ThaiPublica > เกาะกระแส > สังคมสูงวัยความจริงที่ใกล้ตัว โจทย์จะเตรียมตัวที่ดีอย่างไร “รัฐ – ลูกหลาน ” พร้อมหรือยังที่จะแบกภาระคนแก่

สังคมสูงวัยความจริงที่ใกล้ตัว โจทย์จะเตรียมตัวที่ดีอย่างไร “รัฐ – ลูกหลาน ” พร้อมหรือยังที่จะแบกภาระคนแก่

6 มิถุนายน 2016


“หลายคนอาจมองว่าผู้สูงอายุเป็นภาระ แต่เราทุกคนหากไม่ตายไปเสียก่อน ก็ต้องกลายเป็นผู้สูงวัยในอนาคต ดังนั้นหากมีการเตรียมตัวที่ดี สังคมสูงวัยก็ไม่ใช่ภาระอีกต่อไป” ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

ศ. ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะบดีเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ. ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะบดีเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การตอกย้ำ“สังคมสูงวัย” จะมีความถี่มากขึ้นเรื่อยๆ จากอัตราการเกิดที่ลดลง ส่งผลให้อัตราวัยแรงงานที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหดตัวตาม สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นตามความทันสมัยและคุณภาพการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น ไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว ซึ่งจะมีประชากรสูงอายุคิดเป็น 20% หรืออาจพุ่งสูงแตะ 28% ของประชากรทั้งหมด และในปี 2583 จะเหลือวัยแรงงานที่ที่ต้องเกื้อหนุนผู้สูงอายุเพียง 1.7:1 เท่านั้น ในสภาวะดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่าประเทศไทยมีความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวหรือยัง

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ได้จัดเวทีสาธารณะเรื่อง “สังคมสูงวัย: ความท้าทายและการปรับตัวสู่สมดุลใหม่” โดย ศ. ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะบดีเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้กล่าวเปิดงานในหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร: โจทย์ท้าทายในสังคมสูงวัย” ว่า เมื่อไทยกำลังเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัยและมีบุตรน้อย การเปลี่ยนแปลงทางประชากรที่น่าจับตามองคือ ในจำนวนสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น มีประชากรวัยสูงอายุวัยกลาง ระหว่างอายุ 70-79 ปี และวัยปลาย คือตั้งแต่อายุ 80 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงอายุเฉลี่ยของประชากรกำลังเพิ่มขึ้น คำถามคือ แล้วผู้คนเหล่านี้จะอยู่อย่างไร

ศ. ดร.วรเวศม์ ฉายภาพให้เห็นว่า เมื่อพิจารณาตามมิติพื้นที่ จริงๆ แล้วทุกพื้นที่ได้ก้าวเท้าเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยแทบทุกจังหวัด มีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือวัยสูงอายุนั้น มากว่า 10% ทั้งสิ้น และในปี 2573 ทุกๆ จังหวัดจะมีสัดส่วนประชากรวัยสูงอายุมากกว่า 20% ขณะที่บางจังหวัดอาจมีสัดส่วนสูงถึง 30%

“ผู้สูงอายุในทุกๆ พื้นที่ของประเทศกำลังเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราส่วนศักยภาพเกื้อหนุน หรือประชากรวัยแรงงานที่มีอายุระหว่าง 15-59 ปีต่อจำนวนผู้สูงอายุ 1 คนนั้นกำลังลดลง ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนศักยภาพเกื้อหนุนอยู่ที่ 4:1 และจะลดลงเรื่อยๆ จนเหลือต่ำกว่า 2:1 ในอีก 25 ปีข้างหน้า ซึ่งการลดลงของศักยภาพเกื้อหนุนนี้กำลังบอกเราว่า เรากำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร”

สำหรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เข้าสู่สังคมสูงวัยที่กำลังเกิดขั้นนั้น ศ. ดร.วรเวศม์ กล่าวว่า มีโจทย์ที่ท้าทายอยู่ 4 ประการ โจทย์ที่ 1 คือ จะเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้สูงอายุได้อย่างไร และเมื่อโครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป นั่นหมายถึงวัยแรงงานที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจลดลง โจทย์ที่ 2 คือ สังคมไทยต้องสร้างความกระปรี้กระเปร่า (vitality) ของเศรษฐกิจในยุคสังคมสูงวัยให้ได้ โจทย์ที่ 3 คือ ทำอย่างไรครอบครัวในยุคสูงวัยจึงอยู่ดีมีสุข เมื่อความหลากหลายของครอบครัวในสังคมสูงวัยมีมากขึ้น และโจทย์ที่ 4 รัฐจะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนี้อย่างไร ซึ่งที่สำคัญ “รัฐต้องไม่ทำตัวแก่”

ความมั่นคงทางการเงินผู้สูงอายุ 80% รับจากลูก

ศ. ดร.วรเวศม์ กล่าวว่า สำหรับโจทย์แรกในสังคมสูงวัย มีคีย์หลักในการตอบโจทย์อันดับแรก คือ เรื่องความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งเมื่อสำรวจแหล่งรายได้ของผู้สูงอายุไทยพบว่า กว่า 80% ยังรับเงินจากลูกๆ อยู่ สะท้อนให้เห็นว่าผู้สูงอายุยังคงต้องพึ่งพาลูกหลาน แต่ก็พบว่ายังคงมีผู้สูงอายุที่มีรายได้จากการทำงานอยู่ไม่น้อย ประมาณ 40% และ 1/3 จากกลุ่มสำรวจมีเงินออม มีรายได้จากการเก็บกินดอกเบี้ย หรือค่าเช่า

“เมื่อลูกมีน้อยและต้องอยู่คนเดียว ความมั่นคงของผู้สูงอายุมาจากไหน ผมลองไปสอบถามทัศนคติของคนวัยทำงานว่ามีการเตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้สูงอายุหรือไม่ ส่วนใหญ่ยอมรับว่าควรที่จะเตรียมตัว แต่ก็ยังคงมีประมาณ 10% ที่บอกว่าไม่เคยคิดถึงเรื่องดังกล่าวเลย ขณะเดียวกันก็มีผู้ที่เห็นว่าควรเตรียมตัวแต่ยังไม่ได้ลงมือทำการใดๆ อยู่อีกกว่า 30% กรณีเหล่านี้เป็นเรื่องน่าสนใจว่าความพร้อมทางการเงินที่จะทำให้ประชากรมีความมั่นคงในวัยชราจะเกิดขึ้นได้อย่างไร”

สังคมสูงวัย

ดังนั้น นอกจากการส่งเสริมการออม การส่งเสริมการทำงานเพื่อเป็นแหล่งรายได้ให้ผู้สูงวัยแล้ว การจัดให้มีระบบบำนาญคือสิ่งที่ต้องเข้ามาเสริม แม้ปัจจุบันระบบบำนาญของไทยจะค่อนข้างครอบคลุมคิดเป็น 90% ทั้งภาคกำลังแรงงานของรัฐและกำลังแรงงานภายนอก ที่มีทั้งกองทุนประกันสังคม รัฐบาลสนับสนุนเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุ หรือมีกองทุนการออมแห่งชาติรองรับ แต่ก็ยังมีปัญหาอีกมากในเชิงระบบและในเชิงการบริหารงาน เนื่องจากการทำงานมีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทำให้เกิดหน้าที่ซ้ำซ้อนและขาดเอกภาพ จุดนี้เป็นสิ่งที่รัฐต้องเร่งแก้ไข

สำหรับผู้ที่เตรียมตัวแล้วก็ยังมีปัญหา หากยังไม่มีกฎหมายเข้ามาดูแลด้านความมั่นคงทางการเงินเป็นการเฉพาะยามชรา ว่าจะสามารถเอื้ออำนวยความสะดวกและตอบโจทย์ให้กับคนเหล่านี้ได้อย่างไร ดังนั้นไม่ใช่การวางระบบ การปรับกฎหมายจะทำเฉพาะกับคนที่ยังไม่เตรียมการ แต่ต้องไปให้ถึงคนที่มีความพร้อมอยู่แล้วด้วย ไม่เช่นนั้นสิ่งที่พยามตระเตรียมก็อาจไม่เป็นผลอย่างสมบูรณ์

คณบดีเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวต่อไปว่า การดำรงชีวิตประจำวัน สุขภาพและสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตก็เป็นอีกประการที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะนอกจากการพึ่งพาครอบครัวแล้ว ก็ควรมีระบบอื่นๆ เป็นตัวเลือกให้แก่ผู้สูงอายุ อาทิ หากผู้ที่มีทุนมาก อาจเลือกซื้อบริการเพื่อรับการดูแลในสถาบันเอกชน หรือจ้างผู้ดูแลมาไว้ที่บ้าน หากเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่ยากจน ส่วนนี้สามารถเข้ารับการดูแลได้ในสถานดูแลของรัฐบาลกลางหรือท้องถิ่น แต่สำหรับคนที่มีรายได้ปานกลาง ตัวเลือกของคนกลุ่มนี้ต้องไปในทิศทางไหน กรณีนี้ยังไม่มีระบบที่วางไว้เป็นตัวเลือกให้แก่คนกลุ่มนี้ ดังนั้น ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคิดแล้วว่าจะเตรียมระบบรองรับให้แก่ผู้สูงอายุกลุ่มนี้อย่างไร

ต้องสร้างความกระปรี้ประเปร่าของเศรษฐกิจยุคสังคมสูงวัย

เพราะทุนมนุษย์เป็นกลจักรสำคัญของการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ประชากรวัยแรงงานที่ลดลงส่งผลต่อศักยภาพการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและคุณภาพของกำลังแรงงาน ดังนั้นจึงต้องมีการปรับระบบ เพื่อสร้าง vitality ให้เกิดในยุคสังคมสูงวัย

ศ. ดร.วรเวศม์ ระบุว่า ภายใต้การลดลงของอัตราส่วนศักยภาพเกื้อหนุนอย่างต่อเนื่อง หากรัฐยังต้องการให้เศรษฐกิจเติบโต สิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปคือการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุและครอบครัว

โดยข้อกังวลว่าแรงงานที่หายไปไม่ได้มาจากการลดลงของวัยแรงงานที่ลดลง แต่รวมถึงแรงงานในช่วงวัย 30-40 ปี ที่ออกจากกำลังแรงงานก่อนวัยอันควรไปกับการดูแลลูกและบุพการีสูงวัย

สังคมสูงวัย สังคมสูงวัย

“การสร้าง vitality โดยทั่วไปมีหัวใจสำคัญคือ ต้องมีฐานรายได้ในระดับหนึ่ง สัดส่วนการเกื้อหนุนของกำลังแรงงาน คนต้องทำงาน และรัฐบาลต้องมีกลไกในการดึงรายได้ ซึ่งส่วนนี้จริงๆ เรายังสามารถทำให้ขยับได้ไม่กี่ตัว คือ กลไกรัฐและการทำงานของประชาชน ดังนั้น การจูงใจให้คนทำงานมากขึ้นจึงมีส่วนสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานให้เหมาะสมกับผู้สูงวัย การขยายอายุเกษียณ หรือการส่งเสริมการจ้างงานต่อเนื่องของเอกชน”

ศ. ดร.วรเวศม์ กล่าวต่อว่า เมื่อเรากำลังเผชิญความหลากหลายของประชากรและสังคม การสร้าง vitality ไม่เพียงเป็นเหตุผลด้าน demand ของประเทศ แต่ยังเป็นเหตุผลด้าน supply ด้วยเช่นกัน คือ ตลาดสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งการรักษาพยาบาล สินค้าในชีวิตประจำวัน สถานบริการอย่างสถาบันดูแลผู้สูงอายุ ตลอดจนถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อเตรียมความพร้อมสู่วัยชรา ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการลงทุนทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังตบเท้าก้าวสู่สังคมสูงวัยเช่นกัน

ทำอย่างไรให้ครอบครัวในยุคสังคมสูงวัยอยู่ดีมีสุข

เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ศ. ดร.วรเวศม์ กล่าวว่า ฟังก์ชันครอบครัวที่อาศัยการพึ่งพากันในอดีตจะไม่เอื้ออำนวยต่อความอยู่ดีมีสุขอีกต่อไป ดั้งนั้น ปัจจัยจากภายนอกจึงต้องเข้ามาเสริมช่องว่างที่จะเกิดขึ้น

“ทั้งองค์กรรัฐและองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ หากมองเป็นระบบสนับสนุนครอบครัว จะต้องมุ่งตอบโจทย์ในการลดภาระของกำลังแรงงานในครอบครัว ส่วนของผู้สูงอายุอาจใช้การเลือกบริการดูแลผู้สูงอายุ ที่มีให้เลือกทั้งจากภาครัฐและเอกชน ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีมาตรการลดภาระในการดูแลบุตร สนับสนุนระบบบริการดูแลเด็กระหว่างพ่อแม่ทำงาน”

ศ. ดร.วรเวศม์ ระบุว่า แนวนโยบายทั้งหมดที่ตนกล่าวมานั้นต้องมีการวางแผนผสานกัน ทั้งเรื่องครอบครัว แรงงาน และการคุ้มครองทางสังคม รวมถึงต้องเชื่อมโยงบทบาทเหล่านี้ไปยังภาคเอกชนในฐานะนายจ้างด้วยเช่นกัน

รัฐบาลจะตอบสนองการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร

สังคมสูงวัย

สิ่งท้าทายที่กำลังเกิดขึ้น คือเรื่องทั้งหมดที่ ศ. ดร.วรเวศม์ กล่าวมาแล้วในข้างต้น ทั้งเรื่องการเงินการคลังเพื่อสังคมสูงวัย ยุทธศาสตร์ที่ผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำงาน และไม่ให้วัยแรงงานออกจากงานก่อนวัยอันควร เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐต้องดำเนินการแต่เนิ่นๆ

“นโยบายต่างๆ จะคิดลำพังไม่ได้ แผนทั้งหมดต้องมีความเชื่อมโยงของทุกฝ่าย ดังนั้น การจะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ภายใต้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร คำสำคัญคือ ‘บูรณาการ’ เพราะแม้สังคมจะกลายเป็นสังคมสูงวัย แต่รัฐจะต้องไม่ทำตัวแก่ตาม”

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็นว่าสำหรับเรื่อง “แผน” ของประเทศ ไทยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และไทยเองก็มีแผนผู้สูงอายุแห่งชาติอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือจะทำอย่างไรที่จะนำแผนทั้งสองมาประสานให้สอดคล้องกัน เพื่อตอบโจทย์เดียวกัน

สังคมสูงวัย

สังคมสูงวัย

และเพราะมิติเชิงพื้นที่กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมอย่างรุนแรง “บทบาท” การทำงานขององค์การในท้องที่ อย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งการให้บริการ อำนวยความสะดวกต่อผู้สูงอายุ ตลอดจนถึงบทบาทของชุมชน อาสาสมัคร และวิสาหกิจเพื่อสังคม ต้องมีความชัดเจน

นอกจากนี้ ในเรื่อง “การเงินการคลัง” ที่รัฐสนับสนุนให้แก่ผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็น เบี้ยยังชีพ เงินบำนาญราชการ กองทุนบำเน็จบำนาญ ประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างเอกชน เหล่านี้เป็นภาระด้านงบประมาณของรัฐทั้งหมด ในแต่ละปีมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ซึ่งอาจเป็นผลกระทบต่อความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว

“ระบบบำนาญตอนนี้มีการแยกส่วนกัน ทำให้รัฐบาลต้องใส่เงินหลายช่องทางมาก ยังไม่รวมส่วนของประกันสังคมที่เป็นภาระทางการคลังที่ซ่อนอยู่ ส่วนนี้สำนักงานสถิติการคลังเคยคำนวณออกมา แค่ส่วนนี้ส่วนเดียวใช้เงินไปคิดเป็น 2% ของจีดีพี และเนื่องจากเรามีทางเลือกไม่มาก การร่วมจ่ายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งจำเป็น”