ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > Thailand SDGs Forum #1 (1) : ไทยสอบตก “ความยั่งยืน” ถ้ารัฐยังไม่ปรับวิธีคิด – โครงสร้าง อีก 15 ปีเราจะสอบตกอีก

Thailand SDGs Forum #1 (1) : ไทยสอบตก “ความยั่งยืน” ถ้ารัฐยังไม่ปรับวิธีคิด – โครงสร้าง อีก 15 ปีเราจะสอบตกอีก

2 พฤษภาคม 2016


ดร.ปัทมาวดี 2 SDGs1

SDG_logoresize

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ในงานเสวนาระดมสมอง Thailand SDGs Forum #1 Thailand SDGs Roundtable: Global Transformation to Local Drive ซึ่งมูลนิธิมั่นพัฒนาและสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าร่วมกันจัดขึ้น ที่ห้องกมลพร 2-3 โรงแรม เดอะ สุโกศล เพื่อหาคำตอบร่วมกันในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

นับจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา นี่เป็นครั้งแรกของการจัดเวทีสาธารณะเพื่อตอบโจทย์ “สถานการณ์ความยั่งยืนของไทยภายใต้กรอบ SDGs” และ “อนาคต การปรับตัว การใช้ประโยชน์ที่นำไปสู่หนทางในการสร้างความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง” ซึ่งจะถูกพัฒนาเป็นข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอนาคต โดยมีองค์กรภาครัฐ ธุรกิจ และภาคประชาสังคม กว่า 32 องค์กร มาร่วมระดมสมองเพื่อตั้งต้นในการหาคำตอบการขับเคลื่อนอย่างยั่งยืนของประเทศไทยร่วมกันภายใต้ SDGs

ทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้บริหารด้านความยั่งยืนขององค์กรเข้าร่วมงานกว่า 60 คน อาทิ รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นางสาวกาญจนา ภัทรโชค รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ รศ. ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร กรรมการสถาบันมั่นพัฒนา ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย นายนำพล ลิ้มประเสริฐ ผู้จัดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ศูนย์พัฒนาความเป็นเลิศและความยั่งยืน เอสซีจี นายวสันต์ ชวลิตวรกุล หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา PwC ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร ผู้แทน Global Compact Network Thailand ฯลฯ

ในวงเสวนาระดมสมอง มีชุดข้อมูลหลายเรื่องด้านความยั่งยืนของไทยที่เราอาจไม่เคยรู้ มีความเคลื่อนไหวหลายอย่างที่ไม่เคยปรากฏผ่านสื่อ มีคำถามหลายเรื่องที่ถูกเปิดประเด็น  

และนี่คือบางส่วนที่ไทยพับลิก้ารวบรวมมารายงาน

ไทยสอบตก พัฒนาคน การศึกษา

รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล  รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หนึ่งในคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนภารกิจ SDGs ของประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีเวทีเรื่อง SDGs 3 เวที เวทีที่หนึ่งคือเวทีของภาครัฐ เวทีที่สองคือเวทีสาธารณะที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้ และเวทีที่สามคิดว่าน่าจะมีมีเวทีวิชาการ ดิฉันคิดว่าจะเป็นนิมิตหมายอันดีถ้าเราเชื่อม 3 เวทีนี้ได้ น่าจะทำให้การขับเคลื่อน SDGs รอบต่อไปน่าจะเป็นมรรคเป็นผล

โดยส่วนตัว เมื่อเริ่มต้นได้ยินคำว่า SDGs ที่จะมาต่อจาก MDGs (Millennium Development Goals) ก็คิดว่านี่คือวาทกรรมอีกหรือเปล่า รัฐทำอะไรอยู่เราก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง แล้วเราจะทำอะไรเราก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่คิดว่าครั้งนี้เราน่าจะมุ่งมั่นกันอย่างจริงจังในหลายภาคส่วน

สำหรับภาพรวมเกี่ยวกับเรื่องนี้ประเทศไทยทำอะไรอยู่บ้าง จะสรุปให้เห็นภาพว่า ก่อนหน้านี้ทุกท่านคงรู้จัก MDGs ในปี 2000-2015 ซึ่งจบไปเมื่อปีที่แล้ว ไม่ทราบว่าใครทราบแค่ไหนว่าประเทศไทยทำอะไรและผลลัพธ์คืออะไร ไม่มีใครรู้เลย จนกระทั่งจะมี SDGs

ปรากฏว่าน่าสนใจมากว่า MDGs มี 7 ข้อ แต่มี 2 ข้อที่เราสอบตก ไม่ทราบว่าเดาได้หรือไม่  ถ้าประเทศไทยจะสอบตกในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน น่าจะตกประเด็นไหน ก็คือประเด็นการพัฒนาคน การศึกษา ตกเลย มันเป็นเรื่องที่สะท้อนและน่าสนใจว่า MDGs จบ ประเทศไทยเรื่องการพัฒนาคน เรื่องการศึกษาตก แต่ว่าในการเริ่ม SDGs ก็มีการบอกว่า MDGs ของเก่า น่าจะทำต่อได้

ต่อจาก MDGs ทุกท่านคงทราบดีว่า UN Summit for the adoption of the post-2015 development agenda ก็จะเซ็ต SDGs ในปี 2016-2030  15 ปี  แล้วประเทศไทยเข้ามามีบทบาทโดดเด่นอยู่ตรงไหน อยู่ที่ว่าในปีที่เริ่มต้นนี้ประเทศไทยเป็นประธานกลุ่ม G77 ที่เป็นตรงนี้ได้ ส่วนหนึ่งเพราะเรามีเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีความสำเร็จเป็นรูปธรรม

ดร.ปัทมาวดี SDGs1
รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ฉายภาพสถานการณ์ในไทยหลัง SDGs

3 อนุกรรมการ 17 เรื่อง เคลื่อน SDGs

ปัจจุบันประเทศไทยเองมีเรื่องการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการเรื่อง SDGs ประเทศไทย โดยมี อนุกรรมการ 3 ชุด ภายใต้การกำกับดูแลและประสานงานของสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ชุดแรกที่เป็นเป้าหมายเรื่อง SDGs คือ อนุกรรมการขับเคลื่อนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นผู้ดูแล ชุดที่สองเป็นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง    ชื่อว่าคณะอนุกรรมการส่งเสริมทำความเข้าใจและประเมินผลการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีอาจารย์จุรี วิจิตรวาทการ เป็นประธาน และชุดที่สาม คือ อนุกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน

ดังนั้น เราจะมีอนุกรรมการทำงาน 3 ชุด ประเด็นก็คือ 3 ชุดนี้จะทำงานอย่างไร ชุดที่เป็นหัวเรื่องหลักก็คือชุดแรก ในชุดนี้ก็กำหนดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก 17 เรื่อง ใน 17 เรื่องก็มีกระทรวงหลักที่รับผิดชอบและมีหน่วยงานที่ทำงานเสริม

ชุดแรกนี้ นอกจากกำหนดในงานที่รับผิดชอบแล้ว ก็ยังมีการกำหนดว่าต้องทำโรดแมปเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน สิ่งที่สำคัญก็คือจะเชื่อมโยงทั้ง 3 ชุดนี้อย่างไร ล่าสุดได้มีการประชุมไปเมื่อไม่นานมานี้ ในเรื่องการทำงานเชื่อมโยงว่าวางแผนกันอย่างไร นอกจากนี้ ยังมีเวทีวิชาการที่จะเข้ามาเสริมการทำงานทั้ง 3 ชุด

“การมีเรื่องข้อมูลเข้ามา แสดงให้เห็นว่าต่อไปนี้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง การขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs จะต้องนำข้อมูลมาเป็นตัวตั้งในการทำงานด้วย แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ เมื่อ SDGs เป็นแบบนี้ จริงๆ แล้วประเทศไทยอีกส่วนหนึ่งเราทำอะไรอยู่ เราเริ่มต้นว่าเรามียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 2560-2579 แล้วก็มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 มีคณะอนุกรรมการที่ขับเคลื่อนแผน 12”

SDFramework_Patresize

THADelFramePat3resized
ที่มา: เอกสารประกอบการบรรยาย Thailand SDGs Forum #1 โดย รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล

ตอนที่เราคุย SDGs โจทย์ใหญ่ก็คือ SDGs จะลอยอยู่เป็นภาระเพิ่มเติมของหน่วยงานภาครัฐ หรือ SDGs จะเข้ามา built-in อยู่ในระบบการทำงานภาครัฐอย่างน้อย อย่างไร ซึ่งทำให้พอเรามีการขับเคลื่อนแผน 12 อยู่ด้วย  สิ่งที่มันน่าจะทำงานและอาจจะเป็นเป้าหมายหนึ่งในการทำงานคือ  แผน 12 ซึ่งเป็นระยะ 5 ปี น่าจะเป็น starting point อย่างไร ที่จะสอดคล้องกับตัว SDGs

ชี้ ตั้งเป้าในการพัฒนา อย่าตั้งเป้าในสิ่งที่จะทำได้อยู่แล้ว

ลักษณะการทำงานอันหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เวลาให้ขยับเรื่องนี้ ก็กลายเป็นว่าหน่วยงานภาครัฐจับเป้าหมาย SDGs คือการทำงาน SDGs มีเป้าหมายลอยมาเลย 17 เรื่อง แต่ละเรื่องมีเป้าหมาย ตัวชี้วัดนั้นคืออะไร เสร็จแล้วก็ให้หน่วยงานมาสำรวจสถานะ แล้วก็เอาตัวข้อมูลมาเป็นตัวยืนยันว่าสถานะและตัวข้อมูลเป็นอย่างไร เราก็จะเห็นช่องว่าง พอวิเคราะห์ช่องว่างได้ เราก็จะเอามาตรการต่างๆ ใส่เข้าไป ซึ่งอันนี้ก็จะมีทีมวิชาการเข้ามาช่วยเสริม

มองมุมกลับกัน ตัว SDGs ที่มาด้วยตัวเป้าหมาย แล้วเรามาสำรวจสถานะ แล้วรอดูว่าเราจะรับหรือไม่รับเป้าหมายอะไรมันมีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน คือ ถ้าหน่วยงานภาครัฐเข้ามาแล้วมองภารกิจตัวเองในระยะสั้น เขาก็จะคิดว่าเป้าหมายนั้นรับได้หรือรับไม่ได้

สิ่งหนึ่งที่ต้องพยายามท้วงติงกันก็คือว่า เป้าหมาย SDGs เป็นเป้าหมายระยะยาว หน่วยงานถ้าจะมอง ก็อาจจะบอกได้ว่าระยะสั้นคืออะไร ทำได้แค่ไหน แต่ยังไม่ควรจะรีบลบเป้าหมายอื่นๆ ทิ้งไป เพราะไม่อย่างนั้นเราก็จะทำงานภายใต้สถานะที่เราทำได้

 เราน่าจะใช้ SDGs ที่ตั้งเป้าเลิศๆ นี้เป็นความท้าทาย คิดว่าจะต้องปรับวิธีทำงาน ตัวสำคัญที่สุดคือการปรับวิธีทำงานของภาครัฐเหมือนกัน ถ้าคิดว่าเรื่องนี้เราจะทำกันจริงจัง ถ้าไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องวาทกรรมเหมือนที่ผ่านมา  คำถามก็คือ จะทำให้ทุกฝ่ายรู้ว่าอันนี้เป็นโอกาส ในมุมวิชาการเราคิดว่านี่คือโอกาสที่จะเปลี่ยนประเทศไทยได้จากมุมที่เป็น SDGs คือเป็นพื้นฐานที่เราต้องมี แล้วเรายังไม่มี

รัฐธรรมนูญ ความยั่งยืน และสิทธิประชาชน

การขับเคลื่อนเวทีภาครัฐก็เข้าใจได้ว่ามีข้อจำกัดอะไรต่างๆ เรื่องบประมาณ เรื่องการทำ KPI ของหน่วยงาน ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะสอดคล้องกับ SDGs แค่ไหน แต่ถ้าเรามีภาควิชาการ มีภาคสาธารณะ เข้ามาช่วยเสริมการทำงาน ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่เราจะขยับเรื่องการพัฒนาประเทศไทยในทิศทางที่เราอยากเห็น

อย่างไรก็ตาม  ประเทศไทยมียุทธศาสตร์พวกนี้เรียบร้อย แต่ตัวรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าจะเป็นตัวปรัชญาหลักในการทำงานของเรา เรื่องสิทธิประชาชน การเข้าถึงสิ่งที่ควรได้รับความจำเป็นพื้นฐาน เรากลับยังไม่ชัดว่าเราจะเอาอะไร อย่างไร ในภาควิชาการ คนที่สนใจการเมือง หรือภาคเอ็นจีโอ ดิฉันคิดว่าเขากำลังสนใจเรื่องนี้ เรื่องสิทธิต่างๆ ที่ประชาชนจะได้รับ แต่ยังคิดว่าภาควิชาการอาจจะต้องให้ความสนใจตรงนี้เหมือนกันว่า กรอบเรื่องรัฐธรรมนูญหน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร

ญี่ปุ่นนั้น รัฐธรรมนูญเขียนเค้าโครงด้วยประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วเขาก็ใช้กันมาตลอดไม่เคยเปลี่ยน ประเทศไทยเปลี่ยนตลอด แต่เปลี่ยนด้วยหลักการ ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง ซึ่งทำให้น่าเสียดายว่า ทิศทางประเทศไทย แทนที่จะถูกกำกับด้วยรัฐธรรมนูญ   มันไม่นิ่ง ก็เลยไม่แน่ใจว่าประเทศไทยจะเอาอะไรมาเป็นบทกำกับ  แต่ถามว่า SDGs อยู่กับเรา 15 ปี ถ้าเราใช้โอกาสตรงนี้ คิดว่านี่คือเรื่องสำคัญ

เริ่มต้นจากตรงไหนก็ได้ แค่ต้องเริ่มและมีทิศทางเดียวกัน

อยากจะฝากประเด็นว่า ในสังคมเรา เวลาต้องเปลี่ยน มันต้องการทั้ง 3 องค์ประกอบ คือ ค่านิยม พฤติกรรม และระบบ  SDGs มันลอยมาด้วยเป้าหมาย และไม่รู้ว่าคนไทยเข้าใจลึกซึ้งกับมันแค่ไหน เวลาเราทำงานในระบบหน่วยงานภาครัฐเราก็ไปทำงานเชิงระบบ ประเทศไทยเรารู้ว่า ทำอะไรตามใจคือไทยแท้ กลายเป็นว่าระบบก็เอาไม่อยู่ จึงต้องขับเคลื่อนด้วย สร้างค่านิยมอะไรบางอย่างขึ้นมาด้วย

เช่นเดียวกับเรื่อง SDGs เป็นเรื่องของเชิงระบบ เป้าหมายว่าจะทำอะไร แต่ว่าเศรษฐกิจพอเพียงมีเรื่องปรัชญา มีหลักคิดเรื่องการสร้างค่านิยม มีเรื่องของกระบวนการที่จะทำ นี่เป็นโอกาสอันดีที่เราสามารถใส่ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีมากกว่าแค่ระบบ คิดว่า SDGs เป็นเรื่องของเชิงระบบ เป้าหมายว่าจะทำอะไร แต่ว่าเศรษฐกิจพอเพียงมันมีเรื่องปรัชญา มีหลักคิดเรื่องการสร้างค่านิยม มีเรื่องของกระบวนการที่จะทำ

ฉะนั้น ถ้าเราใช้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาหนุนเสริม แต่เศรษฐกิจพอเพียงเองก็ต้องมานั่งวิเคราะห์ตัวเองว่า เรามีข้อจำกัดอะไรมากน้อยแค่ไหน นี่เป็นโอกาสอันดีที่มันจะทำให้ค่านิยมและพฤติกรรมผสมผสานกับระบบที่เรากำลังจะเซ็ตขึ้นมาใหม่ เราจะเริ่มจากตรงไหน ดิฉันคิดว่าเริ่มตรงไหนได้ก็ต้องเริ่ม ก็ต้องทำ ที่สำคัญที่สุด คือทำให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

เศรษฐกิจพอเพียงในธุรกิจ ยกระดับมาตรฐาน แก้โจทย์พัฒนาคน

รศ. ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร  กรรมการสถาบันมั่นพัฒนา มูลนิธิมั่นพัฒนา
รศ. ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร กรรมการสถาบันมั่นพัฒนา มูลนิธิมั่นพัฒนา

ด้าน รศ. ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร กรรมการสถาบันมั่นพัฒนา มูลนิธิมั่นพัฒนา กล่าวว่า  ผมค่อนข้างตกใจที่เมืองไทยสอบตก MDGs เรื่อง human development ล่าสุดได้อ่านวารสารที่เป็นเรื่อง human development international ซึ่งเขาเชิญกูรูทางด้านนี้ของโลก 5 คน มาคุยกันว่าการพัฒนาคน การศึกษาวิจัยในอนาคตในอีก 25 ปีข้างหน้า เราควรจะต้องไปในแนวทางไหนบ้าง แล้ว 5 คนนี้เป็นฝรั่งหมดเลย เขาเขียนว่า Sufficiency Economy แต่ประเทศไทยสอบตก ผมกลุ้มใจเลย จึงอยากเรียนว่า Sufficiency Economy ไม่ใช่อะไรที่เมืองไทยสนใจกันอย่างเดียวแล้ว แต่มันไปสู่สังคมระดับนานาชาติแล้ว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวพระราชดำริมาตั้งแต่ปี 2516  สภาพัฒน์ฯ ได้รับพระราชทานมาตั้งแต่ปี 2542 ต่อมา 2546 ทางสภาพัฒน์ฯ มีคณะอนุกรรมการตั้งขึ้นมาขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยเฉพาะ

เป็นเวลา 13 ปีแล้ว ที่เราทำงานวิจัยเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจ สิ่งที่เราพบจากงานวิจัยทั้งหมดก็คือ องค์กรธุรกิจแบบเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าดูคร่าวๆ สอดคล้องกับ SDGs ทั้ง 17 เรื่อง และที่สำคัญคือว่า ให้ผลการดำเนินงานที่แข่งขันได้ สามารถฝ่าวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม

เมื่อมีคนพูดถึงเรื่องนวัตกรรมธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากเอาคนเป็นตัวตั้ง เพราะฉะนั้น จะสามารถรักษาสถานะความเป็นผู้นำในตลาดของตนได้ตลอดเวลา อีกอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญมากในเรื่องของความยั่งยืนก็คือ วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งปัจจุบันเราคาดการณ์ไม่ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ในการศึกษาพบว่า ธุรกิจเหล่านี้มีความสามารถที่จะฝ่าฟันวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมได้ด้วย

และอันสุดท้ายก็คือ “สามารถสร้างประโยชน์สุข” เป้าหมายสุดท้ายของ SDGs การพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งหมดก็คือคนรุ่นต่อไป (future generation) ต้องมีอยู่ได้อย่างมีความสุข ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของการสร้างประโยชน์สุขที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นมาตลอด

ฉะนั้น องค์กรธุรกิจตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแข่งขันได้ และไม่ใช่ว่าใช้แล้วจนนะ ธุรกิจจากการศึกษาของผมอันหนึ่ง เป็นธุรกิจที่ทำให้กับทางสภาพัฒน์ฯ ก็คือ เป็นชาวเขา ไม่เคยเรียนหนังสือเลย เป็นบ้านอนุรักษ์กระดาษสา แต่ปัจจุบันสินค้าของเขา 80% ส่งออกทั่วโลก  จากคนที่จนที่สุดในหมู่บ้าน ตอนนี้สามีเป็นผู้ใหญ่บ้านแล้ว

เพราะฉะนั้นผมถึงอยากพูดให้ชัด การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเป็น long term economic growth ที่เราหวัง เราไม่ได้หวังที่จะ short term เท่านั้น  ฉะนั้น ต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ชัดเจน

ปัจจุบันนอกจากแนวทางปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยังมีการพัฒนาตัวชี้วัดและมาตรฐานธุรกิจตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ซึ่งทางบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้นำไปใช้ในการสร้างมาตรฐานธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้จัดทำ มอก. 9999 และมีความพยายามยกระดับให้เป็นมาตรฐานระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นความพยายามในการใช้เศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาประเทศ และในวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 นี้ เป็นอีกความก้าวหน้าในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในภาคธุรกิจของประเทศ โดยมูลนิธิมั่นพัฒนาจะมีการเปิดตัวหนังสือชื่อ “Sufficiency Thinking” เป็นหนังสือที่มีบรรณาธิการเป็นชาวต่างประเทศและมีชื่อเสียงในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคธุรกิจ ที่ได้มาศึกษาภาคส่วนต่างๆ เช่น ภาคธุรกิจ ภาคชุมชน ภาคสังคม ภาคเกษตร ฯลฯ หรือแม้แต่ในเรือนจำว่าเอาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้พัฒนาคน แล้วก็คืนคนดีให้กับสังคม ให้กับประเทศชาติ ทำได้อย่างไร นี่จะเป็นหนังสือ textbook เล่มแรก ที่เอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ แล้วเชื่อมโยงกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย

เราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า “เราทำเรื่องนี้ไปทำไม”

ดร.ณรรต ปิ่นน้อย นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม อดีตผู้เชี่ยวชาญธนาคารโลก  กล่าวว่า ตัวชี้วัด MDGs (Millennium Development Goals) เริ่มปี 2000 หรือในปี 2543 ถามว่าใครเป็นนายกรัฐมนตรี ก็คือท่านนายกฯ ชวน หลีกภัย ถามว่า 2015 ซึ่งเป็นวันที่ MDGs จบ แล้วเราสอบตก 2 เรื่อง ใครเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ถามว่าคนที่ไปเซ็นเอาไว้ต้องรับผิดชอบอะไรหรือไม่

ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะว่า SDGs หรือ MDGs ที่ผ่านมาเหมือนกับว่าจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ถ้าทำตัวเองก็ได้ประโยชน์ ถ้าไม่ทำก็ไม่มีใครมาว่าอะไรเราได้ ถึงแม้เราจะสอบตก 2 เรื่องก็ไม่มีใครพูดอะไร ในประชาคมโลกก็ไม่มีใครมาประณามประเทศไทยว่า เราสอบตก 2 เรื่อง ซึ่งผมขอเดาว่าในอีก 15 ปีข้างหน้าก็เหมือนกัน

คำถามจึงย้อนกลับมาอยู่ที่ว่าเราจะทำไปทำไมมากกว่า ผมได้ยินในเรื่องว่าเราทำอะไรนั้นเยอะ เราเป็นส่วนหนึ่งของตรงนั้น ไปร่วมกับตรงนี้ แต่ประเด็นที่ผมยังรอฟังอยู่และยังไม่ได้ยินคือ เราทำไปทำไม

ดร.ณรรตSDGs1
ดร.ณรรต ปิ่นน้อย ให้ความเห็นในวงเสวนาระดมสมอง

เช่น ซีพีออลล์ทำ ทำเพื่ออะไร เอา SDGs เข้ามา map กับธุรกิจ หรือ SCG เอาไป map กับธุรกิจตัวเอง ถามว่าทำไปเพื่ออะไร ถ้าทำไปแล้วผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นไม่สูงขึ้น ถามว่าเขาจะทำหรือไม่

คำถามต่อมาก็คือ ถ้าทำแล้วดีขึ้น ซึ่งมีงานวิจัยในสหรัฐฯ ที่เขาสำรวจสมาชิก Dow Jones Sustainability  Index (DJSI) ว่าในระยะยาว performance หรือ stock price ของเขาดีกว่าคนอื่น ซึ่งคำตอบก็ออกมาว่าคือดีกว่าคนอื่น

นี่ก็เป็นสาเหตุว่าทำไมหลายบริษัทพยายามที่จะเข้าไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งของ DJSI ก็เพราะจะถูกมองว่าเป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาลดี ทำงานเพื่อความยั่งยืน ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครทำประโยชน์เพื่อคนอื่นโดยที่ตัวเองไม่ได้อะไร ซึ่งเป็นหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น คือ ไม่มีใครทำอะไรเพื่อคนอื่นได้ตลอด

หน้าที่ของรัฐคือการสร้างสภาพแวดล้อมที่สร้างความเสมอภาค

ประเด็นก็คือว่า เรามีบริษัทที่เข้า DJSI ประมาณ 13 บริษัท แต่บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และบริษัทเล็กๆ อีกจำนวนมาก ทำไมเขาถึงไม่พยายามเข้ามาในส่วนนี้ เพราะอะไร

ฉะนั้น ถามว่าหน้าที่ของรัฐ บทบาทของรัฐคืออะไร หากการทำงานเพื่อความยั่งยืนเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ถ้าทุกคนทำเพื่อความดี ทำเพื่อความยั่งยืนอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องมีกลไกอะไรมาตรวจวัดว่าเราทำอะไรไปถึงไหนแล้ว

ประเด็นก็คือว่า ทำไมเราถึงไม่ทำในสิ่งที่ควรจะทำ คนที่ทำดีบริษัทก็ได้ประโยชน์ แต่คนที่ไม่ได้ทำดี ยังมีปัญหาอยู่ เขาได้อะไรหรือเขาเสียอะไร เพราะถ้าอย่างนั้นก็กลายเป็นว่า คนที่ทำดี มีศักยภาพที่จะทำดีได้ ก็มีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าสนามมันไม่เรียบ ให้ประโยชน์กับคนที่มีขนาดใหญ่มากกว่า

ฉะนั้น บทบาทของภาครัฐคืออะไร บทบาทของภาครัฐจะต้องทำทุกอย่างหรือเปล่า ผมคิดว่าอาจจะไม่ใช่ บทบาทของภาครัฐน่าจะเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่สร้างความเสมอภาคให้กับทุกกลุ่มในสังคม ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทขนาดเล็ก ก็ควรจะได้รับประโยชน์คล้ายๆ กัน

พร้อมกันนี้ ควรจะมีแรงจูงใจให้เขาทำดี หรือมีแรงจูงใจให้เขาทำดีมากขึ้นกว่าเดิม ทำความไม่ดีน้อยลง คือ ถ้าเราทำความดีแล้วไม่ได้ประโยชน์อะไร ก็คงมีคนทำน้อย แต่ถ้าทำไม่ดีแล้วได้ประโยชน์เยอะ ก็จะมีคนทำไม่ดีเยอะ และไปไล่จับไม่ได้

ผมว่านี่คือปัจจัยสำคัญ ที่หลายคนพูดถึงว่าประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนยุทธศาสตร์หรือแผนแม่บทต่างๆ แต่ว่าเราขาดแคลนการนำแผนเหล่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแผนที่มองเกินกว่าฟังก์ชั่น

หลายๆ ฟังก์ชั่นจะอยู่ในแผนเดียวกันเ เช่น แผนพัฒนาฉบับ 12 จะมีทุกเรื่องอยู่ในนั้นหมด แต่ถามว่าพอถึงขั้นของการเอาแผนเหล่านี้ลงไปในหลักปฏิบัติ ระบบราชการที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ไม่ได้เอื้ออำนวยให้การเอาแผนที่เป็น cross function มาทำงานในที่พื้นเดียวกัน

เช่น ผมถามว่าผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจทำอะไรได้บ้าง มีลูกน้องกี่คน มีปลัดจังหวัด อาจจะมีคนขับรถอีกคนหนึ่ง นั่นคือลูกน้องผู้ว่าฯ แต่เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล อุตสาหกรรมจังหวัด ฯลฯ ขึ้นอยู่กับกระทรวงทั้งสิ้น ดังนั้น ผู้ว่าก็เป็นนักประสาน แต่จะประสานสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับนโยบายแต่ละกระทรวง ซึ่งนโยบายกระทรวงก็จะเน้นแต่ฟังก์ชั่นของตัวเองเป็นหลัก

ชี้ ต้องแก้ที่โครงสร้าง ไม่อย่างนั้นโอกาสที่เราจะสอบตกอีกเป็นไปได้สูง

ดังนั้น ถ้าเราจะไปสู่ SDGs ในอีก 15 ปีข้างหน้า หลักการบริหารแผ่นดินของเรายังไม่ได้ปรับ โอกาสที่เราจะสอบตกบางส่วนในอีก 15 ปีข้างหน้าก็เป็นไปได้สูง เพราะเรามีบทเรียนมาแล้วในอดีต เพราะเราทำไม่ได้ครบทั้งหมด

อย่างบริษัทเขาจัดการได้ทั้งหมด สามารถจัดการองคาพยพของตัวเองได้ทั้งหมด แต่ข้าราชการจัดการองคาพยพของตัวเองไม่ได้ทั้งหมดแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เนื่องจากโครงสร้างเรายังเป็นแบบเดิม คำถามคือ จะเอาโครงสร้างเดิมนี้มาจับกับปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น จะสำเร็จหรือไม่

ดร.ณรรตกล่าวต่อว่า หากเราตกผลึกแล้วว่าเราจะทำไปทำไม จะไปถึงตรงนั้นได้อย่างไร จะรู้ได้อย่างไรว่าเราไปถึงตรงนั้นแล้ว  เพราะ 160 กว่าเป้าหมายเยอะมาก บางอันก็ไม่ได้อยู่ในบริบทของเมืองไทย

ก็มีการคุยกันว่า หลายอย่างในอดีตที่ประเทศไทยทำแล้วสำเร็จเยอะมากมาจนถึงปัจจุบันคือเรื่องการนำศาสตร์ของพระราชามาประยุกต์ใช้ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการจัดการปัญหาที่ต้นตอ ลดความต้องการให้เหมาะสมกับสิ่งที่มันสามารถจะตอบสนองได้ หลักคือ “ลดความทุกข์” ไม่ได้เพิ่มความสุข ถ้าเกิดเราสามารถมีตัวชี้วัดซึ่ง mapping กับ SDGs โดยที่เอาศาสตร์ของพระราชาเรื่องหลักเศรษฐกิจพอเพียง ผมคิดว่าจะเห็นมิติอีกมิติหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ cross function กัน

ดังนั้น ผมคิดว่าการที่เราจะเดินไปในอนาคต ที่จะมองว่าเราจะไปสำเร็จหรือไม่ในเรื่อง SDGs ในปี 2030 สำคัญที่สุดก็คือ เราต้องตกผลึกว่าเราจะทำไปทำไม ถ้าไม่ทำจะได้หรือเสียอะไร ขณะที่แรงจูงใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หน้าที่ของรัฐไม่ใช่แค่รายงานตัวเลข

หลายเรื่องตัวชี้วัดต่างๆ ถ้าไม่ถูกผนวกเข้าเป็น KPI หรือตัวชี้วัดความสำเร็จของแต่ละหน่วยงาน ก็มีแค่ตัวเลขเฉยๆ และไม่ได้กระทบกับการทำงานใดๆ ทั้งสิ้น ผลลัพธ์ในพื้นที่ก็อาจจะเห็นเลือนราง

ขณะเดียวกัน บางครั้งเราวัดข้อมูลเหล่านี้ในระดับประเทศ เช่น ประเทศไทยผ่านแล้วเรื่องความยากจน ไม่ต้องสนใจแล้ว หรือรายได้เราเกิน 1.25 เหรียญต่อวันแน่นอน แต่ประเด็นคือ ทุกคนหรือเปล่าที่เป็นแบบนั้น  มีกลุ่มเล็กๆ ย่อยๆ ตรงไหนอีกหรือไม่ในสังคมไทยที่ยังไปไม่ถึงค่าเฉลี่ย

ถ้ามองย่อยลงไปในระดับตำบล หมู่บ้าน ก็จะเห็นว่ามีอีกหลายชุมชนมากที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ รายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนมีอีกเยอะ ตัวเลขในระดับประเทศสำคัญ แต่ผมคิดว่าในทางปฏิบัติให้เกิดผลในพื้นที่ ตัวเลขในระดับชุมชน ในระดับครัวเรือน ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

3 เหตุผลหลักกับการมาถึงของ SDGS

กาญจนา ภัทรโชค รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ ออกตัวว่า อยากจะพูดในนามส่วนตัว ไม่ได้มาในนามกระทรวงต่างประเทศ พร้อมกับอธิบายว่า SDGs ทำไปเพื่ออะไร หรือไม่ใช่ว่า MDGs จบไปแล้ว สหประชาชาติถึงต้องมาคิดอะไรใหม่ แต่มันมีบริบทของโลกว่าเกิดอะไรขึ้น ถึงมีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ในรอบ 15 ปี หลังจากกำหนด MDGs พบว่า เรื่องที่ 1 เกิดวิกฤติทางธรรมชาติจำนวนมากทั่วโลก ต่อให้มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไร เมื่อมีภัยธรรมชาติ ได้กวาดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหายไปจนหมดสิ้น

รองกาญจนาSDGs1
กาญจนา ภัทรโชค รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ

เรื่องที่ 2 คือ มีความห่วงกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศหมู่เกาะทั้งหลายว่าประเทศตัวเองจะจมทะเลและสูญหายไปจากภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมาก มีข้อมูลบอกว่าประมาณปี 2040 ในฤดูร้อน น้ำแข็งจะละลายหมดทางขั้วโลกเหนือ สามารถใช้เป็นเส้นทางเดินเรือได้ ฉะนั้น จะเห็นว่าโลกได้รับผลกระทบจากเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก

เรื่องที่ 3 เรื่องความเหลื่อมล้ำ อย่างในส่วน MDGs ประเทศไทยสำเร็จหรือไม่ในการขจัดความยากจน คำตอบคือประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ยังมีคนที่ไม่ได้รับผลประโยชน์นั้น ซึ่งนอกเหนือจากเรื่อง human development จริงๆ มีบางส่วนที่เราทำคะแนนได้ดีเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพอนามัย การเข้าถึงบริการทางการแพทย์

ตัวเลขการศึกษาที่เราตกไปคือ environment ในการเข้าเรียนระดับประถมและมัธยมแต่อันที่ซีเรียสยิ่งกว่าเรื่องการศึกษาคือเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่เราตกอย่างมาก ดูได้จากเรื่องขยะ เป็นต้น  ซึ่งภาคเอกชนก็มีส่วนอยู่เยอะเช่นกันในการร่วมกันรับผิดชอบ

ทั้งนี้ SDGs ยังพูดถึงความสมดุลระหว่างการพิจารณาเศรษฐกิจ สังคม  และสิ่งแวดล้อม ต้องไปด้วยกัน ตอนที่เราเจรจากำหนด SDGs นั้น บางทีเราก็ยังงงว่าทำไมถึงมียังมีคนมาดีเบต (debate) ว่าเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจสามารถที่จะมี Economic Growth แล้วก็ให้รอเรื่องสิ่งแวดล้อมไว้ที่หลัง แต่ SDGs เป็นสิ่งที่ออกมาเพื่อบอกว่า จะต้องคำนึงถึงทั้ง 3 เสา คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

อนาคตการพัฒนาที่ยั่งยืน คำตอบอยู่ที่เราทุกคน

“กาญจนา” ตั้งคำถามว่า ในแง่ SDGs ประเทศไทยควรทำอย่างไร คำตอบคือ อยากจะเน้นว่าเป็นเรื่องความรับผิดชอบของทุกคน ซึ่งเรื่องทัศนคติสำคัญที่สุด เพราะไม่ใช่หน้าที่ของรัฐหรือเอกชน แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องทำ แล้วทัศนคตินี้ไม่ใช่เพื่อแค่ว่าเราทำเพื่อประเทศไทย แต่ทุกอย่างที่เราทำ เพื่อโลก เพื่อคนรุ่นต่อไปจริงๆ

สำหรับในภาคราชการ อยากจะให้มี integration ของการทำงาน ทั้งในเรื่องกฎหมาย ที่สอดสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะได้ปรับแก้หรือจัดให้มีใหม่ มาจนถึงการมี implementation ซึ่งต้องทำให้เกิดความเข้าใจในการทำงาน

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับบทบาทภาคเอกชนขนาดใหญ่ทั้งหลาย ต้องเป็นพี่เลี้ยงให้กับภาคเอกชนที่เล็กๆ เพราะการทำงานเหล่านี้มีต้นทุนทั้งสิ้น

ถัดมาคือต้องสร้างทัศนคติให้เกิดในบรรดาพนักงาน ลูกค้า และต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบต่างๆ อย่างจริงจัง ในการไปลงทุนต่างประเทศต้องโปรโมท Responsible Investment ต้องสร้างเรื่อง Sustainable Consumption ในหมู่ลูกค้าของท่าน ต้องสร้าง Sustainable Production

กต. เตรียมเข็นแนวปฏิบัติ Business & Human Rights

รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศยังเล่าว่า ขณะนี้กระทรวงต่างประเทศมีแนวคิดที่จะทำเรื่อง Business & Human Rights เนื่องจากได้รับข้อร้องเรียนว่ามีบริษัทเอกชนไทย เวลาไปลงทุนในต่างประเทศ ได้ไปละเมิดชุมชนนั้นๆ ซึ่งเราก็มีการหารือกับรัฐบาลและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเพื่อจะทำ code of conduct

สำหรับภาควิชาการ มีบทบาทได้มาก ทั้งมีหน้าที่ศึกษาและสนับสนุนรัฐ ในการทำ evidence-based policy บางทีนโยบายทำไปกระจัดดระจาย ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่แท้จริง ฉะนั้นภาควิชาการจะทำได้เยอะ

ขณะที่สื่อก็ทำได้เยอะเช่นกัน ตั้งแต่ investigate จนกระทั่งเผยแพร่ อีกเรื่องคือการทำให้คนมีความรู้สึกและเข้าใจว่า Sustainable Development สำคัญต่อเขา ต่อลูกหลานของเขา และต่อคนในโลกอย่างไร

รวมทั้งบทบาทเรื่อง community เพราะเรื่องชุมชนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แม้แต่สหประชาชาติ กำลังจะมีการประชุมเรื่องการดำเนินงานด้านมนุษยธรรม เขาทำผลสำรวจและพบว่า การทำในระดับโลกอาจไม่ทันการณ์ สิ่งที่ต้องทำคือต้องทำในระดับชุมชน เพราะชุมชนเป็นผู้ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ เป็นคนแรก

ทั้งนี้เป็นเพราะ Sufficiency Economy ได้สอนเรื่องการสร้างภูมิต้านทานและความเข้มแข็งในชุมชน ดังนั้น ก็อยากให้งาน Sustainable Development ที่จะทำกัน ได้เน้นในเรื่องระดับปัจเจกบุคคล และเน้นเรื่องชุมชนเป็นสำคัญ ซึ่งแม้แต่ภาคธุรกิจก็ทำงานในเรื่องชุมชนได้ด้วย

ติดตามรายละเอียดงานเสวนา Thailand SDGs Forum #1 Thailand SDGs Roundtable: Global Transformation to Local Drive ตอนที่ 2 เพิ่มเติมได้ที่นี่เร็วๆ นี้