ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > นับถอยหลังประชามติ รธน. : หั่นเวลาเรียนฟรี เหลือ 12 ปี กับโจทย์อนาคตสร้างคนสร้างชาติ!

นับถอยหลังประชามติ รธน. : หั่นเวลาเรียนฟรี เหลือ 12 ปี กับโจทย์อนาคตสร้างคนสร้างชาติ!

5 มิถุนายน 2016


นายมีชัย ฤชุพันธู์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาภาพ : http://cdc.parliament.go.th/
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาภาพ: http://cdc.parliament.go.th/

หนึ่งในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. (ฉบับลงประชามติ) ที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมมากที่สุด ก็คือมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปีตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย”

กล่าวคือ “ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ ได้กำหนดให้มีการศึกษาภาคบังคับที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือ “เรียนฟรี” เพียง 12 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาล-ม.ต้น เท่านั้น

จากเดิมที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 43 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 49 กำหนดว่า “ไม่น้อยกว่า” 12 ปี

ขณะที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ขยายกรอบเวลาเรียนฟรีเป็น 15 ปี ตั้งแต่ระดับอนุนาล-ม.ปลาย รวมถึง ปวช. ตาม “โครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ” ครอบคลุมทั้งสายสามัญและสายอาชีวศึกษา โดยให้การอุดหนุนค่าเล่าเรียนต่อหัวของนักเรียน ทั้งในรูปตัวเงิน และให้แก่สถาบันการศึกษาและครอบครัวนักเรียน

และรัฐธรรมนูญฉบับที่ยกร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จำนวน 21 คน ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังลดสิทธิการ “เรียนฟรี” ใช่หรือไม่”

บทบัญญัติดังกล่าว ทำให้เยาวชนกลุ่ม “การศึกษาเพื่อความเป็นไท” ออกมาทวงสิทธิการเรียนฟรีในระดับ ม.ปลาย ที่หายไปโดยทันที

ขณะที่ผู้ปกครองหลายๆ คน (นำโดย คมเทพ ประภายนต์ นายกสมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ) ก็เกิดคำถามขึ้นในใจ

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. .... (ฉบับลงประชามติ) มาตรา 54 ที่บัญญัติว่าให้รัฐจัดให้มีการเรียนฟรีเพียง 12 ปี
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. (ฉบับลงประชามติ) มาตรา 54 ที่บัญญัติให้รัฐจัดให้มีการเรียนฟรีเพียง 12 ปี จากที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีนโยบายให้เรียนฟรีถึง 15 ปี

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ชี้แจงถึงสาเหตุที่ตัดการเรียนฟรีในระดับ ม.ปลายออกไปว่า เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างคนจนกับคนรวย ต้องเข้าใจว่าทุกวันนี้ระบบการศึกษาไม่เท่าเทียมกัน เพราะเด็กจะพัฒนาได้ต้องอยู่ระหว่าง 2-5 ขวบ ซึ่งคนมีเงินได้รับการพัฒนา แต่คนจนไม่ได้รับการพัฒนา เพราะฉะนั้น พอถึงระดับ ม.ปลายก็เสียเปรียบ สู้กันไม่ได้ เพราะตอนนั้นสมองไม่พัฒนาแล้ว

“สิ่งที่เราทำก็คือการร่น 12 ปีลงมาข้างล่างเพื่อรองรับคนจน แล้วพอถึงระดับ ม.ปลาย คนจนก็จะได้รับการดูเพราะจะมีกองทุนการศึกษาให้ ส่วนคนมีสตางค์ก็ออกสตางค์ เพราะฉะนั้น ความทัดเทียมถึงจะเกิดขึ้นได้จริง ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้คนจนก็จะแย่ เสียเปรียบ” นายมีชัยชี้แจง

ขณะที่ สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถ้าดูมาตรา 54 วรรคหนึ่ง จะต้องดูมาตรา 258 ที่ระบุให้จัดตั้ง “กองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา” ควบคู่กันไปด้วย โดยปัจจุบันประเทศไทยลงทุนงบประมาณด้านการศึกษาปีละ 4-5 แสนล้านบาท แต่มีการลงทุนในระดับก่อนประถมน้อยมาก ทั้งที่ทั่วโลกได้หันกลับมาเน้นการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เพราะเห็นได้ชัดว่าหากสมองเด็กวัยนี้ได้รับการพัฒนาก็จะเจริญได้เต็มที่ถึง 90%

“ร่าง รธน.นี้ มาตรา 54 มุ่งสร้างคนคุณภาพตั้งแต่ก่อนวัยเรียน และยังลดความเหลื่อมล้ำของสังคม โดยปฏิรูประบบการเงินคือตั้งกองทุน เมื่อเด็กเรียนจบ ม.3 และเรียนต่อ หากเป็นเด็กยากจนจะได้เข้ากองทุนนี้ซึ่งจะได้เรียนฟรี โดยเฉพาะประชาชนที่ยากจนที่สุดของประเทศที่มีประมาณ 10%”

อย่างไรก็ตาม สมพงษ์ก็ยอมรับว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ก็ยังมีข้อห่วงใย คือจะทำให้นักเรียนบางส่วนเสียสิทธิจากที่เคยได้รับการอุดหนุนจากรัฐ เช่น แบบเรียน ชุดนักเรียน แต่ตนมั่นใจว่า หากมีการทำความเข้าใจ 2 มาตรานี้ให้กับเด็กและผู้ปกครอง เชื่อว่าจะยินยอม เพราะเราเห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมมานาน

https://www.youtube.com/watch?v=JhJErHeeDP8

ท่ามกลางความสับสนว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ ตัดเวลาเรียนฟรีเหลือเพียง 12 ปีจริงหรือไม่ ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องได้พยายามออกมาทำความเข้าใจ ก็เกิดปัญหาแทรกซ้อนขึ้นมา เมื่อเพลงฉ่อยร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่ กรธ. จัดทำขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญฯ กลับระบุว่า “ได้เรียนฟรีถึง 14 ปี” ที่บางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าอาจขัดกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติ) ฐานให้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง

“นรชิต สิงหเสนี” โฆษก กรธ. กล่าวว่า เนื้อหาเพลงฉ่อยถูกต้องแล้ว เรื่องเรียนฟรีต้องดูมาตรา 258 ประกอบกับมาตรา 54 ที่กำหนดให้การศึกษาต้องเริ่มจากเด็กเล็กอายุ 2 ปี ขึ้นไป เมื่อรวมกับข้อกำหนดการศึกษาเด็กก่อนวัยเรียนและการศึกษาภาคบังคับจนถึง ม.3 ก็รวมเป็น 14 ปี

“การกำหนดเช่นนี้ ก็เป็นไปตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการศึกษา และเพื่อไม่เป็นการกดดันรัฐบาลว่า ห้ามจัดการศึกษาฟรีนอกเหนือไปจากนี้ หากรัฐบาลกำหนดให้เรียนฟรีถึง ม.6 ก็กลายเป็นเรียนฟรีถึง 17 ปี”

แต่แม้ผู้เกี่ยวข้องจะออกมาพยายามชี้แจงว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ ไม่ได้บังคับให้เรียนฟรีแค่ 12 ปี แต่เสียงวิจารณ์ “ลดเวลาเรียนฟรี” ก็ยังไม่หมดไป

โครงการ "เรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ" ที่ริเริ่มตั้งแต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2553
โครงการ “เรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ” ที่ริเริ่มตั้งแต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2553

ขณะที่ท่าทีบุคคลสำคัญในรัฐบาล โดยเฉพาะตัว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ก็ดูเหมือนจะเข้าใจในทางเดียวกับสังคมเข้าใจ ว่าร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ ได้ลดเวลาเรียนฟรีเหลือเพียง 12 ปี จึงสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปจัดทำกฎหมายให้ชัดเจนว่า รัฐบาลนี้สนับสนุนการเรียนฟรีจนถึงระดับ ม.ปลาย หรือ 15 ปีตามเดิม และที่ร่างรัฐธรรมนูญฯ ให้เรียนฟรีเพียง 12 ปี หมายถึงอย่างน้อยที่สุดคือ 12 ปี สามารถเกินกว่านี้ได้

ท่าทีดังกล่าวของ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่เพียงแสดงให้เห็นว่า แม้ผู้เกี่ยวข้องจะพยายามชี้แจง แต่ความสับสนก็ยังดำรงอยู่

ในขณะเดียวกัน ยังแสดงว่า พล.อ. ประยุทธ์ ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของ กรธ. ให้ “เรียนฟรี 12 ปี” ถึงแค่ ม.ต้น จึงสั่งให้ทำกฎหมายกลับไป “เรียนฟรี 15 ปี” ถึง ม.ปลาย ตามเดิม

เทียบรธน4ฉบับ
เอกสารเทียบเนื้อหาเกี่ยวกับการ “เรียนฟรี” ในรัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญ รวม 4 ฉบับ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐสภา จะเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 กำหนดว่า “ไม่น้อยกว่า 12 ปี” ร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กำหนดว่าตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึง ม.ปลายสายสามัญและสายอาชีพ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ (ร่างแรก) ก็ยังไม่มีการกำหนดเรื่อง 12 ปีแต่อย่างใด

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า พยายามค้นหาที่มาว่า การบัญญัติให้ “เรียนฟรีแค่ 12 ปี” ปรากฏอยู่ในขั้นตอนใดของการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ของ กรธ. เพราะถ้าย้อนไปดูร่างแรกที่ กรธ. นำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 ยังไม่มีข้อความให้ “เรียนฟรีแค่ 12 ปี” อยู่เลย โดยครั้งนั้น มีมาตรา 50 ที่ระบุว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาภาคบังคับที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงโดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย”

แต่ไม่พบข้อมูลเอกสารที่ยืนยันว่า ตัวเลข 12 ปี ถูกใส่ลงมาในขั้นตอนใด ก่อนที่จะออกมาเป็นร่างรัฐธรรมนูญฯ ร่างสุดท้าย เพื่อใช้ในการจัดทำประชามติ ที่เผยแพร่ต่อสาธารณชน เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559

จึงไม่รู้ว่า ถ้อยคำ “เรียนฟรีแค่ 12 ปี” ที่สร้างความสับสน จนหลายฝ่ายตีความแตกต่างกัน เริ่มต้นจากการริเริ่มของใครและในขั้นตอนใด

แต่เชื่อว่า บทบัญญัตินี้จะมีผลต่อการตัดสินใจลงประชามติว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้หรือไม่ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 รวมถึงจะส่งผลต่อการจัดการศึกษาของประเทศไทยต่อไปในอนาคต