ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ย้อนเส้นทาง Siamsport ผู้ (เคย) กุมผลประโยชน์ “ลูกหนังอาชีพไทย”

ย้อนเส้นทาง Siamsport ผู้ (เคย) กุมผลประโยชน์ “ลูกหนังอาชีพไทย”

29 มีนาคม 2016


พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ: https://goo.gl/dHr7EF
พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ: https://goo.gl/dHr7EF

ข่าวใหญ่ในแวดวงกีฬาไทย ตลอดเดือนมีนาคม 2559 ไม่น่าจะมีข่าวไหนเกิน ปฏิบัติการ “ล้างไพ่” ของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ยุค “พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” (เข้ารับตำแหน่ง 17 กุมภาพันธ์ 2559) ประกาศ “ยกเลิกสัญญา” การมอบสิทธิในการดูแลสิทธิประโยชน์จากการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ กับ บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือ Siamsport สื่อกีฬาอันดับหนึ่งของเมืองไทย โดยให้มีผล “ในทันที” !

นอกจากนี้ ยังให้สัญญาของสปอนเซอร์ทุกฉบับที่ทำไว้กับสมาคมฟุตบอลฯ ยุติลงในสิ้นปี 2559 นี้

พล.ต.อ. สมยศ ให้เหตุผลในการยกเลิกสัญญาฟ้าแล่บกับ Siamsport ครั้งนี้ว่า เกิดจากลักษณะสัญญาที่ 1. ไม่เป็นธรรม 2. มีลักษณะผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว และ 3. ไม่กำหนดค่าตอบแทนที่ชัดเจน

เหตุผลทั้ง 3 ข้อ ทำให้ผู้บริหารของ Siamsport ต้องออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวตอบโต้ถึง 2 ครั้ง พร้อมขู่ว่าจะดำเนินคดีที่ทำให้บริษัทเสียประโยชน์ แต่ก็ไม่ทำให้ พล.ต.อ. สมยศ เปลี่ยนท่าที มีการออกคำสั่งสมาคมฟุตบอลฯ ที่ 9/2559 แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อคัดเลือก “บริษัทเอเจนซี่” ผู้มาบริหารจัดการสิทธิประโยชน์แทน Siamsport นอกจากนี้ ยังออกประกาศให้บริษัทเอกชนใดที่สนใจยื่นข้อเสนอมาให้สมาคมพิจารณา ภายในวันที่ 8 เมษายน 2559

แหล่งข่าวในวงการฟุตบอลหลายคนวิเคราะห์ตรงกันว่า เหตุผลหลักในการยกเลิกสัญญาครั้งนี้ น่าจะมีอยู่ข้อเดียว คือ Siamsport ถูกมองว่า ใกล้ชิดกับขั้วอำนาจเก่าอย่าง “นายวรวีร์ มะกูดี” อดีตนายกสมาคมฟุตบอลฯ (ระหว่างปี 2551-2558) มากเกินไป

“เขาจึงต้อง Set Zero สิ่งที่ Siamsport และผู้บริหารสมาคมฟุตบอลฯ ชุดนายวรวีร์ทำมาทุกอย่าง” แหล่งข่าวระบุ

หลายคนอาจไม่รู้ว่า Siamsport เข้ามาเป็นผู้ดูแลสิทธิประโยชน์การจัดแข่งขันฟุตบอลอาชีพให้กับสมาคมฟุตบอลฯ หลายยุคหลายสมัยแล้ว

เพียงแต่เหตุที่การยกเลิกสัญญาครั้งนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ เพราะอยู่ในช่วงที่วงการฟุตบอลกำลัง “บูม” มีเม็ดเงินนับหมื่นล้านบาท !

siamsport1
ผู้บริหาร Siamsport ขณะแถลงข่าวตอบโต้เหตุผลการยกเลิกสัญญาของสมาคมฟุตบอลฯ จากซ้ายไปขวา โอฬาร เชื้อบาง ผู้อำนวยการฝ่ายกองบรรณาธิการ, อดิศัย วารินทร์ศิริกุล ประธานกรรมการบริหาร และนายสรายุทธ มหาวลีรัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ที่มาภาพ: http://www.siamsport.co.th/Sport_Football/160311_178.html

“สยามสปอร์ต” กับสมาคมฟุตบอล

Siamsport ถือกำเนิดขึ้น ในปี 2516 เมื่อ “นายระวิ โหลทอง” หัวหน้าโต๊ะข่าวกีฬา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ตัดสินใจลาออกมาเปิดโรงพิมพ์ผลิตหนังสือพิมพ์กีฬาของตัวเอง และเติบโตจาก “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” เป็น “บริษัทจำกัด” และ “บริษัทมหาชน” หลังจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อปี 2538

ปัจจุบัน บริษัทในเครือ Siamsport มีจำนวนทั้งสิ้น 7 บริษัท ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสื่อกีฬาและบันเทิง ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร โทรทัศน์ เว็บไซต์ ไปจนถึงการรับจัดอีเว้นต์ ผลประกอบการในปี 2558 Siamsport มีรายได้รวม 2,076 พันล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากเงินค่าโฆษณา 61% จากการขายสิ่งพิมพ์ 37% และจากรายได้อื่นๆ อีก 2%

หลังจากฟุตบอลอาชีพของไทยเริ่มแข่งขันเมื่อปี 2539 Siamsport ได้เข้าไปทำสัญญาเป็นผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ให้กับสมาคมฟุตบอลฯ ถึง 3 ยุค

ที่น่าสนใจคือไม่มีครั้งใดเลยที่ Siamsport ได้อยู่จน “ครบสัญญา”

– ยุคที่ 1 (ระหว่างปี 2544-2548) สมัยนายวิจิตร เกตุแก้ว เป็นนายกสมาคมฟุตบอลฯ (ระหว่างปี 2538-2550) แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากฟุตบอลอาชีพของไทยยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ ทำให้ไม่ได้รับความนิยม โดย Siamsport ทำอยู่ได้เพียง 3 ปี ช่วงจีเอสเอ็มไทยลีก ก่อนขอลดบทบาทเป็นเพียงผู้ช่วยในการประชาสัมพันธ์การแข่งขันเท่านั้น

– ยุคที่ 2 (ระหว่างปี 2552-2556) ผ่านการชักชวนของนายวรวีร์ที่เข้ามาเป็นนายกสมาคมฟุตบอลฯ ในปี 2551 ขณะนั้น เริ่มเห็นสัญญาณว่าฟุตบอลอาชีพไทยจะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด อย่างไรก็ตาม Siamsport ได้ขอยกเลิกสัญญาในปี 2555 เมื่อถูก “นายเนวิน ชิดชอบ” ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ตั้งคำถามว่า “เงินจากสปอนเซอร์หายไปไหน?” พร้อมกับการเดินหน้าตรวจสอบสมาคมฟุตบอลฯ อย่างเข้มข้น โดยคณะกรรมาธิการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ส.ส. กลุ่มของนายเนวิน เป็นแกนนำ

– ยุคที่ 3 (ระหว่างปี 2556-2560) Siamsport กลับมาทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ให้กับสมาคมฟุตบอลฯ อีกครั้ง ในยุคที่ฟุตบอลอาชีพไทยกำลัง “บูม” อย่างมาก บริษัทเอกชนและนักการเมืองต่างขนเงินมาลงทุนทำสโมสรฟุตบอลอาชีพอย่างคึกคัก มีการซื้อนักเตะชื่อดังให้มาค้าแข้งในเมืองไทย หลายทีมขับเคี่ยวกับแย่งแชมป์ โดยเฉพาะสโมสรเมืองทอง ยูไนเต็ด ที่ Siamsport เป็นเจ้าของ กับสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่นายเนวินเป็นเจ้าของ ก่อนที่ Siamsport จะถูกยกเลิกสัญญาในปี 2559 เมื่อ พล.ต.อ. สมยศ เข้ามาเป็นนายกสมาคมฟุตบอลฯ แทนนายวรวีร์

การยกเลิกสัญญาครั้งล่าสุด ไม่มีใครแน่ใจว่า Siamsport จะมีโอกาสได้กลับไปดูแลสิทธิประโยชน์ให้กับสมาคมฟุตบอลฯ อีกครั้ง ในอนาคต หรือไม่

ผลประโยชน์สยามสปอร์ต
ผลประโยชน์ที่ Siamsport จัดหามาสนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลอาชีพของไทย รวมเป็นเงินกว่า 7,703 ล้านบาท ก่อนถูกยกเลิกสัญญาการเป็นผู้ดูแลสิทธิประโยชน์เมือ่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เข้ามาเป็นนายกสมาคมฟุตบอลฯ ในปี 2559 (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

“สยามสปอร์ต” กับผลประโยชน์ฟุตบอลอาชีพ

ตามสัญญา หน้าที่หลักของ Siamsport คือการจัดหาและดูแลสิทธิประโยชน์จากการจัดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ ทั้งแบบฟุตบอลลีก (ไทยพรีเมียร์ลีก*, ดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2) และแบบฟุตบอลถ้วย (เอฟเอคัพและลีกคัพ) ให้กับสมาคมฟุตบอลฯ

โดย “นายอดิศัย วารินทร์ศิริกุล” ประธานกรรมการบริษัท ระบุว่า “Siamsport มีหน้าที่หารายได้และรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ซึ่งที่เหลือจะแบ่งคนละครึ่งกับสมาคมฟุตบอลฯ แต่หากขาดทุน Siamsport จะรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”

การเข้ามาดูแลผลประโยชน์ให้กับสมาคมฟุตบอลฯ ในยุคที่ 2-3 ถือเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุด โดย Siamsport สามารถเจรจากับบริษัทเอกชนชื่อดังหลายๆ แห่ง ให้เข้ามาสนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลอาชีพของไทยได้ หนึ่งในดีลสำคัญคือการเจรจากับบริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด หรือ True Visions ผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกรายใหญ่ของเมืองไทย ให้ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด รวมเป็นเงิน 6,600 ล้านบาท

จากการตรวจสอบข้อมูลโดยสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ทั้งจากการแถลงข่าวความร่วมมือต่างๆ และการสอบถามจากผู้เกี่ยวข้อง พบว่า ผลประโยชน์ที่ Siamsport สามารถหามาได้ระหว่างปี 2552-2559 มีมูลค่ารวมกัน อย่างน้อย 7,703 ล้านบาท** โดยสามารถแบ่งที่มาได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ

1. เงินค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด จาก True Visions รวม 6,600 พันล้านบาท

  • ปี 2554-2556 รวม 600 ล้านบาท (ปีละ 200 ล้านบาท)
  • ปี 2557-2559 รวม 1,800 ล้านบาท (ปีละ 600 ล้านบาท)
  • ปี 2560-2563 รวม 4,200 ล้านบาท (ปีละ 1,050 ล้านบาท)

2. เงินสนับสนุนการแข่งขันจากบริษัทเอกชนต่างๆ รวม 1,103 ล้านบาท

  • บริษัท เครื่องดื่มสปอนเซอร์ จำกัด หรือ Sponsor ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มเกลือแร่ (สนับสนุนการไทยพรีเมียร์ลีก ปี 2553-2555) รวม 165 ล้านบาท
  • บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Toyota ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์ของประเทศญี่ปุ่น (สนับสนุนการแข่งขันไทยพรีเมียร์ลีก ปี 2556-2561 และลีกคัพ ปี 2553-2555) รวม 530 ล้านบาท
  • บริษัท ไทย ยามาฮ่า มอเตอร์ จำกัด หรือ Yamaha ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ของประเทศญี่ปุ่น (สนับสนุนการแข่งขันดิวิชั่น 1/ลีกวัน ปี 2555-2559) รวม 90 ล้านบาท
  • บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (สนับสนุนการแข่งขันดิวิชั่น 2/ลีกภูมิภาค ปี 2552-2559) รวม 170 ล้านบาท
  • มูลนิธิไทยคม (สนับสนุนการจัดการแข่งขันเอฟเอ คัพ ปี 2552-2557) รวม 48 ล้านบาท
  • บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยี่ห้อ Chang (สนับสนุนการแข่งขันเอฟเอ คัพ ปี 2558-2562) รวม 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนบางรายการ ที่ไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน

สำหรับสปอนเซอร์ที่ Siamsport หามาได้ในปี 2559 มีอยู่ 7 บริษัท รวมเป็นเงิน 765 ล้านบาท ประกอบด้วย True Visions 600 ล้านบาท Toyota 75 ล้านบาท AIS 35 ล้านบาท Yamaha 15 ล้านบาท Chang 10 ล้านบาท Coca Cola 10 ล้านบาท และบริษัทต่างชาติที่อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาอีก 20 ล้านบาท

ผลประโยชน์ที่ “สยามสปอร์ต” ได้รับ

คำถามที่หลายคนสงสัยคือ “Siamsport ได้อะไรจากการเข้ามาดูแลสิทธิประโยชน์ครั้งนี้” ?

เพราะแม้เม็ดเงินจากสปอนเซอร์ต่างๆ จะไหลผ่าน Siamsport ปีละหลายร้อยล้านบาท แต่ก็มีรายจ่ายที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดจาก True Visions ที่ต้องแบ่งให้กับทีมในไทยพรีเมียร์ลีกและดิวิชั่น 1 ค่อนข้างมากต่อปี (ไทยพรีเมียร์ลีก ทีมละ 20 ล้านบาท ลีกวันทีมละ 3 ล้านบาท) เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดสดที่กำหนดไว้ปีละไม่น้อยกว่า 500 แมตช์ คำนวณแล้วก็แทบจะไม่เหลือกำไรสักเท่าไร

ผู้บริหารระดับสูงของ Siamsport รายหนึ่ง ระบุว่า สิ่งที่บริษัทได้รับ ไม่ใช่กำไรจากการเข้าไปดูแลสิทธิประโยชน์โดยตรง แต่เป็นผลประโยชน์ทางอ้อมมากกว่า เพราะยิ่งวงการฟุตบอลไทยเติบโตเท่าไร ยอดขายของสื่อในเครือ รวมถึงเงินค่าโฆษณาต่างๆ ก็จะยิ่งเติบโตขึ้น

และแม้จะไม่เคยมีการเปิดเผย “รายละเอียดของสัญญา” ระหว่างสื่อกีฬายักษ์ใหญ่นี้กับสมาคมฟุตบอลฯ ให้สาธารณชนรับทราบเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่จากการประมวลคำบอกเล่าของผู้เกี่ยวข้องก็พบเกร็ดที่น่าสนใจหลายประการ

  • การเข้าดูแลสิทธิประโยชน์ให้กับสมาคมฟุตบอลฯ เกิดขึ้นจากสายสัมพันธ์กับนายวรวีร์ ที่ยาวนานกว่า 20 ปี ตั้งแต่สมัยที่นายวรวีร์เป็นรองเลขาธิการสมาคมฟุตบอลฯ ฝ่ายต่างประเทศ ในยุคที่นายชลอ เกิดเทศ เป็นนายกสมาคมฟุตบอลฯ (ระหว่างปี 2531-2538) โดยนายวรวีร์เคยชื่นชม Siamsport ออกสื่อ ว่าเป็น “เพื่อนคู่ทุกข์คู่ยาก”
  • การเซ็นสัญญาดูแลสิทธิประโยชน์ฟุตบอลอาชีพให้กับสมาคมฟุตบอลฯ ทั้ง 3 ครั้ง ของ Siamsport ไม่เคยต้องผ่านการ “ประมูล” เลยแม้แต่ครั้งเดียว
  • สัญญาที่สปอนเซอร์ต่างๆ ทำกับสมาคมฟุตบอลฯ ผ่านทาง Siamsport บางสัญญาจะเป็นลักษณะ “ขายพ่วง” คือนอกจากสนับสนุนวงการฟุตบอลไทย ยังเป็นการซื้อโฆษณาในสื่อของเครือ Siamsport ไปในตัว
  • เหตุที่ดีลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกับ True Visions ปี 2557-2559 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปี 2554-2556 ถึง 3 เท่า จาก 600 ล้านบาท เป็น 1,800 ล้านบาท เนื่องจากขณะนั้น True Visions เพิ่งแพ้ประมูล เสียลิขสิทธิ์การถ่ายสอดฟุตบอลอิงลิช พรีเมียร์ลีกไปให้กับบริษัท ซีทีเอช จำกัด หรือ CTH จึงต้องหาโปรดั๊กส์ใหม่ๆ ไปเสนอต่อสมาชิก
  • การขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดให้กับ True Visions ทุกครั้ง เป็นการ “ต่อสัญญา” ไม่เคยมีการประมูล เนื่องจากเงื่อนไขในสัญญาที่ Siamsport ทำไว้กับ True Visions ระบุว่า ก่อนหมดสัญญา 1 ปี ให้คู่สัญญามาเจรจามูลค่าสัญญาฉบับใหม่ หากพอใจก็ให้ต่อสัญญาได้ทันที โดยในปี 2559 Siamsport สามารถเจรจาให้ True Visions ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดได้ในมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 4.2 พันล้านบาท แลกกับที่ขยายระยะเวลาสัญญาจากเดิม 3 ปี เป็น 4 ปี (ระหว่างปี 2560-2563)
  • Siamsport ดูแลสิทธิประโยชน์เฉพาะการแข่งขันฟุตบอลอาชีพเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลทีมชาติ  ที่สมาคมฟุตบอลฯ จะเป็นผู้หาสปอนเซอร์เอง ทั้งการรับเงินสนับสนุนจาก FIFA AFC การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และบริษัทเอกชนต่างๆ
  • ยกเว้นการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลทีมชาติ ที่ Siamsport ทำสัญญากับสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี แลกกับค่าตอบแทนนัดละ 750,000 บาท และการโฆษณาในสื่อเครือไทยรัฐอย่างน้อย 5 ครั้ง ที่เมื่อตีเป็นตัวเงินจะมีมูลค่าปีละหลายล้านบาท
  • Siamsport เคยทำสัญญารับมอบสิทธิจัดการแข่งขันฟุตซอลอาชีพกับสมาคมฟุตบอลฯ ระหว่างปี 2557-2561 แต่ทำได้เพียง 2 ปีก็ต้องคืนสิทธิ หลังประสบภาวะ “ขาดทุน” อย่างหนัก
ประกาศของสมาคมฟุตบอลฯ เชิญบริษัทเอกชนที่สนใจ ยืน่เอกสารเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้ดูแลสิทธิประโยชน์การแข่งขันฟุตบอลอาชีพของไทย ที่มาภาพ: https://goo.gl/wGUXJT
ประกาศของสมาคมฟุตบอลฯ เชิญบริษัทเอกชนที่สนใจ ยืน่เอกสารเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ หรือ Official Agency การแข่งขันฟุตบอลอาชีพของไทย ที่มาภาพ: https://goo.gl/wGUXJT

อนาคต Siamsport กับวงการฟุตบอลอาชีพไทย

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 25559 สมาคมฟุตบอลฯ ได้ออกประกาศเชิญชวนให้บริษัทเอกชนที่สนใจ ยื่นเอกสารเสนอตัวเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ หรือ Official Agency จากการแข่งขันฟุตบอลอาชีพรายใหม่ ระหว่างปี 2560-2563โดยให้ยื่นเอกสารได้ภายในวันที่ 8 เมษายน 2559

ประกาศดังกล่าว ได้คุณสมบัติของผู้ยื่นเสนอตัว ไว้ 5 ข้อ

  1. เป็นนิติบุคคล สัญชาติไทย
  2. มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท
  3. มีผลงานการบริหารงานด้านการตลาด การขายสื่อประชาสัมพันธ์ และจัดกิจกรรมทางการตลาด มูลค่ารวมระหว่างปี 2556-2558 ไม่น้อยกว่า 600 ล้านบาท
  4. มีผลกำไรติดต่อกันย้อนหลังไม่น้อยกว่า 3 ปี นับจากปัจจุบัน
  5. ต้องเสนอแผนงานการจัดหารายได้ เงื่อนไขการรับสิทธิ และหนังสือค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์ มูลค่าไม่น้อยกว่าวงเงินประกันรายได้ขั้นต่ำ (minimum guarantee) ต่อปี ที่จะเสนอให้กับสมาคมฟุตบอลฯ

“นายโอฬาร เชื้อบาง” ผู้บริหาร Siamsport กล่าวว่า แม้เราจะไม่ถูกตัดสิทธิ์ แต่คงเป็นเรื่องยากที่จะได้กลับเข้าไปดูแลสิทธิประโยชน์ให้กับสมาคมฟุตบอลฯ อย่างน้อยๆ ก็ในช่วงเวลา 4 ปีที่ พล.ต.อ. สมยศ เป็นนายกสมาคมฟุตบอลฯ (ระหว่างปี 2559-2563)

ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา Siamsport ก็มีคุณูปการในการช่วยปลุกกระแสนิยมฟุตบอลไทย จากแทบที่ไม่มีคนดูจนมีคนดูนัดละเป็นหมื่นเช่นปัจจุบัน

น่าสนใจว่า ชะตากรรมของ Siamsport จะเป็นอย่างไรต่อไปนับจากนี้

เช่นเดียวกับวงการฟุตบอลอาชีพไทย เมื่อไม่มี Siamsport คอยช่วยประชาสัมพันธ์ จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อไป จะยังคงเป็นกระแส ได้รับความนิยมต่อไปหรือไม่ ..เวลาจะเป็นผู้ให้คำตอบ

หมายเหตุ

*สมาคมฟุตบอลฯ ชุดใหม่ได้เปลี่ยนชื่อเป็นการแข่งขัน “ไทยลีก” แต่ระหว่างปี 2552-2558 ยังใช้ชื่อว่า การแข่งขัน “ไทยพรีเมียร์ลีก” จึงขอใช้ชื่อเดิม

**Siamsport เคยออกมาเปิดเผยตัวเลขสิทธิประโยชน์ที่จัดหามาได้ “แบบแน่ชัด” (ไม่ใช่ประมาณการณ์) เพียง 2 ครั้ง คือในปี 2554 ที่มีรวม 218 ล้านบาท และในปี 2559 ที่มีรวม 765 ล้านบาท)