ThaiPublica > คอลัมน์ > ภัยพิบัติ โลกร้อน และจักรยาน…คนละเรื่องเดียวกัน

ภัยพิบัติ โลกร้อน และจักรยาน…คนละเรื่องเดียวกัน

30 เมษายน 2016


ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธาน ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

ภัยพิบัติหรือที่บางคนเรียกว่าพิบัติภัย สามารถทำให้เกิดความเสียหายต่อชุมชนและบ้านเมืองได้มาก ซึ่งสาเหตุภัยพิบัติใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเรื่องน้ำแล้งหรืออภิมหาน้ำท่วม ฯลฯ ล้วนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือปัญหาโลกร้อน ซึ่งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้เป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG, Green House Gases) มาอีกทอดหนึ่ง ทางแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติที่ดีที่สุดจึงต้องมาจากการแก้ที่ต้นตอของสาเหตุคือการลดก๊าซเรือนกระจก และเมื่อพูดถึงในเขตเมืองหรือเทศบาลแล้ว สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญที่สุดมาจากภาคการขนส่ง-เดินทาง-จราจร ซึ่งถ้าเราเลิกหรือลดการเดินทางที่ใช้เครื่องยนต์และหันมาใช้การเดินทางที่ยั่งยืน อันได้แก่ การเดินและจักรยานได้ ปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขเป็นลูกโซ่ และมีผลกระทบโยงไปถึงการลดพิบัติภัยในระดับโลกได้อย่างคาดไม่ถึง

การลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการสร้างเมืองน่าอยู่
การลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการสร้างเมืองน่าอยู่

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 ได้มีการร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน หรือ MOU ระหว่างชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (TCC) สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และองค์กรสหประชาชาติองค์กรหนึ่งที่ว่าด้วยการลดภัยพิบัติ (disaster) ที่เรียกขานกันในชื่อ UNISDR อันเป็นชื่อย่อเก่าของ United Nations Office for Disaster Risk Reduction เพื่อร่วมมือกันดำเนินโครงการ “สร้างเมืองคาร์บอนต่ำ เมืองจักรยาน และเมืองรู้สู้ภัยพิบัติ สู่เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน” โดยจะเริ่มกับเมืองต้นแบบ 15 เทศบาล” อันได้แก่ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครลำปาง เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองพนัสนิคม เทศบาลเมืองหนองสำโรง เทศบาลเมืองยโสธร เทศบาลเมืองศรีสะเกษ เทศบาลเมืองทุ่งสง เทศบาลเมืองพิจิตร เทศบาลตำบลพนมสารคาม เทศบาลตำบลหาดเสี้ยว เทศบาลตำบลโคกกรวด เทศบาลตำบลมาบอำมฤต ซึ่งเมื่อสำเร็จจะมีการถอดความรู้ไปสู่ “เมืองถอดแบบ” และจะขยายผลไปสู่ “เมืองตามแบบ” ในลักษณะแชร์ลูกโซ่ เพื่อการแตกกระจายให้มีผลในวงกว้างในโอกาสต่อไป

เมื่อพูดถึงการเอาจักรยานมาใช้ในเขตเมือง ทั้งประชาชนและผู้บริหารเทศบาลมักบอกว่าสำเร็จยากเพราะอันตราย ในโจทย์ข้อนี้ ผมได้ถามที่ประชุมว่า ในชีวิตนี้ใครเคยเห็นสาวยาคูลท์ขี่จักรยานโดนรถชนตายบ้าง ใครเคยเห็นชาวบ้านหรือลูกบ้านขี่จักรยานไปซื้อโจ๊กซื้อกะปิปลาร้าที่ตลาดแล้วโดนรถชนตายบ้าง คำตอบที่ได้รับคือเสียงหัวเราะอย่างเก้อเขิน และการพยักหน้ายอมรับว่าได้เข้าใจผิดอะไรไปบ้างแล้ว เพราะข่าวโศกนาฏกรรมคนขี่จักรยานโดนรถชนตายนั้นไม่ใช่เกิดจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของชาวบ้านเลย แต่เป็นเหตุการณ์ของนักปั่นจักรยานบนท้องถนนหลวงที่รถยนต์วิ่งด้วยความเร็วสูงด้วยกันแทบทั้งสิ้น

บางทีความเข้าใจผิดและรับรู้ผิด ก็ทำให้เราตัดสินใจผิดได้ง่ายๆ และการตัดสินใจผิดๆ ที่ไม่สนับสนุนให้ลูกบ้าน ชาวบ้าน ลูกหลาน ออกมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันนี่แหละ ที่ทำให้การรณรงค์ให้ผู้คนออกมาใช้จักรยานอย่างจริงจังจนเป็น “มวลวิกฤติ” ทางสังคมจึงยังไม่เกิดขึ้น และเมื่อไม่เกิดขึ้นก็ไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนและเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลงได้ ซึ่งเมื่อลดสาเหตุการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้ ปัญหาเรื่องฝนตกไม่ถูกต้องตามฤดูกาล ตกมากไป ตกน้อยไป อันทำให้เกิดภาวะน้ำแล้งน้ำท่วมอย่างเฉียบพลันและรุนแรงติดต่อกันเป็นเวลาแรมเดือนก็ตามมา

30 kph speed limit vs fatalities, graph WHO 2008

เมื่อเหตุการณ์ที่ว่านั้นเกิดขึ้น มันมิได้เพียงทำให้ชาวบ้านสูญเสียผลผลิตและรายได้ แต่อาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงชีวิตอย่างสุดขั้ว บางคนอาจกลายเป็นคนล้มละลาย บางคนไม่สามารถส่งลูกเข้าโรงเรียนได้ บางคนต้องหยุดธุรกิจ บางคนต้องขายที่ขายบ้านกลายเป็นคนจนเพียงชั่วข้ามคืน บางคนถึงกับอาจต้องกลายไปเป็นขโมย เป็นโจร เป็นพ่อค้ายาเสพติด เพื่อเอาชีวิตให้อยู่รอด

ความเร็วการขับขี่

ทางที่จะแก้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นกิจกรรมที่ทุกคนมีส่วนร่วมช่วยกันได้ คือ ทำความสะดวกและปลอดภัยให้แก่การใช้จักรยานในสังคมและชุมชน คำถามคือทำได้อย่างไร คำตอบนี้ง่าย คือ ประกาศให้ความเร็วของรถที่ใช้เครื่องยนต์ทุกชนิดในเขตที่อยู่อาศัยและเขตพาณิชย์ชุมชนในเทศบาลของตนเองไว้ที่ไม่เกิน 30 กม./ชม. ซึ่งมีงานวิจัยสรุปแล้วว่า จะเกิดความปลอดภัยต่อคนเดินเท้าและคนใช้จักรยานอย่างที่สุด และกฎหมายเองก็ได้ให้อำนาจแก่เทศบาลทุกแห่งทำการที่ว่านี้ได้มานานแล้ว มีอำนาจอยู่ในมืออยู่แล้ว

เพียงเท่านี้ ก็จะเกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้จักรยาน คนก็จะหันมาใช้จักรยานมากขึ้น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็จะลดลงตามไป ซึ่งนำไปสู่การฝนตกถูกต้องตามฤดูกาลเช่นในอดีต การที่จะเกิดภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง สึนามิ แผ่นดินแยกก็จะลดลง ผู้คนก็จะไม่จน ไม่ล้มละลาย ไม่กลายเป็นโจร สังคมก็จะเป็นสังคมที่สันติสุข

ผมได้บอกกับที่ประชุมว่า “ผมพูดมาตลอดว่า จักรยานสำหรับผมไม่ใช่เพียงเป็นพาหนะที่มีล้อสองล้อ แต่เป็นเครื่องมือทางสังคมที่สามารถแก้ปัญหาลูกโซ่ และ snowball (ลูกบอลหิมะที่กลิ้งไปๆ ใหญ่โตขึ้นๆ จนมีพลังมหาศาล) ขึ้นจนมีคำตอบที่ยิ่งใหญ่ให้แก่สังคมได้”

และสำหรับผมแล้ว

จักรยานเป็นพระเอกในสังคมยุคใหม่ในอนาคตอย่างไม่มีทางเป็นอื่นได้

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 22 เม.ย. 2559