ThaiPublica > คอลัมน์ > ข้อสังเกตในเรื่องระบบไต่สวน ระบบกล่าวหากับภาระการพิสูจน์และอำนาจศาลในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดีน้องหมิว

ข้อสังเกตในเรื่องระบบไต่สวน ระบบกล่าวหากับภาระการพิสูจน์และอำนาจศาลในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดีน้องหมิว

23 เมษายน 2016


ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล
อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

ด้วยมีผู้มาสอบถามผมหลายท่านว่าคดีความรับผิดทางละเมิดของแพทย์ที่ ด.ญ.กนกพร เป็นโจทก์ฟ้องสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12498/2558 หากศาลไม่ได้ใช้อำนาจตามระบบกล่าวหา แต่ไปใช้อำนาจตามระบบไต่สวนแล้ว ภาระการพิสูจน์ของฝ่ายจำเลย และผลของคดีน่าจะเปลี่ยนไปใช่หรือไม่ และประจวบกับช่วงนี้ วงการนักกฎหมายก็กำลังถกเถียงกันในเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง บางท่านก็มีความเห็นว่า ศาลน่าจะใช้อำนาจของศาลในระบบไต่สวนซึ่งมีอยู่ในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ตามที่คดีความรับผิดทางละเมิดของแพทย์เป็นคดีผู้บริโภค เรียกพยานหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้การเพิ่มเติม หากเห็นว่าพยานที่โจทก์นำมาสืบยังไม่เพียงพอในเรื่องนี้ ถ้าจะตอบไปทันทีว่าใช่หรือไม่ใช่คงไม่ได้ เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลักกฎหมายและเงื่อนไขหลายเรื่อง ผมจึงขอถือโอกาสนี้ให้ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวโดยสรุปเป็นประเด็นโดยย่อ ดังนี้

1. ความแตกต่างระหว่างระบบไต่สวนและระบบกล่าวหา

ระบบไต่สวนและระบบกล่าวหานี้มีความแตกต่างกันมาก ระบบไต่สวนมีผลสำคัญในเรื่องบทบาทของศาลในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมในคดีโดยในระบบไต่สวนซึ่งได้รับอิทธิพลจากหลักการไต่สวนโดยศาล (Judicial investigation) ศาลจะมีบทบาทและอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ ไม่ถูกจำกัดให้พิจารณาเฉพาะเพียงข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่คู่ความเสนอต่อศาล และศาลมีอำนาจริเริ่มดำเนินกระบวนพิจารณาต่างๆ ได้ด้วยตนเองโดยที่ไม่ต้องมีคู่ความฝ่ายใดร้องขอแต่ในระบบกล่าวหา ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหลักความประสงค์ของคู่ความ (Principle of party disposition หรือ le principe dispositif) ศาลจะไม่มีบทบาทและอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดีเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง ศาลต้องถูกจำกัดกรอบให้พิจารณาเฉพาะจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่คู่ความเสนอต่อศาลเท่านั้น

2. ระบบไต่สวนและระบบกล่าวหามีผลกับภาระการพิสูจน์ของคู่ความในคดีหรือไม่

โดยปกติแล้วคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริง คู่ความฝ่ายนั้นย่อมต้องมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ตนกล่าวอ้าง เช่น ในตอนต้นของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งของไทย มาตรา 84/1 บัญญัติว่า คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น

อย่างไรก็ตาม บางครั้ง อาจเกิดการผกผันในเรื่องภาระการพิสูจน์หรือการผลักภาระการพิสูจน์จากคู่ความฝ่ายหนึ่งไปยังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้ ในกรณีดังต่อไปนี้

1. การกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใหม่ขึ้นมาในคดีของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทำให้เกิดกลไกการสลับไปมาระหว่างโจทก์กับจำเลยในเรื่องภาระการพิสูจน์ (le mécanisme de l’alternance) แล้วแต่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะเป็นผู้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงใหม่ขึ้นมา (onus probandi incumbit et qui dicit)
2. ข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริง
3. ข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย
4. ข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ภาระการพิสูจน์มีความหมายในเชิงบทบาท (un sens actif) คือการมีบทบาทหน้าที่ในการนำพยานหลักฐานเข้าสืบพิสูจน์ เพื่อจะทำให้ผู้พิพากษาเชื่อในความมีอยู่จริงของข้อเท็จจริงในคดี หรือเป็นเรื่องที่ว่าใครจะต้องเป็นผู้นำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ในคดี

นอกจากนี้ ภาระการพิสูจน์ยังมีความหมายในเชิงถดถอย (un sens passif) คือ หมายความถึง การลงโทษในกรณีที่ประสบความล้มเหลว คือ ใครควรจะต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย กล่าวคือ หากคู่ความฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์ แต่ไม่สามารถนำพยานมาพิสูจน์ให้ศาลเชื่อถือในข้อเท็จจริงที่ตนมีภาระการพิสูจน์ได้ ก็ต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีไปซึ่งในกรณีนี้ถือว่าภาระการพิสูจน์เป็นความเสี่ยงในเรื่องของพยานหลักฐาน (risque de la preuve) ดังนั้น ภาระการพิสูจน์จึงเป็นเรื่องของคู่ความที่จะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ ไม่ว่าจะเป็นคู่ความในระบบวิธีพิจารณาคดีระบบใด ทั้งระบบไต่สวนและระบบกล่าวหา ระบบวิธีพิจารณาคดีจะเป็นระบบไต่สวนหรือระบบกล่าวหา จึงไม่มีผลต่อภาระการพิสูจน์ของคู่ความประการที่สำคัญ คือ ศาลไม่สามารถใช้อำนาจของศาลในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อปลดเปลื้องภาระการพิสูจน์ของคู่ความได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นศาลในระบบไต่สวนก็ตาม เพราะการดำเนินการของศาลในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมของศาลในระบบไต่สวนเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับพยานหลักฐานที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของศาลเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าศาลมีภาระการพิสูจน์เช่นเดียวกับคู่ความในคดีด้วย(ในคดีนี้ฝ่ายจำเลยมีภาระการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานตามข้อเท็จจริงที่เป็นหลัก Res Ipsa Loquitur ว่าแพทย์ของจำเลยไม่ได้ประมาทเลินเล่อในการรักษาผู้ป่วย ตามที่ผมได้เคยเขียนบทความเรื่อง “การพิสูจน์ความรับผิดทางละเมิดของแพทย์จากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ”)

3. เงื่อนไขและข้อจำกัดการใช้อำนาจของศาลในระบบไต่สวนในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติม

การที่ศาลในระบบไต่สวนจะใช้อำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมนั้น มีกรอบ เงื่อนไข และข้อจำกัดในการใช้อำนาจของศาลด้วย ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลข้อหนึ่ง เพื่อไม่ให้กระทบกับหลักความเป็นกลางของผู้พิพากษาซึ่งเป็นหลักสำคัญหลักหนึ่งในหลักสองประการของหลัก Natural justice โดยอีกหลักหนึ่ง คือ หลักฟังความสองฝ่าย (the principle of bilateral hearing) หรือในภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า “หลักโต้แย้งคัดค้านต่อสู้คดี”(le principe de la contradiction) ซึ่งเป็นหลักทั่วไปของกฎหมายวิธีพิจารณาความในคดีทุกประเภทโดยศาลไม่สามารถสั่งให้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมในคดี เพื่อแก้ไขความบกพร่อง (la carence) ของคู่ความในการนำพยานเข้าสืบได้ โดยความบกพร่องนี้หมายถึงความละเลยที่ต้องรับผิด (une negligence fautive) กล่าวคือ ความละเลยเพิกเฉยของคู่ความในการนำพยานเข้าสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่เป็นไปโดยเจตนา เมื่อคู่ความมีความเป็นไปได้ที่จะนำพยานเข้าสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้นได้ ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งของประเทศฝรั่งเศสซึ่งใช้ระบบไต่สวนเป็นหลัก จากการได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของ Henri Motulsky ทำให้มีการปรับปรุงแก้ไขให้ระบบไต่สวนมีอิทธิพลเหนือระบบกล่าวหาอย่างเด่นชัด ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971 ก็ได้บัญญัติรับรองเงื่อนไขและข้อจำกัดการใช้อำนาจของศาลไว้ด้วย โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 146 วรรคสอง ว่า ผู้พิพากษาไม่อาจสั่งให้มีมาตรการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดีเพื่อแก้ไขความบกพร่องของคู่ความในการนำพยานหลักฐานเข้าสืบได้

ดังนั้น หากคู่ความฝ่ายที่มีภาระการพิสูจน์มีความบกพร่องในการนำพยานเข้าสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดี และความบกพร่องนั้นเป็นความละเลยที่ต้องรับผิดของคู่ความดังกล่าวแล้ว ศาลจะใช้อำนาจของศาลในระบบไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดีเพิ่มเติมไม่ได้ ซึ่งในเรื่องนี้เป็นอำนาจในการใช้ดุลพินิจของศาล

4. ศาลไทยกับระบบไต่สวนและระบบกล่าวหา

สำหรับประเทศไทย โครงสร้างของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้อำนาจศาลไทยเช่นเดียวกับระบบไต่สวนไว้ในหลายมาตรา เช่น

มาตรา 86 วรรคท้าย ศาลมีอำนาจเรียกพยานมาสืบเพิ่มเติมได้เอง หรือเรียกพยานที่สืบไปแล้วมาสืบใหม่ได้โดยที่ไม่ต้องมีคู่ความฝ่ายใดร้องขอ

มาตรา 99 และ 129 ให้อำนาจศาลในการตั้งผู้เชี่ยวชาญได้เองตามที่ศาลเห็นสมควร แม้ไม่มีคู่ความร้องขอ

แต่ในส่วนบทบัญญัติเรื่องการสืบพยานในศาล ได้บัญญัติไว้เช่นเดียวกับระบบกล่าวหาจึงทำให้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งของไทย มีเนื้อหาที่เป็นระบบผสมระหว่างระบบไต่สวนและกล่าวหาในส่วนของ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 กำหนดบทบาทและอำนาจของศาลไทยไว้เช่นเดียวกับระบบไต่สวนอย่างชัดเจนในหลายมาตรา เช่น

มาตรา 33 ให้อำนาจศาลในการเรียกพยานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร

มาตรา 36 ให้อำนาจศาลในการขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นต่อศาลได้

มาตรา 37 ให้อำนาจศาลในการเรียกพยานมาสืบเพิ่มเติม เรียกพยานที่สืบแล้วมาสืบใหม่ได้ โดยไม่ต้องมีคู่ความฝ่ายใดร้องขอ

มาตรา 34 กำหนดให้ศาลเป็นผู้ซักถามพยาน และให้ศาลมีอำนาจซักถามพยานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างก็ตาม

แต่ด้วยบทบาทศาลไทยที่คุ้นเคยกับการวางบทบาทและอำนาจไปในทางระบบกล่าวหา สืบเนื่องจากบรรพตุลาการในอดีตที่สำเร็จการศึกษาในต่างประเทศ จบจากอังกฤษ ซึ่งใช้ระบบกล่าวหา เป็นส่วนมากและประกอบกับประมวลจริยธรรมตุลาการ ข้อ 9 ก็ได้กำหนดกรอบข้อจำกัดในการซักถามพยาน การแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของศาลไว้ จึงทำให้บทบาทของศาลไทยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โน้มไปทางระบบกล่าวหามากกว่า ถึงแม้ว่าตามเนื้อหาของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจะเป็นระบบผสม ซึ่งให้อำนาจศาลอย่างระบบไต่สวนไว้ในหลายมาตราส่วนบทบาทของศาลในระบบไต่สวนตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ก็ยังไม่มีความเด่นชัดว่าศาลได้ใช้อำนาจในระบบไต่สวนอย่างที่ควรจะเป็นถึงแม้ว่าตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ได้ให้อำนาจศาลไว้เช่นเดียวกับระบบไต่สวนอย่างชัดเจนก็ตาม