ThaiPublica > คอลัมน์ > Brexit คืออะไร ทำไมต้องออก?

Brexit คืออะไร ทำไมต้องออก?

14 พฤษภาคม 2016


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ระยะหลังๆ เราคงได้ยินคำว่า Brexit กันบ่อยขึ้น และน่าจะบ่อยขึ้นอีกเมื่อใกล้วันลงประชามติ Brexit ในวันที่ 23 มิถุนายน และโพลล่าสุดยังบอกว่ายังไม่แน่ว่าใครจะชนะ

Brexit คืออะไร และจะมีผลกับการเมืองและเศรษฐกิจโลกอย่างไร หลายฝ่ายบอกว่านี่คือความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกเลยทีเดียว

เมื่อสองสามปีก่อน คำว่า Grexit (Greece+Exit คือความเสี่ยงที่กรีซอาจจะต้องออกจากยูโรโซน) เป็นความเสี่ยงที่สำคัญ และพูดถึงกันค่อนข้างมาก แต่มาในวันนี้ Brexit กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่พูดถึงกันไม่ได้แล้ว

อะไรเป็นอะไร

Brexit มาจากคำว่า Britain+Exit คือความเสี่ยงที่สหราชอาณาจักร (United Kingdom หรือ Great Britain) หรือที่คนไทยมักจะเรียกกันว่า “อังกฤษ” (England) จนเคยชิน อาจจะออกจากสหภาพยุโรป (European Union)

ทำความเข้าใจกันนิดหนึ่งก่อนนะครับ ว่าสหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่มีประเทศอยู่ภายในประเทศอีกที คือประกอบไปด้วย อังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ (สังเกตว่าเวลาพูดถึงประเทศทางการเมืองและเศรษฐกิจ คนส่วนใหญ่จะใช้ United Kingdom กันตลอดเวลา แต่แข่งฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกทีไร เห็นมีเข้าแข่งกันสามสี่ทีมเลย)

และสหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร (งงหรือยังครับ)

ยุโรป

สหภาพยุโรป

สหภาพยุโรป เป็นสหภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง (politico-economic union) ที่ประกอบไปด้วยประเทศสมาชิกในยุโรป 28 ประเทศ มีขนาดของตลาดในแง่ GDP ใหญ่ที่สุดในโลก (พอๆ กับสหรัฐอเมริกา) แต่ก็มีบางประเทศในยุโรปที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เช่น นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์

และสหภาพยุโรปเป็นมากกว่าเขตการค้าเสรีหรือ “customs union” เพราะไม่เพียงสินค้าและบริการจะสามารถเข้าออกประเทศสมาชิกได้อย่างเสรีแล้ว แรงงานและทุนก็สามารถเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศได้อย่างเสรี แปลว่าคนในประเทศสมาชิก สามารถเดินทางไปหางานในอีกประเทศได้ และทุนสามารถเคลื่อนย้ายกันได้อย่างเสรี

เพื่อทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ สหภาพยุโรปจึงต้องมีอำนาจเหนือรัฐสมาชิกในการออกกฎหมายและระเบียบต่างๆ เพื่อควบคุมบางเรื่องให้สอดคล้องกันทั่วสหภาพยุโรป และบังคับใช้ได้ในทุกประเทศสมาชิก และสหภาพยุโรปมีสถาบันที่มีลักษณะเหมือนรัฐเหนือรัฐ เช่น มีรัฐสภายุโรป (European Parliament) และศาลยุติธรรมยุโรป (European Court of Justice) เพื่อออกกฎหมายและแก้ไขข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายของสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่คล้ายการคลังของรัฐเหนือรัฐ ในการเก็บเงินจากประเทศต่างๆ แล้วเอาไปกระจายให้กับประเทศสมาชิก

พวกอำนาจพวกนี้แหละครับ นำไปสู่คำถามว่า ไปลดอำนาจอธิปไตยของประเทศสมาชิกหรือเปล่า กฎระเบียบต่างๆ ของสหภาพยุโรปมีประโยชน์หรือกลายเป็นต้นทุนของรัฐกันแน่ และต้นทุนกับประโยชน์ของการเป็นสมาชิกนั้นอย่างไหนเยอะกว่ากัน และมันคุ้มกันหรือไม่

ประเด็นพวกนี้มีการพูดถึงกันมาตลอด แต่เริ่มเป็นประเด็นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีปัญหาผู้อพยพในยุโรป หลายคนที่อยากให้รัฐบาลออกกฎหมายควบคุมเขตแดนเพื่อลดจำนวนผู้อพยพ แต่ก็ทำไม่ได้เต็มที่เพราะไปขัดกับกฎของสหภาพยุโรป

แล้วทำไมต้องทำประชามติ

ประเด็นพวกนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองในสหราชอาณาจักรมากขึ้นเรื่อยๆ จนพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่มีนโยบายสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป เริ่มได้คะแนนเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ จนพรรคการเมืองหลักอย่างพรรคอนุรักษ์นิยม และพรรคแรงงาน เริ่มจะเก็บประเด็นนี้ไว้ใต้พรมไม่ได้

ในการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว David Cameron จึงประกาศว่า ถ้าชนะการเมืองตั้ง จะเอาประเด็นนี้มาให้ประชาชนโหวตตัดสินกันเลย และจะเจรจากับสหภาพยุโรป เพื่อปฏิรูปข้อกำหนดสหภาพยุโรป และขอเงื่อนไขที่ดีขึ้นต่อสหราชอาณาจักร

และเมื่อชนะการเลือกตั้ง David Cameron จึงต้องทำตามสัญญาจัดทำประชามติทั่วประเทศ จนกลายเป็นประเด็นร้อนแรง ที่มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน แม้ว่ารัฐบาลมีจุดยืนชัดเจนว่าสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป แม้แต่รัฐมนตรีในรัฐบาลเดียวกันยังเห็นไม่ตรงกัน และรัฐมนตรีบางคนเป็นแกนนำในการรณรงค์ให้ออกจากสหภาพยุโรปเสียด้วย (ไม่มีกฎหมายห้ามเหมือนบางประเทศนะครับ)

เหตุผลฝั่งสนับสนุนให้ออก

เหตุผลของฝั่งสนับสนุนดูจะเป็นเหตุผลด้านการเมืองเสียมาก ฝั่งสนับสนุนมองว่า การอยู่ในสภาพยุโรปมีโทษมากกว่าประโยชน์ โดยเฉพาะประเด็นอธิปไตย และการออกกฎหมาย (โดยเฉพาะจากกรณีผู้อพยพ) และเห็นว่ากฎระเบียบต่างๆ จากสหภาพยุโรปเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร ต้นทุนทางการคลังก็เสียไปเปล่าๆ

นอกจากนี้ ฝ่ายสนับสนุนเชื่อว่าต้นทุนการออกจากสหภาพยุโรปไม่น่าจะมาก เพราะยังไงน่าจะเจรจากันได้ และยุโรปก็ต้องพึ่งพาสหราชอาณาจักรเหมือนกัน

เหตุผลฝ่ายให้อยู่ต่อ

ฝ่ายที่อยากให้อยู่ต่อ กังวลว่าต้นทุนทางเศรษฐกิจของการออกจากสหภาพยุโรปอาจจะสูงมาก และความไม่แน่นอนหลักจากออกจากสหภาพยุโรปอาจจะมีสูงจนทำให้การลงทุนและเศรษฐกิจหยุดชะงักได้

เพราะไม่เคยมีใครออกจากสหภาพยุโรป จึงไม่รู้ว่าเงื่อนไขหลังจากออกจะเป็นอย่างไร สหราชอาณาจักรได้รับประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของยุโรป การค้าเป็นกว่าร้อยละ 60 ของเศรษฐกิจ และกว่าครึ่งเป็นการค้ากับสมาชิกในสหภาพยุโรป ที่ไม่มีกำแพงภาษีระหว่างกัน

ถ้าออกจากการเป็นสมาชิก นั่นอาจจะหมายความว่าสินค้าและบริการระหว่างสหราชอาณาจักร กับประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปอาจจะต้องมีภาษีนำเข้าระหว่างกัน สหภาพยุโรปจะยอมให้สหราชอาณาจักรได้ปรับประโยชน์เสมือนเป็นประเทศในเขตการเสรีหรือไม่ ถ้าให้จะต้องจ่ายด้วยอะไร แล้วการค้ากับประเทศอื่นๆ ที่สหภาพยุโรปมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีแล้วล่ะ สหราชอาณาจักรต้องไปนั่งเจรจาทีละประเทศหรือเปล่า แล้วระหว่างนั้นการค้าจะเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังเป็นศูนย์กลางการลงทุนและศูนย์กลางทางการเงินของยุโรป เพราะได้ประโยชน์จากเงื่อนไขและกฎระเบียบที่ใช้เหมือนกัน ถ้าวันหนึ่งสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสหภาพยุโรป แล้วสหภาพยุโรปไม่ยอมรับระเบียบการดูแลสถาบันการเงินของสหราชอาณาจักรขึ้นมา จะเกิดอะไรขึ้นกับสถาบันการเงินที่ใช้ลอนดอนเป็นศูนย์กลาง

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงว่าสหราชอาณาจักรอาจจะแตกเป็นเสี่ยงๆ ถ้าออกจากสหภาพยุโรป เพราะไอร์แลนด์เหนือและสกอตแลนด์ที่มีทีท่าอยากแยกตัวจากสหราชอาณาจักรอยู่แล้ว อาจใช้เป็นเงื่อนไขในการทำประชามติอีกรอบ เพื่อจะอยู่ต่อกับสหภาพยุโรป

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ผลกระทบจริงๆ ต่อเศรษฐกิจค่อนข้างยากที่จะประเมิน เพราะมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูงเกี่ยวกับเงื่อนไขหลักจากการโหวตไปแล้ว และนักวิเคราะห์หลายคนมีประมาณการที่ต่างกันค่อนข้างมาก ตั้งแต่บวกยันลบ (อาจจะขึ้นอยู่กับความเห็นทางการเมือง)

แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการออกจากสหภาพยุโรปออกมาเตือนกันค่อนข้างเยอะ ทั้งรัฐบาลสหราชอาณาจักรเอง ผู้นำยุโรป และผู้นำสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ IMF และ OECD ยังออกมาเตือนว่า ถ้าสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปจริงๆ อาจจะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจโลกอย่างร้ายแรงได้ (และดันมาทำกันตอนเศรษฐกิจโลกเปราะบางเสียด้วย) และประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นความเสี่ยงสำคัญที่ผู้จัดการกองทุนทั่วโลกยกขึ้นมาเป็นลำดับต้นๆ

แม้แต่ธนาคารกลางอังกฤษ ยังบอกว่าจะต้องเตรียมมาตรการรับมือกรณีที่ต้องออกจากสหภาพยุโรปจริงๆ หรือกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ ยังบอกว่าการลงประชามติอาจจะมีผลต่อการตัดสินใจ

Too close to call

ผลการสำรวจประชามติ (ตามดูได้ที่นี่) ที่ผ่านมายังคงค่อนข้างใกล้กันมาก แม้ฝ่ายสนับสนุนให้อยู่ต่อจะมีคะแนนนำอยู่เล็กน้อย แต่ฝ่ายที่ยังไม่ตัดสินใจยังคงมีมาก และสามารถเปลี่ยนผลการลงคะแนนได้แบบสบายๆ (ตัวชี้วัดอื่นๆ เช่น ผลจากเว็บไซต์พนันต่างๆ ให้โอกาสอยู่ต่อเยอะกว่าพอสมควร)

ที่มา: Financial times
ที่มา: Financial times

อย่างไรก็ดี ตลาดก็ให้ความกังวลประเด็นนี้ค่อนข้างมาก ค่าเงินปอนด์อังกฤษหล่นไปอยู่ระดับต่ำที่สุดในรอบหลายปี และราคาหุ้นบริษัทที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการออกจากสหภาพยุโรปก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

ที่มา: TradingEconomics.com
ที่มา: TradingEconomics.com

ติดตามข่าวสารกันดีๆ เพราะอาจจะมีผลกระทบลามมาถึงเราได้เหมือนกัน แต่ถ้าให้ผมเดาวันนี้ผมเดาว่าผลโหวตออกมาไม่น่าออกครับ เพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนน่าจะมีเยอะจนไม่กล้าโหวตออกกัน คล้ายๆ กับตอนที่สกอตแลนด์โหวตเมื่อปีก่อน

แต่นี่เป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจ อะไรก็เกิดขึ้นได้ครับ