ThaiPublica > สัมมนาเด่น > สาธารณสุขลุยรับมือสังคมผู้สูงอายุ สร้าง “สังคมสำหรับทุกคน” แผน 3 ปีบริการครบทุกตำบล ดูแลถึงบ้าน นำร่อง”คนแก่ติดเตียงอยู่คนเดียว – สมองเสื่อม”

สาธารณสุขลุยรับมือสังคมผู้สูงอายุ สร้าง “สังคมสำหรับทุกคน” แผน 3 ปีบริการครบทุกตำบล ดูแลถึงบ้าน นำร่อง”คนแก่ติดเตียงอยู่คนเดียว – สมองเสื่อม”

11 เมษายน 2016


Closing the Health Gaps Report Photos 1
นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา (คนที่สามจากซ้าย) ผู้อำนวยการ ศูนย์อนามัยที่ 9 กระทรวงสาธารณสุข, นายเริงศักดิ์ ทองสม (คนที่สองจากซ้าย) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์นโยบายและแผน (ด้านพัฒนาระบบขนส่ง) สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 ธนาคารโลกเปิดตัวรายงาน “ปิดช่องว่างการเข้าถึงบริการทางสุขภาพของผู้สูงอายุ: ความเป็นธรรมทางสุขภาพและความครอบคลุมทางสังคมในประเทศไทย” โดยชี้ปัญหาในระบบประกันสุขภาพของไทยว่ายังขาดการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในผู้สูงอายุ เนื่องจากขาดระบบคมนาคมที่ดีและราคาถูกเพียงพอ ขาดผู้ดูแลที่จะพาผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวเข้ามารับบริการ และระบบดูแลสุขภาวะเบื้องต้นในชุมชนผ่านระบบอาสาสมัครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ยังทำงานได้ไม่เต็มที่และมีช่องว่างให้พัฒนา

ทั้งนี้ ภายหลังการเปิดผลการศึกษา ธนาคารโลกเปิดเวทีเสวนาต่อในหัวข้อ “เราจะพัฒนาระบบสนับสนุนทางสังคมอย่างไร ให้ผู้สูงอายุที่ยากจนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ดีขึ้น” หรือ “how to improve the social support system to give the elderly poor better access to health care services” โดยเชิญผู้ร่วมเสวนาจากกระทรวงที่รับผิดชอบประเด็นต่างๆ ตามปรากฏในรายงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

WHO ปรับAction Plan รับมือ “สังคมผู้สูงอายุ”

เริ่มต้นจากกระทรวงสาธารณสุขในฐานะเจ้าภาพดูแลระบบสาธารณสุขทั่วประเทศ นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการ ศูนย์อนามัยที่ 9 กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงปีที่ผ่านมากระทรวงได้ดำเนินงานคืบหน้ามากในหลายประเด็น โดยเมื่อสิ้นปี 2558 ตนเองได้เป็นตัวแทนกระทรวงไปประชุมหารือที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO (World Health Organization) กับประเทศสมาชิกอื่นๆ ว่าด้วยเรื่อง  “Aging and health” ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่โลกกำลังเผชิญและต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ ที่ประชุมสรุปกรอบยุทธศาสตร์ระยะเวลา 5 ปี จากปี 2559-2563 ภายใต้กรอบแนวคิดและวิสัยทัศน์ใหม่ว่า “A world in which everyone experiences Healthy Aging” รวมทั้งสิ้น 5 ประเด็น ได้แก่  1) ทุกประเทศต้องขับเคลื่อนนโยบายว่าด้วยเรื่องของผู้สูงอายุและการพัฒนาสุขภาวะ 2) จะต้องปรับระบบบริการสุขภาพที่สอดคล้องตรงความต้องการของผู้สูงอายุ 3) สร้างสภาพแวดล้อม สิ่งแวดล้อม ชุมชน เมือง และสังคมที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมาก 4) การพัฒนาระบบการดูแลระยะยาว ที่เรียกว่า Long-Term Care 5) การกำกับติดตามประเมิน วิจัยและพัฒนา

นำร่องบริการเชิงรุก ดูแลถึงบ้าน ตั้งเป้าปีแรก 100,000 ราย

นพ.เอกชัยกล่าวต่อไปว่า ช่วง 2-3 เดือนทางกระทรวงสาธารณสุขได้ยึดหลัก 5 ข้อดังกล่าว จัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนเสมอภาคว่าด้วยเรื่องของผู้สูงอายุ โดยจับมือกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญมุ่งเน้นไปที่ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง

ยุทธศาสตร์แรก ว่าด้วยเรื่องการเตรียมความพร้อมของผู้สูงอายุ เพื่อให้อยู่ในกลุ่มที่แข็งแรงให้นานที่สุด ไม่ต้องประสบปัญหาสุขภาพจนต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิง โดยกระทรวงจะเน้นไปที่การให้ความรู้แก่ประชาชน เช่น สมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุ คู่มือแนวทางการตรวจคัดกรองผู้สูงอายุ หนังสือยากันลืมยากันล้ม แนะแนวทางเฝ้าระวังการหกล้มและแนวทางป้องกันภาวะสมองเสื่อมที่เหมาะสม เป็นต้น

ยุทธศาตสร์ที่สอง ว่าด้วยเรื่องการปรับระบบบริการ 2-3 ปีที่ผ่านมา กระทรวงจัดทำโครงการ “70 ปีไม่มีคิว” เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการสุขภาพได้ก่อนกลุ่มอื่น ตามหลักการจัดลำดับความสำคัญ (First Priority) ให้แก่ผู้สูงอายุก่อน แต่ยังพบปัญหาว่าผู้ที่มารับบริการเกินครึ่งมักเป็นผู้สูงอายุอยู่แล้ว การบริการจึงอาจจะไม่รวดเร็วอย่างที่ตั้งใจไว้ในตอนต้น

ยุทธศาสตร์ที่สาม ว่าด้วยการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ กระทรวงปรับปรุงให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งเอื้อต่อผู้สูงอายุ ตัวอย่างเช่น ปรับปรุงห้องน้ำใหม่ทั้งหมดให้ผู้สูงอายุใช้บริการได้สะดวกปลอดภัย ซึ่งพัฒนาเกือบครบหมดแล้ว เป็นต้น

นอกจากนี้ สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ไม่สามารถเดินทางได้สะดวก กระทรวงได้พัฒนาสถานบริการสาธารณสุขขนาดย่อยตั้งแต่ระดับอำเภอลงไปให้สามารถให้บริการทางการแพทย์ที่หลากหลายขึ้น จากเดิมที่ผู้สูงอายุจะต้องเดินทางมายังโรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเมือง เช่น การฟอกไต การให้เคมีบำบัด เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ครบทั้งหมด แต่กระทรวงกำลังพยายามขยายขอบเขตออกไปเรื่อยๆ

ที่มาภาพ : ธนาคารโลก
ที่มาภาพ : ธนาคารโลก

ยุทธศาสตร์ที่สี่ ว่าด้วยการสร้างระบบการดูแลระยะยาว ในปีที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้รับงบประมาณ 600 ล้านบาทจัดทำแผนขับเคลื่อนเชิงรุก 3 ปี ด้วยการเข้าไปให้บริการแก่ผู้สูงอายุโดยตรงแทนที่จะให้ผู้สูงอายุเข้ามารับบริการ ซึ่งช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุ

โดยปีแรกตั้งเป้าหมาย 1,000 ตำบล คัดเลือกจากทุกอำเภอทั้งประเทศ อำเภอละ 1-2 ตำบล เป็นโครงการนำร่อง มีจำนวนผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงประมาณ 100,000 คน ในปีที่ 2 หากได้รับการสนับสนุนต่อเนื่องจะขยายผลเป็น 50% ของตำบลทั่วประเทศ ใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท ดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงได้ 500,000 คน และปีสุดท้ายของโครงการจะขยายผลครอบคลุมทั่วประเทศ 7,255 ตำบล ใช้งบประมาณ 6,000 ล้านบาท

โดยการเข้าไปให้บริการ กระทรวงจะต้องผลิตผู้ดูแล (Care Giver) และผู้จัดการผู้ดูแล (Care Manager) เพื่อส่งเข้าไปดูแลผู้สูงอายุ โดยผู้ดูแล 1 คนจะต้องดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง 10 คน ขณะที่ผู้จัดการผู้ดูแลจะมุ่งเป้าไปที่พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข หรือนักสังคมสงเคราะห์ ทำหน้าที่วางแผนการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นการส่งผู้ดูแลที่ผ่านการอบรมไปในพื้นที่หรือคัดเลือกอาสาสมัครที่มีความสามารถมาเข้าหลักสูตรอบรม โดยให้ประจำอยู่โรงพยาบาลตำบลหรือ อปท. ทั้งนี้ ในปีแรกปัจจุบันกระทรวงผลิตได้ประมาณครึ่งหนึ่งแล้วจากเป้าหมายผู้ดูแล 10,000 คน ผู้จัดการผู้ดูแล 2,000 คน

ขณะที่เรื่องการใช้เงินงบประมาณ เราจะกระจายลงไปที่ อปท. แบบเหมาจ่าย 5,000 บาทต่อหัว ซึ่งกระทรวงกำหนดให้สามารถใช้ได้หลากหลายกว่าระบบประกันสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเป็นค่าตอบแทนผู้ดูแล เป็นค่าใช้จ่ายส่งต่อกรณีที่จำเป็น

“โครงการนี้เราเน้นที่ผู้สูงอายุที่ติดเตียงถูกทอดทิ้งอยู่คนเดียว หรืออยู่กัน 2 คนตายาย หรือที่อยู่กับครอบครัวแต่ไม่พร้อมดูแล ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีกลุ่มนี้อยู่ 20,000 รายแล้วจาก 1,000 ตำบล ส่วนกลุ่มที่เหลือจะเป็นกลุ่มติดบ้านที่มีปัญหาสมองเสื่อมหรือปัญหาขับถ่ายอีก 50,000 ราย คาดว่าถ้ารวมทั่วประเทศจะมหาศาลอยู่ อาจจะถึงเป้า 10% ของผู้สูงอายุทั่วประเทศที่โครงการนี้จะต้องดูแล แล้วตัวชี้วัดสำคัญของเรา ตัวแรก ผู้สูงอายุต้องเข้าถึง ตัวที่สองคือสัดส่วนต้องผลิตผู้ดูแลได้ 1 ใน 10 แต่ตอนนี้นำร่องไปเพียง 6 เดือน ผลประเมินก็ต้องรออีกสักพัก จะมีผู้ตรวจทั้งจากภายในและภายนอกเข้ามาประเมินโครงการนี้ว่าประสบผลอย่างไร ถ้าประสบผลในระยะยาวจะลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 3 เท่า จากที่ศึกษากรณีของต่างประเทศก่อนจะเริ่มโครงการ เป็นคำตอบของประเทศของเรา” นพ.เอกชัยกล่าว

มหาดไทยแนะ “ปรับกฎหมาย-เพิ่มงบ-พัฒนาคน”

ด้านกระทรวงมหาดไทย นายธนา ยันตรโกวิท ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารงานท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า การกระจายอำนาจและสร้างอาสาสมัครในท้องถิ่นปัจจุบันประสบปัญหา 3 ประการ

1) ระบบงานและหน้าที่ไม่ประสานงานกันระหว่าง อปท. และส่วนกลาง โดยกฎหมายจัดตั้งของ อปท. มักจะกำหนดกรอบการทำงานไว้กว้างๆ ขณะที่การกระทำบางอย่างกลับไปขึ้นอยู่กับกฎหมายของกระทรวงอื่นของส่วนกลาง ทำให้ต้องปฏิบัติตามและไม่สามารถดำเนินการบางอย่างที่เฉพาะเจาะจงได้ ซึ่งต้องแก้ไขให้มีความชัดเจนมากขึ้น

2) ขาดงบประมาณ จาก อปท. ทั้งหมดกว่า 7,000 แห่ง มี อปท. ที่มีรายได้ระดับมากกว่า 100 ล้านบาทไม่ถึง 10% ส่วนที่มีรายได้มากกว่า 500 ล้านบาท ยิ่งมีน้อยกว่า 1% ขณะที่ อปท. ส่วนใหญ่กว่า 60-70% มีรายได้เพียง 10-40 ล้านบาท และงบประมาณส่วนนี้ 40% จะถูกกันเป็นงบประมาณประจำสำหรับบุคลากร ไม่รวมค่าดำเนินการประจำอื่นๆ เช่น ค่าน้ำค่าไฟ ดังนั้น เมื่อเทียบกับภารกิจที่ถูกถ่ายโอนมานับร้อย จึงยากที่ อปท. จะสามารถดูแลได้

3) ขาดผู้เชี่ยวชาญมาช่วยขับเคลื่อน โดยปัจจุบัน อปท. หลายแห่งไม่มีบุคลากรสาธารณสุขโดยตรง บางแห่งยังต้องให้ช่างมาเป็นรักษาการผู้อำนวยการของสถานบริการ ทำให้การขับเคลื่อนและการบริหารแต่ละประเด็น ทั้งเรื่องสาธารณสุขและเรื่องอื่นๆ มีปัญหาค่อนข้างมาก

ที่มาภาพ : ธนาคารโลก
ที่มาภาพ : ธนาคารโลก

สำหรับทางออก กระทรวงมหาดไทยได้มีการปรับระบบการบริหารงานจากเดิมที่จะกำหนดรายละเอียดงบประมาณว่าจะต้องใช้ไปลงทุนอะไรบ้าง เปลี่ยนเป็นให้ อปท. จัดสรรเงินงบประมาณเอง เนื่องจากที่ผ่านมาถ้าไม่กำหนด อปท. มักจะนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ แต่ปัจจุบันประชาชนเริ่มมีส่วนร่วมขึ้นมาก ทำให้สามารถเป็นกลไกตรวจสอบงบประมาณในตัวเองโดยที่กระทรวงไม่ต้องดูแลมากได้ นอกจากนี้ จะมีการฝึกฝนบุคลากรร่วมกับกระทรวงต่างๆ พร้อมจัดทำกลไกการประเมิน เพื่อให้ อปท. ค่อยๆ เติบโตไป

ขณะที่กลไกทางการเงินปัจจุบันมีกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับหมู่บ้านช่วยสนับสนุนหัวละ 40 บาท อปท. สมทบอีก 40 บาท นอกจากนี้ ยังมีเงินอุดหนุนสาธารณสุขมูลฐาน 7,500 บาทต่อหมู่บ้าน ซึ่งเพิ่งถูกปรับลดไปจาก 15,000 บาทหลังจากมีการใช้เงินไปอย่างไม่เหมาะสม รวมไปถึงงบประมาณของประเทศที่จำกัด

“คมนาคม”มีประชุม แต่ไม่มีรายละเอียด

ด้านกระทรวงคมนาคม นายเริงศักดิ์ ทองสม ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์นโยบายและแผน (ด้านพัฒนาระบบขนส่ง) สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ประเด็นปัญหาดังกล่าว กระทรวงมีนโยบายจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานและพิจารณาจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ ในโครงสร้างพื้นฐานและในระบบขนส่งมวลชนของกระทรวงคมนาคม ซึ่งได้เริ่มประชุมไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา และมีมติให้ประชุมทุก 2 เดือนติดตามแผนงาน

โดยคณะกรรมการฯ กำลังจ้างที่ปรึกษาทบทวนกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกใหม่ ให้มีความเหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันมีกระทรวงดูแลอยู่ถึง 3 กระทรวง กระทรวงคมนาคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งต้องนำเสนอภายใน 6 เดือน

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังได้ทำการศึกษาอีก 2 ประเด็น 1) สนข. ได้ศึกษาเรื่องการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและเพิ่มศักยภาพการบริหารในภาคขนส่งสำหรับผู้พิการผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันศึกษาแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างดำเนินการ 2) กระทรวงคมนาคมได้สำรวจเพื่อประเมินและให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งสาธารณะเพื่อคนพิการ เด็ก ผู้สูงอายุ ระยะที่ 1 ในภาคกลางและตะวันออก เป็นโครงการนำร่อง ปัจจุบันได้ศึกษาเสร็จแล้ว กำลังดำเนินการแก้ไขปรับปรุงตามการศึกษา และกำลังดำเนินการระยะที่ 2 ในภาคใต้และตะวันตก โดยการสำรวจทั้ง 2 ระยะจะนำไปปรับเป็นมาตรฐานสำหรับสถานที่อื่นๆด้วย

ขณะที่เรื่องของการจัดการเดินทางของผู้สูงอายุ กระทรวงได้อำนวยความสะดวกด้วยการลดค่าใช้จ่าย 50% สำหรับผู้สูงอายุอยู่แล้ว เช่น ลดราคาเรือ รถเมล์ รถไฟ เป็นต้น