ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > วาระกรุงเทพ 2560 (3): ‘วินมอเตอร์ไซค์’ vs ‘GrabBike’ รัฐสวนกระแสเศรษฐกิจดิจิทัล

วาระกรุงเทพ 2560 (3): ‘วินมอเตอร์ไซค์’ vs ‘GrabBike’ รัฐสวนกระแสเศรษฐกิจดิจิทัล

21 มิถุนายน 2016


ขณะที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ระบบการชำระเงินกำลังเข้าสู่ National e-Payment ในอีกไม่ถึงเดือนข้างหน้า แต่อีกหลายภาคส่วนกลับแสดงท่าทีที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ประเด็นที่ถูกพูดถึงมากในช่วงที่ผ่านมาคือประเด็นของ GrabBike และ Uber MOTO ซึ่งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้สร้างบริการขนส่งรูปแบบใหม่ ที่ถูก สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่ายกว่าระบบรถจักรยานยนต์สาธารณะแบบเดิม ท่ามกลางวิกฤติจราจรของกรุงเทพมหานคร ที่ระบบขนส่งสาธารณะไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง จำเป็นต้องใช้บริการขนส่งสารณะในหลากหลายรูปแบบมาเชื่อมต่อกัน

อย่างไรก็ตาม ทั้ง GrabBike และ Uber MOTO ถูกสั่งให้ยุติการบริการทันทีจากภาครัฐ โดยกรมขนส่งทางบกระบุว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อวันที่17 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมานายณันทพงศ์ เชิดชู รองอธิบดี กรมการขนส่งทางบก ร่วมกับทหารกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล และฝ่ายเทศกิจเขตปทุมวัน เชิญบริษัทผู้ให้บริการแอปพลิเคชันสำหรับเรียกรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล GrabBike และ Uber MOTO เข้าหารือเพื่อชี้แจงกฎระเบียบและประเด็นปัญหาที่ขัดต่อกฎหมายที่กรมการขนส่งทางบกมีหน้าที่กำกับดูแลอีกครั้ง หลังจากเคยมีการพูดคุยกันไปก่อนหน้านี้ และได้เคยแจ้งให้ทั้งสองบริษัทยุติการให้บริการที่ผิดกฎหมายทันที

โดยกรมการขนส่งอ้างว่า ที่ผ่านมาผู้ให้บริการทั้งสองรายยังมีการทำผิดกฎหมาย เช่น ความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 23/1 ฐานนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับ-ส่งผู้โดยสาร, มาตรา 5(15) แต่งกายไม่ถูกต้องตามประกาศกรมการขนส่งทางบก และมาตรา 42 ไม่แสดงใบอนุญาตขับรถสาธารณะปรับไม่เกิน 1,000 บาท รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์บริการและเชิญชวนคนมาสมัครเป็นสมาชิกเพื่อให้บริการอย่างต่อเนื่อง และมีพฤติกรรมแก่งแย่งผู้โดยสารจากวินสาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งสร้างความไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรมต่อวินสาธารณะและอาจเข้าข่ายเป็นผู้มีอิทธิพลเรียกเก็บผลประโยชน์จากการให้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะ

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกยังเชิญชวนประชาชนเลือกใช้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการ ราคาค่าโดยสารมีความเป็นธรรมตามระเบียบราชการกำหนด รวมทั้งจะได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย

ค่าโดยสาร “ตามกฎหมาย” เฉลี่ยแพงกว่า GrabBike ยิ่งไกลยิ่งแพงกว่า 2 เท่า

วินมอเตอร์ไซด์-1

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากอัตราค่าโดยสารตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสำหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะ พ.ศ. 2559 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5(14) แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2547 ระบุว่า

1) ให้เก็บอัตราค่าจ้าง 2 กิโลเมตรแรกต้องไม่เกิน 25 บาท และกิโลเมตรต่อไปจนถึงกิโลเมตรที่ 5 ต้องไม่เกินกิโลเมตรละ 5 บาท

2) หากเกินกว่ากิโลเมตรที่ 5 แต่ไม่เกิน 15 กิโลเมตร ตั้งแต่กิโลเมตรแรกถึงกิโลเมตรที่ 15 จะต้องไม่เกินกิโลเมตรละ 10 บาท

3) หากเกินกว่า 15 กิโลเมตร ให้ตกลงกันก่อนทำการรับจ้าง แต่ถ้าไม่ตกลงกันต้องไม่เกินกิโลเมตรละ 10 บาท

ทั้งนี้ หากเฉลี่ยค่าโดยสารสูงสุดต่อกิโลเมตรตามกฎกระทรวงดังกล่าว กิโลเมตรแรกจะเสียค่าโดยสารสูงสุด 25 บาทต่อกิโลเมตร, กิโลเมตรที่ 2 จะเสียค่าโดยสารเฉลี่ย 12.5 บาทต่อกิโลเมตร, หากใช้บริการ 3 กิโลเมตรเสียค่าโดยสารเฉลี่ย 10 บาทต่อกิโลเมตร, หากใช้บริการ 4 กิโลเมตรเสียค่าโดยสาร 8.75 บาทต่อกิโลเมตร และ หากใช้บริการ 5 กิโลเมตรเสียค่าโดยสาร 8 บาทต่อกิโลเมตร และตั้งแต่ 5 กิโลเมตรขึ้นไปจะเสียค่าโดยสารสูงสุด 10 บาทต่อกิโลเมตร (หากไม่มีการตกลงกันในกรณีที่ระยะทางมากกว่า 15 กิโลเมตร)

เทียบกับบริการของ GrabBike ซึ่งได้ปิดให้บริการไปในเดือนที่แล้ว คิดราคาดังนี้ แบ่งเป็นค่าบริการเบื้องต้น 10 บาท และคิดค่าโดยสารกิโลเมตรละ 5 บาท ทำให้ค่าโดยสารกิโลเมตรแรกเสียเพียง 15 บาทต่อกิโลเมตร, กิโลเมตรที่ 2 เสียค่าโดยสารเฉลี่ย 10 บาทต่อกิโลเมตร, หากใช้บริการ 3-5 กิโลเมตร เสียค่าโดยสารเฉลี่ย 8.3, 7.5 และ 7 บาทต่อกิโลเมตร ณ กิโลเมตรที่ 3, 4 และ 5 ตามลำดับ, หากเกิน 5 กิโลเมตรขึ้นไป ค่าโดยสารเฉลี่ยจะค่อยๆ ลดลงจนเหลือ 5.6 บาทต่อกิโลเมตร ณ กิโลเมตรที่ 15 และค่อยๆ ลดลงเหลือประมาณ 5 บาทต่อกิโลเมตรเมื่อระยะทางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ค่าบริการดังกล่าวได้ปรับลดลงมาหลังจากกรมการขนส่งทางบกเรียกผู้ประกอบการไปประชุมชี้แจงพร้อมกับขอให้ยุติการให้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ผิดกฎหมายโดยทันที เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 โดยค่าโดยสารก่อนหน้านั้นจะคิดค่าบริการกิโลเมตรแรก 35 บาท, กิโลเมตรที่ 2-10 คิดกิโลเมตรละ 12 บาท และตั้งแต่กิโลเมตรที่ 10 เป็นต้นไปจะคิดที่กิโลเมตรละ 15 บาท ทำให้โดยเฉลี่ย ณ ขณะนั้น กิโลเมตรแรกผู้โดยสารจะต้องเสียค่าโดยสาร 35 บาทต่อกิโลเมตร, กิโลเมตรที่ 2-15 จะต้องเสียค่าโดยสารเฉลี่ย 29.5, 23.7, 20.8, 19, 17.8, 17, 16.4, 15.9, 15.5, 29.1, 27.9, 26.9, 26.1, 25.3 บาทต่อกิโลเมตร, และหากมากกว่า 15 กิโลเมตร ค่าโดยสารเฉลี่ยจะค่อยๆ ลดลงเหลือ 15 บาทต่อกิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม หากคิดราคาค่าโดยสารในความเป็นจริงจะพบว่าวินสาธารณะหลายแห่งยังคงคิดค่าบริการเฉลี่ยต่อกิโลเมตรแพงกว่าที่ควรจะเป็น แม้ว่าจะไม่ได้กระทำผิดกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากกฎกระทรวงไม่ได้กำหนดราคาในลักษณะต่อกิโลเมตร แต่กำหนดเป็นเพดานราคาไว้

ปี 2558 คนขับวินเกือบ 100,000 ราย

จน.ผู้ขับขี่รถมอไซด์ในพื้นที่เขตกรุงเทพ (2)-1

จน.วินมอไซด์ในพื้นที่เขตกรุงเทพ (1)-1

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบจำนวนคนขับวินสาธารณะพบว่า ปี 2558 มีจำนวน 105,894 คน โดยเขตที่จำนวนมากที่สุด ได้แก่ เขตคลองเตย 4,650 คน, เขตบางนา 4,297 คน และเขตบางกอกน้อย 3,874 คน ส่วนจำนวนวินมีทั้งสิ้น 5,445 วิน โดยเขตที่มีจำนวนมากที่สุด ได้แก่ เขตจตุจักร 230 วิน, เขตราชเทวี 219 วิน และเขตคลองเตย 206 วิน (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ทั้งนี้ ภายหลังการเข้ามาจัดระเบียบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกือบ 2 ปี มีจำนวนวินถูกกฎหมายเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จากเดิมก่อนการจัดระเบียบมีจำนวนรถจักรยานยนต์สาธารณะ 40,031 คัน 4,571 วิน แต่หลังจากการจัดระเบียบมีจำนวนรถจักรยานยนต์สาธารณะ 91,330 คัน 5,477 วิน

GrabBike มีประกันอุบัติเหตุ-หมวกกันน็อก-ระบบ GPS

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับบริการ GrabBike มีระบบติดตาม GPS มีการประกันอุบัติเหตุคนขับ 300,000 บาทและผู้โดยสารอีก 200,000 บาท รวมไปถึงต้องมีหมวกกันน็อกให้บริการ ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ประชาชนในการใช้บริการ แตกต่างจากวินสาธารณะไม่มีการให้บริการต่างๆ เหล่านี้

เมื่อสอบถามผู้ใช้บริการบางราย ซึ่งเคยใช้บริการGrabBike เป็นประจำระบุว่าเหตุผลที่ใช้ GrabBike หลักๆ คือ เรื่องราคาถูกกว่าวินสาธารณะมาก และยังมีระบบแสดงราคาให้เห็นตั้งแต่ก่อนใช้บริการ ทำให้รู้สึกมั่นใจว่าราคาเป็นธรรม ไม่ใช่ราคาที่ตกลงกันเหมือนวินสาธารณะที่เวลาเจอลูกค้าแปลกหน้าต่างถิ่น ซึ่งอาจถูกโก่งราคาได้

“ในช่วงแรกๆที่ใช้การคิดราคาต่อระยะทางของ GrabBike ยังไม่ต่างจากวินสาธารณะปกติมากนัก แต่พอเริ่มใช้ก็มีโปรโมชั่น อาทิ ให้บริการฟรี 50 บาท 1 ครั้งต่อวัน ถ้าระยะทางรวมแล้วเกิน 50 บาท จะจ่ายเฉพาะส่วนที่เกิน ต่อมาทาง Grab ได้ปรับค่าบริการลงอีก เมื่อตรวจสอบราคาเทียบกับราคาวินปกติแล้วถูกกว่าจึงเลือกใช้บริการมาตลอด เช่น จากเยาวราชไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ค่าบริการ GrabBike 32 บาท แต่เมื่อถามวินฯ ในย่านดังกล่าวเรียกราคา 80 บาท ซึ่งทาง Grab เองก็มีโปรโมชั่นพิเศษให้กับผู้ใช้บริการอยู่เป็นระยะๆ เช่น โปรโมชั่น SaveBKK หรือโปรโมชั่นให้บริการฟรีในเขตเฉพาะที่กำหนด ซึ่งช่วยให้การเดินทางสะดวกขึ้นมาก โดยเฉพาะกรณีที่รถไฟฟ้าเสีย ทำให้การเดินทางในย่านดังกล่าวค่อนข้างลำบาก และการจราจรบนท้องถนนติดขัดมาก เป็นจังหวะเดียวกับที่พื้นที่สยาม สีลม และสาทร มีโปรโมชั่น ทำให้สามารถเดินทางในย่านดังกล่าวได้รวดเร็ว” ผู้ใช้บริการรายหนึ่งกล่าว

นอกจากนี้ อีกเหตุผลที่ยังเลือกใช้บริการอยู่เนื่องจาก GrabBike มีการให้ความมั่นใจผู้ใช้บริการว่ามีประกันอุบัติเหตุคุ้มครองขณะเดินทาง ผู้ให้บริการมีการสอบประวัติและในแอปพลิเคชันเองระบุทั้งภาพคนขับ หมายเลขทะเบียนรถ เบอร์โทรศัพท์คนขับ ซึ่งเมื่อใช้บริการเสร็จหากไม่พอใจสามารถให้คะแนนและติชมได้

“ถ้ากรณีที่มีคำติ หากผู้โดยสารไม่พอใจ หรือมีการปฏิเสธผู้โดยสารเพียงครั้งเดียว จะส่งผลให้ถูกหักเปอร์เซ็นต์ไปกว่าครึ่ง ประกอบกับทาง GrabBike เองมี Call Center มีเฟซบุ๊กให้บริการรับเรื่องร้องเรียนต่างและอัปเดตข้อมลูต่างๆ เท่าที่เคยใช้บริการ GrabBike กว่า 90% คนขับมารยาทดี หมวกกันน็อกสะอาดหรืออยู่ในสภาพที่รับได้ ขับขี่ปลอดภัยไม่ฝ่าไฟแดง และบางรายแนะนำโปรโมชั่นให้ แต่ไม่ค่อยพบผู้ให้บริการที่สวมยูนิฟอร์มของทาง Grab ซึ่งคนขับให้เหตุผลว่าการใส่ยูนิฟอร์มทำให้ถูกเพ่งเล็งจากวินสาธารณะปกติ เขาไม่อยากมีปัญหา แต่ขณะเดียวกันก็พบว่าคนขับวินสาธารณะ มีบางรายก็มาขับให้ Grabbike ด้วยเช่นกัน ส่วนแอปพลิเคชันมีรวบรวมประวัติการใช้งาน เรียกว่าระบบต่างๆ ค่อนข้างรัดกุมและให้ความมั่นใจกับผู้โดยสารได้”

ผู้ใช้บริการ GrabBike รายนี้เปรียบเทียบว่า ขณะที่วินสาธารณะปกติมักไม่ค่อยใส่ใจเรื่องหมวกกันน็อก และแม้รัฐจะทำการขึ้นทะเบียนวินฯ แต่ยังคงเห็นได้ทั่วไปว่าคนขับวินที่ใช้เสื้อวินฯ แบบเก่า ไม่มีป้ายชื่อ หรือจุดให้บริการ ไม่มีป้ายราคา หรือวินใหญ่ๆ แม้จะมีคนขับที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ปะปนกับคนขับวินที่ใส่ชุดธรรมดาไม่มีเสื้อวินออกมาให้บริการรวมอยู่

“ขนส่ง” แจงราคายุติธรรม ถ้าราคาแพงให้มาร้องเรียน

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองอธิบดี กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวถึงประเด็นราคาค่าโดยสารตามประกาศของ ขบ. ที่แพงกว่า GrabBike ว่าราคาที่ประกาศราคาที่เหมาะสมแล้ว เนื่องจากวินสาธารณะจะถูกจัดเป็นระบบคิว รายได้ต้องกระจายหมุนเวียนแก่สมาชิกในพื้นที่หนึ่งๆ นอกจากนี้ วินสาธารณะยังต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ทำให้ต้องผ่านตรวจสอบคัดกรองจาก ขบ. แล้ว ทำให้ปลอดภัยมากกว่า แต่ GrabBike สามารถวิ่งแบบอิสระ ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตขับขี่สาธารณะ จึงอาจจะมีต้นทุนดำเนินการที่ถูกกว่าได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งการวิ่งอิสระแบบนี้อาจจะสร้างปัญหาเรื่องความปลอดภัยหรือปัญหาเรื่องการจัดระเบียบควบคุมดูแลโดยภาครัฐได้ ดังนั้น จึงไม่ใช่ว่า GrabBike มีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ต้องคำนึงถึงเรื่องความมั่นคงปลอดภัยด้วย

ส่วนประเด็นที่วินสาธารณะบางแห่งยังคิดราคาแพงกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือกระทำความผิดอื่น ขบ. จะตรวจสอบติดตามตัวลงโทษอย่างไร นายจิรุตม์กล่าวว่า “ประชาชนสามารถร้องเรียนมาที่ ขบ. ได้ ซึ่งมีข้อมูลวินสาธารณะและสามารถตรวจสอบติดตามผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ ต่างจาก GrabBike ที่ไม่ได้ลงทะเบียนกับ ขบ. จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ และว่าหาก GrabBike จะกลับมาลงทะเบียนตามกฎหมายยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะสามารถให้ใบอนุญาตได้หรือไม่ เนื่องจากอยู่ระหว่างจัดระเบียบโดยรัฐบาลอยู่