ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไมงานวิจัยพื้นฐานของอาจารย์ถึงสำคัญต่อการพัฒนาของประเทศ: the myths about basic research in universities

ทำไมงานวิจัยพื้นฐานของอาจารย์ถึงสำคัญต่อการพัฒนาของประเทศ: the myths about basic research in universities

13 มิถุนายน 2016


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเขียนลงเฟซบุ๊กของผมว่าถ้าประเทศไทยของเราต้องการที่จะ

1. reverse brain drain (หรือการมีโครงการคืนสู่เหย้าชาวสมองไหลทั้งหลายให้กลับมาทำงานในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในประเทศไทย)

2. พัฒนากองทุนมนุษย์ หรือ human capital ของคนที่จะมาเป็นอนาคตประเทศชาติให้มากกว่านี้ ให้มีการส่งต่อ หรือ trickle down effect ขององค์ความรู้ที่อยู่ในแนวหน้าของสายวิชานั้นๆ

3. พัฒนาชื่อเสียงมหาวิทยาลัยในประเทศไทยให้สู้มหาวิทยาลัยในประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยของประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ หรือแม้แต่กระทั่งมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในเอเชียอย่างเช่นประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้

มหาวิทยาลัยจำเป็นที่จะต้องปรับเงินเดือนขึ้นให้กับอาจารย์มหาวิทยาลัย (จากเพียงไม่กี่หมื่นถึงประมาณหรือเกือบหลักแสนต่อเดือน) และพยายามสร้างวัฒนธรรมให้อาจารย์มหาวิทยาลัยทำงานวิจัยที่เป็น Basic Research (หรืองานวิจัยพื้นฐาน) แทนที่จะทำ Commission Research (หรืองานวิจัยรับจ้าง) และรับจ้างสอนพิเศษเพื่อนำมาเป็นรายได้ เป็นหลัก แต่ในระบบที่ผมกล่าวไปนี้นั้น การคัดคนที่จะมาเป็นอาจารย์ที่ต้องทำทั้งสอนและวิจัยก็ต้องยากขึ้นตามกันไปด้วย การเลื่อนขั้นก็ควรที่จะมีความโปร่งใสและมีระบบที่เป็นสากลมากกว่านี้ เป็นต้น

หลังจากที่ผมโพสต์ข้อความเหล่านี้ลงใน social media ก็ได้มีเสียงตอบรับค่อนข้างเยอะ ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ที่เห็นด้วยนั้นส่วนใหญ่เป็นอาจารย์รุ่นใหม่ที่รู้สึกว่าเรียนจบเอกมาแล้วแต่แทบไม่มีโอกาสที่จะได้ใช้องค์ความรู้ของตนไปคิดค้นคว้าอะไรใหม่ๆ ที่สามารถจะนำไปใช้ต่อยอดได้เลย เพราะมัวแต่ต้องไปทำอย่างอื่นเยอะแยะที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญของตัวเองที่สะสมมาสักเท่าไหร่ บางท่านก็บอกว่าจบมาสูงแต่กลับมีรายได้พื้นฐานที่ต่ำ ต้องไปสอนพิเศษบ้าง รับงานนอกบ้าง เพื่อที่จะมีกินเท่าๆ กับคนที่ทำงานบริษัท

ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยนั้น ส่วนใหญ่มักจะให้เหตุผลว่า เพราะประเทศไทยของเรายังเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาอยู่ การวิจัยที่ประเทศของเราต้องการจริงๆ ไม่ใช่การวิจัยพื้นฐาน แต่เป็นการวิจัยที่สามารถนำเอาไปใช้ตอบโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทยมากกว่า (พูดง่ายๆ ก็คือ Applied Research ที่จะสามารถนำมาใช้ได้จริงในการพัฒนาประเทศเท่านั้น) เพราะฉะนั้น การวิจัยพื้นฐานเพื่อที่จะนำผลไปลงตีพิมพ์วารสารวิชาการที่เป็นสากลนั้นจึงถือเป็นการวิจัยที่หรูหรา (luxury) ฟุ่มเฟือย และไม่จำเป็นสำหรับประเทศของเรา

วันนี้ผมจึงถือโอกาสยกความเข้าใจผิดๆ ที่คนส่วนใหญ่มีต่อการวิจัยพื้นฐานมาเขียนให้คุณผู้อ่านได้อ่าน พร้อมกับชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสำคัญของการวิจัยพื้นฐานต่อการพัฒนาประเทศไทยของเราไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ อาจจะยาวไปนิดนึง (อันนี้ผมต้องขอโทษคุณผู้อ่านด้วยนะครับ) แต่มันเป็นหัวข้อที่ผมคิดว่าสำคัญต่ออนาคตของประเทศชาติของเรามาก

ความเข้าใจผิดข้อที่ 1: อาจารย์มีหน้าที่สอนก็สอนไปสิ ทำไมเราต้องไปจ่ายเงินเดือนสูงๆ ให้กับอาจารย์มหาวิทยาลัยเพื่อให้เขามาทำงานวิจัยเพื่อเอาไปตีพิมพ์ด้วย ไม่เห็นมันจะเกี่ยวกับตัวนักเรียนเลย

ตอนที่ผมยังเป็นเด็กอยู่ คุณพ่อของผมเคยพูดให้ผมฟังว่า เบียร์รู้ไหมว่าทำไมประเทศของเราถึงยังเจริญสู้ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างประเทศสิงคโปร์ไม่ได้สักที ก็เบียร์ลองดูเงินเดือนของอาจารย์มหาวิทยาลัยดูสิ มีเด็กนักเรียนเก่งๆ หัวกะทิ สักกี่คนกันที่เห็นเงินเดือนอาจารย์แล้วบอกว่าผม/ฉันอยากเรียนจบสูงๆ แล้วกลับมาเป็นอาจารย์จังเลย พวกเก่งๆ เขาก็ไปเรียนแพทย์ เรียนวิศวะ เรียนธุรกิจกันหมด หรือไม่ก็ไปทำงานเมืองนอกกันหมด แล้วมันจะเหลือใครที่เก่งๆ สักกี่คนกันล่ะที่จะสมัครใจกลับมาเป็นอาจารย์เพื่อสอนอนาคตของชาติกันบ้าง

ถึงแม้ว่าคุณพ่อของผมจะเป็นวิศวะโยธา แต่สิ่งที่ท่านพูดกับผมในวันนั้นล้วนแต่มีใจความที่เป็นพื้นฐานของวิชาเศรษฐศาสตร์ทั้งนั้น นั่นก็คือทฤษฎีของราคาโอกาส (ต้นทุนค่าเสียโอกาส) หรือ opportunity cost นั่นเอง ถ้าคนที่เก่งๆ เขารู้ว่าราคาโอกาสของการเป็นอาจารย์นั้นสูงมาก (เพราะถ้าเขาไม่เป็นอาจารย์ เขาสามารถทำงานให้กับบริษัทต่างประเทศแล้วมีเงินเดือนมากกว่าเงินเดือนอาจารย์สิบเท่าตัว) เขาก็คงจะเลือกไปทำอย่างอื่น เพราะฉะนั้น เงินเดือนอาจารย์ก็ควรที่จะถูกปรับให้สูงขึ้นตามไปด้วยถ้ามหาวิทยาลัยอยากจะดึงดูดคนที่เก่งๆ กลับมาทำงาน

แต่ทำไมเราจำเป็นต้องจ่ายเงินเดือนสูงๆ ให้กับอาจารย์มาทำวิจัยพื้นฐานด้วยล่ะ

ผมเชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะคิดว่าหน้าที่ของอาจารย์คือการสอนเด็กนักเรียน ไม่ใช่การทำวิจัย และเพราะงานสอน ถ้าฝึกหน่อย ไม่ว่าใครก็คงจะสอนได้ (ถึงแม้ว่าอาจจะมีบางคนสอนดีกว่าคนอื่นบ้าง อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา) เพราะฉะนั้น เงินเดือนอาจารย์ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องสูงมากก็ได้ถ้าสอนอย่างเดียว

cover

อันนี้ถูกต้องนะครับ ถ้าสิ่งที่อาจารย์ต้องสอนเป็นสิ่งที่จำงานวิจัยของคนอื่นมาสอน หรือการใช้หนังสือเก่าๆ มาสอนเด็กแค่อย่างเดียว

หลายๆ ท่านอาจจะไม่ทราบว่า ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเกือบทุกมหาวิทยาลัยได้มีการส่งเสริมให้อาจารย์นำงานวิจัยของตนเองมาสอนนักเรียน พูดง่ายๆ ก็คือมี research-led teaching นั่นเอง ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีเดียวที่จะส่งผลให้เด็กนักเรียนสามารถที่จะต่อยอดองค์ความรู้ที่มีการอัปเดตอยู่ตลอดเวลาให้กับตนเองได้ ไม่ใช่แค่รับความรู้ที่อยู่กับที่มานานเป็นสิบๆ ปี

และด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ใช่ว่าใครก็สามารถทำวิจัยในเรื่องที่เป็นแนวหน้าในสาขาของตนได้ เงินเดือนที่เราควรจะยอมจ่ายให้กับพวกเขาก็ควรที่จะสูงพอๆ กันกับความสามารถของเขานั่นเอง

ความเข้าใจผิดข้อที่ 2: ประเทศไทยเรายังไม่พร้อมกับการวิจัยพื้นฐาน ในขณะนี้ประเทศของเราต้องการงานวิจัยที่ตอบโจทย์ของเมืองไทยของเราเท่านั้น ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้มักจะตีพิมพ์ในวารสารไม่ค่อยได้ เพราะฉะนั้น เราก็ไม่ควรจะใช้มาตราฐานของการตีพิมพ์มาวัดว่าอาจารย์คนไหนดีไม่ดี

ก่อนอื่นผมต้องชี้แจงให้คุณผู้อ่านทราบก่อนว่า งานวิจัยที่เป็นงานวิจัยพื้นฐาน อย่างน้อยในสายเศรษฐศาสตร์ที่ผมคุ้นเคย มีทั้งงานที่เป็นทฤษฎี และงานที่ทำขึ้นเพื่อตอบโจทย์เฉพาะเคสในประเทศของตนเองได้

และมันก็ไม่จริงเลยที่งานวิจัยที่ทำขึ้นมาโดยใช้เคสของเมืองไทยเป็นหลักไม่สามารถที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการท็อปๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น

1. John Felkner, Kamila Tazhibayeva, and Robert Townsend (2009). ‘Impact of Climate Change on Rice Production in Thailand’, American Economic Review, 99(2), 205-210.

2. Elisabeth Sadoulet, Seiichi Fukui, and Alan de Janvry (1994). ‘Efficient share tenancy contracts under risk: The case of two rice-growing villages in Thailand’, Journal of Development Economics, 45(2), 225-243.

3. Lukas Menkhoff, Doris Neuberger, and Chodechai Suwanaporn (2006). ‘Collateral-based lending in emerging markets: Evidence from Thailand’, Journal of Banking and Finance, 30(1), 1-21.
4. Angus Deaton (1989). ‘Rice prices and income distribution in Thailand: a non-parametric analysis’, Economic Journal, 99(395), 1-37.

ถ้าคุณเรียนจบทางเศรษฐศาสตร์มาแล้วล่ะก็ ดูปุ๊บคุณก็จะรู้ปั๊บเลยว่าวารสารเศรษฐศาสตร์ที่ผมยกขึ้นมาข้างบนนั้นล้วนแล้วแต่เป็นวารสารเศรษฐศาสตร์ที่ติดระดับโลกด้วยกันทั้งนั้น และแต่ละบทความก็สามารถนำมาใช้ตอบโจทย์เฉพาะที่ ที่เรามีในเมืองไทยได้ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ค่อยขึ้นเท่าไหร่ถ้าใครจะมาบอกว่า ก็เพราะงานวิจัยของเราใช้ข้อมูลของเมืองไทยและตอบโจทย์แค่ในเมืองไทยน่ะสิ จึงทำให้เราไม่สามารถตีพิมพ์งานจำพวกนี้ในวารสารวิชาการที่มีชื่อเสียงเหล่านี้ได้ แต่เพราะว่างานวิจัยที่มีคุณภาพดีต่างหาก ที่แสดงถึงหลักฐานของการต่อยอดองค์ความรู้ในสายของเราต่างหาก ที่ทำให้งานของเราได้รับการยกย่องและได้รับการตีพิมพ์ได้

แต่ถ้าอาจารย์มหาวิทยาลัยทุกคนยังคงต้องดิ้นรนหางานวิจัยที่เป็น commission research ที่ไม่จำเป็นต้องผ่าน peer review ที่เป็นการเช็คคุณภาพของงานเพียงเพื่อเป็นรายได้พิเศษเลี้ยงชีพแค่อย่างเดียวแล้วล่ะก็ โอกาสที่เขาจะดึงเอาความรู้ ความสามารถ และพรสวรรค์ของเขาออกมาเพื่อเขียนงานที่สามารถที่จะเปลี่ยนความคิดของคนได้ก็จะลดน้อยลงตามๆ กันไปด้วย

ความเข้าใจผิดข้อที่ 3: ถ้าอาจารย์เน้นแต่ทำงานวิจัย แล้วเด็กนักเรียนจะเรียนกับใคร

ในหลายๆ มหาวิทยาลัย ทั้งตะวันตกและตะวันออก ได้มีการแบ่งจ้างอาจารย์ออกมาเป็นสอง track ก็คือ research track และ teaching track สำหรับอาจารย์ที่อยู่ใน track ที่เน้นการวิจัยมากกว่าสอนก็จะถูกประเมินจากการตีพิมพ์เสียมากกว่า และอาจารย์ที่อยู่ใน track ที่เน้นการสอนก็จะถูกประเมินจากการสอนเสียมากกว่า ส่วนการหาเงินเข้ามหาวิทยาลัย อาจารย์ที่อยู่ใน track ที่เน้นการวิจัยมากกว่าสอนก็จะถูกประเมินโดยการดูจากความสามารถในการหาเงินเข้ามหาวิทยาลัยจากการสมัคร research grants ของพวกเขามากกว่าอย่างอื่น

และถ้าหลายๆ ประเทศสามารถที่จะมีการว่าจ้างอาจารย์ในระบบนี้ได้ ผมเชื่อว่าประเทศของเราก็สามารถที่จะทำได้เช่นเดียวกัน

ความเข้าใจผิดข้อที่ 4: จะให้ขึ้นเงินเดือนอาจารย์อย่างนั้นมันทำไม่ได้หรอก แล้วมหาวิทยาลัยจะหาเงินมาจ่ายรายได้อาจารย์กันยังไง จะให้ขึ้นค่าเทอมนักเรียนกันหรือยังไง

ถูกต้องครับ

ผมเชื่อว่ามันคงจะเป็นไปไม่ได้แน่ๆ หรืออย่างน้อยก็เป็นไปได้ยาก ที่ทุกๆ มหาวิทยาลัยในประเทศของเราจะสามารถขึ้นเงินเดือนให้กับอาจารย์ของตนโดยให้อาจารย์ของตนมามุ่งมั่นทำงานวิจัยพื้นฐานเพื่อส่งตีพิมพ์และเพิ่มชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยของตนเอง

แต่ในความเป็นจริงแล้วเราเริ่มต้นจาก scale เล็กๆ ก่อนก็ได้ และถ้าเราสามารถดึงดูดนักวิชาการที่เก่งๆ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์คนไทยที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ หรือไม่ก็อาจารย์ต่างชาติที่เก่งๆ แล้วสนใจอยากที่จะมาทำงานรับเงินเดือนที่เมืองไทย คุณภาพของมหาวิทยาลัยของเราก็จะเพิ่มขึ้นตามคุณภาพของอาจารย์ไปโดยปริยาย และถ้าคุณภาพของมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น และมีการแข่งขันในเรื่องวิชาการที่แท้จริงกันมากขึ้นผ่านผลงานการวิจัย ผมเชื่อว่าคงจะมีผู้ปกครองหลายคนที่จะยอมจ่ายค่าเทอมที่แพงขึ้นเพื่อให้ลูกของตัวเองได้เรียนมหาวิทยาลัยระดับโลกในประเทศไทยโดยที่ไม่ต้องส่งลูกไปเรียนที่มหาวิทยาลัยประเทศอื่นที่มีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่แพงกว่ามาก

ที่จริงคุณค่าของการทำงานวิจัยพื้นฐานของอาจารย์ในรั้วของมหาวิทยาลัยนั้นยังมีอีกเยอะแยะมากมายเลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เกิดมี free information ที่เกี่ยวกับคุณภาพขององค์ความรู้ของอาจารย์แต่ละท่านเพิ่มมากขึ้น (พูดง่ายๆ ก็คือคนทั่วไปสามารถศึกษาจากการแค่อ่านประวัติ หรือ CV ของอาจารย์แต่ละท่านได้ว่าอาจารย์คนไหนเก่งในเรื่องที่เขาเชี่ยวชาญจริงๆ หรือไปจำคนอื่นมาพูดอีกที เพราะถ้าเขาเก่งจริงๆ แล้วละก็ เราก็คงจะเห็นผลงานตีพิมพ์ที่เป็นที่ยอมรับของผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ในสาขานั้นๆ แล้ว) การเลื่อนขั้น การขึ้นเงินเดือน ก็จะง่ายและโปร่งใสกว่าเดิมเยอะ เป็นต้น

ผมไม่คิดหรอกนะครับว่าทุกๆ คนจะต้องเห็นด้วยกับผมทุกคน เพราะผมทราบดีว่าการเปลี่ยนความคิดของคนแค่คนเดียวนั้นเป็นอะไรที่ทำได้ยากมากๆ เพราะฉะนั้น การที่เราจะไปเปลี่ยนความคิดของคนทั้งองค์กรก็คงจะเป็นอะไรยากกว่านั้นอีกเป็นร้อยๆ เท่า

แต่ผมก็ยังพอมีความหวังอยู่นิดๆ หน่อยๆ นะครับ เพราะผมเชื่อว่า where there is a will, there is a way

อนึ่ง จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยเอเชียของ Times Higher Education ปี 2015 ประเทศญี่ปุ่นมาก่อนเลยเป็นอันดับแรก (1. Tokyo University) ตามมาด้วยประเทศสิงคโปร์ที่อันดับที่สอง (2. National University of Singapore) ฮ่องกงมาเป็นอันดับที่สาม (3. University of Hong Kong) ต่อมาคือประเทศจีนที่อันดับที่สี่ (4. Peking University) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ที่อันดับที่หก (6. Seoul Natuonal University) ตามมาด้วยประเทศตุรกีที่อันดับที่สิบสอง (12. Middle East Technical University) และไต้หวันที่อันดับที่สิบเจ็ด (17. National Taiwan University) อิสราเอลที่อันดับที่ยี่สิบสอง (22. Tel Aviv University) อินเดียที่สามสิบเจ็ด (37. Indian Institute of Science) มาเก๊าที่สี่สิบ (40. University of Macau) อิหร่านที่สี่สิบสาม (43. Sharif University of Technology) และประเทศไทยเราโผล่มาครั้งแรกที่อันดับห้าสิบห้า (55. King Mongkut’s University of Technology) ก่อนที่จะติดอันดับอีกครั้งที่อันดับเก้าสิบเอ็ดของเอเชีย (91. Mahidol University)

ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่