ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 11-17 มิ.ย. 2559 : ไลน์เป็นเรื่อง ‘ปู-เหยื่อ-CFIT’ พาทีขอโทษยิ่งลักษณ์ และ ‘บิ๊กต๊อก’ เสนอ ทำความเข้าใจใหม่ ‘ยาบ้า’ ปราบไม่ได้ก็ต้องอยู่ร่วมกัน

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 11-17 มิ.ย. 2559 : ไลน์เป็นเรื่อง ‘ปู-เหยื่อ-CFIT’ พาทีขอโทษยิ่งลักษณ์ และ ‘บิ๊กต๊อก’ เสนอ ทำความเข้าใจใหม่ ‘ยาบ้า’ ปราบไม่ได้ก็ต้องอยู่ร่วมกัน

18 มิถุนายน 2016


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 11-17 มิ.ย. 2559

  • ไลน์เป็นเรื่อง “ปู-เหยื่อ-CFIT” พาทีขอโทษยิ่งลักษณ์
  • รัฐเตรียมเปิดลงทะเบียน ช่วยคนรายได้น้อย
  • ศาลอังกฤษฟันผู้ผลิต GT200 “ยึดทรัพย์-จ่ายค่าชดเชยผู้เสียหาย”
  • 33 ชุมชนริมน้ำเห็นด้วย ปรับภูมิทัศน์ริมเจ้าพระยา
  • “บิ๊กต๊อก” เสนอ ทำความเข้าใจใหม่ “ยาบ้า” ปราบไม่ได้ก็ต้องอยู่ร่วมกัน
  • ไลน์เป็นเรื่อง “ปู-เหยื่อ-CFIT” พาทีขอโทษยิ่งลักษณ์

    ที่มาภาพ : http://news.voicetv.co.th/thailand/376521.html
    ที่มาภาพ : http://news.voicetv.co.th/thailand/376521.html

    จากกรณีที่มีเผยแพร่ภาพจากห้องสนทนาของแอปพลิเคชันไลน์ ซึ่งระบุว่าเป็นห้องสนทนาของผู้ช่วยนักบินสายการบินนกแอร์ โดยในห้องสนทนาดังกล่าวนั้นมีการโพสต์ภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะกำลังจะขึ้นเครื่องบิน และมีการพิมพ์ถ้อยคำว่า “มีเหยื่อ ออน บอร์ด หวะ” ซึ่งต่อมาก็มีคนพิมพ์ว่า “cfit หน่อย… (ชื่อคน)” ซึ่ง CFIT นั้นย่อมาจาก Control Flight to Terrain หรือก็คือ “เอาเครื่องโหม่งโลกเลย”

    กรณีดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามถึงทั้งเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสารและจรรยาบรรณวิชาชีพ ทำให้นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ว่าจะโทรไปขอโทษ น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วยตัวเอง พร้อมยืนยันว่านกแอร์ไม่มีเรื่องการเมืองแน่นอน และในเวลาต่อมา นายพาทียังออกแถลงการณ์ขอโทษ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในเรื่องดังกล่าว พร้อมระบุว่าเป็นเรื่องทัศนคติส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับสายการบิน ซึ่งตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการกระทำนั้น และขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนหาข้อเท็จจริง

    อนึ่ง ในเรื่องของบทลงโทษนั้น เว็บไซต์ประชาไทเผยว่า ในส่วนของคนโพสต์ซึ่งเป็นผู้ช่วยนักบินของสายการบินนกแอร์ ได้มีการสั่งพักการบิน 1-2 สัปดาห์ ในขณะที่คนที่โพสต์ข้อความว่า CFIT นั้นเป็นศิษย์นักบินของสายการบินแอร์เอเชีย คือยังไม่ได้เป็นนักบิน แต่เพิ่งเซ็นสัญญารับเป็นนักบินและอยู่ในขั้นตอนการฝึกอบรมเพียง 3 วัน กว่าจะเป็นนักบินต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 2 ปี ขณะนี้ได้สั่งพักการอบรมและให้กลับไปเริ่มต้นในขั้นตอนการทดสอบทางด้านทัศนคติ (Attitude Test) และจะต้องดูพฤติกรรม เพราะผู้ที่จะเป็นนักบินได้จะต้องมีภาวะความเป็นผู้ใหญ่เพียงพอ หากผ่านการทดสอบก็พร้อมรับเข้ามาฝึกอบรมเพื่อเป็นนักบินต่อไปได้

    รัฐเตรียมเปิดลงทะเบียน ช่วยคนรายได้น้อย

    พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
    พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    14 มิ.ย. 2559 เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงาน ว่า พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะ ครม. มีมติอนุมัติในหลักการตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เรื่องโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบในหลักการ ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเร่งรัดจัดทำฐานข้อมูลประชาชนแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร เป็นต้น

    ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเห็นว่า ที่ผ่านมารัฐบาลใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับการจัดให้เป็นรัฐสวัสดิการ เช่น การขึ้นรถเมล์-รถไฟฟรี แต่การช่วยเหลือแบบนี้ยังไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงนำโครงการนี้มาเสนอต่อที่ประชุม ครม.

    สำหรับคุณสมบัติของประชาชนที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ จะต้องเป็นผู้ว่างงานหรือมีรายได้ไม่เกินปีละ 1 แสนบาท อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของประชาชน ซึ่งไม่ได้บังคับว่าต้องมาลงทะเบียน เพียงแต่รัฐบาลต้องการให้ประชาชนมาสมัครไว้ เพราะรัฐบาลจะได้กำหนดแนวทางการช่วยเหลือดูแลผู้มีรายได้น้อยได้ในวันหน้า ได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงเป้าหมาย

    โดยผู้ลงทะเบียนจะต้องเปิดเผยรายได้ การถือครองทรัพย์สิน จำนวนหนี้สิน และมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป มีสัญชาติไทย สามารถไปลงทะเบียนได้ที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย (KTB) โดยเริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. – 15 ส.ค. 2559 ส่วนในปีต่อไปจะเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มเติม เริ่มตั้งแต่ 1-30 ก.ย. ของทุกปี ซึ่งสถาบันการเงินที่ประชาชนได้ไปลงทะเบียนไว้นั้น จะรวบรวมข้อมูลและนำส่งให้กับกรมสรรพากร เพื่อเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลไปยังทะเบียนราษฎร์ สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครองต่อไป

    “จะทำให้รัฐสามารถดูแลเรื่องสวัสดิการให้แก่ผู้มีรายได้น้อยได้อย่างเต็มที่ เต็มประสิทธิภาพ และจากที่ ครม. อนุมัติหลักการแล้วในวันนี้ การออกระเบียบหรือประกาศนั้น กระทรวงการคลัง จะเร่งดำเนินการโดยเร่งด่วน เพื่อให้ทันการเปิดลงทะเบียนในวันที่ 15 ก.ค. นี้”

    ศาลอังกฤษฟันผู้ผลิต GT200 “ยึดทรัพย์-จ่ายค่าชดเชยผู้เสียหาย”

    เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 ที่มาภาพ : http://www.oknation.net
    เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 ที่มาภาพ : http://www.oknation.net

    วันที่ 16 มิ.ย. 2559 เฟซบุ๊กบีบีซีไทยรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายริชาร์ด โฮน ผู้พิพากษาประจำศาลโอลด์ เบลีย์ ของอังกฤษ ตัดสินยึดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 7.9 ล้านปอนด์ (ราว 395 ล้านบาท) จากนายเจมส์ แมคคอร์มิค อดีตนักธุรกิจชาวอังกฤษ ผู้ต้องหาในคดีจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของนายแมคคอร์มิคและพรรคพวกซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าว

    ผู้พิพากษาโฮนตัดสินลงโทษจำคุก 10 ปีแก่นายแมคคอร์มิคตั้งแต่ปี 2556 โดยระบุว่าการจำหน่ายอุปกรณ์ตรวจจับวัตถุระเบิดปลอมมีส่วนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต แต่คำสั่งยึดทรัพย์ในการพิจารณาคดีครั้งล่าสุดจะเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมนำเงินสด อสังหาริมทรัพย์ และเรือสำราญที่นายแมคคอร์มิคมีชื่อเป็นเจ้าของมาจำหน่ายและนำเงินไปชดเชยแก่ผู้เสียหายต่อไป

    รายงานข่าวระบุว่ารัฐบาลอิรักซึ่งเป็นอดีตลูกค้ารายใหญ่ของนายแมคคอร์มิค จะได้รับค่าชดเชยราว 2.3 ล้านปอนด์ (ราว 115 ล้านบาท) ขณะที่หน่วยงานรัฐบาลของบาห์เรน เลบานอน ไนเจอร์ และจอร์เจีย จะได้รับเงินชดเชยเช่นกัน แต่ยังไม่มีการระบุตัวเลขที่ชัดเจน โดยที่ผ่านมา นายแมคคอร์มิคมีรายได้มากกว่า 50 ล้านปอนด์ (ราว 2,500 ล้านบาท) จากการจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม ซึ่งดัดแปลงจากอุปกรณ์ค้นหาลูกกอล์ฟ ต้นทุนประมาณ 14 ปอนด์ต่อเครื่อง (ราว 700 บาท) แต่นายแมคคอร์มิคจำหน่ายเครื่องดังกล่าวให้แก่ทหาร ตำรวจ หน่วยตระเวนชายแดน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในประเทศต่างๆ ทั่วโลกในราคาเครื่องละประมาณ 3,500 ปอนด์ (ราว 1.75 แสนบาท)

    ก่อนหน้านี้ในเดือน ต.ค.2557 แคโรไลน์ ฮอว์ลีย์ ผู้สื่อข่าวของบีบีซี รายงานว่าเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่นายแมคคอร์มิคผลิตและจำหน่าย ได้แก่ รุ่น ADE-651 ซึ่งจำหน่ายในอิรัก ไนเจอร์ และประเทศอื่นๆ แถบตะวันออกกลาง รุ่น GT200 จำหน่ายให้แก่ลูกค้าในประเทศไทย เม็กซิโก ประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกา ส่วนรุ่น Alpha 6 จำหน่ายให้แก่ลูกค้าในไทย อียิปต์ และเม็กซิโก

    33 ชุมชนริมน้ำเห็นด้วย ปรับภูมิทัศน์ริมเจ้าพระยา

    ที่มาภาพ : อารีรัตน์ คุมสุข
    ที่มาภาพ : อารีรัตน์ คุมสุข

    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2559 ผศ. ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี รองผู้จัดการและโฆษกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมด้วย ดร.สุพจน์ ศรีนิล คณะทำงานศึกษา สำรวจ ออกแบบโครงการ ร่วมแถลงข่าวความคืบการดำเนินโครงการ โดย ผศ. ดร.อันธิกากล่าวว่า การดำเนินโครงการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ขณะนี้คณะทำงานได้ลงพื้นที่ทั้ง 33 ชุมชน ในระยะนำร่อง 14 กิโลเมตรแรก ชุมชนละ 2 ครั้งแล้ว อยู่ระหว่างลงพื้นที่ครั้งที่ 3 เพื่อรับฟังความคิดเห็นและร่วมกันออกแบบพัฒนาภูมิทัศน์และชุมชน ซึ่งขณะนี้ชาวชุมชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการมีความเข้าใจและเห็นด้วยกับโครงการทั้งหมดแล้ว แต่ยังมีบางชุมชน เช่น ชุมชนบ้านปูน ที่ยังมีความคิดเห็นแตกต่างกันเรื่องรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งคณะทำงานจะเร่งลงพื้นที่หาข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน นอกจากนี้ มีบางชุมชนที่สร้างรุกล้ำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนนี้ที่ต้องรื้อย้ายออกจากพื้นที่ คือชุมชนมิตรคาม 2 โดย สจล.ได้ประสานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) หาแผนรองรับแล้ว “สำหรับรูปแบบร่างโครงการ ขณะนี้เริ่มมีความชัดเจนใน 5 พื้นที่ ประกอบด้วย บริเวณวังเทวะเวสม์ วังบางขุนพรหม ท่าเรือวาสุกรี รัฐสภาแห่งใหม่ และธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่าแบบร่างแนวคิดระยะนำร่อง 14 กม. จะเสร็จสิ้นภายในเดือน ส.ค. 2559 ทั้งนี้ คณะทำงานจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 8 ก.ค. 2559”

    ดร.สุพจน์กล่าวว่า จากการสำรวจความลึกแนวตลิ่ง โครงสร้างชั้นดินบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา เบื้องต้นคณะทำงานได้ศึกษารูปแบบเสาเข็มแบบสปัน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 ซม. ตอม่อต้นเดียว มีสแปน หรือระยะห่าง 10-20 เมตร รับน้ำหนักได้ 150-200 ตัน พื้นที่ทางเดินกว้างประมาณ 5-7 เมตร ขึ้นอยู่กับกายภาพแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ มีบางชุมชนฝั่งธนบุรีที่เห็นด้วยและอยากให้ทำทางเดินในลักษณะโฟลตติ้งหรือลักษณะแพลอยน้ำ ในส่วนนี้ต้องศึกษารายละเอียดอีกครั้งว่าจะใช้แพลอยน้ำชนิดใดที่อยู่นิ่งได้และไม่ลอยตามคลื่นแม่น้ำ ส่วนงานด้านสาธารณูปโภค คณะทำงานได้ออกแบบระบบรวบรวมน้ำเสีย และระบบระบายน้ำหลังเขื่อน เพื่อไม่ให้มีน้ำเสียขังหรือเศษขยะติดที่หลังเขื่อนแบบที่ประชาชนมีความกังวล

    “บิ๊กต๊อก” เสนอ ทำความเข้าใจใหม่ “ยาบ้า” ปราบไม่ได้ก็ต้องอยู่ร่วมกัน

    วันที่ 16 มิ.ย. 2559 เฟซบุ๊กบีบีซีไทยรายงานว่า พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงแนวคิดเรื่องการเอายาบ้า หรือเมทแอมเฟตามีนออกจากบัญชียาเสพติดว่า ต้องการผลักดันอย่างจริงจัง และต้องการแก้ปัญหายาเสพติดให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของสังคมและทิศทางของโลก โดยสิ่งที่ยากที่สุดคือการเปลี่ยนมุมมองต่อผู้เสพติดเสียใหม่ เพื่อเน้นการเยียวยาแก้ไขมากกว่าการปราบปราม

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยเพิ่มเติม หลังจากที่กล่าวในที่ประชุม “ทิศทางของนโยบายยาเสพติดโลก เพื่อนำผลของการประชุมสมัยพิเศษของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเรื่องยาเสพติด (UNGASS) ปี 2016 มาปรับใช้ในประเทศไทย” เมื่อวานนี้ว่ามีแนวคิดเสนอให้นำเอายาบ้า หรือ เมทแอมเฟตามีน จากบัญชียาเสพติด โดยอธิบายว่าต้องการผลักดันแนวคิดดังกล่าวอย่างจริงจังและจะพยายามทำให้ได้จริง โดยระบุว่าปัญหาใหญ่คือการปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมที่มีต่อยาบ้า เนื่องจากที่ผ่านมาถูกทำให้มีภาพที่อันตราย และรัฐดำเนินการปราบปรามอย่างรุนแรง แต่ในรอบยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ควรยอมรับว่าแนวทางที่แข็งกร้าวเช่นนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะสารเสพติดเหล่านี้ไม่มีทางหมดไปจากโลกเนื่องจากเป็นสารตั้งต้นของอุตสาหกรรมยา และน้ำหอม ขณะที่การจับผู้เสพไปติดคุกก็ไม่สามารถบำบัดหรือแก้ไขผู้เสพยาได้เช่นกัน

    “เมื่อวิธีการปราบใช้ไม่ได้ ก็ต้องกลับไปคิดว่าจะอยู่กับมันให้ได้ เราก็ต้องปรับเรื่องพวกนี้ เราควรจะคิดว่าจะให้คนเสพใช้ยาอย่างไร เช่น ให้คนที่ใช้ยาเสพติดเพื่อการบำบัด แต่ต้องอยู่ในระบบควบคุม ไม่ว่าจะสวิสเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ หรือประเทศอื่นๆ หลายประเทศ เขาก็ประสบความสำเร็จกับแนวทางนี้ แต่การจับคนเสพยาไปอยู่ในคุก เอาคนป่วยไปอยู่ในคุก มันไม่ใช่ที่รักษา ไม่ใช่ที่บำบัด”

    อย่างไรก็ตาม พล.อ. ไพบูลย์ มองว่าไทยยังไมได้มีความพร้อมในการรับมือ เนื่องจากต้องมีการเตรียมการด้านระบบสาธารณสุขรองรับเพื่อบำบัดและเยียวยาผู้เสพติดไปพร้อมกันด้วย อีกทั้งกฎหมายของไทยก็ยังมีความขัดแย้งกันเอง โดยพระราชบัญญัติปราบปรามยาเสพติดมองว่าผู้เสพเป็นผู้ที่กระทำผิด ขณะที่พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมองว่าเป็นผู้ป่วย ในทางปฏิบัติแล้ว จึงยากที่จะบำบัดผู้ติดยาเพราะมักจะถูกจับกุมดำเนินคดี อีกทั้งปัญหายาบ้ายังเชื่อมโยงกับองค์กรธุรกิจที่ประกอบอาชญากรรม การผลักดันเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

    “ต้องสร้างความรับรู้ ต้องสร้างนโยบาย และสร้างความเข้าใจใหม่ ก็เหมือนเราเคยสร้างความรับรู้จากยาม้าธรรมดากลายเป็นยาบ้าราคาแพง เขาคุมยาเสพติดได้ เหมือนเราคุมเอดส์ได้ ทั้งที่เมื่อก่อนเรากลัว แต่พอเราสร้างความเข้าใจเรื่องเอดส์ ว่าผู้ติดเชื้อเขาต้องการอยู่กับสังคมได้ก็แก้ปัญหาได้ แต่เรื่องนี้อาจจะทำยากกว่าเพราะมีธุรกิจอาชญากรรมที่เกี่ยวเนื่อง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวย้ำ