73) ขณะที่ฉบับปี 2550 ก็ระบุข้อความคล้ายๆ กัน

มาถึงร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับที่จะใช้ในการออกเสียงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน จัดทำขึ้น กลับมีการเขียนถึงสถานะของศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพุทธที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ โดยนอกจากมาตรา 31 ที่รับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนา ยังมีมาตรา 67 ที่กล่าวถึงพุทธศาสนา โดยเฉพาะ “นิกายเถรวาท” โดยตรง โดยมีเนื้อหาดังนี้

มาตรา 67 ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. .... (ฉบับออกเสียงประชามติ)
มาตรา 67 ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. (ฉบับออกเสียงประชามติ)

ในการแถลงข่าวเปิดตัวร่างรัฐธรรมนูญฯ ร่างสุดท้าย ที่จะใช้ในการออกเสียงประชามติ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 นายมีชัยกล่าวชี้แจงถึงสาเหตุที่ไม่ระบุให้ “ศาสนาพุทธ” เป็นศาสนาประจำชาติ ตามเสียงเรียกร้องของบุคคลบางกลุ่มที่เคลื่อนไหวให้บัญญัติเช่นนี้ไว้ในกฎหมายสูงสุด ตั้งแต่การยกร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับถาวร ปี 2550 ว่า

“ข้อเรียกร้องให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เราเห็นว่า อาจเกิดปัญหาและไม่คุ้มค่า จึงกำหนดใหม่ให้มีการศึกษาและเผยแพร่หลักพุทธเถรวาท เพื่อให้พัฒนาจิตใจและปัญญา พร้อมทั้งบัญญัติกลไกป้องกันการบ่อนทำลายพุทธศาสนาทุกรูปแบบ โดยให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วม จะได้ให้ครบพุทธบริษัท 4 ถือเป็นครั้งแรกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ” ประธาน กรธ. กล่าว

ทั้งนี้ พุทธศาสนา มี 2 นิกายใหญ่ นั่นคือ “นิกายเถรวาท” คือนิกายที่ยึดถือพระธรรมวินัยเดิมอย่างเคร่งครัด โดยผู้นับถือนิกายเถรวาทในประเทศไทยเองสามารถแตกแยกย่อยได้อีก เช่น ธรรมยุต มหานิกาย ฯลฯ และ “นิกายมหายาน” จะเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเดิมน้อยกว่า โดยเน้นการบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์สร้างบารมีเพื่อช่วยเหลือสรรพชีวิตในโลกไปสู่ความพ้นทุกข์

แม้ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้จะไม่ใส่ถ้อยคำที่อ่อนไหวและยังเป็นข้อถกเถียงอย่าง “ให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฯ

และแม้จากการประเมินของหลายๆ หน่วยงาน อัตราส่วนการนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทของคนไทยจะมีถึง 85-95% ของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธทั้งหมดก็ตาม

แต่ข้อความใหม่ที่ใส่เข้าไปว่า “รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา” ก็สร้างวิวาทะจากผู้เกี่ยวข้อง ว่าอาจทำให้เกิดปัญหาภายหลัง

อาทิ ผศ.ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการด้านศาสนา กล่าวกับมติชนทีวีว่า พุทธศาสนานิกายเถรวาทก็มีสำนักย่อยๆ มากมายเป็นร้อยสำนัก คำถามคือ จะใช้คำสอนของสำนักใดเป็นใหญ่ จะเป็นสำนักที่ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจหรือไม่

“อย่างเช่นธรรมกายก็บอกว่าตัวเองเป็นเถรวาท แต่ก็มีชาวพุทธอีกกลุ่มที่ไม่ยอมรับธรรมกายว่าเป็นเถรวาท แค่นี้ก็ทะเลาะกันแล้ว แล้วจะไปหาจุดกึ่งกลางได้อย่างไร” ผศ.ดนัยกล่าว

นายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา กล่าวว่า รัฐที่เป็นเสรีประชาธิปไตยมีหน้าที่รักษาความเสมอภาคของทุกๆ ศาสนา ส่วนตัวมองว่ารัฐไม่มีสิทธิเข้าไปควบคุมความเชื่อทางศาสนาเลย รัฐจะเข้าไปยุ่งได้ก็ต่อเมื่อมีการละเมิดสิทธิพลเมืองเท่านั้น ส่วนตัวมองว่าวิธีการแบบนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรในแวดวงศาสนาได้

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มองว่า มาตรานี้ของร่างรัฐธรรมนูญฯ มีประโยชน์ จะเอาไว้ใช้จัดการกับคนที่อวดอุตริมนุสธรรม ไปบิดเบือนคำสอนของพระพุทธเจ้า รวมถึงไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ. เคยชี้แจงกับหนังสือพิมพ์คมชัดลึกว่า บทบัญญัติของมาตรา 67 นี้ เพิ่งถูกเตรียมมาในช่วงท้ายของการยกร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ โดยเหตุที่ต้องใส่คำว่า “พุทธศาสนาเถรวาท” เอาไว้ ก็เพราะสมัยก่อนเรื่องเกี่ยวกับศาสนาอาจไม่อ่อนไหวเหมือนปัจจุบัน ปัจจุบันถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสถาบันศาสนาทั่วโลก เกิดลัทธิ นิกาย พิธีกรรมแปลกๆ ใหม่ๆ จึงจำเป็นต้องเขียนไว้ให้เป็นหน้าที่ของรัฐเพื่อรักษาพุทธแท้เอาไว้

“ก่อนที่จะกำหนดเรื่องนี้ลงไป กรธ. ได้มีการปรึกษาผู้รู้ พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ และศึกษาจากงานวิจัยต่างๆ อย่างถ้วนถี่ เห็นว่าจะเป็นประโยชน์จึงได้กำหนดไว้ ไม่คิดว่าจะเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกแต่อย่างใด ต่างจากอีกเรื่องที่มีการเรียกร้องคือ ให้กำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ” นายชาติชายกล่าว

ท่ามกลางสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน การใส่บทบัญญัติใหม่ๆ เกี่ยวกับศาสนาเข้าไปในร่างรัฐธรรมนูญฯ จะส่งผลอย่างไรต่อสถาบันศาสนาในอนาคต เป็นเนื้อหาอีกเรื่องที่ต้องใคร่ครวญ ก่อนจะลงมติอย่างใดอย่างหนึ่ง ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้