ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > มติ คตง. ส่ง ป.ป.ช. – ฟ้องอาญา หมอเลี๊ยบ-บิ๊กคลัง-อดีตผู้บริหาร ปตท. 6 ราย ฐานคืนท่อก๊าซให้หลวงไม่ครบ เสียหายกว่า 3 หมื่นล้าน – ปตท. โต้ทุกข้อหา

มติ คตง. ส่ง ป.ป.ช. – ฟ้องอาญา หมอเลี๊ยบ-บิ๊กคลัง-อดีตผู้บริหาร ปตท. 6 ราย ฐานคืนท่อก๊าซให้หลวงไม่ครบ เสียหายกว่า 3 หมื่นล้าน – ปตท. โต้ทุกข้อหา

11 พฤษภาคม 2016


น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) (คนกลาง) พร้อมตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมรับฟัง คตง. แถลงข่าวกรณี ปตท. คืนท่อก๊าซไม่ครบถ้วน
น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) (คนกลาง) พร้อมตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมรับฟัง คตง. แถลงข่าวกรณี ปตท. คืนท่อก๊าซไม่ครบถ้วน

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 เวลา 14.00 น. นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)แถลงข่าวผลการวินิจฉัยกรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำหนังสือถึง คตง. ขอให้วินิจฉัยกระทรวงการคลังและบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งมอบท่อส่งก๊าซธรรมชาติไม่ครบถ้วน โดยมี น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมรับฟังการแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย

นายชัยสิทธิ์กล่าวว่า สืบเนื่องจากการที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินการให้บริษัท ปตท. คืนท่อก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้รัฐบาล และ ครม. ที่มี พล.อ. สรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงมีมติวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ให้กระทรวงการพลังงานและบริษัท ปตท. ปฏิบัติตามคำพิพากษา ดำเนินการคืนท่อก๊าซธรรมชาติให้กระทรวงการคลัง และให้ สตง. เป็นผู้รับรองความถูกต้องในการคืนนั้น

วันที่ 25 ธันวาคม 2551 บริษัท ปตท. ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดว่ามีการคืนทรัพย์สินตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งว่ามีการคืนเรียบร้อยแล้ว ต่อมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวกรวม 4,450 คน เป็นโจทย์ยื่นฟ้องบริษัท ปตท. และกระทรวงการคลังโดยอ้างว่า “มีการส่งมอบท่อก๊าซไม่ครบถ้วน คิดเป็นมูลค่ากว่า 32,000 ล้านบาท ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องส่งมอบให้ครบ” แต่เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ 800/2557 ว่าการส่งมอบท่อก๊าซไม่ครบถ้วนอันเป็นการฝ่าฝืนมติ ครม. เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันภายในหน่วยงานของรัฐตามมติคณะรัฐมนตรี

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคณะ จึงมีหนังสือถึง คตง. ขอให้วินิจฉัยว่ากระทรวงการคลังและบริษัท ปตท. กับพวกฝ่าฝืนมติ ครม. ทาง คตง. จึงมีคำสั่งให้ สตง. ตรวจสอบข้อเท็จจริง

นายชัยสิทธิ์กล่าวว่า วันที่ 10 พฤษภาคม 2559 เวลา 9.00 น. สตง. นำสรุปผลการตรวจสอบกรณีดังกล่าวนี้ส่งให้ที่ประชุม คตง. พิจารณา ภายหลังการประชุม คตง. จึงมีมติดังนี้

1. ท่อก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพราะได้มาจากการประกอบกิจการและใช้เพื่อกิจการของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย 2521 ก่อนมีการแปรรูปและส่งมอบให้บริษัท ปตท.

2. อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. กับพวก ฝ่าฝืนมติ ครม. และมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ขาดไปคิดเป็นเงิน 32,000 ล้านบาทเศษ และทำให้รัฐขาดประโยชน์จากค่าเช่าที่พึงได้รับ นอกจากนี้ ยังยื่นคำร้องอันเป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุดว่ามีการส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติครบถ้วนแล้ว โดยไม่รอผลการตรวจสอบและรับรองจาก สตง. และเสนอขอความเป็นชอบจาก ครม. ตามมติ ครม. วันที่ 18 ธันวาคม 2550 และ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 มาตรา 24 ก่อน

3. ให้ สตง. ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาดำเนินคดีอาญากับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. กับพวก เนื่องจากมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ทั้งให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยและความรับผิดทางละเมิดด้วย

4. คตง. อาศัยอำนาจตามคามในมาตรา 44, 46 และ 15 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 ขอให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. กับผู้เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้มีการส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติที่ขาดไปคิดเป็นเงิน 32,000 ล้านบาทเศษแก่กระทรวงการคลัง และให้คณะรัฐมนตรียื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้มีการบังคับคดีที่ถูกต้องครบถ้วนต่อไปภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งจาก สตง.

มิฉะนั้น คตง. จะดำเนินการตามมาตรา 17, 63 และ 64 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ 2502 มาตรา 11 ต่อไป

นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)
นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)

“กระทรวงการคลังมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินของแผ่นดิน ท่อก๊าซธรรมชาติ 32,000 ล้านบาทเศษ เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเพิกเฉย ไม่ดำเนินการส่งมอบท่อก๊าซให้ครบถ้วนไม่ได้ ส่วนเมื่อมีการส่งมอบแล้วกระทรวงการคลังจะให้บริษัท ปตท. หรือผู้ใดเช่า เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของกระทรวงการคลังต่อไป” นายชัยสิทธิ์กล่าว

ด้านนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เพื่อพิจารณาผลการตรวจสอบสืบสวนของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตามหนังสือร้องเรียนกรณีการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดง ที่ ฟ.35/2550 ที่ประชุม คตง. พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบผลการตรวจสอบของ สตง. ดังนี้

1. การแบ่งแยกทรัพย์สินฯ มีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด กล่าวคือ คดีหมายเลขดำที่ ฟ.47/2549 คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ให้คณะรัฐมนตรีในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดิน เพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550

แต่จากการตรวจสอบของ สตง. พบว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 มิได้มีส่วนร่วมในการกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินฯ ตามคำพิพากษา โดยการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ มิได้ถูกนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาก่อนการลงนามบันทึกการแบ่งแยกฯ ตลอดจนมิได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนการยื่นคำร้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 และไม่ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เข้ามามีส่วนร่วมในการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ

2. การแบ่งแยกทรัพย์สินฯ มีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 กล่าวคือ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ว่า “…ข้อ 2.2 เห็นชอบหลักการการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ อำนาจ และสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง ทั้งนี้ หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลฯ ในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป…”

แต่จากการตรวจสอบของ สตง. พบว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ของการปิโตรเลียมฯ มิใช่เป็นกรณีที่กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการตามที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนด และมิได้ให้ สตง. เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง

ตัวเลขท่อก๊าซ

นอกจากนี้ สำหรับกรณีท่อก๊าซในทะเล ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเห็นไม่ตรงกัน โดย สตง. ได้มีหนังสือแจ้งข้อทักท้วงให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานทราบ ตามหนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ตผ 0023/0415 ลงวันที่ 28 มกราคม 2551 และหนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ตผ 0023/0416 ลงวันที่ 28 มกราคม 2551 ซึ่งเป็นกรณีที่มีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 โดยไม่มีการนำเรื่องท่อก๊าซในทะเลให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาให้มีข้อยุติ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550

3. การจัดทำบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ การแบ่งแยกทรัพย์สินของ ปตท. เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการแบ่งแยกและโอนให้แก่กระทรวงการคลัง ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542

จากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีการเสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ให้คณะรัฐมนตรีในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ แต่กลับมีกระบวนการเสนอให้ใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ให้ความเห็นชอบร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมิใช่บุคคลตามบังคับของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และคณะรัฐมนตรีมิได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสามารถพิจารณาอนุมัติการแบ่งแยกทรัพย์สินได้แต่เพียงผู้เดียว

ดังนั้น การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบ โดยมิได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจและเป็นไปโดยมิชอบ นอกจากนี้ กระบวนการจัดทำร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ มีกรณีการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2535 กล่าวคือ มิได้ส่งร่างบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา อันทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ

4. การเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษา โดยแจ้งเนื้อหาที่เป็นเท็จในสาระสำคัญ และปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่จะต้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด กล่าวคือ ภายหลังจากการลงนามบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินฯ แล้ว บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ทยอยส่งมอบพื้นที่และทรัพย์สินตามที่ปรากฏในบันทึกฯ ให้กับกรมธนารักษ์

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2551 ได้มีการประชุมร่วมระหว่าง สตง. กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่ง สตง. ได้เสนอร่างรายงานการตรวจสอบฯ ทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยมีความเห็นว่า การแบ่งแยกและโอนทรัพย์สินฯ ให้แก่กระทรวงการคลังยังไม่ครบถ้วน

และเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2551 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมธนารักษ์ แจ้งว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยให้แก่กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเสร็จสิ้นแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2551 กรมธนารักษ์ ได้มีหนังสือถึง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการแบ่งแยกและโอนทรัพย์สินให้แก่กระทรวงการคลังครบถ้วนตามที่กรมธนารักษ์ และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันตรวจสอบและกระทรวงการคลังได้เห็นชอบแล้ว ขอให้รายงานศาลปกครองสูงสุดเพื่อทราบต่อไป

หลังจากนั้น วันที่ 25 ธันวาคม 2551 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้ยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด โดยมิได้รอผลรายงานการตรวจสอบของ สตง. โดยในคำร้องมีการกล่าวอ้างว่า “ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึง 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดดำเนินการเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด” และ “การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในการร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแบ่งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องที่ 4 ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว” และได้แจ้งว่า “ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จึงเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ได้ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแบ่งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยและคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้ว” ซึ่งเป็นข้อกล่าวอ้างที่แจ้งเนื้อหาที่เป็นเท็จในสาระสำคัญ และปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสำคัญ เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึง 3 ไม่ได้ร่วมกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สิน และในประเด็นเรื่องท่อก๊าซในทะเลยังมีข้อโต้แย้งที่ยังไม่ได้ข้อยุติว่าถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ แต่ในคำร้องดังกล่าวมิได้ระบุถึงเรื่องท่อก๊าซในทะเลให้ศาลปกครองสูงสุดได้รับทราบข้อเท็จจริง และไม่ได้รายงานว่าประเด็นเรื่องท่อก๊าซในทะเลนั้น มิได้นำเสนอให้คณะรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณา

การยื่นคำร้องโดยการกล่าวอ้างข้อความดังกล่าว เป็นผลให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” ดังนั้น การยื่นคำร้องดังกล่าวจึงเป็นการแจ้งเนื้อหาที่เป็นเท็จในสาระสำคัญ และปกปิดข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่จะต้องรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด ถือเป็นการกระทำโดยมิชอบ

“การที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 โดยไม่ปรากฏการแบ่งแยกทรัพย์สิน มูลค่า 32,613.45 ล้านบาท ให้แก่รัฐ รวมทั้งไม่ได้รายงานทรัพย์สินที่จะแบ่งแยกให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อน ทำให้มีทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินคงเหลือที่ยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายขั้นต้นไม่น้อยกว่า 32,613.45 ล้านบาท และเนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งมิได้ถูกโอนให้แก่รัฐตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ทำให้รัฐขาดรายได้จากค่าใช้ทรัพย์สิน ซึ่งถือเป็นความเสียหายอีกส่วนหนึ่ง” ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินกล่าว

ลำดับเหตุการณ์ทวงคืนท่อก๊าซ

นายพิสิฐกล่าวต่อว่าที่ประชุม คตง. จึงมีมติส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีรายชื่อดังนี้ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด, นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อดีตรองอธิบดีกรมธนารักษ์ (ปัจจุบันเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง) นายนิพิฐ อริยวงศ์ ผอ.สำนักบริหารจัดการฐานข้อมูลที่ราชพัสดุ 9, นายสุพจน์ เหล่าสุอาภา ผู้จัดการสำนักงานกฎหมาย บริษัท ปตท. และนายธนพร พรหมพันธุ์ นิติกร 7 กรมธนารักษ์ รวมทั้งให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยและความรับผิดทางละเมิด เนื่องจากมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ส่งมอบท่อก๊าซไม่ครบถ้วน ขาดไปเป็นเงิน 32,000 ล้านบาท ทำให้รัฐขาดประโยชน์จากค่าเช่า และยื่นคำร้องต่อศาลปกครองอันเป็นเท็จว่ามีการส่งมอบครบถ้วน จึงมติส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินคดีอาญากับกลุ่มบุคคลดังกล่าว

ในวันเดียวกันฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวแถลงข่าวให้สื่อมวลชนทุกแขนง ยืนยัน ปตท. ดำเนินการแบ่งแยกและคืนทรัพย์สินให้แก่รัฐตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้ว โดยนายชวลิต พันธ์ทอง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและบริหารความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีความเห็นถึงกรณีการแบ่งแยกทรัพย์สินไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และมีการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีนั้น ปตท. ขอยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดและมติคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งได้นำเสนอข้อมูลทรัพย์สินของ ปตท. ทั้งก่อนและหลังการแปรรูปต่อศาลฯ เพื่อประกอบการพิจารณา โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งหลายครั้งว่า ปตท. ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ศาลฯ ได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 อนึ่ง ปตท. ไม่สามารถดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนให้รัฐเกินกว่าคำพิพากษาของศาลฯ ได้

ส่วนในกรณีที่ว่า ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 นั้น ใคร่ขอชี้แจงว่า ปตท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามมติ ครม. แล้ว โดย ครม. ได้มอบหมายให้ กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการโดยไม่ต้องรายงาน ครม. ก่อนแต่อย่างใด จนเมื่อดำเนินการเรียบร้อย กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน จึงได้รายงาน ครม. เพื่อทราบเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2553 โดย ครม. ไม่มีความเห็นแย้งใดๆ

กรณี คตง. หรือ สตง. มีความเห็นว่า ปตท. มิได้รอความเห็นของ สตง. ก่อนยื่นคำร้องต่อศาลฯ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 ขอชี้แจงว่า ปตท. ได้นำส่งข้อมูลบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดให้ สตง. พิจารณาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2551 ซึ่ง สตง. มิได้มีความเห็นกลับมายัง ปตท. แต่อย่างใด และตามที่มีการกล่าวอ้างว่า ได้ส่งรายงานฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ให้แก่ ปตท. แจ้งว่า ปตท. ยังคืนท่อก๊าซฯ ไม่ครบนั้น ปรากฏว่า รายงานดังกล่าวเป็นเพียงเอกสารแนบท้ายหนังสือของ สตง. ฉบับลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 เท่านั้น ซึ่ง ปตท. ไม่เคยได้รับมาก่อน โดย สตง. นำส่งให้แก่ ปตท. ศาลฯ และหน่วยงานอื่นๆ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ศาลฯ มีคำสั่งแล้ว และเป็นวันที่หมดเขตการขยายเวลาแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำสั่งศาลฯ

ทั้งนี้ สตง. ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 ถึง ปตท. และศาลฯ อีกครั้งหนึ่ง ระบุว่า “การดำเนินการแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินของ ปตท. ให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จะครบถ้วนและเป็นไปตามคำพิพากษาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่จะพิจารณา ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดถือเป็นยุติ” ซึ่งเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 สำนักงานศาลปกครองสูงสุด ได้มีหนังสือตอบ สตง. กรณีอ้างว่า ปตท. ยังคืนท่อก๊าซฯ ไม่หมดนั้น ศาลได้พิจารณาข้อมูลของ สตง. ทั้งสองฉบับแล้ว โดยสรุปว่า “ได้ติดตามผลการดำเนินงานตามคำพิพากษาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ และรายงานให้ศาลฯ ทราบ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

“ปตท. ขอยืนยันอีกครั้งว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินเป็นไปตามคำพิพากษาและหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด มิได้มีการลัดขั้นตอนตามความเห็นของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินแต่ประการใด คำพิพากษา คำวินิจฉัย และคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดย่อมถือเป็นยุติ และไม่อาจมีบุคคลหรือหน่วยงานอื่นใดจะมีอำนาจกลับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้ อีกทั้งข้าราชการและพนักงานได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยสุจริต มิได้มีการแสวงหาประโยชน์หรือกระทำการประพฤติมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐแต่ประการใด” นายชวลิตกล่าวย้ำ