ThaiPublica > เกาะกระแส > ธุรกิจ (ไม่) ยั่งยืน (1) ความไม่เป็นธรรม กติกาโลกใหม่และความท้าทายของธุรกิจไทย

ธุรกิจ (ไม่) ยั่งยืน (1) ความไม่เป็นธรรม กติกาโลกใหม่และความท้าทายของธุรกิจไทย

20 มีนาคม 2016


ศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ที่ 2 จากขวา) ให้ความเห็นบนเวที “สถานการณ์การบริโภคยึดจริยธรรมและธุรกิจที่ยั่งยืนในประเทศไทย”

ในทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าการคำนึงถึงโจทย์สังคมและสิ่งแวดล้อมจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับองค์กรธุรกิจ การดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมที่ปรากฏให้เห็นผ่านกิจกรรม โครงการเพื่อสังคมภายนอกองค์กรและการเปลี่ยนแปลงในบางส่วนงานภายในกระบวนการดำเนินธุรกิจ

ทว่า วิกฤติในห่วงโซ่ของการผลิตอาหารและผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลกระทบกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เกษตรกรต้นน้ำ ยันผู้บริโภคปลายน้ำ ตลอดจนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะกรณีที่อุตสาหกรรมประมงโดนโจมตีว่ามีการใช้แรงงานทาส หรืออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ ล้วนเป็นแรงกดดันที่ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัว

“ภาคประชาสังคมและผู้บริโภคจะเพิ่มแรงกดดันให้ธุรกิจดำเนินงานอย่างมีจริยธรรมและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยอาจจะรวมถึงประเด็นในระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความไม่เท่าเทียมทางรายได้ และแนวโน้มที่จะมีกฎหมายหรือกฎระเบียบใหม่ๆ ที่บังคับให้เกิดความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน” ฯพณฯท่าน เอกอัครราชทูตมาร์ก เคนต์ เอกอัคราชทูตประเทศอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวตอนหนึ่งในงานสัมมนาธุรกิจยึดจริยธรรมและธุรกิจที่ยั่งยืน (Thailand’s Ethical and Sustainable Business Forum) ที่องค์การอ็อกแฟม ร่วมกับ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และ Change Fusion จัดขึ้นที่โรงแรมคราวน์ พลาซ่า กรุงเทพ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ไม่บ่อยครั้งนักในไทยที่จะเห็นการมารวมตัวกันขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งธุรกิจข้ามชาติอย่าง ยูนิลีเวอร์ สตาร์บัคส์ รวมถึงผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหารของไทย เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ เบทาโกร ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป รวมไปถึงมิตรผล และดูเหมือนว่าตัวแทนที่ขึ้นมาบนเวทีในวันนั้นจะยอมรับตรงกันว่า การเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืนนั้นเป็นทั้ง “ความจำเป็น” ในการ “ลดความเสี่ยง” และเป็น “โอกาส” ของธุรกิจ

อย่างที่ “เจเรมี ครอว์ฟอร์ด” ผู้จัดการด้านการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน แผนกการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมประมงของไทย กล่าวยอมรับเหตุผลและความจำเป็นของความพยายามในการปรับเปลี่ยนสู่ธุรกิจยั่งยืนว่า “ความเสี่ยงด้านชื่อเสียงจากความไม่ยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานนั้นสูงเกินกว่าที่บริษัทจะแบกรับได้ ในบริบทธุรกิจเรามีปัญหาทั้งการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ปัญหาการค้าแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งหากธุรกิจจะอยู่รอดได้ เราต้องจัดการกับปัญหานี้”

ขณะที่” ศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ ก็ยอมรับว่า “เรื่องของปลาป่นที่มีผลกระทบต่อทะเล เมื่อก่อนเราคิดว่าไม่ใช่เรื่องของเราเท่าไหร่เพราะเราใช้เป็นส่วนผสม 10% ของอาหารกุ้ง และเราก็ไม่ได้ทำปลาป่นเป็นอุตสาหกรรมหลัก แต่วันนี้เราตระหนักรู้ว่าไม่ว่าเราจะใช้เท่าไหร่ แต่เราก็มีส่วนร่วม มีบทบาทในความรับผิดชอบ เพราะสุดท้ายผลกระทบก็มาอยู่ที่บริษัท”

ทั้ง ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป และเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจที่เผชิญหน้าวิกฤติแรงกดดันปัญหาการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมง ในเวลาที่ผ่านมาในสถานการณ์ที่ท้องทะเลไทยตกอยู่ในสภาวะการทำประมงเกินขีดความสามารถของทรัพยากร หรือ Over Fishing

โดยไทยถือเป็นผู้ส่งออกสัตว์น้ำรายใหญ่ของโลก ที่ในปี 2557 มีปริมาณการส่งออกรวมทั้งสิ้น 1.7 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 6,749 ล้านเหรียญสหรัฐ ข้อมูลจากกรมประมงยังระบุว่า จากปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ทั้งสิ้น 1.56 ล้านตัน ปลากว่า 85% ได้จากเรือประมงพาณิชย์ โดยการประมงอวนลากพาณิชย์จับปลาขนาดเล็กหรือปลาเป็ดได้ถึง 45% ของสัตว์น้ำที่จับได้ทั้งหมด ประมาณ 35% เป็นสัตว์น้ำขนาดเล็กที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ (อ่านเพิ่มเติม  Over Fishing เรือล้นทะเล สัตว์น้ำ/ขนาดเล็กสูญ 3 แสนตัน/ปี – อัดงบ 2,000 ล้าน ลุ้น EU ปลดใบเหลืองhttps://thaipublica.org/2016/03/over-fishing-7-3-2559/)

“บรรจง นะแส” นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า การบริหารทรัพยากรทางทะเลที่ล้มเหลวมาโดยตลอด โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือทำลายล้างมาหลายสิบปี ทั้งอวนรุน อวนลากและเรือปั่นไฟ แม้วันนี้รัฐบาลจะประกาศยกเลิกการใช้อวนรุน แต่เครื่องมือทำลายร้างอื่นยังอยู่ ซึ่งทำให้วิกฤติของสัตว์น้ำวัยอ่อนที่มาจากอวนลากถึง 33%  ยังเป็นปัญหาสำคัญโดยยังมีหลักฐานเชิงประจักษ์ให้เห็นในทุกแพปลาในวันนี้ เพราะยังถูกต้องตามกฎหมาย โดยสัตว์น้ำวัยอ่อนจะถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์

อย่างไรก็ตาม ในวิกฤติทะเลไทยปัจจุบัน บริษัทที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมประมงและปลาป่นเริ่มมีนโยบายในการปรับเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่ที่ค่อยๆ ปรับเปลี่ยน เช่น การยกเลิกอวนลาก การเลิกใช้โปรตีนจากปลาป่นเป็นส่วนผสมอาหารสัตว์ เป็นต้น แต่สิ่งที่ “บรรจง” กังวลต่อไปในอนาคต คือ บริษัทขนาดกลางถึงเล็กที่มาตั้งโต๊ะรับซื้อปลา เป็นบริษัทที่ไม่มีชื่อเสียง จึงอาจไม่สนใจกับแรงกดดันจากชุมขนและภาคประชาสังคม ดังนั้น ทางออกในระยะยาวจึงต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐในการออกมาตรการในการกำกับดูแลและบังคับใช้

ประมง 1 ใน 3 อุตสาหกรรมที่ยังเสี่ยง

ปัจจุบันอุตสาหกรรมประมงยังคงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงในหลายด้าน โดยเฉพาะการใช้แรงงานทาส กฎหมาย “การค้าแรงงานทาสสมัยใหม่” (Modern Slavery Act 2015) ในประเทศอังกฤษเป็นตัวอย่างหนึ่งของกฎหมายที่ออกมากำกับดูแลแรงงานบังคับในห่วงโซ่อุปทาน ที่บังคับให้บริษัทในประเทศอังกฤษเผยแพร่รายงานต่อสาธารณะเพื่อยืนยันว่าไม่มีการใช้แรงงานบังคับในห่วงโซ่อุปทานในการดำเนินการของบริษัท

ราเชล วิลชอว์ ผู้จัดการด้านการค้าอย่างมีจริยธรรม องค์การอ็อกแฟม ประเทศอังกฤษ

“ราเชล วิลชอว์” ผู้จัดการด้านการค้าอย่างมีจริยธรรม องค์การอ็อกแฟม ประเทศอังกฤษ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า จากกฎหมายนี้ 3 อุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการใช้แรงงานบังคับ คือ อุตสาหกรรมประมงในประเทศไทย อุตสาหกรรมสตรอว์เบอร์รีในประเทศโมร็อกโก และอุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศเมียนมา ไม่ใช่เฉพาะไทยเท่านั้นที่เผชิญหน้ากับปัญหาหลายแง่มุม

แนวโน้มของธุรกิจวันนี้จึงต้องมองให้กว้างขึ้นเป็นธุรกิจเพื่อความยั่งยืน โดยมองธุรกิจควบคู่ไปกับเป้าหมายทั้ง 17 ข้อตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน การลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ซี่งล้วนแต่มีเป้าหมายในการลดความไม่เท่าเทียมในสังคม

แนวโน้มของธุรกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม

“ราเชล” กล่าวว่า ฐานของธุรกิจยั่งยืน มี 3 อย่างคือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การค้าขายที่มีจริยธรรม คือ ทั้งผู้ค่าปลีก แบรนด์ ซัพพลายเออร์ ต้องมีความรับผิดชอบต่อคนตนเองในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ระดับโลก โดยผ่านการปฏิบัติด้านแรงงาน ส่วนการค้าที่ยุติธรรมคือ การมีทางเลือกให้การค้าแบบธรรมเนียมเดิมที่พึ่งพาระบบหุ้นส่วนระหว่างผู้ผลิตกับผู้ค้าและธุรกิจกับผู้บริโภค โดยตัวอย่างของบริษัทที่มีกลยุทธ์ธุรกิจที่มีจริยธรรมและยั่งยืนตามวิถีของอ็อกแฟม ได้แก่ ยูนิลีเวอร์ อิเกีย H&M เทสโก้ เป็นต้น

https://www.unglobalcompact.org
https://www.unglobalcompact.org

ในเวลาที่ผ่านมา องค์การอ็อกแฟม ได้ทำงานโดยร่วมมือกับธุรกิจในการช่วยส่งเสริมธุรกิจที่ทำให้คนตระหนักถึงสิทธิที่พึงได้ และให้หลุดจากความยากจน และยังทำงานที่ท้าทายธุรกิจอย่างมากโดยเตือนเรื่องความเป็นอยู่ของคน อาทิ ความร่วมมือระหว่างยูนิลีเวอร์ องค์การอ็อกแฟม และ IUF (International Union of Food and Allied Workers) ในเรื่อง พันธะของยูนิลีเวอร์ต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรม ปี 2018 โดยยูนิลีเวอร์จะร่วมมือกับอ็อกแฟมในการสร้างผลลัพธ์ทางสังคม ทำนโยบายจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน สร้างสิทธิของแรงงานให้อยู่ในแผนการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน ทำลูกจ้างชั่วคราวให้เป็นเวลา ฯลฯ เพื่อลดช่องว่างในเรื่องการจ้างงาน อาทิ การรับเรื่องร้องทุกข์ที่ยังไม่น่าเชื่อถือ ชั่วโมงทำงานที่มากเกินไป และสัญญาจ้างในระบบห่วงโซ่อุปทาน วันนี้อ็อกแฟมยังได้ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อประเมินผลลัพธ์ในทางสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ Poverty Footprint ร่วมกับ UN Global Compact ในการประเมินผลกระทบของสิทธิมนุษยชน  Behind the Brands Scorecard Methodology ในการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมของแบรนด์ เป็นต้น

“การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและมีจริยธรรม ต้องเริ่มจากการที่ผู้บริหารระดับสูง ต้องดู ฟังคำวิจารณ์เพื่อหาจุดอ่อน ดูความเท่าเทียม โดยต้องเริ่มจากการดำเนินงานของเราขัดกับการมีจริยธรรมในธุรกิจหรือไม่ การแก้ปัญหาต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ ไม่ใช่แค่ CSR โดยหาประเด็นสำคัญในห่วงโซ่อุปทานในการแก้ปัญหา นอกจากนั้น ธุรกิจต้องหาโมเดลในการสร้างการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหาร” ราเชลกล่าว

ธุรกิจค้าปลีกกับความเสี่ยงความมั่นคงด้านอาหาร

มีการประเมินว่า แรงกดดันต่อธุรกิจถึงผลกระทบที่มีในห่วงโซ่อุปทานนั้นมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในระบบเกษตรและการผลิตอาหารที่มีแนวโน้มจะรวมศูนย์โดยห่วงโซ่อุปทานที่เป็นผู้เล่น ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายจะเหลือเพียงไม่กี่ราย

เรื่องนี้ “วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ประเมินว่า “ความไม่เป็นธรรม” จะยังเป็นปัญหาใหญ่ที่เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงในด้านความมั่นคงอาหาร โดยเฉพาะเมื่อดูโครงสร้างในระบบห่วงโซ่ของระบบเกษตรและอาหารที่รวมศูนย์ทั่วโลก

โดยอธิบายว่า หากพิจารณาห่วงโซ่ของระบบเกษตรและอาหารของไทย พบว่าการที่ปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยเพียง 2 รายครองธุรกิจโมเดิร์นเทรด โดยมีสัดส่วนถึง75% ของมูลค่าตลาด สิ่งนี้จะส่งผลมากกับความมั่นคงอาหาร เพราะผลิตภัณฑ์ประมาณถึง 70-80% ในธุรกิจค้าปลีกจะเป็นผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร

supplychain1

model1

ปัจจุบัน หากมองห่วงโซ่อุปทานของเกษตรทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะรวมศูนย์มากขึ้น โดยเฉพาะในฟากของการผลิต โรงงาน ค้าปลีก แปรรูป ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ ที่จะตกอยู่ในมือผู้เล่นไม่กี่ราย ซึ่งเป็นที่น่ากังวลในอนาคตถึงระบบความมั่นคงทางอาหารที่จะล้มคว่ำลง ปัจจุบันประเด็นเรื่องความเป็นธรรมในระบบเกษตรอาหารเป็นประเด็นที่น่ากังวล

“วิฑูรย์” ยังได้ยกตัวอย่างเรื่องกล้วยในประเทศไทย โดยจากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้น “ใครได้อะไรเท่าไหร่จากกล้วยหนึ่งผล เมื่อเปรียบเทียบจากร้านค้าปลีกในอียูและประเทศไทย” ซึ่งพบว่าคนไทยบริโภคกล้วยหอมใกล้เคียงกับในยุโรปทั้งที่รายได้ต่ำกว่ามาก แต่โดยภาพสะท้อนความไม่เป็นธรรมในระบบเกษตรของทั้งยุโรปและไทย หากดูห่วงโซ่ของการผลิตและจำหน่ายกล้วย ในยุโรป กล้วยหนึ่งผลค้าปลีกได้ประโยชน์ 41% ขณะที่คนงานได้รายได้น้อยมากเพียง 20% สำหรับประเทศไทยส่วนแบ่งที่ร้านสะดวกซื้อได้มีสัดส่วนสูงถึง 59% ขณะที่เกษตรกรได้ไม่ถึง 25% ของราคาทั้งที่ยังไม่หักต้นทุน นอกจากนี้ ในอนาคต เกษตรกรไทยที่ปลูกกล้วยยังต้องเผชิญหน้ากับการส่งเสริมการผลิตเชิงเดี่ยวในระบบเกษตรของไทยอีกด้วย อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ในการทำงานเขามองว่า ในการแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างธุรกิจและภาคประชาสังคม โดยพื้นฐานของความร่วมมือคือการสร้างฐานข้อมูลเพื่อสร้างโอกาสในการบรรลุความต้องการของทุกฝ่าย

ติดตามตอนต่อไปของรายงานข่าว “ธุรกิจ (ไม่) ยั่งยืน (2) การบริโภคที่ยั่งยืน – ตลาด – อนาคตที่ไทยยังไปไม่ถึง”