ThaiPublica > เกาะกระแส > อุตสาหกรรมการบิน(ไทย) ตอนที่ 2 : ช่างซ่อมบำรุงอากาศยานไทย รายได้รั่ว แชร์ส่วนแบ่งแค่ 1% จากมูลค่าตลาดโลก 3 ล้านล้านบาท

อุตสาหกรรมการบิน(ไทย) ตอนที่ 2 : ช่างซ่อมบำรุงอากาศยานไทย รายได้รั่ว แชร์ส่วนแบ่งแค่ 1% จากมูลค่าตลาดโลก 3 ล้านล้านบาท

15 เมษายน 2016


เมื่ออุตสาหกรรมการบินกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดตามที่ได้กล่าวในตอนที่แล้ว ความต้องการบุคลากรในสายงานที่เกี่ยวข้องจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ไม่เพียงแต่ “นักบิน” แต่ยังรวมถึงช่างซ่อมอากาศยาน และส่วนงานเฉพาะทางอื่นๆ ด้วย

นาวาอากาศตรี ดร.วัฒนา มานนท์ รองผู้ว่าการฝ่ายวิชาการ สถาบันการบินพลเรือน กล่าวว่า ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิมีเที่ยวบินขึ้น-ลง ประมาณ 800-1,000 เที่ยวบินต่อวัน ส่วนสนามบินดอนเมืองมีประมาณ 700-800 เที่ยวบินต่อวัน เนื่องจากสายการบินชั้นประหยัดทั้งหมดอยู่ที่ดอนเมือง และตามข้อมูลของการท่าอากาศยานไทย(AOT) ปี 2558 มีผู้โดยสารทั้งหมดจาก 6 ท่าอากาศยาน จำนวน 106 ล้านคน และท่าของกรมท่าอากาศยานอีกมากว่า 15 ล้านคน รวมประมาณ 120 ล้านคน ที่มาใช้บริการเข้าออกสนามบิน

“ถามว่าการมารองรับผู้โดยสารเหล่านี้ หรือความพยายามที่จะเป็นฮับด้านการบิน ต้องมีการวางแผนระยะยาว ณ เวลานี้ เรามีโรงเรียนการบินอยู่หลายโรงเรียน เรามีมหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรด้านการบิน แต่มหาวิทยาลัยเหล่านี้มักเน้นด้านการบริการเป็นส่วนใหญ่ (Aviation Business) เพราะฉะนั้น สถาบันการศึกษาที่อื่นๆ ก็คงจะสามารถสนับสนุนเรื่องภาคพื้นได้ แต่ที่ขาดคือบุคลากรเฉพาะทาง ซึ่งเป็นส่วน Operation and Management ที่ต้องใช้ใบอนุญาต เช่น นักบิน เจ้าหน้าที่บังคับการบิน ช่างอากาศยาน หรือแม้แต่เจ้าพนักงานอำนวยการบิน (Flight Operation) เหล่านี้จะคอยบริหารจัดการแทนนักบิน จัดเตรียมข้อมูลต่างๆ เช่น จะเดินทางก็ต้องเตรียมข้อมูลให้ บางคนเรียกนักบินโต๊ะ ทำหน้าที่แทนนักบินแต่อยู่บนโต๊ะไม่ได้บินเอง พวกนี้ก็ต้องมีใบอนุญาต”

มูลค่าอุตสาหกรรมช่างซ่อมโลก 3 ล้านล้านบาท ไทยมีส่วนแบ่งตลาดแค่ 1%

การเรียนภาคปฏิบัติด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน ตามมาตรฐาน ICAO ของ สบพ.
การเรียนภาคปฏิบัติด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน ตามมาตรฐาน ICAO ของ สบพ.

“ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน” อีกหนึ่งสายงานที่กำลังเข้าสู่สภาวะขาดแคลน เช่นเดียวกันกับ “นักบิน” โดยโบอิ้ง และ แอร์บัส บริษัทผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลกได้ประมาณการความต้องการบุคลากรในสายงานดังกล่าวว่า ในอีก 20 ปีทั่วโลกจะมีความต้องการช่างเทคนิคด้านอากาศยานอีกกว่า 600,000 คน โดยเป็นภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกแห่งเดียวมีสัดส่วนความต้องการเกือบ 40%

ทั้งนี้ เครื่องบิน 1 ลำ ต้องการช่างซ่อมบำรุงทำการตรวจสอบ ณ ลานจอดประมาณ 35 คน ส่วนการตรวจสภาพเครื่องตามอายุการใช้งานที่กำหนด หรือซ่อมเมื่อเกิดเหตุขัดข้อง จะใช้จำนวนช่างที่ต่างกันไป

ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กล่าว่า ประเทศไทยอยู่ในภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบ อีกทั้งค่าเช่าโรงจอดเครื่องบินมีราคาไม่แพง และมีช่างที่มีฝีมือ ทำให้สายการบิน Lufthansa มีแผนที่จะย้ายฐานการผลิตจากยุโรปมาใช้บริการศูนย์ซ่อมที่ไทยหากมีความพร้อมที่จะรับฝูงบินเขา แต่เขาก็พบว่าไทยยังไม่พร้อม เนื่องจากขาดบุคลากรและโรงซ่อมไม่พอ

“ยังมีเครื่องบินจากรัสเซียที่ไม่สามารถทำการซ่อมบำรุงได้เมื่อรัสเซียในช่วงฤดูหนาว เขาจะมาจอดที่สุวรรณภูมิ ต้องการช่างมาซ่อมที่เมืองไทย แต่ปรากฏว่าช่างของเราไม่มีใครที่ได้รับใบอนุญาต (License) ที่เป็นสากล จึงไม่สามารถทำการซ่อมให้ได้ ส่วนคนที่ได้ใบอนุญาตของการบินไทยภาระงานก็มากอยู่แล้ว ทางรัสเซียจึงต้องเสียค่าใช้จ่ายบินกลับไปรับช่างจากรัสเซียเพื่อที่จะมาซ่อมที่ประเทศไทย”

“วันนี้อุสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO: Maintenance Repair Overhaul) มูลค่าทั้งโลกของธุรกิจนี้อยู่ที่ 63,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท มูลค่ารวมของธุรกิจนี้ในไทยอยู่ที่ 23,000 ล้านบาท ไม่ถึง 1% ของทั้งโลก ซึ่งการที่ธุรกิจเหล่านี้ไม่ขยายตัวหรือมีมูลค่าทางการตลาดมากในประเทศไทย เนื่องจากไทยไม่มีแหล่งรองรับการขยายตัวของธุรกิจนี้ ทำให้เครื่องบินกว่า 60% ที่บินมาลงที่ไทยต้องไปทำการซ่อมบำรุงที่สิงคโปร์หรือมาเลเซีย ซึ่งทั้งสามประเทศนี้ได้มีการพัฒนาบุคลากรด้านซ่อมบำรุงอากาศยานมาก่อนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้ไหลออกข้างนอกทั้งที่โอกาสมหาศาล” ดร.สาธิตกล่าว

มทร.กรุงเทพ ตั้งเป้า 5 ปีผลิตช่างอากาศยานทัดเทียมมาเลเซีย

ในปัจจุบันมีสถาบันที่เปิดสอนหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยาน และวิศวกรรมการบินอยู่จำวน 7 แห่ง สามารถผลิตบุคลากรได้ประมาณ 300-400 คนต่อปี ในขณะที่ความต้องการของตลาดดังกล่าวต้องการมากว่า 400 คนต่อปี โดยในประเทศไทยมีจำนวนช่างซ่อมบำรุงอากาศยานอยู่ราว 8,000-9,000 คน (เป็นช่างของการบินไทยประมาณ 4,500 คน) ในจำนวนนี้มีเพียง 10% ที่ได้รับใบอนุญาตที่เป็นสากล โดยช่างส่วนใหญ่จะได้ใบอนุญาตของไทย คือ Thai DCA ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้ปฏิบัติงานร่วมกับนานาชาติได้

ดร.สาธิตกล่าวว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมการบินอาจเป็นหนึ่งในหนทางที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” เนื่องจากเมื่อสำรวจประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ผู้คนจะมีรายได้เฉลี่ย 12,500 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 40,000 บาท ขณะที่รายได้ของบุคลากรในอุตสาหกรรมการบินค่อนข้างสูง ประกอบกับทางมหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญในการผลิตช่างและเคยมีพื้นฐานเปิดการเรียนการสอนด้านอากาศยานมาแล้วในอดีต

ทั้งนี้ทาง มทร.กรุงเทพ ได้จัดตั้งสถาบันการบินโดยร่วมกับบริษัท แอร์โร่ บิวดุง จำกัด (AERO Buildung Aviation Training Center) ประเทศเยอรมนี ในการกำหนดหลักสูตรให้ได้มาตรฐานของความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency: EASA) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ครอบคลุมสายการบินทั่วโลกกว่า 80% และมีความร่วมมือกับบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด (TAI) ในการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ

และในช่วงที่ผ่านมา มทร.กรุงเทพ ได้เดินทางเข้าศึกษาดูงาน หลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยานที่ University Kuala Lumpur Malaysia Institute of Aviation Technology (UniKL MIAT) ประเทศมาเลเซีย ที่ได้รับรองหลักสูตรจาก EASA โดย UniKL ได้เปิดสอนหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยานมาแล้วถึง 10 ปี ผลิตช่างบำรุงอากาศยานตามมาตรฐาน EASA เข้าสู่ตลาดแรงงาน 100 คน/ปี

“ตลาดแรงงานของมาเลเซียตอนนี้เขาไม่ขาดแคลนคนเพราะสายการบินในประเทศเขายังมีไม่มาก โดยบุคลากรที่จบไปจะทำงานในตลาดสากล เช่น ในตะวันออกกลาง สิงคโปร์ หรือในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หากเราไม่รีบทำ ต่อไปเมื่อเปิดประชาคมอาเซียนแล้วมีความเป็นไปได้สูงที่บุคลากรจากมาเลเซียก็จะเข้ามากินเงินเดือนสูงๆ ในบ้านเราแทน ถึงแม้ว่าในแต่ละคอร์สจะเปิดรับได้ไม่เกิน 25 คน เนื่องจากมาตรฐานบังคับไว้ โดยแต่ละรุ่นใช้เวลา 2 ปี ซึ่งคงไม่ทันต่อความต้องการแต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย อย่างไรก็ตาม ในอนาคตตั้งเป้าจะผลิตให้ได้ 100 คนต่อปี และภายใน 5 ปีจะต้องได้มาตรฐานเทียบเท่า UniKL” ดร.สาธิตกล่าว

ผศ.ปราโมทย์ อนันต์วราพงษ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และนายดิฐภัทร ตันประเสริฐ ผู้อำนวยการหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยาน สถาบันการบินแห่งมหาวิทยาลัยราชมงคลกรุงเทพ (ซ้ายไปขวา)
ผศ.ปราโมทย์ อนันต์วราพงษ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และนายดิฐภัทร ตันประเสริฐ ผู้อำนวยการหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยาน สถาบันการบินแห่งมหาวิทยาลัยราชมงคลกรุงเทพ (ซ้ายไปขวา)

เปิดเส้นทางช่างบำรุงอากาศยาน สู่รายได้ก้าวกระโดด

ด้านผศ.ปราโมทย์ อนันต์วราพงษ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยได้เปิดหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยาน ภายใต้สถาบันการบินแห่งมหาวิทยาลัยราชมงคลกรุงเทพใน 2 สาขา คือ สาขาแมคคานิกส์ (Aircraft Maintenance) และสาขาการควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ภายในเครื่องบิน (Electronic Aviation) โดยผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรทางวิชาชีพที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นใบอนุญาตระดับสากล ขยายโอกาส และยกระดับการทำงานรองรับความต้องการของนานาชาติได้ ซึ่งจะมีผลให้ได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นตามไปด้วย ในอนาคตได้วางแผนที่จะเปิดหลักสูตรอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ หลักสูตรซ่อมชิ้นส่วนอากาศยาน หลักสูตรธุรกิจการบิน รวมไปถึงการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของคนไทย

“ในอุตสาหกรรมนี้ไม่ได้สนใจตัวปริญญา แต่เขาสนใจตัวที่เป็นใบอนุญาต ในต่างประเทศเวลาเขาหาคนที่มาเป็นช่างซ่อมเขาจะสนใจว่ามีใบรับรองหรือไม่ และเขาจะพิจารณาในส่วนนี้ร่วมกับประสบการณ์ นั่นหมายความว่าช่างซ่อมเวลาได้ใบประกาศนียบัตรวิชาชีพแล้วยังต้องไปพัฒนาตัวเองต่ออีก แต่เป็นการพัฒนาตัวเองในขณะที่ทำงานรับเงินเดือนอยู่ในอุตสาหกรรมการบินแล้ว ขณะยังไม่ได้ใบอนุญาตจะได้รับค่าตอบแทนประมาณ 20,000–30,000 บาทต่อเดือน จนสอบได้ใบอนุญาต พอได้ก็จะมีค่าตัวที่สูงขึ้นอีกประมาณ 2 เท่าตัว” ผศ.ปราโมทย์กล่าว

ผศ.ปราโมทย์กล่าวต่อไปว่า การทำงานในสายงานดังกล่าว การซ่อมเครื่องบินจะมีหัวหน้าช่าง (Supervisor) 1 คน ซึ่งจะเป็นผู้เซ็นรับรองให้เครื่องบินที่ซ่อมเสร็จแล้วออกทำการบินได้ตามปกติ รองลงมา คือ ผู้วางแผนการซ่อม (Planner) จะเป็นผู้ระบุว่าเครื่องบินลำนั้นต้องซ่อมในส่วนใด แล้วจึงส่งแผนงานนั้นให้กับฝ่ายช่าง ในการซ่อมแต่ละส่วนช่างจะต้องเขียนรายงานเป็นภาษาอังกฤษตามมาตรฐาน และต้องบรรยายว่าอะไรเสียตรงไหน ซ่อมอะไร เปลี่ยนอะไรไปบ้าง ซึ่งเป็นปัญหาของช่างไทยที่ไม่สามารถเขียนรายงานภาษาอังกฤษได้

“ในสายงานปัจจุบัน ที่กำลังช่างไม่เพียงพอจะดำเนินการโดยให้ช่างที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ซ่อม และให้ช่างที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประเมินและทำการเขียนรายงาน ก่อนส่งให้หัวหน้าช่างเซ็นให้เครื่องบินปล่อยบิน ผู้ที่จะเป็นหัวหน้าช่างต้องมีประสบการณ์ในสายงานไม่ต่ำกว่า 7 ปี และมีโอกาสได้ค่าตัวถึง 6 หลัก ซึ่งตามมาด้วยภาระการรับผิดชอบที่สูงมากเช่นกัน เพราะหากเครื่องบินมีปัญหาและประสบอุบัติเหตุ หัวหน้าช่างจะเป็นบุคคลแรกที่ต้องรับผิดชอบ” ผศ.ปราโมทย์กล่าว

ส่วนนายดิฐภัทร ตันประเสริฐ ผู้อำนวยการหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยาน สถาบันการบินแห่งมหาวิทยาลัยราชมงคลกรุงเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเรียนการสอนในหลักสูตรดังกล่าว จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการสอน ใช้เวลาเรียนทั้งสิ้น 2,400 ชั่วโมง แบ่งเป็นภาคทฤษฎี 1,200 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติ 1,200 ชั่วโมง รวมระยะเวลา 2 ปี ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 490,000 บาท ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่ต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เนื่องจากค่าใช้จ่ายสำหรับการเรียนหลักสูตรดังกล่าวในมาเลเซียประมาณ 800,000 บาท และหากเรียนในประเทศจีนจะเสียค่าใช้จ่ายราว 700,000 บาท ไม่รวมค่าครองชีพ

“เมื่อเรียนจบจะต้องไปทำงานจริงเอาประสบการณ์อีก 2 ปี จึงจะไปสอบก่อนจะกลับมาสอบขอใบอนุญาตของ EASA ได้ โดยรวมแล้วใช้ระยะเวลาประมาณ 4 ปี ถ้านับจาก ม.6 ก็เทียบเท่ากับจบปริญญาตรีพอดี แต่ไม่ได้ปริญญา ได้เป็นใบอนุญาตแทน ทำงานตรงนี้ก็เหมือนกับหมอที่ต้องมีใบประกอบโรคศิลป์”

ทั้งนี้ มทร.กรุงเทพ ได้เปิดรับนักศึกษาหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยานรุ่นแรกไปแล้วจำนวน 17 คน ในสาขาแมคคานิกส์ พร้อมเปิดทำการสอนในวันที่ 1 เมษายน 2559 และปลายปี 2560 จะเปิดรับเพิ่มในสาขาควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ภายในเครื่องบิน ทำการสอนโดยคณะอาจารย์ที่ได้รับการฝึกอบรมในสาขาดังกล่าวจากเยอรมัน ประกอบกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศบางส่วน โดย 1-2 ปีแรกจะเปิดรับเฉพาะนักศึกษาไทย เพื่อพัฒนาและสนองตอบความต้องการของอุตสาหกรรมการบินในประเทศ

บรรยากาศการเรียนที่ UniKL MIAT
บรรยากาศการเรียนที่ UniKL MIAT
นักศึกษาส่วนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยรังสิตที่มาเข้ารับการศึกษาในชั้นปีที่ 2 และ3 ที่ UniKL MIAT
นักศึกษาส่วนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยรังสิตที่มาเข้ารับการศึกษาในชั้นปีที่ 2 และ3 ที่ UniKL MIAT

UniKL MIAT สานฝันมาเลเซียสู่ผู้นำอันดับ 1 ด้านอากาศยาน

Kuala Lumpur Malaysia Institute of Aviation Technology (UniKL MIAT) หรือสถาบันการบินเทคโนโลยีการบินมาเลเซีย เป็นหนึ่งใน 12 วิทยาลัยย่อย ที่ถูกผนวกรวมกับมหาวิทยาลัยกัวลาลัมเปอร์ในปี 2544 โดยมหาวิทยาลัยแห่งนี้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ที่เป็นแหล่งผลิตบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมภาคต่างๆ ของประเทศ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรมหาชนที่จัดตั้งโดยรัฐบาล ภายใต้แนวคิดการพัฒนาประเทศของ ดร.มหาเธร์ บิน โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

UniKL MIAT ตั้งอยู่ที่เมืองเซปัง ใกล้กับสนามบินนานาชาติที่กัวลาลัมเปอร์ เพื่อเพิ่มบรรยากาศในการเรียนภาคปฏิบัติ ให้นักศึกษาเดินทางไปฝึกปฏิบัติงานจริงที่สนามบินได้ง่ายขึ้น โดยเปิดรับนักศึกษาทั้งในระดับปริญญา ระดับอนุปริญญา พร้อมกันนี้ได้เปิดเป็นศูนย์สอบใบอนุญาตช่างซ่อมบำรุงตามมาตรฐาน EASA แห่งเดียวในอาเซียน

อุตสาหกรรมการบิน

อุตสาหกรรมการบิน

วิทยาลัยดังกล่าวให้ความสำคัญด้านการฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน มีจำนวนคณาจารย์ 128 คน ในจำนวนได้รับการรับรองจาก EASA 50 คน สำหรับสอนในหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยานมาตรฐาน EASA โดยเฉพาะ ปัจจุบัน UniKL MIAT สามารถผลิตบุคลากรด้านอากาศยานป้อนสู่ตลาดได้ประมาณ 400-500 คนต่อปี ในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาหลักสูตรมาตรฐาน EASA100 คนต่อปี อนาคตหลักสูตรดังกล่าวมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตนักศึกษาเป็น 200 คนต่อปี และจะเข้าไปสนับสนุนประเทศต่างๆ ในอาเซียนมากขึ้น

ทั้งนี้มีอุตสาหกรรมและบริษัทด้านการบินให้การสนับสนุนกว่า 30 สถาบัน และปัจจุบัน UniKL MIAT เตรียมเปิดวิทยาเขตที่ 2 ที่เมืองสุบังจายา โดยการสนับสนุนจากรัฐบาลให้วิทยาเขตดังกล่าวเป็น ASIA Aerospace City ห้อมล้อมด้วยบริษัทด้านการบิน แหล่งผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินที่สำคัญต่างๆ

ประเทศมาเลเซียตั้งเป้าว่า ในปี 2030 จะเป็นผู้นำอันดับ 1 ด้านอากาศยานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นตลาดที่สำคัญอันดับต้นๆ ของโลก