ThaiPublica > คอลัมน์ > Brexit เขย่าโลก

Brexit เขย่าโลก

27 มิถุนายน 2016


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

แล้วเหตุการณ์ที่หลายคน โดยเฉพาะตลาดการเงิน กังวลกันว่าจะเกิด ก็เกิดขึ้นจริงๆ หลังการลงประชามติวันที่ 23 มิถุนายน สหราชอาณาจักรลงคะแนนเห็นชอบกับการออกจากสหภาพยุโรปไปแบบช็อกโลกด้วยคะแนนเสียง 51.9% ต่อ 48.1% โดยมีคนมาใช้สิทธิ 72.2% (มากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว) แม้นักเศรษฐศาสตร์และผู้นำหลายประเทศจะเตือนถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะตามมาจากการเลือกออกจากสหภาพยุโรป แต่เรื่องนี้เป็นประเด็นการเมืองเรื่องอธิปไตยของประเทศ และประเด็นละเอียดอ่อนอย่างปัญหาผู้อพยพ มากกว่าประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ ผลจึงออกมาแบบทำคนดูงงกันไปทั่วโลก

Brexit2

และดูเหมือนฝั่ง Brexit จะทำได้ดีกว่าในการโน้มน้าวประชาชนชาวสหราชอาณาจักร จนคนที่ออกมาใช้สิทธิเลือก “ออก” มากกว่า “อยู่ต่อ” จนทำเอาหุ้นตกทั่วโลก นายกรัฐมนตรี David Cameron ต้องประกาศลาออก (แม้จะมีคนแซวว่าคนที่เลือกออกจากสหภาพยุโรปบางคนยังตกใจอยู่ว่าทำอะไรลงไป) และมีคนเริ่มตั้งคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ความสัมพันธ์ของสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปจะเป็นอย่างไร และอนาคตของสหภาพยุโรปและของสหราชอาณาจักรจะเป็นอย่างไรต่อไป

ตลาดการเงินปั่นป่วน

ภายหลังผลการลงคะแนนออกมา เราเห็นตลาดการเงินผันผวนอย่างหนัก เพราะก่อนจะปิดหีบ ตลาดคาดกันว่าผลน่าจะออกมาว่าไม่ออก ตลาดหุ้นปรับเพิ่มขึ้น ค่าเงินปอนด์แข็งค่า ราคาทองตก ดอกเบี้ยพันธบัตรปรับสูงขึ้น

แต่พอผลการนับคะแนนเริ่มออกมา ปรากฏว่าไม่เป็นไปดังคาด ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงระนาว ตลาดยุโรปปรับลดกัน 4-7% ค่าเงินปอนด์ปรับตัวลดลงเกือบ 10% ภายในหนึ่งวัน ซึ่งเป็นระดับของความผันผวนที่ไม่เห็นกันบ่อยนัก ราคาทองปรับเพิ่มสูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรปรับลดลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดการเงินปรับลดความเสี่ยงอย่างรวดเร็ว เพราะคาดกันว่าโลกกำลังจะเข้าสู่ยุคของความไม่แน่นอนไปอีกสักระยะ หลายฝ่ายคาดว่าความไม่แน่นอนนี้จะทำให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรหยุดชะงักจนอาจเข้าสู่ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้ และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหภาพยุโรป รวมทั้งอาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเสี่ยงในการฟื้นตัวอยู่

เราเริ่มเห็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือปรับลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหราชอาณาจักรเพราะมีความเสี่ยงสูงขึ้น จนบางคนแซวว่านี่คือ DIY crisis คือวิกฤติ “do-it-yourself” หรือทำตัวเองแท้ๆ

นอกจากนี้ อาจมีผลกระทบในวงกว้างต่อราคาสินทรัพย์ทั้งหลาย ถ้าภาคการเงินขาดสภาพคล่อง ถ้าธนาคารกลางต้องอัดฉีดสภาพคล่องต่อเนื่อง ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยออกไป ฯลฯ

ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

“ความไม่แน่นอน” เป็นสิ่งแรกที่ทุกคนพูดถึง เพราะไม่มีคนรู้แน่ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นกับสหราชอาณาจักร ยุโรป และโลกใบนี้ หลังจากประชามติช็อกโลก

ในระยะจากนี้ แม้ว่าสหราชอาณาจักรจะยังคงเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปเหมือนเดิม จนกว่ากระบวนการถอนตัวจะเสร็จสิ้นลง ซึ่งอาจจะใช้เวลาถึงสองปีหรือมากกว่านั้น แต่ตลาดการเงิน ธุรกิจ และการเมือง จะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน หลายธุรกิจคงต้องจ้างที่ปรึกษากฎหมายเพื่อวิเคราะห์ถึงปัญหา ความเสี่ยง และทางออก

ลองนึกภาพธุรกิจที่อยู่ในสหราชอาณาจักรในขณะนี้คงต้องหยิบสัญญามานั่งทบทวนกันใหม่หมดว่าธุรกรรมต่างๆ ที่ทำได้ในวันนี้ จะทำต่อไปได้ไหมในอีกสองปีข้างหน้า โดยเฉพาะธุรกิจและธุรกรรมระหว่างประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป หรือคงมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องของกฎหมายและกฎระเบียบอย่างมหาศาล เช่น กฎหมายการจ้างงาน ที่ปัจจุบันกฎหมายของสหภาพยุโรปมีผลใช้บังคับเหนือกฎหมายท้องถิ่นอยู่ แต่ทันทีที่สหราชอาณาจักรไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว กฎหมายของสหราชอาณาจักรคงถูกนำกลับมาปัดฝุ่นใหม่

และธุรกิจที่คงกลุ้มใจที่สุด คือธุรกิจภาคการเงิน ที่เป็นธุรกิจสำคัญของสหราชอาณาจักร และลอนดอนเป็นศูนย์กลางด้านการเงินของยุโรปและของโลกได้ทุกวันนี้ก็เพราะการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป แล้วถ้าสหราชอาณาจักรต้องออกจากสหภาพยุโรปจริงๆ ภาพจะเป็นอย่างไร ธนาคารหลายแห่งคงคิดหนักว่าจะต้องย้ายสำนักงานใหญ่ออกจากลอนดอนหรือไม่

และตลอดเวลาที่มีการรณรงค์เพื่อลงประชามติเรื่องนี้ ไม่มีใครบอกออกมาได้ชัดๆ ว่าความสัมพันธ์ของสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปจะเป็นอย่างไรถ้าสหราชอาณาจักรต้องออกจากสหภาพยุโรปจริงๆ และสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเรื่องพวกนี้คงเป็นประเด็นการเมืองมากกว่าข้อกฎหมาย

ตามหลักการ หลังจากที่ประชาชนชาวสหราชอาณาจักรลงคะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งเห็นชอบให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป เท่ากับเป็น “คำแนะนำ” จากประชาชนให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรเริ่มกระบวนการถอนตัวตามมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน ซึ่งต้องมีการเจรจาเงื่อนไขของความสัมพันธ์ในอนาคต ที่กำหนดให้ใช้เวลาไม่เกินสองปี (แต่ต่อได้) และเงื่อนไขเหล่านี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภายุโรป

ข้อตกลงเรื่องการค้า

ประเด็นที่อ่อนไหวและสำคัญที่สุด คือเรื่องการค้า (ทั้งสินค้าและบริการ) เพราะการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป หมายถึง การเป็นสมาชิกของตลาดร่วม (single market) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่การเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ (การนำเข้า-ส่งออก) และการเคลื่อนย้ายแรงงานและทุน ระหว่างประเทศสมาชิก สามารถทำได้อย่างเสรีและไม่มีกำแพงภาษีระหว่างกัน เสมือนเป็นการเคลื่อนย้ายภายในประเทศ

ถ้าสหราชอาณาจักรไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว สหราชอาณาจักรจะทำอย่างไรกับสิทธิพิเศษทางการค้าที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าออกกว่าครึ่งของสหราชอาณาจักรส่งไปประเทศในสหภาพยุโรป ถ้าสินค้าเหล่านั้นถูกกำแพงภาษีเสมือนประเทศสมาชิก WTO นอกสหภาพยุโรป (แต่โชคดีที่ภาษีลดลงไปเยอะแล้ว) หรือถูกจำกัดเรื่องการเข้าสู่ตลาดโดยมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี คงไม่ดีเป็นแน่

นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังมีความสัมพันธ์การค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ ที่สหภาพยุโรปมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีด้วย ถ้าสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป จะทำอย่างไรกับข้อตกลงเหล่านี้

จริงๆ แล้ว ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ไม่ได้เป็น สมาชิกสหภาพยุโรป แต่ก็ยังคงได้รับสิทธิในการเป็นส่วนหนึ่งของ single market เช่น นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ แต่ทั้งสองประเทศก็ต้องยอมเสียอะไรไปบางส่วน เช่น ยังคงต้องจ่ายเงินสมทบให้สหภาพยุโรป หรือยังคงต้องยอมรับข้อตกลงเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานอยู่ดี โดยไม่มีสิทธิมีเสียงในสหภาพยุโรป หรือมีประเทศอย่างแคนาดาและตุรกี ที่มีข้อตกลงทางการค้ากับสหภาพยุโรป แต่ก็ต้องมีการเจรจาแลกเปลี่ยนกันไม่น้อย

และคำถามคือ สหราชอาณาจักรจะขอเงื่อนไขดีๆ ในการออกจากสหภาพยุโรปได้อย่างไร โดยเฉพาะตอนนี้มีโอกาสที่ประเทศอื่นๆ เช่น สเปน เนเธอร์แลนด์ อิตาลี หรือแม้แต่ฝรั่งเศส อาจจะทำประชามติคล้ายๆ กันเพื่อขอออกตามไปด้วย ฝั่งสหภาพยุโรปคงต้องทำให้แน่ใจว่าคนอื่นไม่ทำตาม (มีคนเปรียบเทียบเหมือนกับสามีขอเลิกกับภรรยาแบบไม่ดีนัก ภรรยาคงไม่ยกทรัพย์สินคืนให้ง่ายๆ เป็นแน่)

วิกฤติการเมือง

แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้สหราชอาณาจักรคงเจอเรื่องปวดหัวทางการเมืองแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ที่มาจากพรรคอนุรักษนิยม สนับสนุนการอยู่ต่อกับสหภาพยุโรป แต่เป็นคนประกาศให้ทำประชามติในเรื่องนี้ เพื่อพยายามเอาชนะในการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว เจอวิกฤติอย่างหนัก เพราะ ส.ส. จำนวนมากในพรรค รวมถึงผู้นำ Brexit campaign อย่างนาย บอริส จอห์นสัน และ ไมเคิล โกรฟ (รมว.ยุติธรรม) สนับสนุนให้ออกจากสหภาพยุโรป ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคแรงงาน กลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการสนับสนุนให้อยู่ต่อ (ฟังดูงงๆ ไหมครับ)

ทันทีที่แพ้มติการลงคะแนนเสียง เดวิด คาเมรอน ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง โดยให้มีผลในเดือนตุลาคม ประกาศเคารพเสียงของประชาชน และบอกว่าจะให้หน้าที่ในการแจ้งสหภาพยุโรปตามมาตรา 50 เป็นของนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ในขณะที่ฝั่งที่สนับสนุน Brexit ก็เริ่มเผยออกมาว่าอาจจะชะลอการเริ่มนับหนึ่งไปก่อน (คือยังไม่ออก) เพื่อไม่ให้ถูกกดดันเรื่องเวลา ในขณะที่ผู้นำยุโรปก็พอรู้ทางกันอยู่ ออกมาบอกให้สหราชอาณาจักรเร่งแจ้งเรื่องอย่างเป็นทางการ

และความวุ่นวายยังไม่จบ คะแนนเสียงที่ค่อนข้างก้ำกึ่งทำให้มีหลายฝ่ายออกมายื่นข้อเรียกร้องให้ลงประชามติกันใหม่ และมีการตั้งข้อสังเกตว่า คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ในสหราชอาณาจักร (ที่ยังตั้งอยู่กับการตัดสินใจครั้งนี้ไปอีกนาน) ลงคะแนนขออยู่ต่อกับสหภาพยุโรป ในขณะที่คนอายุมากส่วนใหญ่อยากจะแยกตัวออก กลายเป็นการโต้เถียงข้ามรุ่นกันไป

Brexit1

บางคนก็ยกข้อกฎหมายขึ้นมาบอกว่า การลงประชามติเป็นแค่ “คำแนะนำ” ไม่ใช่ “การบังคับ” ให้ดำเนินการต่อ รัฐบาลอาจไม่ต้องทำตามก็ได้ (แต่หลายฝ่ายก็บอกว่านี่คือเจตนารมณ์ของประชาชน คงไม่มีรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยกล้าขัดแน่ๆ) และเนื่องจากไม่เคยมีประเทศไหนออกจากสหภาพยุโรป นับตั้งแต่กรีนแลนด์ในปี 1982 กฎต่างๆ จึงเขียนไว้ค่อนข้างหลวม และการดำเนินการต่อไปจึงขึ้นอยู่กับกระบวนการทางการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ มากกว่าข้อบังคับทางกฎหมาย

หรือสหราชอาณาจักรจะแตกด้วย

การออกจากสหภาพยุโรป ไม่ได้สร้างความเสี่ยงที่สหภาพยุโรปอาจจะแตกเท่านั้น แต่มีความเสี่ยงที่สหราชอาณาจักรเองอาจจะแตกเองก็ได้ สกอตแลนด์ที่เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร และเคยขอลงประชามติแยกตัวจากสหราชอาณาจักรเมื่อสองปีก่อน ลงคะแนนท่วมท้นที่จะอยู่ต่อกับสหภาพยุโรป จึงไม่พอใจอย่างยิ่งต่อผลการลงประชามติ และมีความเป็นไปได้ที่จะยับยั้งการดำเนินการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรืออาจจะขอลงประชามติแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรเพื่อขออยู่กับสหภาพยุโรปก็เป็นไปได้ ส่วนไอร์แลนด์เหนือก็คงคิดๆ อยู่เหมือนกัน

Scotland ออกเสียงชัดเจนที่จะอยู่ต่อกับสหภาพยุโรป ในขณะที่เขตส่วนใหญ่ของอังกฤษเลือกออกจากสหภาพยุโรป ยกเว้นเขตใกล้กรุงลอนดอน ทีมาภาพ: bbc
สกอตแลนด์ออกเสียงชัดเจนที่จะอยู่ต่อกับสหภาพยุโรป ในขณะที่เขตส่วนใหญ่ของอังกฤษเลือกออกจากสหภาพยุโรป ยกเว้นเขตใกล้กรุงลอนดอน ที่มาภาพ: bbc

นี่แหละครับ ปัญหาการเมืองในประเทศ และการตัดสินใจของประชาชนชาวสหราชอาณาจักร ที่ส่งผลกระทบและสร้างความไม่แน่นอนออกไปทั่วโลก และกำลังทำให้ “การทดลองทางเศรษฐกิจ” อย่างตลาดร่วมของสหภาพยุโรปสั่นสะเทือน คงต้องรอดูสถานการณ์กันต่อไปครับ ว่าจะออกไปทางใด และแต่ละฝ่ายจะเอาไพ่อะไรออกมาเล่นกันอีก แต่ก็หวังว่าจะเป็นการสร้างความชัดเจนให้กับกระบวนการ และลดผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแออยู่นะครับ

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าผลกระทบทางตรงต่อไทยคงมีไม่มากนัก แต่ผลกระทบทางอ้อมคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งจากความผันผวนของตลาดการเงิน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และเรายังมีฐานะต่างประเทศที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ทั้งการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ค่อนข้างสูง กลัวก็แค่ว่าระหว่างที่ข้างนอกวุ่นวายกัน เงินเราจะแข็งค่าเมื่อเทียบกับเขาโดยไม่รู้ตัว