Trudeaumania

31 มีนาคม 2016


วรากรณ์ สามโกเศศ

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว White House จัดงานเลี้ยงอย่างยิ่งใหญ่ต้อนรับนายกรัฐมนตรีของประเทศเพื่อนบ้านคนใหม่ คือ นาย Justin Trudeau สื่อทั้งในประเทศและต่างประเทศคึกคักตื่นเต้นกันมากเพราะเตือนใจให้นึกถึงสิ่งที่เรียกว่า Trudeaumania เมื่อ 48 ปีก่อน

ในปี 1968 ผู้คนในแคนาดา สหรัฐอเมริกา และนานาชาติ ตื่นเต้นกับ charisma (เสน่ห์) ของนาย Pierre Trudeau ตั้งแต่เมื่อแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรค Liberal Party จนแม้กระทั่งเลือกตั้งเสร็จได้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นานพอควรแล้วก็ตาม ความบ้าคลั่ง Trudeau หรือ Trudeaumania ก็ยังไม่จบ

Pierre Trudeau กับลูกชาย  Justin   ที่มาภาพ : http://www.huffingtonpost.ca/2015/08/03/justin-trudeau-pierre-trudeau-2015-election_n_7926642.html
Pierre Trudeau กับลูกชาย Justin
ที่มาภาพ : http://www.huffingtonpost.ca/2015/08/03/justin-trudeau-pierre-trudeau-2015-election_n_7926642.html

ในตอนต้นทศวรรษ 1960 คนอังกฤษและชาวโลกบ้าคลั่ง The Beatles เช่นเดียวกับที่คนอเมริกันและชาวโลกคลั่งไคล้ประธานาธิบดี John F. Kennedy เมื่อ 1968 มาเยือนก็ถึงตาของแคนาดาบ้าง

Pierre Trudeau เกิดใน ค.ศ. 1919 ในสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้อง มีความรู้ ความสามารถ มีพื้นฐานครอบครัว และมี “เสน่ห์” อย่างตรงกับยุคสมัยพอดี บรรพบุรุษของเขาเป็นชาวฝรั่งเศสที่อพยพมาแคนาดาในปี ค.ศ. 1659 พ่อของเขาเป็นทนายความและพ่อค้า แม่มีเชื้อสายสก็อตและฝรั่งเศส

เขาเติบโตในครอบครัวที่พูดฝรั่งเศส เรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงของกลุ่มฝรั่งเศส-แคนาดา ซึ่งคนแคนาดาที่มีพื้นเพอพยพมาจากฝรั่งเศสนั้นอยู่ในมณฑล Quebec กันหนาแน่น ซึ่งต่างจากพวกที่อพยพมาจากอังกฤษ สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์ ที่อยู่ทางตะวันตกและตรงกลาง

Pierre พูดได้ทั้งสองภาษาอย่างคล่องแคล่วซึ่งไม่ใช่เรื่องธรรมดาในสมัยนั้นจนเป็นขวัญใจของชาวฝรั่งเศส-แคนาดา ซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็กกว่าพวกอังกฤษ-แคนาดา

ในตอนต้นชีวิต เขาเลื่อมใสสังคมนิยม และเชื่อในเรื่องการแบ่งแยกดินแดน Quebec ออกจากแคนาดาเป็นประเทศใหม่ แต่เมื่อเขาเป็นนักการเมือง เขาเปลี่ยนความเชื่อโดยไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกดินแดนจนเป็นขวัญใจของคนอังกฤษ-แคนาดา ที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดแบ่งแยก

การได้เรียนที่มหาวิทยาลัย Montréal, Institut d’Etudes Politiques de Paris, Harvard และ London School of Economics and Political Science (LSE) ทำให้เขาได้รับการยอมรับจากทั้งคนอเมริกัน คนอังกฤษ คนฝรั่งเศส และคนยุโรปทั่วไป

ทั้งหมดนี้คือพื้นฐานของคนที่เริ่มต้น Trudeaumania เมื่อเกือบ 50 ปีก่อน และเชื้อไฟนั้นซึ่งยังคงมีอยู่อย่างมากจนถึงปัจจุบันช่วยสนับสนุนให้ Justin Trudeau ลูกชายคนโตของเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้

Pierre เป็นนายกรัฐมนตรี 2 สมัย คือ 1968-1979 และ 1980-1984 เขาเสียชีวิตเมื่อปี 2000 ขณะมีอายุ 80 ปี ความโดดเด่นของเขามาจากความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะในการใช้สองภาษา (ไม่มีนายกรัฐมนตรี แคนาดาก่อนหน้าเขาที่พูดฝรั่งเศสได้)

บุคลิกลักษณะในการพูดจา การมีอายุเพียง 49 ปี การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนและความเด่นดังจากการเป็นนายกรัฐมนตรีโสด และแต่งงานกับสาวสวย ลูกสาวอดีตรัฐมนตรีที่มีวัยเพียง 21 ปี (น้อยกว่าเขาประมาณ 30 ปี) ในขณะดำรงตำแหน่ง นอกจากนี้ยังมีชื่อเสียงจากการสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับคนฝรั่งเศส-แคนาดา ความสัมพันธ์ระหว่างคนในชาติ ฯลฯ

Justin คือลูกชายคนโตในจำนวน 3 คนของเขากับสาวสวยอายุ 21 ปีคนนั้นที่มีชื่อว่า Margaret Sinclair ซึ่งมีเชื้อสายสกอต อังกฤษ และชาวมะละกาในมลายู (Justin เป็นนายกรัฐมนตรีแคนาดาคนแรกที่มีเชื้อสายที่ไม่ใช่คนยุโรปปนเปอยู่ในสายเลือด)

Justin Trudeau ที่มาภาพ : http://s1.ibtimes.com/sites/www.ibtimes.com/files/styles/md/public/2015/10/19/trudeau.jpg
Justin Trudeau ที่มาภาพ : http://s1.ibtimes.com/sites/www.ibtimes.com/files/styles/md/public/2015/10/19/trudeau.jpg

เขาเกิดในปี 1971 และมีน้องชายตามมาอีก 2 คนก่อนที่พ่อแม่จะแยกกันอยู่ในปี 1977 Justin เรียนในโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาฝรั่งเศสทั้งในระดับประถมและมัธยม จบปริญญาตรีด้านศิลปศาสตร์จาก McGill University ต่อมาเรียนต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ École Polytechnique de Montréal และจบปริญญาโทด้านภูมิศาสตร์สิ่งแวดล้อมจาก McGill University

ในปี 2000 Pierre เสียชีวิต ในขณะที่ Justin อายุ 28 ปีเขาเป็นผู้กล่าวคำไว้อาลัยบิดาได้อย่างประทับใจคนแคนาดามาก จนถูกจับตามองว่ามีอนาคตทางการเมือง

Justin ทำงานอิสระและช่วยงานองค์กรการกุศลหลายแห่งที่เขาศรัทธาในวัตถุประสงค์ โดยช่วยต่อสู้ในหลายเรื่องทั้งระดมทุนและการดำเนินงาน เขาเคยเล่นละครโทรทัศน์ซีรีย์ของแคนาดาด้วย

มีเรื่องเล่าว่า ตอนเขาอายุได้ 2 ขวบ พ่อได้จัดงานเลี้ยงใหญ่ต้อนรับประธานาธิบดีนิกสันผู้มาเยือน ประธานาธิบดีนิกสันกล่าวเล่นๆ ว่า “ขอดื่มให้นายกรัฐมนตรีแคนาดาในอนาคต Justin Trudeau” Pierre Trudeau ก็ตอบว่า “ถ้าเป็นจริงก็หวังว่าเขาจะ have the grace and skill of the President” (Pierre หารู้ไม่ว่า ไม่ถึง 2 ปีหลังจากนั้น ประธานาธิบดีนิกสันก็ไม่มี grace เหลืออยู่ให้เลียนแบบเลย)

Justin ช่วยงานพรรค Liberal ของพ่อมายาวนาน มีข่าวลือมานานว่าเขาจะลงเลือกตั้ง แต่ในที่สุดก็ลงจริงในปี 2008 และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แต่พรรคของเขาก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล

ในระหว่างที่เป็นฝ่ายค้านระหว่าง 2008-2015 เขาได้รับการสนับสนุนให้ท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค Liberal หลายครั้ง แต่ก็ปฏิเสธมาตลอดเพราะอ้างว่าลูกยังเล็กและมีถึง 3 คน แต่เมื่อถึงปี 2012 เขาก็ไม่อาจปฏิเสธได้เพราะโพลระบุว่าหากเขาเป็นหัวหน้าพรรค พรรคจะได้คะแนนนิยมพุ่งสูงขึ้นมาก เขาจึงประกาศลงชิงตำแหน่งในปลายปี 2012 และในเดือนมกราคม 2013 เขาก็ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคด้วยคะแนนท่วมท้นและได้รับความนิยมอย่างมาก ในการเลือกตั้งเดือนตุลาคม 2015 เขาก็สามารถนำชัยชนะมาสู่พรรค Liberal โดยได้จำนวน ส.ส. 184 คน จากจำนวนทั้งหมด 338 คน

Justin Trudeau ทำให้พรรคได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น 150 ที่นั่ง และในฐานะหัวหน้าพรรคที่มี ส.ส. เกินครึ่งหนึ่งจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2015 ในวัย 44 ปี

ที่มาภาพ : http://www.ctvnews.ca/polopoly_fs/1.2642182.1446658711!/httpImage/image.jpg_gen/derivatives/landscape_960/image.jpg
ที่มาภาพ : http://www.ctvnews.ca/polopoly_fs/1.2642182.1446658711!/httpImage/image.jpg_gen/derivatives/landscape_960/image.jpg

Justin เป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับศรัทธาและความนิยมท่วมท้นจากประชาชน เขาชนะขาดลอยใน Quebec ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนตั้งแต่ Pierre เป็นนายกรัฐมนตรี และไม่เคยมีมาก่อนเลยที่พรรคใดจะได้ ส.ส. เพิ่มขึ้นมากถึง 150 คนในการเลือกตั้งครั้งเดียว ตั้งแต่ตั้งประเทศ แคนาดามา

เมื่อปลายปี 2015 คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ได้เขียนลงเฟซบุ๊กเล่าว่า ไม่นึกเลยว่าหนุ่มวัยรุ่นสไตล์แบ็คแพ็คผมยาวคนหนึ่งผู้มาพักที่บ้านเชียงใหม่เมื่อนานมาแล้วโดยเพื่อนฝรั่งที่รู้จักกันฝากฝังมาจะกลายเป็น Justin Trudeau คนนี้ผู้กำลังปลุกกระแส Trudeaumania อีกครั้งด้วยรูปแบบการหาเสียงสมัยใหม่และนโยบายสังคมที่ก้าวหน้า

ไม่ว่าการเมืองในประเทศใดก็ตาม สิ่งดีๆ ที่พ่อแม่ทำไว้ลูกจะได้รับอานิสงส์เสมอ และในทางกลับกันก็เป็นที่น่าดีใจว่ามันเป็นจริงสำหรับกรณีตรงข้ามเช่นกัน

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 22 มี.ค. 2559