ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > กนง. เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 1.5% ส่งออกสินค้ายังทรุด ระบุวิถีการค้าโลกเปลี่ยน เทรดในกลุ่มเดียวกัน – ชี้เศรษฐกิจไทยเคลื่อนสู่ “ภาคบริการ” มากขึ้น

กนง. เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 1.5% ส่งออกสินค้ายังทรุด ระบุวิถีการค้าโลกเปลี่ยน เทรดในกลุ่มเดียวกัน – ชี้เศรษฐกิจไทยเคลื่อนสู่ “ภาคบริการ” มากขึ้น

23 มิถุนายน 2016


นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่าที่ประชุมมีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ต่อปี โดยการประชุมครั้งนี้ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ลาประชุม

เนื่องจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ตามคาด แต่การลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวในระดับต่ำและการส่งออกสินค้ายังคงหดตัวตามเศรษฐกิจเอเชียที่ชะลอลงมากกว่าคาด ในภาพรวมแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศและการท่องเที่ยวช่วยชดเชยการส่งออกสินค้าที่ปรับลดลง ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน

อีกด้านหนึ่ง แรงกดดันเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคมปรับเป็นบวกมากขึ้นจากราคาพลังงานและอาหารสดที่เร่งขึ้น และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เริ่มปรับสูงขึ้นเล็กน้อย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับสูงขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี ประกอบกับภาวะการเงินอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากอัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่อยู่ในระดับต่ำ การระดมทุนโดยรวมของภาคธุรกิจและสินเชื่อภาคครัวเรือนยังขยายตัวได้

ขณะที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยมีความสมดุลมากขึ้น จากเดิมที่มีความเสี่ยงด้านลบเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยความเสี่ยงด้านลบประกอบด้วยเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัวลงและความเชื่อมั่นของเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่วนความเสี่ยงด้านบวกประกอบด้วยภาวะภัยแล้งที่บรรเทาไปและราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่เริ่มฟื้นตัว

โดยสรุป กนง. จึงมองว่าการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ยังเป็นเรื่องส่าคัญ เพราะเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงในระยะต่อไป เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง, ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก, ผลการลงประชามติในสหราชอาณาจักร (Brexit) ซึ่ง ธปท. ได้เตรียมรับมือแล้ว แต่ไม่ขอลงรายละเอียด เช่นเดียวกับภาคเอกชนที่จากการสำรวจได้ระบุว่าเตรียมความพร้อมแล้วเช่นกัน และประเด็นความเสี่ยงในภาคการเงินจีน

GDP_2559_revised_jun2016
ประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท. ณ เดือนมิถุนายน 2559

โครงสร้างการค้าโลกหยุดโต แต่“ท่องเที่ยว” 14 ปี โต 176%

ในครั้งนี้ ธปท. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง โดยมีประเด็นสำคัญอยู่ที่ตัวเลข “มูลค่าส่งออกสินค้า” ของไทยที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของจีดีพี ถูกปรับให้ลดลงอีก 0.5% จาก -2% ในการประมาณเดือนมีนาคม 2559 เป็น -2.5% แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา “ราคา” สินค้าส่งออก จะปรับตัวดีขึ้นชดเชยการหดตัวของ “ปริมาณ” สินค้าส่งออก แต่ยังไม่เพียงพอที่จะทดแทนกัน

อย่างไรก็ตาม หากรวมการส่งออกภาคบริการ “ปริมาณส่งออกสินค้าและบริการ” ปรับขึ้นจาก 1% ในการประมาณการเดือนมีนาคม 2559 เป็น 2.2% ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นการเติบโตอย่างเข้มแข็งของภาคบริการและแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยที่กำลังเคลื่อนย้ายจาก “การผลิตภาคอุตสาหกรรม” ไปยัง “การผลิตภาคบริการ” มากขึ้น

“จริงๆ เราเริ่มเห็นการย้ายรูปแบบเศรษฐกิจไทยไปสู่ภาคบริการ การจ้างงานในภาคการบริการก็ปรับตัวดีขึ้นด้วย แต่การลงทุนใหม่ๆ ภาคบริการโดยปกติอาจจะไม่ต้องการเม็ดเงินลงทุนมากเท่าการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น มีประเด็นตอนนี้ที่กำลังศึกษาว่าเวลาที่เศรษฐกิจย้ายไปสู่ภาคบริการมากขึ้นจะทำให้ความต้องการลงทุนหรือเม็ดเงินการลงทุนของเอกชนลดลงหรือไม่ เป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนและการเปลี่ยนโครงสร้างของเศรษฐกิจ” นายจาตุรงค์กล่าว (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

จำนวนนักท่องเที่ยวรายปี

จำนวนนักท่องเที่ยวรายปี (แยกรายกลุ่ม)

นายจาตุรงค์กล่าวต่อไปถึงโครงสร้างการค้าโลกที่เปลี่ยนไปว่า ช่วงหลังจะเริ่มเห็นปรากฏการณ์ว่าเศรษฐกิจคู่ค้าฟื้นตัวขึ้นมา แต่การค้าขายของโลกกลับไม่ฟื้นตัวตาม โดยมีสาเหตุ 2 ประการ คือ 1) การปรับโมเดลเศรษฐกิจของจีนจากที่ก่อนหน้านี้มีความต้องการสินค้านำเข้าจำนวนมากเพื่อนำไปลงทุนภายในประเทศ แต่ช่วงหลังกลับมีความต้องการลดลงและเปลี่ยนมาเป็นผู้ส่งออกสินค้าป้อนตลาดโลกแทน จึงทำให้การส่งออกของประเทศคู่ค้ากับจีนไม่เติบโต แม้ว่าประเทศจีนจะเติบโตที่ระดับสูง 2) การค้าภายในกลุ่มการค้าต่างๆ มีสัดส่วนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น กลุ่มอียู เป็นต้น ทำให้คู่ค้าที่อยู่นอกกลุ่มไม่สามารถแทรกเข้าไปในสายการผลิตได้

“ถ้าไปดูการค้าโลกที่เติบโตมันเป็นการเติบโตในกลุ่มการค้ากันเอง ดังนั้น โครงสร้างความต้องการนำเข้าสินค้าไปเป็น supply chains ของการผลิตสินค้าของโลกจะลดลง เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เราเริ่มเห็นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ห่วงโซ่การผลิตหดสั้นลง เป็นปัจจัยความเสี่ยงหลักที่มองไปข้างหน้าของการส่งออกไทย” นายจาตุรงค์กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ช่วง 14 ปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตกว่า 176% จาก 10.8 ล้านคนในปี 2545 เป็น 29.88 ล้านคนในปี 2558 และหากการเติบโตของนักท่องเที่ยวในปี 2560 เป็นไปตามที่ ธปท. ประเมิน ในช่วงเวลา 16 ปี จำนวนนักท่องเที่ยวของไทยจะเติบโตไปกว่า 240% ทั้งนี้ หากดูในรายละเอียดจะพบว่านักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญกว่า 890% ในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา จาก 8 แสนคนในปี 2545 เป็น 8 ล้านคนในปี 2558 ขณะที่นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศอาเซียนและยุโรปเติบโต 218% และ 112% (ดูกราฟิก)