ThaiPublica > เกาะกระแส > เครือข่ายสาละวินวอชต์รายงานสถานการณ์ 7 โครงการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนสาละวินในพม่า

เครือข่ายสาละวินวอชต์รายงานสถานการณ์ 7 โครงการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนสาละวินในพม่า

13 มีนาคม 2016


เครือข่ายสาละวินวอชต์ (Salween Watch Coalition)ได้ออกรายงานเกี่ยวกับแม่น้ำสาละวิน เนื่องจากเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2559 หนังสือพิมพ์เมียนมาไทมส์ ลงข่าวว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาลทหารของไทย ได้เยือนพม่าและหารือกับรัฐบาลพม่าในการสร้างความร่วมมือด้านพลังงานและพัฒนาโครงการเขื่อนเมืองโต๋น ในรัฐฉาน ซึ่งจะมีกำลังผลิตเป็นสิบเท่าของเขื่อนภูมิพล โดยระบุว่ารายงาน ชิ้นนี้รวบรวมสถานการณ์ล่าสุดของโครงการพัฒนาบนแม่น้ำสาละวินในพม่า เท่าที่ข้อมูลสามารถสืบค้นได้ ดังนี้

แม่น้ำสาละวิน สายน้ำที่ส่วนใหญ่ของลำน้ำยังคงไหลอย่างอิสระจากต้นกำเนิดที่เทือกเขาหิมาลัยสู่ทิเบตและมณฑลยูนนานของจีน สาละวินไหลขนานกับแม่น้ำโขงและแม่น้ำแยงซีเกียง ในบริเวณ “สามแม่น้ำไหลเคียง” ซึ่งยูเนสโกประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ จากนั้นสาละวินไหลข้ามพรมแดนเข้าสู่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน พม่า ผ่านใจกลางของรัฐฉาน ลงสู่รัฐคะยา หรือคะเรนนี ไหลเป็นเส้นพรมแดนระหว่างรัฐกะเหรี่ยง และ อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน จากนั้นไหลกลับเข้าพม่า ลงสู่รัฐมอญ และไหลออกทะเลที่เมืองเมาะลำไย หรือมะละแหม่ง รัฐมอญ รวมความยาวทั้งสิ้น 2,800 กิโลเมตร

สาละวิน คือสายน้ำอันเป็นบ้านของชาติพันธุ์ต่างๆ มากมาย และยังเป็นแหล่งทรัพยาธรรมชาติที่สำคัญ มีระบบนิเวศที่สลับซับซ้อนที่ยังถูกมนุษย์รบกวนน้อยหากเทียบกับแม่น้ำหลักสายอื่นๆ

หลายทศวรรษที่ผ่านมามีความพยายามที่จะสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำสาละวินตลอดลุ่มน้ำ แต่ในพม่านั้นกลับมีการคัดค้านมาโดยตลอด เนื่องจากการสู้รบระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์กับกองทัพพม่า และผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

สรุปข้อมูลเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน

1. โครงการเขื่อนฮัตจี

ตั้งอยู่ระยะทางจากชายแดนไทย ประมาณ 47 กิโลเมตรตามลำน้ำสาละวิน จากบ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน มูลค่าก่อสร้างโครงการประมาณ 1 แสนล้านบาท

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ว่าจ้างให้ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม โครงการไฟฟ้าพลังน้ำฮัจยี ชายแดนไทย-พม่า โดยได้จัดประชุมเพื่อนำเสนอรายงานที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ในวันที่ 18 ธันวาคม 2558 อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของรายงานโดยละเอียดยังไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะและชุมชนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดน และผลกระทบต่อระบบนิเวศ การไหลของน้ำ การอพยพของปลา

เนื่องจากเขื่อนนี้ตั้งอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังมีการสู้รบ รายงานการศึกษาของ กฟผ. ระบุว่ามีชุนในรัฐกะเหรี่ยงจะได้รับผลกระทบ 13 หมู่บ้าน และต้องอพยพ 21 ครัวเรือน อย่างไรก็ตาม กลุ่มสิ่งแวดล้อมกะเหรี่ยง Karen Rivers Watch ระบุว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆ หัวงานเขื่อนส่วนใหญ่ได้อพยพหนีภัยความตายมายังชายแดนประเทศไทยเนื่องจากภัยสงคราม และอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวใน จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก

สถานการณ์พื้นที่เขื่อนฮัตจีเมื่อในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2558 มีรายงานจากกลุ่มสิ่งแวดล้อมกะเหรี่ยงว่าได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU กองพล 5 เขตมือตรอ รัฐกะเหรี่ยง รายงานว่าตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน กองกำลังฝ่ายรัฐบาลพม่า 4 กองพัน ซึ่งประกอบด้วย กองกำลังป้องกันชายแดน (BGF) กองพัน 1013 และ 1014 สนธิกำลังกับกองพันเคลื่อนที่เร็วของกองทัพพม่า (LIB) กองพัน 210 กับ 205 ปฏิบัตการเข้าโจมตีพื้นที่ตำบลแม่ปริและตำบลทีตะดอท่า ในพื้นที่ อ.บือโส่ เขตมือตรอ กองกำลังร่วมชุดนี้ได้เข้าควบคุมพื้นที่จึงทำให้เกิดการปะทะกับกอง กำลัง KNU ส่งผลให้ KNU ต้องสูญเสียพื้นที่ควบคุมบางส่วน ปฏิบัติการของกองกำลังฝ่ายรัฐบาลพม่าส่งผลให้ผู้นำชุมชนหลายคนถูกไล่ออกจากหมู่บ้าน มีการจับกุมชาวบ้านในพื้นที่ไว้ และมีชาวบ้านถูกฆ่าอย่างน้อย 1 คน (เป็นกำนันตำบลทีตะดอท่า) รวมถึงมีการปิดด่านริมน้ำสาละวินทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถ เดินทางไปมายังเขตเมืองได้ (ด่านตรวจริมแม่น้ำสาละวินที่เป็นจุดสำคัญสกัดการเดินทางไปยังเมืองเมียนจีหงู่ หรือพะอัน คือด่านแมเซก ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาด่านแห่งนี้ถูกควบคุมโดยกองกำลัง BGF กองพัน 1012)

ระยะเวลาเพียง 2 สองเดือนดังกล่าว ในพื้นที่เกิดการปะทะไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง เจ้าหน้าที่ KNU เขตมือตรอให้ข้อมูลว่า ในระหว่างการดำเนินกระบวนการสันติภาพในพม่า แต่ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงภายใต้ KNU กลับมีการเคลื่อนไหวของกองทัพฝ่ายรัฐบาล ดังนั้นจึงยากที่จะสร้างความเชื่อมั่นต่อกันและกันในการเดินไปสู่ สันติภาพที่แท้จริง

แหล่งข่าวที่ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ และเคยลงพื้นที่สำรวจพื้นที่หัวงานเขื่อนฮัตจีเปิดเผยว่า ปฎิบัติการโจมตีดังกล่าวเป็นปฎิบัติการที่ต่อเนื่องจากการโจมตีช่วงปลายเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งครั้งนั้นมีชาวบ้านหนีภัยการสู้รบข้ามแม่น้ำเมยมายังบ้านแม่ตะวอ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก กว่า 300 คน

“เดิมที พื้นที่แมเซกซึ่งเป็นด่านสกัดการเดินทางจากหัวงานเขื่อนลงมายังเมืองเมียนจีหงู่นั้น อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังกะเหรี่ยง DKBA แต่หลังการโจมตีของกองทัพฝ่ายรัฐบาลพม่าในเดือนตุลาคม กองกำลัง BGF กองพัน 1012 ได้เข้ามาควบคุมพื้นที่ จากการพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงทหารระดับปฎิบัติการในพื้นที่ของ DKBA บางคนประเมินว่าคงมีการโจมตีอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้ก็เกิดขึ้นแล้ว เพราะพื้นที่เป้าหมายที่ฝ่ายกองทัพพม่าต้องการเข้าควบคุมคือพื้นที่บอตอรอ เพราะทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าหากกองทัพพม่าเข้าควบคุมพื้นที่แห่งนี้ได้คือการคุมพื้นที่ทั้งเหนือและใต้ของหัวงานเขื่อนได้ และปฏิบัติการที่มีความต่อเนื่องนี้ มีความเชื่อมโยงกับความพยายามของกองทัพพม่าที่ต้องการควบคุมพื้นที่สร้างเขื่อนฮัตจีอย่างแน่นอน

หมู่บ้านที่อยู่โดยรอบหัวงานเขื่อนฮัตจี พื้นที่เขตตองจา ซึ่งอยู่ในพื้นที่การสู้รบและได้รับผลกระทบโดยตรง มีดังนี้ สาละวินฝั่งตะวันออก จากเหนือลงใต้ บ.บอตรอ, บ.ฮ่วยอู แว และ บ.แมเซก ตะวันออก สาละวินฝั่งตะวันตก จากเหนือลงใต้ บ.แม่ลา บ.แม่ลาท่า และ บ.แมเซก ตะวันตก

2. โครงการเขื่อนสาละวินชายแดนตอนล่าง (เขื่อนดา-กวิน)

ตั้งอยู่บนแม่น้ำสาละวินชายแดนไทย-พม่า ที่บ้านท่าตาฝั่ง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ตรงข้ามรัฐกะเหรี่ยง

3. โครงการเขื่อนสาละวินชายแดนตอนบน (เขื่อนเวยจี)

ตั้งอยู่บนแม่น้ำสาละวินชายแดนไทย-พม่า ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ตรงข้ามรัฐกะเหรี่ยง

ทั้งสองโครงการนี้มีการเสนอภายใต้กรอบความร่วมมือของรัฐบาลไทยและพม่า ในปี 2547 ซึ่งจะพัฒนาเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินและตะนาวศรี โดย 2 เขื่อนบนพรมแดนไทย-พม่านี้เป็นโครงการหลักที่ กฟผ. ผลักดันอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม โครงการทั้งสองถูกชะลอ หลายฝ่ายมีความเห็นว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจาก 2 เขื่อนนี้มีความรุนแรง ทั้งผลกระทบต่อผืนป่าอันเป็นแหล่งกำเนิดไม้สักของโลก บริเวณสองฝั่งแม่น้ำสาละวินพรมแดนไทย-พม่า และจะท่วมแม่น้ำปายซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำสาละวิน ไปถึงบริเวณ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

แม่น้ำสาละวิน
แม่น้ำสาละวิน

4. โครงการเขื่อนยวาติ๊ด

ระยะทางจากชายแดนไทย ประมาณ 45 กิโลเมตร ตามลำน้ำปาย ที่บ้านน้ำเพียงดิน อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ไม่ไกลจากจุดที่แม่น้ำปายบรรจบแม่น้ำสาละวิน ในรัฐคะยา หรือรัฐคะเรนนี เป็นโครงการของบริษัทต้าถัง (Datang) จากจีน ซึ่งลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับ รัฐบาลพม่าเมื่อปี 2553 ข้อมูลเดิมระบุว่าเขื่อนยวาติ๊ดมีกำลังผลิตติดตั้ง 600 เมกะวัตต์ แต่ข้อมูลจากเว็บไซต์ของบริษัทต้าถัง ณ เดือนมีนาคม 2556 ระบุว่าเขื่อนมีกำลังผลิตสูงถึง 4,500 เมกะวัตต์

กลุ่มสิ่งแวดล้อมคะเรนนีรายงานว่า มีการสัมปทานทำไม้อย่างมหาศาลในพื้นที่รอบๆ เขื่อนยวาติ๊ด มีการปรับถนนจากลอยก่อ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐคะเรนนี สู่เมืองบอเลอเค และยวาติ๊ด

หมู่บ้านรอบๆ เขื่อนยวาติ๊ดได้อพยพหนีภัยสงครามออกจากพื้นที่ไปกว่ายี่สิบปีแล้ว ส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยที่อาศัยตามค่ายพักพิงชั่วคราวแนวชายแดน โดยเฉพาะที่ อ.เมือง และ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดระบุว่ายังมีชาวบ้านอาศัยอยู่รอบๆ ยวาติ๊ดจำนวนหนึ่ง โดยจัดเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Persons-IDPS) ชาวบ้านกลุ่มนี้ต้องหนีไปซ่อนตัวในช่วงที่มีการสู้รบ

รัฐคะเรนนีเคยมีบทเรียนอันเจ็บปวดจากการสร้างเขื่อนโมบีและโรงไฟฟ้าลอปิตาเมื่อกว่า 30 ปีก่อน โรงไฟฟ้าลอปิตาซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของพม่า ทำให้ประชาชน 12,000 คน ต้องถูกถอนรากถอนโคนออกจากถิ่นฐาน กองทัพพม่าส่งทหารนับพันเข้ามาคุ้มครองโรงไฟฟ้า นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนนานัปการโดยทหารพม่า อาทิ การทารุณกรรมทางเพศ การสังหาร และการบังคับใช้แรงงานทาส นอกจากนี้ยังมีการวางกับระเบิดกว่า 18,000 จุดรอบๆ โรงไฟฟ้าและแนวสายส่ง

เขื่อนยวาติ๊ดมีการสำรวจโดยทีมจีน-พม่า เพื่อเตรียมก่อสร้างอย่างจริงจังในช่วงปี 2553 มีรายงานว่ามีการซุ่มโจมตีรถของคณะสำรวจที่ใกล้เมืองพรูโซในเดือน ธันวาคมปีเดียวกัน เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีวิศวกรชาวจีนเสียชีวิต 3 ราย

ต่อมาในปี 2554 มีการตั้งค่ายทหารของกองกำลังรักษาชายแดนของกองทัพพม่า (BGF) หมายเลข 1005 และมีกองกำลังพิเศษที่มีภารกิจรักษาความปลอดภัยของคณะสร้างเขื่อนชาวจีน รายงานว่าผู้บัญชาการพิเศษภาคพื้น 55 ที่มีฐานอยู่ที่บอละแค ได้เดินทางไปยังพื้นที่ยวาติ๊ดเพื่อตรวจการณ์และรักษาความปลอดภัยแก่การ ก่อสร้างเขื่อนอย่างเข้มงวด

รายงานจากในพื้นที่ระบุว่า ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 กลุ่มประชาสังคมคะเรนนีได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการสำรวจเพื่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำปุ่น ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของสาละวิน โครงการเขื่อนน้ำปุ่นกำลังสำรวจโดยบริษัท HCTC Energy Investment Co.Ltd. (บริษัทลูกของ Shwe Taung Co.) และบริษัท Trusr Energy Investment Pte.Ltd. (สิงคโปร์) เขื่อนนี้ตั้งอยู่ใกล้เมืองบอละแค และมีการตั้งข้อสังเกตว่าเขื่อนนี้เป็น 1 ใน 3 โครงการเขื่อนในรัฐคะเรนนี ที่บริษัทต้าถังได้ลงนาม MoU ไว้ในปี 2553 และเขื่อนแม่น้ำปุ่นนี้อาจถูกสร้างก่อนเพื่อเป็นแหล่งพลังงานใช้ใน การก่อสร้างเขื่อนยวาติ๊ด

กองกำลังคะเรนนี (KNPP) ซึ่งไม่ลงนามข้อตกลงหยุดยิงกับกองทัพพม่าในปีที่ผ่านมาก่อนการเลือกตั้ง แต่ข้อตกลงที่เคยลงนามไว้กับกองทัพพม่าในปี 2555 มีเนื้อหาระบุถึงโครงการเขื่อนยวาติ๊ดว่า “จะมีการสร้างความโปร่งใสในโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ (รวมถึงเขื่อนยวาติ๊ด) ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันในการให้ข้อมูลแก่สาธารณะและอนุญาตให้ประชาชนและองค์กรชุมชนหาข้อมูลได้” อย่างไรก็ตาม เมื่อกลุ่มสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล กลับถูกจับกุมโดยทางการพม่าและห้ามเข้าพื้นที่เขื่อน

ปัจจุบันมีการปรับปรุงถนนระหว่าง อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ผ่านด่านห้วยต้นนุ่น ข้ามสะพานแห่งใหม่บนแม่น้ำสาละวิน ไปยังเมืองลอยก่อ เมืองหลวงของรัฐคะเรนนี

5. โครงการเขื่อนเมืองโต๋น (เขื่อนท่าซาง/เขื่อนมายตง)

ระยะทางจากชายแดนไทย ประมาณ 40 กิโลเมตร ที่บ้านอรุโณทัย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เดิมมีการวางแผนที่จะสร้างเขื่อนที่บริเวณท่าซาง แต่ต่อมาเมื่อผู้พัฒนาโครงการไม่สามารถดำเนินการได้ จึงมีการเสนอโครงการใหม่ โดยขยับขึ้นมาตามลำน้ำประมาณ 10 กิโลเมตร ใกล้กับเมืองโต๋น โดยมีชื่อว่าโครงการเขื่อนมายตง ในภาษาพม่า

บริษัทที่ปรึกษาจากออสเตรเลีย Snowy Mountain Engineering Corperation ได้รับจ้างทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม (EHIA) ในรัฐฉาน แต่กลับถูกตั้งคำถามโดยเครือข่ายประชาชนในรัฐฉานเกี่ยวกับความชอบธรรมของการศึกษาดังกล่าว และพบว่าในหลายพื้นที่พบกับการต่อต้านจากชาวบ้าน ที่น่าสนใจคือ การศึกษาดังกล่าวไม่สามารถเสร็จสมบูรณ์ได้เนื่องจาก กองทัพว้า UWSA ซึ่งคุมพื้นที่ส่วนหนึ่งของริมแม่น้ำสาละวิน ปฏิเสธมิให้ทำการศึกษาในพื้นที่

ข้อกังวลหลักคือ พื้นที่ก่อสร้างเขื่อนและพื้นที่น้ำท่วมจะยาวถึง 870 กิโลเมตร ตลอดลำน้ำสาละวินและลำน้ำสาขาที่สำคัญคือแม่น้ำป๋าง พื้นที่ภาคกลางของรัฐฉานบริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเคยมีการ บังคับอพยพโดยกองทัพพม่าในช่วงปี 2536-2539 ซึ่ง ทำให้ประชาชนในรัฐฉานอย่างน้อย 3 แสนคน ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ โดยประชาชนจำนวนมากได้หนีมายังประเทศไทยหรือตามแนวชายแดนโดยเฉพาะที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ จวบจนปัจจุบันชาวบ้านเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังคงไม่สามารถกลับคืนสู่ถิ่นฐานได้ แม้เวลาจะผ่านมาแล้วถึง 20 ปีเต็ม

เขื่อนเมืองโต๋น จะทำให้เกิดน้ำท่วมยาวไปตามลำน้ำทั้งบริเวณแม่น้ำสาละวินและลำน้ำสาขาที่สำคัญ คือแม่น้ำป๋าง ซึ่งเป็นแม่น้ำที่มีระบบนิเวศที่สลับซับซ้อนและน่าสนใจที่สุดสายหนึ่ง จากต้นน้ำ ลำน้ำป๋างไหลลดหลั่นตามชั้นหินหลายร้อยชั้น และแตกแขนงออกเป็นเกาะเล็กเกาะน้อย จนชาวไทใหญ่เรียกเมืองที่น้ำป๋างว่า “กุ๋นเฮง” หรือเมืองพันเกาะ น้ำที่ไหลผ่านน้ำตกมากมายถูกฟอกเติมออกซิเจนโดยธรรมชาติ ลำน้ำป๋างจึงมีสีเขียวใสแทบตลอดทั้งปี แต่แม่น้ำอันเปรียบได้ดัง “มรกตแห่งสาละวิน” จะต้องจมอยู่ใต้น้ำตลอดไปหากมีการสร้างเขื่อนเมืองโต๋น

แม่น้ำป๋าง
แม่น้ำป๋าง

6. โครงการเขื่อนหนองผา

ตั้งอยู่ทางภาคเหนือในรัฐฉาน มีการลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อพัฒนาโครงการเมื่อครั้งที่นายสี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีจีน เดินทางเยือนพม่าในปี 2553 ที่ผ่านมามีการเปิดเผยข้อมูลโครงการเขื่อนหนองผาน้อยมาก และการเข้าถึงพื้นที่เป็นไปได้ยาก ทำให้แทบไม่มีข้อมูลในพื้นที่ออกสู่ภายนอก

โครงการเขื่อนหนองผาเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลพม่า บริษัทสัญชาติพม่า International Group of Entrepreneurs-IGE และบริษัท Hydrochina Corporation สัดส่วนในการถือหุ้นคือ รัฐบาลพม่าร้อยละ 15 และสองบริษัทอีกร้อยละ 85 เขื่อนหนองผามีกำลังผลิตติดตั้ง 1,200 เมกะวัตต์ โดยไฟฟ้าร้อยละ 90 จะส่งไปขายแก่ประเทศจีน

เขื่อนหนองผาตั้งอยู่ในเขตปกครองพิเศษของกองกำลังสหรัฐว้า (UWSA) ในปี 2558 กองทัพพม่าได้ส่งกำลังพลเข้าล้อมพื้นที่ของกองกำลังไทใหญ่ SSPP/SSA (เหนือ) ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์และเป็นบริเวณติดกับพื้นที่ของว้า UWSA ซึ่งบริเวณที่จะสร้างเขื่อนจึงตั้งอยู่ในพื้นที่การสู้รบโดยตรง

7. โครงการเขื่อนกุ๋นโหลง

ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน เขตปกครองของกองกำลังโกก้าง ใกล้ชายแดนจีน เขื่อนมีกำลังผลิตติดตั้ง 1,400 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าจำนวน 1,200 เมกะวัตต์จะส่งไปขายยังประเทศจีนโดยเชื่อมต่อกับระบบสายส่งจีนใต้ ข้อมูลจากบริษัท Hydrochina Kunmig Engineering ระบุว่ามีหมู่บ้านหลายแห่งที่จะได้รับผลกระทบ โดยมีการจัดทำรายการการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปแล้วแต่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล และมีการก่อสร้างโครงการอย่างลับๆ แต่กลับต้องชะงักเนื่องจากการสู้รบอย่างรุนแรงระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังโกกั้งในช่วงปี 2558 และส่งผลต่อเนื่องให้ให้ประชาชนกว่า 100,000 คน ต้องอพยพหนีการสู้รบไปยังชายแดนจีน

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (Shan Human Rights Foundation–SHRF) ระบุว่า โครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน นอกจากกระทบกับชาวบ้านในพื้นที่แล้วอาจยังส่งผลกระทบต่อการสร้างสันติภาพในพม่า พบว่าในพื้นที่สร้างเขื่อนมีการสู้รบกันระหว่างกองทัพพม่าและกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม จึงเรียกร้องให้ยุติสร้างเขื่อน

ปัจจุบันเขื่อนต้องชะลอเนื่องจากการสู้รบ ซึ่งทำให้หัวงานเขื่อนต้องถูกทิ้งร้าง

สาละวิน2