ThaiPublica > คนในข่าว > ปฏิรูปการศึกษาจากภายนอกสู่ภายใน (1) – “สุธี อัสววิมล” จากธุรกิจกวดวิชา พัฒนามาตรฐานสู่กระทรวงศึกษาเอกชนเพื่อสร้าง “ไทยโมเดล”

ปฏิรูปการศึกษาจากภายนอกสู่ภายใน (1) – “สุธี อัสววิมล” จากธุรกิจกวดวิชา พัฒนามาตรฐานสู่กระทรวงศึกษาเอกชนเพื่อสร้าง “ไทยโมเดล”

25 เมษายน 2016


ไทยพับลิก้าได้เคยนำเสนอการปรับตัวของกวดวิชา และแนวทางการแก้ปัญหาการศึกษาไทยของเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นไปแล้ว ซึ่งในมุมที่กวดวิชาเป็นภาพเทาๆ ในสายตาของใครหลายคน แต่ผู้ปกครองและเด็กๆ อีกจำนวนมากยังคงพึ่งพากวดวิชา เนื่องจากมาตรฐานและระบบการศึกษาไทย การสอบเข้าเพื่อเรียนต่อใช้คะแนนเป็นตัวชี้วัด ด้วยวิธีการ “ติ๊กให้ถูก” ซึ่งข้อสอบที่ออกมักไปไกลกว่าความรู้ในห้องเรียน ทำให้เด็กๆ ต้องขวนขวายเรียนพิเศษ

นายสุธี อัสววิมล หรือ “พี่โหน่ง” ผู้ก่อตั้งโรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์
นายสุธี อัสววิมล หรือ “พี่โหน่ง” ผู้ก่อตั้งโรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์

จากธุรกิจกวดวิชา สู่กระทรวงศึกษาฯ เอกชน

“เราไม่ได้ทำกวดวิชา แต่เรากำลังทำกระทรวงศึกษาฯเอกชน” นี่เป้าหมายนายสุธี อัสววิมล หรือ “พี่โหน่ง” ผู้ก่อตั้งโรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์ กำหนดไว้ ซึ่งเหตุที่ทำให้วิศวกรหนุ่มที่กำลังก้าวหน้าในหน้าที่การงานผันตัวเข้าสู่แวดวงการศึกษา มาจากความพยายามยกระดับมาตรฐานโรงงานที่ตนกำกับดูแลอยู่ ซึ่งผลพวงที่ตามมาทำให้รับรู้ว่าการศึกษาสามารถช่วยเหลือคนได้อย่างมาก เขาจึงเลือกลาออกเพื่อจะมาทำการสอนอย่างจริงจัง

“ระหว่างที่คุมโรงงาน ก็ต้องการยกมาตรฐานโรงงานให้ได้ ISO 9000 แต่ติดที่ว่าอัตราการอ่านออกเขียนได้ของพนักงานในโรงงานไม่ผ่านเกณฑ์ จึงได้ผลักดันให้มีการเปิด กศน. ขึ้นในโรงงาน ซึ่งช่วงแรกก็มีการต่อต้าน เพราะเขาไม่รู้ว่าเรียนไปแล้วได้อะไร แต่เมื่อพวกเขาได้เรียน สิ่งที่ตามมาคืออัตราค่าจ้างที่สูงขึ้น และวันหนึ่งคุณป้าคนหนึ่งก็เดินมาขอบคุณผม แล้วบอกว่าตอนนี้ป้าสามารถอ่านป้ายได้แล้ว ขอบคุณที่ทำให้โลกของเขาเปลี่ยนไป มันทำให้รู้สึกอึ้งมาก ไม่นานผมก็ลาออกจากโรงงานแล้วคิดว่าอยากกลับไปสอน พบว่าเขาไม่รับวุฒิวิศวะเลย จึงเหลือพื้นที่เดียวให้คนที่อยู่นอกคณะครุศาสตร์เข้าไปทำได้คือกวดวิชา จึงเริ่มต้นทำกวดวิชาตั้งแต่ตอนนั้น นี่คือเมื่อ 12 ปีที่แล้ว”

นายสุธีกล่าวว่า ในช่วงแรกที่ทำ ไม่ได้เป็นที่รู้จัก ต้องแจกโบรชัวร์เอง ทำทุกอย่างเอง จนวันหนึ่งมีน้องมาสมัครเรียน 3 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นขาดเรียนเป็นประจำ แต่เป็นเด็กเก่ง ตนไม่รู้จะทำอย่างไร จึงบันทึกสิ่งที่สอนเป็นไฟล์แล้วนำมาลงในคอมพิวเตอร์ให้น้องมาเรียนชดเชย เขาก็มา จนเขาขอกุญแจเซ็นเตอร์เพื่อที่จะเข้ามาเรียนชดเชยเอง และเด็กคนนี้ก็เก่งคอมพิวเตอร์ เขาก็ช่วยคิด ช่วยแนะนำว่าทำแบบนี้มันดี สามารถหยุดได้ ย้อนได้ ออนดีมานด์จึงเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น

“เพราะหลักสูตรประเทศเราตอนนี้โรงเรียนจัดการกันเองหมด ไม่ต้องลำดับตามกันก็ได้ แต่ขอให้ครบบทตามกระทรวง แต่สมัยก่อนเป็นการเรียนในห้องเรียนรวมแบบดีวีดี เด็กไม่สามารถเลือกเรียนเฉพาะบทที่อ่อนหรือต้องการเสริมได้ ก็เลยทำตัวนี้ขึ้นมาแล้วมันก็เต็มตลอด พอเต็มตลอดก็จับภาพได้ว่าคอมพิวเตอร์ก็สอนเด็กได้”

แต่ไม่มีอะไรง่าย กว่าที่ออนดีมานด์จะเป็นที่ยอมรับจากบรรดาผู้ปกครอง ว่าการเรียนกับคอมพิวเตอร์นั้นมีข้อดีกว่าการเรียนแบบเรียนรวมผ่านจอทีวี ต้องใช้เวลาร่วม 4 ปี และการชวนคนเข้ามาร่วมงานก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งนายสุธีก็ยอมรับว่าเหตุผลหนึ่งก็สืบเนื่องจากภาพลักษณ์ของ “กวดวิชา” ไม่ได้ดูดีเท่าไรในสายตาคนทั่วไป แต่ในภาพของผู้ก่อตั้งออนดีมานด์ เขามองว่า “กวดวิชา” เป็นการอยู่ระหว่าง 2 ระบบแย่ๆ คือ อุดมศึกษากับ ม.ปลาย แล้วทำหน้าที่สร้างรอยต่อหรือสะพานที่ดีที่สุดให้กับเด็ก โดยไม่ต้องสนใจคำครหาต่างๆ จากสังคม เพื่อให้มีกำลังใจที่จะทำต่อไป

“เวลาไปชวนเพื่อนจะต้องบอกไปว่า ถ้ามองเป็นกวดวิชาแปลว่าโง่แล้วนะ นี่เรากำลังเปลี่ยนเรื่องการศึกษาอยู่ ชวนมาทำ ‘กระทรวงศึกษาเอกชน’ ไม่ได้ชวนมาทำกวดวิชา ก็จะมีคำถามว่ากระทรวงศึกษาเอกชนคืออะไร ผมก็ถามกลับไปว่ากระทรวงเกษตรฯ เอกชนคือซีพี กระทรวงศึกษาฯ เอกชนก็คือเรานี่แหละที่จะเป็น”

ชี้เป้า ภาระงานครูปัญหาสำคัญ ฉุดการศึกษาไทยร่วง

“กระทรวงศึกษาฯ เอกชน” ภาพที่หลายคนอาจมองว่าเป็นฝันที่ไกล และยากที่จะทำให้สำเร็จ แต่ ณ วันนี้ นายสุธีได้แสดงให้เห็นว่าเขาและทีมงานกำลังขยับเข้าใกล้ฝันไปอีกขั้น เนื่องจากเขาได้ใช้ประสบการณ์งานศึกษาและการเก็บข้อมูลต่างๆ จากการทำกวดวิชา เป็นฐานสนับสนุนให้กับธุรกิจการศึกษาแนวใหม่อย่างเลิร์นเอ็ดดูเคชั่น ที่ปัจจุบันมีโรงเรียน 50 โรงเรียนทั่วประเทศใช้ระบบดังกล่าวในการเรียนการสอน และการทำเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นก็ทำให้เห็นภาพปัญหาในวงการศึกษามากขึ้น

นายสุธีระบุว่า สถานะของเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นและออนดีมานด์คือ หุ้นส่วนที่มาจับมือทำงานด้านการศึกษาร่วมกัน โดยอยู่ภายใต้ร่มของบริษัท เลิร์นคอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยที่ออนดีมานด์ ที่เป็นกวดวิชา แยกออกเป็น ออนดีมานด์ เอเลเวล ออนดีมานด์อินเตอร์ และออนดีมานด์ประถม

ในอนาคตตามโรดแมปออนดีมานด์จะเข้าไปจับในส่วนที่เป็นการศึกษาเชิงความต้องการทั้งหมด เป็นออนดีมานด์เอ็ดดูเคชั่น นั่นคือ หากมหาวิทยาลัยต้องการตนก็จะทำระบบให้ ผู้ใหญ่ต้องการก็จะทำให้ เสมือนการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เอกชน ที่ใครต้องการตรงไหนจะเข้าไปเสริมในส่วนนั้นให้ ส่วนเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นเป็นส่วนของการจัดการศึกษาในระบบโดยตรง โดยมีเป้าหมายเพื่อปฏิรูปการศึกษา ทำให้โรงเรียนมีการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐานในประมาณหนึ่งด้วยระบบของเลิร์นเอ็ดดูเคชั่น

“โปรเจกต์เลิร์นเอ็ดดูเคชั่นเรามีหลักการง่ายๆ คือมองกวดวิชาเป็นตัวสร้างรายได้ ขณะเดียวกันก็เป็น research hub ซึ่งพอมีรายได้เข้ามาก็เอาเงินถมลงไปในเลิร์นเอ็ดดูเคชั่น เปลี่ยนวิธีคิดด้านการศึกษา โดยนำระบบคอมพิวเตอร์ พร้อม LMS (Learn Management System) เข้าไปใช้ในโรงเรียน เทิร์นคีย์เข้าไปสอน 8 คาบหลัก แล้วสร้างตำราใหม่ ให้เนื้อหาอิงกระทรวงฯ แต่ต้องดีแบบสิงคโปร์ แต่ไม่อิงวิธีสอนแบบไทย ซึ่งทางเราจะมีการคัดเลือกโรงเรียนที่ผู้บริหารที่มีใจ ค่อยๆ ทำไป จากข้อมูล หากตัดโรงเรียนประจำอำเภอหรือโรงเรียนขยายโอกาสออก มาตรฐานการเรียนการสอนของโรงเรียนที่เหลือของไทยจะเทียบเท่ากับสหรัฐฯ หากจะปรับมาตรฐานการศึกษาจึงต้องเริ่มจากจุดนี้ก่อน”

นายสุธี อัสววิมล
นายสุธี อัสววิมล

จากโปรเจกต์เลิร์นเอ็ดดูเคชั่นทำให้ต้องเก็บข้อมูลของโรงเรียนต่างๆ จึงพบว่า ระบบการศึกษาไทยทำให้ครูมีภาระงานที่ไม่จำเป็นมาก ส่งผลให้ไม่สามารถทำการสอนและดูแลเด็กๆ ได้อย่างเต็มที่ อาทิ ภาระในการตรวจการบ้านที่มากเกินความจำเป็น ทำให้สอนเด็กไม่ทัน เมื่อทำการสอนจึงแก้ปัญหาโดยสั่งให้เด็กไปอ่านเองและทำรายงานมาส่ง และในวันต่อไปก็ตามมาด้วยการตรวจการบ้านในวันต่อไปที่มากขึ้น

นายสุธีกล่าวว่า การเข้าไปทำงานวางระบบให้โรงเรียนแต่ละโรงเรียนต้องเริ่มจากการช่วยครูก่อน คือ การช่วยลดภาระงานครู เมื่อครูพอใจจึงมีคำถามตามกลับมาว่าแล้วเด็กได้อะไร กรณีนี้ไม่ต่างกับบริษัทที่เรียกร้องให้พนักงานทุ่มเท พนักงานก็ถามให้เพิ่มเงินเดือนเขาก่อนเขาจึงทุ่มเทให้ เพียงแต่ครูในระบบไม่ได้เรียกร้องเงินที่เพิ่มขึ้น แต่เขาเรียกร้องเรื่องการช่วยเหลือหลายส่วน

“ซึ่งเมื่อเข้าไปดูจริงๆ ข้าราชการครูเป็นหนี้มหาศาล ในขณะที่ภาระงานก็มีจำนวนมาก จะให้เขาไปแก้อะไรเด็ก แก้ไม่ได้หรอกครับ เพราะฉะนั้น อันนี้คือตัวที่เข้าถึงปัญหา ว่าแต่เมื่อเขาทำงานแล้วภาระเขาไม่มากเขาก็จะเริ่มช่วยเหลือ ดังนั้น เงินอาจไม่ใช่ปัญหา เรื่องรายได้ครูจึงเป็นปัญหารอง แต่เรื่องภาระงานครูเป็นปัญหาใหญ่…แค่ครูต้องสอน 5 ห้อง ห้องละ 50 นาที 3 คาบ/สัปดาห์ เท่ากับต้องสอน 15 ครั้ง นั่นเหนื่อยมาก แต่หากครูเข้าไป 10 นาทีแรก เพียงแค่บอกว่า เด็กๆ วันนี้เราจะมาเรียนเรื่องการเคลื่อนที่ เดี๋ยวมาดูตัวอย่างจากการปล่อยยานอะพอลโลกัน แล้วให้คอมพิวเตอร์ทำหน้าที่ต่อ เมื่อเด็กยกมือถามจึงเข้าไปช่วยเหลือ ภาระของจะครูลดลงมหาศาล และทุกเม็ดคือเด็กได้ความรู้ที่เป็นมาตรฐาน แล้วเด็กรั้งท้ายได้รับการช่วยเหลือทันที”

ไทยโมเดล เด็ก 50 คนครูเอาอยู่

เราอาจได้ยินได้ฟังถึง “ฟินแลนด์โมเดล” ที่หลายประเทศใช้เป็นต้นแบบในการปฏิรูปการศึกษา ที่ครูสามารถเข้าถึงเด็กได้ทุกคน ขณะที่จีนเองก็มี “เซี่ยงไฮ้โมเดล” ที่ให้ครูโรงเรียนอันดับ 1 จับคู่กับครูโรงเรียนลำดับหลังๆ เพื่อให้ครูเก่งฝึกฝนครูคนอื่นๆ แต่สำหรับประเทศไทยที่อัตราเด็กต่อห้องมีกว่า 40 คน และครูแต่ละคนต่างมีภาระงานที่มากเกินความจำเป็นให้คอยแบกรับ ทำให้ครูไม่สามารถดูแลเด็กได้อย่างทั่วถึง ไม่สามารถลงไปสอนงานใครได้อีก

ทั้งนี้ นายสุธีกล่าวว่า หลายประเทศมีโมเดลการศึกษาเป็นของตัวเอง สิ่งที่ตนและทีมกำลังทำก็คือ “ไทยโมเดล” ที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการสอน ควบคู่กับตำราสีที่พัฒนาขึ้นใหม่ โดยระหว่างเรียนเด็กๆ จะดูตำราควบคู่ไปกับที่จอคอมพิวเตอร์แสดงผล โดยทำเนื้อหาการเรียนให้น่าสนใจ แทรกเกร็ดความรู้ ฉายภาพให้เด็กได้เห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมากกว่าการจินตนาการตามคำบรรยายของครู และหลังการเรียนจะมีการทำแบบทดสอบง่ายๆ ที่หากตั้งใจฟังเพียงอย่างเดียวเด็กก็สามารถตอบได้ วัดความตั้งใจเรียนของเด็ก สามารถจัดกลุ่มได้ว่าเด็กกลุ่มไหนครูต้องดูแลเพิ่ม ซึ่งส่วนนี้เองจะเป็นตัวลดภาระงานครูลง สามารถเข้าถึงเด็กที่มีปัญหาได้มากขึ้น ดั้งนั้น “ไทยโมเดล” ก็คือ เด็ก 50 คน แต่ครูดูแลเฉพาะกลุ่มรั้งท้าย 10 คนให้ครบทุกคน

“ภาพที่เกิดคือ สมัยก่อนครูจะอยู่อีกฝั่งหนึ่ง (หน้ากระดาน) ส่วนเด็กจะอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ครูก็สอนยิงไปยังเด็ก 50 คน แล้วเด็กก็เล่นกันในห้อง นอน ไม่ตั้งใจเรียนมันจึงเกิด loss (การสูญเปล่า) ของข้อมูลเต็มไปหมด แต่เมื่อใส่หูฟังเด็ก 1 ต่อ 1 ทำให้ถูกจะตัดจากเพื่อน เลิกเล่น เลิกคุย คู่ต่อสู้เขาจึงไม่ใช่ครูแล้ว แต่เป็นเนื้อหาที่อยู่ตรงหน้า”

ผู้ก่อตั้งออนดีมานด์กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ทำมาทั้งหมดตอนนี้ จากเป้าหมายที่จะเป็น “กระทรวงศึกษาฯ เอกชน” ตอนนี้ตนทำได้เพียง 10% และสามารถทำได้มากที่สุดเพียง 25% เท่านั้น หลังจากนั้นคือการทำให้เกิด domino effect โดยหน่วยงานอื่นๆ ต้องเป็นผู้ช่วยสาน อาจช่วยจากการสนับสนุนครูดีๆ เก่งๆ แล้วดึงครูเหล่านี้มาเป็นเทรนเนอร์ มาช่วยออกแบบองค์ความรู้ ให้เกิดระบบฝึกหัดครูแห่งชาติขึ้นมา อันนี้คือไทยโมเดล

กลยุทธ์กวดวิชา งานวิจัย-ฟังความเห็นลูกค้า

ผู้ก่อตั้งออนดีมานด์กล่าวว่า การศึกษาเป็นสิ่งที่ได้ผลตอบแทนช้าแต่ได้นาน โดยสิ่งที่ทำให้สามารถคงอยู่ในตลาดกวดวิชาได้นานมาจากการสร้างความมั่นใจว่าสามารถช่วยเหลือเด็กๆ ได้จริง เมื่อสามารถรักษามาตรฐาน และทำให้เปอร์เซ็นต์การสอบติดของเด็กเพิ่มขึ้นได้ก็ยากที่ธรุกิจจะตก นี่คือธรรมชาติของธุรกิจการศึกษา คือ ได้ยาก แต่อยู่นาน

โดยกลยุทธ์ทางการตลาดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจต่างๆ ประสบความสำเร็จ สำหรับกวดวิชาก็เช่นกัน สำหรับออนดีมานด์ นายสุธีระบุว่า ตนและทีมได้ให้ความสำคัญกับงานวิจัยและการเก็บข้อมูลเป็นพิเศษ พยายามปรับการสอนให้ใหม่อยู่เสมอ ครูผู้สอนต้องมีความถนัดและเชี่ยวชาญด้านที่สอนอย่างแท้จริง และฟังความเห็นจากเด็กๆ และผู้ปกครอง

“คำว่า on demand แปลว่า ดีมานด์ 2 อัน คือ ดีมานด์ของเด็กๆ กับดีมานด์ของประเทศต้องมารวมกัน คือ ถ้าเราตามใจลูกค้าแต่ไม่คิดถึงอนาคตกับส่วนรวม มันจะเป็นการเอาใจแบบไร้สาระ เช่น ต้องสอนตลก สอนสนุก สอนทะลึ่ง แต่ถ้าเราบอกว่าดีมานด์ของเด็กๆ คือการทำให้เขามีความต้องการในการเรียนแล้วมีอนาคตที่ดี สอนสนุกใช่ สอนทะลึ่งไม่ใช่ แต่ดีมานด์ของประเทศคือ ทำให้เขามีอนาคตที่ดีแล้วฝังพวกคุณธรรมความคิดให้เขาด้วย นั่นคือปรัชญาออนดีมานด์ แล้วเราจะเน้นเด็กเป็นหลัก และเรามีสิ่งที่เรียกว่า Net Promoter Score (NPS) คือ ถามเลยว่าเต็ม 10 ให้เท่าไร ทำอะไรให้เต็ม 10 ทำอย่างไรให้รัก แล้วจะแก้อะไร ด่ามาให้หมด อันนี้เป็นปรัชญาที่เราถามเด็กทุกงานเลย ที่เราทำเพื่อดึงข้อมูลกลับมาแก้ ถามเด็กกับถามพ่อแม่”

ทั้งนี้ ที่สำนักงานใหญ่ของออนดีมานด์มีทีมนักวิชาการประมาณ 60 คน รวมถึงจะมีการนำงานวิจัยจากต่างประเทศมาศึกษาและปรับใช้กับสถาบันอยู่เสมอ ไม่ว่างานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เกี่ยวกับการนำคลิกเกอร์มาใช้ในการเรียนการสอน การใช้งานวิจัยจากแอปเปิลในการทำระบบการเรียนกับคอมพิวเตอร์ ที่สามารถกดย้อนกลับได้แบบเดียวกับ iPod touch รวมทั้งกลยุทธ์ NPS การทำให้เด็กเกิด self learning ผ่านการสร้าง คือ growth mindset และ metacognition

“คนไทยชอบคิดว่างานวิจัยฝรั่งใช้กับไทยไม่ได้ และคนไทยชอบคิดว่างานวิจัยไทยใช้กับไทยไม่ได้ด้วยเช่นกัน จริงๆ แล้วงานวิจัยฝรั่งใช้กับเราไม่ได้ทั้งหมด แต่ถ้าเราปรับมันแล้วศึกษาต่อยอด เราสามารถแซงหน้าเขาได้ เพราะฉะนั้น งานวิจัยด้านการศึกษาไม่ต้องไปคิดเองครับ การนำมาประยุกต์ใช้คือสิ่งสำคัญที่สุด การเอามาใช้แล้วทำให้เหมาะกับไทยโมเดล ซึ่งเรื่องการนำงานวิจัย นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอีกอันหนึ่งคือคนเก่งต้องมาทำ เพราะการศึกษายังไงก็ต้องมี Human Touch แต่ถ้าเราเอาเทคโนโลยีเข้ามาจะติวออนไลน์อย่างเดียวเจ๊งหมดครับ เพราะพ่อแม่จะมาถามว่าแล้วเรียนที่บ้านเวลาเด็กไม่ตั้งใจเรียนจะทำอย่างไร อย่างกวดวิชาผมก็บอกเขาว่าให้เด็กมาเรียนที่สถาบันสิ มีกล้องวงจรปิด มีพี่เฝ้าด้วย คือใครที่จะทำ IT ล้วนๆ ในวงการการศึกษานี่ไม่มีทาง จะทำตำราดิจิทัล ถ้าไม่มีตำรากระดาษก็ไร้ผล งานวิจัยอธิบายเรื่องเหล่านี้ได้ทุกอย่าง ดังนั้น จึงต้องมีการผสมผสานทั้งระบบที่ดีและคนเก่ง”

สถาบันครอบครัวไทยอ่อนแอ กระทบระบบการศึกษา

นายสุธี อัสววิมล
นายสุธี อัสววิมล

ทั้งนี้ นายสุธีได้ฉายภาพให้เห็นถึงปัญหาการศึกษาไทยในฐานะผู้ที่อยู่ในวงการดังกล่าวมานานกว่า 10 ปี ว่า การศึกษาไทยกำลังอยู่ในสภาวะวิกฤติ เนื่องจากตัวชี้วัดที่สำคัญอธิบายว่าสังคมเป็นอย่างไรคือสถาบันครอบครัว ถ้าสถาบันครอบครัวกำลังจะสลาย แปลว่าการศึกษาก็กำลังแย่เช่นกัน

“มีข้อมูลหลายข้อมูลที่น่าเป็นห่วง เช่น โรงเรียนบางโรงเรียนเป็นโรงเรียนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ที่เป็นเอกชนมีชื่อทั้งหลาย มีอยู่โรงเรียนหนึ่งได้ทําการสํารวจ จากเด็กทั้งโรงเรียนมีผู้ปกครองเป็นคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว 70% ขณะเดียวกัน ผมก็ไปตระเวนที่ต่างจังหวัด ประมาณ 90 โรงเรียน ใน 27 จังหวัด ก็พบว่า ประเทศเราใน 10 ครอบครัวจะมีปัญหาทางครอบครัวสัก 5 ครอบครัว ถ้าไปดูโรงเรียนประจำอำเภอ อาทิ โรงเรียนวังไพร ที่ จ.สระแก้ว ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 96 กม. ซึ่งไม่ไกล และเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ มีนักเรียนประมาณ 1,000 คน แต่มีครูคณิตศาสตร์เพียง 3 คน สอนตั้งแต่ชั้น ม.1 ถึง ม.6 และในเด็ก 10 คนมี 7- 8 คนที่ไม่ได้อยู่กับพ่อกับแม่ โดยในจำนวนนี้ 2-3 คนต้องอยู่กันเองโดยไม่มีใครดูแล ครอบครัวมีเพียงพี่น้องอยู่ที่บ้านสองคน ส่วนพ่อแม่ก็ไปทำงานรับเหมาก่อสร้างอยู่กรุงเทพฯ ผมไม่เคยคิดว่ามันจะหนักเท่านี้เลย”

นายสุธีให้เหตุผลว่า สภาวะที่ย่ำแย่ของสถาบันครอบครัวในปัจจุบัน ส่งผลให้สุดท้ายเด็กเหล่านี้ต้องลาออกกลางคัน หรือเลือกที่จะไม่เรียนต่อจำนวนมาก และผู้ใหญ่หลายท่านก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมันซับซ้อนไม่สามารถแก้ได้ในเร็ววัน แต่ปัญหาที่ซ้อนปัญหาคือ หน่วยงานรัฐที่ทำงานแยกส่วน ทำให้การแก้ปัญหาไปกันคนละทาง

“อย่างเช่นปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คือถ้ามีปัญหาเรื่องการศึกษาก็ต้องไปที่กระทรวงศึกษา แต่ถ้าเด็กมีปัญหาครอบครัวก็ต้องไปที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ แต่ 2 กระทรวงนี้ไม่ได้ทำอะไรร่วมกันในเด็กคนเดียวกันเลย แปลว่าตอนนี้มันกำลังล่มสลายไปเรื่อยเรื่อยๆ และเมื่อเด็กพวกนี้ไม่ได้รับการดูแล ปัญหาก็คือ แล้วใครจะดูแลเขา อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ ที่นอกเหนือจากที่พวกผมทำออนดีมานด์กันก็พยายามจะแก้เรื่องนี้”

โดยปัญหาที่เกิดขึ้นก็ย้อนกลับมาที่ภาระงานของครูที่มากเกินความจำเป็น ทำให้ครูไม่สามารถรับรู้ปัญหาของเด็กๆ ได้ การทำงานร่วมกับโรงเรียนทำให้เห็นว่าสถานศึกษาต่างแข่งกันที่จะทำให้ค่าเฉลี่ยคะแนน O-Net ของเด็กพุ่งสูงๆ โดยลืมใส่ใจตัวตนของเด็ก บ้างผู้อำนวยการก็ให้ความสำคัญกับตึก อาคาร มากกว่าการสร้างระบบการเรียนการสอนที่ดีในโรงเรียน

“ครูมักเขียนรายงานในสมุดพกว่าเด็กร่าเริง แจ่มใส เข้ากับเพื่อนได้ดี อีกปีหนึ่งในเด็กคนเดียวกันที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ครูก็เขียนว่า ค่อนข้างเก็บตัว เข้ากับเพื่อนยาก แต่ไม่เคยมีใครเอาสมุดพกมาเปรียบเทียบกันเลยว่าเด็กมีการเปลี่ยนแปลง แล้วตามไปดูว่าเด็กเปลี่ยนไปเพราะอะไร ซึ่งส่วนใหญ่ไม่พ้นปัญหาครอบครัว กรณีนี้เคยเกิดที่สหรัฐฯ มาแล้ว ซึ่งเมื่อครูพบว่าที่เด็กทำตัวมีปัญหามาจากพ่อแม่แยกทาง เขาได้ให้กำลังใจ พูดคุยสนับสนุนจนเด็กคนนี้สามารถจบมหาวิทยาลัยไอวีลีก (ivy league) ได้ ซึ่งการที่ครู 1 คน ช่วยเด็กได้มากกว่า 1 คน แปลว่าช่วยได้มากกว่า 1 ครอบครัว ฮีโร่ก็คือครู”

อ่านต่อตอนที่ 2 อ่านงานวิจัยพฤติกรรมเด็กไทย