ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. ไฟเขียว กม.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คาดอปท.รายได้เพิ่ม 3.8 หมื่นล้าน – “ประยุทธ์” ขอรอศาล รธน. ชี้ขาด พ.ร.บ.ประชามติ

ครม. ไฟเขียว กม.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คาดอปท.รายได้เพิ่ม 3.8 หมื่นล้าน – “ประยุทธ์” ขอรอศาล รธน. ชี้ขาด พ.ร.บ.ประชามติ

8 มิถุนายน 2016


 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

“ประยุทธ์” เผยปม พ.ร.บ.ประชามติ รอให้ศาล รธน. ชี้ขาดก่อน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติ) มาตรา 61 วรรคสอง มีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 หรือไม่ ว่า ไม่มีถ้าอะไรทั้งสิ้น รัฐบาลยังไม่เตรียมพร้อมอะไร เพราะต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างเดียว ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอให้พิจารณาความชอบเพียงบางมาตราเท่านั้น ไม่ได้จะล้ม พ.ร.บ.ประชามติทั้งฉบับ ส่วนกรณีที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เตรียมเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน ตนอยากถามว่า เขามีสิทธิอะไรไปเสนอให้พิจารณารวดเร็วขึ้น ที่ นปช. ตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ ตนเคยแสดงความเห็นไปแล้วว่าไม่เห็นด้วย

กรณีที่มีแกนนำ นปช. บางคนระบุว่า การทำประชามติครั้งนี้ จะใช้งบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ครม. อนุมัติงบให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพียง 3,000 ล้านบาท ยังไม่ได้อนุมัติเพิ่มได้ไปมากกว่านี้

เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่า กกต. จะจัดประชามติครั้งนี้สำเร็จ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็เป็นหน้าที่ของ กกต. จะต้องทำไป ถ้ามีการตีกัน ฝ่ายความมั่นคงก็จะเข้ามาดูแล แต่ถ้าถึงขั้นมีการปาระเบิดหรือใช้ปืนยิงกัน ก็อาจจะจัดประชามติไม่ได้

ชี้ “โขน” เป็นวัฒนธรรมร่วมภูมิภาค – ไทยขึ้นทะเบียนหลังกัมพูชาได้

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลกัมพูชาเตรียมเสนอขึ้นทะเบียน “โขน” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศกัมพูชาต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ว่า อย่าไปขยายเรื่องนี้จนทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่สิ่งที่ต้องเข้าใจก็คือไทยไม่ได้สมัครเป็นรัฐภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Convention for the Safeguarding Intangible Cultural Heritage) ทำให้ไม่สามารถเสนอขึ้นทะเบียนอะไรได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนี้ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกแล้ว หากอะไรเรียบร้อยก็จะเสนอขึ้นทะเบียนบ้าง ซึ่งต่อไปจะไทยจะขอขึ้นทะเบียนพวกลิขสิทธิ์ สินค้าจีไอ รวมถึงการแสดงต่างๆ ด้วย

“การขึ้นทะเบียนนี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะมันเป็นของร่วมกันของภูมิภาคนี้ ทุกประเทศที่มีสามารถขึ้นทะเบียนได้ เพียงแต่ของไทยอาจจะช้ากว่าเพื่อนบ้าน เพราะรัฐบาลชุดก่อนหน้าไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกภาคี” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

แจงข้อสอบ O-NET ผิดแค่ข้อเดียว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าข้อสอบโอเน็ต ม.6 วิชาสังคมศึกษา มีการเฉลยผิดบางข้อว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตรวจสอบแล้ว แต่ทางผู้เกี่ยวข้องยืนยันมาแล้วว่า ผิดแค่ข้อเดียว ไม่ใช่ผิด 5 ข้อ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการเฉลยข้อสอบโอเน็ตมาก่อน ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก ดังนั้น การเฉลยผิดเพียงข้อเดียว ก็เป็นสิ่งที่ต้องขอความเห็นใจ สิ่งบกพร่องที่ไม่คอขาดบาดตายก็ให้ ศธ. ไปแก้ไขเอา แต่ถ้าจะมีใครทำผิด ก็ยังมีบทลงโทษทางวินัยอยู่

ยันแก้ปัญหาค้าสัตว์ป่า – โยน ทส. แก้ กม.ให้สอดคล้อง CITES

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าในประเทศไทย หลังพบซากเสือจำนวนมากในวัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรี รวมถึงกรณีที่เต่ามาดากัสกา สัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ หายจากสถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่า รัฐบาลนี้จะเดินหน้าใช้กฎหมายกำจัดคนเหล่านี้ให้หมดไป ต่างกับรัฐบาลชุดก่อนๆ ที่ไม่ยอมทำอะไร สิ่งที่เราทำคือ เมื่อเจอปัญหาก็แก้ปัญหา เพราะนี่คือประเทศของเราทุกคน ทั้งการออกมาตรการควบคุมและลงโทษเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ส่วนที่มีเสียงท้วงติงว่ากฎหมายของไทยบางส่วนยังไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีสมาชิก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งถ้าประเทศอื่นๆ ทำ ประเทศไทยก็ต้องทำด้วย

อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. ที่ประชุม ครม. ให้ความเห็นชอบ
อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. ซึ่งที่ประชุม ครม. ให้ความเห็นชอบ

ครม. เห็นชอบ กม.ภาษีที่ดิน คาดช่วยท้องถิ่นได้เงินเพิ่ม 2 หมื่นล้าน

สำหรับวาระการประชุม ครม. อื่น ที่น่าสนใจ มีดังนี้

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้คือกำหนดให้เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือผู้ครอบครองทรัพย์สินของรัฐ จะต้องเสียภาษีตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยจะนำมาบังคับใช้แทน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508

สำหรับอัตราภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างในร่าง พ.ร.บ. ได้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

1. กรณี “ใช้เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม” จัดเก็บภาษีในอัตราไม่เกิน 0.2% ของราคาประเมิน

แต่เนื่องจากผู้ถือครองที่ดินส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย จึงกำหนดให้ที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้น มูลค่าระหว่าง 50-100 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 0.05% เป็นต้นไป และมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 0.1% เป็นต้นไป

2. กรณี “ใช้เป็นที่พักอาศัย” จัดเก็บภาษีในอัตราไม่เกิน 0.5% ของราคาประเมิน โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ บ้านหลังหลักและบ้านหลังที่สอง

โดยบ้านหลังหลัก ที่มีมูลค่าเกินกว่า 50 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 0.05% เป็นต้นไป มูลค่าเกิน 100 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 0.1% เป็นต้นไป

สำหรับบ้านหลังที่สอง หากมีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 0.03% มูลค่าระหว่าง 5-10 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 0.05% มูลค่าระหว่าง 10-20 ล้านบาท เก็บในอัตรา 0.1% มูลค่าระหว่าง 20-30 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 0.15% มูลค่า 30-50 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 0.2% มูลค่าระหว่าง 50-100 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 0.25% และมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 0.3%

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีบ้านพักอาศัยที่มีมูลค่าเกินกว่า 50 ล้านบาท อยู่ 8,556 หลัง คิดเป็น 0.4% ของบ้านพักอาศัยทั้งหมด

3. กรณี “ใช้ประโยชน์ด้านพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม” จัดเก็บภาษีในอัตราไม่เกิน 2% ของราคาประเมิน

หากมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 0.3% มูลค่าระหว่าง 20-50 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 0.5% มูลค่าระหว่าง 50-100 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 0.7% มูลค่าระหว่าง 100-1,000 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 0.9% มูลค่าระหว่าง 1,000-3,000 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 1.2% และมูลค่าเกินกว่า 3,000 ล้านบาท จัดเก็บในอัตรา 1.5%

4. กรณี “ที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า” จัดเก็บภาษีในอัตราไม่เกิน 5% ของราคาประเมิน

โดยในปีที่หนึ่ง-สาม เริ่มเก็บในอัตรา 1% ปีที่สี่-หก เก็บในอัตรา 2% และตั้งแต่ปีที่เจ็ดเป็นต้นไป เก็บในอัตรา 3%

“เชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ. นี้ นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี ยังเพิ่มรายได้ให้กับหน่วยงานจัดเก็บ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยคาดว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในปีแรก 3.8 หมื่นล้านบาท จากเดิมจัดเก็บภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ได้อยู่ที่ปีละประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท” นายอภิศักดิ์กล่าว

(อ่านเอกสารชี้แจง 20 คำถามสำคัญที่เกี่ยวภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงการคลัง)

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. นี้แล้ว จากนี้จะส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณา ก่อนส่งไปให้ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเพื่อออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2560 ทั้งนี้ นายกฯ ได้กล่าวในที่ประชุม ครม. ว่าเท่าที่ได้พูดคุยกับกลุ่มผู้มีทรัพย์สินที่เข้าเกณฑ์จะต้องเสียภาษีตามร่าง พ.ร.บ. นี้ ผู้มีฐานะดีทุกคนพร้อมให้การสนับสนุนประเทศไทย

ส่วนความกังวลว่าเมื่อร่าง พ.ร.บ. นี้ไปสู่การพิจารณาของ สนช. จะถูกปรับเปลี่ยนสาระสำคัญ จนทำให้ผิดวัตถุประสงค์ เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 หรือไม่ พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า เชื่อว่าเมื่อร่าง พ.ร.บ. นี้ไปถึง สนช. ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายคงจะได้พูดคุยกัน เพื่อยืนยันหลักการตามร่าง พ.ร.บ.นี้ ที่จะออกมาเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ

เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับ

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบกฎหมายเกี่ยวข้องกับปิโตรเลียม จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ คือเพิ่มทางเลือกของรัฐในการบริหารจัดการแหล่งพลังงาน จากเดิมมีเพียง 2 วิธี คือ “ระบบสัมปทาน” กับ “ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต” โดยให้เพิ่มวิธีที่ 3 คือ “ระบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต” รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนข้อเสนอที่ให้มีการจัดตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ในที่ประชุม ครม. ได้มีการท้วงติงว่ารายละเอียดต่างๆ ยังไม่ชัดเจน จึงให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานกลับไปศึกษารายละเอียดให้มีความชัดเจนก่อน หากได้ข้อสรุปก็อาจจะออกมาเป็นร่าง พ.ร.บ.อีกฉบับ หรือใส่เข้าไปในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ได้

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมฯ มีสาระสำคัญ คือ การกำหนดไม่ให้บริษัทหรือผู้รับสัญญายกเว้นการเสียภาษีอากรแก่ผู้รับสัญญาจ้างสำรวจและผลิตไว้ในกฎหมาย และมีการกำหนดอัตราในการคิดคำนวณ ค่าภาคหลวง อัตราภาษีต่างๆ ให้ชัดเจน

“ให้ส่งร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับไป สนช. เพื่อพิจารณาออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย ได้คาดการณ์ว่าจะใช้เวลาในการพิจารณา 3-4 เดือน ดังนั้น ระหว่างนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำกฎหมายลูกเสนอต่อกฤษฎีกาคณะพิเศษที่จะมาเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญของร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับด้วย” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

อนุมัติก่อหนี้ผูกพันสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-โคราช

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณปี 2559-2562 ของการสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา (ช่วงที่ 7) ตอนทางแยกต่างระดับสระบุรี ระยะทางประมาณ 3.6 กิโลเมตร วงเงิน 1,509 ล้านบาท โดยในปี 2559 จะใช้งบประมาณ 226 ล้านบาท จากงบกลางรายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ส่วนปี 2560-2562 ที่ใช้อีก 1,283 ล้านบาท จะเป็นหนี้ผูกพันต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินการนี้แล้วเสร็จ

ปรับโครงสร้างหนี้ ขสมก. ห้ามกู้ใช้หนี้แล้ว หลังปี 60

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างหนี้และดอกเบี้ยที่จะครบกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ให้ต้องใช้เงินของตัวเอง ถ้าไม่พอรัฐบาลจะชดเชยให้ตามที่จำเป็น โดยในปี 2558 และ 2559 ครม. เคยมีมติอนุมัติให้กู้เงินมาจ่ายเป็นเงินต้นรวมถึงค่าดอกเบี้ย และในครั้งนั้น ได้มีคำแนะนำจากภาคส่วนต่างๆ ว่า ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป รัฐบาลจะไม่อนุญาตให้ ขสมก. กู้เงินเพื่อใช้หนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ให้ตั้งงบประมาณสำหรับชดเชยในส่วนนี้

ยกเลิกคว่ำบาตรอิหร่าน – ตั้ง “เสรี” เป็นผู้ว่าฯ กปภ.

แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม. แจ้งว่า ที่ประชุม ครม. ได้มีมติรับทราบและรองรับการดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) ที่ 2231 (ค.ศ. 2015) เกี่ยวกับการยกเลิกและผ่อนปรนการคว่ำบาตรอิหร่าน โดยผลที่คาดว่าจะได้รับคือ ภาคเอกชนไทยจะได้รับผลเชิงบวก โดยจะช่วยเปิดโอกาสและส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอิหร่าน ทั้งด้านการค้า การท่องเที่ยว การบริการด้านการเงินและการประกันภัย อย่างไรก็ดี มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านหลายมาตรการยังบังคับใช้อยู่

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังมีมติแต่งตั้งให้นายเสรี ศุภราทิตย์ เป็นผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) โดยให้ได้ค่าตอบแทนคงที่ในปีแรกที่ 2.7 แสนบาท ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2559 เป็นต้นไป