ThaiPublica > เกาะกระแส > ทางออกเศรษฐกิจไทยในสังคมสูงวัย ชี้ mismatch ทุกระดับ ระบุจบ ป.โท ทำงานต่ำวุฒิ 90% ทางลัดแก้แรงงานขาดจัดคนให้ตรงงาน

ทางออกเศรษฐกิจไทยในสังคมสูงวัย ชี้ mismatch ทุกระดับ ระบุจบ ป.โท ทำงานต่ำวุฒิ 90% ทางลัดแก้แรงงานขาดจัดคนให้ตรงงาน

20 มิถุนายน 2016


เสวนา “เศรษฐกิจใหม่ในสังคมสูงวัย”
เสวนา “เศรษฐกิจใหม่ในสังคมสูงวัย”

ต่อเนื่องจากข่าวสังคมสูงวัย ความจริงที่ใกล้ตัว โจทย์จะเตรียมตัวที่ดีอย่างไร “รัฐ–ลูกหลาน ” พร้อมหรือยังที่จะแบกภาระคนแก่ ในเวทีสาธารณะเรื่อง “สังคมสูงวัย: ความท้าทายและการปรับตัวสู่สมดุลใหม่”จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประเด็นที่ถูกหยิบมาพูดคุยเป็นประเด็นต่อมาคือ “เศรษฐกิจใหม่ในสังคมสูงวัย” โดยมี รศ. ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ. ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และ ผศ. ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ อาจารย์ประจําคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เศรษฐกิจไทยในสังคมสูงวัย

รศ. ดร.สมประวิณ ฉายภาพกว้างให้เห็นในมุมมองของเศรษฐกิจมหภาคที่เข้าสู่บริบทใหม่ โดยเชื่อมให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำจากผลของ Aging Society หรือสังคมสูงวัย และแนวนโยบายที่เป็นทางออกของปัญหาดังกล่าว

รศ. ดร.สมประวิณ ระบุว่า เนื่องจากประชากรเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อน เกิดการบริโภค การออม มีการลงทุน และตามรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ชี้ให้เห็นว่า อีก 12 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรไทยเริ่มที่จะลดลง และใน 25 ปีหลังจากนี้จำนวนประชากรจะน้อยกว่าปัจจุบันถึง 1 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง

“ทำไมเราต้องสนใจความเติบโตทางเศรษฐกิจ งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์จำนวนมากพบว่าการเติบโตเหล่านี้ผูกโยงกับอย่างอื่นนอกจากเศรษฐศาสตร์ ทั้งเรื่องความยากจน เรื่องความเท่าเทียมกันในสังคม เรื่องคุณภาพชีวิต และที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงอัตราการเติบโตเพียงเล็กน้อย แต่ประเทศอยู่ยาวมีผลกระทบมากพอสมควร”

รศ. ดร.สมประวิณ กล่าวว่า การเจริญเติบโตที่ต่างกันเพียง 0.5 แต่เมื่อผ่านไป 100 ปีความแตกต่างของความมั่งคั่ง สามารถต่างกันได้ถึง 400% ขณะที่โครงสร้างประชากรไทย ในอนาคตช่วง ปี 2010-2040 กำลังแรงงานหายไปเรื่อยๆ ทำให้คนที่จะมาช่วยทำงานในอนาคตมาเป็นปัจจัยการผลิตน้อยลง ส่งผลให้อัตราการเติบโตของประเทศไทยน้อยลงด้วย สถาณการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้จีดีพีไทยโตน้อยลงประมาณ 1-1.6% ต่อปีตลอดไป ดังนั้น การเติบโตเฉลี่ยที่เห็นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โตได้ 4.5% ทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยอาจโตได้แค่ 3-3.5% เป็นแกนกลางของการเติบโต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ส่งผลกระทบมาหาศาล หากมองต่อไปอีก 100 ปี เพราะประเทศต้องอยู่ยาว

นอกจากจำนวนแรงงานที่น้อยลงแล้วโครงสร้างของตลาดแรงงานจะเป็นส่วนซ้ำเติมและสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้นได้ในอนาคต เนื่องจากลักษณะการเลือกอาชีพของแรงงานไทย พบว่ายิ่งอายุมากขึ้นคนยิ่งเป็นลูกจ้างน้อยลงตามสัดส่วน คือ คนจะไปเป็นนายจ้าง กับจ้างงานตนเอง (self-employed) มากขึ้น

รศ. ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ
รศ. ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ

รศ. ดร.สมประวิณ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวน่ากังวลใจ เพราะหากคนในอนาคตเป็นคนสูงอายุที่มีเพียง 2 อาชีพหลัก คือนายจ้างกับผู้จ้างงานตนเอง ซึ่งผลิตภาพ (productivity) ของการจ้างงานตนเองน้อยกว่า เนื่องจากเมื่อออกจากงานอาจไปขายของออนไลน์ ไปจ้างงานคนเดียว หรือทำอะไร แต่ไม่ได้มีความสามารถที่จะพาตนเองไปเป็นนายจ้างแล้วสร้างผลผลิต (output) ให้กับประเทศ

“เราพบว่าโดยรวมแล้วอีก 30 ปีข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเลือกอาชีพแบบนี้ และโครงสร้างประชากรที่สอดคล้องกันแบบนี้ productivity หรือผลผลิตต่อหัวของประเทศไทยลดลงได้ถึง 30% ซึ่งมหาศาลมาก นั่นเป็นปัญหาเพิ่มเติมจากจำนวนแรงงานที่น้อยลง นอกจากนั้น ปรากฏว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่เกิดขึ้นโดยส่วนใหญ่มาจากกลุ่มนายจ้างและการจ้างงานตนเอง ขณะที่ส่วนของลูกจ้างพบความเหลื่อมล้ำไม่มากเนื่องจากเป็นลูกจ้างเงินเดือน ดังนั้น ในอนาคต สัดส่วนของคนกลุ่มเหล่านี้มากขึ้น ความเหลื่อมล้ำก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย”

สำหรับการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น รศ. ดร.สมประวิณ กล่าวว่า แนวนโยบายของรัฐที่สรุปได้จากงานวิจัยต่างๆ 4 ประการ สามารถใช้เป็นทางออกในการแก้ปัญหาได้ ได้แก่

  • ขยายการเกษียณอายุ (เป็นการให้มุมมองทางเศรษฐศาสตร์เท่านั้น) พบว่าช่วยได้แต่ไม่ถาวร โดยการเลื่อนอายุเกษียณจาก 60 ปี เป็น 65 ปี มีการทำแบบสถานการณ์จำลองออกมาพบว่าวิธีดังกล่าวสามารถเลื่อนการชะลอตัวของระบบเศรษฐกิจได้ 10 ปี ฉะนั้น การขยายอายุเกษียณเป็นเพียงการซื้อเวลาเท่านั้น
  • เพิ่มผลิตภาพการผลิต ถือเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน เพราะท้ายที่สุดแล้วพอเราขยายอายุเกษียณ จำนวนคนสูงวัยในอนาคตสูงจนชนะผลิตภาพที่มีอยู่ การเพิ่มผลิตภาพโดยผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จะส่งผลให้ต้นทุนต่างๆ ที่มีถูกลง ทั้งการขนส่ง ฯลฯ รวมไปถึงการสร้างผลิตภาพโดยเปลี่ยนหรือการปรับปรุง soft infrastructure ด้วย เช่น โครงสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจ แก้คอร์รัปชัน ความบิดเบือนทางตลาด การลดการผูกขาด ให้ระบบตลาดสามารถแข่งขันกันด้วยการพัฒนา ไม่ใช่แข่งกันว่าใครจะเป็นผู้ผูกขาด หรือแข่งกันว่าใครจะเป็นผู้คอร์รัปชันแล้วได้สิทธิเหนือตลาดมา รวมไปถึงการส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่สามารถใช้แข่งขันได้

“ประเด็นสำคัญคือ ต้องคิดสิ่งใหม่เวลาจะแข่งขัน ฉะนั้น ไม่ใช่แข่งขันใช้ของเก่าแล้วลดราคาลงไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้เวลาเราจะแข่งกับใครเราก็ลดราคาลงไปเรื่อยๆ แต่จริงๆ ไม่ใช่ เราสามารถชาร์จของแพงขึ้นหรือราคาเท่าเดิมได้ ตราบใดที่เรามีสิ่งใหม่ไปขายเขา”

  • การพัฒนาระบบการเงิน คือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตในอนาคต เราต้องการผู้ประกอบการรายใหม่ เราต้องการสร้าง Steve Jobs ของเมืองไทย เราต้องการสร้าง Mark Zuckerberg ของเมืองไทย ซึ่งคนเหล่านี้มีไอเดียอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ แต่ปัญหาคือทุกวันนี้เราไม่รู้ว่าใครเป็นคนเก่งและควรให้เงิน จึงต้องพัฒนาระบบเครดิตรายย่อยรายใหม่นอกระบบ ให้การเงินเข้ามาช่วยในการจัดสรรทรัพยากร ทำให้ปัจจัยการผลิตอื่นๆ มีประสิทธิภาพตาม
  • พัฒนาทักษะแรงงานเฉพาะทาง คือคนไหนที่บริหารเก่ง ก็เทรนเขาในเรื่องการบริหาร เป็นผู้ประกอบการ คนไหนทำงานเก่งก็เทรนในเรื่องการทำงาน สาระสำคัญคือไม่ใช่ความรู้ แต่เป็นทักษะในการทำงาน อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า

รศ. ดร.สมประวิณ กล่าวทิ้งท้ายด้วยคำถามง่ายๆ ว่า “หากเราเป็นสังคมชราภาพแล้วสุดท้ายมีโจรใครจะจับโจร หากเราให้ความสนใจมุ่งไปที่คนชราในอนาคตเพียงอย่างเดียว ต้องไม่ลืมว่าในอนาคตสังคมประกอบไปด้วยคนอื่นด้วยที่ไม่ใช่คนสูงวัย และคนเหล่านั้นอาจเป็นเด็กในอนาคต เขายังไม่เกิดวันนี้เขาเลยยังไม่มีสิทธิ์มีเสียงที่จะเรียกร้องเรื่องนโยบายต่างๆ ประกอบกับความสูงวัยกระจายไปทั่วโลก ดังนั้น คงไม่ใช่มองแค่เศรษฐกิจไทยอย่างเดียว ทุกคนในโลกแก่หมด คำถามต่อมา แล้วเราจะอยู่ยังไงในโลกที่ไม่ใช่เราแก่คนเดียว เพื่อนเราแก่ด้วย ดังนั้น แบบจำลองใหม่ในการพัฒนาประเทศไทยคงต้องมารีวิวให้เหมือนกัน”

ทางลัดแก้คนขาดแคลน”จัดคนให้ถูกงาน”

ศ. ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์
ศ. ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์

จากประเด็นที่เห็นว่าแรงงานเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดผลิตภาพที่จะเป็นกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่หน้าตาของโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ที่มีจำนวนน้อยลง จะแก้ปัญหาเรื่องนี้กันอย่างไร ศ. ดร.พิริยะ กล่าวว่า แรงงานรุ่นใหม่หรือคนรุ่นที่เกิดขึ้น ถูกคาดหวังสูงมากว่าจะช่วยแก้ไขประเทศที่กำลังเกิดขึ้นได้ โดยได้เปรียบเทียบประเทศไทยในปัจจุบันว่า เสมือนกับคนแก่คนหนึ่งที่นั่งรถของเล่นคันเล็กๆ สื่อความได้ว่า เรากำลังอยู่ในสังคมสูงวัย เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง โดยเปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำเหมือนกับคนอ้วนที่ไปวิ่งแข่งกับใครก็ลำบาก เปรียบคนแก่เป็นคนทึ่มๆ หมายถึงคุณภาพการศึกษาและศักยภาพแรงงานที่ต่ำ เป็นคนเชยๆ หมายถึงการขาดนวัตกรรม ขาดเป้าหมาย และคอร์รัปชัน และรถเก่าๆ คันนี้ก็เหมือนเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนช้ามาก ขยายตัวช้ามาก

“สิ่งเหล่านี้คือปัญหาประเทศ แค่เราพูดถึงประสิทธิภาพอย่างเดียว ก็จะโยงไปที่เด็ก ว่าในอนาคตเด็กต้องทำหน้าที่เหมือนซูเปอร์แมน ต้องทำให้ได้มากกว่าคนสมัยก่อน โดย WTF ได้คาดการณ์ถึงทักษะของคนจากปี 2015 สู่ปี 2020 ว่า คนยุคใหม่จะต้องมีทักษะด้านการแก้ไขปัญหาซับซ้อน การคิดวิเคราะห์ต้องเก่ง คิดสร้างสรรค์ต้องเก่ง จัดการคนก็ต้องเก่ง ทำงานร่วมกันก็ต้องได้ ความฉลาดทางอารมณ์ก็ต้องดี”

“คำถามคือ เด็กๆ รุ่นใหม่ หรือผลิตภาพในยุคปัจจุบันต่างต้องไปอิงกับเรื่องอินเทอร์เน็ตหรือเรื่องเทคโนโลยี และอุตสาหกรรม 4.0 โดยคาดว่าคนต้องมีทักษะสูงๆ นั้น ถ้าเราไปดูเด็กตอนนี้ จะให้มีทักษะในการแก้ปัญหาซับซ้อน คิดแบบเชิงวิเคราะห์ จัดการบุคคลได้ ทำงานร่วมกันได้ มันจะเป็นจริงได้อย่างไร ในเมื่อเด็กของเราในปัจจุบันเป็นลูกคนเดียวจำนวนมาก อยู่คนเดียวในโลกโซเชียล ฉะนั้น การทำงานร่วมกันไม่มีแน่นอน และตอนนี้ให้ตัดเด็ก gen Y ออกไป เพราะเขาเข้าสู่ตลาดแรงงานกันหมดแล้ว แต่เด็กหลัง gen Y จะเป็นอย่างไร”

ศ. ดร.พิริยะ กล่าวต่อว่า ขณะนี้เรารู้ว่าแรงงานมีการเปลี่ยนแปลงสูงมาก ทั้งเรื่องเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ แต่การวัดผลิตภาพจากแรงงาน จริงๆ แล้ววัดยากมาก เนื่องจากผลิตภาพย่อมแปรผันไปตามปัจจัยต่างๆ ทั้งประเภทอุตสาหกรรม หรือแต่ละบริบทพื้นที่ อาทิ หากแยกไปตามภาคจะพบว่าภาคที่มีผลิตภาพแรงงานสูงสุดคือภาคตะวันออก เพราะเป็นแหล่งนิคมอุตสาหกรรม มีการลงทุนค่อนข้างเยอะมาก ส่วนภาคที่มีผลิตภาพต่ำสุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เป็นแหล่งเกษตรกรรม ซึ่งคำว่าผลิตภาพเชิงมหภาคเป็นการวัดในเชิงจีดีพีเท่านั้น

“จริงๆ ผลิตภาพขึ้นอยู่กับการจัดการองค์กรเองด้วยว่าแต่ละที่มีการจัดทรัพยากรบุคคลอย่างไร ใช้คนอย่างไร แต่ละตำแหน่งงานก็มีผลิตภาพที่ต่างกัน งานที่เป็น manager หรือ officer หรือ worker ก็มีความต่างกัน ทั้งนี้ ขึ้นกับนโยบาย ขึ้นกับระดับเทคโนโลยี อย่างเช่น ทำไมญี่ปุ่นจึงมีผลิตภาพสูง ก็เพราะเขามีเทคโนโลยีที่สูงกว่า ก็ยังยากในการวัดผลิตภาพ เพราะกว่าจะวัดต่อชิ้นที่ผลิตได้ แต่ละชิ้นที่ผลิตขึ้นมา…ผลิตภาพที่สูงนั้นต้องทำงานหนักหรือเปล่า แล้ว work-life-balance ของเราเป็นอย่างไร จะเห็นว่ามันมีมิติมากมายเต็มไปหมดที่จะบอกว่าเพิ่มผลิตภาพมีมิติที่ซับซ้อนมาก แต่อย่างน้อยก็รู้ว่าควรต้องเพิ่ม เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องเพิ่ม ไม่ใช่ทำลายผลิตภาพ”

ศ. ดร.พิริยะ ได้ยก step framework ของธนาคารโลก ซึ่งมองว่าในการพัฒนาทักษะไปสู่การเพิ่มผลิตภาพ ควรให้ความสำคัญตั้งแต่ step 1 เด็กก่อนเข้าวัยเรียน ว่าทุกคนต้องมีเรื่องของอาหารที่ดี มีความพร้อมในเรื่องของ IQ EQ ที่ดี จนกระทั่งไปอยู่ step 2 เรื่องคุณภาพการศึกษา ว่าเด็กทุกคนต้องได้เรียน step 3 เรื่องของอุดมศึกษา ดูด้านการคิดวิเคราะห์คุณภาพการศึกษา step 4 เรื่องการสร้างประสบการณ์และนวัตกรรม step 5 การจัดคนให้ถูกกับงาน เหล่านี้เป็นเรื่องผลิตภาพ เขาให้ความสำคัญมากๆ กับการสร้างคนตั้งแต่เริ่มแรก ว่าเกิดอย่างไรให้พร้อม พร้อมตั้งแต่ตั้งครรภ์

“ผลิตภาพโดยรวมของไทยอาจไม่ถึงเป้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแรงงานที่ลดลง คุณภาพการศึกษาที่อาจจะแย่ลง ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เราบอกว่าการศึกษาต้องเปลี่ยน อันนี้เข้าใจ แต่เรารอไม่ได้ที่จะปล่อยให้เด็กเกิดมาแล้วเขาต้องโตแล้วไม่รู้ว่าศึกษาไปแล้วจะดีจริงหรือเปล่า แต่ตัวที่ผมเน้นมากที่สุดและควรอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ที่จะสามารถทำได้ภายใน 5 ปีนี้ คือ เรื่องของการจัดคนให้ถูกกับงาน แก้ปัญหา mismatch คือเรื่องทักษะและความรู้ที่ไม่สอดคล้องกัน ให้แน่ใจว่าแม้เด็กที่เรียนไม่เก่งแต่ทำงานเก่งได้รับการให้คุณค่า”

ศ. ดร.พิริยะ กล่าวถึงงานวิจัยของตนที่ศึกษาปัญหา degrees mismatch ซึ่งได้แยกออกเป็น 2 ส่วนคือ mismatch ในแนวดิ่งคือทำงานต่ำกว่าวุฒิตัวเอง จบปริญญาโทมาแต่ทำงานเหมือนวุฒิปริญญาตรีหรือ ปวส. จบปริญญาเอกทำงานเหมือนปริญญาตรี ส่วนแนวราบก็คือ ทำงานไม่ตรงกับสาขาที่เรียนจบ เช่น จบวิศวกรรมมาทำงานเป็นพนักงานขาย หรือจบหมอมาไปขายตรง

“ปัญหาดังกล่าวเป็นประเด็นที่ทำให้ผลิตภาพตกลงมาก เพราะเรียนกันมา 4ปี รัฐให้การสนับสนุนเต็มที่ให้เป็นนักวิทยาศาสตร์คิดค้น แต่ไม่ได้ทำงานด้านที่เรียนมา เพราะตลาดแรงงานด้านอื่นได้เงินมากกว่า และพบว่า degrees mismatch ที่สูงมากๆ คือปริญญาโท คนจบปริญญาโทกว่า 90% ทำงานต่ำกว่าวุฒิ ในขณะที่ผู้ที่ทำงานไม่ตรงกับวุฒิก็พบมากในระดับ ปวช. ปวส. ถึงแม้ว่าเรากำลังพยายามบอกให้คนเรียน ปวช. ปวส. มาก แต่ครึ่งหนึ่งของคนจบ ปวช. ปวส. ไม่ได้จบสายช่าง นี่จึงเป็นการสร้าง mismatch ในตัวเอง”

สังคมผู้สูงวัย1

ทั้งนี้ ศ. ดร.พิริยะ ระบุว่า “degrees mismatch เกิดขึ้นในทุกระดับ ทั้งแนวราบและแนวดิ่ง ฉะนั้น จึงเป็นอันดับแรกต้องแก้ไขก่อน และนอกจาก degrees mismatch ยังมี skills mismatch คือ ทักษะที่ตัวเองมีอยู่ เช่น ภาษาอังกฤษ หรือ IT ถามว่ารู้ไหม รู้ แต่ก็เหมือนไม่รู้ เพราะระบบการศึกษาทำลาย ไปบังคับว่าสัตว์ทุกตัวต้องปีนต้นไม้เหมือนกันหมด หากสัตว์ตัวไหนปีนต้นไม้ได้เก่ง แปลว่าได้ เกรด A แต่จริงๆ แล้วความหลากหลายของทักษะมันมีเยอะ หลายคนพูดถึงการกระจายอำนาจทางการศึกษา ที่พูดง่ายๆ คือให้ อบต. จัดการเองเลยดีกว่า หากคนอยากปลูกข้าวเก่ง ก็สอนเขาปลูกข้าว capacity ก็ขึ้นที่การปลูกข้าว หรือชุมชนนี้เป็นเมืองท่องเที่ยวคุณต้องพูดภาษาจีนได้ แล้วการศึกษาก็บอกให้เขาเรียนภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ดังนั้น capacity ก็เกินขึ้นในชุมชน การศึกษาจึงเป็นตัวหนึ่งที่เราไปทำลายผลิตภาพโดยสิ้นเชิง เพราะเราตั้งกรอบตัวเดียวไว้ว่า ทุกคนต้องเก่งใน 8 วิชาจึงแปลว่าเรียนเก่ง”

พร้อมเสนอทางออกว่าการจะให้โลกการศึกษากับโลกการทำงานเชื่อมกัน ซึ่งมีหลายกลุ่มเป้าหมายมากที่จะให้เชื่อม แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มที่เตรียมเข้าตลาดแรงงาน หลายคนพูดถึงอาชีวศึกษาทวิภาคี ซึ่งมีเพียง 10% ในปัจจุบัน ปัญหาคือ เด็กไม่อยากเรียนอาชีวะ เพราะไม่ได้รับการให้คุณค่า แต่หากได้เรียนไปด้วย ได้รับการจ้างงานด้วย ได้เงินด้วย มันก็ได้รับการให้คุณค่า แล้วจะมีกลไกอะไรให้เพิ่มจาก 10% เป็น 90% เหมือนเดนมาร์ก เหมือนเยอรมัน ดังนั้น การเตรียมคนเพื่อเข้าตลาดแรงงาน รัฐน่าจะมีระบบตรงนี้ไว้
  • กลุ่มที่อยู่ในตลาดแรงงานที่ยังไม่สามารถวัดได้ว่าใครเก่งหรือไม่เก่ง จะรู้ได้อย่างไรว่าช่างเชื่อมคนหนึ่งเก่งกว่าช่างเชื่อมอีกคนหนึ่ง นั่นคือต้องมีคุณวุฒิการผลิต ว่าระดับ 1, 2, 3 ต้องต่างกัน พอคนหนึ่งเก่งกว่าอีกคนหนึ่งจะได้เงินเดือนต่างกัน กรณีญี่ปุ่นระบุว่าจะเป็นช่างเชื่อมหรือช่างไฟได้ต้องมีใบรับรอง กลไกค่าจ้างค่าตอบแทนต้องแปรผันตามความสามารถตัวบุคคลของเขา
  • กลุ่มที่ออกนอกตลาดแรงงาน เป็นกลุ่มที่ควรให้ความสำคัญมาก ไม่ว่าคนอายุ 40 ปี 50 ปี หรือเด็กที่ท้องในวัยเรียน ต้องเข้าสถานพินิจต่างๆ มีอีกเป็นล้านคน เราจะทำอย่างไรให้เขาสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ เขาต้องออกไปตอนอายุ 15 แต่ตลาดแรงงานเปิดตอนอายุ 18 เพียง 3 ปี เด็กกลุ่มนี้เสียโอกาสมาก เพราะกลายเป็นเด็กแว้น กลายเป็นเด็กที่ไม่ได้รับการยอมรับในสังคม

“ระบบหนึ่งที่ผมอยากให้มีมากคือ ธนาคารเครดิต ที่จะนำเด็กเหล่านี้มาฝึกอบรม ดูว่าฝึกอบรมไปกี่เครดิต แล้วเทียบว่าเขาควรได้วุฒิการศึกษาอะไร ซึ่งไม่ต้องห่วงเลยว่าอาชีวะจะไม่มีคนเรียนหากสามารถทำได้ เพราะจะมีเด็กอีกเป็นล้านคน ซึ่งจะเป็นตัวเพิ่ม capacity ให้เราได้สูง หรือการจ้างงานสาธารณะต่างๆ เราขาดครูมากในจังหวัดชายแดน แต่ทำไมต้องบอกว่าครูต้องจบวุฒิครูมาเป็นครู เรามีผู้สูงอายุอีกมากมายอยู่จังหวัดชายแดน แล้วก็อยากจะสอนเด็ก อยากให้ความรู้แก่ชุมชน แต่เขาสอนไม่ได้ ประเด็นต่อไปก็น่าจะพูดถึงเรื่องนี้ว่าจะจ้างงานผู้สูงอายุได้อย่างไร”

ศ. ดร.พิริยะ ทิ้งท้ายกับปัญหาการเมืองในองค์กร โดยเปรียบเทียบคนในองค์กรว่ามีทั้งเสือ ที่สามารถปล่อยให้เขาไปหาเหยื่อไม่ต้องใช้เขามากมาย บอกมาว่าเหยื่อตัวไหน เขาจัดการเอง หมา คือไม่ค่อยเก่ง แต่เลียอย่างเดียวก็พอ และควาย คือให้อาหารเขาก็พอเขาทำงานขยันเต็มที่ แต่สุดท้ายองค์กรส่วนใหญ่ที่ทำให้ผลิตภาพแรงงานตกมากคือไปใช้เสืออย่างควาย ใช้ควายอย่างหมา แต่เอาหมาไปเป็นเสือ เพราะหมาพวกเยอะเลยได้เป็นเสือ

บทบาทของภาคธุรกิจในเศรษฐกิจสังคมสูงวัย

ผศ. ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ
ผศ. ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ

ผศ. ดร.ศุภชัย กล่าวว่า เรื่องการเพิ่มกำลังแรงงาน การเพิ่มผลิตภาพ เป็นความคาดหวังของนักเศรษฐศาสตร์ทุกคน และรัฐเป็นส่วนสำคัญที่จะเป็นผู้เข้ามาจัดการปัญหาต่างๆ แต่ในมุมของภาคเอกชนเขาไม่ได้ต้องการให้รัฐเข้ามาจัดการให้ เนื่องจากเขาสามารถปรับเองได้ ทั้งนี้ หากรัฐจะช่วย ก็ให้ทำหน้าที่เป็น facilitator ผู้อำนวยความสะดวกอย่าเป็น interventor ซึ่งภาคเอกชนปรับตัว แต่จะช้าจะเร็วก็ขึ้นอยู่กับรัฐ ว่าเป็น facilitator แบบไหน

เป็นที่ทราบอยู่แล้วว่าโครงสร้างประชากรกำลังเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ผศ. ดร.ศุภชัย ระบุว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจให้แก่เอกชนได้ โดยหากภาคเอกชนทราบว่าผู้สูงอายุมีอายุมากในช่วงไหน หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตเขาเปลี่ยนอย่างไร โรคที่เขามักเป็นคือโรคอะไร ทุกอย่างส่งผลต่อความต้องการสินค้าและบริการใหม่ๆ

“เทรนด์ธุรกิจในอนาคตที่ต่างประเทศชี้ให้เห็นแล้ว เช่น เวชภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภคของผู้สูงอายุ การให้บริการทางการเงินรูปแบบต่างๆ เราเคยพูดถึงบริการทางการเงิน ตัวอย่างเช่น ประกันชีวิต แต่ประกันชีวิตไม่ควรพูดกับผู้สูงอายุ สิ่งที่ควรจะเกิด เช่น การสร้างระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ เอาเงินก้อนมากระจายให้เป็นกระแสเงินที่ผู้สูงอายุสามารถใช้ได้ในอนาคต ผู้สูงอายุอาจมีบำเหน็จ จะกระจายบำนาญอย่างไร หรือแม้แต่อาหารเพื่อสุขภาพ การออกแบบโครงสร้างอาคาร อารยสถาปัตย์ สถาปัตย์เพื่อผู้สูงอายุ นี่คือภาคหนึ่งของภาคธุรกิจ”

และจากงานวิจัยของเขา ที่ทำสำรวจกว่า 100 โรงงานในภาคอุตสาหกรรม กระจายทั่วประเทศไทย มี 700 กลุ่มตัวอย่าง ซึ่งลูกจ้างที่เจอส่วนใหญ่มีปัญหาด้านสุขภาพ เป็นกลุ่มผู้ที่ใช้แรงงานมาเป็นระยะเวลานาน เมื่ออายุ 50-55 ปี ถามว่ากลุ่มนี้อยากทำงานไหม ในทางปฏิบัติกลุ่มนี้บอกไม่อยากทำงาน อยากกลับไปอยู่บ้านเลี้ยงหลาน อยากรับเบี้ย อยากรับบำเหน็จบำนาญ แต่เขายังต้องอยู่ในตลาดแรงงาน เพราะหลักประกันรายได้ เขามีไม่เพียงพอหลังจากที่เขาเกษียณไปแล้ว ซึ่งสาเหตุก็มาจากที่เขาขาดความรู้ทางการเงิน

ผศ. ดร.ศุภชัย กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ ต้องหา binding agreement ระหว่างภาครัฐ เอกชน และลูกจ้างให้ได้ สำหรับภาคเอกชน คือ ความต้องการเงินทุน วัฒนธรรมองค์กร และทัศนคติต่อแรงงานสูงวัย ขณะที่ตัวลูกจ้างเองมีบำนาญ รายได้ สุขภาพ ทัศนคติในการทำงาน ซึ่งบางครั้งเขาบอกว่าอยู่ในโรงงานแล้วปรากฏว่าเด็กรุ่นใหม่ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นผู้สูงอายุของเขา ทำให้ไม่อยากอยู่ ทัศนคติอีกอย่างคือครอบครัว เหล่านี้คือปัจจัยด้านลูกจ้างที่พบว่าเป็นปัญหาในการกันไม่ให้เกิดการจ้างงาน

ส่วนภาครัฐ การกำหนดกฎหมายต่างๆ อาจเป็นปัจจัยกีดกันการขยายโอกาสการจ้างงาน อาทิ กฎหมายประกันสังคมเขียนไว้ว่า บำเหน็จ บำนาญจะเกิดเมื่ออายุ 55 ปี และจะมีสถานภาพคือไม่ใช่ผู้ประกันตน หมายถึงออกจากงานแล้ว ซึ่งภาคธุรกิจก็นำกฎหมายดังกล่าวมาเป็นตัวตัดว่าอายุการเกษียณคือเท่าไร แล้วเอามาเขียนไว้ในสัญญาจ้างงาน ทำให้อายุเกษียณในภาคธุรกิจอยู่ที่ 55 ปี ขณะเดียวกัน รัฐต้องปล่อยให้เอกชนปรับตัวตามความเหมาะสมเอง แต่ที่สำคัญคือกลไกทางการเงินของประกันสังคม กองทุนต่างๆ จะต้องเชื่อมโยงเข้ามาที่เดียวกันโดยไม่ซ้ำซ้อน ทั่วถึง ขณะเดียวกันก็สามารถเป็นประโยชน์ในการจ้างงานเอกชน

“ มีบางกลุ่มธุรกิจก็ยืนยันว่า ไม่ว่าอย่างไรเราไม่สามารถใช้ผู้สูงวัยในการทำงานได้ เพราะยืนไม่ไหว อาทิ โรงงานปอกกุ้ง ฉะนั้น เราพยายามหารูปแบบการจ้างงานที่ยืดหยุ่นหลายๆ รูปแบบให้เขา เช่น รูปแบบแรก คือ เมื่อถึงอายุเกษียณแล้วตัดทอนตำแหน่ง โดยให้ออกไปก่อนแล้วจ้างกลับเข้ามาใหม่ รูปแบบที่ 2 คือ ขยายอายุการเกษียณ หรือรูปแบบที่ 3 คือ การยืดหยุ่นด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน”

ผศ. ดร.ศุภชัย กล่าวต่อไปว่า รูปแบบการแก้ปัญหาโดยการเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานเป็นโมเดลที่น่าสนใจ ซึ่งในแรงงานที่ต้องใช้ฝีมือ เมื่อสูงอายุและไม่สามารถทำงานในโรงงานต่อไปได้ อาจใช้ระบบการจ้างงานที่บ้าน ไม่ต้องออกมาโรงงาน ไม่ต้องเสี่ยงต่อสภาพการจราจร ใช้เวลาน้อย อยู่กับลูกหลานได้ ส่วนบริษัทมีค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการภาคบังคับลดลง ได้งานจากคนที่มีฝีมือเหมือนเดิม แต่ภาระค่าใช้จ่ายลดลง ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่ยังมีฝีมือทำงานได้ ก็อาจปรับสถานะมาเป็นครูสอนช่าง เกิดเป็น win-win ทั้งสองฝ่าย