ThaiPublica > คอลัมน์ > กำเนิด Open Data: สัมภาษณ์เบื้องหลังการเปิด “ข้อมูล GIS” ในสหรัฐฯ

กำเนิด Open Data: สัมภาษณ์เบื้องหลังการเปิด “ข้อมูล GIS” ในสหรัฐฯ

14 เมษายน 2016


ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ที่มาภาพ : http://www.synergicpartners.com/wp-content/uploads/2014/05/Data-Visualization.gif
ที่มาภาพ: http://www.synergicpartners.com/wp-content/uploads/2014/05/Data-Visualization.gif

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างช้าๆ

สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนว่าจะช้ารั้งท้ายกว่าเพื่อนคือการเปิดข้อมูลสาธารณะทั้งหมดให้แก่ประชาชน

ผมเคยเขียนถึงประโยชน์อันมหาศาลของ Open Data ไว้แล้วที่นี่ สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่เคยสัมผัสกับ Open Data ต่อไปนี้คือสิ่งที่ประชากรที่อยู่อาศัยในประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถทราบและดาวน์โหลดได้เพียงแค่ไม่กี่คลิก

1. รถแท็กซี่คันไหนจอดรับส่งผู้โดยสารที่ไหน ใช้เส้นทางไหน ได้เงินเท่าไหร่ ได้ทิปเท่าไหร่บ้าง ทุกวัน ทุกวินาที ตั้งแต่ปี 2009 (ลองดู visualization เรื่องราวของแท็กซี่แต่ละคันในเมืองนิวยอร์กในปี 2013 ได้ที่นี่)

2. ภาษีที่ดินที่เจ้าของตึกทุกตึกในเมืองคุณเสียให้กับรัฐบาลไปเมื่อปีที่แล้ว จะเอาตึกไหนก็เลือกดูได้เลย

3. ในย่านที่คุณอยู่อาศัยมีอัตราการก่ออาชญากรรมสูงแค่ไหนเทียบกับย่านที่คุณกำลังจะตัดสินใจซื้อบ้านใหม่

4. บริษัทไหนในเมืองคุณที่ทำธุรกรรมกับองกรค์ภาครัฐมากที่สุด ซื้อขายอะไรมากที่สุด ดูได้เป็นจำนวนเม็ดเงินในแต่ละเช็คเลยทีเดียว

5. เทศบาลของคุณสามารถซ่อมถนน ซ่อมไฟถนน หรือย้ายสิ่งกีดขวางที่เป็นอันตรายบนท้องถนนได้เร็วแค่ไหนหลังจากที่คุณโทรศัพท์ไปแจ้ง เทศบาลของคุณมีประสิทธิภาพขึ้นบ้างไหมในช่วงห้าปีที่ผ่านมา หรือว่าแย่ลงเรื่อยๆ

6. ตำแหน่งราชการใดในเมืองคุณที่มีเงินเดือนมากสุด

ประโยชน์ของ Open Data ทั้งต่อสังคมและต่อรัฐบาลเองมีในมิติใดบ้างนั้นผมขอเชิญอ่านบทความที่แล้วนะครับ ส่วนในบทความนี้ผมจะนำเสนอ 2 สิ่ง:

สิ่งแรก คือ คุณค่าของการเปิดข้อมูลประเภทพิเศษที่เรียกว่า ข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) ซึ่งผมจะเรียกย่อๆ ว่า “ข้อมูล GIS” ข้อมูลเชิงแผนที่แบบนี้มีประโยชน์อันมหาศาลในการเอาไปต่อยอดเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะ (Public Policy) ในระดับท้องถิ่น การสร้าง value โดยภาคเอกชน และการเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Smart City หรือ Smart Government ได้

สิ่งที่สองที่ผมจะนำเสนอคือเบื้องหลังของ “การต่อสู้” เพื่อทำให้เกิดการเปิดข้อมูล GIS ให้กับประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ผมโชคดีได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณเจฟ มาส (Geoff Maas) ผู้เป็นกำลังหลักในการผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานในรัฐมินนิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา “ยอม” เปิด ข้อมูล GIS ให้กับประชาชน คุณเจฟมีบทเรียนหลายบทเรียนที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยซึ่งเราอาจนำไปประยุกต์ใช้ต่อไปได้

คุณค่าของการเปิด “ข้อมูล GIS”

จุดเด่นหลักๆ ของ ข้อมูล GIS คือข้อมูลประเภทนี้ “พ่วง” สถานที่และตำแหน่ง เช่น บ้านเลขที่หรือละติจูดและลองจิจูดมากับข้อมูลอื่นๆ ด้วย

ที่มาภาพ : Napat Jatusripitak
ที่มาภาพ: Napat Jatusripitak

ตัวอย่าง 1: แผนที่ข้อมูลภาษีที่ดิน

ตัวอย่างแรกด้านบนคือแผนที่ที่ผสานข้อมูล “รูปร่างหน้าตา” ของที่ดินเข้ากับข้อมูลภาษีที่ดิน ซึ่งพอนำมาผสานกันแล้วทำให้มองได้ง่ายมากว่าที่แต่ละแปลงในย่านนี้จ่ายภาษีที่ดินในปี ค.ศ. 2013 ไปเท่าไร ประโยชน์ของการผสานข้อมูลรูปร่างของที่ดินแบบนี้มีมากมาย เช่น ทำให้นักวางผังเมืองสามารถเข้าใจได้ถึงเทรนด์ของมูลค่าที่ดินในแต่ละย่าน อีกทั้งหากผนวกเข้ากับภาพถ่ายทางอากาศด้วยก็จะสามารถดูได้ว่ามีการต่อเติมอาคารหรือมีการเพิ่มมูลค่าจากปีที่แล้วหรือไม่ รัฐบาลจะได้ทำการเก็บภาษีได้มากขึ้น

ที่มาภาพ : Napat Jatusripitak
ที่มาภาพ : Napat Jatusripitak

ตัวอย่าง 2: หาทำเลที่เหมาะที่สุด

ตัวอย่างที่สอง คือ การวางแผนสร้างอาคารใหม่ๆ เช่น อพาร์ตเมนต์หรือหมู่บ้านจัดสรรในพื้นที่ ให้เหมาะสมกับทั้งภูมิประเทศและระยะทางในการเดินทางจากสถานที่สำคัญมากที่สุด การจะตัดสินใจว่าจะสร้างอาคารใหม่ๆ ในทำเลใดของเมืองสโตว์ ในรัฐเวอร์มอนด์ ซึ่งเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องการมาเล่นสกีนั้นไม่ง่ายนัก เนื่องจากเป็นเมืองที่มีเครือข่ายถนนที่ไม่กว้างนัก และมีสถานที่สำคัญๆ เช่น โรงเรียน และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่เป็นตัวดึงดูดให้ผู้คนย้ายมาอยู่อาศัยจำนวนไม่มากและตั้งอยู่แบบค่อนข้างกระจัดกระจาย อีกทั้งยังเป็นเมืองที่มีภูมิประเทศที่เป็นภูเขาที่ค่อนข้างชันเสียมากอีกด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้การเลือกทำเลยากกว่าปกติมาก

แต่เชื่อหรือไม่ว่า ภายในแค่ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ผมสามารถสร้างแผนที่นี้ขึ้นมาได้บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ แผนที่นี้ดูปราดเดียวก็ทราบเลยว่าทำเลไหนเหมาะ (เขียว) และไม่เหมาะ (แดง) กับการสร้างอาคารใหม่ๆ นั่นก็คือต้องเป็นทำเลที่ไม่ชันและไม่ห่างจากโรงเรียนหรือสถานที่พักผ่อนหย่อนใจเกินไป ทั้งหมดนี้จะเป็นไปไม่ได้ภายในครึ่งชั่วโมงเลยหากไม่มีข้อมูลความชันซึ่งมาจากการใช้เทคโนโลยี remote-sensing ซึ่งทำการคำนวนความชันและตัวแปรอื่นๆ เกี่ยวกับระดับความสูงในแต่ละจุดของแผนที่นี้จากการถ่ายภาพทางอากาศ หรือยิงแสงจากบนอากาศ และหากไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งของโรงเรียน สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และถนนหนทาง และที่สำคัญที่สุดคือ ทั้งหมดที่ผมพูดมานั้นฟรีหมดครับ

ที่มาภาพ : http://www.metrogis.org/MetroGIS/media/gis-documents/projects/FreeandOpenDataContext_Maas.pdf
ที่มาภาพ: http://www.metrogis.org/MetroGIS/media/gis-documents/projects/FreeandOpenDataContext_Maas.pdf

ตัวอย่าง 3: ข้อมูลเปิดอย่างแท้จริง

ตัวอย่างที่สามด้านบนคือการแสดงให้เห็นว่าการเปิดข้อมูล GIS แบบแท้จริงเป็นอย่างไร จะเห็นได้ว่าประชาชนแทบจะทราบทุกอย่างที่สามารถทราบได้เกี่ยวกับเมืองซูพีเรียร์ รัฐวิสคอนซิน ตั้งแต่ว่าถนนเส้นไหนเลี้ยวขวาผ่านตลอดไปจนถึงตำแหน่งของไฟถนนทุกดวง ลองนึกดูสิครับว่า หากเอาทั้งหมดนี้ไปผสานกับข้อมูลด้านสังคมและประชากร เราจะตอบโจทย์อะไรได้อีกบ้าง

ที่มาภาพ : http://solar.maps.umn.edu/app/
ที่มาภาพ: http://solar.maps.umn.edu/app/

ตัวอย่าง 4: ต่อยอดด้วย web app

สามตัวอย่างที่ผ่านมาเป็นการเอาข้อมูล GIS ไปใช้ในรูปแบบที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา แต่ตัวอย่างที่สี่ด้านบนนี้เป็นการใช้ข้อมูลฟรีๆ เหล่านี้เพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนา web application ชื่อ Minnesota Solar Suitability Analysis โดยทีมวิจัย GIS จากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา คุณสามารถกรอกที่อยู่คุณลงไปใน web application นี้หรือคลิกบนหลังคาบ้านคุณในแผนที่เพื่อคำนวณว่าทำเลที่คุณเลือกนั้นเหมาะกับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มากน้อยแค่ไหน มันจะคำนวนให้คุณว่าปีหนึ่งคุณจะได้ไฟฟ้าจากแผงประมาณเท่าไหร่และจะคืนทุนในกี่ปี

นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังสามารถคลิกต่อไปที่เว็บไซต์ข้อมูลการลดหย่อนภาษีเมื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์รวมถึงคลิกไปสู่รายชื่อบริษัทที่จำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ได้เลยภายในแค่คลิกสองคลิก ผมคิดว่านี่เป็นการต่อยอดที่เป็นประโยชน์มากๆ ในการเชื้อเชิญให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ถือว่าเป็นการแก้ไขความ “กลัวไม่คุ้ม” ในกลุ่มลูกค้าโซลาร์เซลล์ได้อย่างไม่เลวเลยทีเดียว

ที่มาภาพ : http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0006320708001213
ที่มาภาพ: http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0006320708001213

ตัวอย่าง 5: ต่อยอดทางวิชาการ

ตัวอย่างที่ห้าด้านบนคือการต่อยอดทางวิชาการโดยทีมวิจัยของอาจารย์ Stephen Polasky นักเศรษฐศาสตร์เชิงนิเวศวิทยา ที่ผมรู้สึกว่าเป็นการผสานข้อมูล GIS เข้ากับองค์ความรู้จากหลายๆ ศาสตร์อย่างดีเยี่ยม ท่านผู้อ่านบางท่านที่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์คงจะเคยได้ยินกราฟที่เรียกว่า Production Possibilities Frontier (PPF) มาก่อน มองไม่ผิดหรอกครับด้านบนนี้ก็เป็น PPF เหมือนกัน ตามตำราเศรษฐศาสตร์แล้ว PPF จะแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจที่มีทรัพยากรจำกัดและมีเทคโนโลยีการผลิตที่คงที่จะสามารถเลือกผลิตสินค้าสองประเภท (แกน x กับ แกน y) ได้ในปริมาณเท่าไรบ้าง ในกรณีนี้ สินค้าสองประเภทคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) กับ GDP

โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้ผนวกข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน (land use) ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะการดำรงชีวิตของสัตว์และพืชหลายสปีชีส์ ข้อมูลภูมิศาสตร์และสภาพอากาศ และข้อมูลเศรษฐกิจ เช่น ราคาที่ดิน เข้าด้วยกัน ทั้งหมดนี้ทำเพื่อคำนวณว่า “เราจะใช้/แบ่งโซนพื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดผลผลิตทาง biodiversity และ GDP อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดได้อย่างไร” จะสังเกตได้ว่า หากทุ่มทรัพยากรทุกอย่างลงไปกับการรักษา biodiversity โดยไม่สนใจ GDP เลย เราจะต้องทุบตึก ไล่ที่ ลดที่อยู่ของมนุษย์ และปลูกป่าเพื่อสร้างเขตป่าสงวนขนาดยักษ์ นี่คือจุด H ในกราฟที่มีสีเขียวเต็มแผนที่ประกอบ แต่หากเราต้องการให้มนุษย์มีผลผลิต มีรายได้ทางเงินตราบ้าง เราจะต้องค่อยๆ ปรับโซนที่ดินจากจุด H ไป G ไปทางขวาเรื่อยๆ จุดที่สำคัญที่สุดคือจุด I ที่อยู่ “ข้างใน” PPF ซึ่งจุดนี้แสดงให้เห็นการแบ่งโซนพื้นที่ในปัจจุบัน นั่นแปลว่าการแบ่งโซนขณะนี้ไม่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะถ้าแบ่งให้ดีกว่านี้เราจะสามารถได้ biodiversity และ GDP มากขึ้นทั้งคู่ นั่นก็คือเราควรขยับจากจุด I ไปจุด F E D C หรือ B งานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่าง biodiversity หรือ GDP เสมอไปถ้าจริงๆ แล้วเราสามารถเพิ่มทั้งคู่ได้

jatusri_article24_figure3b

อีกตัวอย่างการต่อยอดทางวิชาการด้านบนคือการใช้ machine learning แก้ปัญหาข้อมูลไม่พอว่าคนจนอยู่ที่ไหน โดยทำการคาดการณ์หรือทำนายความน่าจะเป็นของความยากจนจากข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมตอนกลางวันและตอนกลางคืนในช่วงเวลาหนึ่ง พูดง่ายๆ คือการให้คอมพิวเตอร์เทียบและหาความเกี่ยวโยงระหว่างความเปลี่ยนแปลงในภาพถ่ายตอนกลางวันกับภาพถ่ายตอนกลางคืนที่มีแสงไฟฟ้าเป็นตัววัดความเจริญ จากนั้นก็เทียบว่าโมเดลที่คอมพิวเตอร์คิดออกมาได้นั้นมันเทียบกับข้อมูลที่ใช้มนุษย์ไปสอบถามความยากจนตามบ้านเรือนแค่ไหน ปรากฏว่าค่อนข้างแม่นยำมาก หากภาพถ่ายดาวเทียมมีความคมชัดขึ้นและมีต้นทุนต่ำลงในอนาคต การแก้ปัญหาความยากจนจะทำได้อย่างรวดเร็วขึ้นและถูกกลุ่มเป้าหมายขึ้น

ที่มาภาพ : http://images2.citypages.com/imager/u/745xauto/6541555/stpaulmap_1935_page_001.jpg
ที่มาภาพ: http://images2.citypages.com/imager/u/745xauto/6541555/stpaulmap_1935_page_001.jpg

ตัวอย่างสุดท้ายนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สังคมไม่ควรเพิกเฉย คุณเคยสงสัยไหมว่าทำไมทางด่วนหรือที่เผาขยะมักจะชอบไปตัดผ่านหรือไปตั้งอยู่ในย่านที่อยู่อาศัยของคนจนหรือคนที่ไม่มีอำนาจทางการเมือง แผนที่ด้านบนเป็นผลงานของคุณเจฟ (ที่ผมไปสัมภาษณ์มา) แผนที่นี้แสดงให้เห็นว่า “มันมีที่มาที่ไป” ว่าทำไมทางด่วน I-94 ที่สุดจะเสียงดังและเต็มไปด้วยมลพิษถึงตั้งอยู่ตรงที่มันตั้งอยู่ทุกวันนี้ คุณเจฟได้เอาแผนที่สำรวจประชากรในเมืองเซนต์พอลจากปี ค.ศ. 1935 ระหว่างที่เทศบาลกำลังตัดสินใจว่าจะสร้างทางด่วน I-94 ตรงไหนของเมืองมา digitize เพื่อวางซ้อนกับแผนที่ทางด่วนปัจจุบันหลังจากสร้างเสร็จแล้ว จะเห็นได้ชัดเลยว่าเทศบาลตั้งใจสร้างทางด่วนตัดเข้าไปในใจกลางชุมชนแอฟริกันอเมริกันและชุมชนผู้ลี้ภัย (สังเกตดูว่าในปี ค.ศ. 1935 นั้นการเหยียดผิวอยู่ในจุดพีคแค่ไหน ลองดู “คำ” ที่เทศบาลใช้เรียกย่านสีน้ำตาลต่างๆ ดูครับ) เป็นการทำลายทั้งความสงบสุขและความแน่นแฟ้นของสังคมของคนเหล่านี้อย่างน่าเกลียด

ที่จริงแล้วผมคิดว่าเราทุกคนก็ทราบดีอยู่แล้วว่าโลกเราไม่ค่อยมีความเป็นธรรมนัก แต่การมีหลักฐานให้เห็นเป็นภาพ เป็นแผนที่แบบนี้ มันทำให้เราเห็นภาพแบบ “จะๆ” และเป็นสื่อที่มีพลังสามารถปลุกระดมพลังประชาชนให้ตอบโต้กับความไม่ยุติธรรมที่มีอยู่ได้

ทำอย่างไรให้เกิดการเปิด “ข้อมูล GIS”

ที่มาภาพ : http://stmedia.startribune.com/images/ows_142636905456461.jpg
ที่มาภาพ: http://stmedia.startribune.com/images/ows_142636905456461.jpg

ข้อมูล GIS มีประโยชน์และเอาไปต่อยอดได้หลายต่อหลายทาง แต่ปัญหาโลกแตกก็ยังคือเรื่องที่ว่า “ทำอย่างไรให้เกิดการเปิดข้อมูล”

วันนี้ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณเจฟ มาส ผู้อยู่เบื้องหลังการเปิด ข้อมูล GIS ให้กับประชาชนในรัฐมินนิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะนี้คุณเจฟดำรงตำแหน่งเป็น Coordinator หลักให้กับองกรค์ชื่อ MetroGIS และเป็นอาจารย์สอนวิชา GIS และ Data Visualization ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซตา

ณภัทร: สวัสดีครับเจฟ เรามาเริ่มกันที่ว่างานของคุณที่ MetroGIS คืออะไร MetroGIS มีหน้าที่อะไร ได้เงินทุนจากที่ไหน

เจฟ: ผมทำงานเป็น Coordinator ที่ MetroGIS มากว่าสี่ปีแล้ว สรุปง่ายๆ นะครับ MetroGIS เป็นองค์กรที่เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานรัฐในระดับต่างๆ กัน เช่น ระดับเมือง ระดับเขต ระดับส่วน ระดับรัฐ และระดับรัฐบาลกลางในการสร้างข้อมูลเชิงพื้นที่ (geospatial) ร่วมกันเพื่อเอาไว้แบ่งปันทั้งกันเองในกลุ่มและให้กับหน่วยงานอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีเก้าอี้สำหรับภาคเอกชน เช่น ตัวแทนกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือตัวแทนกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าน้ำประปามาร่วมมือกันด้วย เงินทุนที่เอาไว้บริหาร MetroGIS นั้นมาจากหน่วยงานรัฐชื่อ Metropolitan Council ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลระบบบำบัดน้ำเสียและระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถบัส รถราง light rail ให้กับ 7 เขตหลักในรัฐมินนิโซตา (ประชากรประมาณ 3 ล้านคน)

ก่อนหน้า MetroGIS ผมเป็นนักวางผังเมืองและนักวิเคราะห์ข้อมูล GIS ในทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และภาค non-profit มาประมาณ 20 ปี แต่ตัดสินใจย้ายมา MetroGIS เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ยกเลิกไม่ให้เมืองและเขตในรัฐมินนิโซตา “ขาย” ข้อมูลเชิงพื้นที่ หรือบังคับให้มีข้อตกลงในการใช้ข้อมูล (license agreement)

ทุกวันนี้ผมผลักดันสำเร็จแล้ว ทั้ง 7 เขตเปิดข้อมูลทั้งหมด และเขตอื่นๆ ในรัฐก็กำลังวางแผนจะเปิดให้หมด น่าจะเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้วในชีวิตผม (หัวเราะ)

ณภัทร: คุณบอกว่า MetroGIS เป็น “การร่วมมือกัน” ระหว่างหลายๆ หน่วยงาน มี “การแบ่งปัน” ข้อมูลร่วมกัน ฟังดูเหมือนการมานั่งประชุมแลกเปลี่ยนสินค้าโดยไม่มีการบังคับใดๆ ผมเข้าใจถูกไหมครับ

เจฟ: ใช่ คือมันเป็น process ที่ “ตามสมัครใจ” มากๆ หน่วยงานหลายๆ หน่วยงานจะมาประชุมกันเพื่อแชร์ลิสต์ priorities (สิ่งที่ตนต้องการมากที่สุด) สมมติว่าเอาลิสต์พวกนี้มาตีแผ่แล้วพบว่ามี 5 อย่างที่ทุกหน่วยต้องการเหมือนกัน เช่น ต้องการข้อมูลรูปร่างที่ดิน หรือภาพถ่ายทางอากาศที่มีความละเอียด pixel ละ 3 นิ้วสำหรับทั้ง 7 เขตมารวมกัน MetroGIS ก็จะพยายามจัดหาทรัพยากรและแบ่งงานสำหรับ 5 อย่างในลิสต์นี้ก่อน หลังจากนั้นค่อยดูว่ามีอะไรที่ร่วมมือกันได้อีก

ณภัทร: แล้วหน่วยงานที่เขาเสียเวลาเสียเงินสร้างข้อมูลดีๆ เขาได้อะไรจากการไปประชุมกับหน่วยงานเล็กๆ ที่อาจจะไม่มีอะไรมานำเสนอบนโต๊ะครับ หรือว่าบรรยากาศมันไม่เขี้ยวเหมือนเวลาเจรจาธุรกิจหรือการค้า

เจฟ: ถูกต้อง บรรยากาศมันค่อนข้างเป็นมิตรมาก เหตุผลนึงคือ MetroGIS ทำให้บรรยากาศมันเอื้ออำนวยต่อการแบ่งปัน แต่อีกเหตุผลนึงก็คือหน่วยงานเหล่านี้เขารู้ว่าข้อมูลเหล่านี้ที่เขาผลิตเองบางทีเขาเองก็ไม่ทราบหรอกว่าจะเอาไปต่อยอดยังไงหรือในทิศทางไหน เพราะบางทีการแบ่งปันมันทำให้เขาเห็นว่าหน่วยงานอื่นเอาไปต่อยอดได้อย่างยอดเยี่ยม และมันดีต่อส่วนรวม เขาเลยไม่หวง ไม่กั๊ก

ณภัทร: คือเป็นการมีทัศนคติร่วมกันว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นสินค้าสาธารณะ (public goods)

เจฟ: ถูกครับ สิ่งหนึ่งที่ผมพยายามปลูกฝัง policymaker ทั้งหลายคือข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ต่างจาก infrastructure อื่นๆ ที่เรามองเห็นในชีวิตประจำวัน มันไม่ได้ต่างจากสะพาน ถนน สวนสาธารณะ หรือเสาไฟฟ้าข้างบ้านคุณเลย มันเป็น infrastructure ที่ต้องถูกสร้างและบำรุงอย่างมีมาตรฐาน และต้องไม่มีการกีดกันว่าใครจะได้ใช้มัน MetroGIS พยายามทำทั้งสองอย่างนี้ คือสร้างและบำรุงข้อมูลให้มันมีมาตรฐานเข้ากันได้กับข้อมูลชุดอื่นๆ และผลักดันการเปิดข้อมูลแก่สาธารณชน

ณภัทร: น่าสนใจมากครับกับแนวคิดที่ว่าข้อมูลคือ infrastructure สาธารณะถ้าคิดเงินแพงๆ แล้วข้อมูลมันก็ไม่ใช่ infrastructure สาธารณะอีกต่อไป อย่างนี้ก็มีแค่คนรวยหรือธุรกิจขนาดยักษ์ที่สามารถเอามันไปใช้ได้ แย่ต่อทั้งความเหลื่อมล้ำและการแข่งขัน

ณภัทร: พอผมเริ่มคุ้นเคยกับสิ่งที่ Open Data หรือ Open GIS Data สามารถให้ประโยชน์กับสังคมได้ ผมไม่เข้าใจว่าสังคมสมัยใหม่จะดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไรเมื่อไม่มีระบบนิเวศข้อมูล (data ecosystem) ที่ทั้งมีคุณภาพและทั้งฟรี แต่ทั้งหมดนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียวใช่ไหมครับ ช่วยเล่าความเป็นมาได้ไหมครับว่าคุณทำอย่างไรให้เกิดการเปิดข้อมูล GIS

เจฟ: มันเป็นการเดินทางที่ยาวและยากลำบากมากครับ (หัวเราะ) จุดแรกที่ต้องเข้าใจก่อนคือระบบนิเวศข้อมูล GIS ที่เราเห็นอยู่นั้นมันมีต้นทุนสูงมากๆ ทั้งด้านเทคโนโลยีและด้านแรงงาน (เสียเวลามากกว่าจะได้ข้อมูลมาชุดนึง) สมัยก่อนหน่วยงานที่ผลิตข้อมูลเหล่านี้จึงชอบคิดเงินหรือบังคับให้มีการเซ็นข้อตกลงการใช้เมื่อประชาชนหรือธุรกิจพยายามขอข้อมูล ผมคิดว่ามันผิดเพราะว่าทรัพยากรที่เอาไปผลิตข้อมูลเหล่านี้มาจากเงินภาษีประชาชนทั้งนั้น! ทำไมยังจะเอามาคิดเงินอีก!

การผลักดันของผมนั้นทำจากสองทาง

ทางแรกคือทางกฎหมาย เมื่อสองปีที่แล้วผมไปสืบค้นกฎหมายเป็นเดือนๆ เพื่อดูว่ามันมีช่องทางทางกฎหมายแค่ไหนในการดันให้หน่วยงานรัฐเปิดข้อมูล เพราะว่าหน่วยงานรัฐเหล่านี้ 1) กลัวถูกฟ้องหากมีคนเอาข้อมูลตนไปใช้แล้วเกิดอะไรแย่ๆ ขึ้น 2) มีความเชื่อว่าตามกฎหมายแล้วตนต้องคิดเงินและต้องบังคับให้มีการเซ็นข้อตกลงในการใช้ข้อมูล

ปรากฏว่าหน่วยงานเหล่านี้ไม่ควร “กลัว” ถูกฟ้องขนาดนั้น เพราะจริงๆ แล้วมีกฎหมายข้อเล็กๆ ซ่อนอยู่ลึกจนไม่มีใครทราบว่า ถ้ามี disclaimer (ข้อความปฏิเสธความรับผิดชอบ) อยู่ หน่วยงานที่เปิดข้อมูลจะไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหาย ถ้ามีข้อผิดพลาดในข้อมูลจริงๆ การเปิดข้อมูลยังสามารถทำให้ประชาชนบอกเราได้อีกว่าข้อผิดพลาดอยู่ตรงไหน ไม่ต้องเสียเวลาหาเอง

ทางที่สอง คือ ทางด้านการบริหารการคลัง อันนี้หน่วยงานรัฐฟังขึ้นง่ายมาก เพียงแต่ต้องคอยย้ำว่าการเปิดข้อมูลฟรีๆ มี portal ให้ประชาชนดาวน์โหลดได้สะดวกๆ มันเป็นการประหยัดเงินและเวลาของหน่วยงานคุณเองนะ เพราะว่าหากลองค้นบัญชีหน่วยงานพวกนี้ในอดีตมาดูจะเห็นชัดเลยว่าที่ขายๆ ข้อมูลไปมันไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้สักเท่าไหร่เลย แถมยังเป็นการสิ้นเปลืองเวลาของบุคลากรคุณทุกครั้งที่มีคนโทรศัพท์มาขอข้อมูลอีก เอกสารข้อตกลงก็ต้องเก็บต้องรักษา คือถ้าไม่ได้ทั้งเงินและเสียเวลา ก็ไม่ควรทำ

นี่คือสองเส้นทางที่ผมใช้ในการผลักดันให้หน่วยงานรัฐยินยอมเปิดข้อมูล

วิสัยทัศน์ ค่านิยมเกี่ยวกับการเปิดข้อมูลนั้นสำคัญ แต่สองเส้นทางนี้เป็นอะไรที่ “ปิดโลง” ไปเลย เพราะมันชัดมากว่าการเปิดข้อมูลเป็นสถานการณ์ win-win สำหรับหน่วยงานรัฐและสังคม

ณภัทร: การเปิดข้อมูลแบบนี้ก็เป็นการสนับสนุนการสร้าง value โดยธุรกิจใหม่ๆ ที่เอาข้อมูลไปต่อยอดได้ไปในตัวด้วยนะครับนี่ เผลอๆ ได้เก็บภาษีมากขึ้นอีกในอนาคต

เจฟ: ใช่ครับ มันเป็นการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ด้วยน่ะครับ ไม่ใช่แค่เก็บเงินเล็กๆ น้อยๆ ไปวันๆ

ณภัทร: แล้วสำหรับประเทศที่ยังไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหวด้านนี้ หรือยังไม่มีงบทำข้อมูล GIS ดีๆ เราจะทำยังไงให้รัฐบาลทราบถึงคุณค่าของมันว่าคุ้มกับการลงทุนในโปรเจกต์แพงๆ อย่างเช่น การถ่ายภาพจากอากาศหรือการทำ remote-sensing แบบยิงเลเซอร์ลงมาบนโลกครับ

เจฟ: คงต้องเริ่มจากการบันทึกประโยชน์ทุกอย่างทั้งทางด้านสังคมและด้านธุรกิจให้ครบว่าคุณทำอะไรได้บ้างจากการมีข้อมูลพวกนี้ และต้องไม่ลืมว่าคุณควรทำโปรเจกต์ที่ “สร้างครั้งเดียว ใช้ได้หลายรูปแบบ” เพราะแม้ว่าทุกคนอยากใช้ข้อมูล GIS ในรูปแบบที่ต่างๆ กันไป คนนั้นจะศึกษาความโทรมของถนน คนนี้จะศึกษาการไหลของน้ำ แต่ทุกคนต้องใช้ข้อมูลชุดหลัก (core datasets) เช่น ข้อมูลถนน ข้อมูลเขตที่ดิน ข้อมูลเขตไปรษณีย์ ข้อมูล demographics ของผู้อยู่อาศัย ผมแนะนำให้แต่ละหน่วยงานร่วมมือกันครับ คุณจะได้ผลงานออกมามากกว่าเยอะ

ณภัทร: ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างช้าๆ แต่ยังมีความกังวลมากว่าข้อมูลสาธารณะจะยังคงปิดอยู่เสียส่วนมาก

เจฟ: ผมดีใจนะที่มีความเคลื่อนไหวแบบนี้เกิดขึ้นหลายที่บนโลก การเปิดข้อมูลชุดแรกๆ คงควรจะเป็นข้อมูลชุดหลักที่ผมบอก แล้วค่อยเปิดกระจายมากขึ้น มันน่าตลกสิ้นดีเมื่อปีที่แล้วผมไปพูดที่แคนาดามา พบว่าจริงๆ แล้วข้อมูลทั้งหมดยังเป็นของควีนที่อังกฤษอยู่เลย (ตามทางกฎหมายนะ) น่าเสียดายมากที่หลายอย่างยังปิดอยู่ ทำให้พวกเขาเสียโอกาสมากมายในการใช้ข้อมูลมาพัฒนานโยบายสาธารณะและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ พูดง่ายๆ คือมันไม่คุ้มสิ่งที่มีอยู่แล้วครับ

ณภัทร: และบางทีถึงจะเปิดแต่ข้อมูลไม่อยู่ในสภาพที่คุณเอาไปใช้ได้ง่ายๆ โหลดยาก หายาก และก็เป็นอย่างที่คุณเจฟพูดครับว่า ข้อมูลก็คือ infrastructure สาธารณะ ผมชอบการเปรียบเทียบนี้มาก เพราะเราลองสังเกตดูสิ ทุกเมืองต้องมีมาตรฐานของถนนว่าจะต้องไม่ขรุขระเกิน ต้องมีมาตรฐานของสวนสาธารณะว่ามันจะต้องไม่เต็มไปด้วยขยะ ต้องมีที่จอดรถง่ายๆ และไม่ใช่ไปสร้างแอบๆ อยู่ในที่ๆ คนไม่เห็น

เจฟ: ใช่ครับ

ณภัทร: ในความคิดคุณเจฟ คุณคิดว่าใครควรจะเป็นคนผลักดันให้เกิดการเปิดข้อมูลสาธารณะครับ

เจฟ: ทุกคนที่เป็นผู้บริโภคข้อมูลครับ เราต้องบอกให้รัฐบาลรู้ว่าการเปิดข้อมูลนั้นดีต่อธุรกิจ มันเป็นอะไรที่ทุกธุรกิจในอนาคตจะต้องพึ่งมัน และมันเป็นสัญญานที่ดีต่อภาพลักษณ์และแบรนด์ของเมืองคุณเองด้วย เวลาเมืองไหนมี open data ก็เหมือนกับการแขวนป้ายบอกว่า “We are open for business” ประมาณนั้นครับ ในด้านสังคมก็เหมือนกัน กลุ่ม NGO เดี๋ยวนี้ก็ค่อยข้างกระหายข้อมูล GIS มากๆ ผมว่าเปิดไปเลยดีกว่าถูกกลุ่มเหล่านี้กดดันให้เปิดที่ละชุดครับ

ณภัทร: ถ้าสมมติว่าคุณต้องเริ่มสร้างระบบนิเวศข้อมูลใหม่หมดเลย คุณจะเปลี่ยนแปลงวิธีดำเนินงานอย่างไรครับ เอาไว้เป็นข้อคิดสำหรับประเทศไทย

เจฟ: ผมคิดว่าก่อนจะสร้างอะไรทั้งหมดนี่ขึ้นมา ควรจะจับกลุ่มหาตัวแทนแต่ละฝ่ายมานั่งคุยกันก่อนครับว่าใครต้องการอะไรบ้าง ทุกคนต้องการข้อมูลถนน ข้อมูลตึก ที่ดิน อะไรทำนองนี้ ก็เริ่มจากการสร้างข้อมูลชุดนี้โดยคำนึงถึงมาตรฐานข้อมูลที่แต่ละฝ่ายต้องการไว้ด้วย เช่น จะต้องมีในไฟล์ประเภทใดบ้าง ต้องมี codebook ต้องมีข้อมูลว่าใครเป็นคนสร้างชุดข้อมูลเสมอ จุดนี้สำคัญมาก เพราะหลังจากการมีมาตรฐานข้อมูลที่ดีแล้ว ต่อไปในอนาคตจะสร้างข้อมูลชุดอื่นจะได้มีมาตรฐานเดียวกัน ใช้ร่วมกันได้ง่ายครับ

สรุป: เทคโนโลยี vs. ค่านิยม & วัฒนธรรมการเมือง

สิ่งหนึ่งที่ผมเองเห็นชัดเลยจากการสัมภาษณ์คุณเจฟคือ จริงๆ แล้วอุปสรรคในการผลักดันการเปิดข้อมูลไม่ได้อยู่แค่ที่เรื่องเงินทองหรือเรื่องเทคโนโลยีไม่ดีพอ ถ้าสังคมคุณพอจะมีเงิน คุณจ้างคนทำระบบนิเวศข้อมูลแบบนี้ได้อยู่แล้ว

ขณะนี้ในประเทศไทยก็ได้เริ่มมีความเคลื่อนไหวในด้านการเปิดข้อมูล GIS แล้วเหมือนกัน (NGIS Map Portal) ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญในทิศทางบวก ก้าวต่อไปคือการทำให้สามารถเอาข้อมูลออกไปวิเคราะห์ต่อยอดได้ตามคอมพิวเตอร์ส่วนตัว

อุปสรรคในการขยับขยายไปในทิศทาง Open Data ที่ผมกังวลมันอยู่ที่ค่านิยมและวัฒนธรรมการเมืองของสังคมมากกว่า

สังเกตดูได้ว่า เรื่องราวของคุณเจฟนั้นมีหลายองค์ประกอบทางสังคมที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเปิดข้อมูล

ประการแรก คือ การที่เมืองเมืองหนึ่งมีพลเมือง Active อย่างคุณเจฟ (Active Citizen) อยู่ ที่เข้มแข็ง มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม และขยันพอที่จะออกไปไล่ล่าหาช่องทางกฎหมายที่ถูกต้องและหาวิธีในการผลักดันหน่วยงานภาครัฐให้เกิดการเปิดข้อมูลสู่สาธารณชน ไม่ใช่นิ่งอยู่เฉยๆ ไปวันๆ ปล่อยให้ภาครัฐทำหน้าที่แบบเดิมๆ

ประการที่สอง คือ การที่สังคมมีความโปร่งใสเป็นพื้นฐานสำคัญในระบอบการปกครอง เพราะจริงๆ แล้วที่ Open Data เกิดขึ้นได้ในรัฐมินนิโซตาไม่ได้เป็นแค่เพราะว่ามี Active Citizen อย่างคุณเจฟเท่านั้น แต่เป็นเพราะว่าคนคนนี้เชื่อว่าสังคมที่เขาอยู่เคารพสิทธิ์ที่เขามี และหากเขาอ่านรัฐธรรมนูญแล้วมันชัดว่าประชาชนต้องมีสิทธิ์รับรู้เกี่ยวกับการวางผังเมือง ภูมิประเทศของตน ฯลฯ เขาจะเชื่อมั่นในระบอบ 100% ว่าเขาสามารถกดดันหน่วยงานภาครัฐจนเขาได้รับรู้สิ่งเหล่านั้นได้ ถ้าหน่วยงานเหล่านี้ไม่ยอม เขาสามารถฟ้องได้ นี่เป็นลักษณะเด่นของสังคมอเมริกันที่ความเป็นอเมริกันมันโฟกัสอยู่ที่ความศักดิ์สิทธิ์ของกระดาษแผ่นที่ชื่อว่า “รัฐธรรมนูญ” และวัฒนธรรมแห่งการฟ้องร้อง

ประการที่สาม คือ การเปิดข้อมูลเป็นสถานการณ์ win-win อย่างแท้จริงกับทั้งสังคมและตัวภาครัฐเองในประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะเป็นประเทศที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นประชาธิปไตยที่ไปได้ไม่ค่อยสวยนักในพักหลังนี้ แต่การบริหารจัดการ กลไกประชาธิปไตยในการเรียกร้องความเป็นธรรมและคานอำนาจรัฐบาลในระดับท้องถิ่นยังถือว่าดีกว่าอีกหลายประเทศมาก เพราะฉะนั้น การเปิดข้อมูลให้โปร่งใส การพัฒนานโยบายสาธารณะให้ดี ให้ถูกใจประชาชน เป็นเรื่องที่ภาครัฐของเขาสนใจ เป็นเป้าหมายหลักของเขา

ทีนี้ลองนึกดูว่า สังคมไทยมีสิ่งเหล่านี้เป็นทุนเดิมบ้างไหม หากเราไม่มี Active Citizen แม้ว่าการประชุมวางแผนการสร้างรถไฟฟ้า หรือการเพิ่มสถานีรถไฟจะเป็นการประชุมที่เปิดให้ทุกคนเข้าถึงได้ ก็อาจจะไม่มีใครไปฟัง สุดท้ายก็มีกลุ่มคนแค่บางกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ไปเต็มๆ ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแย่ลงไปอีก ไม่ต่างจากการปิดบังการประชุมและการวางแผน หากเราไม่มีความโปร่งใสเป็นเสาหลักของระบอบการปกครอง บางทีอาจจะทำให้ทุกคนเลิกเป็น Active Citizen ไปหมดทั้งบ้านเมืองเลยก็เป็นได้ เนื่องจาก Active แล้วก็ไม่ไปไหน ไม่เกิดอะไรขึ้นอยู่ดี สุดท้ายหากภาครัฐไม่ได้ “แคร์” ประชาชนอย่างจริงๆ จังๆ ไม่ได้ต้องการแก้ปัญหาจากมุมมองวิทยาศาสตร์ หรือไม่รู้สึกสะทกสะท้านจากการร้องเรียน นี่คือปัญหาหลัก เพราะเขาจะไม่มีวันเปิดข้อมูลเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของตัวเอง

ถึงแม้สามประการนี้จะยังเป็นความท้าทายของสังคมไทย ผมคิดว่าประเทศไทยมีผู้บริโภคข้อมูลและโอกาสในการใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์มากพอที่จะทำให้เกิดการสร้างระบบนิเวศข้อมูลเปิดได้

คุณเจฟบอกกับผมตอนท้ายของบทสัมภาษณ์ว่า “คุณภาพของระบบนิเวศข้อมูล สุดท้ายแล้วขึ้นอยู่กับคุณภาพของคนที่สร้างและคนที่เปิดข้อมูล”

แต่ทั้งหมดนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นเลยหากไม่มีคน “เสนอประโยชน์ของข้อมูล” ไม่มีคน “จับมือคุยกัน” ไม่มีคน “แบ่งปัน” และไม่มีคนมองว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นสินค้าสาธารณะแบบเดียวกับกับอากาศที่คุณหายใจเข้าไปหรือสวนสาธารณะที่คุณไปออกกำลังกายทุกสุดสัปดาห์

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ “เศรษฐ” ความคิด – settaKid.com ณ วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2559