ThaiPublica > เกาะกระแส > ปัญหาค้ามนุษย์ รัฐช่วยเหลือไม่สุดทาง – นายหน้าค้าคน – ข้อมูลบกพร่อง ปัญหาซ่อนเร้นที่อาจทำไทยสอบซ่อม IUU ไม่ผ่าน

ปัญหาค้ามนุษย์ รัฐช่วยเหลือไม่สุดทาง – นายหน้าค้าคน – ข้อมูลบกพร่อง ปัญหาซ่อนเร้นที่อาจทำไทยสอบซ่อม IUU ไม่ผ่าน

2 พฤษภาคม 2016


อะไรเป็นเหตุให้อธิบดีกรมประมงถูกเด้งสายฟ้าแลบ คำสัมภาษณ์ ของนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ โดย นายสุทธิชัย หยุ่น ซึ่งสรุปความได้ว่า จากการรายงานข่าวความคืบหน้าต่างๆ ของไทยที่ว่าสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาและจับกุมผู้กระทำผิดไปได้กว่า 90% นั้นไม่ตรงกับข้อมูลที่ทางสหภาพยุโรปได้รับรายงาน แม้มีการออกกฎหมายจำนวนมากแต่ขาดการดำเนินงานที่สอดคล้องกัน ทำให้ทางผู้แทนสหประชาชาติยังไม่เชื่อมั่นในการแก้ปัญหาของไทย

ทั้งนี้ ในกรณีดังกล่าว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากทั้งสองฝ่ายมีชุดข้อมูลไม่ตรงกัน และได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงข้อมูลให้มีความตรงกันแล้ว

ที่สำคัญทางการไทยจะทราบหรือไม่ว่าทางสหภาพยุโรปได้มีการจัดส่งคณะทำงาน (European Anti-Fraud Office: OLAF) เพื่อลงมาเก็บข้อมูลภายในประเทศไทยโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าอยู่เป็นครั้งคราว ดังนั้น ทุกข้อท้วงติงที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมย่อมถูกรายงานเข้าสู่คณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล ผู้กำกับดูแลเรื่องดังกล่าว ได้ทั้งสิ้น ซึ่งอาจจะนำไปสู่การตัดสินให้ใบเหลืองหรือใบแดงในเดือนพฤษภาคมนี้

ปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ไร้การรายงาน ไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated: IUU) มีความเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญกับปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เนื่องจากปัญหาดังกล่าวรุนแรงมากในภาคประมงทะเลทั้งในและนอกน่านน้ำ ไปจนถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยถูกปรับลดอันดับไปอยู่ใน Tier 3 จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (US’s Trafficking in Persons Report: TIP Report) ของสหรัฐฯ ติดต่อมาเป็นระยะเวลา 2 ปีแล้ว

เมื่อวันที่ 29 เมษายาน 2559 มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ARCM) บริษัท TLCS Legal Advocate จำกัด และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดงานเสวนาและเปิดตัวเครือข่ายความร่วมมือภาคประชาสังคมเพื่อแก้ปัญหาด้านแรงงานของประเทศไทย ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภายในงานได้มีการเปิดตัวสหภาพลูกเรือประมงไทยและข้ามชาติ (TMFG) เครือข่ายความร่วมมือแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย (MUNT-SCPM) เครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ (ATN) และเครือข่ายความร่วมมือเพื่อความโปร่งใสในภาคการประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (MAST) โดยเครือข่ายต่างๆ เหล่านี้จะเป็นผู้ประสานที่ดีให้แรงงานได้เข้ารับความคุ้มครองจากรัฐ วงเสวนาได้สะท้อนภาพปัญหาที่ยังคงอยู่จากภาคประชาสังคมที่คลุคคลีใกล้ชิดกับแรงงาน รวมถึงการบอกเล่าถึงสภาพการณ์อันเลวร้ายที่แรงงานที่เคยถูกหลอกไปทำงานบนเรือประมงไทยซึ่งเดินทางไปทำการประมงที่ประเทศอินโดนีเซีย และปัญหาที่เป็นจุดซ่อนเร้นอันทำให้ภาครัฐอาจมองข้ามไป

“เพื่อนผมยังไม่ได้ค่าจ้าง” คำบอกเล่าจากปากแรงงานค้ามนุษย์

นายธนพล ธรรมรักษา อดีตลูกเรือประมงนอกน่านน้ำที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ บอกเล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนว่า กรณีของตนนั้นไม่ได้เป็นการหลอกโดยตรง แต่เป็นการหลอกในตำแหน่งหน้าที่ โดยตำแหน่งที่ตนสมัครไปคือช่างเครื่อง แต่กลับต้องไปคุมอวน คัดปลาแยกปลา ทำงานตั้งแต่ตี 5 จนถึงตี 2 ของอีกวัน ได้พักผ่อนเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น งานวนเวียนไปเช่นนี้จนกว่าปลาจะเต็มลำเรือ การทำงานไม่มีสวัสดิการใดๆ ไม่มีวันหยุด และเมื่อทนไม่ไหวขอกลับบ้านกลับถูกจองจำ

“เพื่อนหลายคนบอกว่ามีนายหน้าหาคนจากสถานที่ชุมชน คนเยอะๆ เช่น หมอชิต หัวลำโพง ส่งคนมาที่มหาชัย ทำซีแมนบุ๊ก ก็ใช้เพียงแค่รูปถ่าย แล้วไปให้ที่กรมเจ้าท่าเห็นตัว เท่านั้นก็สามารถขึ้นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำเพื่อเดินทางไปเรือแม่ได้แล้ว ง่ายมาก วันนี้ที่กลับมาได้แล้วก็ยังมีเพื่อนๆ ถูกโกงค่าแรงอีกหลายราย”

อีกด้านในแรงงานชาวเมียนมารายหนึ่ง ได้แสดงให้เห็นความบกพร่องทางร่างกายที่เกิดขึ้นภายหลังได้รับการช่วยชีวิตกลับมา โดยมือข้างขวาเขาเหลือนิ้วเพียงนิ้วเดียว เขาไม่ได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มมหามิตร หรือ SCPM (Solidarity Committee for The Protection of Myanmar Migrant) ที่เป็นการรวมตัวของแรงงานชาวเมียนมากลุ่มเล็กๆ ประสานกับภาคประชาสังคมไทยในการเรียกร้องค่าจ้างและค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากผู้ประกอบการ นอกจากตัวเขาเองแล้วยังมีชาวเมียนมาอีกหลายรายที่ต้องกลับบ้านไปทั้งที่ยังไม่ได้ค่าจ้างแม้แต่บาทเดียว เนื่องจากไม่ทราบว่าจะต้องเรียกร้องจากหน่วยงานใด และอีกหลายคนที่ถูกหลอกให้เซ็นยอมรับค่าชดใช้เพียงเงินไม่กี่พันบาทจากนายจ้าง

ปัญหาซ่อนเร้น รัฐไม่เห็น หรือนิ่งเฉย

นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน
นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน

นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายต่างๆ ได้รับการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ข้อกฎหมายเหล่านั้นอาจเป็นเพียงแค่เศษกระดาษ เพราะปัจจุบันยังไม่มีตัวชี้วัดการบังคับใช้กฎหมายที่ชัดเจน

“ก่อนหน้าที่จะเข้มงวดเรื่องการจดทะเบียนเรือ เจ้าของเรือประมงรายใหญ่มักเป็นผู้มีอิทธิพล เรือในครอบครองบางลำไม่ใช่ของคนคนนั้นจริงๆ มีการสวมทะเบียนจำนวนมาก ซึ่งกฎหมายที่ออกแม้จะดีมาก แต่ก็ต้องไปดูว่าเขาทำตามจริงไหม วันนี้ตัวชี้วัดยังไม่มี”

นายสมพงค์กล่าวต่อไปว่า ปัญหาค้ามนุษย์นั้นการลงนามความร่วมมือ (MOU) ต่างๆ ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่แท้จริง เพราะยังคงมีกระบวนการของนายหน้าและโบรกเกอร์ในการจัดส่งคนให้กับสถานที่ที่ต้องการคนไปใช้แรงงานอยู่ ไม่ว่าจะเป็น หัวลำโพง หมอชิต สนามหลวง คนในพื้นที่เหล่านี้มักตกเป็นเหยื่อ ส่วนนี้เป็นต้นตอที่สำคัญ แต่กฎหมายกลับยังเข้าไม่ถึง

นายภาสกร จำลองราช ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวชายขอบ กล่าวว่า กรณีที่ภาคประชาสังคมหลายหน่วยงานมีความร่วมือกับทางช่อง 3 ในการเปิดโปงขบวนการค้ามนุษย์ ที่แรงงานไทยถูกหลอกไปเป็นลูกเรือประมงไกลถึงเกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย และมีคนไทยจำนวนมากที่ต้องติดเกาะไม่สามารถกลับประเทศได้เนื่องจากถูกปลอมเอกสาร จนกลายเป็นคนไร้สัญชาติ รวมถึงมีการตรวจพบสุสานคนไทยบนเกาะดังกล่าว นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง แต่นักข่าวที่เข้าไปร่วมทำข่าวกลับถูกกดดันจากทางรัฐบาล และกลุ่มธุรกิจข้ามชาติ รวมทั้งปัจจุบัน การพิสูจน์ศพที่อยู่บนเกาะดังกล่าวก็ชะงักไป

“การทำซีแมนบุ๊กของไทยหละหลวมมาก ที่มหาชัยทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ใช้รูปถ่าย ข้อมูลภายในไม่ได้ตรงกับเจ้าของเล่มจริงๆ และจะยังคงมีคนที่ถูกหลอกไปทำงานอีกเป็นจำนวนมาก หากทางอินโดนีเซียไม่ระงับการให้สัมปทานประมงประเทศไทย”

ที่มาภาพ: www.facebook.com/Labour-Rights-Promotion-Network
ที่มาภาพ: www.facebook.com/Labour-Rights-Promotion-Network

ด้านนางสุดารัตน์ เสรีวัฒน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาการคุ้มครองเด็ก ให้ความเห็นเพิ่มเติมกับวงเสวนาว่า เรื่องของลูกเรือที่เกิดขึ้นมีกรณีที่ยังไม่ได้ถูกนำมาพูดถึง คือ ภายหลังที่พวกเขาได้รับการช่วยเหลือกลับมาได้แล้วยังไม่มีหน่วยงานรัฐใดมาพูดคุยกับพวกเขาอย่างจริงจังถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนเรือ หลายคนกลับมาแล้วแต่ยังไม่ได้บัตรประชาชน ยังไม่ได้รับค่าแรง กรณีที่เกิดขึ้นเหล่านี้ถือว่ายังไม่ได้ถูกถอดบทเรียนใดๆ ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงยังไม่ได้เข้าถึงอย่างแท้จริง

“การทำงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยังไม่ได้ถูกเอ่ยถึง ซึ่งลูกเรือที่รอดชีวิตกลับมาควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายป้องกันการค้ามนุษย์ของ พม. มากกว่าการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานของกระทรวงแรงงาน ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้เห็นปัญหาการแยกแยะการใช้งานระหว่างกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่3) พ.ศ. 2551 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ของไทย”

ในทำนองเดียวกัน นายสุภัท กุขุน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความเห็นในประเด็นปัญหาด้านกฎหมายของไทยว่า ปัจจุบันมีการออกกฎหมายเป็นจำนวนมาก แต่ประเด็นสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้มีการแก้ปัญหาอย่างเชื่อมโยง ยั่งยืน และไม่เป็นการโยนปัญหาให้กับผู้อื่น และแม้กฎหมายที่ออกมาจะมีจำนวนมาก แต่ก็ยังมีช่องว่างให้ผู้ประกอบการละเมิดกฎหมายอยู่

“การให้เรือติดเครื่องติดตาม แม้มีการตรวจเช็คผ่าน ศูนย์ Port-In Port-Out แต่เมื่อเรือออกทะเลไปก็มีช่องว่างมากมาย เรือสามารถถอดเครื่องติดตามไปใส่เรือลำอื่นแล้วไปทำผิดกฎหมายได้ไม่ยาก และสิ่งที่น่ากังวลกว่าการแก้ไขให้ได้ตามความต้องการของสหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรป คือ จะทำอย่างไรให้ปัญหาถูกแก้ไขอย่างยั่งยืน”

ข้อมูลปัญหาเกี่ยวกับแรงงานในเบื้องต้นจากปากผู้อยู่ในแวดวงเหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่าไทยอาจสอบตกด้วยเรื่องง่ายๆ อาทิ การช่วยเหลือที่ไม่สุดทาง การกวาดล้างที่ยังไม่ถอนรากโคน นายหน้าค้ามนุษย์ยังคงสามารถเดินหาเหยื่อได้ในสถานที่คนพลุกพล่าน รวมถึงข้อมูลง่ายๆ เช่น จำนวนเรือ ณ ปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันอย่างแน่ชัดว่ามีจำนวนเท่าไร เนื่องจากข้อมูลของกรมเจ้าท่าและกรมประมงไม่ตรงกัน ข้อมูลในอดีตที่เคยเข้าถึงได้ถูกเข้ารหัส และบางส่วนหายไปจากที่เคยถูกเปิดเผย