ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ทีมลูกหนังผู้ดี “สัญชาติไทย” ของเล่นมหาเศรษฐี – นักลงทุนข้ามชาติ หรือวัตถุประสงค์อื่นใด!

ทีมลูกหนังผู้ดี “สัญชาติไทย” ของเล่นมหาเศรษฐี – นักลงทุนข้ามชาติ หรือวัตถุประสงค์อื่นใด!

16 เมษายน 2016


ทีมลูกหนังอังกฤษ Leicester City ของนายทุนไทย วิชัย ศรีวัฒนประภา อาจได้ฉลองแชมป์แบบนี้อีกครั้ง แต่ครั้งนี้จะไม่ใช่แค่ แชมเปี้ยนชิพ ทว่าเป็นพรีเมียร์ลีก ที่มาภาพ: http://www.leicestermercury.co.uk/Promotion-just-start-Leicester-City-says-club-s/story-21061806-detail/story.html
ทีม Leicester City ของกลุ่มทุนไทย นำโดยวิชัย ศรีวัฒนประภา (ขวา) เจ้าพ่อดิวตี้ฟรี King Power อาจได้ฉลองแชมป์แบบนี้อีกครั้ง ทว่าครั้งนี้จะไม่ใช่แค่แชมป์ของลีกรองอย่าง “แชมเปี้ยนชิพ” แต่เป็นลีกสูงสุดอย่าง “พรีเมียร์ลีก” ที่มาภาพ: http://www.leicestermercury.co.uk/Promotion-just-start-Leicester-City-says-club-s/story-21061806-detail/story.html

ในขณะที่ฟุตบอลลีกอาชีพของไทย ฤดูกาล 2559 เพิ่งเริ่มต้น แต่ฟุตบอลลีกอาชีพของอังกฤษ ฤดูกาล 2015/2016 กำลังจะได้บทสรุป

เมื่อทีม Leicester City “ทีมฟุตบอลอาชีพของอังกฤษ” ที่มี “คนไทย” เป็นเจ้าของ กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์ เป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกครั้งแรกแบบพลิกความคาดหมาย

คำถามก็คือ เหตุใด “ทุนไทย” ถึงต้องบินไปลงทุนซื้อทีมฟุตบอลถึงอีกซีกโลกหนึ่ง

เป็นแฟชั่นในหมู่มหาเศรษฐีไทย เป็นของเล่นของคนรวย เป็นการลงทุนทางธุรกิจ หรือเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใด?

โลกาภิวัตน์กับฟุตบอลอาชีพอังกฤษ

ปัจจุบัน ทีมในลีกฟุตบอลอาชีพของอังกฤษ ทั้ง 4 ลีก รวม 92 ทีม ได้แก่ พรีเมียร์ลีก (20 ทีม) แชมเปี้ยนชิพ (24 ทีม) ลีกวัน (24 ทีม) และลีกทู (24) มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นหลักถึง 29 ทีม คิดเป็น 31% หรือเกือบ “หนึ่งในสาม” แบ่งเป็น

  • พรีเมียร์ลีก 12 ทีม
  • แชมเปี้ยนชิพ 12 ทีม
  • ลีกวัน 4 ทีม
  • ลีกทู 1 ทีม

โดยมีทีมซึ่งคนไทยเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นหลักถึง 3 ทีม ได้แก่ ทีม Leicester City (พรีเมียร์ลีก) ทีม Reading (แชมเปี้ยนชิพ) และทีม Sheffield Wednesday (แชมเปี้ยนชิพ)

เหตุที่นักลงทุนต่างชาติสนใจขนเงินมาลงทุนใน “ธุรกิจลูกหนัง” ถึงแดนผู้ดี ก็เนื่องจากลีกฟุตบอลอังกฤษ โดยเฉพาะลีกสูงสุดอย่าง “พรีเมียร์ลีก” เป็นลีกที่ได้รับความนิยมและมั่งคั่งที่สุดในโลก สังเกตได้จากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่มากเป็นอันดับที่ 1 ของโลก ฤดูกาลละ 2,630 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9.25 หมื่นล้านบาท) เกือบจะเท่ากับค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดลีกฟุตบอลอาชีพในลำดับที่ 2-4 รวมกัน ทั้ง

– อันดับที่ 2 “เซเรีย อา” ของอิตาลี ฤดูกาลละ 1,130 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.95 หมื่นล้านบาท)

– อันดับที่ 3 “บุนเดสลีกา” ของเยอรมัน ฤดูกาลละ 790 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.76 หมื่นล้านบาท)

– อันดับที่ 4 “ลีกเอิง” ของฝรั่งเศส ฤดูกาลละ 739 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.58 หมื่นล้านบาท)

กระทั่ง “ลาลีกา” ของสเปน ลีกฟุตบอลอาชีพที่มีทีมซึ่งเก่งที่สุดในโลกอย่างทีม Barcelona ก็ยังอยู่เพียงอันดับที่ 5 ฤดูกาลละ 706 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.47 หมื่นล้านบาท)

นอกจากนี้ พรีเมียร์ลีกยังมีวิธีแบ่งรายได้ทั้งจากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดและค่าตอบแทนอื่นๆ ที่ค่อนข้างเป็นธรรม (ต่างกับบางลีกอาชีพที่ทีมใหญ่จะได้มากกว่าทีมเล็กหลายเท่าตัว จนทำให้ไม่เกิดการแข่งขันภายในลีก) จึงสามารถการันตี “รายได้ขั้นต่ำ” ซึ่งค่อนข้างสูงได้ กระทั่งทีมซึ่งได้อันดับสุดท้ายในตารางคะแนน ยังได้รับส่วนแบ่งถึง 64.8 ล้านปอนด์ (ประมาณ 3.2 พันล้านบาท) ส่วนทีมแชมป์จะได้รับส่วนแบ่ง 98.9 ล้านปอนด์ (ประมาณ 4.9 พันล้านบาท) ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงรายได้ที่แต่ละทีมจะไปหากันมาเอง เช่น สปอนเซอร์ ลิขสิทธิ์การตลาด ค่าขายสินค้าที่ระลึก ฯลฯ โดยยังไม่รวมถึงรายได้จากการเข้าแข่งขันรายการระดับทวีป

ไม่แปลกที่ใครๆ จะบอกว่า “ลีกฟุตบอลอาชีพอังกฤษ” คือลีกที่รวยที่สุดในโลก (การันตีรายได้งดงามในระดับหนึ่ง)

ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศง่ายขึ้น ฟุตบอลกลายเป็นธุรกิจเต็มตัว ไม่ใช่แค่กิจการในครัวเรือนหรือชุมชนอีกต่อไป จึงไม่แปลกอะไรที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาซื้อทีมฟุตบอลอาชีพของอังกฤษมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงปี ค.ศ. 2000 นำโดย “โมฮาเหม็ด อัลฟาเอ็ด” นักธุรกิจเจ้าของห้างหรู Harrods ชาวอียิปต์ แห่งทีม Fulham (ปี ค.ศ. 1997) “โรมัน อับราโมวิช” มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย แห่งทีม Chelsea (ปี ค.ศ.2003) ตระกูลเกลเซอร์ นักลงทุนชาวอเมริกัน แห่งทีม Manchester United (ปี ค.ศ. 2004) ฯลฯ

นักลงทุนไทยก็เป็นหนึ่งใน “ทุนต่างชาติ” เหล่านั้น

ทักษิณ ชินวัตร ซื้อทีม Manchester City เมื่อปี ค.ศ.2007 ที่มาภาพ : www.dailymail.co.uk
ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายทุนไทยคนแรกที่เข้าซื้อทีมฟุตบอลอาชีพของอังกฤษ โดยซื้อทีม Manchester City เมื่อปี ค.ศ. 2007 ก่อนขายทีมให้กับกลุ่มทุนจากประเทศยูเออี (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ในอีก 1 ปีถัดมา ที่มาภาพ: www.dailymail.co.uk

เจ้าของทีมลูกหนังผู้ดี “สัญชาติไทย”

ถึงวันนี้ มีทุนไทยเข้าไปซื้อทีมหรือซื้อหุ้นในทีมฟุตบอลอาชีพอังกฤษ รวม 4 ทีม ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน

1. ทีม Manchester City (ก่อตั้ง ค.ศ. 1880)

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นนายทุนไทยคนแรกๆ ที่เข้าไปซื้อทีมฟุตบอลอาชีพของอังกฤษ หลังจากถูกกองทัพยึดอำนาจ จนทำให้กลับประเทศไม่ได้

“ทักษิณ” ซื้อหุ้น 75% ของทีม Manchester City ทีมระดับกลางของพรีเมียร์ลีก เมื่อปี ค.ศ. 2007 (ต้นฤดูกาล 2007/2008) ด้วยเงิน 81.6 ล้านปอนด์ (ประมาณ 4 พันล้านบาท) พร้อมแต่งตั้ง “สเวน โกรัน อีริกสัน” อดีตผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ ให้เข้ามาเป็นผู้จัดการทีม ด้วยสัญญา 3 ปี มูลค่า 9 ล้านปอนด์ (ประมาณ 450 ล้านบาท) ซึ่งถือว่าสูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลกในสมัยนั้น โดยวางเป้าหมายว่าจะพาทีมฉายา “เรือใบสีฟ้า” เข้าสู่ยุคใหม่ กลายเป็นทีมชั้นนำของทวีปยุโรป

แต่ความฝันของทักษิณก็จบลงในเวลาไม่ถึง 1 ปี เมื่อเขาถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) อายัดทรัพย์สินหลายหมื่นล้านบาท ทำให้ขาดเงินมาซื้อขายนักเตะและใช้จ่ายภายในทีม ที่สุดจึงต้องยอมขายทีมให้กับ “อาบูดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป” กลุ่มทุนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เป็นเงิน 210 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท)

แม้ดีลนี้จะทำให้เขาได้กำไร [ราคาขาย-(ราคาซื้อ+ค่าตัวนักเตะ+ค่าใช้จ่ายอื่นๆ+หนี้สิน)] ถึง 20 ล้านปอนด์ หรือราว 1 พันล้านบาท แต่หลายคนมองว่า วัตถุประสงค์การซื้อทีมของทักษิณน่าจะมาจาก “เหตุผลทางการเมือง” มากกว่า ทั้งจากสื่ออังกฤษบางฉบับ และจาก “โธมัส ฟุลเลอร์” นักข่าว นสพ.นิวยอร์กไทม์ส ประจำประเทศไทย

2. ทีม Leicester City (ก่อตั้งปี ค.ศ. 1884)

วิชัย ศรีวัฒนประภา เจ้าพ่อธุรกิจค้าขายสินค้าปลอดภาษีของกลุ่มคิงเพาเวอร์ (King Power) เข้าไปซื้อทีม Leicester City เมื่อปี ค.ศ. 2010 (ต้นฤดูกาล 2010/2011) ด้วยเงินกว่า 39 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1.9 พันล้านบาท)

กรณีนี้ น่าจะมาจากเหตุผลทางธุรกิจเป็นหลัก เพราะเดิมกลุ่มคิงเพาเวอร์ต้องการเพียงซื้อสปอนเซอร์เสื้อแข่งขันของทีมเพื่อทำการตลาดคิงเพาเวอร์ในอังกฤษเท่านั้น แต่ต่อมา “มิลาน มันดาริช” เจ้าของทีมขณะนั้น กลับเสนอขายทีมให้ในราคา 20 ล้านปอนด์ (ภายหลัง เพิ่มเป็น 39 ล้านปอนด์ หลังพบหนี้สินจำนวนมาก)

เจ้าพ่อดิวตี้ฟรีเมืองไทยเคยให้เหตุผลในการซื้อทีมฉายา “จิ้งจอกสยาม” ไว้ว่า เดิมตั้งใจจะซื้อทีมฟุตบอลอยู่แล้ว และก็มองทีมในกรุงลอนดอนเป็นหลัก แต่เมื่อมีข้อเสนอขายทีมนี้ในราคาไม่สูงมากนัก จึงตัดสินใจซื้อในทันที ส่วนสาเหตุที่ซื้อทีมในลีกรอง (ขณะนั้น ทีม Leicester City ยังเล่นอยู่ในแชมเปี้ยนชิพ) เนื่องจากมีราคาถูกกว่า ค่าใช้จ่ายไม่แพง และความคาดหวังไม่สูงมากนัก

ตลอด 6 ปีที่วิชัยเข้ามาทำทีม ได้รับเสียงชื่นชมจากสื่อท้องถิ่นค่อนข้างมาก จากการลงทุนซื้อนักเตะดีๆ เข้ามาอยู่เรื่อยๆ จนผลงานของทีมกระเตื้องขึ้นมา กระทั่งได้ลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร

คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ทีม Reading ที่มาภาพ : http://www.getreading.co.uk/sport/football/football-news/reading-fc-owner-lady-sasima-10419641
คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ 1 ในผู้ถือหุ้นของทีม Reading ขณะลงไปเปิดตัวใน Madejski Stadium สนามเหย้าของทีม ที่มาภาพ: http://www.getreading.co.uk/sport/football/football-news/reading-fc-owner-lady-sasima-10419641

3. ทีม Reading (ก่อตั้งปี ค.ศ. 1871)

คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ กับพวก เข้าซื้อทีม Reading เมื่อปี ค.ศ. 2014 (ต้นฤดูกาล 2014/2015) ด้วยเงินระหว่าง 25-35 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1.2-1.7 พันล้านบาท)

เดิมผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเจรจาซื้อทีมนี้ คือ “สัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา” ประธานทีมฟุตบอลอาชีพของไทย “เพื่อนตำรวจ” ในขณะนั้น ถึงขนาดมีภาพนายสัมฤทธิ์เซ็นสัญญากับผู้บริหารเดิมของทีม แต่หลังจากสัมฤทธิ์ถูกดำเนินคดีฉ้อโกงในเมืองไทย จึงต้องถอยฉากออกไป แล้วให้คุณหญิงศศิมากับพวกเป็นผู้เข้ามาทำสัญญาซื้อขายทีมนี้แทน

คุณหญิงศศิมาเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Forbes ว่า เหตุที่ซื้อทีมนี้เพราะ “ไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์” (อดีตนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กลุ่มบ้านฉาง ผู้มากคอนเน็กชั่น และเคยช่วยเจรจาในการซื้อขายทีม Manchester City ให้กับทักษิณมาแล้ว) ชักชวนให้มาร่วมหุ้นด้วย โดยมีการแจกแจงรายละเอียดการบริหารทีม ทำให้เธอและพันธมิตรสนใจ ก่อนตัดสินใจซื้อด้วย 3 เหตุผล 1. เมืองเรดดิงอยู่ห่างจากกรุงลอนดอนเพียง 45 นาที สามารถเดินทางมาชมเกมการแข่งขันได้บ่อยๆ 2. ต้องการหาอะไรที่ตื่นเต้นและท้าทายทำในช่วงสุดท้ายของชีวิต และ 3. ใช้เป็น asset ในการสร้างรายได้เพิ่มเติม โดยเฉพาะการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเมืองเรดดิง

แม้คุณหญิงศศิมาจะตั้งเป้าพาทีมนี้ขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก แต่ผลงานทั้ง 2 ฤดูกาลหลังซื้อทีม ยังวนเวียนแค่กลางตารางคะแนนแชมเปี้ยนชิพเท่านั้น

3. ทีม Sheffield Wednesday (ก่อตั้งปี ค.ศ. 1867)

เดชพล จันศิริ ทายาทตระกูลจันศิริ ผู้ค้าสินค้าประมงรายใหญ่ของโลกกลุ่มไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่น (Thai Union Frozen) เข้าซื้อทีม Sheffield Wednesday เมื่อปี ค.ศ. 2015 (กลางฤดูกาล 2014/2015) ด้วยเงิน 37.5 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1.8 พันล้านบาท)

สถานีโทรทัศน์ช่อง Now อ้างว่า ดีลนี้มีไพโรจน์อยู่เบื้องหลังด้วย แต่จากการตรวจสอบยังไม่พบข้อมูลยืนยันเรื่องที่ว่า พบเพียงผู้ขายทีมให้กับเดชพลคือ “มิลาน มันดาริช” คนเดียวกับที่ขายทีม Reading ให้กับคุณหญิงศศิมากับพวก (ซึ่งดีลนั้นไพโรจน์ช่วยประสานงานให้)

เดชพลให้เหตุผลในการซื้อทีมฉายา “นกเค้าแมว” สั้นๆ ว่า มีลูกชายที่คลั่งไคล้กีฬาฟุตบอลเป็นแรงบันดาลใจ โดยการซื้อทีมครั้งนี้ในเงินส่วนตัว ไม่ใช่เงินของครอบครัวหรือบริษัท

ผลงานแรกของเดชพลคือการเปลี่ยนตราสโมสรกลับไปใช้ของเดิมเมื่อกว่า 50 ปีก่อน ที่ได้รับเสียงตอบรับในทางบวกจากแฟนบอล

แม้วัตถุประสงค์ในการซื้อทีมยังเป็นปริศนา แต่เป้าหมายของเดชพลชัดเจน คือเลื่อนขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2017/2018 อย่างไรก็ตาม ถ้าดูจากผลงานในฤดูกาลนี้ที่ดีวันดีคืน จนล่าสุด ขึ้นไปอยู่ในโซนเพลย์ออฟเลื่อนชั้นไปพรีเมียร์ลีก ทีม Sheffield Wednesday อาจบรรลุเป้าหมายของเจ้าของคนไทยได้ก่อนกำหนด

เดชพล จันศิริ เจ้าของทีม Sheffield Wednesday ที่มาภาพ : http://www.thestar.co.uk/sport/football/sheffield-wednesday/dom-howson-column-it-s-good-to-talk-as-chansiri-impresses-wednesdayites-1-7555960
เดชพล จันศิริ เจ้าของทีม Sheffield Wednesday ที่มาภาพ: http://www.thestar.co.uk/sport/football/sheffield-wednesday/dom-howson-column-it-s-good-to-talk-as-chansiri-impresses-wednesdayites-1-7555960

ของเล่นมหาเศรษฐี หรือการลงทุนข้ามชาติ?

จะเห็นได้ว่า ทีมฟุตบอลอาชีพของอังกฤษ 3 ใน 4 ทีมที่นายทุนไทยเข้าซื้อจะอยู่ในลีกรอง คือ “แชมเปี้ยนชิพ” เป็นหลัก โดยค่าใช้จ่ายในการซื้อทีมอยู่ที่ราว 40 ล้านปอนด์ (ประมาณ 2 พันล้านบาท) อาจเพราะหากต้องการซื้อทีมในลีกสูงสุดอย่าง “พรีเมียร์ลีก” นอกจากค่าซื้อทีมจะสูงแล้ว ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็ยิ่งสูงตาม สู้มาซื้อทีมในลีกรองแล้วปั้นให้ขึ้นไปลีกสูงสุดน่าจะดีกว่า อย่างที่ทีม Leicester City ทำสำเร็จในฤดูกาล 2013/2014 และกำลังมีลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 2015/2016 นี้

Bloomberg ประเมินว่า หากทีม Leicester City ได้แชมป์พรีเมียร์ลีกจริง จะทำให้มูลค่าของสโมสรเพิ่มเป็น 250 ล้านปอนด์ (ราว 1.25 หมื่นล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 640% เมื่อเทียบกับมูลค่า 39 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1.9 พันล้านบาท) ที่วิชัยซื้อทีมมาบริหารเมื่อ 6 ปีก่อน

แน่นอนว่า หากมองเฉพาะมูลค่าของทีมฉายา “จิ้งจอกสยาม” ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด การทำทีมฟุตบอลอาจเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จเช่นกลุ่ม King Power ของวิชัย

คำถามก็คือ แล้วนักกลงทุนแต่ละคนมีวัตถุประสงค์ในการซื้อทีมฟุตบอลอังกฤษ ที่ต้องใช้เงินเป็นพันๆ ล้านบาท อย่างไร

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้ลองประมวลข้อมูลจากสื่ออังกฤษหลายๆ สำนัก พบว่า สื่ออังกฤษมองการเข้ามาซื้อทีมฟุตบอลอาชีพโดยทุนต่างชาติ (รวมถึงทุนไทย) ว่ามีเหตุผลหลักๆ อยู่ 4-5 ข้อ

  • ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสถานะทางสังคม ทั้งในประเทศอังกฤษและบ้านเกิด
  • ใช้ทำธุรกิจโดยตรง คือหากำไรจากการบริหารทีมนั้นๆ
  • ใช้ต่อยอดธุรกิจอีกที เช่น ทำการตลาดสินค้าแบรนด์ตัวเองให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ
  • เติมเต็มความต้องการส่วนตัว
  • อื่นๆ เช่น เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง

ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงการใช้ทีมฟุตบอลอาชีพของอังกฤษเป็นเครื่องมือในการทำผิดกฎหมาย เช่น ฟอกเงิน นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 ทางผู้บริหารลีกฟุตบอลอาชีพอังกฤษจึงได้ตั้งหลักเกณฑ์ที่ชื่อว่า Fit and Proper Person Test เพื่อใช้ตรวจสอบคุณสมบัติของเงินทุน (ทั้งอังกฤษและต่างชาติ) ที่มาจะเทกโอเวอร์หรือซื้อหุ้นเกินกว่า 30% ของทีมฟุตบอลอาชีพใดๆ ทั้ง 4 ลีกของอังกฤษ รวมไปถึงลีกในสกอตแลนด์

โดยหลักเกณฑ์นี้มีด้วยกันหลายข้อ แต่หลักๆ คือ 1. นายทุนคนนั้นต้องไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในคดีฉ้อโกง หรือ 2. ห้ามเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลสองทีมขึ้นไปในลีกเดียวกัน ที่ผ่านมา มีนักลงทุน 4 รายที่ไม่สามารถซื้อทีมได้ หลังตกหลักเกณฑ์ Fit and Proper Person Test หนึ่งในนั้นคือ “ลูอิส ทอมลินสัน” นักร้องวงดนตรีวัยรุ่นชื่อดัง One Direction ที่ต้องการซื้อทีม Doncaster Rovers ในลีกวันของอังกฤษ แต่ตกหลักเกณฑ์เรื่องแผนการระดมทุนที่มีข้อสงสัย

แฟนบอลไทยหลายคนอาจมองว่า การเข้าซื้อทีมฟุตบอลอาชีพในยุโรปของนักลงทุนไทยเป็นเพียงการหา “ของเล่น” ชิ้นใหม่ๆ ของบรรดามหาเศรษฐี

แต่กว่าจะซื้อได้ นอกจากใช้เงินมหาศาลแล้ว ยังต้องผ่านการทดสอบมากมาย

การจะได้ “ของเล่น” ชิ้นนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก ที่สำคัญ เวลาและการกระทำจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การเข้าไปมีส่วนเกี่ยวกับทีมฟุตบอลอาชีพเหล่านั้น เป็นเพียงแค่การหาของเล่นมาฆ่าเวลา หรือเป็นการลงทุนด้วยเหตุผลทางธุรกิจ

อนึ่ง ยังมีทีมฟุตบอลอาชีพในยุโรปอีก 1 ทีม ได้แก่ ทีม AC Milan ของอิตาลี ที่นักลงทุนไทย คือ “บี เตชะอุบล” ทายาทนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เครือคันทรีกรุ๊ป ได้เจรจาขอซื้อหุ้น 48% ของทีม เป็นเงิน 480 ล้านยูโร (ประมาณ 19,200 ล้านบาท) สำเร็จแล้ว แต่ถึงปัจจุบัน บียังไม่สามารถหาแหล่งทุนมาจ่ายค่าซื้อหุ้นที่ตกลงไว้กันได้ จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า ทีมฉายา “ปีศาจแดงดำ” ที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต เป็นแชมป์ยุโรปถึง 7 สมัย จะมีผู้ถือหุ้นหลักเป็นคนไทย หรือไม่

แบรนด์ไทย ลุยตลาดโลก

นอกจากการเข้าไปซื้อทีมฟุตบอลอาชีพของอังกฤษเพื่อมาบริหารงานเองแล้ว ยังมีอีกวิธีที่ทำให้กลุ่มทุนไทยสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับการแข่งขันฟุตบอลอาชีพในยุโรป ทั้งพรีเมียร์ลีกและลีกอื่นๆ ได้ นั่นคือ การเข้าไปเป็น “สปอนเซอร์”

โดยกลุ่มทุนไทยเจ้าแรกที่บุกตะลุยเข้าไปคือเบียร์ Chang (ช้าง) ของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่ไปซื้อสปอนเซอร์คาดอกเสื้อทีมแข่งขัน ซึ่งถือว่าเป็น 1 ในจุดที่ราคาขายแพงที่สุด โดยโลโก้เบียร์ Chang ได้ไปคาดอยู่บนหน้าอกเสื้อทีม Everton ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004

chang2
เบียร์ Chang เป็นสปอนเซอร์ให้กับทีม Everton ของอังกฤษ มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กแฟนเพจ Changworld

หลังจากนั้นแบรนด์ไทยก็หลั่งไหลเข้าไปซื้อสปอนเซอร์กับทีมฟุตบอลอังกฤษอีกมากมาย มีทั้งแบบสปอนเซอร์หลัก (Main Sponsor) หรือเป็นแค่หุ้นส่วน (Partnership) ความร่วมมือ ในระดับนานาชาติ ระดับภูมิภาค หรือระดับประเทศ ซึ่งแต่ละแบบรายละเอียดของสัญญาก็จะแตกต่างกันออกไป และราคาก็แตกต่างกันด้วย

โดยเป้าหมายหลักส่วนใหญ่จะคล้ายกัน คือใช้กีฬาเป็น “ช่องทางการการตลาด” ทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้น หรือที่เรียกกันว่า sport marketing

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าตรวจสอบพบว่า มีอย่างน้อย 18 แบรนด์ไทย ที่ใช้ sport marketing เพื่อลุยตลาดลูกหนังยุโรปมาแล้ว ดังนี้

1. เบียร์ Chang

  • ทีม Everton (อังกฤษ) ฤดูกาล 2004/2005 – 2016/2017
  • ทีม Barcelona (สเปน) ฤดูกาล 2012/2013 – 2017/2018
  • ทีม Real Madrid (สเปน) ฤดูกาล 2012/2013 – 2014/2013

2. เบียร์ Singha

  • ทีม Chelsea (อังกฤษ) ฤดูกาล 2010/2011 – 2016/2017
  • ทีม Manchester United (อังกฤษ) ฤดูกาล 2010/2011 – 2016/2017
  • ทีม Manchester City (อังกฤษ) ฤดูกาล 2016/2017 – 2018/2019
  • ทีม Leicester City (อังกฤษ) ฤดูกาล 2016/2017 – 2018/2019

3. สินค้าปลอดภาษี King Power

  • ทีม Leicester City (อังกฤษ) ฤดูกาล 2010/2011 – ปัจจุบัน

4. เครื่องดื่มชูกำลัง Carabao

  • ทีม Reading (อังกฤษ) ฤดูกาล 2015/2016
  • ทีม Chelsea (อังกฤษ) ฤดูกาล 2016/2017 – 2018/2019

5. สายการบิน Thai Airways

  • ทีม Reading (อังกฤษ) ฤดูกาล 2015/2016

6. เครือข่ายโทรศัพท์มือถือและโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ในเครือ True

  • ทีม Manchester United (อังกฤษ) ฤดูกาล 2014/2015 – 2016/2017

7. เครื่องดื่ม Est Cola

  • ทีม Manchester United (อังกฤษ) ฤดูกาล 2012/2013 – 2013/2014
  • ทีม Manchester City (อังกฤษ) ฤดูกาล 2012/2013 – 2013/2014

8. ยางรถยนต์ Nitto Tire

  • ทีม Chelsea (อังกฤษ) ฤดูกาล 2013/2014 – 2015/2016

9. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

  • ทีม Leicester City (อังกฤษ) ฤดูกาล 2012/2013 – 2014/2015

10. ชุดกีฬา FBT

  • ทีม Doncaster Rovers (อังกฤษ) ฤดูกาล 2016/2017 – 2018/2019

11. กะทิ ชาวเกาะ

  • ทีม Liverpool (อังกฤษ) ฤดูกาล 2016/2017 – 2018/2019

12. น้ำตาล วังขนาย

  • ทีม Bayern Munich (เยอรมัน) ฤดูกาล 2016/2017

13. ชุดกีฬา Supersports

  • ทีม Liverpool (อังกฤษ) ฤดูกาล 2013/2014

14. แบตเตอรี่ GS Battery

  • ทีม Manchester City (อังกฤษ) ฤดูกาล 2013/2014

15.แบตเตอรี่ 3K Battery

  • ทีม Liverpool (อังกฤษ) ฤดูกาล 2012/2013 – 2014/2015

16. ธนาคารกรุงเทพ

  • ทีม Chelsea (อังกฤษ) ฤดูกาล 2014/2015 – 2016/2017

17. สถานีโทรทัศน์ Mono

  • ทีม Liverpool (อังกฤษ) 2013/2014 – 2015/2016

18. สถานีโทรทัศน์ PPTV

  • ทีม Bayern Munich (เยอรมัน) ฤดูกาล 2016/2017
  • ทีม Borussia Dortmund (เยอรมัน) ฤดูกาล 2016/2017
(จากซ้ายไปขวา) แกรี่ เคฮิลล์ และจอห์น เทอร์รี่ 2 นักเตะทีม Chelsea ของอังกฤษ ถือเครื่องดื่มชูกำลัง Carabao ไว้ในมือ หลังบริษัทไทยเซ็นสัญญาเป็นสปอนเซอร์ด้วยมูลค่าสูงถึง 30 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,500 ล้านบาท) ในช่วงเวลา 3 ปี ที่มาภาพ : http://thai.chelseafc.com/news/latest-news/2015/11/chelsea-partners-with-carabao.html
(จากซ้ายไปขวา) แกรี เคฮิลล์ และจอห์น เทอร์รี 2 นักเตะทีม Chelsea ของอังกฤษ ถือเครื่องดื่มชูกำลัง Carabao ไว้ในมือ หลังบริษัทไทยเซ็นสัญญาเป็นสปอนเซอร์ทีมด้วยมูลค่าสูงถึง 30 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,500 ล้านบาท) ที่มาภาพ: http://thai.chelseafc.com/news/latest-news/2015/11/chelsea-partners-with-carabao.html

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะไม่มีการเปิดเผยมูลค่าของสัญญา แต่คาดว่าจะอยู่ในหลัก 1 ล้านปอนด์ (ประมาณ 50 ล้านบาท) ขึ้นไปแทบทั้งสิ้น โดยสัญญาสปอนเซอร์ที่มีมูลค่ามากที่สุดเท่าที่มีการเปิดเผยคือสัญญาระหว่างเครื่องดื่มชูกำลัง Carabao กับทีม Chealsea ก็มีค่าเซ็นสัญญา ระหว่างปี 2016/2017 – 2018/2019 ถึง 30 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,500 ล้านบาท)

ส่วนสัญญาของเบียร์ Chang กับทีม Everton ของอังกฤษ ที่การเซ็นสัญญาครั้งล่าสุด ระหว่างปี 2014/2015 – 2016/2017 มีมูลค่าสูงถึง 16 ล้านปอนด์ (ประมาณ 800 ล้านบาท) และเบียร์ Chang กับทีม Barcelona และทีม Real Madrid ของสเปน ระหว่างปี 2012/2013 – 2014/2015 ที่เซ็นสัญญาคู่กัน ก็มีมูลค่ารวม 16.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 577 ล้านบาท)

หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในข่าว คือ 1 เหรียญสหรัฐ = 35 บาทไทย, 1 ยูโร = 40 บาทไทย และ 1 ปอนด์ = 50 บาทไทย(ดูข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยน)