ThaiPublica > เกาะกระแส > อนุกรรมาธิการ สปท. ชง “บิ๊กตู่” สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรียกค่าเสียหาย คิง เพาเวอร์ ชี้ผิดสัญญา – เอไอเอส รวมกว่าแสนล้านบาท

อนุกรรมาธิการ สปท. ชง “บิ๊กตู่” สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรียกค่าเสียหาย คิง เพาเวอร์ ชี้ผิดสัญญา – เอไอเอส รวมกว่าแสนล้านบาท

12 พฤษภาคม 2016


วันที่ 11 พฤษภาคม 2559 คณะกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาขับการเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) แถลงผลการศึกษาสัญญาสัมปทาน AIS-คิงเพาเวอร์ ณ ห้องโถงชั้นล่าง อาคารรัฐสภา
วันที่ 11 พฤษภาคม 2559 คณะกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แถลงผลการศึกษาสัญญาสัมปทาน AIS-คิงเพาเวอร์ ณ ห้องโถงชั้นล่าง อาคารรัฐสภา

ท่ามกลางการฉลองชัยของทีมเลสเตอร์ซิตี้ที่ได้แชมป์พรีเมียร์ลีก ของ “วิชัย ศรีวัฒนประภา” เจ้าพ่อคิงเพาเวอร์ ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาขับการเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบให้นำกรณีศึกษาเสนอแนะต่อรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ดำเนินการแก้ไข 2 เรื่อง ประกอบด้วย 1. กรณีศึกษาสัญญาเช่าพื้นที่ระหว่างบริษัท ทอท. จำกัด (มหาชน) กับบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ (เชิงพาณิชย์) และ 2. กรณีศึกษาบริษัท ทีโอที จำกัด ไม่บังคับคดีบริษัท ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.14/2557 และ คดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2553

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านกลไกในการปราบปรามการทุจริต เปิดเผยว่า ในวันนี้ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.) สปท. มีมติเห็นชอบให้นำเสนอกรณีศึกษาและเสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามทุจริตต่อรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำเนินการแก้ไข 2 เรื่อง ดังนี้

เรื่องแรก กรณีศึกษาสัญญาเช่าพื้นที่ระหว่างบริษัท ทอท. กับบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ นายชาญชัยกล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการด้านกลไกในการปราบปรามการทุจริต สปท. ได้ทำการศึกษาจากเอกสารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ บริษัท ทอท. และกรมศุลกากร พบว่า บริษัท ทอท. ร่วมกับบริษัท คิง เพาเวอร์ กระทำผิดตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ 2535 ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการทำสัญญาเช่าพื้นที่ โดยคณะอนุกรรมาธิการฯ มีพยานหลักฐานที่สำคัญ คือ คำฟ้องของบริษัท คิง เพาเวอร์ ที่ระบุว่าบริษัทได้ลงทุนตบแต่งร้านค้า ทั้งในส่วนของบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี มีมูลค่าการลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ ลงทุนตบแต่งร้านค้าอีก 1,700 ล้านบาท ถือว่าเอกสารคำฟ้องคดีแพ่งดังกล่าว รวมทั้งคำพิพากษาให้ถอนฟ้อง ทำให้ ทอท. รับทราบว่าเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐทันที (อ่านเพิ่มเติม ข่าวข้อเท็จจริง “คิงเพาเวอร์-ทอท.” ขอต่อสัญญาปี 2547 ทำดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ เพียงรายเดียว)

ปรากฏว่า ทอท. มีการต่อสัญญาให้บริษัทอีก 2 ครั้ง ทั้งที่ ทอท. ทราบอยู่แล้วว่าต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนเข้าร่วมงาน ในการต่อสัญญาให้บริษัทไม่ว่ากรณีใด ดังนั้น ถือว่าสัญญาเป็นโมฆะ การกระทำความผิดของ ทอท. ก่อให้เกิดประโยชน์แก่บริษัท คิง เพาเวอร์ แต่ทำให้รัฐเสียหายประมาณ 1,000 ล้านบาท ตามเอกสารที่ ทอท. และกรมศุลกากรส่งมาให้คณะอนุกรรมาธิการฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

คณะอนุกรรมาธิการฯ สรุปว่า การกระทำความผิดต่อกฎหมายระหว่าง ทอท. กับ คิง เพาเวอร์ ทำให้รัฐเสียหาย 21,000 ล้านบาท และทำให้เกิดการผูกขาดสัญญามีอำนาจเหนือรัฐ โดยอ้างว่าสัญญาให้เช่าพื้นที่แก่คิง เพาเวอร์ คือสัมปทานทั้งสนามบิน ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นแค่การเช่าพื้นที่ และ ทอท. ต้องได้รับผลตอนแทนจากการขายสินค้า 15% ใน 5 ปีแรก จากนั้นต้องปรับเพิ่มอีก 1% ทุกปี ปรากฏว่ากรณีบริษัท คิง เพาเวอร์ ขายสินค้านอกสนามบิน แต่ให้ลูกค้ามารับสินค้าที่เคาน์เตอร์ในสนามบิน (จุดส่งมอบสินค้า) โดยไม่จ่ายค่าตอบแทนตามสัญญา และกีดกันผู้ค้ารายอื่นไม่สามารถเปิดจุดส่งมอบสินค้าในสนามบินได้ โดยอ้างเป็นการได้สัมปทานผู้ขายแต่เพียงผู้เดียว

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ทอท. ได้กล่าวว่า “องค์กรอิสระ คือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้เข้าตรวจสอบบัญชีการขาย และสต็อกสินค้าคงคลัง ซึ่งตามสัญญาต้องติดตั้งระบบตรวจสอบยอดขาย (POS) มีการกำหนดไว้ใน TOR ครั้งแรก และยังเป็นเงื่อนไขในสัญญา ปรากฏ 9 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ติดตั้ง ก็ไม่เห็นเสียหายอะไรหรือเอาผิดใครได้” ซึ่งเป็นการกล่าวโดยผู้บริหารระดับสูงที่ไม่ได้ศึกษาสัญญาว่าเป็นการผิดสัญญาตั้งแต่ต้น ซึ่งในสัญญาถือว่าเป็นการทำผิดสัญญา ทอท. สามารถบอกเลิกสัญญาได้ทันที การท้าทายของผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เท่ากับทำผิดกฎหมาย เอื้อประโยชน์แก่บริษัท คิง เพาเวอร์ โดยเจตนาปกปิดข้อมูลความเสียหายต่อ ทอท. (อ่านเพิ่มเติม ตำนานดิวตี้ฟรี 26 ปี ของ “วิชัย ศรีวัฒนประภา” เจ้าพ่อคิง เพาเวอร์ ฝากถึง “ต่างชาติ” เปิดเสรี “Pick-up Counter” รอสัญญาสิ้นสุดเท่านั้น)

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านกลไกในการปราบปรามการทุจริต สปท.
นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านกลไกในการปราบปรามการทุจริต สปท.

ต่อกรณีที่คณะอนุกรรมาธิการระบุว่า กรณี ทอท. ร่วมกับบริษัท คิง เพาเวอร์ กระทำผิดกฎหมาย และทำให้รัฐเสียหาย 21,000 ล้านบาท มีวิธีการคำนวณอย่างไร นายชาญชัยตอบว่า ในสัญญาเช่าพื้นที่กำหนดให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ต้องจ่ายค่าเช่าให้ ทอท. 5 ปีแรก จ่าย 15% ของรายได้จากการขายสินค้า ปีที่ 6 จ่าย 16% ปีที่ 7 จ่าย 17% เพิ่มขึ้นปีละ 1% ดังนั้น ในกรณีร้านค้าปลอดอากรในเมืองขายสินค้า ลูกค้าต้องมารับสินค้าที่สนามบินเท่านั้น รับสินค้าที่อื่นไม่ได้ เพราะเป็นสินค้าปลอดภาษี และต้องจ่ายค่าเช่าตามอัตราที่กำหนดในสัญญา ปรากฏว่าบริษัท คิง เพาเวอร์ ไม่ได้จ่ายในอัตราที่กำหนดในสัญญา คณะอนุกรรมาธิการ จึงนำยอดขายของสินค้าปลอดอากรในเมืองบันทึกไว้ในงบดุลของ ทอท. มีมูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านบาท คำนวณกับอัตราค่าเช่าเป็นรายปีตามที่กล่าวข้างต้น เมื่อไม่ได้ชำระก็ทำให้รัฐเสียหาย 21,000 ล้านบาท

“ความเสียหาย 21,000 ล้านบาท คือเงินที่รัฐบาลไทยไปกู้มาจากรัฐบาลญี่ปุ่น 147,000 ล้านบาท เพื่อนำมาสร้างสนามบิน แต่ ทอท.ให้มีบริษัทเดียวที่บริหารจัดการธุรกิจดิวตี้ฟรีเพียงรายเดียว ประเด็นนี้มีการหารือกันหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังอ้างว่าเป็นเรื่องของการให้สัมปทาน ผมขอยืนยันว่าไม่ใช่สัมปทาน แต่เป็นการให้เช่าพื้นที่ธรรมดา ทอท. จะขอพื้นที่คืนเมื่อไหร่ก็ได้ หากพบบริษัท คิง เพาเวอร์ ทำผิดสัญญา ขณะนี้มีบริษัทเอกชนรายอื่น เช่น บริษัท สายการบินกรุงเทพ ทำเรื่องถึง ทอท. ขอตั้งดิวตี้ฟรีในเมือง และให้ลูกค้ามารับสินค้าที่ Pick-up Counter ยอมจ่ายค่าเช่าเคาน์เตอร์ให้ ทอท. 15% ของรายได้จากยอดขาย แต่ ทอท. ปฏิเสธ บอกไม่ให้ พื้นที่ในสนามบินเต็มแล้ว ต้องไปเจรจาขอเช่าพื้นที่กับบริษัท คิง เพาเวอร์ ซึ่งเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์ในพื้นที่ของสนามบินทั้งหมด หากบริษัท คิง เพาเวอร์ ไม่อนุญาตให้เช่าพื้นที่ ผู้ประกอบการรายอื่นก็ไม่มีสิทธิเปิดกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมืองได้ เพราะไม่มีจุดส่งมอบสินค้า” นายชาญชัยกล่าว

สำหรับการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ นายชาญชัยกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นขึ้นมาก่อนที่จะมีการต่อสัญญาร้านค้าปลอดอากรในสนามบินให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ในปี 2548 ขณะนั้นมีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า หากนำราคาประเมินมูลค่าที่ดิน อสังหาริมทรัพย์รวมกันแล้ว น่าจะมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท และหลังจาก พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 พล.อ. สนธิ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภายในสนามบินสุวรรณภูมิทั้งหมด 135 สัญญา ซึ่งสัญญาเช่าพื้นที่ของบริษัท คิง เพาเวอร์ กับ ทอท. ก็เป็นหนึ่งในสัญญาที่ถูกสอบข้อเท็จจริง

ปี 2550 พล.อ. สพรั่ง กัลยาณมิตร อดีตประธานกรรมการ ทอท. อาศัยมติบอร์ด ทอท. ยกเลิกสัญญา ทางบริษัท คิง เพาเวอร์ ยื่นคำร้องขอคุ้มครองต่อศาลแพ่ง เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นขึ้นมาอีก เนื่องจากบริษัท คิง เพาเวอร์ เขียนในคำร้องต่อศาลแพ่งว่า บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ได้ลงทุนตกแต่งร้านค้าไปแล้วมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,020 ล้านบาท และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ ลงทุนตกแต่งร้านค้าอีก 1,700 ล้านบาท ทั้งสองสัญญามีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ต่อมาปี 2551 บริษัท คิง เพาเวอร์ ไปถอนคำฟ้องต่อศาล โดยในคำถอนฟ้องตามคำพิพากษาของศาล ระบุว่า หากมีการลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาทเมื่อไหร่ คิงเพา เวอร์ จะปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ ทันที นี่คือคำให้การต่อศาล จากนั้นรัฐบาลก็มีการต่อสัญญาให้บริษัท คิง เพาเวอร์ อีก 2 ครั้ง ทั้งๆ ที่ทราบว่าเป็นโครงการที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท โดยไม่เข้ากระบวนการร่วมทุน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า เคยนำเสนอข่าวข้อเท็จจริงกระบวนการต่อสัญญาเช่าพื้นที่ร้านค้าปลอดอากรในสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินในภูมิภาค ก่อน ทอท. ต่อสัญญาให้บริษัท คิง เพาเวอร์ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2547 คณะทำงาน ทอท. ทำรายงานถึงประธานคณะกรรมการ ทอท. โดยนำผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งตีความว่า การประเมินวงเงินของโครงการจัดตั้งร้านค้าปลอดอากร ณ สนามบินสุวรรณภูมินั้น หากวงเงินลงทุนในโครงการ หรือมีทรัพย์สินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องปฏิบัติ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ขณะที่ผลการวิเคราะห์ของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า โครงการนี้มีมูลค่าการลงทุน 813.84 ล้านบาท จึงไม่เข้าข่ายที่จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ แสดงต่อที่ประชุมบอร์ดก่อนต่อสัญญาให้บริษัท คิง เพาเวอร์

ทวงเงินคืนจากAIS

เรื่องที่ 2 เป็นผลการศึกษาและตรวจสอบคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีเลขแดงที่ 1/2553 นายชาญชัยกล่าวว่า เป็นคดีที่อัยการสูงสุดขออำนาจศาล อายัดหรือยึดทรัพย์สิน พ.ต.ท.(ยศก่อนที่จะถูกถอดออก) ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งในคำพิพากษาศาลระบุว่า มีการแก้ไขสัญญา 5 ครั้ง มีผู้ได้รับประโยชน์จากการแก้ไขสัญญาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนทั้งหมด 5 ครั้ง รวมเป็นวงเงิน 88,359 ล้านบาท โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการแก้ไขสัญญาครั้งนั้นคือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต โดยให้ AIS นำเงินค่าภาษีมาหักออกจากเงินที่ต้องจ่ายเป็นค่าสัมปทานอีก 36,000 ล้านบาท รวม 2 รายการเป็นเงิน 125,220 ล้านบาท

“ผลประโยชน์เหล่านี้ยังตกอยู่กับ AIS ตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 1336 ระบุว่า หากเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน ไม่มีอายุความ สามารถจัดเก็บและตามทวงคืนได้ทั้งหมด คณะกรรมาธิการวิสามัญจึงเร่งทำเรื่องเสนอ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามทวงเงินคืนให้ครบถ้วน รวมทั้งทรัพย์สิน เสา และอุปกรณ์ เครื่องมือในการส่งสัญญาเซลลูลาร์ 900 ที่ครบกำหนดสัญญาวันที่ 28 กันยายน 2558 AIS ต้องส่งมอบอุปกรณ์ ทรัพย์สิน ทั้งหมดให้คู่สัญญา คือ TOT ปรากฏว่า AIS ไม่ได้ส่งทรัพย์สินตามสัญญา อ้างว่าเสาที่ติดตั้งอยู่บนอาคารไม่ได้อยู่ในสัญญา ปัจจุบันบริษัท AIS นำอุปกรณ์ทั้งหมดไปใช้เป็นประโยชน์หาเงินเข้าบริษัทโดยไม่จ่ายเงินให้รัฐ รวมทั้งกรณีของคิง เพาเวอร์ และ AIS ทำให้รัฐเสียหายเกือบ 2 แสนล้านบาท ตามขั้นตอนต่อไปคณะอนุกรรมาธิการฯ ต้องนำผลการศึกษาทั้ง 2 เรื่องเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของ กมธ.วิสามัญฯ ที่มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน เพื่อขอมติส่งเรื่องให้รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำเนินการต่อไป” นายชาญชัยกล่าว

อ่านแถลงข่าวคณะกรรมการธิการวิสามัญฯ