ThaiPublica > เกาะกระแส > ปมสารตกค้างผักผลไม้ 3 ปีปัญหาวนที่เดิม 2 ฝ่ายเตรียมฟ้อง กรมวิชาการเกษตรโต้ตรวจสอบไม่ได้มาตรฐาน ด้าน Thai-PAN ชี้ละเลยปฏิบัติหน้าที่

ปมสารตกค้างผักผลไม้ 3 ปีปัญหาวนที่เดิม 2 ฝ่ายเตรียมฟ้อง กรมวิชาการเกษตรโต้ตรวจสอบไม่ได้มาตรฐาน ด้าน Thai-PAN ชี้ละเลยปฏิบัติหน้าที่

22 พฤษภาคม 2016


กลายเป็นประเด็นปัญหาระหว่างผู้กำกับดูแลและผู้ตรวจสอบ เมื่อหน่วยงานภาครัฐอย่างกรมวิชาการเกษตรที่เป็นทั้งผู้กำกับดูแลและผู้ตรวจสอบจ่อฟ้องภาคประชาสังคม คือ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเปิดผลการสุ่มตรวจค่าสารเคมีตกค้างจากผักและผลไม้เป็นประจำทุกปี ฐานหมิ่นประมาท และเช่นเดียวกัน Thai-PAN ก็จ่อฟ้องกลับหน่วยงานรัฐอย่างกรมวิชาการเกษตร ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่

3 ปีกับปมปัญหาเดิม

จากที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รายงานปัญหาสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานในผักผลไม้ต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทุกๆ ปีในช่วงเดือนมีนาคมทาง Thai-PAN จะดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างผักผลไม้ แล้วส่งให้กับห้องทดลองที่ได้มาตรฐานเพื่อตรวจหาปริมาณสารเคมีตกค้างว่าเกินมาตรฐานหรือไม่อย่างไร

นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญชื่อ เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) แถลงข่าวเรื่องมาตรฐานQ
นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญชื่อ เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) แถลงข่าวเรื่องมาตรฐาน Q

ย้อนไปในปี 2557 ที่ Thai-PAN เปิดเผยผลตรวจผัก ผลไม้ฯ ในปีนั้นมีเพียงภาคเอกชนกลุ่มห้างค้าปลีกที่เข้าร่วมรับฟังข้อมูลก่อนการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูล หน่วยงานรัฐซึ่งนำโดยนายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญชื่อ เลขาธิการ มกอช. และนางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว ตัวแทนจากกรมวิชาการเกษตร ในขณะนั้นได้ออกมาชี้แจงข้อมูลโดยระบุว่า

  • การเก็บข้อมูลขอ Thai-PAN นั้นไม่สามารถนำมาเป็นมาตรฐานได้ เนื่องจากมีการสุ่มเก็บตัวอย่างที่น้อยไป
  • การใช้ค่า MRL สำหรับชี้วัดสารเคมีตกค้างทั้งของ Thai-PAN และของกรมวิชาการเกษตร มีการอ้างอิงจากฐานข้อมูลคนละชุด ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลมีความคลาดเคลื่อนกับผลการสุ่มตรวจที่กรมวิชาการเกษตรพบ
  • ผักผลไม้ที่มีสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ในส่วนที่ได้รับมาตรฐาน Q อาจมีการปลอมแปลง หรือเกษตรกรใช้ตราสัญลักษณ์ที่หมดอายุมาแอบอ้าง
  • ภาครัฐดำเนินการการสุ่มตรวจเป็นประจำทุกปี ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าสินค้า Q มีการตกค้างของสารเคมีเกินค่ามาตรฐานเพียงร้อยละ 2-3 เท่านั้น และการลงพื้นที่ตรวจสอบนั้นไม่ได้มีการเผยแพร่ข่าว เนื่องจากกังวลว่าจะเป็นการสร้างความตื่นตระหนกโดยใช่เหตุให้แก่ประชาชน

ThaiPanตรวจสารตกค้างในผัก

สารเคมีเกษตร

ในปี 2558 Thai-PAN ได้เปิดเผยผลตรวจผักผลไม้ฯ ในงานประชุมเชิงวิชาการเพื่อเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ประจำปี 2558 โดยความร่วมมือของมูลนิธิชีววิถี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชน รวมถึงนักวิชาการเข้าร่วมงาน มีการจัดเสวนาที่ทั้ง มกอช. และกลุ่มโมเดิร์นเทรดได้ออกมาบอกเล่าถึงแนวทางการดำเนินงานของตน ทางภาครัฐได้ชี้แจงข้อมูลว่า

  • ผักที่ทาง Thai-PAN พบว่ามีสารเคมีตกค้างในปริมาณสูงนั้น คือ กะเพรา โหระพา และมะเขือเปราะ เป็นพืชรองที่ยังไม่มีค่า MRL การตีความต่างกันเกิดจากการใช้ข้อมูลเปรียบเทียบคนละชุด และ มอกช. จะเร่งดำเนินการกำหนดมาตรฐานนการตรวจพืชกลุ่มรองให้ครบถ้วนต่อไป
  • มกอช. ได้นำข้อมูลผลการสุ่มตรวจจากภาครัฐมาแสดงในเวทีเสวนา ระบุว่ามีการดำเนินการตรวจแปลงเกษตรที่ได้รับรองมาตรฐาน Q พบแปลงที่ไม่ได้มาตรฐานลดลง
นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(ซ้าย)และนางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI)(ขวา)
นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ซ้าย) และนางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI (ขวา)แถลงผลการตรวจสอบปี 2559

และในปี 2559 นี้ ก่อนการแถลงข่าวเปิดเผยข้อมูล Thai-PAN ได้รับความร่วมมือในการหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขจากส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากภาครัฐ ได้แก่ มกอช. กรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวมถึงกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) และภาคเอกชน ได้แก่ บิ๊กซี แม็คโคร ฟู้ดแลนด์ ท็อปส์ และสมาคมตลาดสดไทย ซึ่งหลังจากนั้นทางกรมวิชาการเกษตรและ มกอช. ได้ออกมาชี้แจงว่า

  • ผลการตรวจสารเคมีตกค้างจาก Thai-PAN เนื่องจากการสุ่มตรวจดังกล่าวถือว่าผิดหลักการ การเก็บตัวอย่างจากผักผลไม้เพียง 1-2 ชนิด ไม่เพียงพอที่จะนำมาเป็นค่าในการชี้วัดได้ ซึ่งตามหลักการควรสุ่มเก็บอย่างน้อยที่ 60 ตัวอย่างในแต่ละชนิดพืช ดังนั้น จากค่าที่พบในสินค้า Q จำนวน 7 ตัวอย่าง และสินค้าอินทรีย์ 8 ตัวอย่าง แล้วนำมาสรุปว่าสินค้าพืชที่ภาครัฐรับรองไม่ผ่านมาตรฐาน 1% และ 25% เป็นการจงใจให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนัก พร้อมยืนยันว่ากระบวนการรับรองมาตรฐานของภาครัฐนั้นเป็นไปอย่างเข้มงวดโดยตลอด ซึ่งในปี 2559 นี้ กรมวิชาการเกษตรได้ตรวจวิเคราะห์หาสารตกค้างไปแล้วกว่า 3,500 ตัวอย่าง เป็นสินค้า Q ประมาณ 1,500 ตัวอย่าง ซึ่งพบเพียง 7 ตัวอย่าง คิดเป็นน้อยกว่า 1% ที่มีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานเท่านั้น
  • สินค้า Q ที่ตรวจพบสารเคมีตกค้างนั้นเป็นสินค้าที่ได้รับมาตรฐาน Q ถูกต้องหรือไม่ หรือมีใช้ตราสัญลักษณ์ปลอมหรือไม่ และจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ใช้สัญลักษณ์ไม่ถูกต้องนั้น หากเป็นเกษตรกรที่ได้รับตรามาอย่างถูกต้องจะดำเนินการลงโทษทันที

จากข้อชี้แจงตลอด 3 ปีที่ผ่านมาของหน่วยงานรัฐ ยังคงอยู่ที่เรื่องมาตรฐานในการตรวจสอบที่ไม่ตรงกัน และปัญหาการปลอมตราสัญลักษณ์ Q ประกอบกับที่ผ่านมา การสุ่มเก็บตัวอย่างและการตรวจมาตรฐานสินค้าเกษตรของรัฐดำเนินการไปอย่างเงียบๆ ไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลและผลการสุ่มตรวจให้ประชาชนรับทราบอย่างเป็นทางการ ทำให้ทาง Thai-PAN ได้ตั้งคำถามย้อนกลับถึงมาตรฐานในการตรวจสอบของกรมวิชาการเกษตรว่าการสุ่มเก็บตัวอย่างของรัฐว่ามีความเป็นกลางและโปร่งใสเพียงใด และความสามารถของห้องปฏิบัติการสามารถตรวจสอบได้เท่าเทียมกับการตรวจสอบของ Thai-PAN ซึ่งใช้ห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจสอบสารได้มากถึง 450 ชนิดหรือไม่

นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า Thai-PAN เป็นเพียงหน่วยงานเล็กๆ หน่วยหนึ่งเท่านั้นในการสร้างมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค มีข้อจำกัดทั้งเงินทุนและบุคลากรในการจะสุ่มเก็บตัวอย่างผักผลไม้ให้ครบทุกฤดู จนได้จำนวนตัวอย่างในปริมาณมากพอที่จะเป็น “ค่ากลาง” ได้ จึงดำเนินการได้เพียงในฐานของการ “เฝ้าระวัง” ซึ่งตนหวังและพร้อมที่จะร่วมงานกับหน่วยงานรัฐทุกฝ่ายในการดำเนินงานร่วมกันเก็บข้อมูลเพื่อรายงานผลให้ผู้บริโภคทราบ ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกลุ่มโมเดิร์นเทรดในการปรับปรุงคุณภาพการคัดกรองตรวจสอบสินค้าที่รับมาจำหน่าย

ฟ้องหมิ่นประมาทมา ฟ้องละเลยหน้าที่กลับ

อนึ่ง Thai-PAN ได้จัดงานแถลงข่าวผลการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี 2559 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 โดยสุ่มเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ที่ประชาชนนิยมบริโภค จำนวน 138 ตัวอย่าง ในผัก 10 ชนิด โดยในปีนี้สรุปผลได้ว่า ผัก ผลไม้ ได้มาตรฐานตรา Q จากมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) นั้นยังคงมีสัดส่วนสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานสูงที่สุด

ทั้งยังพบเพิ่มเติมว่า ผักผลไม้อินทรีย์ที่ได้รับรอง Organic Thailand ซึ่งไม่ควรตรวจพบการตกค้างของสารเคมี กลับพบการตกค้างสูงเกินมาตรฐานถึง 25% ของจำนวนตัวอย่าง ด้านผักแบรนด์ดังที่ถูกส่งขายในโมเดิร์นเทรดและห้างร้านทั่วไป อย่างผักด๊อกเตอร์ ยังคงพบค่าการตกค้างเกินมาตรฐานติดต่อกันต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ทำให้การซื้อผักผลไม้ในโมเดิร์นเทรดกับตลาดสดมีความปลอดภัยไม่ต่างกันเท่าใดนัก แต่อย่างไรก็ตาม ภาพรวมก็พบว่าสัดส่วนการพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานจากผักผลไม้ทั้งหมดนั้นลดลงจากปีที่ผ่านๆ มา

ผักและผลไม้ที่มกอช นำมาแสดง ในวงกลมสีแดงเป็นเครื่องหมาย Qที่ไม่ถูกต้อง
ผักและผลไม้ที่ มกอช. นำมาแสดง ในวงกลมสีแดงเป็นเครื่องหมาย Q ที่ไม่ถูกต้อง

โดยนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ผลการสุ่มตรวจของ Thai-PAN นั้นเป็นงานวิจัยที่ผิดหลัก แม้การรายงานผลดังกล่าวจะเป็นเจตนาดี ช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับผู้บริโภค แต่การนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนั้นสร้างความตระหนกให้กับผู้บริโภค และเกิดความเสียหายต่อหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแล เบื้องต้นจึงอาจดำเนินการฟ้อง Thai-PAN ฐานหมิ่นประมาท

หลังจากกรมวิชาการเกษตรและ มกอช.ชี้แจง ทาง Thai-PAN ได้ชี้แจงกลับว่า การดำเนินการของ Thai-PAN เป็นการดำเนินการ “เฝ้าระวัง” ในฐานะผู้บริโภคและองค์กรภาคประชาสังคม มิใช่เป็น “งานวิจัย” เป็นเพียงการเสนอภาพรวมปัญหาการปนเปื้อนของประเทศ ซึ่งการเก็บตัวอย่างในปริมาณดังกล่าวไม่ได้แตกต่างไปจากการเก็บตัวอย่างสำหรับ “เฝ้าระวัง” ของหน่วยงานของรัฐเอง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่าการสุ่มเก็บตัวอย่างของ Thai-PAN นั้นอยู่ในระดับปกติ

ทั้งนี้ Thai-PAN ยังระบุว่า คำชี้แจงของกรมวิชาการเกษตรที่อ้างว่าสินค้า Q มีมาตรฐานและพบการปนเปื้อนเกินมาตรฐานไม่ถึง 1% นั้น ขัดแย้งกับข้อมูลการตรวจสอบของThai-PAN และหน่วยงานอิสระอื่นๆ อาทิ การสุ่มตรวจผักและผลไม้ที่ส่งออกจากประเทศไทยไปยังสหภาพยุโรป โดยผักและผลไม้จากประเทศไทยที่ส่งออกนั้นต้องได้มาตรฐาน Q-GAP ข้อมูลล่าสุดที่ตีพิมพ์ใน “EFSA Journal 2015” พบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ส่งออกไปจากประเทศไทยเกินมาตรฐานถึง 101 ตัวอย่าง ประกอบกับงานศึกษาเชิงคุณภาพโดยนักวิชาการอิสระที่ตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ Agriculture and Human Values ฉบับเดือนธันวาคม 2556 เรื่อง Can public GAP standards reduce agricultural pesticide use? The case of fruit and vegetable farming in northern Thailand โดยคณะนักวิชาการที่นำโดย Pepijn Schreinemachers และคณะ พบว่า “คุณภาพของการออกใบรับรอง Q นั้นค่อนข้างแย่ มาตรฐาน Q ที่เป็นอยู่นั้นไม่ใช่ทางเลือกที่แท้จริงสำหรับหลักประกันเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร”

ตรวจผักThai-PAN

นอกจากนี้ Thai-PAN กล่าวยืนยันว่า การทำงานของThai-PAN ยืนอยู่บนพื้นฐานของการใช้ข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เปิดเผย โปร่งใส และมีกระบวนการที่เอื้ออำนวยให้ทั้งหน่วยงานราชการและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม และพร้อมที่จะให้สาธารณชนพิสูจน์ โดยหากนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตรประสงค์จะยื่นฟ้องร้อง Thai-PAN ในฐานหมิ่นประมาท Thai-PAN ก็พร้อมที่จะต่อสู้คดี

โดยเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 ณ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก Thai-PAN กล่าวว่า เราดำเนินการตรวจสอบสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้มาตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยในอาหารให้สังคมได้รับรู้ หลายหน่วยงานรวมทั้งตำรวจแนะนำว่า ควรกล่าวโทษร้องทุกข์เพื่อหาคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย แต่ตนเห็นว่าไม่ควรจะแก้ไขปัญหาเป็นรายกรณีแบบนี้ แต่เป็นปัญหาในเชิงระบบ อย่างน้อยให้สารเคมีอันตรายหมดไปจากอาหารที่เรากินบ้าง ควรสร้างทางเลือกให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วม สร้างปฏิบัติการเพื่อแจ้งเตือนอย่างรวดเร็วแก่ผู้บริโภค

นางสาวกิ่งกรระบุว่า ตนรู้สึกผิดหวังกับท่าทีของหัวหน้าหน่วยงานราชการที่กล่าวหา Thai-PAN ว่าตรวจผักผลไม้ตามเทศกาลเพื่อสร้างกระแสหวังรับเงินจากต่างชาติ แต่คงไม่ฟ้องร้องหมิ่นประมาทใดๆ กลับ เพราะคิดว่าไม่เป็นประโยชน์กับใคร แต่เลือกวิธีการฟ้องศาลปกครองให้สามารถนำสืบเพื่อหาช่องโหว่และความไร้ประสิทธิภาพของระบบว่าอยู่ที่ตรงไหน จะเป็นประโยชน์มากกว่า โดยคาดว่าจะสามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองภายในเดือนพฤษภาคม 2559 นี้