ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 21-27 พ.ค. 2559: เล็งดำเนินคดี ‘อาทิตย์ อุไรรัตน์’ โพสต์ ซื้อขายตำแหน่งใน สตช. และ 3 องค์กรสิทธิฯ หวั่น แก้ไข ‘พ.ร.บ.คอมพ์’ กระทบเสรีภาพออนไลน์

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 21-27 พ.ค. 2559: เล็งดำเนินคดี ‘อาทิตย์ อุไรรัตน์’ โพสต์ ซื้อขายตำแหน่งใน สตช. และ 3 องค์กรสิทธิฯ หวั่น แก้ไข ‘พ.ร.บ.คอมพ์’ กระทบเสรีภาพออนไลน์

28 พฤษภาคม 2016


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 21-27 พ.ค. 2559

  • เล็งดำเนินคดี “อาทิตย์ อุไรรัตน์” โพสต์ “ซื้อขายตำแหน่งใน สตช.”
  • นักวิชาการแนะ ออก กม. “ห้ามดื่มในที่สาธารณะ” ป้องกันเหตุรุนแรงจากการดื่ม
  • แบ็กโฮปิดทาง-มวลชนนั่งเฝ้า ธรรมกายหวั่นเจ้าหน้าที่บุกจับธัมมชโย
  • จี้สอบเหตุวิสามัญโรฮิงญา
  • 3 องค์กรสิทธิฯ หวั่น แก้ไข “พ.ร.บ.คอมพ์” กระทบเสรีภาพออนไลน์
  • เล็งดำเนินคดี “อาทิตย์ อุไรรัตน์” โพสต์ “ซื้อขายตำแหน่งใน สตช.”

    ที่มาภาพ : https://www2.rsu.ac.th/home
    ที่มาภาพ : https://www2.rsu.ac.th/home

    วันที่ 25 พ.ค. 2559 เว็บไซต์เดลินิวส์รายงาน ว่าพล.ต.ต. ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษก ตร. กล่าวถึงกรณี ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กรณีโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก “Arthit Ourairat” กล่าวหามีการซื้อ-ขายตำแหน่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า เบื้องต้นยังไม่มีการออกหมายเรียก ดร.อาทิตย์ แต่คาดว่าเร็วๆ นี้จะสามารถดำเนินการได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์เรียบร้อยแล้ว ส่วนเจตนารมณ์ในการออกมาโพสต์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์อะไรนั้นไม่ทราบ ซึ่งการโพสต์แสดงความคิดเห็นทุกคนสามารถทำได้ วิจารณ์บุคคล วิจารณ์องค์กร ได้อย่างเปิดเผยและอิสระอยู่แล้ว แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิ์ของคนอื่น ซึ่ง พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ย้ำตลอดว่าไม่ต้องการดำเนินคดีกับใคร แต่เมื่อมีการโพสต์ข้อความที่เสียหายกับองค์กรตำรวจ ผบ.ตร.ในฐานะผู้นำองค์กร จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินคดี ถ้าไม่ดำเนินคดีก็จะเป็นการละเลย

    “เรื่องการกล่าวหาซื้อขายตำแหน่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน วานนี้ (24 พ.ค.) ผมได้ให้สัมภาษณ์ไป ปรากฏว่ามีสื่อมวลชนบางช่อง บางฉบับ นำเสนอข่าวว่าการโพสต์ของ ดร.อาทิตย์ มีความเชื่อมโยงกับ พล.ร.อ. พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งยืนยันว่าเป็นคนละคดีกันไม่เกี่ยวข้องแม้แต่น้อย ทั้งพฤติกรรม พฤติเหตุ ต่างกันโดยสิ้นเชิง” พล.ต.ต. ปิยะพันธ์ กล่าว

    ด้าน พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการดำเนินคดีกับ ดร.อาทิตย์ ในข้อหาหมิ่นประมาทองค์กร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่เสียหายกำลังดำเนินการในส่วนเกี่ยวข้อง ในการกล่าวหาใดๆก็ตาม จะพูดลอยๆ ไม่ได้ เพราะอาจจะเสี่ยงต่อการดำเนินคดี โดย ผบ.ตร. ยอมไม่ได้ที่จะให้ใครมากล่าวหาองค์กรตำรวจลอยๆ เพราะถือเป็นการทำลายศักดิ์ศรีตำรวจ

    นักวิชาการแนะ ออก กม. “ห้ามดื่มในที่สาธารณะ” ป้องกันเหตุรุนแรงจากการดื่ม

    วันที่ 23 พ.ค. 2559 เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์รายงาน ว่า นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ นักวิจัยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงกรณีวันรุ่นไทยดื่มสุราก่อเหตุทำร้ายนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่หัวหินในเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาชาวโลก ว่า การดื่มสุราของวัยรุ่นกลุ่มนี้เป็นการดื่มสุราแบบตั้งวงดื่มในพื้นที่สาธารณะ ภาครัฐควรจัดการแก้ไขปัญหาโดยการออกกฎหมาย “การห้ามดื่มสุราในพื้นที่สาธารณะ (Open container law)” เพื่อป้องกันเหตุการณ์การทำร้ายนักท่องเที่ยวไม่ให้เกิดขึ้นอีก การดื่มในลักษณะนี้เป็นเรื่องผิดกฎหมายในหลายประเทศโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ทั้งนี้ การออกกฎหมายการห้ามดื่มสุราในพื้นที่สาธารณะพร้อมกับการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วอย่างจริงจัง เป็นทางเลือกหนึ่งที่ภาครัฐสามารถทำได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านสวัสดิภาพความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว รวมไปถึงประชาชนชาวไทยเอง

    “หลักการของกฎหมาย คือ ห้ามดื่มสุราในพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ ทางเท้า ที่จอดรถ รวมไปถึงการดื่มสุราขณะขับขี่หรือโดยสารบนยานพาหนะ โดยหลักฐานที่ใช้ดำเนินคดี คือ บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มสุราที่ถูกเปิดฝาออก (open container) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรียกกฎหมายลักษณะนี้ ยกตัวอย่างเช่น นาย A เดินถือกระป๋องเบียร์ที่เปิดฝาแล้วอยู่บนทางเท้า แม้นาย A ไม่ได้แสดงพฤติกรรมการดื่มเบียร์ให้เห็น หรือมีพฤติกรรมเมาสุราก็ตาม ถือว่านาย A กระทำผิดกฎหมายการห้ามดื่มสุราในพื้นที่สาธารณะทันที” นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว

    นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากงานวิจัยเรื่องการทบทวนองค์ความรู้เรื่อง แอลกอฮอล์กับความรุนแรงของแผนงานการพัฒนาระบบการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา สสส. ปี 2556 พบว่า การดื่มสุราทำให้เพิ่มความเสี่ยงการทะเลาะวิวาทเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าในเพศชาย และ 14 เท่าในเพศหญิง เนื่องจากสุราออกฤทธิ์ต่อสมองทำให้อารมณ์ของผู้ดื่มแปรปรวนในลักษณะก้าวร้าวและมีการตัดสินใจแย่ลง โดยในกลุ่มที่ดื่มสุราเป็นประจำ เพศชายเกือบครึ่งหนึ่ง และเพศหญิงประมาณ 1 ใน 3 เคยประสบเหตุทะเลาะวิวาทจากการดื่มสุรา นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก ร่วมกับ สสส. ได้สำรวจเรื่องอันตรายต่อผู้อื่นจากการดื่มสุรา (The Harm to Others from Drinking) ปี 2558 กลุ่มตัวอย่างกว่า 80% เคยได้รับความเดือดร้อนจากการดื่มสุราของผู้อื่นในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก และที่น่าตกใจ คือ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ปกครองของเด็กและเยาวชนถึง 25% ระบุว่า เด็กและเยาวชนที่อยู่ในความดูแลเคยได้รับความเดือดร้อนจากการดื่มสุรา สะท้อนให้เห็นว่า การดื่มสุรานอกจากก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ดื่มแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้คนรอบข้างและสังคม ไม่เว้นแม้แต่เยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติด้วย

    แบ็กโฮปิดทาง-มวลชนนั่งเฝ้า ธรรมกายหวั่นเจ้าหน้าที่บุกจับธัมมชโย

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์วอยซ์ทีวี (http://news.voicetv.co.th/thailand/369789.html)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์วอยซ์ทีวี (http://news.voicetv.co.th/thailand/369789.html)

    วันที่ 27 พ.ค. 2559 เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงาน ว่าภายหลังจากพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย ไม่เดินทางเข้ามอบตัวรับทราบข้อกล่าวคดีฟอกเงิน ตามที่นัดไว้ ที่ สภอ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวานนี้ (26 พ.ค. 2559) โดยทนายความกล่าวอ้างว่า พระธัมมชโยอาพาธกะทันหันระหว่างเคลื่อนย้าย จึงไม่สามารถเดินทางเข้าพบได้ กระทั่งจนถึงเวลา 16.30 น. พระธัมมชโยยังไม่เข้ามอบตัว จึงตัดสินใจดำเนินการตามกฎหมาย โดยจะประชุมหารือพนักงานสอบสวนในวันนี้ เวลา 10.00 น. เพื่อหาวิธีเข้าไปจับกุมตัว

    ส่วนบรรยากาศที่วัดพระธรรมกาย ช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่รายงานว่า มีการปิดประตูทางเข้าออกวัดพระธรรมกายด้านถนนบางขัน-หนองเสือ และบริเวณประตู 7 ยังมีบรรดาศิษยานุศิษย์นำรถยนต์เดินทางมาที่วัดพระธรรมกายอย่างไม่ขาดสาย จนต้องเดินทางไปใช้ถนนเลียบคลองแอนเพื่อเดินทางเข้าไปพื้นที่ชั้นในของทางวัด โดยมีเจ้าหน้าที่ของทางวัดถือกระบอกไฟคอยอำนวยความสะดวก และมีพระภิกษุสงษ์และมวลชนนั่งอยู่ริมทางคอยให้การต้อนรับ

    ส่วนที่ถนนเลียบคลองสามบริเวณหมู่ที่ 7 ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นประตูทางเข้าวัดธรรมกายอีกจุดที่สามารถเข้าวัดพระธรรมกายได้และเป็นจุดที่ใกล้เคียงอาคารอาคารดาวดึงส์ซึ่งเป็นจุดที่พระธัมมชโยนอนรักษาอาการอาพาธอยู่ในห้องปลอดเชื้ออยู่ในเขตสังฆาวาส ขณะที่ประตูทางเข้าทางวัดพระธรรมกายได้นำรถเกรดเดอร์และรถแบ็กโฮมาปิดกั้นทางเข้าออก รวมทั้งประตูที่อยู่ถัดไปและอยู่ระหว่างก่อสร้าง โดยมีการนำมวลชนมานั่งเฝ้าทั้งด้านในและด้านนอก และมีรถจักรยานยนขับวนเวียนตรวจสอบตลอดเวลา คาดว่าเป็นการเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอเข้าทำการจับกุมพระธัมมชโย

    จี้สอบเหตุวิสามัญโรฮิงญา

    ที่มาภาพ : http://news.voicetv.co.th/thailand/368295.html
    ที่มาภาพ : http://news.voicetv.co.th/thailand/368295.html

    วันที่ 23 พ.ค. 2559 เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงาน ว่า ผู้ต้องขังชายชาวโรฮิงญา จำนวน 21 คน ได้ใช้ใบเลื่อยเหล็กตัดตาข่ายเหล็ก ห้องควบคุมตัวผู้ต้องขังคดีหลบหนีเข้าเมือง สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพังงา ตำบลถ้ำน้ำผุด อำเภอเมือง จังหวัดพังงา บริเวณชั้น 2 ในช่วงเวลาประมาณ 03.00 น.ก่อนจะแยกย้ายหลบหนีไป ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ออกติดตามจับกุมและได้มีการวิสามัญฆาตกรรมชาวโรฮิงญาคนหนึ่งที่หลบหนี เพราะต่อสู้ขัดขืนระหว่างจับกุม

    เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) และเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (Coalition for the Rights of Refugees and Stateless Persons) ออกแถลงการณ์โดยระบุถึงความบกพร่องหลายประการในการควบคุมตัว ได้แก่ ห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหลายแห่งไม่ได้เหมาะสมต่อการควบคุมบุคคลผู้ต้องกักเป็นระยะเวลานาน ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของผู้ถูกควบคุมตัว, มีการกักขังเด็กและเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 4-18 ปี จนมีอย่างน้อยหนึ่งกรณีที่เด็กเสียชีวิตจากความเจ็บป่วยขณะถูกควบคุมในห้องกัก, การกักตัวมากกว่า 12 เดือนจนถึง 2 ปี ซึ่งทำให้เกิดความเครียดย่อมเปิดช่องทางให้ขบวนการค้ามนุษย์ และกลุ่มนายหน้าเข้าไปแสวงหาโอกาสในการดำเนินการได้มากขึ้น

    นอกจากนี้ องค์กรยังเรียกร้องให้

    1. ยุติการกักขังชาวโรฮิงยาจำนวนมากกว่า 400 คนที่ดำเนินการมามากกว่า 12 เดือน และให้ใช้การควบคุมตัวภายนอกห้องกักภายใต้อำนาจตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง มาตรา 54 ในการให้ประกันภายใต้เงื่อนไข หรือมาตรา 17 ในการผ่อนผันอยู่ในประเทศ โดยคำนึงถึงการเป็นบุคคลที่แสวงหาที่ลี้ภัย / ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่ไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้

    2. ยุติการกักขังเด็กและเยาวชนที่เดินทางเข้ามาในประเทศพร้อมกับผู้ปกครอง หรือเดินทางเข้ามาคนเดียว และให้ดำเนินการปกป้องและคุ้มครองที่เหมาะสมภายใต้พระราชบัญญัติเด็กแห่งชาติ พ.ศ.2546

    3. ให้ดำเนินการตรวจสอบเหตุวิสามัญชาวโรฮิงยา โดยหน่วยงานภายนอกหรือคณะทำงานที่เป็นอิสระจากหน่วยงานที่รับผิดชอบปฏิบัติการดังกล่าว และให้ดำเนินการไต่สวนการเสียชีวิตตามมาตรา 150 ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

    3 องค์กรสิทธิฯ หวั่น แก้ไข “พ.ร.บ.คอมพ์” กระทบเสรีภาพออนไลน์

    วันที่ 26 พ.ค. 2559 เฟซบุ๊กบีบีซีไทยรายงาน ว่าตัวแทนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เครือข่ายพลเมืองเน็ต และไพรเวซี อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกันหารือและยื่นจดหมายให้กับ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ พล.ต.อ. ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยแสดงความกังวลว่า จะมีการปรับแก้ให้เข้มงวดขึ้น และกระทบต่อเสรีภาพผู้ใช้งานสื่อออนไลน์

    โดยตัวแทนทั้ง 3 องค์กรได้ร่วมหารือกับ พล.ต.อ. ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ในฐานะประธานกรรมการวิสามัญพิจารณาร่าง แก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งผ่านชั้นกฤษฎีกาเข้าสู่การพิจารณารายมาตราในขณะนี้

    น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ รองประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวกับบีบีซีว่า วันนี้ทำได้เพียงยื่นจดหมายและหารือสั้นๆ ไม่สามารถอภิปรายได้มากอย่างที่คาดไว้ เนื่องจากสภานิติบัญญัติมีการประชุมอนุมัติงบประมาณ แต่เบื้องต้นนั้น ทั้ง 3 องค์กรต้องการให้ทางกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ได้รับทราบข้อกังวลเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมีลักษณ์ที่เคร่งครัดมากอยู่แล้ว

    ทั้งนี้ ตัวแทนขององค์กรทั้ง 3 ระบุว่ามีมาตราที่น่าห่วงกังวล ได้แก่ มาตรา 14, 15 และ 20 โดย มาตรา 14 นั้น เป็นการกำหนดโทษอาญาสำหรับผู้กระทำผิดโดยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกำหนดลักษณะความผิดไว้ 4 ประการคือ 1 นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน 2 นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน 3 นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา 4 นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

    มาตรา 14 นี้ยังกำหนดโทษผู้เผยแพร่ต่อโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จด้วย ซึ่ง น.ส. พรเพ็ญระบุว่ามีความกังวลอย่ายิ่งว่ามาตรา 14 อาจถูกตีความเพื่อใช้ลงโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทและดำเนินคดีอาญากับผู้โพสต์ข้อมูลทางออนไลน์ที่ “ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกว้าง ดังนั้น การแสดงความเห็นที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความปลอดภัยสาธารณะหรือความมั่นคงปลอดภัยของประเทศก็อาจมีความผิดอาญาได้

    สำหรับมาตรา 15 ของร่างแก้ไขฯ เป็นการกำหนดโทษให้ตัวกลางต้องรับผิด เท่ากับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14 หากผู้ให้บริการไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ได้ให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิด ซึ่งนายอาทิตย์ นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ตกล่าวการบัญญัติเช่นนี้เป็นการผลักภาระในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์แก่ผู้ให้บริการ และอาจทำให้ผู้ให้บริการเซ็นเซอร์ตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการรับโทษปรับ ถูกสั่งระงับหรือยุติการดำเนินกิจการ อันจะเป็นการไม่เคารพสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของผู้อื่น

    นายอาทิตย์กล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรา 20 ในร่างฯ ฉบับนี้ เปิดช่องให้ผู้มีอำนาจสั่งระงับการเผยแพร่หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ว่าไม่ได้ขัดต่อกฎหมายใดก็ตาม

    สำหรับการหารือในวันนี้ดำเนินไปอย่างค่อนข้างรวบรัดเนื่องจากเวลาน้อย กรรมาธิการฯ ได้นัดตัวแทนทั้ง 3 องค์กรหารืออีกครั้งใน 2 สัปดาห์ถัดไป ซึ่งจะมีการพิจารณารายมาตราอีกครั้ง