ThaiPublica > คอลัมน์ > การเบี่ยงเบนความสนใจลด “ผลิตภาพ”

การเบี่ยงเบนความสนใจลด “ผลิตภาพ”

5 มีนาคม 2016


วรากรณ์ สามโกเศศ

โลกในยุคสมาร์ทโฟนก่อให้เกิดผลดีอเนกอนันต์และผลเสียอย่างประเมินมิได้เช่นกัน ทุกสถานที่ทำงานจะเห็นคนทำงานใช้สมาร์ทโฟนเพื่อความบันเทิงส่วนตัวกันทั่วไป โดยเอาใจใส่ในงานน้อยลง สมาร์ทโฟนเป็นตัวที่เบี่ยงเบนความสนใจอย่างสำคัญปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องที่น่ากังวล

ภาพห้องเรียนไม่ว่าระดับมัธยมหรืออุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศที่ผู้เรียนใช้ แล็ปท็อปขณะที่ครูหรืออาจารย์กำลังสอนหน้าห้องเรียนนั้นดูขลังเพราะทันสมัย แต่เบื้องหลังก็คือเวลาที่อยู่กับบทเรียนนั้นมีไม่ถึงครึ่ง อีกครึ่งหนึ่งคือการท่องเว็บออกไปนอกห้อง เล่นเฟซบุ๊ก ไลน์ ดูภาพยนตร์ หรือค้นหาเรื่องราวบนเน็ต งานวิจัยชิ้นหนึ่งของวงการศึกษาอเมริกันพบว่าผู้เรียนใช้เวลาให้กับการสอนหน้าชั้นเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น

distraction หรือการเบี่ยงเบนความสนใจโดยสมาร์ทโฟนมีผลกระทบต่อ productivity (“ผลิตภาพ”) ของแรงงาน กล่าวคือคนหนึ่งคนมีผลผลิตออกมาน้อยลงจาก distraction เราเห็นภาพคนทำงานเป็น รปภ. แม่บ้านทำความสะอาด พนักงานนั่งเคาน์เตอร์ พนักงานขายของ หรือแม้แต่ตำรวจเล่นสมาร์ทโฟนขณะพักจากงาน แต่ส่วนใหญ่มักเล่นไปพร้อมกับทำงาน

พนักงานขายของและเจ้าของร้านเล็ก ๆ จำนวนมากนั่งเล่นสมาร์ทโฟนอยู่ข้างในร้านจนลูกค้าเดินผ่านไปเพราะไม่เห็นคนขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ทำงานที่พนักงานใช้คอมพิวเตอร์ (โดยเฉพาะข้าราชการหรือพนักงานราชการ) มักเล่นสมาร์ทโฟนกันเกือบตลอดเวลา

ผู้ทำงานระดับบริหารก็ไม่น้อยหน้า เวลาประชุมมีจำนวนไม่น้อยไม่สนใจฟัง นั่งกดสมาร์ทโฟนราวกับว่าถ้าไม่เล่นแล้วมันจะชักตาย สำหรับประธานในที่ประชุม เข้าใจว่าไม่มีอะไรที่เป็นการไม่ให้เกียรติเท่ากับการนั่งกดสมาร์ทโฟน เคยได้ยินว่าในต่างประเทศหลายบริษัทมีการปลดพนักงานระดับบริหารออกทันที (you are fired!) เมื่อมีพฤติกรรมเช่นนี้เพราะถือว่าไม่ให้ความสนใจแก่เรื่องที่สำคัญจนต้องเสียเวลาจัดประชุม (ไม่ใช่มาพบกันเพื่อเล่นสมาร์ทโฟน)

ที่มาภาพ : http://www.thailovehealth.com/images/2015/12/thailovehealth_2015-11-26_13-55-49-500x300.jpg
ที่มาภาพ : http://www.thailovehealth.com/images/2015/12/thailovehealth_2015-11-26_13-55-49-500×300.jpg

ผู้ที่เพลิดเพลินกับพฤติกรรมเหล่านี้เมื่อตอนเข้าพบคนอื่นจะหมดความสำคัญในสายตาทันที (เช่นเดียวกับพวกที่ชอบเปิดโทรศัพท์ให้มีเสียง) เพราะถือว่าไม่ให้เกียรติกัน การเล่นสมาร์ทโฟนเพื่อการใดก็ตามในกาละอย่างนี้ถือได้ว่าหยาบคายเสมือนว่ามีคนพูดด้วยและไม่ฟัง

“ผลิตภาพ” เป็นหัวใจสำคัญของความกินดีอยู่ดีของทุกครอบครัว ทุกสังคม ทุกองค์กร ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ถ้าสมาชิกในครอบครัวโดยเฉลี่ยมีความสามารถในการผลิตและสร้างรายได้มากกว่าสมาชิกอีกครอบครัวแล้ว ครอบครัวแรกต้องมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับองค์กร ถ้าคนทำงานมีความสามารถในการทำงาน (วัดด้วยผลผลิตที่ออกมาของแต่ละคน) สูง องค์กรนั้นก็ย่อมเข้มแข็ง และสามารถสร้างรายได้หรือความสำเร็จได้สูงกว่า distraction จากสมาร์ทโฟนในลักษณะนี้แหละคือตัวถ่วง (drag) “ผลิตภาพ” ขององค์กรในปัจจุบันอย่างไม่ต้องสงสัย

distraction สำหรับหน่วยราชการอีกชนิดหนึ่งก็คือการขายสินค้าโดยมีตลาดนัดขายในสถานที่ราชการหรือติดรั้วหน่วยราชการ การที่ใจจดจ่ออยู่กับการซื้อของมากกว่าทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ย่อมลด “ผลิตภาพ” อย่างแน่นอน ใครที่ผ่านรั้วกระทรวงศึกษาธิการในทิศทางที่ไปสี่เสาเทเวศร์ จะเห็นตลาดนัดที่ขายสารพัดสินค้าโดยเฉพาะอาหารทุกวัน (ทำงาน) ตั้งแต่เช้าตรู่ยันเย็นและเป็นอย่างนี้มาชั่วนาตาปี

ข้าราชการและลูกจ้างจำนวนมากจะซื้อของกันอย่างสนุกสนานแม้แต่ในเวลาราชการหากไม่มีการกำชับเรื่องเวลาทำงาน และที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะซึ่งมีหน่วยราชการอยู่จำนวนมากไม่ว่ากรมที่ดิน สถาบันพระปกเกล้า สำนักงานสถิติแห่งชาติฯ ภายในเป็นที่โล่งใหญ่โตขนาด 2-3 สนามฟุตบอลส์ ปัจจุบันสถานที่ว่างเหล่านี้ถูกแปรเปลี่ยนเป็นตลาดนัดขนาดใหญ่ขายอาหาร ขายเครื่องไฟฟ้า ขายรถยนต์ฯลฯ เกือบทุกวันอย่างน่าตื่นเต้น

พนักงานของรัฐและผู้มาติดต่อก็ซื้อกันอย่างมันส์ในอารมณ์ จนดูเหมือนเป็นตลาดนัดมากกว่าสถานที่ราชการ distraction ก็น่าจะเกิดขึ้นที่นี่อย่างแรงเช่นเดียวกับที่ข้างกระทรวงศึกษาธิการ

ปัจจุบันเกือบทุกหน่วยราชการไม่เว้นแม้มหาวิทยาลัยของรัฐจะจัดให้มีตลาดนัดเช่นนี้ ทุกอาทิตย์ หรือทุกปลายเดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วย “ลดค่าครองชีพ” (อาจมีราคาถูกแต่เมื่อมันยวนใจเพราะจ่ออยู่หน้าประตูห้องทำงานก็ซื้อจำนวนมากขึ้น แล้วมันจะประหยัดได้อย่างไร) ยังไม่มีการศึกษากันว่าตลาดนัดเช่นนี้ก่อให้เกิด distraction จนทำให้ “ผลิตภาพ” ของข้าราชการลดลงมากน้อยเพียงใด เช่นเดียวกับผลเสียอันเกิดจากการเล่นสมาร์ทโฟน

distraction ในลักษณะอื่นก็ก่อให้เกิดความหวาดเสียวและอันตราย เช่นการพูดโทรศัพท์มือถือขณะขับรถ การส่งข้อความ (texting) ระหว่างขับรถ และล่าสุดก็คือการมีจอ DVD อยู่ในรถชนิดที่ผู้ขับขี่สามารถมองเห็นได้ ในหลายประเทศห้ามเด็ดขาดเพราะตระหนักดีว่าอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุเพราะผู้ขับขี่อาจเหลือบมองดูจนเพลิน (สมัยหนึ่งแท็กซี่ในญี่ปุ่นหลีกเลี่ยงโดยผู้ขับเห็นภาพจากกระจกซึ่งสะท้อนภาพจากทีวีที่ตั้งให้ผู้โดยสารที่นั่งข้างหลังดู)

นับวัน distraction จะมีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น โดยมากับเทคโนโลยีสารสนเทศ จนทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างด้อยประสิทธิภาพ ขณะที่เราใช้อินเตอร์เน็ตอยู่นั้นเราเห็นการโฆษณาชนิด pop up หรือปรากฏขึ้นซ้อนบนจอบ่อยมากขึ้น และซับซ้อนเชิงบังคับ (ถ้าไม่รู้จักวิธีกดไล่มัน ๆ ก็จะค้างอยู่ และหากกดรับเพราะรำคาญก็จะเข้าล็อกเขาทันที) ลองจินตนาการว่าขณะที่เยาวชนกำลังศึกษาบทเรียนอยู่บนจออย่างขะมักเขม้นก็ปรากฏ pop up โฆษณาสิ่งที่เยาวชนคนนั้นสนใจ ความเป็นไปได้ที่จะหันเหเลิกศึกษาบทเรียนก็มีสูงจนเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ ยิ่งเทคโนโลยีดึงดูดความสนใจได้แนบเนียนมากเท่าใด โอกาสจากการสูญเสียก็มีมากเป็นเงาตามตัว

การเอาชนะ distraction ที่ก้าวหน้าและสอดรับกับจิตวิทยาเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้นทุกที เฉพาะคนที่มีความมุ่งมั่นบากบั่น และมีสมาธิเป็นเลิศเท่านั้นที่พอจะต้าน distraction ดังกล่าวนี้ได้

ถ้าปรากฏ distraction ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมเราไม่ถูกสะกัดกั้นบ้างแล้ว การเพิ่มพูน “ผลิตภาพ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกสังคมปรารถนาก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวนอังคาร 1 มี.ค. 2559