ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “บิ๊กตู่” เห็นชอบใช้ ม.44 จัดระเบียบเจ้าหนี้นอกระบบ ให้ใบอนุญาต “Pico Finance” ดบ.ไม่เกิน 36% – โยกสหกรณ์ฯยูเนี่ยนสังกัดคลัง

“บิ๊กตู่” เห็นชอบใช้ ม.44 จัดระเบียบเจ้าหนี้นอกระบบ ให้ใบอนุญาต “Pico Finance” ดบ.ไม่เกิน 36% – โยกสหกรณ์ฯยูเนี่ยนสังกัดคลัง

6 มิถุนายน 2016


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าขณะนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบที่จะให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 44 ออกกฎหมายพิเศษ ดำเนินคดีอาญากับเจ้าหนี้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยกับผู้กู้เกินกว่า 15% ต่อปี ตามที่กระทรวงการคลังนำเสนอ หากเจ้าหนี้นอกระบบไม่อยากติดคุกและต้องการที่จะทำธุรกิจปล่อยเงินกู้ต่อไปต้องมาขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจพิโก้ไฟแนนซ์ (Pico Finance) จากกระทรวงการคลัง หลังจากได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังแล้วจะสามารถคิดดอกเบี้ยกับลูกหนี้ได้ไม่เกิน 36% ต่อปี

“พิโก้ไฟแนนซ์แตกต่างจากนาโนไฟแนนซ์ ตรงที่นาโนไฟแนนซ์จะปล่อยสินเชื่อเพื่อการลงทุนเท่านั้น ส่วนพิโก้ไฟแนนซ์จะปล่อยสินเชื่อประเภทเงินด่วนให้กับประชาชนในระดับฐานราก เช่น ค่าเล่าเรียนบุตร ค่ารักษาพยาบาล วงเงินกู้ต่อราย 20,000-50,000 บาท คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังหรือสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นผู้กำกับดูแล ทั้งนี้กระทรวงการคลังทำเรื่องเสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 ดำเนินคดีอาญากับเจ้าหนี้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยเงินกู้เกินกว่า 15% ต่อปี พร้อมกับเปิดโอกาสให้เจ้าหน้านอกระบบเหล่านี้มาขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจพิโก้ไฟแนนซ์ในถูกต้องตามกฎหมายภายในเดือนกรกฎาคม 2559” ดร.สมชัย กล่าว

ดร.สมชัยกล่าวต่อไปว่า ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่อยู่คู่สังคมไทยมานาน ปัจจุบันมีส่วนราชการหลายแห่งเข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นครั้งคราว ยังไม่มีหน่วยงานกลางซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยตรง ทำให้มีเจ้าหนี้นอกระบบเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก คิดอัตราดอกเบี้ยกับลูกค้า 20% ต่อเดือน ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จึงนำเสนอโมเดลในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบต่อนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง หรือ สศค. ทำหน้าที่ออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถาบันการเงินขนาดเล็กหรือพิโก้ไฟแนนซ์ ซึ่งในระยะแรกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเสนอให้ พล.อ. ประยุทธ์ ใช้มาตรา 44 ดำเนินคดีอาญากับเจ้าหนี้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยกับลูกค้าเกิน 15% ต่อปี ซึ่งมีโทษจำคุก หากเจ้าหนี้นอกระบบไม่อยากติดคุก และต้องการทำธุรกิจต่อไป ก็ให้เข้ามาขอใบอนุญาตพิโก้ไฟแนนซ์กับกระทรวงการคลัง มาตรการนี้จะเป็นมาตรการบังคับให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ สามารถทำธุรกิจปล่อยเงินกู้ฉุกเฉินแก่ประชาชนระดับรากหญ้าได้ต่อไป แต่คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 36% ต่อปี

หนี้ภาคครัวเรือน

จากนั้นกระทรวงการคลังก็จะบังคับให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดตั้ง “สำนัก” หรือ “ฝ่าย” ซึ่งมีลักษณะเป็น Business Unit ทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินเช่นเดียวกับพิโก้ไฟแนนซ์ รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่ประชาชนในระดับรากหญ้าตลอด 24 ชั่วโมง โดยกระทรวงการคลังกำหนดเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (KPI) ของธนาคารทั้ง 2 แห่ง

ทั้งนี้หลังจากที่รัฐบาลใช้มาตรา 44 ดำเนินคดีกับเจ้าหนี้นอกระบบ ก็จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยประจำจังหวัดทั่วประเทศ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด ตำรวจ สรรพากรจังหวัด และอัยการจังหวัด ดำเนินการไกล่เกลี่ย เจรจาให้เจ้าหนี้นอกระบบยอมปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ จากนั้นให้คณะกรรมการไกล่เกลี่ยส่งลูกหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้วไปกู้เงินกับธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และพิโก้ไฟแนนซ์

“เมื่อลูกหนี้ผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และพิโก้ไฟแนนซ์อาจจะเกรงว่าลูกหนี้ไม่มีรายได้มาชำระหนี้ รัฐบาลจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูลูกหนี้นอกระบบทั่วประเทศ 77 จังหวัด โดยเชิญชวนภาคเอกชน เช่น บริษัทซีพี, บริษัทเซ็นทรัล, บริษัทมิตรผล, สถาบันการศึกษา เข้ามาฝึกอบรมอาชีพ สอนวิธีการทำเกษตรสมัยใหม่ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้ เพื่อทำให้ลูกหนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถนำเงินมาชำระหนี้กับธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และพิโก้ไฟแนนซ์ได้ ที่ผ่านมา ทุกจังหวัดก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยและคณะกรรมการฟื้นฟูลูกหนี้อยู่แล้ว แต่ไม่ค่อยจัดประชุมกัน ครั้งนี้กระทรวงการคลังจะเสนอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งมาจ่ายเป็นเบี้ยประชุมให้กับคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง” ดร.สมชัยกล่าว

ดร.สมชัยกล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้สั่งการให้ สศค. ศึกษาการโอนหน่วยงานที่กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระรวงการคลัง เช่นเดียวกับธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัย ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งตนจะต้องไปหารือกับปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับโอนย้ายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ เข้ามาอยู่ในสังกัดกระทรวงกระทรวงการคลังในเร็วๆ นี้