ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม กับคำถาม รู้เขารู้เราดีพอหรือยัง ใช่ว่าใหญ่แล้วจะอยู่ค้ำฟ้า!

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม กับคำถาม รู้เขารู้เราดีพอหรือยัง ใช่ว่าใหญ่แล้วจะอยู่ค้ำฟ้า!

24 พฤษภาคม 2016


เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ กรรมการในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “โลกที่ไม่เหมือนเดิม” ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 40 ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ โดยมีรายละเอียดดังนี้

สำหรับวันนี้นับเป็นโอกาสดีที่นักธุรกิจชั้นนำ เอสเอ็มอี และกลุ่ม startup ได้มาสัมมนาหัวข้อ “ธุรกิจไทยในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม” ร่วมกันเพื่อแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่จะเป็นข้อคิดให้ทุกท่านนำไปต่อยอดความคิดต่อไป

ปาฐกถาที่จะกล่าวถึงในวันนี้ชื่อว่า “โลกที่ไม่เหมือนเดิม” เข้าใจว่าอาจจะมาจาก new normal ซึ่งเป็นคำที่จุดประเด็นให้หลายเวทียกขึ้นมาพูดคุยกันอย่างกว้างขวาง ในโอกาสนี้ ผมขอร่วมเสนอมุมมองใน 4 ประเด็น คือ 1) โลกที่ไม่เหมือนเดิม 2) แนวคิดต่อโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง 3) โอกาสและความท้าทายของภาคธุรกิจ 4) ภาครัฐกับการขับเคลื่อนประเทศในบริบทใหม่

ส่วนที่ 1 โลกที่ไม่เหมือนเดิม

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “โลกที่เราอยู่นี้ไม่เหมือนเดิม” เพราะไม่ว่าจะมองไปทางใดจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหลายมิติและเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วกว่าในอดีตมาก อีกทั้งบางเรื่องก็ไม่สามารถประเมินปลายทางของการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนนักว่าจะลงเอยอย่างไร มิหนำซ้ำหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยยังเติบโตอยู่ในระดับต่ำ และปีนี้ยังมีปัญหาภัยแล้งมาซ้ำเติมอีกจึงไม่แปลกถ้าพวกเราหลายคนจะรู้สึกตั้งตัวไม่ค่อยติด

มองไปข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงจะยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนโลกไห้ไม่หยุดนิ่ง มีอยู่อ 4 ปัจจัย ดังนี้

ปัจจัยแรก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

เชื่อหรือไม่ว่า เมื่อ 20 ปีก่อน ทั่วโลกมีการใช้อินเทอร์เน็ตเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ปัจจุบันประชากรกว่าครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 3,400 ล้านคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แล้ว ประเทศไทยเองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจำนวนคนใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่ม 16 ล้านคนเป็น 39 ล้านคนในปัจจุบัน นอกจากนี้ คนไทยซื้อสินค้าผ่านทางโซเชียลมีเดียคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีอย่างต่อเนื่องทำให้โลกเล็กลงและหลอมรวมประชาคมโลกให้เข้าถึงกันง่ายขึ้น ซึ่งมีนัยต่อการใช้ชีวิตพฤติกรรมของผู้บริโภคและแนวทางการทำธุรกิจในระยะต่อไป

ปัจจัยที่ 2 การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากร

ในอีก 10 ปีข้างหน้า คาดกันว่าประชากรโลกจะเพิ่มจาก 7 เป็น 8 พันล้านคน โดยกลุ่มที่จะขยายตัวมากคือกลุ่มประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี หลายประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือมีประชากรกลุ่มนี้มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ และไทยกำลังตามไปไม่ห่างนัก ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจะทำให้มีการย้ายถิ่นฐานของประชาชนข้ามพรมแดนระหว่างประเทศและจากชนบทมาสู่เมืองมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะมีผลต่อปัจจัยและโครงสร้างการผลิตการบริการและรูปแบบการบริโภคของประชากรโลก รวมทั้งจะมีนัยต่อนโยบายและภาระด้านการคลังของภาครัฐในระยะต่อไป

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ปัจจัยที่ 3 ศูนย์กลางการค้าโลกเปลี่ยนมาที่เอเชีย

แม้ว่าเราจะเห็นสัญญาณเศรษฐกิจจีนชะลอตัวมาระยะหนึ่ง แต่จีนยังมีศักยภาพที่จะเติบโตอีกมาก และเชื่อว่าจะกลายเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกในอีกไม่ช้า เมื่อผนวกกับอินเดียทั้งสองประเทศจะมีประชากรประมาณครึ่งหนึ่งของโลก และคาดว่าในปี 2030 จะมีสัดส่วน GDP รวมกันมากกว่า 1 ใน 4 ของโลก นัยคือ อำนาจซื้อในภูมิภาคเอเชียจะเพิ่มขึ้น และเป็นไปได้ว่าศูนย์กลางการค้าโลกจะย้ายมาอยู่ที่เอเชีย โดยจะเน้นการค้าขายกันในภูมิภาคมากกว่าจะพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ หรือยุโรปเช่นในอดีต อย่างไรก็ดี ในระหว่างการเปลี่ยนโครงสร้างและส่วนอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกจะทำให้ตลาดการเงินผันผวน คาดเดาได้ยาก และภาวะเช่นนี้จะอยู่กับเราไปอีกพักใหญ่

ปัจจัยที่ 4 กติกาและมาตรฐานในหลายเรื่องจะมีความเป็นสากลมากขึ้น

รวมทั้งผู้บริโภคใส่ใจคุณภาพชีวิต และให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าที่จะบริโภคมากขึ้น คำแปลจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือ ICAO เกี่ยวกับมาตรฐานการบินของไทยหรือการที่สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองเตือนภัยอย่างเป็นทางการเนื่องจากไม่มีการแก้ปัญหาในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม และล่าสุดข่าวที่มีการแชร์กันในโซเชียลเน็ตเวิร์กคือการตรวจพบสารเคมีตกค้างสูงเกินมาตรฐานในผักผลไม้ออร์แกนิก

คําเตือนและเสียงสะท้อนเหล่านี้บอกเราว่า เรื่องที่เกิดขึ้นในที่หนึ่งสามารถแพร่กระจายไปทั่วโลกในเวลารวดเร็วและประเมินขนาดผลกระทบได้ยาก การดำเนินธุรกิจต่อไปจะคิดเพียงผลิตและส่งมอบตามกำหนดเหมือนเดิมไม่ได้ จะต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียในทุกระดับของสายการผลิตด้วย

ส่วนที่ 2 แนวคิดต่อโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

เรากำลังเผชิญกับสภาวะที่หลายอย่างในโลกไม่เหมือนเดิม แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งจะเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหรือโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่งเป็นสัจธรรมของชีวิตหรือเป็นความปรกติธรรมดา เหมือนถึงเวลาน้ำย่อยจะต้องออกมาส่งสัญญาณให้เราต้องหาอะไรกินนั้นคือการปรับตัว และที่ผ่านมากระบวนการเหล่านี้มีให้เห็นไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคล องค์กร ประเทศ หรือระดับโลก

หากมองย้อนกลับไปดูพัฒนาการของอุตสาหกรรมโลก จะเห็นการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องจากเดิมที่การผลิตเน้นการใช้แรงงานคนและสัตว์มาสู่ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ใช้เครื่องจักรไอน้ำ ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ใช้ไฟฟ้าและเครื่องยนต์ ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ใช้ไมโครโปรเซสเซอร์ และผู้รู้หลายท่านยังคาดการณ์อีกว่า ไม่นานน่าจะมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เราอาจเห็นหุ่นยนต์มาทำงานแทนแรงงานในหลายกลุ่ม

บทเรียนที่ผ่านมาชี้ว่า ทุกการเปลี่ยนแปลงมีทั้งโอกาสและความท้าทาย พิจารณาดูการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาเป็นตัวอย่าง ด้านหนึ่ง ช่วยให้ความเป็นอยู่ของคนไทยโดยรวมดีขึ้น จากประเทศด้อยพัฒนาที่เคยยากจนที่สุดแห่งหนึ่ง มาเป็นประเทศในระดับรายได้ปานกลาง ประชาชนส่วนใหญ่หลุดพ้นจากภาวะความยากจน 50 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโตขึ้นกว่า 14 เท่า แต่อีกด้านการพัฒนาก็ใช่จะไม่มีต้นทุนเลย ป่าไม้เราลดลงอย่างน่าใจหาย วัฒนธรรมความเป็นอยู่หลายอย่างเปลี่ยนไป ขณะที่ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำก็ยังมีอยู่

อีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่น่าสนใจคือในรายชื่อของบริษัทฟอร์จูน 500 หรือบริษัทที่มีรายได้สูงสุด 500 อันดับแรกของโลก ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีเพียง 12 เปอร์เซ็นต์ ที่สามารถเกาะอันดับอยู่ในกลุ่มรายชื่อนั้นได้ คือ “ใช่ว่าใหญ่แล้วจะอยู่ค้ำฟ้า” บางบริษัทเสียแชมป์ถาวร บางบริษัทไทยกลับมาทวงแชมป์ได้แต่ก็เหนื่อยไม่น้อย การรักษาแชมป์หรืออยู่รอดได้ภายใต้การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่เพียงเห็นโอกาส แต่ต้องก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ ได้ จึงเป็นบทพิสูจน์ความเข้มแข็งของกิจการ

ส่วนที่ 3 โอกาสและความท้าทายของภาคธุรกิจ

สภาวะโลกใหม่ครั้งนี้ก็เช่นกัน ทุกธุรกิจย่อมมีโอกาสและความท้าทาย

เริ่มที่ “โอกาส” ก่อน

ผมคิดว่าโชคดีที่ปัจจุบันเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคไทยอยู่ในเกณฑ์ดี หลังจากวิกฤติต้มยำกุ้งครั้งก่อน เศรษฐกิจไทยมีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ สุขภาพของภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่ารัฐ เอกชน หรือครัวเรือนที่หนี้สูงขึ้นบ้างแต่โดยรวมก็นับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เข้มแข็ง สิ่งนี้ช่วยลดแรงเสียดทานจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ และการเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ช่วยสนับสนุนการปรับตัวอีกครั้งหนึ่ง ภายใต้บริบทใหม่นี้ ธุรกิจไทยจึงมีโอกาสปรับตัวได้หลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็น

“ขี่กระแส” ไปกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร

“เปลี่ยนชัยภูมิ” ไปผลิตหรือค้าขายในประเทศเพื่อนบ้าน

“ยกระดับ” คุณภาพสินค้าด้วยการสร้างนวัตกรรมเพื่อรองรับการแข่งขันในระยะยาว

“หาพันธมิตร” ที่เชี่ยวชาญมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริการ

หรือ

“ถอยมาตั้งหลัก” หรือ “ขยับออกข้าง” ล้วนเป็นทางเลือกในการปรับตัวทั้งสิ้น

แต่ความท้าทายคือ

1) เรา “รู้เขารู้เรา” ดีพอหรือยัง

“รู้เขา” คือ เราเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมการแข่งขันชัดเจนแล้วหรือยัง ใครคือคู่แข่ง อะไรคือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการอย่างแท้จริง และความเสี่ยงอยู่ที่ไหน

รู้เราคือ การตรวจสอบแนวรบก่อนจะตัดสินใจว่าจะเดินได้อย่างไร คือเรามีสรรพกำลังและอาวุธที่พร้อมในการเข้าสู่สนามรบนี้เพียงใด อะไรเป็นช่องว่างที่ต้องรีบปิด ช่องว่างที่ติดกว้างเกินไปหรือไม่ เราควรที่จะยอมถอยเพื่อเดินหน้าในอีกเส้นทางหรือไม่

2) เรามีข้อมูลที่แม่นยำพอหรือไม่ มุมมองความคิดเราเปิดกว้างพอหรือยัง เราใช้เวลาไปกับอะไร คุยกับใคร อ่านอะไร เราใช้ประโยชน์จากความต่างของผู้คนและเพื่อนร่วมงานเราอย่างไร เพื่อจะช่วยให้เราประเมินสิ่งที่เราควรรู้ได้ถูกต้อง

3) เราเป็นผู้นำที่มีความสามารถมากพอที่จะช่วยให้ธุรกิจก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่

ผมคิดว่านี่คือโจทย์ใหญ่ของซีอีโอและเถ้าแก่ทุกคน

โดยเฉพาะโจทย์ข้อสุดท้าย ธุรกิจจะรับมือการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับ “ผู้นำ” เป็นสำคัญ ว่าจะมีความกล้าหาญสามารถตัดสินใจได้ถูกต้อง ถูกเวลา และถูกทิศทางหรือไม่

ลองดูประสบการณ์จากบริษัทไอบีเอ็ม (IBM) บริษัทไอบีเอ็ม เจ้าของเทคโนโลยีเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ และเห็นว่าตลาดของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือพีซี (PC) เป็นตลาดใหญ่ จึงสร้างเครื่องพีซีออกขาย และซื้อระบบประมวลผลไมโครโปรเซสเซอร์จากบริษัทอินเทล (Intel) และระบบปฏิบัติการจากบริษัทไมโครซอฟต์ (Microsoft) มาใช้ในเครื่องพีซีของไอบีเอ็ม ทั้งที่บิลล์ เกตส์ เคยเสนอไอบีเอ็มให้พัฒนาไมโครโปรเซสเซอร์ แต่ไอบีเอ็มมองข้าม มุ่งพัฒนาเมนเฟรมที่เป็นจุดแข็งเดิมโดยไม่เปิดใจรับสิ่งใหม่ เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน ไมโครโปรเซสเซอร์สามารถพัฒนาจนทดแทนเมนเฟรมได้ระดับหนึ่ง มีผลทำให้บริษัทไม่สามารถแข่งขันได้จนเกือบล้มละลาย

ประสาร งานประชาชาติ 1

Louise Gerstner ซีอีโอที่เข้ามาฟื้นฟูกิจกรรมของไอบีเอ็มพูดไว้ในหนังสือ Who Says Elephants Can’t Dance ว่า หัวใจคือต้องสามารถก้าวข้ามความสำเร็จในอดีต พร้อมปรับตัวเพื่อความอยู่รอด จึงยอมขายกิจการพีซีให้กับเลอโนโว (Lenovo) และรถขนมากกว่าครึ่งก่อนปรับตัวเข้ามาขายบริการ “solution” ทางไอทีแบบครบวงจรซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจใหม่

ส่วนที่ 4 ภาครัฐกับการขับเคลื่อนประเทศในบริบทใหม่

ขณะที่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวในเชิงรุกมากมายภายใต้บริบทใหม่ ภาครัฐก็มีความจำเป็นต้องปรับตัวเช่นกัน ในงานสัมมนาประจำปีของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอปีนี้ มีข้อเสนอหลักที่น่าสนใจ คือ มองไปข้างหน้าเพื่อให้ภาครัฐสามารถแก้ปัญหาของประเทศและยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ ภาครัฐจำเป็นต้องปรับตัวในสามมิติสำคัญ

1) “ปรับทิศทางให้ท้องถิ่นตัดสินใจ” ที่ผ่านมาแล้วเราจะเห็นการกระจายอำนาจไปในท้องถิ่นในหลายด้าน แต่โดยรวมการตัดสินใจของภาครัฐยังมีลักษณะรวมศูนย์อยู่ค่อนข้างมาก ขณะที่การทำงานมีลักษณะแยกส่วนตามหน่วยงานราชการ ทำให้การแก้ปัญหาในหลายเรื่องติดขัดไม่คืบหน้าเป็นคอขวด มีข้อท้วงติงจากประชาชนอยู่บ่อยๆ และเพื่อแก้ปัญหาเรามักจะได้ยินคำว่า one stop service เกิดขึ้น หลังๆ จะได้ยินการใช้มาตรา 44 เพื่อผ่าทางตัน

การรวมศูนย์การตัดสินใจเปรียบเหมือนมีสูตรแก้ปัญหาแบบเดียว one size fits all คือการตัดเสื้อตัวเดียวมาให้ทุกคนใส่ ยากที่จะตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างได้อย่างตรงจุด ภาครัฐจึงควรกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นตัดสินใจมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การแก้ปัญหาต่างๆ มีเจ้าภาพที่ชัดเจน (accountability) และจะเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการเสนอแนะสิ่งที่ต้องการได้มากขึ้น

ข้อมูลเชิงประจักษ์จากการปฏิรูปการศึกษาในหลายประเทศชี้ว่า การกระจายอำนาจด้านการศึกษาแก่ท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ ทั้งด้านงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการตัดสินใจที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพการศึกษาของท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อมูลทางสถิติอีกตัวที่น่าสนใจคือ อัตราการพัฒนาเขตเมือง หรือ urbanization ซึ่งเป็น mega trend ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ที่ว่าน่าสนใจคือ urbanization rate ของไทยโดยรวม ยังอยู่ในระดับต่างประมาณแค่ 30% กว่าๆ ใกล้เคียงกับกัมพูชา ลาว และเวียดนาม ทั้งที่เราเปิดและพัฒนาประเทศมานานกว่า ในขณะที่ของมาเลเซียและญี่ปุ่นอยู่ในระดับสูงกว่า 70% และ 90% ตามลำดับ

ที่สำคัญ ข้อมูลจากธนาคารโลกชี้ว่า นอกจากระดับ urbanization rate ของเราจะต่ำ แล้วแย่กว่านั้นคือ 80% ของ urbanization ของไทยกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งตอกย้ำผลการบริหารงานแบบรวมศูนย์ของภาครัฐอีกทางหนึ่ง

ที่พักยกเข้าสถิติกับเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังเพราะการพัฒนาเขตเมืองมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ด้านเศรษฐกิจ เป็นแนวทางหนึ่งในการยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเศรษฐกิจจีนที่โตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตของเมืองขนาดใหญ่ สิ่งที่มาพร้อมกับเมืองคือถนนหนทาง บ้านเรือน สาธารณูปโภคที่จะช่วยลดต้นทุนการดำเนินชีวิตและมีแต้มต่อเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับท้องถิ่น ที่สำคัญ urbanization จะเพิ่มได้ ก้าวแรกคือรัฐต้องให้ท้องถิ่นตัดสินใจมากขึ้น

ด้านสังคม เป็นแนวทางลดความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งในสังคมส่วนใหญ่มาจากความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่มาก การกระจายตัวของเมืองไม่ให้กระจุกอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ น่าจะเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยลดปัญหาเรื่องนี้ให้น้อยลง

2) “ปรับกลยุทธ์ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม” เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเติบโตของประเทศในช่วงที่ผ่านมา ภาคธุรกิจเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง จนมีคนพูดกันว่าผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่แท้จริงคือภาคธุรกิจ

ภายใต้โลกใหม่ ภาครัฐจะเผชิญกับความท้าทาย ทั้งในแง่ความจำเป็นที่จะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้มีเพียงพอสำหรับรองรับการพัฒนา และในมิติการคลังที่ค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการจะสูงขึ้น จึงจำเป็นที่ภาครัฐต้องปรับกลยุทธ์ใหม่หันมาใช้ประโยชน์จากจุดแข็งจากภาคเอกชน ในด้านความคิดสร้างสรรค์ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพและคล่องตัว โดยเปิดโอกาสให้เอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศมากขึ้น ซึ่งทำได้ในหลายมิติ อาทิ

การร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) โดยเฉพาะในด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ในต่างประเทศพบว่าสัดส่วนอยู่ที่ 15-20% ขณะที่ประเทศไทยยังน้อยแทบจะนับโครงการได้ ถ้าเกิดขึ้นได้จะมีประโยชน์ทำให้งบประมาณที่จะใช้ลดลงและใช้จุดแข็งในการบริหารจัดการและเทคโนโลยีของภาคเอกชน

การแข่งขันที่เท่าเทียม ภาครัฐควรเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันมากขึ้นในบริการที่เอกชนทำได้ดีและให้ประชาชนสามารถเลือกรับบริการได้ แนวคิดนี้เรียกว่า choice and competition สังคมประเทศสแกนดิเนเวียและยุโรปใช้กับบริการสาธารณะ เช่น การรักษาพยาบาลหรือการศึกษา

หัวใจของแนวคิดนี้คือประชาชนสามารถเลือกใช้บริการ มี choice จากผู้ให้บริการที่มีคุณภาพที่ตนพอใจและการแข่งขันที่เท่าเทียม มี competition นี้จะทำให้ผู้ให้บริการไม่ว่าจะภาครัฐหรือเอกชนต้องแข่งขันกันในการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีประโยชน์คือนอกจากจะช่วยลดโอกาสที่งบประมาณจะบานปลายยังช่วยให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ

จริงๆ บ้านเราก็มีการนำแนวคิดนี้มาใช้บ้างแล้ว ประกันสังคมที่ให้ผู้ประกันตนเลือกโรงพยาบาลที่ตนพอใจเป็นตัวอย่างหนึ่ง ล่าสุดดังที่เป็นข่าว มีการร้องเรียนเกี่ยวกับบริการของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ทันทีที่มีข้อท้วงติงผู้เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงและปรับปรุงอย่างรวดเร็ว นี่คือพลังของ choice and competition ที่ควรจะทำให้มีมากขึ้น

3) “ปรับบทบาทให้สอดคล้องกับบริบทใหม่” พัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความซับซ้อน มีผู้เล่นผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งการแข่งขันที่มากขึ้นจากภายในและภายนอกประเทศ ภาครัฐจำเป็นต้องทบทวนบทบาทให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ซึ่งผมคิดว่ามี 2 ส่วนสำคัญ

1) เปลี่ยนบทบาทที่เน้นการควบคุมและกำกับมาเป็นให้การสนับสนุน รวมทั้งปล่อยกลไกตลาดที่เสรี (market mechanism) มีพลวัตอย่างต่อเนื่อง ให้ทำงานได้มากขึ้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ภาครัฐมีความจำเป็นที่ต้องทบทวนกฎระเบียบและกฎหมายที่มีอยู่ให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพในปัจจุบัน ไม่เป็นอุปสรรคต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง มีการประเมินว่าปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ รวมกันไม่ต่ำกว่า 100,000 ฉบับ และใบอนุญาตกว่า 1,500 ใบ และในการทำธุรกิจแต่ละอย่างต้องขออนุญาตจากหลายหน่วยงาน ซึ่งหลายท่านในที่นี้คงรู้สึกไม่ต่างกัน ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า กฎระเบียบที่มีมากเกินความพอดีอาจจะมีต้นทุนสูงถึง 10-20% ของจีดีพี

เกาหลีใต้ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงมีการทบทวนกฎหมายครั้งใหญ่หลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 โดยมีการทบทวนและยกเลิกกฎระเบียบและกฎหมายกว่า 5,000 ฉบับ โดยเฉพาะกฎหมายที่คุ้มครองบริษัทใหญ่อย่างแชโบล (Chaebol) นี่เป็นตัวอย่างของการปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ เอื้อต่อการทำธุรกิจ (ในปี 2016 ความง่ายในการทำธุรกิจอยู่ที่อันดับ 4 ขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับ 49)

งานประชาชาติฯ

2) บทบาทที่รัฐต้องทำคนแบบแยกให้ชัดเจน จากประสบการณ์งานปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ พบว่าหนึ่งในต้นตอสำคัญของปัญหาคือการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ (ผู้กำหนดนโยบาย, ผู้กำกับดูแล, ผู้ทำหน้าที่เจ้าของ, ผู้ให้บริการ) ไม่ชัดเจน ทับซ้อน ทำให้การทำหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องอาจไม่เหมาะสม ตัวอย่างที่คลาสสิกคือกรณี ธ.ก.ส. ที่ตั้งเมื่อประมาณปี 2500 โครงสร้างที่เคยทำไว้สมัยนั้นอาจจะตอบโจทย์ แต่ด้วยบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่เปลี่ยนไป โครงสร้างที่เคยวางไว้มีปัญหา มีการทับซ้อนของบทบาทจนนำมาสู่ปัญหาเรื่องนโยบายรับจำนำข้าวที่ใช้เงินจำนวนมากมายที่เราเห็น

สำหรับข้อเสนอให้มีการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หัวใจคือ ในระบบรัฐวิสาหกิจยังไม่มีผู้ที่ทำบทบาทเจ้าของแทนประชาชน ที่คอยทำหน้าที่หวงแหน เป็นห่วงเป็นใย strategic assets ของประเทศที่มีความสำคัญทั้งในด้านการพัฒนาประเทศและคุณภาพบริการที่ประชาชนจะได้รับ

ภาครัฐจำเป็นต้องปรับตัวสร้างระบบสถาบันของภาครัฐที่เข้มแข็ง สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป ข่าวดีคือมีความพยายามผลักดันให้มีการปฏิรูปภาครัฐในหลายมิติตามที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการทำธุรกิจ กฎหมายด้านศุลกากร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการเงินการคลัง การกำกับดูแลและปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น อย่างไรก็ดี การผลักดันให้แนวคิดการปฏิรูปเกิดได้จริงยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย ผมขอเอาใจช่วยเพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นการวางรากฐานที่สำคัญของประเทศต่อไป

ก่อนที่จะจบ ขอกล่าวสั้นๆ อีกครั้งว่า โลกที่เราอยู่นี้ไม่เหมือนเดิม แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นสัจธรรมของชีวิตที่เป็นปกติธรรมดา ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ผู้ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องปรับตัว โดยสิ่งสำคัญคือ ต้องยอมรับและมองโลกตามความเป็นจริง ทำปัจจุบันให้ดี มองโลกในแง่บวก และมีสติรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง

ผมขอเป็นกำลังใจครับ