ThaiPublica > คนในข่าว > 40 ปี บนเส้นทางการเมือง จุดเกิด-จุดแตกหัก “บรรหาร ศิลปอาชา”

40 ปี บนเส้นทางการเมือง จุดเกิด-จุดแตกหัก “บรรหาร ศิลปอาชา”

24 เมษายน 2016


“คุณเป็นคนใจบุญสุนทาน การทำงานคนเดียวเช่นนี้ ต่อให้ทำเต็มที่ก็ได้ไม่มาก ถ้ามาเป็นผู้แทนฯ สามารถของบประมาณมาได้ คุณจะทำประโยชน์ให้กับชาวบ้าน และสร้างอะไรให้กับบ้านเกิดได้อีกมากมาย”

คำชวนที่น่าเชื่อถือของ “บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ” กระทบใจ “บรรหาร ศิลปอาชา” เข้าอย่างจัง แม้มี 3 พรรคส่งเทียบเชิญ แต่สุดท้ายเขาเลือก “พรรคชาติไทย” ของ “พล.ต. ประมาณ อดิเรกสาร”

ที่นี่เองที่ทำให้ “บรรหาร” ในฐานะ “รองเลขาธิการพรรคชาติไทยคนใหม่” เจอ “ครูการเมืองคนแรก” ที่ชื่อ “พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ” เลขาธิการพรรคชาติไทย (ยศและตำแหน่งขณะนั้น)

นายบรรหาร ศิลปอาชา ที่มาภาพ : บรรหาร ศิลปอาชา บนเส้นทางการเมือง, สัญญลักษณ์ เทียมถนอม (2547), สำนักพิมพ์มิติใหม่
นายบรรหาร ศิลปอาชา ที่มาภาพ: บรรหาร ศิลปอาชา บนเส้นทางการเมือง, สัญญลักษณ์ เทียมถนอม (2547), สำนักพิมพ์มิติใหม่

“บรรหาร” ลงสู้ศึกเลือกตั้ง 4 เมษายน 2519 เป็นครั้งแรกของชีวิต นั่นทำให้เขารู้ตัวว่ายังไม่รู้จัก “บ้านเกิด-สุพรรณบุรี” ดีพอ โดยเฉพาะเขตนอกเมือง เพื่อทดสอบ “เรตติ้ง” เขาดิ่งไปหา “ยายขายกล้วยทอด”

“ยาย.. ผมมาสมัครผู้แทนฯ ยายรู้จักผมไหม”
“ไม่รู้จักหรอก”
“ผมชื่อ บรรหาร ศิลปอาชา ไง”
“โอ๊ย… ถ้ายายเลือก ยายเลือกอีตาบรรหารแจ่มใสดีกว่า เพราะเขาสร้างโรงเรียนไว้เยอะ”

แม้รู้สึก “อึ้ง” กับคำตอบที่ได้รับ แต่สักพักเปลี่ยนเป็นความลิงโลดในใจ “ผู้สมัคร ส.ส. ถอดด้าม” สั่งเปลี่ยนข้อความใบปลิวหาเสียงเป็น “บรรหาร ศิลปอาชา (แจ่มใส)”

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ “บรรหาร” ได้เป็นผู้แทนฯ สมัยแรก ด้วยคะแนน 57,530 เสียง เป็นอันดับ 1 ของประเทศ!

คะแนนเสียงที่สูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ทำให้พรรคชาติไทยเลือก “บรรหาร” เป็นเสนาบดีหน้าใหม่ ดำรงตำแหน่ง “รมช. อุตสาหกรรม” โดยมี “พล.ต. ชาติชาย” เป็นรมว. อุตสาหกรรม

แต่นั่งเก้าอี้ได้เพียง 5 เดือน 29 วัน รัฐบาล “ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช” ก็ถูกยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 6 ตุลาคม 2519

ทว่าทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง “บรรหาร” รักษาฐานเสียงได้เสมอ ไม่ว่าในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบหรือเต็มใบ

เขายังได้รับความไว้วางใจจาก “ผู้ใหญ่” ให้เป็น “ผู้จัดการรัฐบาล” ของ “2 นายพล” ทั้ง “พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์” และ “พล.อ. ชาติชาย”

“ป๋าเปรม” เคยบอกว่า “คุณบรรหารเป็นนักการเมืองที่พึงประสงค์”

พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์(ขวา) นายบรรหาร ศิลปอาชา(ซ้าย)ที่มาภาพ : บรรหาร ศิลปอาชา บนเส้นทางการเมือง, สัญญลักษณ์ เทียมถนอม (2547), สำนักพิมพ์มิติใหม่
พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ (ขวา) นายบรรหาร ศิลปอาชา (ซ้าย) ที่มาภาพ: บรรหาร ศิลปอาชา บนเส้นทางการเมือง, สัญญลักษณ์ เทียมถนอม (2547), สำนักพิมพ์มิติใหม่

ส่วน “น้าชาติ” คือผู้ให้สมญา “เติ้ง” แก่ “บรรหาร” เพราะเห็นเป็นคนร่างเล็ก คิดไว หัวดี หน้าละม้ายคล้าย “เติ้งเสี่ยวผิง”

กระทั่งปี 2538 “บรรหาร” ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทย ถึงฝั่งฝันในตำแหน่ง “หัวหน้ารัฐบาล”

“วิษณุ เครืองาม” เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ตำแหน่งขณะนั้น) เคยสรุปตัวตน “นายกรัฐมนตรีคนที่ 21” ว่า “ทำงานจริงจัง เกาะติดปัญหาชนิดแก้ไม่ได้ไม่ปล่อย” ใส่ใจรายละเอียดทุกเม็ด ตั้งแต่ตั้งเรื่อง เบิกงบ จัดคน กระทั่งฤกษ์ผานาที บางครั้งตามงานไปยันข้าราชการซี 3-4 จนถูกมองว่า “ล้วงลูก”

การบริหาร-ตัดสินใจอยู่บนพื้นฐาน “ประสบการณ์” ที่สะสมมา โดยประเมิน “ข่าวเชิงลึก” ที่คนใกล้ชิดสืบเสาะมาให้ร่วมด้วย

ด้วยความเป็นคนนอนดึกตื่นเช้า ทำให้ “บรรหาร” มีชั่วโมงทำงานมากกว่าผู้นำคนอื่นๆ ไปถึงทำเนียบฯ ตั้งแต่ 07.00-08.00 น. และเวลาประมาณ 10.00 น. “วิษณุ” จะถูกตามตัวไปพบที่ห้อง เพื่อรับกระดาษที่ควักออกมาจากเสื้อนอก

“ผมเคยได้รับโผมาทั้งใบ ในนั้นระบุว่า ข้อ 1 ถามพี่จิ๋ว ข้อ 2 ส่งเลขาฯ เดช ข้อ 3 ข้อ 4 ถามเลขาฯ วิษณุ ข้อ 5 บอกนิกร ข้อ 6 ถาม รมต.ศึกษา ข้อ 7 ข้อ 8 ถามปลัดคลัง ข้อ 9 ข้อ 10 เช็คผู้ว่าฯ สระบุรี ลงท้ายว่า วันที่ 10 ตุลาคม 2538 เวลา 02.15 น.” วิษณุกล่าว

บางครั้ง “นายกฯ คนที่ 21” ก็เรียก “เลขาธิการ ครม.” ไปสั่งงานที่บ้านจรัญสนิทวงศ์ พอเที่ยงคืน “วิษณุ” เริ่มหาว แต่ “บรรหาร” ยังกระปรี้กระเปร่า กวาดตาผ่านแว่นอ่านรายงานฉบับแล้วฉบับเล่าอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย กระทั่ง 03.00 น. ถึงเสร็จงาน เขามิลืมหาเรื่องสนุกสนานมาเล่าให้เลขาฯ ได้หัวเราะจนตาสว่าง ก่อนขับรถกลับบ้าน

“ว่าแล้วท่านก็ตบบ่า บอกว่า เอาล่ะ คงหายง่วงแล้ว ท่านเลขาฯ กลับได้ ขับรถดีๆ นะ! แล้วเดินออกไปส่งผมถึงประตูรั้ว จนผมลับสายตา” วิษณุเล่า

อาจเพราะถือคติ “ปรารถนาสารพัดในปฐพี เอาไมตรีแลกได้ดังใจจง” ทำให้ “บรรหาร” ประนีประนอม ลูกพรรคบางคนบอกว่าเขา “กลัวความแตกหัก”

ความแตกหักครั้งรุนแรงที่สุดในชีวิต “บรรหาร” หนีไม่พ้นการ “ยุบสภา” แทนการ “ลาออก” จากตำแหน่ง หลังรัฐบาลเผชิญ “วิกฤติศรัทธา” จากมรสุมเศรษฐกิจ-การเมืองในสภา-ความขัดแย้งในรัฐบาลผสม

18-20 กันยายน 2539 ฝ่ายค้านนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ซึ่งเป็นห้วงที่ “บรรหาร” บอกว่า “รู้สึกถึงความวังเวง” ไม่มีรัฐมนตรีขึ้นไปนั่งในฟากรัฐบาลแม้แต่คนเดียว ยกเว้น “โภคิน พลกุล” รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ตำแหน่งขณะนั้น) ที่คอยช่วยเหลือเรื่องข้อกฎหมาย

นายบรรหาร ศิลปอาชา(ซ้าย) พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ(ขวา)ที่มาภาพ : บรรหาร ศิลปอาชา บนเส้นทางการเมือง, สัญญลักษณ์ เทียมถนอม (2547), สำนักพิมพ์มิติใหม่
นายบรรหาร ศิลปอาชา (ซ้าย) พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ (ขวา) ที่มาภาพ: บรรหาร ศิลปอาชา บนเส้นทางการเมือง, สัญญลักษณ์ เทียมถนอม (2547), สำนักพิมพ์มิติใหม่

เช้าวันลงมติ พรรคร่วมรัฐบาลยื่นหนังสือบีบให้เขาลาออก แลกกับการลงมติไว้วางใจ ทำให้ “บรรหาร” ต้องเปิดแถลงข่าว “จะลาออกภายใน 7 วัน” ท่ามกลางเสียงปรบมือลั่นของเพื่อนร่วมรัฐบาล

หลังได้รับความไว้วางใจจากสภา ด้วยคะแนน 207 เสียง จากทั้งหมด 391 เสียง เขาเก็บตัวเงียบในบ้าน

กระทั่งครบวันที่ 7 จึงให้เลขาธิการนายกฯ เชิญหัวหน้าทุกพรรคมาประชุมที่ห้องเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า เวลา 17.00 น. แจ้งให้รอฟังข่าวทางวิทยุ

“ขณะนั้น พล.อ. ชวลิต (ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่) ออกจากห้องประชุมไปเข้าห้องน้ำ แล้วกลับมาหน้าตาเลิ่กลั่ก ตะโกนบอกในที่ประชุมว่า “มีโปรดเกล้าฯ ยุบสภา” เท่านั้นเอง คนในห้องประชุมมีอาการเหมือนผึ้งแตกรัง” บรรหารระบุ

“เออ… ขอให้จากกันด้วยดีนะ ก็ไปเลือกตั้งกันมาใหม่” “อดีตนายกฯ” หมาดๆ พูดตามหลัง “อดีตเพื่อนร่วมงาน”

ปิดฉากรัฐบาลที่ทำงานร่วมกันมา 1 ปี 2 เดือน!!!

และวันนี้ “บรรหาร ศิลปอาชา” ได้ถึงแก่อนิจกรรมปิดฉากชีวิตจากไปด้วยวัย 83 ปี 8 เดือน เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2559 ที่โรงพยาบาลศิริราช มหาราชการุณย์ จากภาวะหอบหืดกำเริบ หลังโลดแล่นในแวดวงการเมืองมากว่า 40 ปี

หมายเหตุ: ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ
– บรรหาร ศิลปอาชา บนเส้นทางการเมือง, สัญญลักษณ์ เทียมถนอม (2547), สำนักพิมพ์มิติใหม่
– บรรหาร ศิลปอาชา กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, สัญญลักษณ์ เทียมถนอม (2547), สำนักพิมพ์มิติใหม่
– เล่าเรื่องผู้นำ, วิษณุ เครืองาม (2554), สำนักพิมพ์มติชน