ThaiPublica > เกาะกระแส > ปัจฉิมกถา “อาจารย์ป๋วย  อึ๊งภากรณ์ ในสายตาคนรุ่นหลัง” วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ

ปัจฉิมกถา “อาจารย์ป๋วย  อึ๊งภากรณ์ ในสายตาคนรุ่นหลัง” วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ

10 มีนาคม 2016


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มาภาพ : นายนฤพนธ์ รักษ์พงษ์  ธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มาภาพ : นายนฤพนธ์ รักษ์พงษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

วันที่ 10 มีนาคม 2559 เนื่องในโอกาสฉลอง 100 ปีชาตกาล ศาสตรจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุคคลสำคัญของโลก ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวปัจฉิมกถาในโอกาสครบรอบ 100 ปีชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ภายใต้หัวข้อ “อาจารย์ป๋วย  อึ๊งภากรณ์ ในสายตาคนรุ่นหลัง” มีรายละเอียดดังนี้

ตลอดวันนี้ท่านผู้ใหญ่หลายท่านได้พูดถึงอาจารย์ป๋วยด้วยความเคารพรักและศรัทธาในมิติต่างๆ ทั้งบทบาทด้านการศึกษา การพัฒนาชนบท การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และบทบาทในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  สำหรับผมแล้ว ผมไม่เคยได้พบกับอาจารย์ป๋วย ไม่มีโอกาสได้เรียนหรือทำงานกับท่าน แต่ผมถือว่าผมเป็นคนหนึ่งที่โชคดี ที่ได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากงานที่ท่านอาจารย์ป๋วยได้วางรากฐานไว้ ครูบาอาจารย์ของผมหลายท่านที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นนักเรียนที่อาจารย์ป๋วยได้หาทางสนับสนุนให้ไปเรียนต่อจนสำเร็จปริญญาเอก แล้วกลับมาสร้างคณะให้มีความเข้มแข็งจนเป็นที่ยอมรับของแวดวงวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ถ่ายทอดแนวคิดวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากอาจารย์ป๋วย ให้แก่นักศึกษารุ่นหลังๆ

นอกจากนี้ ผมยังได้รับประโยชน์จากโอกาสที่ได้เข้ามาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งท่านผู้ว่าการป๋วยได้วางรากฐานไว้อย่างมั่นคง ทั้งด้านบุคลากร องค์ความรู้  กรอบกฎหมาย และที่สำคัญที่สุด คือ มาตรฐานด้านคุณธรรมจริยธรรม

อาจารย์ป๋วยเป็นบุคคลที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศไว้มากมาย แนวคิดของท่านทรงคุณค่า และยังทันสมัยแม้บริบทในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงจากอดีตมากก็ตาม แต่เราสามารถเรียนรู้และนำแนวคิดและหลักการของท่าน มาประยุกต์ใช้เป็นหลักในการทำงานและหลักในการใช้ชีวิตในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ในวันนี้ผมขอพูดถึงอาจารย์ป๋วยในสายตาของคนรุ่นหลังที่ไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับท่านโดยตรง แต่มีศรัทธาในผลงาน หลักคิดและหลักชีวิตของท่าน  ผมขอพูดใน 2 มิติสำคัญ มิติแรกในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่มีโอกาสเข้ามาบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ และมิติที่สองในฐานะที่เป็นคนไทยรุ่นหลัง

มิตินักเศรษฐศาสตร์

ผมขอเริ่มด้วยมิติแรกในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่มีโอกาสเข้ามาบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ ในมิตินี้ ประเด็นแรกที่ผมขอพูดถึง คือ ความจำเป็นของการสร้างความน่าเชื่อถือของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจในสายตาของประชาชน ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะธนาคารกลางเท่านั้น แต่รวมถึงหน่วยงานหลักของรัฐอีกหลายหน่วยงาน ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเราได้ยินเสียงบ่นบ่อยครั้งว่าหน่วยงานของรัฐไม่สามารถต้านทานอำนาจทางการเมืองที่มุ่งทำนโยบายประชานิยมที่ไม่ถูกไม่ควร หรือมุ่งทำแต่นโยบายแก้ปัญหาระยะสั้นซึ่งเป็นปลายเหตุไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุ ไม่สามารถช่วยยกระดับศักยภาพของประเทศได้ในระยะยาว การดำเนินนโยบายเช่นนี้ได้ทำให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพในการเติบโตต่ำลง เศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับต่ำต่อเนื่องกันมานานหลายปี เรายังมองไม่เห็นทางออกจากกับดักรายได้ปานกลาง หรือ Middle Income Trap  ประชาชนมีหนี้สินในระดับสูง ขณะที่รายได้ยังไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างเท่าทัน ถ้าหากเศรษฐกิจไทยยังคงเดินต่อไปในลักษณะนี้ และไม่มุ่งแก้ไขที่ต้นเหตุ คนไทยจะไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน และเราอาจจะประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจใหม่ได้ในอนาคต

ช่วงเวลาที่อาจารย์ป๋วยดำรงตำแหน่งสำคัญทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ท่านยืนหยัดบนหลักการของความถูกต้อง อาจารย์ป๋วยท่านกล้าหาญที่จะให้ความเห็นขัดแย้งหรือไม่ยอมทำตามความต้องการของผู้มีอำนาจทางการเมืองหากเห็นว่าสิ่งนั้นไม่ถูกไม่ควร การยึดถือหลักการของความถูกต้องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในการสร้างความน่าเชื่อถือจากประชาชน

สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ความน่าเชื่อถือคือหัวใจ ดังที่อาจารย์ป๋วยได้เคยกล่าวไว้ว่า

“หลักการธนาคารกลางก็เช่นเดียวกับหลักการธนาคารทั่วๆ ไป คือ เครดิต และ Faith คือความน่าเชื่อถือซึ่งกันและกัน ทั้งภายในภายนอก ถ้าขาดเครดิตแล้ว เลิกพูดเรื่องการธนาคารได้

คำพูดสั้นๆ ของอาจารย์ป๋วยมีความหมายที่กว้างไกลมาก ในระยะข้างหน้านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานของรัฐด้านเศรษฐกิจจะต้องเร่งสร้างเครดิตและ Faith หรือศรัทธา เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในหมู่ประชาชน ถ้าหน่วยงานด้านเศรษฐกิจขาดความน่าเชื่อถือหรือไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้างแล้ว ยากที่เราจะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะใหม่ๆ หรือปฏิรูปประเทศให้เกิดผลขึ้นได้อย่างแท้จริง ความน่าเชื่อถือจะต้องมาจากการยึดถือหลักของความถูกต้องและมองประโยชน์ของประเทศเป็นพื้นฐาน ควบคู่ไปกับการสร้างองค์ความรู้อย่างเท่าทัน และสร้างความโปร่งใสในกระบวนการตัดสินใจ

ประเด็นที่สอง ในมิติของการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค คือ การสร้างความน่าเชื่อถือและการยอมรับจากภายนอกประเทศ อาจารย์ป๋วยมองว่าประเทศไทยจะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้ต้องเรียนรู้แนวคิด ประสบการณ์ การค้า การลงทุน และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ  เพราะโลกจะมีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น อาจารย์ป๋วยได้เคยเขียนไว้ในบทความตอนหนึ่งว่า

“ประเทศผมควรจะมีความสัมพันธ์อันชอบธรรม และเป็นประโยชน์กับโลกภายนอก ผมจะได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงความคิดและวิชาของมนุษย์ทั้งโลก และประเทศของผมจะได้มีโอกาสรับเงินทุนจากต่างประเทศมาใช้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม”

และ

“ประเทศเล็กควรจะร่วมมือร่วมใจกันออกความเห็นให้เป็นประโยชน์แก่พวกเราเอง… การร่วมมือกันอย่างสนิทสนมยิ่งขึ้น และจะได้มีการปรึกษาหารือกันเป็นงานประจำรวมทั้งจะพยายามประสานงานซึ่งกันและกันในด้านโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วย ความสนิทสนมระหว่างประเทศเล็กต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นนี้คงจะเป็นประโยชน์แก่แต่ละประเทศ”

ในสมัยที่อาจารย์ป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านเป็นผู้ริเริ่มและสนับสนุนผลักดันความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนนำไปสู่การจัดตั้ง SEACEN หรือ South East Asian Central Banks ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 หรือเมื่อ 50 ปีที่แล้วเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันและกัน สร้างประโยชน์ในการต่อรองประเด็นทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในเวทีโลก

การรวมกลุ่มธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อาจารย์ป๋วยริเริ่มไว้นั้น ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องและเจริญก้าวหน้าจนนำไปสู่การจัดตั้ง SEACEN Centre ซึ่งเป็นสถาบันฝึกอบรมทางวิชาการ และพัฒนาความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับธนาคารกลางให้กับบุคลากรของธนาคารกลางทั้งภูมิภาคเอเชียในปัจจุบัน ซึ่งผมมีความยินดีที่จะเรียนทุกท่านทราบว่า SEACEN Centre จะได้ร่วมเฉลิมฉลอง 100 ปีชาตกาลของอาจารย์ป๋วยในวันที่ 14 มีนาคมนี้ด้วยที่ประเทศมาเลเซีย โดยจัดสัมมนาในหัวข้อเรื่อง “Central Bank Cooperation and Mandates” มีผู้ว่าการธนาคารกลางทั้งปัจจุบันและอดีตจำนวนมากตอบรับที่จะไปร่วมงานด้วยความศรัทธาและระลึกถึงท่านอาจารย์ป๋วย

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มาภาพ : นายนฤพนธ์ รักษ์พงษ์  ธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มาภาพ : นายนฤพนธ์ รักษ์พงษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

มองไปข้างหน้า ภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นภูมิภาคที่สำคัญยิ่งสำหรับอนาคตของเศรษฐกิจไทย ความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งเพื่อช่วยเหลือสอดส่องดูแลเศรษฐกิจซึ่งกันและกัน ช่วยสร้างความเชื่อมโยงของระบบการเงิน ตลอดจนช่วยกันป้องกันปัญหาทางเศรษฐกิจไม่ให้ลุกลาม รวมทั้งช่วยพัฒนาศักยภาพของธนาคารกลางอื่นในภูมิภาคด้วย

ประเด็นที่สามในมิติของการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค คือ การสร้างความสมดุลและให้ความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในสภาวะปัจจุบันที่ความผันผวนจากภายนอกประเทศเกิดถี่ขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้น การสร้างความสมดุลและภูมิคุ้มกันสำคัญมากขึ้น ช่วงเวลา 12 ปีที่อาจารย์ป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านได้บริหารเศรษฐกิจมหภาคด้วยความระมัดระวัง ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพ ส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง และเสถียรภาพการเงินก็อยู่ในระดับดี กล่าวคือ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับเหมาะสมไม่เกินร้อยละ 3 และเงินสำรองระหว่างประเทศมีความเข้มแข็ง

ท่านได้อธิบายแนวทางการดูแลเศรษฐกิจและการเงินของประเทศผ่านทฤษฎีลูกโป่ง ที่เข้าใจได้ง่ายๆ ทฤษฎีลูกโป่งแสดงถึงความสัมพันธ์ของนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และการเงินระหว่างประเทศ การบริหารนโยบายเศรษฐกิจของอาจารย์ป๋วยมีจุดมุ่งหมายให้ประเทศพัฒนาได้อย่างมีเสถียรภาพ ค่าเงินบาทไม่ผันผวน เงินไม่เฟ้อหรือฝืดเคือง ธนาคารแห่งประเทศไทยรักษาปริมาณเงินให้เป็นไปโดยสมดุล สัมพันธ์กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังเช่นที่ท่านอาจารย์ป๋วยได้เคยกล่าวไว้ว่า

“ดาวประจำเมืองไทย … คือ ดาวพัฒนา และดาวพระเสถียรภาพ ถ้าปล่อยให้พระราคาลอยตุปัดตุเป๋ตามยถากรรม และปล่อยให้ดาวบางดวงแทรกแซงตามอำเภอใจแล้ว คงจะชนพระเสถียรภาพสะบั้น แล้วดาวพระพัฒนาจะอยู่ได้อย่างไร”

และ

“ข้อที่ควรคำนึงข้อหนึ่งเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ คือ เราจำเป็นต้องให้บ้านเมืองของเราเจริญขึ้นชนิดที่มีเสถียรภาพ มีหลายประเทศที่กำลังพัฒนาอยู่ และพยายามที่จะใช้วิธีการต่างๆ ให้ก้าวหน้ารวดเร็ว โดยไม่คำนึงถึงเสถียรภาพทางการเงิน ผลการพัฒนาแบบนั้นก็คือ ในที่สุดไม่สามารถพัฒนาได้ตามความมุ่งหมาย”

ประเด็นที่สี่ มิติของการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค คือ ต้องพัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับประโยชน์ร่วมกัน หรือInclusive Growth อาจารย์ป๋วยมองเห็นปัญหาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตในอัตราที่สูงๆ เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ ว่าเกิดการกระจุกตัวอยู่กับเขตเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร  แต่ชนบทที่ห่างไกลกลับได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมต่อคนส่วนใหญ่ จนอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความเปราะบางในสังคมได้ การบริหารเศรษฐกิจมหภาคของท่านจึงไม่ได้มองแค่มิติทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว สำหรับท่านอาจารย์ป๋วยแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ต้องให้ความสำคัญต่อเรื่องสังคมด้วย ดังคำกล่าวของท่านในหลายครั้งว่า

“นักเศรษฐศาสตร์มักจะเพ่งเล็งแต่เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ถ้าเป็นเช่นนี้จะว่ามีการพัฒนาที่สมบูรณ์มิได้ จำเป็นต้องพิจารณาเลยไปถึงการพัฒนาทางสังคมด้วย”

“ผมรู้สึกเสียดายที่รู้สึกว่าได้บกพร่องไปในการพิจารณาเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ คือ ดูแต่ความเจริญเติบโตของส่วนรวมเป็นใหญ่ ไม่ได้เฉลียวถึงความยุติธรรมในสังคม ข้อนี้จึงพยายามแก้ด้วยวิธีพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง”

“การที่คนมีมีมากขึ้นนั้นเป็นของดี แต่การที่คนจนจนลงกว่าก่อนนั้นเป็นของเลวแน่ ที่กล่าวมาเมื่อกี้คือเป็นปัญหาที่สำคัญมาก ปัญหาระยะยาวซึ่งช่องว่างระหว่างคนมีกับคนจนกว้างขึ้นทุกที”

“บ้านเมืองซึ่งชนบทเจริญขึ้น จะมีความสงบสุขได้ดีกว่าบ้านเมืองอันเต็มไปด้วยชนบทที่ยากจน”

ประเด็นนี้ยังคงเป็นประเด็นสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนถ้าเราไม่ร่วมกันแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ การกระจายผลประโยชน์ของการพัฒนาและการเอารัดเอาเปรียบในรูปแบบต่างๆ ที่นำไปสู่ความเปราะบางและความขัดแย้งในสังคม นอกจากนี้ ในโลกปัจจุบันที่พัฒนาการด้านต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ความเหลื่อมล้ำที่สำคัญไม่ได้มีเฉพาะเรื่องรายได้เท่านั้น แต่ยังต้องรวมถึงความเหลื่อมล้ำในโอกาสในการได้รับความรู้ และโอกาสในการยกระดับศักยภาพและความสามารถของคนในสังคมอีกด้วย

ประเด็นสุดท้าย ที่ผมจะขอพูดถึงในมิติของการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค คือ อาจารย์ป๋วยให้ความสำคัญต่อการมองไกลไปในอนาคต ด้วยวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่น ท่านอยากเห็นเศรษฐกิจไทยพัฒนาขึ้นและคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในเรื่องการมองไกลนี้ มีหลายตัวอย่างที่ท่านได้ทำ เช่น ท่านได้สร้างสถาบันทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งให้กับประเทศหลายองค์กร เพื่อเป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านไม่ได้เพียงแต่วางรากฐานให้แต่ละหน่วยงานเข้มแข็งเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเศรษฐกิจทำงานร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศประสานสอดคล้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ และมีพลัง ดังที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า

“ในการดำเนินนโยบายการเงิน แบงก์ชาติไม่สามารถดำเนินการทุกอย่างได้เพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องประสานนโยบายเชิงเศรษฐกิจมหภาคกับหน่วยงานต่างๆ ให้สอดคล้องกัน เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนของประเทศ”

ในเรื่องการวางรากฐานให้แก่หน่วยงานสำคัญ ท่านได้มุ่งสร้างบุคลากรเพื่อรองรับภารกิจของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น นอกจากนี้ ท่านได้เน้นหลายครั้งว่าบุคลากรที่จะมาเป็นกำลังสำคัญของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของประเทศจะมีเฉพาะความรู้อย่างเดียวไม่พอ แต่จะต้องมีจริยธรรมและคุณธรรมด้วย จะเห็นได้จากโอวาทที่ท่านเคยให้ไว้กับนักเรียนทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยในยุคแรกๆ ว่า

“ธนาคารต้องการวิชาความรู้ความสามารถจากท่านทั้งหลาย…และที่สำคัญไปกว่านั้นที่ธนาคารต้องการจากพวกคุณคือ ความสัตย์ซื่อและความสุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ ถ้าขาดความซื่อสัตย์สุจริตเชื่อถือกันได้แล้ว ธนาคารนี้ล้มไม่มีทางที่จะทำอะไรได้”

ในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลของอาจารย์ป๋วย ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมเฉลิมฉลองโดยได้จัดตั้งสถาบันวิจัย ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อเป็นการร่วมรำลึกและสนับสนุนเจตนารมณ์ของอาจารย์ป๋วยในการสร้างงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ที่มีคุณภาพเพื่อเป็นพื้นฐานในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นศูนย์กลางที่จะเชื่อมโยงนักวิจัยทั้งภายในธนาคารและนักวิจัยภายนอกเข้าด้วยกัน

ความท้าทายที่สำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดจากประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง หรือ Middle Income Trap เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนคนไทย ก็คือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เราจะต้องมองไกล โดยเฉพาะการวางแผนยุทธศาสตร์ของประเทศให้มีความต่อเนื่องและชัดเจน ต้องเน้นการทำงานเชิงรุกร่วมกันระหว่างหน่วยงานเศรษฐกิจ และระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และมีคุณธรรม จริยธรรม เป็นภูมิคุ้มกันทางจิตใจด้วย

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ที่มาภาพ : นายนฤพนธ์ รักษ์พงษ์  ธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ที่มาภาพ : นายนฤพนธ์ รักษ์พงษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

มิติของคนไทยรุ่นหลังที่อยากจะเห็นสังคมไทยก้าวไปสู่สังคมอันพึงปรารถนา

สำหรับมิติที่สอง ที่ผมขอกล่าวถึงในวันนี้ คือ มิติที่มองจากฐานะของคนไทยรุ่นหลังที่อยากจะเห็นสังคมไทยก้าวไปสู่สังคมอันพึงปรารถนา  ซึ่งในทรรศนะของอาจารย์ป๋วยนั้นท่านเห็นว่า

“สังคมอันพึงปรารถนาที่เราวางเป้าหมายที่จะดำเนินการให้เป็นสังคมที่น่าอยู่นั้นต้องมีหลัก 4 ประการ คือ (1) สมรรถภาพ (2) เสรีภาพ (3) ความยุติธรรม  (4) ความเมตตากรุณา การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน”

การที่สังคมไทยจะก้าวไปสู่สังคมที่ปรารถนาได้นั้น จะต้องเริ่มที่แนวทางการดำรงชีวิตของปัจเจกบุคคลแต่ละคน ซึ่งชีวิตของอาจารย์ป๋วยได้แสดงหลักของการดำรงชีวิตที่สอดคล้องกับแนวทางที่จะขับเคลื่อนให้สังคมไทยก้าวไปสู่สังคมอันพึงปรารถนาได้ในอย่างน้อย 2 ประเด็น

ประเด็นแรก คือ การมุ่งหาความสุขจากภายใน วิถีชีวิตของอาจารย์ป๋วยเป็นวิถีชีวิตที่สมถะ เรียบง่าย สะสมความรู้ ความดี แต่ไม่สะสมทรัพย์สมบัติ  แม้จะเคยมีผู้มีอำนาจเสนอจะปลูกบ้านหลังใหญ่ให้ท่าน ท่านเลือกที่จะอยู่บ้านหลังเล็ก ผมคิดว่าท่านเป็นตัวอย่างของการสร้างความสุขจากภายใน โดยไม่ติดอยู่กับวัตถุนิยม หรือลาภ ยศ สรรเสริญ การสร้างความสุขจากภายในนี้ เป็นสิ่งที่สังคมไทยยุคปัจจุบันขาดมาก  ถ้าคนไทยเห็นความสำคัญของความสุขจากภายในเพิ่มขึ้นแล้ว จะทำให้จิตใจมั่นคง ยึดถือความถูกต้อง ไม่ยึดติดกับความสุขที่มาจากวัตถุ ลาภ ยศ สรรเสริญภายนอก ทำให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันในใจต่อสู้กับโลกปัจจุบันที่มีสิ่งเร้าจากภายนอกมากขึ้น ส่งผลให้สังคมไทยจะสามารถก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันได้ไม่ยาก เรื่องวิถีชีวิตที่เรียบง่าย สะท้อนถึงธรรมชาติที่แท้จริงแห่งชีวิตนั้น อาจารย์ป๋วยเคยเขียนไว้ในตอนหนึ่งว่า

“เมื่อตายแล้ว ยังมีทรัพย์สมบัติเหลืออยู่ เก็บไว้ให้เมียผมพอใช้ในชีวิตของเธอ ถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็เก็บไว้เลี้ยงไว้ให้โต แต่ลูกโตแล้วไม่ให้ นอกนั้นรัฐบาลควรเก็บไปหมด จะได้ใช้ประโยชน์ในการบำรุงชีวิตของคนอื่นๆ บ้าง ตายแล้ว เผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและอย่าทำพิธีรีตองในงานศพให้วุ่นวายไป นี่แหละคือความหมายแห่งชีวิต นี่แหละคือการพัฒนาที่จะควรให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของทุกคน”

ประเด็นที่สอง ในมุมมองของคนไทยรุ่นหลัง คือการที่คนไทยต้องคำนึงถึงสังคมให้มากขึ้น ในยุคปัจจุบันคนไทยมีความสนใจในสังคมรอบตัวน้อยลง โดยเฉพาะคนไทยรุ่นใหม่ หรือคนใน Generation Me ที่คำนึงถึงตัวเองหรือโทรศัพท์มือถือของตัวเองเป็นสำคัญ

ในประเด็นนี้ ผมเห็นว่า อาจารย์ป๋วยเป็นต้นแบบของการสร้างคุณค่าให้ชีวิตจากการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม และการทำงานด้วยจิตอาสาตั้งแต่สมัยที่ท่านเข้าร่วมเป็นเสรีไทย และต้องทำงานเสี่ยงชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เรื่องจิตอาสานี้เป็นความรับผิดชอบของพวกเราทุกคน ที่ต้องช่วยกันปลูกฝังค่านิยมจิตอาสาให้กับคนรุ่นใหม่ในทุกสถาบัน ตั้งแต่สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันทางสังคม จนถึงสถาบันที่ทำงาน โดยต้องร่วมกันส่งเสริมให้คนไทยรุ่นใหม่เห็นประโยชน์ของความยั่งยืนที่เกิดขึ้นจากการอยู่ร่วมกัน มองเห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างพฤติกรรมของตนเองกับสังคม ไม่ใช่แข่งขันกันหรือมุ่งหาเฉพาะประโยชน์ส่วนตนในระยะสั้นเท่านั้น ดังคำกล่าวของท่านครั้งหนึ่งว่า

“บุคคลที่มีความสามารถในกิจการค้า หรือทำงานใดก็ตาม ทำให้มีรายได้ส่วนตัวมากมาย  …ถ้าไม่ได้ทำให้ทรัพย์นั้นเกิดผลประโยชน์ต่อส่วนรวมแล้ว ถือว่าไม่ถูกหลักธรรมะทางเศรษฐกิจ …การที่บุคคลนำเงินนั้นมาลงทุนทำงานให้เกิดผลประโยชนต่อส่วนรวมได้ปฏิบัติตามถูกตามหลักธรรมะแล้ว เพราะได้ช่วยส่งเสริมให้ประเทศมีเศรษฐกิจดีขึ้น โดยบุคคลผู้นั้นไม่ได้รับประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว บุคคลอื่นๆ ก็ได้รับประโยชน์จากเงินนั้นด้วย…”

นอกจากจะต้องคำนึงถึงสังคมและความเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับสังคมแล้ว  อาจารย์ป๋วยเน้นเรื่องคุณธรรม โดยเฉพาะคุณธรรมความดีที่เป็นสากล คือ การไม่เบียดเบียนประทุษร้ายต่อกัน ความซื่อสัตย์สุจริต และการบำเพ็ญประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยวิถีชีวิตของท่านได้แสดงให้เห็นว่า “ธรรมะ” ได้หยั่งรากลึกในจิตวิญญาณและตัวตนของท่าน และแปรออกมาเป็นพฤติกรรมโดยรวม เป็นธรรมแบบสากล โดยมิได้มุ่งหวังผลตอบแทนใดๆ แก่ตนเอง

การใช้ชีวิตที่มีคุณธรรมนั้น สามารถนำมาประยุกต์ในการดำเนินชีวิตทางธุรกิจด้วย ตัวอย่างหนึ่งที่ท่านอาจารย์ป๋วยพูดถึงบ่อยในช่วงที่ท่านเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คือ บทบาทของธนาคารพาณิชย์ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม โดยท่านเน้นย้ำว่าธนาคารพาณิชย์ต้องมีธรรมาภิบาลที่สูงกว่าองค์กรอื่นๆ เพราะใช้เงินฝากและเงินทุนของประชาชนมาทำธุรกิจดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า

“นายธนาคารมีกิจรับผิดชอบ       ยังระบบเงินเสถียรเพียรเฉลย

กับช่วยรัฐพัฒนาอย่าละเลย         ทั้งช่วยเชยทำกำไรให้ธนาคาร

ปฏิบัติเคร่งครัดเกรงกฎหมาย     ไม่หนีหน่ายสำเร็จทั้งสามสถาน

ใครแพลงพลิกริกเร้นไม่เป็นการ   ควรวางสารขอลาออกบอกตรงตรง”

แม้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยและธุรกิจการเงินในวันนี้ได้มีพัฒนาการมาไกลมาก มีความเข้มแข็งและมาตรฐานการกำกับดูแลที่สูงขึ้นตามมาตรฐานสากล เรื่องคุณธรรมในการทำธุรกิจการเงินยังเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง และยังสามารถพัฒนาได้อีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาความเป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการทางการเงิน การยึดถือสปิริตของหลักคุณธรรมและธรรมาภิบาลที่สูงกว่าเพียงการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์หรือกฎหมายตลอดไป จนถึงการคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจ และการกำกับดูแลของคณะกรรมการธนาคารที่พึงส่งเสริมให้การปฏิบัติตามหลักคุณธรรมเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่สำคัญ

คุณธรรมที่อาจารย์ป๋วยพูดถึงสำหรับธนาคารพาณิชย์นี้ ยังสามารถใช้ได้กับแนวคิดการทำธุรกิจสมัยใหม่ที่ต้องเน้นธรรมาภิบาลและความยั่งยืน การที่ธุรกิจหยุดเอาเปรียบผู้บริโภคและสังคมนั้น อาจจะไม่พอ เพราะธุรกิจพึงมีหน้าที่ที่ต้องช่วยยกระดับคุณภาพของสังคมด้วย เป็นที่น่ายินดียิ่งที่สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้นำแนวคิดของอาจารย์ป๋วยมาตั้งเป็นรางวัลธรรมาภิบาลสำหรับธุรกิจที่มีธรรมาภิบาล ประกอบธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมากับผู้ที่มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เพื่อช่วยกันยกระดับคุณธรรม จริยธรรม ของการประกอบธุรกิจ และยกระดับคุณภาพของสังคมไทย ตามแบบอย่างที่อาจารย์ป๋วยผู้ซึ่งได้รับการยกย่องจากทั้งในและต่างประเทศว่าเป็นบุคคลต้นแบบด้านธรรมาภิบาลได้แสดงไว้

แม้ว่าเวลาจะผ่านมาหลายทศวรรษแล้ว แต่หลักคิดและหลักการใช้ชีวิตของอาจารย์ป๋วยยังเป็นหลักที่สำคัญของการบริหารจัดการนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน เป็นหลักที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันจากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น และสร้างภูมิคุ้มกันจากสิ่งต่างๆ รอบตัว ที่ทำให้ชีวิตของเราทุกข์มากขึ้น และต้องแข่งขันกันมากขึ้นจนลืมนึกถึงคนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวในสังคม

มองไปข้างหน้า แม้สังคมไทยอาจจะหาปูชนียบุคคลที่มีมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรม ความสามารถ และความมุ่งมั่นที่จะทำให้เศรษฐกิจและสังคมไทยดีขึ้นแบบอาจารย์ป๋วยได้ยากขึ้น แต่ผมเชื่อมั่นว่า ถ้าคนไทยรุ่นหลังได้มีโอกาสเรียนรู้และนำเอาหลักคิด หลักการใช้ชีวิตของอาจารย์ป๋วยมาถือปฏิบัติแล้ว เราจะเกิดแรงบันดาลใจ และเห็นแนวทางที่จะช่วยกันทำให้สังคมไทยก้าวไปสู่สังคมอันพึงปรารถนาได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน