ThaiPublica > คอลัมน์ > เพราะโลกจริงมันเฟค! Web Junki

เพราะโลกจริงมันเฟค! Web Junki

20 พฤษภาคม 2016


1721955

1 open

“เพราะโลกจริงมันเฟคเกินไป ผมเลยไม่มีเพื่อนในชีวิตจริง มีแต่ในโลกออนไลน์…อยู่ที่บ้านผมเหมือนไร้ตัวตน ไม่มีใครสนใจผมเลย แต่ในออนไลน์มีคนที่แคร์ผม…ผมนึกไม่ออกเลยว่าจะมีสักครั้งมั้ยที่เราไม่ทะเลาะกัน” ลูกบ่นขึ้นอย่างน้อยใจกับพ่อของเขา ในระหว่างการบำบัดแบบกลุ่มภายในครอบครัว

พ่อสวนกลับทันทีแต่หันไปคุยกับจิตแพทย์ว่า “ไปกินขี้ซะๆ เขาเอาแต่พูดก้าวร้าวกับผมอย่างนี้ เขาพูดกับผู้ใหญ่แบบนี้ได้ไง ฉันเลี้ยงดูแกมาจนแกอายุ16 แล้วแกเคยทำอะไรให้พวกเราบ้าง?” ลูกจึงตอบว่า “ถ้าคุณอยากให้ผมไปตาย ผมก็จะทำให้เดี๋ยวนี้เลย ผมจะคืนชีวิตให้กับคุณ อยากจะได้หรือเปล่าล่ะ?”

ภาพจับที่ลูกมองพ่อเหมือนเป็นศัตรู แม่ที่นั่งอยู่ข้างๆเขานิ่งเงียบ มองไปทางพ่อเหมือนเก็บงำความลับบางอย่างไว้ ก่อนที่ฝ่ายลูกจะเงื้อเก้าอี้ขึ้นทำท่าจะฟาดพ่อ พ่อกอดอกนิ่ง แล้วพูดว่า “ทีนี้เห็นแล้วใช่ไหมว่ามันอยากจะตีผมให้ตาย!” เขาตวาดฟ้องหมอ ภาพตัดกลับมาอีกทีฝ่ายพ่อก็ร้องไห้โฮใหญ่ จากนั้นจู่ๆลูกชายก็โพล่งขึ้นว่า

“ตอนผมเหงา ผมคุยกับเจ้าหมีน้อยของเล่นของผม หรือไม่ก็คุยกับผู้คนในเนต พวกเขาไม่ใช่แค่เพื่อนในโลกสมมติ แต่เป็นผู้คนจริงๆ ที่มีชีวิตจิตใจ เป็นคนเหงาเหมือนๆกับผมที่นั่งอยู่อีกฟากหนึ่งของจอคอมพิวเตอร์”

2

นับตั้งแต่ปี2008 จีนมีนโยบายว่าผู้เสพติดอินเตอร์เนตเป็นผู้ป่วยทางจิตที่ต้องเข้าคอร์สบำบัด อันเป็นผลมาจากการสำรวจในช่วงปี2007 ที่ว่ามีมากกว่า 17% ของจำนวนประชากรวัยระหว่าง 13-16 ปีที่ติดเกมออนไลน์ ทำให้เกิดสถาบันฟื้นฟูผู้ติดเนตมากกว่า 400 แห่งทั่วประเทศจีน เพื่อเยียวยาเยาวชนบางส่วนที่คาดว่าสูงถึง 24 ล้านคน จากกลุ่มผู้ใช้อินเตอร์เนตทั่วจีนที่อยู่ 618 ล้านคน ซึ่งจีนเรียกคนเหล่านี้ว่า “พวกเสพติดเฮโรอีน อิเล็คทรอนิค”

Web Junkie (2013) เป็นสารคดีที่เข้าไปสำรวจศูนย์ฟื้นฟูผู้เสพติดอินเตอร์เนต หนึ่งในแห่งแรกๆที่ตั้งอยู่ในเมืองต้าซิ่ง ชานกรุงปักกิ่ง อันอยู่ภายในค่ายทหารที่เปิดทำการมาตั้งแต่ปี2004

เด็กเหล่านี้ใช้เวลาในโลกออนไลน์มากกว่าหกชั่วโมงต่อวัน และสุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพด้านอื่นๆ อาทิ ติดบุหรี่ ไม่กินอาหาร นอนไม่หลับ ไม่อาบน้ำ ก้าวร้าว ไม่ไปโรงเรียน ไม่คบเพื่อน ฯลฯ

3

‘ค่ายล้างพิษคนติดเนต’ เหล่านี้เกิดขึ้นจากปัญหาสะสมที่กำลังระบาดหนักอยู่ในสังคมโลกยุคใหม่ เป็นปัญหาที่ครอบครัวไม่สามารถแก้ไขได้ พวกเขาจึงตั้งความหวังอย่างเต็มที่กับสถาบันเหล่านี้ว่าจะเปลี่ยนแปลงลูกๆของพวกเขาได้

ฮิลลา เมดาเลีย และชอช ชลาม คู่ผู้กำกับหญิงชาวอเมริกัน-อิสราเอล ให้ความเห็นว่า “แต่ที่นี่เป็นค่ายทหาร มีกฎเหล็กและฝึกหนัก ทุกคนต้องอยู่ในสายตาของผู้คุมที่เข้มงวด พวกเขาแต่งตัวแบบทหาร ถูกปลุกให้ตื่นเช้า ทำกิจวัตรประจำวันอย่างเร่งรีบตามกำหนดเวลา มีบทลงโทษเมื่อทำผิด ทั้งผู้คุม ทั้งหมอ ผู้ดูแลทุกคนล้วนแต่เป็นทหารทั้งสิ้น ค่ายบำบัดแห่งนี้ไม่ใช่สวัสดิการจากรัฐบาล พวกพ่อๆแม่ๆต้องยอมจ่ายในราคาหนึ่งหมื่นหยวน (ราวห้าหมื่นกว่าบาท) ต่อลูกหนึ่งคน ในช่วงระยะ 3-4 เดือนของการบำบัด ซึ่งเป็นเงินจำนวนสองเท่าของเงินเดือนบุคคลทั่วไปในจีน และหลายๆครอบครัวก็ต้องไปหยิบยืมเงินมาจากญาติหรือเพื่อนบ้าน”

4

“จะเห็นว่าในหนังไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนการรักษา เพราะพวกเขาก็บอกด้วยว่าวิธีการต่างๆที่ใช้ ไม่อาจจะยืนยันได้ว่าจะเห็นผลทุกคน ซึ่งมีหลายๆขั้นตอนที่ดูน่าแคลงใจ อย่างที่เห็นในหนังจะพบว่าทุกคนจะถูกบังคับให้กินยาบางชนิดทุกวัน โดยไม่รู้ว่ายานั้นคืออะไร มีผลอย่างไรต่อร่างกายของเด็กๆ มีการตรวจคลื่นสมองด้วยอุปกรณ์แปลกๆ ที่ไม่อาจยืนยันได้ว่าจะช่วยบำบัดอาการอะไรได้ เป็นเพียงหลักการทางจิตวิทยาทั่วไป ที่เหมือนว่าหลอกฟันเงินจากผู้ปกครอง ทั้งๆที่พวกเขาต่างก็เจ็บปวดสาหัส และหวังพึ่งว่าที่นี่จะเปลี่ยนแปลงลูกๆของพวกเขาให้กลับมาเป็นปกติได้”

ในหนังยังมีขั้นตอนที่น่าสงสัยอีกหลายอย่าง บางวิธีก็ดูตลก เช่น การบังคับให้พ่อลูกกอดกัน บังคับให้ลูกคุกเข่าต่อหน้าพ่อแล้วท่องซ้ำๆ 30 เที่ยวว่า “ผมรักพ่อ ผมรักพ่อ ผมรักพ่อ” มีการร้องเพลงปลุกใจที่มีเนื้อหาแสนจะทะนงตน เช่น “จงภูมิใจในประเทศของเรา ชาวประชาของเราต่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี กองทัพจีนมีชัยเหนือทุกสิ่ง ชาวโลกต่างยกย่องสรรเสริญ”

5

สารคดีเริ่มต้นด้วยภาพการฝึกเข้มแบบทหาร พร้อมกับบรรดาจิตแพทย์ที่ต่างยืนยันกับพ่อๆแม่ๆของเด็กเหล่านี้ว่า “เด็กพวกนี้ป่วยทางจิต” สลับกับความเห็นของเด็กๆ อาทิ “พวกผมถูกหลอกมา พ่อวางยาผม หลอกว่าจะพาผมไปเที่ยวเมืองนอก พอตื่นมาผมก็มาอยู่ที่นี่แล้ว”, “แรกๆผมก็กะว่าการรักษาคงกินเวลาสัก3-4 วัน แต่ไปๆมาๆกลับกลายเป็น 3-4 เดือน”, “เขาบอกว่าผมใจร้อนเพราะเล่นเกมมากไป แต่ผมเป็นคนใจร้อนก่อนที่จะมาเล่นเกมเสียอีก”, “ทำไมพวกเขาถึงหาว่าเราบ้า รู้มั้ยว่าคนที่จะเล่นเกมพวกนี้ได้มีแต่พวกไอคิวสูงทั้งนั้น”, “ผมเคยเล่นเกมหนักติดต่อกันเกือบสองเดือน ทุ่มเงินไปเกือบเก้าพันดอลลาร์(ราวสามแสนกว่าบาท)เพื่อเล่นเกมนึง”, “ที่นี่ควรจะได้ชื่อว่าศูนย์ทำลายล้างจิตใจวัยรุ่นมากกว่า

พวกเขาทำลายล้างความเชื่อเก่าๆของเรา แล้วบังคับให้เราเชื่อในสิ่งใหม่ เป็นเหมือนค่ายล้างสมอง” หรือบางตอน ด้วยความคะนองปากจู่ๆก็พวกเด็กๆต่างก็พูดจาเสแสร้งต่อหน้ากล้องว่า “วินัยทหารที่นี่แสนจะดี๊ดี ชีวิตในนี้ก็แสนจะสุขสบาย เข้ามาแล้วไม่อยากออกไปไหนอีกเล๊ยยย” แล้วทุกคนก็ต่างหัวเราะกันอย่างครื้นเครง

หนังตามไปสัมภาษณ์บรรดาพ่อแม่ด้วย เช่น “ลูกฉันไม่กินไม่นอนกว่าสี่สิบวันเต็มๆ”, “ขนาดบางครั้งฉันถอดปลั๊กแล้ว เขาก็ยังอุตส่าห์หนีออกจากบ้านไปเล่นเกมในร้านเนตคาเฟ่”, “บางทีก็หลงๆลืมๆ ไม่อาบน้ำ ไม่ไปเที่ยวเล่นนอกบ้าน บ่อยๆเข้าก็ไม่ไปโรงเรียน เพื่อนมาตามไปไหนก็ไม่ไป”,”กลิ่นงี้เหม็นคลุ้งไปหมด แม้แต่ถุงเท้าเอย กางเกงในเอยก็ไม่เคยเปลี่ยน”

6

ทีมผู้กำกับเสริมว่า “แน่นอนว่าการติดเกมก็เป็นปัญหาหนักหน่วงน่ากังวลใจสำหรับพ่อแม่จริงๆ แต่เด็กๆเหล่านี้เป็นผู้ป่วยทางจิตจริงๆหรือ พวกเขาถูกบำบัดโดยศูนย์ที่มีผู้ควบคุมเป็นศาสตราจารย์แก่ๆที่ไม่เคยรู้จักคอมพิวเตอร์เลย พวกเขามีแนวคิดอย่างทหาร และไม่เข้าใจชีวิตแบบชาวบ้านพลเรือน พวกเขาเอาแต่มองว่าเด็กเหล่านี้สิ้นคิดอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้นักบำบัดตัวเล็กตัวน้อยอีกมากมาย ก็เป็นหมอมือใหม่อ่อนประสบการณ์ ที่ทำตามคำสั่งราวกับถูกโปรแกรมมา ส่วนในด้านของพ่อแม่ พอขุดๆไปก็จะพบว่าส่วนใหญ่ไม่มีเวลาให้ลูก บางคนเคยมีประวัติทุบตีทำร้ายลูกด้วยซ้ำ จนทำให้ลูกบางคนอยากจะฆ่าตัวตาย แต่แทนที่จะหันหน้าคุยกัน พ่อกลับสาปส่งว่า ‘ไปตายซะไป๊!’ หรือบางคนพอส่งลูกมาที่นี่จ่ายเงินเสร็จแล้ว ก็ไม่คิดจะมาเยี่ยมลูกอีกเลยก็มี”

“Web Junkie ถ่ายทำนานสี่เดือนตลอดคอร์สการรักษา โดยระยะแรกทีมงานทุกคนจะมีบุรุษพยาบาลคนหนึ่งคอยเป็นเงาตามตัว ที่จะตรวจสอบว่าสิ่งใดถ่ายได้หรือไม่ได้ เป็นแบบนี้อยู่พักใหญ่จนในที่สุดเราจึงเข้าไปต่อรองกับผู้คุมศูนย์เพื่อที่จะขอถ่ายทำอย่างมีอิสระ ซึ่งหลังจากที่พวกเขาไว้ใจพวกเราแล้ว เราก็สามารถถ่ายทุกอย่างได้ตามอำเภอใจ ภายใต้เงื่อนไขของการ ‘เอาหน้า’ อันเป็นวัฒนธรรมแบบเอเชีย คือต้องแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของค่ายบำบัดแห่งนี้ แล้วด้วยเงื่อนไขนี้เอง ทำให้เราสามารถถ่ายทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากทางการจีน”

7

Web Junkie เปิดตัวในเทศกาลหนังซันแดนซ์ที่ปีเดียวกันนั้น ยังมีหนังเกี่ยวกับการติดเนตอีกเรื่องหนึ่งคือ Love Child (2014) ของ วาเลอรี เวียตช์ ว่าด้วยคู่สามีภรรยาชาวเกาหลีที่เสพติดการดูแลลูกในโลกออนไลน์ แต่กลับละเลยหน้าที่ในโลกจริงจนลูกสาววัย 3 เดือนของพวกเขาเสียชีวิต

ในหนัง ศาสตราจารย์รุ่นคุณปู่สาธยายอบรมพ่อๆแม่ๆว่า “โลกเสมือนมันเต็มไปด้วยความตื่นตาตระการใจ มีทั้งภาพทั้งเสียงสมจริงจนไม่สามารถหาที่ไหนในโลกจริงมาเสมอเหมือนได้ พวกเขาจึงหลงใหลไปว่าโลกในเนตนั้นเป็นที่ที่ดีที่สุด เพื่อนในเนตคือเพื่อนที่ดีที่สุด จนไม่อยากจะออกไปพบเจอใครต่อใครในโลกแห่งความเป็นจริง” ขณะที่เด็กกลับให้คำตอบว่า “เพราะโลกจริงมันเฟคเกินไป”

8

ป้ายคำ :