ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 30 เม.ย. – 6 พ.ค. 2559: คตง. ชี้มูลความผิด ‘ฮั้วประมูล’ อุโมงค์ไฟ กทม. และ “พบหลักฐาน ‘โอ๊ค’ ให้เงินเพจป่วน รอสอบสวน ‘ให้ไปทำอะไร'”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 30 เม.ย. – 6 พ.ค. 2559: คตง. ชี้มูลความผิด ‘ฮั้วประมูล’ อุโมงค์ไฟ กทม. และ “พบหลักฐาน ‘โอ๊ค’ ให้เงินเพจป่วน รอสอบสวน ‘ให้ไปทำอะไร'”

7 พฤษภาคม 2016


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 30 เม.ย. – 6 พ.ค. 2559

  • คตง. ชี้มูลความผิด “ฮั้วประมูล” อุโมงค์ไฟ กทม.
  • นักวิชาการหนุน เชื่อ “ค่าแรงขั้นต่ำ 360 บาท” ทำได้
  • เสวนาวันเสรีภาพสื่อ ชี้ การคุกคามเสรีภาพสื่อซับซ้อนขึ้น
  • ศาลอิตาลีชี้ขาด ขโมยอาหารบรรเทาหิวไม่ผิด
  • พบหลักฐาน “โอ๊ค” ให้เงินเพจป่วน รอสอบสวน “ให้ไปทำอะไร”
  • คตง. ชี้มูลความผิด “ฮั้วประมูล” อุโมงค์ไฟ กทม.

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์เนชั่นทีวี (http://www.nationtv.tv/main/content/crime/378500302/)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์เนชั่นทีวี (http://www.nationtv.tv/main/content/crime/378500302/)

    วันที่ 3 พ.ค. 2559 เว็บไซต์เนชั่นทีวีรายงานว่า เมื่อเวลา 15.45 น. ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แถลงข่าวผลการตรวจสอบโครงการติดไฟประดับอุโมงค์ไฟ LED จำนวน 5 ล้านดวง งบประมาณ 39.5 ล้านบาท ของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. ว่าคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ได้ประชุมพิจารณาในเรื่องนี้โดยมีประเด็นที่ตรวจสอบพบว่ามีพฤติกรรมฮั้วราคาหรือสมยอมกัน และนำมาซึ่งความเสียหาย จากพฤติกรรมไม่สุจริต ซึ่งมีข้อพิรุธต่างๆ ตั้งแต่การนำงบฉุกเฉินมาใช้ ทั้งที่งบฉุกเฉินจะต้องดำเนินการใช้ในเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน ถึงแม้การใช้งบฉุกเฉินจะเป็นอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. ทั้งหมดก็ตาม

    นายพิศิษฐ์กล่าวว่า จากการเรียกบริษัททั้งที่ชนะการประกวดราคาและบริษัทอื่นมาให้ข้อมูล พบว่าไม่มีประสบการณ์การประดับไฟ บริษัททั้งหมดเพิ่งจดทะเบียนไปพร้อมกับช่วงที่ผู้ว่าฯ กทม. ออกนโยบายกิจกรรมประดับไฟส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยพบว่าบริษัทจิปาถะไอเดียกับบริษัทคิวริโอเป็นเครือข่ายเดียวกัน ซึ่งมีการจดทะเบียนเพื่อไปสอบถามราคากลางในโครงการนี้

    จากนั้น ก็เหลือบริษัทแข่งขันสองบริษัท คือ บริษัทคิวริโอและบริษัทสรรค์สร้าง ทั้งที่สองรายไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมแต่ก็เข้ามาจดทะเบียนเพื่อให้ตรงกับทีโออาร์ที่ กทม. ประกาศไว้ ซึ่งในทีโออาร์ก็พบอีกว่า ในรายละเอียดไม่ได้ใส่ใจในคุณสมบัติของบริษัท แต่พิจารณาเพียงแค่บริษัทที่พิจารณามาจดทะเบียนร่วมเท่านั้น

    นายพิศิษฐ์กล่าวต่อว่าจากข้อพิรุธต่างๆ คตง. จึงมีมติเอกฉันท์ ว่าพฤติการณ์ครั้งนี้น่าเชื่อว่ามีการทุจริตซึ่งมีผู้เกี่ยวข้อทั้งหมด 9 คน โดยมี 1. ผู้ว่า กทม. 2. นายธวัชชัย จันทร์งาม ผอ.กองการท่องเที่ยวของสำนักวัฒนธรรมฯ 3. น.ส.ปราณี สัตยประกอบ ผอ.สำนักวัฒนธรรมฯ 4. นายยศศักดิ์ คงมาก ผอ.สำนักงบประมาณ กทม. และคณะกรรมการกำหนดทีโออาร์อีก 5 คน รวมทั้งหมดเป็น 9 คน ซึ่งทาง คตง. จะรีบทำสำนวนส่งไปทาง ป.ป.ช. สัปดาห์นี้เพื่อดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย ขณะเดียวกัน จะส่งเรื่องให้ปลัด กทม. เพื่อดำเนินการสอบสวนทางวินัย ส่วนเอกชนที่เกี่ยวข้อง สตง. ต้องส่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อพิจารณาความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา

    ทั้งนี้ คตง. ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเช็คราคานำเข้าของไฟอยู่ที่ 29 ล้านบาท จึงต้องสอบสวนว่ามีส่วนต่างขนาดไหนอย่างไรจากที่ตั้งไว้

    นายพิศิษฐ์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา สตง. พยายามเรียกผู้ว่าฯ กทม. มาชี้แจงถึง 2 ครั้ง แต่ก็มีนายอมร กิจเชวงกุล และนายจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าฯ มาชี้แจง ซึ่งก็ระบุว่าทำตามนโยบายผู้ว่า กทม. การตรวจสอบพบว่าบริษัทที่ชนะการประกวดราคาได้เตรียมสิ่งของก่อนที่จะทราบผลการประมูลด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นข้อพิรุธที่ปรากฏอย่างชัดเจน ส่วนข้าราชการที่มีความผิดต้องส่งเรื่องให้ปลัด กทม. สอบวินัย ซึ่งโทษสูงสุดจะเป็นการปลดออก ส่วนถ้าทั้ง 9 คนที่เกี่ยวข้องมีความผิดในเรื่องนี้ตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูล หก็มีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท ขณะที่โทษของผู้ว่าฯ กทม. จากนี้จะทำหนังสือถึงพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อ แต่ยืนยันว่า สตง. ทำตามหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ที่ผ่านทำอย่างตั้งใจตามข้อเท็จจริง โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงบนหลักฐานที่มีอย่างถ่องแท้จึงมีมติเอกฉันท์โดยไม่มีอคติใดๆ ส่วนผู้ว่าฯ จะลาออกหรือไม่ ไม่สามารถแนะนำได้เพราะท่านเป็นผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม หาก ป.ป.ช. สอบสวนจนถึงชี้มูลก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่” นายพิศิษฐ์กล่าว

    ด้านนางเบญทราย กียปัจจ์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า จะขอฟังข้อมูลรายละเอียดการแถลงข่าวอย่างละเอียดอีกครั้ง ภายหลังจากได้มอบหมายให้ช่องเมโทรทีวี ทีวีมหานคร บันทึกเทปการแถลงข่าวของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก่อนจะมีการแถลงข่าวต่อไป

    นักวิชาการหนุน เชื่อ “ค่าแรงขั้นต่ำ 360 บาท” ทำได้

    วันที่ 1 พ.ค. 2559 เว็บไซต์เนชั่นทีวีรายงานว่า ที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ บอกว่า ข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานที่ขอให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศนั้น มองว่าขณะนี้ควรปรับค่าจ้าง เชื่อว่าสามารถเพิ่มได้ 60 บาท และปรับเท่ากันทั่วประเทศโดยเร็วที่สุดเพราะค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นมาก แต่ละพื้นที่ค่าครองชีพไม่ต่างกัน ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่มีกำลังจ่ายได้ ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอี รัฐก็มีมาตรการช่วยเหลือโดยลดภาษี

    ส่วนข้อเรียกร้องขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประทศฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรองนั้น ขณะนี้ไทยถูกต่างชาติโจมตีเรื่องการไม่เคารพสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน จึงควรรับรองอนุสัญญาทั้งสองฉบับโดยเร็ว

    เสวนาวันเสรีภาพสื่อ ชี้ การคุกคามเสรีภาพสื่อซับซ้อนขึ้น

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์สำนักข่าวชายขอบ (http://transbordernews.in.th/home/?p=12587)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์สำนักข่าวชายขอบ (http://transbordernews.in.th/home/?p=12587)

    วันที่ 3 พ.ค. 2559 เว็บไซต์สำนักข่าวชายขอบรายงานว่า ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มีการจัดงานวันเสรีภาพสื่อมวลชน (World Press Freedom Day) โดยมีการเสวนาเรื่อง “เสรีภาพสื่อ…ประชาชนได้อะไร?” ซึ่งนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวว่า สื่อเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของชีวิตมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันคู่กับเรื่องเสรีภาพ ถ้าสื่อไม่มีเสรีภาพก็ไม่น่าเรียกสื่อ แต่เป็นแค่ลูกจ้างหรือเบ๊ของใคร ทุกหน่วยงานและทุกรัฐบาลต่างก็ต้องการสื่อ แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นคือเสรีภาพในการนำเสนอ ยกตัวอย่างบ้านตนอยู่เชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีโครงการมากมายสู่ท้องถิ่น ถ้าไม่มีสื่อที่จะบอกกล่าวถึงความเดือดร้อนของพวกเรา พี่น้องทั้งประเทศและผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องจะทำอย่างไร เช่นเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งมีทั้งคนได้และเสีย โดยคนที่เสียคือคนท้องถิ่น ถ้าไม่มีสื่อบอกกล่าวว่ามีปัญหา หรือสื่อถูกบังคับให้ไปบิดเบือนว่าเขตเศรษฐกิจไม่มีปัญหา เสนอภายใต้อำนาจรัฐอย่างเดียวแล้วอะไรจะเกิดขึ้น

    “สื่อไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง เช่น คำว่านักข่าวเอ็นจีโอ นักข่าวชาวบ้าน สื่อเป็นของทุกคน ดังนั้นสื่อต้องมีเสรีภาพ ถ้าไม่ใช่เสรีภาพก็ไม่ใช่สื่อ แต่เป็นคนรับใช้ ผมคิดว่ากรณีการใช้อำนาจในมาตรา 44 เป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ใช่แค่ชาวบ้านเท่านั้นที่กลัว แม้แต่สื่อก็ยังกลัว ตรงนี้เห็นชัดเจน หากเราอยู่กับแบบนี้อีก 5 ปี สื่อและชาวบ้านถูกบีบ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าคุณไม่ให้เสรีภาพกับสื่อ ก็เหมือนปิดปากประชาชนซึ่งน่ากลัวกว่ายุคสมัยก่อน ถ้าเรายอมรับว่าเสรีภาพของสื่อเป็นเรื่องสำคัญ สื่อทำให้เกิดความคิด และเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สู่ความเป็นประชาธิปไตย จริงๆแล้วเราอย่ากลัวความขัดแย้ง เราควรให้เกิดการพูดคุยเพื่อหาทางออกให้ได้ อาจถูกบ้าง ผิดบ้าง สุดท้ายก็ทำงานร่วมกันไปต่อได้” นายนิวัฒน์ กล่าว

    นายนิวัฒน์กล่าวว่า เสรีภาพของสื่อท้องถิ่นสำคัญมากเพราะหลายครั้งไม่กล้านำเสนอ ทำให้ข่าวคราวของประชาชนหายกลางทาง ทั้งๆ ที่สื่อท้องถิ่นอยู่กับชุมชนมากกว่าสื่อส่วนกลาง แต่ไม่สามารถดำเนินการนำเสนอได้

    นางสุวรรณี ศรีสูงเนิน ผู้แทนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ กล่าวว่าพวกตนกำลังเดือดร้อน และออกมาคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและเหมืองแร่ แต่ไม่มีสื่อนำข่าวออกมาเสนอสู่สังคม โดยคสช.บอกว่าผิดกฎหมาย แม้แต่ทอดผ้าป่า ทหารบอกว่าทำผิดกฎหมาย เราอยากได้สื่อที่มีความรู้เข้าไป ไม่ใช่มีแต่สื่อของชาวบ้าน

    นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่าหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมือง เราได้เห็นถึงการแทรกแซงและควบคุมสื่อมากขึ้น เราตั้งข้อสังเกตว่าบรรณาธิการและเจ้าของสื่อต้องถูกเรียกเข้าไปพบรัฐบาลแน่นอนเพื่อให้นำเสนอผลงานของรัฐบาลในเชิงบวก แต่พอการนำเสนอข่าวของภาคประชาชนกลับถูกจำกัดและแทรกแซงไม่เป็นไปตามสภาพปัญหาที่แท้จริง ซึ่งสื่อมวลชนในพื้นที่ต่างตั้งใจนำเสนอปัญหา แต่ปัญหาอาจเกิดขึ้นภายในกองบรรณาธิการเพราะไม่อยากให้เกิดการปะทะหรือสร้างแรงเสียดทานกับรัฐบาล ทั้งนี้ นางวิไลวรรณยังต้องข้อสังเกตด้วยว่า การนำเสนอข่าวนั้นอาจมีพื้นที่ไม่เท่ากัน เรื่องไหนกระทบรัฐบาลก็อาจมีพื้นที่จำกัด

    ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ปัญหาของคนชายขอบมักไม่ถูกพูดถึงในสื่อ หลังรัฐประหารคนที่เดือดร้อนที่สุดคือคนชนบท ขณะที่คนชั้นกลางหรือ กทม. อาจมีความสุขที่ไม่มีบรรยากาศความขัดแย้ง แต่ชาวบ้านชนบทกลับต้องตกอยู่ในบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ชาวบ้านถูกปิดล้อมโดยที่ปิดล้อมสำคัญคือการปิดล้อมข้อมูลข่าวสารไม่ให้มีการนำเสนอให้พื้นที่สาธารณะ และกลายเป็นประเด็นเล็กๆ ล่าสุดตนลงพื้นที่หนองคาย ชาวบ้านกลัวมากในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ป่าชุมชน 600 ไร่ถูกยึดหมด ความอึดอัดเกิดขึ้นเพราะรัฐห้ามชาวบ้านแสดงออก แต่รัฐกลับปล่อยให้ทุนทำอะไรก็ได้ โครงการเดินหน้าไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ ดร.ไชยณรงค์ยังชี้ด้วยว่า การคุกคามสิทธิและเสรีภาพมีความซับซ้อนมากขึ้น มีการนำกฎหมายใช้ดำเนินคดีเพื่อคุกคามและปิดปากมากขึ้น และกฎหมายที่น่ากลัวที่สุดก็คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พร้อมทั้งย้ำว่า จะต้องไม่ปล่อยให้ชาวบ้านโดดเดี่ยว สื่อต้องเรียกร้องพื้นที่ให้คนเล็กคนน้อยมากขึ้น ทำมากกว่าการรายงานข่าว ต้องทำหน้าที่ในการตั้งคำถามด้วย

    ศาลอิตาลีชี้ขาด ขโมยอาหารบรรเทาหิวไม่ผิด

    ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กบีบีซีไทย (https://goo.gl/7sNXMM)
    ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กบีบีซีไทย (https://goo.gl/7sNXMM)

    วันที่ 4 พ.ค. 2559 เฟซบุ๊กบีบีซีไทยรายงานว่า ศาลฎีกาของอิตาลีตัดสินยกฟ้องคดีที่ชายไร้บ้านคนหนึ่งถูกศาลชั้นต้นตัดสินให้มีความผิดฐานลักขโมยอาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ต โดยชี้ว่า การขโมยอาหารเพียงเล็กน้อยเพื่อให้ชีวิตรอดพ้นจากความหิวโหยไม่ถือเป็นการกระทำผิดทางอาญา

    นายโรมัน ออสเตรียคอฟ ชายเร่ร่อนชาวยูเครนที่อาศัยอยู่ในเมืองเจนัว ของอิตาลี ถูกดำเนินคดีฐานลักขโมยชีสและไส้กรอกมูลค่า 4.07 ยูโร (ราว 165 บาท) จากซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งเมื่อปี 2554 โดยเมื่อปีก่อนเขาถูกศาลชั้นต้นตัดสินให้มีความผิดและให้รับโทษจำคุก 6 เดือนรวมทั้งถูกปรับเงิน 100 ยูโร (ราว 4000 บาท)

    ด้านทนายความของนายออสเตรียคอฟ ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าว โดยชี้ว่าชายไร้บ้านผู้นี้ควรได้รับการลดหย่อนโทษลง ให้เหลือเพียงฐานพยายามลักทรัพย์เท่านั้น เนื่องจากเขาถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของซูเปอร์มาร์เก็ตจับได้เสียก่อน

    อย่างไรก็ตามในการพิจารณาของศาลฎีกาเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2559 ศาลได้ตัดสินยกฟ้องและให้นายออสเตรียคอฟพ้นผิดจากคดีนี้ โดยศาลวินิจฉัยว่า สภาพการณ์ของจำเลยและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แสดงให้เห็นว่าเขานำอาหารมาในปริมาณเพียงเล็กน้อยเพื่อประทังชีวิตให้รอดพ้นจากความหิวโหย ซึ่งถือเป็นการกระทำด้วยความจำเป็น

    สื่อมวลชนอิตาลีต่างแสดงความชื่นชมกับการตัดสินของศาลในครั้งนี้ โดยชี้ว่าเป็นคำตัดสินที่ถูกต้อง มีมนุษยธรรม และสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในสังคมอิตาลีที่กำลังมีคนยากจนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    พบหลักฐาน “โอ๊ค” ให้เงินเพจป่วน รอสอบสวน “ให้ไปทำอะไร”

    พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ที่มาภาพ: เว็บไซต์เดลินิวส์ (http://www.dailynews.co.th/regional/395513)
    พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์เดลินิวส์ (http://www.dailynews.co.th/regional/395513)

    เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2559 ที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนกลุ่มแอดมินเพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” หลังจากดำเนินคดีไปแล้ว 8 ราย โดยปรากฎข้อมูลในเอกสารคำร้องฝากขังระบุว่า “นายพานทองแท้ ชินวัตร” บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้เงินสนับสนุนว่า เรื่องนี้อยู่ในสำนวนไปก้าวล่วงได้อย่างไร แต่ก็มีพยานหลักฐานการให้เงิน แต่ยังไม่ทราบว่าให้เพื่อไปทำอะไร กำลังพิจารณาจะเชิญ นายพานทองแท้ มาสอบปากคำ หากพิจารณาแล้วเห็นสมควรสอบปากคำ ก็จะออกหมายเรียก นายพานทองแท้ มาพบพนักงานสอบสวน ทั้งนี้ต้องตรวจสอบกับทางกองทัพในฐานะผู้เสียหายก่อนว่า หลักฐานที่ไปถึงนายพานทองแท้ มีมูลหรือไม่ หากกองทัพยืนยันว่ามีมูลต้องเรียกสอบ ก็จะออกหมายเรียก

    “การให้เงินหากพบว่าเอาไปให้ทำผิด ก็ต้องเรียกนายพานทองแท้มาสอบ ดำเนินคดีตามกฎหมาย หลักฐานถึงใครก็ว่าไปตามกบิลบ้านกบิลเมือง ผมเป็นตำรวจไม่เกี่ยวกับการเมือง ไม่ได้ตั้งใจจะโยงไปหาใคร กลุ่มใด ทุกอย่างไปตามหลักฐาน คดีนี้มีผู้กระทำผิดมากว่า 8 คนแน่นอน กำลังสืบสวนสอบสวนขยายผลต่อไป” รอง ผบ.ตร. กล่าว