ThaiPublica > เกาะกระแส > Thai-PAN เปิดผลตรวจผัก-ผลไม้ ชี้ตรา Q แชมป์สารเคมีตกค้างมากสุด – ผักด๊อกเตอร์เกินค่ามาตรฐานซ้ำซากติดต่อ 3 ปี

Thai-PAN เปิดผลตรวจผัก-ผลไม้ ชี้ตรา Q แชมป์สารเคมีตกค้างมากสุด – ผักด๊อกเตอร์เกินค่ามาตรฐานซ้ำซากติดต่อ 3 ปี

4 พฤษภาคม 2016


นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(ซ้าย)และนางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI)(ขวา)
นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(ซ้าย)และนางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI)(ขวา)

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือ Thai-PAN (ไทยแพน) ได้จัดงานแถลงข่าวผลการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี 2559ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จากการตรวจสอบพบว่ามีสารพิษตกค้างในผักและผลไม้หลายรายการ

โดยสุ่มเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ที่ประชาชนนิยมบริโภค จำนวน 138 ตัวอย่าง ในผัก 10 ชนิด ได้แก่ กะหล่ำปลี แตงกวา ผักบุ้งจีน มะเขือเทศ ผักกาดขาวปลี คะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ กะเพรา และพริกแดง  แตงโม มะม่วงน้ำดอกไม้ มะละกอ แก้วมังกร ฝรั่ง และส้มสายน้ำผึ้ง จำนวน 138 ตัวอย่าง เด็กในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล เชียงใหม่และอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 16-18 มีนาคม 2559 และส่งไปวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างแบบ Multi Residue Pesticide Screen (MRPS) ณ ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025:2005 ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งสามารถวิเคราะห์ หาสารพิษตกค้างได้กว่า 450 ชนิด ซึ่งทาง Thai-PAN ระบุว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีการตรวจหาสารเคมีตกค้างที่ครอบคลุมชนิดสารมากที่สุดที่มีการเปิดเผยต่อประชาชน

นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กล่าวว่า การตรวจผักผลไม้ในปี 2559 นี้ มีการสุ่มเก็บจากแหล่งจำหน่าย 2 ประเภท คือ 1) ห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการเก็บตัวตัวอย่างสินค้าทั้งที่แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q และ Organic Thailand โดยสุ่มเก็บตัวอย่างจากท็อปส์ โฮมเฟรชมาร์ท ฟู้ดแลนด์ เลมอนฟาร์ม และสินค้าที่ไม่มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน ซึ่งมีทั้งสินค้าเฮาส์แบรนด์และสินค้าแบรนด์อื่นๆ สุ่มเก็บตัวอย่างจากบิ๊กซี เทสโก้โลตัส และแม็คโคร 2) ตลาดสดค้าส่ง 4 แห่ง ได้แก่ ตลาดไท จังหวัดปทุมธานี, ตลาดสี่มุมเมือง จังหวัดปทุมธานี, ตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่, และตลาดเจริญศรี จังหวัดอุบลราชธานี

วัตถุอันตรายที่ไม่ควรพบ
วัตถุอันตรายที่ไม่ควรพบ

ตรวจผัก

เนื่องจากในปีนี้เลือกใช้ห้องปฏิบัติการที่มีศักยภาพในการตรวจหาสารตกค้างได้มากขึ้น จึงพบจำนวนสารตกค้างเพิ่มขึ้น จากเดิมตลอดตั้งแต่ปี 2555 ที่เริ่มทำการตรวจสอบ สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพียง 4 กลุ่ม จำนวนประมาณ 100 ชนิด พบชนิดสารตกค้าง 20 ชนิด ปี 2559 พบเพิ่มขึ้นเป็น 66 ชนิด โดยพบวัตถุอันตรายอยู่ในสถานะ “ต้องไม่พบ หรือไม่ควรพบ” 4 ชนิด เนื่องจาก

1) สารเคมีที่ถูกห้ามนำมาใช้ในการเกษตร (วัตถุอันตรายชนิดที่ 4) คือ เอนโดซัลแฟนซัลเฟต ตกค้างในตัวอย่างส้มสายน้ำผึ้งที่แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q
2) เป็นวัตถุอันตรายที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน 2 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน ซึ่งตกค้างในตัวอย่างแตงกวาและพริกแดงที่แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q และในถั่วฝักยาวจากตลาดสี่มุมเมือง และเมโทมิล พบตกค้างในตัวอย่างฝรั่งที่แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q ฝรั่งจากตลาดไท และผักกาดขาวปลีจากบิ๊กซี
3) เป็นวัตถุอันตรายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ 1 ชนิด คือ DEET ซึ่งเป็นสารที่ไม่ใช่สารกำจัดศัตรูพืช เป็นสารเคมีสำหรับกำจัดยุง แต่กลับตกค้างในผักคะน้าตัวอย่างที่เก็บมาจากตลาดเมืองใหม่ นอกจากนี้ ยังพบวัตถุอันตรายที่ต้องสงสัยว่ายังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีก 8 ชนิด

ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีฯ กล่าวต่อไปว่า จากการตรวจสอบในภาพรวม มีสารตกค้างในผักและผลไม้เกินมาตรฐานสูงถึง 46.4% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของตัวอย่างที่ตรวจ โดยข้อมูลที่น่าตระหนกมากไปกว่านั้น พบว่าผักและผลไม้ซึ่งได้รับตรา Q โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พบสารเคมีตกค้างมากที่สุด โดยพบสูงถึง 57.1% นอกเหนือจากนั้น ผักและผลไม้อินทรีย์ที่ได้รับการรับรอง Organic Thailand ซึ่งไม่ควรตรวจพบการตกค้างของสารเคมี กลับพบการตกค้างสูงเกินมาตรฐานถึง 25% ของจำนวนตัวอย่าง และจำนวนตัวอย่างของผักและผลไม้ที่จำหน่ายในโมเดิร์นเทรด ซึ่งผู้บริโภคต้องจ่ายแพงกว่ากลับไม่มีความปลอดภัยมากกว่าตลาดสดโดยทั่วไป เพราะมีจำนวนตัวอย่างการตกค้างเกินมาตรฐานถึง 46% ในขณะที่ตลาดสดมีสัดส่วนมากกว่าเล็กน้อย

ตรวจผัก3

ผักในตลาดสด
ผักในตลาดสด

โดยผักที่พบปริมาณสารพิษตกค้างเกินค่า MRL ได้แก่ พริกแดง 100% ของตัวอย่าง กะเพราและถั่วฝักยาว 66.7% คะน้า 55.6% ผักกาดขาวปลี 33.3% ผักบุ้งจีน 22.2% มะเขือเทศและแตงกวา 11.1% มะเขือเปราะพบสารพิษตกค้างแต่ไม่เกินค่า MRL 66.7% ในขณะที่กะหล่ำปลีไม่พบสารพิษตกค้างเลย 100%

นอกจากนี้ยังพบว่า มีสารกำจัดศัตรูพืชที่ถูกห้ามใช้แล้ว ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน รวม 11 ชนิด (ตรวจสอบจากรายการวัตถุอันตรายที่ได้รับการขึ้นทะเบียน เผยแพร่โดยสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร 4 เมษายน 2559) ตกค้างในผักและผลไม้ที่จำหน่ายในตลาด และมีผู้ประกอบการผักและผลไม้รายใหญ่ที่จัดส่งสินค้าไปยังโมเดิร์นเทรดกระทำความผิดซ้ำซาก ได้แก่ ผักด๊อกเตอร์ตรวจพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ติดต่อกัน 3 ปี ในการจำหน่ายผักและผลไม้ไม่ปลอดภัย และยังไม่พบว่ามีการดำเนินการลงโทษกับบริษัทดังกล่าว

เปอร์เซ็นต์การพบสารพิษตกค้าในตัวอย่างผลไม้ 2559
เปอร์เซ็นต์การพบสารพิษตกค้างในตัวอย่างผลไม้ 2559
เปอร์เซ็นต์การพบสารพิษตกค้าในตัวอย่างผัก 2559
เปอร์เซ็นต์การพบสารพิษตกค้างในตัวอย่างผัก 2559

นางสาวปรกชลระบุว่า สำหรับการสุ่มตรวจผลไม้รวม 6 ชนิด พบว่าส้มสายน้ำผึ้งและฝรั่งมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานทุกตัวอย่างหรือคิดเป็น 100% ที่มีการสุ่มตรวจ รองลงมาเป็นแก้วมังกร มะละกอ มะม่วงน้ำดอกไม้ ซึ่งพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 71.4%, 66.7% และ 44.4% ตามลำดับ ในขณะที่แตงโม จากการตรวจสอบพบว่าทุกตัวอย่างที่มีการตรวจไม่พบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานเลย ผลการตรวจครั้งนี้ของไทยแพนสอดคล้องกับผลการตรวจในครั้งที่แล้ว เช่นเดียวกันกับผลการตรวจสอบของมหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อปี 2557 ที่พบว่าแตงโมเป็นผลไม้ที่ปลอดภัย

“การที่ข้อมูลผลการตรวจวิเคราะห์มีความครอบคลุมมากขึ้นทำให้เราตระหนักว่าปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นปัญหาใหญ่และรุนแรงยิ่งกว่าที่เคยมีการประเมินมาก่อน แต่หากมองในเชิงพัฒนาการที่ Thai-PAN ได้เริ่มเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อย่างใกล้ชิด มีการรณรงค์ขับเคลื่อนให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายร้ายแรง กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง จะเห็นว่าแนวโน้มของปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีแนวโน้มที่ดีขึ้น” นางสาวปรกชลกล่าว

ภาพรวมการตกค้างในแต่ละประเภทแหล่งจำหน่าย
ภาพรวมการตกค้างในแต่ละประเภทแหล่งจำหน่าย

ทั้งนี้ สารเคมีดังกล่าวมีทั้งส่วนที่เป็นสารตกค้างที่สามารถล้างออกได้ และสารดูดซึมซึ่งไม่สามารถล้างออกได้ ซึ่งหากสะสมในร่างกายในปริมาณมากอาจเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาท การผลิตเอนไซม์ และเยื่อบุต่างๆ ในร่างกาย รวมทั้งเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ยากที่จะบริโภคผักผลไม้ที่ปราศจากสารเคมี 100% ดังนั้น นอกจากการล้างผัก ผู้บริโภคจึงควรบริโภคผัก ผลไม้ที่หลากหลาย ไม่รับประทานซ้ำแต่เพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง เพื่อบรรเทาการตกค้างของสารเคมีในร่างกาย

“อีกหนึ่งปัญหาที่กำลังหารือแนวทางแก้ไขกับทางภาครัฐ คือ การออกมารฐาน Q เนื่องจากวันนี้เรามี Q 2 รูปแบบ คือ Q-GAP ที่เป็นมาตรฐาน ณ แปลงเกษตร กับ Q-GMP ที่เป็นมาตรฐาน ณ โรงบรรจุสินค้า ซึ่งสำหรับแบรนด์ผักในห้างค้าปลีกหลายแบรนด์พบว่าเขาได้มาตรฐาน Q-GMP แต่ก็ไม่ทราบว่าผักที่เขารับซื้อนั้นได้มาตฐาน Q-GAP ด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นภาระของผู้บริโภคที่ต้องดูฉลากให้ดีว่าสินค้าที่ซื้อได้มาตรฐาน Q แบบใด” นางสาวปรกชลกล่าว

ด้านนางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกไทยแพน กล่าวว่า ผลการตรวจทั้งหมดของไทยแพนได้นำเสนอต่อห้างค้าปลีก ได้แก่ บิ๊กซี แมคโคร ฟู้ดแลนด์ ท็อปส์ และสมาคมตลาดสดไทย รวมทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มกอช. กรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวมถึงกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) แล้วเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยจากผลการตรวจชี้ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. และกรมวิชาการเกษตร จะต้องเพิ่มความเข้มวงดในการให้ตรารับรอง Q และออร์แกนิกไทยแลนด์อย่างจริงจังโดยทันที เพราะถ้าสภาพปัญหายังพบการตกค้างเช่นนี้ ประชาชนทั่วไปจะขาดความเชื่อถือในตรารับรองดังกล่าว รวมถึงต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องด้วย

“สำหรับด้านผู้ประกอบการนั้น ภายในสัปดาห์หน้าหลังจากที่ห้างค้าปลีกได้รับผลการตรวจอย่างเป็นทางการ ผู้ประกอบการแต่ละรายจะทำจดหมายแจ้งอย่างเป็นทางการว่าได้ดำเนินการลงโทษซัพพลายเออร์และมีมาตรการในการลดปัญหาการตกค้างของสารเคมีอย่างไรมายังไทยแพน โดยในส่วนของสมาคมตลาดสดไทยนั้นจะมีการจัดประชุมเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาร่วมกันอย่างใกล้ชิดในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ ไทยแพนยังได้หารือกับหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย และองค์กรผู้บริโภคเพื่อพิจารณาดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดซ้ำซากเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ประกอบการอื่นๆ ต่อไปด้วย” นางสาวกิ่งกรกล่าว

นางสาวกิ่งกรระบุว่า ในครั้งนี้ แม้จะไม่ใช่การเก็บตัวอย่างที่ให้ผลรวมได้ทั้งประเทศ ยังคงต้องทำการสุ่มตรวจในพื้นที่ศูนย์กระจายสินค้าเพิ่มเติมอีก 1-2 แห่ง แต่ผลในเบื้องต้นก็สามารถช่วยเป็นตัวชี้วัดให้ผู้บริโภค ผู้จำหน่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ได้เห็นภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งในปีนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ได้ทำการสุ่มตรวจผัก ผลไม้เช่นเดียวกัน โดยสุ่มเก็บถึง 900 ตัวอย่าง และได้ผลออกมาในรูปแบบเดียวกับ Thai-PAN คือพบเปอร์เซ็นต์การตกค้างเท่าๆ กัน และมีสารมีที่พบเหมือนๆ กัน

ตรวจผักผลไม้1

“อย่างไรก็ตาม เรายังมีความหวังว่าจะสร้างสังคมไทยที่ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้มากขึ้นกว่านี้ เพราะผลจากการทำงานประสานงานระหว่างไทยแพนกับผู้ประกอบการ และหน่วยงานของรัฐบางหน่วยงาน พบว่าสามารถลดการตกค้างของสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ได้จริง กล่าวคือ หากใช้เกณฑ์การวัดสารตกค้างใน 4 กลุ่มหลักแบบเดิม สามารถลดการตกค้างของสารเคมีได้จาก 48.6%  ในปี 2555 จนเหลือเพียง 18% เท่านั้นในปีนี้” นางสาวกิ่งกรกล่าว

อ่านเพิ่มเติมผลการตรวจปีที่แล้ว