ThaiPublica > คอลัมน์ > ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย: อีกหนึ่งปัญหาด้านการศึกษาที่ภาครัฐควรใส่ใจ

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย: อีกหนึ่งปัญหาด้านการศึกษาที่ภาครัฐควรใส่ใจ

25 พฤษภาคม 2016


นณริฏ พิศลยบุตร [email protected]
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

บทความนี้กลั่นกรองเนื้อหาจากบทความ aBRIDGEd ฉบับเต็มเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย: ข้อสรุปจากผลการสอบปิซ่า (PISA)” เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

ที่มาภาพ : https://www.pier.or.th/wp-content/uploads/2016/04/graduated.jpg
ที่มาภาพ: https://www.pier.or.th/wp-content/uploads/2016/04/graduated.jpg

เป็นที่ทราบกันดีว่าระบบการศึกษาของไทยมีปัญหาในหลายด้าน แต่ปัญหาที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงก็คือปัญหาด้านปริมาณ ซึ่งหมายถึง ปัญหาที่เด็กไทยไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้มากเพียงพอที่จะสนับสนุนการทำงานในอนาคต เช่น มีเด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่ต้องออกจากการเรียนกลางคัน หรือครอบครัวไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้

อีกปัญหาหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันและได้รับความสนใจ คือ ปัญหาด้านคุณภาพ ซึ่งผลการสำรวจความพึงพอใจของภาคธุรกิจและผลการสอบวัดทักษะพื้นฐานในระดับนานาชาติ เช่น การประเมินความรู้ของนักเรียนในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ภายใต้โครงการ TIMSS (The Trends in International Mathematics and Science Study) บ่งชี้ถึงปัญหาว่าความสามารถของเด็กนักเรียนไทยยังอยู่ในระดับแย่ (Poor) และมีทักษะไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน

แม้ว่าทั้งสองมิติปัญหาจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาของไทย แต่ยังมีอีกมิติหนึ่งที่เป็นปัญหาที่สำคัญทางด้านการศึกษาที่ควรได้รับการจัดการแก้ไขเช่นเดียวกัน มิติที่สำคัญดังกล่าว ก็คือ มิติความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งหมายถึง ความแตกต่างในผลลัพธ์ของการศึกษา อันเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ ที่มากกว่าแค่คุณภาพของการเรียนการสอน แต่ครอบคลุมไปถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ปัจจัยเฉพาะของนักเรียนแต่ละคน ปัจจัยทางด้านครอบครัว ไปจนถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษา

ทำไมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยจึงมีความสำคัญ?

ผู้เขียนมีความเห็นว่า การพัฒนาเฉพาะมิติทางด้านปริมาณและคุณภาพโดยไม่คำนึงถึงมิติความเหลื่อมล้ำ แม้ว่าจะช่วยให้เด็กได้รับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นและช่วยสร้างทักษะที่ตอบสนองต่อตลาดแรงงาน แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของผลลัพธ์ทางการศึกษาที่แตกต่างกัน จะทำให้โอกาสในอนาคตของเด็กไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในที่สุด

ผู้เขียนได้ทำการวิเคราะห์แยกองค์ประกอบของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย โดยอาศัยข้อมูลผลการสอบปีซ่าปี พ.ศ. 2555 เป็นพื้นฐานในการศึกษาสภาพปัญหา โดยการประเมินผลของปิซ่า (PISA) ถูกออกแบบให้วัดความสามารถของเด็กนักเรียนวัย 15 ปี เพื่อประเมินความพร้อมของทักษะต่างๆ ที่สำคัญสำหรับการตอบรับความท้าทายที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

ในอนาคตมากกว่าที่จะเน้นความสามารถในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งโดยเฉพาะ ผลการสอบดังกล่าวจึงสะท้อนถึงความพร้อมของเยาวชนในแต่ละประเทศ ว่ามีความพร้อมมากน้อยเพียงใดในการจะดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคต

ข้อสรุปผลการศึกษา

ผลการศึกษาให้ข้อสรุปที่น่าสนใจ คือ

1. ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นปัญหาที่สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ (เช่น การขยายขนาดโรงเรียน การเพิ่มจำนวนครู การให้ความรู้แก่บิดามารดา) มากกว่าที่จะมาจากปัญหาที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ (เช่น ความฉลาดทางสติปัญญา) ดังนั้น หากภาครัฐมีการกำหนดเป้าหมายและวิธีการที่เหมาะสม ย่อมสามารถที่จะบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยให้ลดลงได้

2. ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ส่วนใหญ่เป็นผลจากความแตกต่างกันทางด้านสถานศึกษา ซึ่งมีบทบาทสูงถึง 47 เปอร์เซ็นต์จาก 100 เปอร์เซ็นต์ของความเหลื่อมล้ำโดยรวม ในขณะที่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว เช่น การอยู่ร่วมกันของบิดาและมารดา ระดับการศึกษาของบิดาและมารดา รวมทั้งประเภทของอาชีพของบิดาและมารดา (กลุ่มแรงงาน กลุ่มลูกจ้าง กลุ่มสูงกว่าลูกจ้าง) จะสามารถอธิบายความเหลื่อมล้ำได้ 9 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ปัจจัยเฉพาะส่วนบุคคล เช่น อายุ เพศ นักเรียนเคยซ้ำชั้น สามารถอธิบายความแตกต่างในคะแนนสอบได้เพียงแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสะท้อนภาพว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาของไทยกว่าครึ่งเป็นผลมาจากความแตกต่างทางด้านสถาบันการศึกษาเป็นหลัก

เป็นที่น่าเสียดายว่า ปัญหาความจำกัดของข้อมูลทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์มูลเหตุของความเหลื่อมล้ำที่เหลืออีกกว่า 42 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้เขียนมีความเห็นว่าความเหลื่อมล้ำในส่วนนี้จะซ่อนอยู่ในปัจจัยส่วนตัวของแต่ละบุคคลและปัจจัยครอบครัวเป็นสำคัญ เนื่องจากตัวแปรที่สำคัญๆ ที่ไม่ได้รวมอยู่ในการวิเคราะห์ครั้งนี้จะอยู่ในตัวแปรสองกลุ่มดังกล่าว เช่น ความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) ทัศนคติของเด็กนักเรียนต่อการเรียนรู้ รูปแบบการอบรมของครอบครัว หรือวัฒนธรรมการเรียนรู้ในครอบครัว เป็นต้น

แนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทย

ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่สำคัญ 5 อันดับแรกที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งสามารถใช้เป็นเป้าหมายในการลดทอนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย ได้แก่ 1) การสนับสนุนให้ความรู้แก่มารดาทั้งทางด้านการศึกษา และการประกอบอาชีพจะเป็นการช่วยเหลือเด็กนักเรียนทางอ้อมที่ให้ประสิทธิผลที่สูง 2) การขยายขนาดของโรงเรียนให้มีขนาดที่เหมาะสมจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการให้บริการทางการศึกษาระหว่างโรงเรียนลง

3) กิจกรรมเสริมทักษะ เป็นปัจจัยที่สำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนได้ดี 4) การสนับสนุนให้เด็กอาศัยอยู่กับพ่อและแม่ และการแก้ไขปัญหาการหย่าร้างเพื่อลดปัญหาครอบครัว เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สนับสนุนให้เด็กมีผลคะแนนสอบที่ดีมากยิ่งขึ้น และเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อีกวิธีการหนึ่ง

และ 5) หากเพิ่มสัดส่วนครูต่อนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนที่มีสัดส่วนดังกล่าวค่อนข้างต่ำจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนได้ดียิ่งขึ้น

หมายเหตุ: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์