ThaiPublica > คอลัมน์ > กำลังจะเกิดอะไรกับยาบ้า – ทำให้ถูกกฎหมาย หรือแค่คลายความเป็นอาชญากรรม

กำลังจะเกิดอะไรกับยาบ้า – ทำให้ถูกกฎหมาย หรือแค่คลายความเป็นอาชญากรรม

30 มิถุนายน 2016


ณัฐเมธี สัยเวช

ในช่วงเดือนมิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา ประเด็นร้อนแรงหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ กรณีแนวคิดที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับ “ยาบ้า” ดังจะเห็นได้จาการเสนอข่าวต่างๆ โดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ถึงแนวคิดในการนำเอายาบ้าออกจากบัญชียาเสพติด รวมถึงคำชี้แจงที่ว่า “เมื่อวิธีการปราบใช้ไม่ได้ ก็ต้องกลับไปคิดว่าจะอยู่กับมันให้ได้ เราก็ต้องปรับเรื่องพวกนี้ เราควรจะคิดว่าจะให้คนเสพใช้ยาอย่างไร เช่น ให้คนที่ใช้ยาเสพติดเพื่อการบำบัด แต่ต้องอยู่ในระบบควบคุม ไม่ว่าจะสวิสเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ หรือประเทศอื่นๆ หลายประเทศ เขาก็ประสบความสำเร็จกับแนวทางนี้ แต่การจับคนเสพยาไปอยู่ในคุก เอาคนป่วยไปอยู่ในคุก มันไม่ใช่ที่รักษา ไม่ใช่ที่บำบัด”

แนวคิดดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักขึ้นในสังคม และลามเลยไปถึงความวิตกกังวลว่า ต่อจากนี้ ยาบ้าจะกลายเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ที่อาจถึงขั้นหาซื้อได้ทั่วไปในร้านสะดวกซื้อ

ต่อเรื่องดังกล่าว ภายหลังการประชุม “ทิศทางของนโยบายยาเสพติดโลกภายหลังการประชุม UNGASS (2016) กับการพิจารณาทบทวนกฎหมายและการตีความของไทยเกี่ยวกับยาเสพติด” ซึ่งกระทรวงยุติธรรมโดยสำนักกิจการในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ร่วมกับศาลฎีกา, ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15-16 มิถุนายน 2559 ผมได้มีโอกาสไปพูดคุยกับ ผศ. ดร. นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร.คาร์ล ฮาร์ต (Carl Hart) ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชและจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยเนื้อหาของการสนทนากับทั้งสองท่านนั้นสามารถสรุปใจความได้ดังนี้ครับ

เราอยู่กับยาบ้ามานาน ทำไมถึงมีการพูดเรื่องนี้ขึ้นมาในตอนนี้

ผศ. ดร. นพ.อภินันท์เล่าว่า กฎบัตรสหประชาชาติเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติดจัดเมทแอมเฟตามีนเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในกลุ่มที่สอง (schedule 2) ซึ่งหมายถึงมีประโยชน์ทางการแพทย์มากกว่าและมีโทษน้อยกว่ายาในกลุ่มที่หนึ่ง โดยในตะวันตกนั้นมีการใช้เมทแอมเฟตามีนเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในเด็กที่มีอาการของโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Disorder หรือ ADD) แต่การซื้อนั้นก็เป็นการซื้อตามใบสั่งยาของแพทย์ ไม่ใช่การไปซื้อหาได้เองตามสะดวก หรือก็คือกล่าวได้ว่า เมทแอมเฟตามีนมีสถานะเป็นยาที่สามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ภายใต้การควบคุมของกฎหมายตลอดมา และปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้นในระดับโลก ในขณะที่ประเทศไทยมีการยกระดับขึ้นมาเป็นยาเสพติดประเภทที่หนึ่ง กลายเป็นคดีอาญาอย่างสิ้นเชิง (เกิดขึ้นในสมัยที่นายเสนาะ เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข) โดยหวังว่าจะช่วยลดการใช้ยาบ้าลง

ทว่า ในความเป็นจริง นอกจาก การยกระดับความเป็นอาชญากรรมของการใช้ยาบ้าดังกล่าวจะส่งผลให้ไม่สามารถใช้เมทแอมเฟตามีนเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ไปด้วยแล้ว จะเห็นว่ายังไม่ได้ช่วยให้การใช้ยาบ้าลดลงอีกต่างหาก จึงเป็นที่มาของการตั้งคำถามว่า ที่ดำเนินนโยบายกันมาตลอดนั้นเป็นการมาถูกทางหรือไม่ ซึ่งจากการทบทวนข้อมูลนั้นก็พบว่าเราแย่ลงกว่าเมื่อสิบปีที่แล้ว โดยคุกหญิงของเรานั้นมีอัตราการคุมขังสูงที่สุดในโลก และ 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตั้งขังหญิงนั้นมาจากคดียาบ้า โดยมีอายุตั้งแต่สิบกกว่าปีไปจนถึงเจ็ดสิบปี และมีแม้กระทั่งสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ และเมื่อลงรายละเอียดไปในคดีแล้ว พบว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องขังหญิงในคดียาบ้าเป็นความผิดจากการเสพ ซึ่งไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร และแม้แต่ผู้พิพากษายังยอมรับว่าฐานความผิดไม่ได้รุนแรงถึงขนาดที่จะต้องจำคุก

โครงการกำลังใจ ในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้พยายามเข้าไปจัดการเรื่องสภาพแวดล้อมในที่คุมขังให้เหมาะสมต่อผู้ต้องขังเหล่านั้นมาเป็นเวลานาน แต่ก็พบว่าไม่เพียงพอ เพราะความรุนแรงของกฎหมายทำให้มีผู้ต้องเข้าเพิ่มขึ้นเป็นปริมาณมากจนล้นคุก ทำให้ทางโครงการเริ่มคิดถึงการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

ดร.คาร์ล ฮาร์ต ได้กล่าวเสริมว่า นอกจากโรคสมาธิสั้นแล้ว แอมเฟตามีนยังมีประโยชน์ในการรักษาโรคเหงาหลับหรือภาวะง่วงเกิน (Narcolepsy) ที่ผู้ป่วยจะมีอาการง่วงตลอดเวลาจนไม่สามารถทำอะไรได้ ในกรณีดังกล่าว คุณสมบัติของเมทแอมเฟตามีนที่ทำให้เกิดการตื่นตัวนั้นจะช่วยให้ผู้ป่วยด้วยโรคสมาธิสั้นสามารถมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งต่างๆ ได้นานขึ้น และทำให้ไม่ง่วงเหงาจนทำอะไรไม่ได้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเหงาหลับ นอกจากนี้ เขายังเคยทำการทดลองโดยให้เมทแอมเฟตามีนแก่ผู้เข้าทดลองในระดับต่างๆ กัน ซึ่งพบว่าหากได้รับในระดับที่เหมาะสมแล้ว เมทแอมเฟตามีนสามารถช่วยยกระดับความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เข้าทดองได้ด้วย

ภาพคุ้นชินที่สังคมมีต่อผู้ที่ใช้ยาบ้าแล้วมีอาการคุ้มคลั่งนั้น แท้จริงแล้วเป็นผลจากการเสพหรือไม่

ต่อประเด็นนี้ ดร.คาร์ล ฮาร์ต บอกว่า

1. เมทแอมเฟตามีนนั้นทำให้คนตื่นตัวตลอดเวลา ผลที่เกิดจากการใช้ก็คือทำให้ไม่ได้นอน และเมื่อใช้มากเกินไปจนไม่ได้นอนหลับติดต่อกันเป็นเวลานานย่อมมีผลกระทบต่อจิตประสาท กล่าวคือ ทำให้เกิดอาการหวาดระแวง อันสามารถนำไปสู่การคุ้มคลั่งดังที่เห็นในภาพข่าวได้ ซึ่งหมายความว่าอาการเหล่านั้นอาจไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสารเคมีในยาโดยตรง แต่เป็นจากการที่ยาทำให้ไม่ได้นอนหลับเป็นเวลานาน

2. คนเราล้วนมีอาการทางจิตประสาทมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันมาแต่กำเนิดและระหว่างการเติบโต การใช้ยาบ้าก็อาจเหมือนตัวกระตุ้นอื่นๆ (เช่น ความเครียดจากปัญหาต่างๆ) ที่ทำให้อาการเหล่านี้กำเริบรุนแรงขึ้นมาได้ ซึ่งในกลุ่มเช่นนี้นั้น แม้จะบำบัดจนเลิกการใช้ยาได้แล้วก็จะยังคงมีอาการเหล่านี้อยู่ จึงอาจเป็นไปได้ว่าตัวยานั้นไม่ใช่สาเหตุหลักเพียงอย่างเดียวของอาการทางจิตประสาทที่เกิดขึ้น แต่มีเรื่องพันธุกรรมแฝงและสภาพสุขภาพจิตดั้งเดิมที่ติดตัวมาด้วย

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ถ้าทำให้ยาบ้าถูกกฎหมายแต่อยู่ภายใต้การควบคุมการใช้ ก็จะสามารถควบคุมปริมาณการใช้ไม่ให้ไปถึงระดับที่จะเกิดอันตรายได้

นี่คือแนวคิดที่จะทำให้ยาบ้าถูกกฎหมายใช่หรือไม่

ผศ. ดร. นพ.อภินันท์ ได้เล่าเพิ่มเติมว่า ในการประชุมทั้งสองวันที่ผ่านมา เป็นการพูดคุยกันถึงการเสนอร่างประมวลกฎหมายใหม่ ที่จะเปิดโอกาสให้ศาลสามารถพิจารณาโทษได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น มีทางเลือกในการใช้ดุลพินิจเพื่อใช้การลงโทษแบบอื่นที่ไม่ใช่การจำคุกเพียงอย่างเดียว และสามารถใช้การพิจารณาโทษที่เหมาะสมกับพฤติกรรมและเจตนาในการทำผิด เพื่อไม่เกิดปัญหาการลงโทษแบบเหมารวมดังกรณีที่มีหญิงสูงอายุพกยาบ้าติดตัวข้ามมาจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านเพียงเม็ดครึ่ง แต่กลับโดนข้อหานำเข้าในราชอาณาจักร ซึ่งมีโทษร้ายแรงถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต ที่แม้ลดโทษเต็มที่แล้วสุดท้ายก็ยังต้องโทษจำคุกนานถึง 25 ปี (และในส่วนนี้นั้น ดร.คาร์ล ฮาร์ต ได้กล่าวเสริมในภายหลังว่า การลงโทษดังกล่าวไม่ได้มีการวินิจฉัยด้วยซ้ำว่ามีปริมาณเมทแอมเฟตามีนขนาดไหนอยู่ในยาบ้าจำนวนเม็ดครึ่งนั้น และเขาเชื่อว่า แค่ยาบ้าจำนวนเม็ดครึ่ง ไม่น่าจะมีปริมาณเมทแอมเฟตามีนที่มากพอจะเป็นอันตรายกับใครได้)

ทั้งนี้ ร่างประมวลกฎหมายที่หารือกันนั้นจะยังคงมีการจำแนกผู้ค้ารายใหญ่ออกจากผู้เสพอย่างชัดเจน และจะยังคงมีการลงโทษสถานหนักต่อผู้ค้ารายใหญ่เช่นเดิม แต่จะเน้นการเปิดโอกาสให้ผู้เสพได้รับบทลงโทษแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพียงการจำคุกเพียงอย่างเดียว รวมทั้งเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ใช้ยาได้รับการบริการทางการแพทย์แต่เนิ่นๆ นอกจากนี้ ก็ยังมีการพูดคุยกันว่า ลำพังลดความเป็นอาชญากรรมของการใช้ยาบ้านั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องมีบริการทางสังคมที่จะช่วยให้ผู้ที่ผ่านการบำบัดแล้วไม่กลับไปเสพติดด้วย

(ตรงนี้ผมขอเล่าเพิ่มเติมให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ลักษณะการพิจารณาโทษของยาบ้าในปัจจุบันนั้นอิงอยู่กับปริมาณครอบครองเป็นหลัก ทำให้เกิดกรณีที่ครอบครองเพื่อเสพเองแต่มีปริมาณถึงที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่าย ทำให้ได้รับโทษหนักอย่างไม่ได้สัดส่วนและผิดไปจากเจตนาของการกระทำผิด)

เพราะฉะนั้น ผศ. ดร. นพ.อภินันท์ ยืนยันว่าสิ่งที่พูดคุยกันไม่ใช่การทำให้ยาบ้าถูกกฎหมาย (legalize) แต่คือการลดความเป็นอาชญากรรมของการใช้ยาบ้าลง (decriminalize)

ดังนั้น ก็หวังว่าคุณผู้อ่านที่มีความกังวลอยู่จะมีความสบายใจมากขึ้นนะครับว่า นี่ไม่ใช่แนวคิดอันจะนำไปสู่การทำให้ยาบ้ากลายเป็นสิ่งที่สามารถซื้อหากันด้วยทั่วไปอย่างไร้การควบคุม แต่คือการพยายามหาทางให้บทลงโทษนั้นมีความยุติธรรมและได้สัดส่วนต่อการกระทำผิดมากขึ้นเป็นประเด็นหลัก รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ยาเสพติดได้เข้ารับการบำบัดแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป และเหนือสิ่งอื่นใด นี่คือการมองผู้เสพยาเสพติดในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง และอาการติดยาก็เป็นอาการเจ็บป่วยแบบหนึ่งที่ต้องได้รับการบำบัด ไม่ใช่ความผิดระดับที่ต้องกำจัดตัวผู้กระทำให้สิ้นไปจากสังคม

อนึ่ง ในตอนท้ายของการพูดคุยในวันนั้น ดร.คาร์ล ฮาร์ต ได้บอกกับผมและผู้ร่วมสัมภาษณ์ท่านอื่นๆ ว่า ในฐานะสื่อ เมื่อพบเจอเรื่องราวดังเช่นพิษภัยของยาเสพติดนี้ สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างก็คือการหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ชัดได้ว่าพิษภัยต่างๆ นั้นเป็นผลมาจากตัวยาจริงๆ และสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ขึ้นได้โดยทั่วไปจริงๆ ไม่ใช่เพียงเรื่องเล่าที่พบเจออย่างนานๆ ครั้งแล้วนำมาขยายต่อจนกลายเป็นเรื่องทั่วไป ซึ่งในส่วนของคำแนะนำนี้นั้น ผมคิดว่าไม่เพียงแค่สื่อ แต่ทุกๆ คนก็ควรที่จะคิดอย่างมีวิจารณญาณไปในทางนี้เช่นกันครับ