ThaiPublica > คอลัมน์ > ประชาธิปไตยเเละความสุขของประชาชน: บทเรียนจากประเทศสวิตเซอร์เเลนด์

ประชาธิปไตยเเละความสุขของประชาชน: บทเรียนจากประเทศสวิตเซอร์เเลนด์

23 พฤษภาคม 2016


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

ผมจำได้ว่าตอนที่ผมยังเป็นเด็กๆ อยู่นั้น วงดนตรีที่ผมชื่นชอบมากที่สุดวงหนึ่งคือวงคาราบาว มีเพลงของคาราบาวอยู่เพลงหนึ่งที่ผมจำได้ดีว่าฟังค่อนข้างบ่อยตอนที่ผมยังเป็นเด็กอยู่ก็คือเพลง “ประชาธิปไตย” ซึ่งเพลงนี้มีเนื้อร้องคร่าวๆ ดังต่อไปนี้

“ประชาชนชาวไทย ชนชาวไทยเอ๋ย ชีวิตท่านเป็นอย่างไร อย่างไรหนอ ขอฟังหน่อย ขอฟังหน่อย พูดให้ฟังหน่อย เล่าให้ฟังหน่อยซิ ประชาชนชาวไทย ชนชาวไทยเอ๋ย ชีวิตท่านเป็นอย่างงี้นี่เอง โอ้โฮตกงาน โอ้โฮยากจน ย่ำแย่เลย ย่ำแย่เลย จน ย่ำแย่เลย จน ย่ำแย่เลย รูรั่วเราต้องอุดรูรั่วไหล ถ้าอยากเห็นเมืองไทย พัฒนาขึ้น อย่างผู้นำ ต้องมาจากการเลือกตั้ง ใครอยากเป็นบ้าง ยกมือขึ้น”

ซี่งในตอนนั้นผมก็ไม่ได้คิดอะไรกับเพลงนี้มาก แค่ฟังสนุกๆ เท่านั้นเอง แต่พอมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งผ่านมาแล้วเกือบ 30 ปีหลังจากวันที่คาราบาวทำเพลงนี้ออกมาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2529 เพลงนี้ทำให้ผมคิดว่า แล้วการที่สังคมของเรามีระบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ นั้นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับความสุขของประชาชนจริงๆ อย่างที่เพลงของพี่แอ๊ด คาราบาว อยากจะสื่อหรือเปล่า

ประชาธิปไตยในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ประเทศไทยของเราไม่มีการเก็บข้อมูลความสุขของประชาชนอย่างเป็นระบบเหมือนอย่างประเทศอื่นๆ เพราะฉะนั้น จึงเป็นการยากที่นักวิชาการอย่างผมจะสามารถตอบโจทย์ตัวนี้จากการทำวิจัยกับตัวข้อมูลที่มีตัวอย่างเป็นประชาชนชาวไทยได้ แต่ก็ยังโชคดีที่เคยมีคนลองทำการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างระบอบประชาธิปไตยและความสุขของประชาชนในประเทศอื่นๆ ไปแล้ว

และตัวอย่างที่ผมอยากจะยกมาเล่าให้คุณผู้อ่านฟังในวันนี้ก็คือ ตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างระบอบประชาธิปไตยและความสุขของประชาชนในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

สวิตเซอร์แลนด์นับเป็นประเทศที่มีระบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยที่เป็นอุดมคติเกือบที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ โดยพลเมืองของเขาจะเป็นผู้เลือกผู้แทนในทุกระดับที่แบ่งตามเขตการปกครองของเขาที่แยกออกมาเป็นตำบลๆ ไป และในประเทศของเขาก็แทบที่จะไม่มีการซื้อขายเสียงเลย และที่สำคัญไปกว่านั้น ในแต่ละเขตการปกครองของเขา ทุกๆ คนมีสิทธิ์ในการโหวตหลังจากการเลือกผู้แทนของเขาเข้าไปแล้วว่านโยบายในเขตของเขานั้นควรมีอะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ในเขตของเขาควรจะมีนโยบายเกี่ยวกับการศึกษามากกว่าการลดภาษีรายได้ เป็นต้น เขาเรียกระบบประชาธิปไตยที่พลเมืองสามารถออกความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายท้องถิ่นโดยตรงว่า Direct Democracy

Direct Democracy and Life Satisfaction

ที่มาภาพ : https://www.baselland.ch/fileadmin/baselland/files/docs/parl-lk/landratssaal.jpg
ที่มาภาพ : https://www.baselland.ch/fileadmin/baselland/files/docs/parl-lk/landratssaal.jpg

คำถามสำคัญก็คือว่า การที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีระบบการปกครองเป็น direct democracy นั้นสามารถทำให้ประชากรของเขามีความสุขขึ้นจริงๆ หรือ จากผลงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ชาวสวิสสองคน อโลวิส สตุตเซอร์ (Alois Stutzer) จากมหาวิทยาลัย Basel และบรูโน ฟราย (Bruno Frey) จากมหาวิทยาลัย Zeppelin พบว่าเป็นความจริง โดยในการวิจัยของเขาทั้งสองพิสูจน์ให้เห็นก่อนว่า ในแต่ละเขตการปกครองนั้น ระดับของการเป็น direct democracy (ซึ่งวัดจากความรู้สึกของประชาชนที่คิดว่าถ้าเขาได้โหวตให้มีนโยบายอะไรไปแล้วผู้แทนเขตรับฟังและทำตามคะแนนเสียงของประชาชน) ของประชาชนนั้นไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในปริมณฑล Geneva มักจะบอกว่าระดับของการเป็น direct democracy ของเขตตนนั้นต่ำ (โดยมีค่าเฉลี่ยประมาณ 1.7 จากระดับ 1 ถึง 10) ในทางกลับกัน คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในปริมณฑล Basel Land มักจะบอกว่าระดับการเป็น direct democracy ของเขตตนนั้นสูงถึงสูงมาก (โดยมีค่าเฉลี่ยประมาณ 5.7 จากระดับ 1 ถึง 10)

ประชาธิปไตย

จากนั้น ทั้งสองก็ทำการพิสูจน์ให้เห็นว่าค่าเฉลี่ยของความสุขในชีวิตของคนนั้นมีความสัมพันธ์ทางด้านบวกกับระดับของการเป็น direct democracy ในเขต โดยในสมการความสุขของเขาพบว่า ถ้าระดับของการเป็น direct democracy เพิ่มขึ้นหนึ่งจุด (หรือ 1 unit) จะส่งผลให้ค่าเฉลี่ยความสุขในชีวิตของคนเพิ่มขึ้นประมาณ 2.8% ซึ่ง 2.8% มีค่าเท่ากันกับความสุขที่จะได้มาจากการออกจากกลุ่มเงินเดือนที่น้อยที่สุด (น้อยกว่า 2,000 ฟรังก์สวิสต่อเดือน) ไปกลุ่มถัดไป (2,000-3,000 ฟรังก์สวิสต่อเดือน) ซึ่งก็ถือว่าเยอะพอสมควร

ผมเชื่อ (หวัง) ว่าจะมีน้อยคนนักที่แปลกใจในผลของการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองชิ้นนี้ เพราะจริงๆ แล้วมันไม่น่าเป็นสิ่งที่น่าแปลกใจเลยที่ direct democracy จะมีผลทางด้านบวกต่อความสุขของประชาชน นั่นก็เป็นเพราะว่าคนเราเกือบทุกคนย่อมต้องการที่จะมีเสียงและมีสิทธิ์ในการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเราเองกันทั้งนั้น

แต่ก็นั่นล่ะนะครับ หลายคนอาจจะเถียงว่าประเทศของเขาอาจจะเป็นประเทศที่ unique ในโลกก็ได้ และประเทศเขาไม่ใช่ประเทศเรา ซึ่งผมว่าเราอาจจะต้องถกเถียงกันอีกยาวนานจนกว่าประเทศไทยเราจะมีการเก็บข้อมูลความสุขของคนอย่างมีคุณภาพและแน่นอน #SwitzerlandOnly

อ่านเพิ่มเติม
Frey, B.S. and Stutzer, A., 2000. Happiness, economy and institutions. The Economic Journal, 110(466), pp.918-938.