ThaiPublica > เกาะกระแส > TMB – SME Sentiment Index ชี้เอสเอ็มอีเชื่อมั่นมากขึ้น 2 ไตรมาสติด – แต่มอง 3 เดือนข้างหน้ายังกังวลเรื่องรายได้

TMB – SME Sentiment Index ชี้เอสเอ็มอีเชื่อมั่นมากขึ้น 2 ไตรมาสติด – แต่มอง 3 เดือนข้างหน้ายังกังวลเรื่องรายได้

4 พฤษภาคม 2016


ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และหัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics
ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และหัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และหัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เผยผลสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี” (TMB-SME Sentiment Index) ไตรมาส 1/2559 จากความเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 1,272 กิจการทั่วประเทศ ว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในไตรมาสแรกของปี 2559 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 42.1 โดยเพิ่มขึ้น 2 ไตรมาสติดต่อกันในรอบ 4 ปีจาก 34.2 และ 40.5 ในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปี 2558 ตามลำดับ

โดยเป็นผลจากความมั่นใจทางด้านรายได้ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เริ่มประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 ปี 2558 ต่อเนื่องจนถึงเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งช่วยเพิ่มกำลังซื้อและเม็ดเงินหมุนเวียนของเศรษฐกิจภายในประเทศ จนสะท้อนออกมาเป็นความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น เช่น มาตรการกระตุ้นการบริโภคช่วงเทศกาลและการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจท้องถิ่น รวมถึงความชัดเจนและต่อเนื่องในมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันและสภาพคล่องของธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งครอบคลุมในหลากหลายกลุ่มธุรกิจและพื้นที่

อย่างไรก็ตาม หากดูความเชื่อมั่นอีก 3 เดือนข้างหน้าหรือช่วงไตรมาส 2 ของปี 2559 กลับปรับลดลงหลังจาก 56.9 เป็น 54.7 โดยเฉพาะความเชื่อมั่นทางด้านรายได้ที่ปรับลดลงจาก 66.4 เป็น 61.8 แสดงให้เห็นความกังวลของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถึงภาวะเศรษฐกิจในอนาคต เนื่องจากขาดปัจจัยหนุนที่ชัดเจน

TMB SME Index q1_2016_2

TMB SME Index q1_2016_1

TMB SME Index q1_2016_3

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่สร้างความกังวลแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในไตรมาสแรกของปี 2559 คือ “ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและกำลังซื้อชะลอตัว” ที่ 57.4% ของผลสำรวจ แต่ถือว่าปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 63.9% และ 60.9% ในไตมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2558 ซึ่งต่ำกว่า 60% เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส

เมื่อพิจารณาความกังวลดังกล่าวเป็นรายภาค พบว่า ผู้ประกอบการจากภาคใต้กังวลปัจจัยภาวะเศรษฐกิจในประเทศและกำลังซื้อสูงที่สุด คิดเป็น 70.0% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา 5% เนื่องจากเครื่องยนต์หลักสำคัญทั้งยางพารา ปาล์ม และสินค้าประมง มีปัญหาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการท่องเที่ยวของภาคใต้ยังไปได้ดี แต่มีผลดีเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางกังวลสูงเป็นอันดับ 2 และ 3 คิดเป็น 59.1% และ 58.5% ตามลำดับ แต่ลดลงจาก 64.8% และ 60.7% ในไตรมาสก่อนหน้าตามลำดับ ขณะที่กรุงเทพมหานครมีความกังวล 53.8% ลดลงมากที่สุดจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 63.6% ซึ่งสะท้อนว่ามาตรการหลายอย่างส่งผลไปยังเมืองใหญ่มากกว่า

โดยสาเหตุหลักของความกังวลดังกล่าวในภูมิภาคมาจากปัญหาภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งส่งผลต่อรายได้และกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะราคาข้าวมันสำปะหลังและยางพารา ซึ่งเดิมคาดว่าภัยแล้งจะสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคมและกระทบเศรษฐกิจประมาณ 84,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าจะนานออกไปถึงมิถุนายนหรือมากกว่า และอาจจะกระทบเศรษฐกิจสูงถึง 100,000 ล้านบาท หรือประมาณ 1% ของจีดีพี

นอกจากความกังวลด้านเศรษฐกิจในประเทศและกำลังซื้อแล้ว ในไตรมาสนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังกังวลด้านการบริหารจัดการธุรกิจและเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้นจาก 14.6% เป็น 14.8% เช่นเดียวกับความกังวลด้านภัยธรรมชาติและภัยแล้งโดยตรงที่เพิ่มขึ้นจาก 7.3% เป็น 8.3%

สำหรับคำถามว่า หากเศรษฐกิจไตรมาส 2 ของปี 2559 ออกมาแย่กว่าที่คาดจนอาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจช่วงท้ายปี ดร.เบญจรงค์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการเบิกจ่ายของรัฐและโครงการภาครัฐ (เมกะโปรเจกต์), การลงทุนภาคเอกชน และภาวะภัยแล้งที่ควรหมดภายในเดือนมิถุนายน ซึ่งภาครัฐในส่วนของการเบิกจ่ายถือว่าทำได้ดีแล้ว แต่โครงการภาครัฐยังเห็นไม่ชัดเจนนัก ซึ่งเดิมถูกคาดว่าจะออกมาในช่วงท้ายปีอยู่แล้ว ดังนั้น หากมีสัญญาณว่าจะล่าช้าไปมากกว่านั้น อาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจช่วงท้ายปีได้

“ต้องบอกว่ามาตรการที่ภาครัฐออกมามีส่วนช่วยเศรษฐกิจมาก แต่ปัจจัยลบของเศรษฐกิจมีมากกว่าค่อนข้างมาก ทั้งภัยแล้ง ส่งออก เศรษฐกิจต่างประเทศ ดังนั้น แทนที่มาตรการที่ออกมาจะเป็นลักษณะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นไป กลายเป็นมาตรการที่มาพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำลงไปแทน ซึ่งในไตรมาส 2 ยังไม่เห็นปัจจัยบวกที่มากพอจะรับมือกับความเสี่ยงได้ สะท้อนออกมาจากความเชื่อมั่นในอนาคตที่ลดลง ภาครัฐจึงน่าจะมีมาตรการเพิ่มเติมช่วยเศรษฐกิจอีก แต่จะเป็นอะไรนั้นต้องดูว่าทางภาครัฐได้มีอะไรอยู่ในใจแล้วหรือไม่ เนื่องจากพื้นที่นโยบายการคลังก็ยังมีค่อนข้างมาก แต่ตอนนี้ถ้าปล่อยเฉยๆ ไตรมาสที่ 2 ก็อาจจะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ก็ได้” ดร.เบญจรงค์กล่าว

TMB-SME Sentiment Index 1Q2016

info-Graphic_tmb_analytic_800x800_3may2016