ThaiPublica > คอลัมน์ > เศรษฐกิจไทยแก่ก่อนรวย: ความเหลื่อมล้ำและกับดักเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยแก่ก่อนรวย: ความเหลื่อมล้ำและกับดักเศรษฐกิจ

2 พฤษภาคม 2016


สมประวิณ มันประเสริฐ
[email protected] จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความนี้กลั่นกรองเนื้อหาจากบทความ aBRIDGEd ฉบับเต็ม เรื่อง “เศรษฐกิจไทยในสังคมชราภาพ: บริบทใหม่ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำทางรายได้” เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (www.pier.or.th)

ที่มาภาพ: https://www.pier.or.th/?post_type=abridged&p=2707
ที่มาภาพ: https://www.pier.or.th/?post_type=abridged&p=2707

การเข้าสู่สังคมชราภาพของประเทศไทยจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

ในทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขสำรวจในปี พ.ศ. 2557 พบว่าผู้สูงอายุมีสัดส่วนถึงร้อยละ 14.9 ของประชากรทั้งประเทศ และแนวโน้มยังจะคงทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคตต่อไป การประมาณการโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 3 นอกจากนั้น ในอีก 12 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรไทยจะเริ่ม ‘ลดลง’ และในอีก 25 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรลดลงกว่า 1 ล้านคนจากปัจจุบัน

สังคมชราภาพส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร?

การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มที่จะโตได้ช้าลงในอนาคตเนื่องจากสัดส่วนคนทำงานลดลงงานวิจัยคาดการณ์ไว้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยที่ร้อยละ 4.5 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาจชะลอลงเป็นร้อยละ 3-3.5% เท่านั้น นั่นหมายถึงว่า คุณภาพชีวิตของคนไทยจะเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็นถึง 2 เท่า ในช่วงเวลา 70 ปี สิ่งที่น่ากังวลใจก็คือประเทศไทยจะ ‘แก่ก่อนรวย’ การขาดแคลนปัจจัยการผลิตพื้นฐานในขณะที่เรายังไม่สามารถนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจทำให้ประเทศไทย ‘ติดกับดักรายได้ปานกลาง’ ตลอดไปก็เป็นได้

นอกจากผลจาก ‘จำนวนแรงงาน’ ที่ลดลงแล้ว ลักษณะการเลือกอาชีพก็มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และอาจทำให้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแรงงานรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ในปี พ.ศ. 2556 ประเทศไทยมีสัดส่วนแรงงานที่เป็นผู้จ้างงานตนเอง (Self-employed) เช่น คนขับแท็กซี่ รับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า ค้าขายเบ็ดเตล็ด เป็นต้น ประมาณร้อยละ 35 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด ทั้งนี้ คนทำงานวัย 50-60 ปี มีจำนวนมากกว่าร้อยละ 50 ที่เป็นผู้จ้างงานตนเอง กลุ่มแรงงานที่มีอายุสูงก็มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้จ้างงานตนเองเพิ่มมากขึ้น งานวิจัยพบว่าในปี 2035 จะมีแรงงานวัย 50-60 ปีสูงขึ้นมาก และเป็นผู้จ้างงานตนเองมากกว่าร้อยละ 60 (รูปที่ 1) ซึ่งเป็นลักษณะอาชีพที่มีแนวโน้มที่มีประสิทธิภาพการผลิตต่ำกว่าการเป็นเจ้าของกิจการหรือลูกจ้าง ดังนั้น จึงอาจส่งผลให้ผลผลิตต่อหัวโดยรวมของประเทศลดลงได้ถึงร้อยละ 30 ในอีก 30 ปีข้างหน้า ความสามารถในการหารายได้ที่แตกต่างกันมากขึ้นระหว่างลักษณะอาชีพจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วยในอนาคต (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

รูปที่ 1 ลักษณะอาชีพของผู้มีงานทำตามอายุ ที่มา: Arayavechkit, Manprasert, and Pinthong (2015)
รูปที่ 1 ลักษณะอาชีพของผู้มีงานทำตามอายุ
ที่มา: Arayavechkit, Manprasert, and Pinthong (2015)

เราจะรับมือกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปอย่างไร?

โดยทั่วไปแล้ว นโยบายที่จะรับมือกับการเข้าสู่เศรษฐกิจชราภาพมักจะเกี่ยวข้องกับการขยายอายุเกษียณ การเพิ่มการลงทุน การพัฒนาทุนมนุษย์ และการยกระดับนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว

1. การขยายอายุเกษียณ งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการขยายอายุเกษียณการทำงานของผู้มีงานทำในประเทศไทยสามารถ ‘เลื่อน’ ผลกระทบต่อการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจไทยออกไปได้ประมาณ 10 ปี แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถาวร ในระยะยาวผลผลิตภาพของแรงงานไทยต้องเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 เพื่อที่จะชดเชยกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจแทนการใช้ปัจจัยการผลิตขั้นต้นที่มีเพียงทุนและแรงงานตามแบบการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมา

2. การเพิ่มผลิตภาพการผลิตของประเทศ สามารถทำให้เกิดขึ้นได้หลายวิธี เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การยกระดับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เป็น Soft Infrastructure เช่น การพัฒนาประสิทธิภาพระบบราชการ

การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน การลดความบิดเบือนในตลาด การลดการผูกขาด และการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม จะช่วยให้ ‘ผู้เล่น’ ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเกิดแรงจูงใจที่จะแข่งขันกันด้วย ‘การพัฒนา’ คุณภาพและประสิทธิภาพ การส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนามาเป็นตัวขับเคลื่อนกิจกรรมการผลิต ซึ่งหมายถึงการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการผลิต โดยใช้ ‘สิ่งใหม่’ เป็นตัวแข่งขัน ไม่ใช่ ‘ของเก่า’ ที่ราคาถูกลงเพื่อแข่งขันทางการค้า

3. การพัฒนาระบบการเงิน เพื่อให้เกิดการเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีศักยภาพ ดังนั้น ประเด็นสำคัญในการพัฒนาระบบการเงินจะเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความไม่สมบูรณ์ (Asymmetric Information) ในตลาดการเงิน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ ‘ผู้เล่นหน้าใหม่’ ซึ่งอาจทำได้โดยการพัฒนาระบบข้อมูลเครดิตของผู้ประกอบการรายย่อย รายใหม่ และนอกระบบ รวมถึงระบบสัญญา การบังคับใช้ และการกำกับที่สามารถคัดกรองเพื่อให้ระบบการเงินทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการช่วยจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ

4. การพัฒนาทักษะเฉพาะทาง ซึ่งหมายถึงการส่งเสริมให้แรงงานสามารถเลือกลักษณะอาชีพที่ตนเองถนัด ได้แก่ การพัฒนาทักษะในการบริหารองค์กรและการบริหารการเงินให้กับแรงงานผู้ที่มีความถนัดในการเป็นผู้ประกอบการ หรือในทางตรงกันข้าม การพัฒนาคุณภาพทรัพยากรบุคคลเฉพาะด้านให้กับแรงงานที่มีความโน้มเอียงที่จะเป็นลูกจ้าง

สิ่งดังกล่าวสามารถทำได้ผ่านกระบวนการทางการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ ตลอดช่วงอายุของประชากรไทย

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย การแก้ไขปัญหาคงมิใช่การเพิ่มจำนวนประชากร หากแต่อาจมองไปข้างหน้าว่า ในกำลังแรงงานที่น้อยลง ‘แบบจำลองใหม่’ ในการพัฒนาประเทศไทยในลำดับขั้นต่อไปควรจะเป็นการผลักดันนโยบายร่วมที่ส่งเสริมทั้ง ‘การพัฒนาทักษะแรงงานเฉพาะด้านและการพัฒนาระบบการเงิน’ จะช่วยทำให้ผลิตภาพของประเทศเพิ่มสูงขึ้น ผลผลิตต่อหัวเพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังสามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้เป็นอย่างดี

นอกจากประเด็นทางเศรษฐกิจที่ได้กล่าวมาในบทความนี้ เรายังคงต้องคำนึงถึงผลกระทบอื่นที่นอกเหนือไปจากมิติทางเศรษฐกิจ ในปัจจุบัน สังคมให้ความสนใจมุ่งเป้าไปที่ ‘คนชราในอนาคต’ อย่างไรก็ดี สังคมไทยในอนาคตมิได้ประกอบไปด้วยคนชราเท่านั้น ผลกระทบของสังคมชราภาพจะกระทบกับทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือประชากรวัยทำงานในอนาคต หากแต่คนเหล่านั้นอาจจะยังไม่สามารถส่งเสียงให้เราตระหนักถึงผลกระทบที่จะได้รับในอนาคต

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์