ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้บริหารสหกรณ์ฯ คลองจั่น แจงกรณี “ธรรมนูญ อัตโชติ” ยื่นดีเอสไอดำเนินคดีพระธัมมชโย ยันไม่เกี่ยวสหกรณ์

ผู้บริหารสหกรณ์ฯ คลองจั่น แจงกรณี “ธรรมนูญ อัตโชติ” ยื่นดีเอสไอดำเนินคดีพระธัมมชโย ยันไม่เกี่ยวสหกรณ์

12 พฤษภาคม 2016


เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 นายประกิต พิลังกาสา รองประธานกรรมการดำเนินการคนที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการดำเนินการ/ประธานผู้บริหารแผนฟื้นฟูสหกรณ์เครดิตยูเนียน คลองจั่น จำกัด แถลงข่าวกรณีที่นายธรรมนูญ อัตโชติ เป็นสมาชิกประเภทสมทบของสหกรณ์ได้ยื่นข้อกล่าวหาต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ดำเนินคดีกับพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 นายประกิต พิลังกาสา รองประธานกรรมการดำเนินการคนที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการดำเนินการ/ประธานผู้บริหารแผนฟื้นฟูสหกรณ์เครดิตยูเนียน คลองจั่น จำกัด แถลงข่าวกรณีที่นายธรรมนูญ อัตโชติ เป็นสมาชิกประเภทสมทบของสหกรณ์ได้ยื่นข้อกล่าวหาต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ดำเนินคดีกับพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 นายประกิต พิลังกาสา รองประธานกรรมการดำเนินการคนที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการดำเนินการ/ประธานผู้บริหารแผนฟื้นฟูสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด กล่าวถึงกรณีที่นายธรรมนูญ อัตโชติ สมาชิกประเภทสมทบของสหกรณ์ ได้ยื่นข้อกล่าวหาต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ดำเนินคดีกับพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย ในข้อหาสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันรับของโจร ต่อกรณีดังกล่าว เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ฯ กองทุนฯ และสังคม ตลอดจนสื่อมวลชนต่างๆ ได้ทราบข้อเท็จจริงว่ามีความเกี่ยวข้องผูกพันกับสหกรณ์ฯ อย่างไรหรือไม่นั้น สหกรณ์ฯ ขอเรียนชี้แจงให้ทราบดังนี้

1) การดำเนินการของนายธรรมนูญและพวกตามที่ปรากฏในสื่อสังคมนั้นเป็นเรื่องเฉพาะปัจเจกบุคคลหรือคณะที่ดำเนินการตามความคิดเห็น ความเชื่อส่วนตัว และเป็นอิสระ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องหรือกระทำในนามของสหกรณ์ฯ และสมาชิกคนอื่นแต่ประการใด จึงไม่มีผลผูกพันต่อสหกรณ์ฯ ทั้งนี้ คณะกรรมการของสหกรณ์ฯ ผู้เป็นตัวแทนสหกรณ์ฯ ตามนิตินัยไม่มีความเห็นและมติที่จะดำเนินการดังกล่าวด้วย

2) การกระทำดังกล่าวของนายธรรมนูญและพวก อาจสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงต่อผู้รับรู้ข้อมูลข่าวสารโดยทั่วไปว่า สหกรณ์ฯ รู้เห็นในการฟ้องร้องดังกล่าวด้วย ซึ่งไม่เกิดผลดีต่อสหกรณ์ฯ และสมาชิกของสหกรณ์ฯ​ โดยรวม

คณะกรรมการของสหกรณ์ฯ มีจุดยืนและนโยบายที่ชัดเจนในการฟ้องร้องติดตามให้ตัวการผู้กระทำผิดคือนายศุภชัยและพวกคืนเงินให้กับสหกรณ์ฯ โดยวิธีการทางแพ่ง ส่วนการดำเนินการเอาผิดทางอาญาแจ้งข้อกล่าวหาฟอกเงินหรือรับของโจรนั้นจำเป็นต้องมีหลักฐานพยานที่ชัดเจนและซับซ้อนเกินกว่าความสามารถของสหกรณ์ฯ จะดำเนินการได้เอง และเล็งเห็นว่าดีเอสไอซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมีหน้าที่โดยตรงในการสืบสวนสอบสวนได้ดำเนินการอยู่แล้วตามกระบวนการยุติธรรมและจะเป็นการเหมาะสมกว่า

3) ในส่วนความเสียหายที่เกิดแก่พระเทพญาณมหามุนีจากการถูกกล่าวหาโดยนายธรรมนูญนั้น สหกรณ์ฯ ตระหนักดีถึงความสะเทือนใจ เสียใจ ของผู้ถูกกล่าวหาและคณะศิษย์ พร้อมเห็นว่าผู้เสียหายย่อมเรียกร้องความเป็นธรรมและชดใช้ความเสียหายได้ทั้งในทางแพ่งและอาญา

สหกรณ์ฯ สามารถให้ความกระจ่างในสังคมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ฯ และสมาชิกของสหกรณ์ฯ เพื่อความเข้าใจอันดีและถูกต้อง รวมทั้งประโยชน์ที่ทางกองทุนฯ พระเทพญาณมหามุนีได้มอบให้แก่สมาชิกสหกรณ์ฯ ซึ่งสะท้อนถึงเจตนาและภาพลักษณ์ที่ดีให้สังคมได้รับทราบ

4) สหกรณ์ฯ ขอเรียนให้สมาชิกสหกรณ์ฯ ทุกท่านและสังคมทุกภาคส่วนทราบถึงสถานภาพความจำเป็นขณะนี้ว่า การฟื้นฟูกิจการของสหกรณ์ฯ ให้ดำรงอยู่ได้ ต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในเรื่องการระดมเงินจำนวนมากมาพยุงฐานะการเงินและการทำธุรกิจหารายได้มาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย เช่น เงินที่ภาครัฐจะพิจารณาหาแหล่งเงินทุนให้ หรือเงินจากการติดตามสินทรัพย์ในคดีต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ยังอยู่ในกระบวนการขั้นตอนดำเนินการอีกระยะหนึ่ง

ขณะที่สหกรณ์ฯ คลองจั่นมีภาระที่จะต้องชำระหนี้คืนแก่เจ้าหนี้ในกลางปีและสิ้นปีนี้ให้ได้ตามที่แผนฟื้นฟูกำหนดไว้ โดยเงินจำนวนดังกล่าวมาจากการได้รับเยียวยาจากกองทุนเงินเฉพาะกิจลูกศิษย์วัดพระธรรมกายเป็นส่วนใหญ่ สหกรณ์ฯ จึงขอขอบคุณในความเมตตาที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายได้ให้การสนับสนุนบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกสหกรณ์ฯ ไว้ในโอกาสนี้

“อย่างไรก็ตาม สหกรณ์ฯ ขอยืนยันว่า การดำเนินการใดๆ ก็ตาม จะเป็นไปเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ในการติดตามเงินที่สหกรณ์ฯ​ สูญเสียไปกลับคืนมาให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ในการฟื้นฟูกิจการเป็นสำคัญ มิได้เอนเอียงไปเพื่อผลประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้อง การติดตามเงินเป็นเป้าหมายเดียวของคณะกรรมการฟื้นฟูฯ ส่วนเรื่องคดีความต่างๆ ให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่” นายประกิตกล่าว

คืบหน้าแผนฟื้นฟูฯ พร้อมจ่าย 3 งวด

นายประกิต พิลังกาสา
นายประกิต พิลังกาสา

สำหรับความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูฯ ตามแผนจะต้องจ่ายเงินคืนสมาชิกในปี 2559 จำนวน 2 งวดในเดือนมิถุนายนและเดือนธันวาคม งวดละ 3.5% ของมูลหนี้ทั้งหมด 18,000 ล้านบาท หรืองวดละ 600 ล้านบาท โดยงวดแรกจะชำระคืนสมาชิกที่มีเงินฝากต่ำกว่า 10,000 บาททั้งหมดก่อน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 13,000 ราย วงเงินประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เหลือสมาชิกที่ต้องรับการชำระหนี้อีกประมาณ 5,000 ราย ขณะที่สมาชิกที่มีเงินฝากมากกว่า 10,000 บาท สหกรณ์ฯ จะจ่ายในงวดแรกและงวดที่ 2 ตามสัดส่วนของเงินฝากที่มีคือ 3.5% ของเงินฝาก ตามหลักการ Fair Treatment

ทั้งนี้ สถานะการเงินเบื้องต้นสหกรณ์ฯ มีเงินสดพร้อมจ่ายได้ทันที 3 งวด โดยเงินส่วนใหญ่ได้มาจากกองทุนลูกศิษย์วัดธรรมกาย แบ่งเป็นเงินก้อนแรกจำนวน 684 ล้านบาท ตามหลักฐานที่ได้รับจากดีเอสไอและได้รับชำระเงินครบถ้วนแล้วตั้งแต่ปลายปี 2558 และส่วนที่สองจำนวน 370 ล้านบาท ตามหลักฐานที่ดีเอสไอตรวจสอบเพิ่มเติมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดยจะทยอยจ่ายต่อไปเป็นเช็ค 20 ฉบับ

นอกจากนี้ สหกรณ์ฯ ยังมีเงินรายได้ที่คาดว่าจะมาจากการดำเนินงานของสหกรณ์ฯ เช่น การติดตามชำระหนี้ของลูกหนี้ต่างๆ ประมาณปีละ 100 ล้านบาทต่อปี

“บางคนถามว่าทำไมได้เงินมาตั้งแต่ปี 2558 แล้วยังไม่จ่าย ต้องเรียนว่าขณะนั้นติดข้อกฎหมายล้มละลาย แต่หลังจากสหกรณ์ฯ ได้ยื่นศาลขอฟื้นฟูกิจการ สหกรณ์ฯ ก็เข้าสู่สถานะที่ไม่สามารถจ่ายเงินใดๆ ได้ แต่ยังรับรู้รายรับได้ ต่อมาศาลเห็นชอบให้ฟื้นฟู ตามแผนเราจะเริ่มจ่ายในเดือนมิถุนายนนี้เป็นงวดแรก ไม่ได้มีความผิดปกติอะไร ส่วนเรื่องเงินกู้ 6% ที่มีข่าวต้องเรียนว่าเป็นเงินช่วยเหลือแก่สมาชิกที่จำเป็นเท่านั้น รายละ 50,000 บาท คิดยอดรวมตกประมาณ 10 ล้านบาทเท่านั้น และเป็นเงินที่ได้จากการดำเนินการติดตามทวงหนี้ของสหกรณ์ฯ เอง ไม่เกี่ยวกับเงินที่กองทุนของวัดธรรมกายจ่ายมา” นายประกิตกล่าว

ลุ้นภาครัฐช่วยต่อลมหายใจ

ขณะที่ในอนาคต สหกรณ์ฯ คาดว่าจะมีเงินรายได้ช่วยเหลือจากภาครัฐ ซึ่งกำลังเจรจาข้อตกลงอยู่เป็น 4 แนวทาง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนสิงหาคม 2559 ส่วนเงินจากคดีความต่างๆ ยังไม่สามารถจ่ายเข้ามาได้ เนื่องจากยังอยู่ในกระบวนการสืบสวนของดีเอสไอ

1) กองทุนพัฒนาสหกรณ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นกู้ยืมเพื่อนำไปให้สหกรณ์ต่างๆ กู้ยืมโดยมีอัตราดอกเบี้ย 4.5% ที่จะเกิดรายได้กลับสู่สหกรณ์แต่จะต้องมีผู้ค้ำประกันเงินกู้และเป็นภาระที่รัฐต้องตั้งงบประมาณเข้ากองทุนเพิ่มเติม

2) จัดตั้งกองทุนรวมของสหกรณ์ ให้สหกรณ์ต่างๆ นำเงินมาลงทุนในกองทุนโดยมีผู้เชี่ยวชาญมาบริหารจัดการ ซึ่งคาดว่าจะเป็นธนาคารกรุงไทย ทั้งนี้ คาดว่าจะมีเงินในกองทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท ได้ผลตอบแทนประมาณ 8% ส่งกลับเข้ากองทุนพัฒนาสหกรณ์ และให้กองทุนพัฒนาสหกรณ์จ่ายให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นเป็นรายปี ประมาณปีละ 450 ล้านบาท แต่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้สหกรณ์ต่างๆ มาลงทุนและรัฐต้องค้ำประกันหรือซื้อคืนหากการบริหารกองทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รวมถึงต้องแก้ไขระเบียบของกองทุนพัฒนาสหกรณ์และแผนฟื้นฟูกิจการของสหกรณ์ฯ คลองจั่นด้วย

3) ให้ธนาคารของรัฐปล่อยกู้ให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นโดยคิดอัตราดอกเบี้ยต้นทุนและให้รัฐชดเชยดอกเบี้ยแก่ธนาคารแทนสหกรณ์ฯ คลองจั่น และรัฐต้องชดเชยเงินกู้หากสหกรณ์ฯ คลองจั่นไม่สามารถชำระได้ เพื่อป้องกันประเด็นความอ่อนไหวและความเชื่อมั่นของลูกค้าธนาคาร

4) รัฐตั้งงบประมาณไปที่กองทุนพัฒนาสหกรณ์แล้วจัดตั้งกองทุนบุคคลโดยให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นกู้เงินจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ไปลงทุนในกองทุนนี้โดยใช้หน่วยลงทุนมาค้ำประกันกับกองทุนพัฒนาสหกรณ์

“ตรงนี้เราก็คาดหวังให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือ เพราะเงินรายได้จากธุรกิจก็มีเพียง 100 กว่าล้านบาทต่อปีเท่านั้น มันไม่เพียงพอ เงินจากคดีความของดีเอสไอก็ยังอยู่ในกระบวนการ เรายังไม่ได้รับตรงนั้นเลย ดังนั้น ตรงนี้ก็หวังว่าภาครัฐจะช่วยเหลือ ส่วนถามว่าแนวทางไหนดี เราคาดว่าแนวทางที่ 2 น่าจะเป็นแนวทางที่ดี เพื่อให้ช่วยปรับปรุงแก้ไขสหกรณ์ทั้งระบบ ไม่ใช่แค่คลองจั่นที่เดียว แต่ในใจคิดว่ารัฐน่าจะช่วยลงเงินสนับสนุนสักก้อน เท่าไหร่ก็ได้ เพื่อให้สหกรณ์ต่างๆ เชื่อมั่นและตั้งเป็นกองทุนของสหกรณ์โดยเฉพาะ ตรงนี้ได้เสนอท่านอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปแล้ว” นายประกิตกล่าว