ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > เจ้าพ่อคิงเพาเวอร์ซื้อหุ้น ”แอร์เอเชีย” ต่อยอดธุรกิจดิวตี้ฟรี ขายตั๋วพ่วงสินค้าปลอดภาษี – เล็งสนามบินอู่ตะเภารับทัวร์จีน

เจ้าพ่อคิงเพาเวอร์ซื้อหุ้น ”แอร์เอเชีย” ต่อยอดธุรกิจดิวตี้ฟรี ขายตั๋วพ่วงสินค้าปลอดภาษี – เล็งสนามบินอู่ตะเภารับทัวร์จีน

15 มิถุนายน 2016


เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เวลา 10.30 น. นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ พร้อมกับนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย แถลงข่าวการซื้อ-ขายหุ้นบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด(มหาชน) ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 1 สำนักงานใหญ่บริษัท คิง เพาเวอร์ ถนนรางน้ำ
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เวลา 10.30 น. นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ พร้อมกับนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย แถลงข่าวการซื้อ-ขายหุ้นบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 1 สำนักงานใหญ่บริษัท คิง เพาเวอร์ ถนนรางน้ำ

ลือกันมานานในตลาดหุ้น “วิชัย ศรีวัฒนประภา” เจ้าพ่อธุรกิจดิวตี้ฟรี เตรียมขยายธุรกิจคิงเพาเวอร์ ไปสู่ธุรกิจสายการบิน เข้าซื้อหุ้นไทยแอร์เอเชีย โดยดีลนี้ปิดลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน 2559 นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ และครอบครัว ตกลงขายหุ้นบริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV (เป็นบริษัทที่ถือหุ้นไทยแอร์เอเชียในสัดส่วน 55%) จำนวน 1,892 ล้านหุ้น ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 39% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ให้กับนายวิชัยในราคาหุ้นละ 4.20 บาท รวมมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,945 ล้านบาท

นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ พร้อมกับนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย แถลงข่าวการซื้อ-ขายหุ้น AAV อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 1 สำนักงานใหญ่บริษัทคิงเพาเวอร์ ถนนรางน้ำ

เหตุผลในการเข้าซื้อหุ้น AAV ครั้งนี้ นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์กล่าวว่า “เป็นการลงทุนในระยะยาวให้กับตนเองและครอบครัว ซึ่งคิดว่าจะสามารถใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์จากการทำธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมาต่อยอด และส่งเสริมซึ่งกันและกันกับธุรกิจของไทยแอร์เอเชีย เพื่อให้เติบโตต่ออย่างมั่นคง”

การเข้าซื้อหุ้น AAV ในครั้งนี้ นายวิชัยมอบหมายให้นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา, นายอภิเชษฐ์ ศรีวัฒนประภา และนายสมบัตร เดชาพานิชกุล เป็นกรรมการบริษัท เพื่อร่วมกำหนดวิสัยทัศน์และนโยบายของไทยแอร์เอเชีย ร่วมกับนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ และทีมผู้บริหารชุดเดิม

ภายหลังจากการซื้อขายหุ้น AAV เรียบร้อย นายวิชัยจะทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของกิจการ (Mandatory Tender Offer) ส่วนที่เหลือจากผู้ถือหุ้นอื่นๆ ประมาณ 60% ของหุ้น AAV ที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมด โดยมีราคาเสนอซื้อที่ 4.20 บาทต่อหุ้น มูลค่ารวมประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นที่ปรึกษาและให้การสนับสนุนทางการเงินในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ และได้ทำการยื่นแบบประกาศเจตนาในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในช่วงเช้าของวันที่ 14 มิถุนายน 2559 และคาดว่าจะยื่นคำเสนอซื้อหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการได้ในวันที่ 23 มิถุนายน 2559

นายวิชัยกล่าวว่า การตัดสินใจซื้อหุ้น AAV ครั้งนี้จะช่วยเสริมธุรกิจดิวตี้ฟรีของคิงเพาเวอร์ เนื่องจากธุรกิจสายการบินเป็นช่องทางที่จะนำนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ปัจจุบันมีบริษัททัวร์จีนรายใหญ่พานักท่องเที่ยวจีนมาไทย คาดว่าในปีนี้จะมีประมาณ 11 ล้านคน ปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 12 ล้านคน ในจำนวนนี้มีนักท่องเที่ยวจีนมาใช้บริการซื้อสินค้าปลอดอากรของคิงเพาเวอร์ประมาณ 6-7 ล้านคน ขณะที่ไทยแอร์เอเชียมีผู้โดยสารปีละประมาณ 17 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 20% ข้อสังเกตคือเรามีฐานลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวจีนเหมือนกัน เพราะฉะนั้น การที่คิงเพาเวอร์ได้แอร์เอเชียมาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ น่าจะช่วยสนับสนุนให้ทั้ง 2 ฝ่ายมีอัตราการเติบโตเพิ่มมากขึ้น

นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ จำกัด
นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ จำกัด

โครงสร้างผู้ถือหุ้น

“ทุกวันนี้มีหลายมณฑลในจีน แต่ยังไม่มีสายการบินแห่งใดเปิดเที่ยวบินเพื่อบินตรงเข้ามาในประเทศไทยและลงจอดที่สนามบินภูมิภาค แทนที่จะไปลงจอดที่สนามบินดอนเมือง เราอาจจะไปเจรจากับบริษัททัวร์จัดเช่าเหมาลำไปลงที่สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นสนามบินที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจีนได้อยู่แล้ว ขณะนี้ทราบว่าสนามบินอู่ตะเภากำลังยกร่าง TOR ซึ่งผมก็พร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลเช่าพื้นที่ แต่ผมยังไม่ทราบว่าอาคารผู้โดยสารใหญ่จะมีขนาดใหญ่แค่ไหน แต่อย่างไรก็ตาม คิงเพาเวอร์ได้เปิดร้านค้าปลอดอากรในเมืองรอไว้แล้วตั้งแต่ 5 ปีก่อน ใช้เงินลงทุนไปประมาณ 5,000 ล้านบาท” นายวิชัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากที่ได้แอร์เอเชียเป็นพันธมิตร คิงเพาเวอร์เตรียมแผนการตลาดอย่างไร นายวิชัยกล่าวว่า เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน คงต้องใช้ระบบออนไลน์ เริ่มตั้งแต่ผู้โดยสารจองตั๋วเครื่องบิน ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าปลอดอากรได้ และเราจะให้บริการส่งสินค้าปลอดอากรถึงที่นั่งบนเครื่องบิน ในฐานะที่เป็นลูกค้าแอร์เอเชียจะได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย ส่วนแผนการขยายตลาดสินค้าโอทอป หรือ “ไทยแลนด์แบรนดิ้ง” เราพยายามขายผ่านร้านค้าปลอดอากรทั้งในเมืองและที่สนามบิน รวมทั้งผู้โดยสารที่ใช้บริการแอร์เอเชียก็สามารถเห็นแคตตาล็อกสินค้าปลอดอากรและสินค้าโอทอปตั้งแต่อยู่บนเครื่องบิน ส่วนลูกค้าที่ไม่ได้เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยก็สามารถสั่งซื้อสินค้าโอทอปผ่านคิงเพาเวอร์ออนไลน์ได้ เราพยายามขยายตลาดสินค้าโอทอปไปสู่ตลาดโลก แต่ติดปัญหาเรื่องคุณภาพและปริมาณ สินค้าบางอย่างโปรโมทจนติดตลาดแล้วเราไม่สามารถผลิตได้ตามปริมาณที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งทางคิงเพาเวอร์กำลังเร่งปรับปรุงในส่วนนี้ (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผลประกอบการของคิงเพาเวอร์ล่าสุดเป็นอย่างไร นายวิชัยกล่าวว่า ผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2559 คิงเพาเวอร์มีรายได้จากยอดขายสินค้าปลอดอากรประมาณ 35,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 20% ถึงแม้เศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่คาดว่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่ 85,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2560 คิงเพาเวอร์ตั้งเป้าหมายเพิ่มรายได้จากยอดขายขึ้นเป็น 100,000 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่นับรายได้เงินปันผลที่ได้รับจาก AAV คาดว่าปีนี้จะประมาณ 30,000 ล้านบาท

ส่วนเงินที่ลงทุน AAV ไปเกือบ 8,000 ล้านบาท เราไม่สามารถที่จะนำหุ้นมาซื้อขายในตลาดได้ เป็นการบอกว่าเราลงทุนระยะยาวแน่นอน รายได้คงต้องรอจากเงินปันผล คาดว่าจะใช้เวลา 8 ปี ถึงจะคุ้มทุน

“การซื้อหุ้น AAV ครั้งนี้ผมใช้เงินของครอบครัวเกือบ 8,000 ล้านบาท ส่วนที่ทำ Tender Offer อีก 60% คาดว่าต้องใช้เงินอีก 12,000 ล้านบาท ส่วนนี้ผมใช้เงินกู้จากแบงก์ไทยพาณิชย์ ยืนยันเป็นการลงทุนระยะยาวแน่นอน เพราะการลงทุนซื้อหุ้นครั้งนี้ผมไม่สามารถนำไปขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ เพราะฉะนั้น รายได้หลักจะมาจากเงินปันผล คาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนได้ภายใน 8 ปี” นายวิชัยกล่าว

ด้านนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ได้ตัดสินใจขายหุ้น AAV ในส่วนของตนเองและครอบครัวถือครองอยู่ในสัดส่วน 44% ให้กับนายวิชัยและครอบครัวศรีวัฒนประภาในสัดส่วน 39% ในราคาหุ้นละ 4.20 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาที่สะท้อนถึงข้อจำกัดการถือครองหุ้นของสายการบินในประเทศไทย ตามกฎหมายอันเกี่ยวกับการเดินอากาศที่ได้กำหนดสัดส่วนการถือครองหุ้นว่า “ผู้ถือหุ้นต้องเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย ไม่น้อยกว่า 51%” ซึ่งข้อจำกัดนี้ทำให้ยากที่จะหาผู้ที่มีความประสงค์และมีกำลังซื้อสูงพอที่จะซื้อหุ้น AAV เป็นจำนวนมากได้ แต่อย่างไรก็ตาม นายธรรศพลฐ์ยังคงถือหุ้น AAV อยู่ที่ 5% และมองว่าเป็นโอกาสดีของไทยแอร์เอเชียที่ได้พันธมิตรที่แข็งแกร่งมากในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมาช่วยต่อยอดธุรกิจให้เติบโตและมั่นคงยิ่งขึ้น

“ขอให้ความมั่นใจว่า ผมและทีมงานผู้บริหารสายการบิน ยังคงทำหน้าที่บริหารของไทยแอร์เอเชียต่อไป และยังทุ่มเทในการทำงานเต็มที่เหมือนวันแรกที่เข้ามาบุกเบิกตลาดสายการบินราคาประหยัดในประเทศไทยเมื่อ 13 ปีก่อน และผ่านบทพิสูจน์มากมาย โดยไทยแอร์เอเชียยืนยันการลงทุนเพื่อการเติบโตตามแผนปี 2559 นี้ โดยจะรับเครื่องบินจนครบ 51 ลำ คาดการณ์ผู้โดยสารอยู่ที่ 17 ล้านคน พร้อมเจาะตลาดอาเซียน จีน และอินเดีย ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าจะได้ความแข็งแกร่งของนายวิชัยและกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์เข้ามาช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจให้เติบโตในอัตราเร่งที่อาจจะมากกว่าเดิม” นายธรรศพลฐ์กล่าว

นายธรรศพลฐ์กล่าวต่อว่า “การเจรจาขายหุ้น AAV ให้นายวิชัย มีการพูดคุยกันมาระยะหนึ่ง แต่เพิ่งจะมาตกลงราคากันได้เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน 2559 ถึงแม้ราคาตลาดจะอยู่ที่ 6 บาทต่อหุ้น (ราคาปิดวันที่ 13 มิถุนายน 2559) แต่ราคา 4.20 บาท เป็นราคาที่ทั้ง 2 ฝ่ายพึงพอใจ ไม่ได้คำนวณมาจากราคาพื้นฐานใดๆ จริงๆ ผมเสนอขายไปแค่ 35% แต่นายวิชัยต้องการซื้อหุ้นที่ผมและครอบครัวถืออยู่ทั้งหมด 44% สุดท้ายตกลงขายที่ 39% ที่ผ่านมาตนได้มีการเจรจาขายหุ้นให้กับพันธมิตรหลายกลุ่ม แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเดินอากาศ กำหนดโครงสร้างผู้ถือหุ้น ต้องมีบุคคลธรรมดาถือครองหุ้นไม่น้อยกว่า 51% ดังนั้น ในการเจรจาขายหุ้น AAV ให้กับพันธมิตรกลุ่มอื่นจึงทำได้ยาก เพราะต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่มีกำลังซื้อสูง

ที่มาภาพ : นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย
ที่มาภาพ: นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย

ส่วนกรณีที่บริษัท เอเชีย เอวิชั่น เคยปฏิเสธข่าวผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทขายหุ้นออกต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น นายธรรศพลฐ์กล่าวว่า การเจรจาซื้อ-ขายหุ้น AAV ครั้งนี้ เป็นเรื่องส่วนตัว ตนจึงไม่ได้ทำเรื่องเสนอคณะกรรมการบริษัท ดังนั้น ทางบริษัทจึงไม่ได้รับรู้เรื่องดังกล่าวมาก่อน

ถึงแม้บริษัทเอเชียเอวิเอชั่นจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ นายธรรศพลฐ์ยืนยันว่า แผนการลงทุนของไทยแอร์เอเชียจะยังคงเดิม ทีมผู้บริหารยังคงเป็นชุดเดิม 13 ปีที่ผ่านมาไทยแอร์เอเชียล้มลุกคลุกคลานมาตลอด แต่เพิ่งจะมาประสบความสำเร็จในช่วง 5-6 ปีหลัง ตอนนี้บริษัทเอเชียเอวิเอชั่นครองส่วนแบ่งทางการตลาดสายการบินต้นทุนต่ำมากที่สุด และมีอัตราการเติบโต 20% ต่อปี การที่เราได้คิงเพาเวอร์มาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจจะทำให้ AAV มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดจาก 1 บวก 1 เป็น 3 หรือ 4 หรือ 5 เนื่องจากคิงเพาเวอร์มีคอนเนคชั่นที่ดีกับกรุ๊ปทัวร์จีน มีฐานลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมาก ขณะที่ AAV เปิดเส้นทางการบินในประเทศจีนหลายจุด การที่ AAV ได้คิงเพาเวอร์มาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจครั้งนี้จะทำให้ AAV แข็งแกร่ง สามารถเพิ่มเที่ยวบินในจีนได้มากขึ้น หรืออาจจะเจรจากับทัวร์จีนเปิดให้บริการแบบเช่าเหมาลำบินตรงไปลงที่ท่าอากาศยานในภูมิภาคได้โดยไม่ต้องเสียเวลามาลงที่ท่าอากาศยานดอนเมืองหรือสุวรรณภูมิ เพื่อต่อรถยนต์เดินทางไปท่องเที่ยวตามจังหวัดต่างๆ

ด้านนายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งคณะกรรมการบริษัทของ AAV และไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ทั้ง 2 บริษัทยังดำเนินนโยบายในธุรกิจหลักที่เข้มแข็ง แต่จะร่วมกันสร้างโอกาสใหม่ในธุรกิจ โดยเฉพาะการมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ในตลาดประเทศจีนและกลุ่มอาเซียนที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งไทยแอร์เอเชียก็เป็นสายการบินที่มีเส้นทางบินเชื่อมไทย-จีนและขนส่งผู้โดยสารจีนมากที่สุดเช่นกัน มีการเพิ่มช่องทางจำหน่ายและกระจายสินค้าในธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ รวมทั้งการพัฒนาแบรนด์ร่วมกันในระดับนานาชาติ อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะยังตอกย้ำการมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดทั้งด้านการช็อปปิ้งและการเดินทาง ด้วยมาตรฐานยอมรับที่เป็นสากล