ThaiPublica > คนในข่าว > การเดินทางของร้านหนังสือ ในวันที่ออนไลน์เป็นใหญ่ ฉบับ “หนุ่ม ร้านหนังสือเดินทาง”

การเดินทางของร้านหนังสือ ในวันที่ออนไลน์เป็นใหญ่ ฉบับ “หนุ่ม ร้านหนังสือเดินทาง”

3 มีนาคม 2016


อำนาจ รัตนมณี หรือหนุ่ม ร้านหนังสือเดินทาง เจ้าของร้านหนังสืออิสระ Passport bookshop (ร้านหนังสือเดินทาง)
อำนาจ รัตนมณี หรือ “หนุ่ม ร้านหนังสือเดินทาง” เจ้าของร้านหนังสืออิสระ Passport bookshop (ร้านหนังสือเดินทาง)

หากใครผ่านไปย่านถนนพระสุเมรุ หนึ่งในแหล่งบันเทิงชื่อดังยามค่ำของเกาะรัตนโกสินทร์ ท่ามกลางร้านกินดื่มมีสไตล์ จะได้พบกับร้านหนังสืออิสระเล็กๆ ร้านหนึ่งที่มีจักรยานจอดอยู่ข้างหน้า นี่คือ “ร้านหนังสือเดินทาง” หรือ Passport Bookshop อดีตร้านหนังสือชื่อดังย่านถนนพระอาทิตย์ ที่ย้ายมาเปิดที่นี่เมื่อหลายปีก่อน

ถึงวันนี้ร้านหนังสือเดินทางมีอายุ 15 ปีแล้ว เป็นการเดินทางยาวนานที่ อำนาจ รัตนมณี หรือ “หนุ่ม ร้านหนังสือเดินทาง” ต้องฟันผ่ามรสุมหลายลูกที่พัดผ่านเข้ามา กว่าจะประคองร้านหนังสือเล็กๆ นี้ ให้เดินมาถึงจุดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อำนาจพิสูจน์ให้เห็นว่า ร้านหนังสืออิสระนั้นสามารถยืนอยู่ได้ด้วยคาแรกเตอร์ของร้านที่ชัดเจน จนมีแฟนของร้านจำนวนหนึ่ง ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่จะคอยแวะเวียนมาตามหาหนังสือที่อยากจะอ่าน แม้การเดินทางจะไม่สะดวกสบายเหมือนทำเลเดิมซึ่งอยู่ใกล้ย่านท่องเที่ยว

ขณะที่สื่อมวลชนรวมถึงผู้เกี่ยวข้องในแวดวงหนังสือก็จะคอยแวะเวียนมาสอบถามถึงเคล็ดในการทำร้านหนังสือ “ให้อยู่ได้” ในยุคที่อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์กำลังตกต่ำ จากจำนวนคนอ่านหนังสือที่ถูกแย่งชิงไปโดยโลกออนไลน์ แม้เขาจะยอมรับว่าพูดไปหลายครั้งจนเหนื่อย “แต่ผมก็ยังไม่เบื่อที่จะพูด หากการพูดครั้งนี้เป็นแรงบันดาลใจหรือเป็นบทเรียนให้คนอื่นได้นำไปใช้ แม้จะพูดซ้ำซากก็ไม่ว่ากัน เพราะมันมีคุณค่า”

สิ่งที่เขาย้ำตลอดบทสัมภาษณ์ซึ่งกินเวลานานกว่า 2 ชั่วโมงนี้ก็คือ ร้านหนังสือต้องมี “บุคลิก” ที่ชัดเจน ถึงจะอยู่รอดได้

ระหว่างพูดคุย สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้ายังได้ชวนเจ้าของร้านหนังสือเดินทางพูดคุยถึงภาพรวมวงการหนังสือไทย ตั้งแต่เรื่องงานสัปดาห์หนังสือ ราคาหนังสือ รวมไปถึงอนาคตของหนังสือบางประเภท

ไทยพับลิก้า: อะไรคือหัวใจที่ทำให้ร้านหนังสืออิสระอยู่ได้

สำหรับผม ไม่ได้เริ่มจากมิติทางธุรกิจเท่าไร แต่เริ่มจากตัวเอง ผมคิดว่าแรงขับสำคัญของร้านหนังสืออิสระก็คือตัว “คนทำ” ว่ากำลังนิยามสิ่งที่ทำว่าอะไร “คุณมาทำร้านหนังสือด้วยเหตุผลอะไร” เรื่องเงินทุนต้องมีเท่าไร ไปดีลกับสายส่งอย่างไร ฯลฯ มันเป็นรายละเอียดปลีกย่อย ถ้าแรงขับมันขาด ที่เหลือก็จะกลายเป็นเหมือนทำงานประจำปกติ

ผมเคยทำงานประจำมาก่อน จนถึงจุดหนึ่งที่ต้องการจะพิสูจน์ว่าจะเป็นอิสระได้จริงหรือไม่ อิสระในที่นี้ก็หมายถึงว่าได้ทำงานที่เรารัก มีรายได้พอเลี้ยงชีพได้ ซึ่งประโยคที่ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราจะทำได้ไหม” เป็นสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจลงมือทำ ลองพิสูจน์ดูว่าในขณะที่เรามีความฝัน มีความสามารถที่พอจะทำได้ เราจะทำได้ไหม เราไม่ควรปล่อยให้ความฝันนั้นถูกทิ้งไว้ สิ่งเหล่านี้เป็นแรงขับที่ทำให้ผมอยากพิสูจน์ตัวเอง

การตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ในความหมายหนึ่ง มันก็คือการปฏิเสธความมั่นคงแบบหนึ่ง มาเดินทางไปสู่อะไรบางอย่างที่ไม่รู้ว่าจะมั่นคงหรือไม่ แต่เดินพันที่สูงนี้ทำให้รู้สึกว่าต้องพิสูจน์ตัวเอง แรงขับนี้เป็น keyword หลักที่ทำให้อยู่มาได้ถึง 15 ปี

ไทยพับลิก้า: แล้วทำไมมาลงเอยที่การทำร้านหนังสือ

ตอนนั้นอายุ 25 ย่าง 26 ทำงานประจำ มีรุ่นพี่คนหนึ่งบอกว่ามีที่ว่างแถวถนนพระอาทิตย์ สนใจไหม เรามีความคิดตั้งต้นอยู่แล้วว่าจะเปิดร้าน ตอนอายุ 30-35 แต่ขอทำงานประจำเพื่อเก็บเงินสักพักหนึ่ง พอตอนนั้นโอกาสโผล่เข้ามา มันน่าสนใจ แทนที่จะต้องรอไปอีกหลายปี ทำไมไม่ลองตั้งแต่ตอนนั้น ถ้าทำก่อน ไปถึงก่อน ได้เจอก่อน ก็น่าจะดีกว่า อย่างน้อยก็ยังมีเวลา u-turn อีกหลายรอบ

เลยกลับมาสำรวจตัวเองว่า สถานที่พอมี ทุนทรัพย์ก็พอมี แล้วเราจะทำอะไร ก็พบว่าสิ่งหนึ่งที่เราชอบและอยู่กับมันตลอดคือหนังสือ เราอ่านหนังสือมาตลอด ซึ่งแนวที่เราชอบอ่านก็คือการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นแค่สารคดี จะเป็นเรื่องสั้นหรือวรรณกรรมประเภทอื่นก็ได้ที่กระตุ้นให้คนอยากเดินทาง เลยคิดที่จะทำร้านหนังสือที่เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวขึ้นมา

เวลานั้น ยังไม่เคยมีใครพยายามจะทำร้านหนังสือที่มีคาแรกเตอร์ชัดเจนไปด้านใดด้านหนึ่ง บวกกับสถานที่คือแถวถนนพระอาทิตย์ เลยคิดว่ามันไปด้วยกันได้ คุยกันไปกันมา ก็ตกลงกับคำว่า “ร้านหนังสือเดินทาง” (Passport Bookshop) ขายหนังสือที่กระตุ้นให้คุณอยากท่องเที่ยว ซึ่งมันกินความไปตั้งแต่ไกด์บุ๊ก สารคดี เรื่องสั้น ไปจนถึงวรรณกรรม และเมื่อคุณเดินทางเสร็จ อยากรู้ว่าทำไมคนในประเทศนั้นๆ คิดอย่างนั้น ก็มีหนังสือในหมวดสังคมศาสตร์ ปรัชญา เป็นการเดินทางในโลกของตัวหนังสือ เหมือนกับว่า ถ้าคุณเดินทาง แล้วคุณมาหาเรา ก็จะได้อะไรบางอย่างที่ทำให้การเดินทางของคุณมันสมบูรณ์มากขึ้น

ไทยพับลิก้า: เดินทางมา 15 ปี มีช่วงท้อ ช่วงปรับตัวไหม

15 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยท้อเลยนะ ทุกเช้ายังอยากมาที่ร้านอยู่ แต่มันมีช่วงเวลาที่เหนื่อยมากคือ 4 ปีแรกตอนตั้งร้านที่ถนนพระอาทิตย์ ตอนนั้นหลายคนก็แสดงความห่วงใยมาว่าไม่น่ารอด เพราะ 1. สังคมการอ่านของไทยยังไม่เข้มแข็ง และ 2. ค่าเช่าที่ขณะนั้นเป็นราคาที่ถนนพระอาทิตย์กำลังอยู่ในช่วงพีค มันก็เลยนำมาสู่เงื่อนไขที่ต้องเปิดร้าน 7 วัน/สัปดาห์ การปิดร้านแม้แต่วันเดียวเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนักมาก คำถามเดิมก็วนเวียนกลับมาว่า “เราจะทำร้านไปเพื่ออะไร?” คุณได้ในสิ่งที่คุณอยากมี แต่คุณภาพชีวิตที่คุณมีจริงๆ กลับตรงข้ามกับสิ่งที่อยากได้ตั้งแต่ต้น เวลานั้นก็มีหลายเรื่องเกิดขึ้น มีคำถามวนเวียนว่าจะเลิกดีไหม จะสู้ต่อไหม

ปีแรก ผมกับแฟนทำงานประจำทั้งคู่ พอปีที่ 2 ลาออกจากงานประจำมาดูร้าน ต้องนอนบนโต๊ะกาแฟที่ชั้นบนของร้านซึ่งเป็นห้องเก็บของ ทำอย่างนั้นมา 4 ปี จนวันหนึ่งแฟนไม่สบายจนต้องไปนอนโรงพยาบาล เขาก็ถามมาประมาณว่า ถ้าผมได้ทำในสิ่งที่รัก แต่ว่าต้องเหนื่อยขนาดนี้ จะคุ้มกันไหม เหมือนเขาอยากให้เราหยุด แต่ผมก็บอกว่าขอต่ออีกนิด เพราเชื่อว่ามันจะอยู่ได้ สุดท้ายก็พบว่า มีเฉพาะแค่ 4 เดือนแรกที่เปิดร้าน ที่รายได้เข้าเนื้อ หลังจากนั้นก็เป็นบวกมาตลอด จนสามารถเก็บเงินแล้วมาเซ้งร้านในที่ตั้งปัจจุบันได้ในปีที่ 5

ที่ต้องย้ายร้านเพราะคิดว่าปัจจัยที่บีบให้ชีวิตเราต้องเป็นแบบนั้นคือค่าเช่า มันไม่ใช่โจทย์ที่ทำให้เราอยู่ได้อย่างมีชีวิตสมบูรณ์แบบที่เราอยากมี แน่นอนว่าพอย้ายมาอยู่ที่ถนนพระสุเมรุ ยอดขายก็ตกลง เพราะทำเลมันสู้ที่ถนนพระอาทิตย์ไม่ได้ แต่คีย์เวิร์ดมันอยู่ที่คำว่า “ชีวิตที่ดีกว่า” แล้วต้องขอบคุณทำเลที่ถนนพระอาทิตย์ที่ช่วยสร้างฐานคนอ่านไว้ไม่น้อย ถ้าไม่ได้ไปอยู่ตรงนั้นมาก่อนแล้วมาโผล่ตรงนี้เลย คงจะเหนื่อยเหมือนกัน

การทำร้านหนังสือให้อยู่รอด บางทีมันไม่สามารถตอบโจทย์ทุกคนได้ แต่จะทำอย่างไรในการสร้างนักอ่านกลุ่มหนึ่งขึ้นมา ที่ไม่จำเป็นต้องมากมาย แค่เพียงพอให้ร้านอยู่รอด ต้องหาคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นนักอ่านของคุณ

ไทยพับลิก้า: คิดว่าอะไรที่ทำให้มีคนอ่านตามมา ทั้งที่การเดินทางมาก็ลำบากกว่าเดิม

มีช่วงหนึ่งที่หนีไปใช้ชีวิตที่ประเทศนิวซีแลนด์แล้วยกร้านให้คนอื่นทำประมาณ 1 ปี ผมได้ไปคุยกับเจ้าของร้านหนังสือหลายๆ ร้านที่ประเทศนิวซีแลนด์ก็พบปัญหาที่ไม่ค่อยต่างจากประเทศไทย สิ่งที่ต่างคือปรากฏว่าร้านหนังสือที่มีปัญหาจนแทบจะไปไม่รอดคือร้านหนังสือใหญ่ๆ ที่ใช้บุคลากรมากแล้วต้องแบกขนาดของร้าน โดยเฉพาะค่าเช่าพื้นที่ ร้านเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากออนไลน์ค่อนข้างมาก ร้านที่รอดกลับเป็นร้านหนังสือเล็กๆ ที่มีบุคลิกชัดเจน ซึ่งจริงๆ ผมก็เชื่ออย่างนี้อยู่แล้ว แต่ไปเพื่อยืนยันความเชื่อตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง ร้านหนังสือของนิวซีแลนด์มีความหลากหลายมาก บางร้านขายแต่หนังสือเฉพาะทาง

แน่นอนว่า การที่เล่นตามกระแสมันเหมือนจะดี แต่ก็มีปัญหา ถ้าเราเล็ก เราต้องสร้างจุดยืนให้ตัวเอง “เล็กแต่ลึก” ทำอย่างไรให้พอคนนึกถึงเรา แล้วรู้ทันทีว่าเราเป็นใคร

ไทยพับลิก้า: คือต้องมี brand ประมาณหนึ่ง

มันคือคาแรกเตอร์มากกว่า มันกินความตั้งแต่การตั้งชื่อร้าน บรรยากาศของร้าน หนังสือที่ร้านมี ทั้งหมดจะทำให้เวลาคนหลับตานึกถึงคุณ รู้ว่าเมื่อไปหาคุณแล้วจะได้อะไร ร้านของผมไม่มีหนังสือจากสำนักพิมพ์ Salmon Books หรือสำนักพิมพ์ a book (2 สำนักพิมพ์ซึ่งพิมพ์หนังสือที่ได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่-ไทยพับลิก้า) แต่อยู่มาได้อย่างไร แสดงว่าเราต้องมีบุคลิกอีกแบบ หนังสือบางเล่มที่ร้านอื่นหาไม่ได้แล้วกลับมาหาได้ที่ร้านนี้

บางที การที่ร้านใหญ่ก็ไม่ได้ช่วยเท่าไร มันใหญ่จนหาอะไรไม่เจอ แต่ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเรื่องของการคุมธีมร้าน ร้านใหญ่ที่ดี ผมก็เชื่อว่ามี

ไทยพับลิก้า: พอใจกับอาณาจักรเล็กๆ แบบนี้

ตรงนี้มันพูดในเชิงธุรกิจไง ในความหมายของคนอื่น ผ่านมา 15 ปีแล้วยังเป็นห้องแถวห้องเดียวอยู่เลย อาจจะล้มเหลวก็ได้ ซึ่งในมุมเขาอาจจะพูด แต่ในมุมของผม ก็คิดว่าถูกเหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนตอบโจทย์อะไรในใจเขา

ไทยพับลิก้า: ที่บอกว่า ในร้านไม่มีหนังสือของสำนักพิมพ์อย่าง Salmon Books หรือ a book ทั้งๆ ที่ระยะหลังเขาก็หันมาทำหนังสือท่องเที่ยวมากขึ้น เป็นเพราะอะไร

ส่วนหนึ่งมันเกี่ยวกับข้องกับระบบจัดจำหน่ายหนังสือโดยรวมด้วย พอมันผ่าน “สายส่ง” บางสายส่ง ในอดีต เขาให้ความสำคัญกับร้านหนังสือขนาดเล็กน้อยมาก เขาเชื่อว่าการไปวางขายตามร้านหนังสือขนาดใหญ่ในห้างสรรพสินค้า ตามมุมเมืองต่างๆ คือโอกาสในการขายมากที่สุด เขาเฃื่อว่าถ้ากระจายเยอะๆ โอกาสขายก็เยอะขึ้น ไม่ได้มองว่าถ้าวางให้ตรงจุด ให้ตรงกลุ่มคนอ่าน โอกาสขายจะอยู่ตรงนั้นหรือเปล่า มันก็เลยทำให้สำนักพิมพ์หรือสายส่งบางแห่งกับร้านของผมไม่ค่อยได้ดีลกัน แต่ตอนนี้สถานการณ์มันก็ดีขึ้น เหมือนเขาจะรู้ตัว อาจเพราะวงการหนังสือโดยรวมมันบีบให้เขาต้องปรับตัว ก็เลยหันมาจับมือกับร้านหนังสือขนาดเล็กมากขึ้น

สำหรับหนังสือของสำนักพิมพ์ Salmon Book กับ a book ผมคิดว่ากลุ่มคนอ่านจะต่างจากของร้านหนังสือเดินทางที่จะโตกว่านิดหน่อย เป็นเรื่องของวัย ไม่ใช่รสนิยม ไม่ใช่บอกว่าเขาทำหนังสือไม่ดีนะ เพียงแต่สิ่งที่เขาเสพมีความแตกต่างกัน

ไทยพับลิก้า: บุคลิกของคนที่มาร้านหนังสือเดินทางเป็นอย่างไร

มีทุกช่วงวัย ตั้งแต่นักเรียนนักศึกษาไปจนถึงคนทำงาน บางคนมาที่ร้านตั้งแต่ยังเรียนอยู่จนปัจจุบันมีลูกแล้ว สมัยก่อนผมไม่เคยให้ความสำคัญกับหนังสือเด็กเลย แต่ระยะหลังก็ต้องหามาเพิ่มขึ้น ก็เป็นเรื่องดีที่ทำให้มาที่ร้านได้ทั้งครอบครัว ถือเป็นการต่อยอดคนอ่านไปอีกรุ่นหนึ่ง แล้วหนังสือเด็กไม่ใช่ไม่ดี มันมีหนังสือเดินทางเกี่ยวกับเด็กมากมาย พอมานั่งอ่านก็สนุกดี ทำให้เด็กอยู่กับหนังสือได้ ดึงเขาออกมาจากโลกออนไลน์ คือการที่บางคนบอกว่าทำไมลูกไม่อ่านหนังสือ บางทีก็ต้องโทษพ่อแม่ด้วยว่า คุณไม่สร้างโอกาสให้เขาได้เจอหนังสือที่น่าสนใจเอง

ด้านหน้าร้านหนังสืออิสระ Passport Bookshop (ร้านหนังสือเดินทาง) ที่มาภาพ: https://goo.gl/3Yw0VI
ด้านหน้าร้านหนังสืออิสระ Passport Bookshop (ร้านหนังสือเดินทาง) ที่มาภาพ: https://goo.gl/3Yw0VI

ไทยพับลิก้า: สถานการณ์ขายหนังสือช่วงนี้เป็นอย่างไร

ในแง่คุณภาพของหนังสือ สิ่งหนึ่งที่สังเกตคือหนังสือที่เป็นเรื่องแต่ง พวก fiction ขายได้น้อยลง พวกที่ขายดีกลับเป็น non-fiction และงานวิชาการที่ไม่ใช่วิชาการมากๆ แต่เขียนด้วยภาษาที่คนทั่วไปสื่อสารกัน นี่เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ที่ใครบอกว่าหนังสือยากๆ ทำแล้วขายยาก มันไม่จริงเสมอไป ขึ้นอยู่กับว่าคุณทำออกมาแบบไหน ดีจริงหรือไม่ และไปวางขายตรงจุดหรือเปล่า

ไทยพับลิก้า: มองว่าการขายให้ตรงจุดมีส่วนช่วยในการขายหนังสือด้วย

มันกลับไปสู่ปัจจัยตั้งต้นของวงการหนังสือ คือที่คิดกันว่าถ้ากระจายให้เยอะแล้วจะเข้าถึงลูกค้าได้เยอะ มันไม่จริงเสมอไป บางทีเวลามีงานสัปดาห์หนังสือ ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับงานประเภทนี้ เพราะคิดว่าหนังสือก็ควรจะไปหาซื้อที่ร้านหนังสือ แต่ก็ต้องเข้าใจและยอมรับ เพราะระบบหนังสือเมืองไทยเป็นแบบนี้

สิ่งที่ผมใช้ประโยชน์จากงานหนังสือก็คือการไปหาหนังสือที่สำนักพิมพ์ต่างๆ ขายไมได้ แล้วต้องมาลดราคา เพื่อซื้อมาขายต่อ

ไทยพับลิก้า: ในเมืองไทยยังมีร้านหนังสือที่คิดว่ามีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนเหมือนร้านหนังสือเดินทางอีกไหม

ตอบยาก ในมุมผมคิดว่าร้านหนังสืออิสระในเมืองไทยมีเยอะจริง คิดว่าเป็นเทรนด์ที่ควรสนับสนุน แต่ถามว่าแต่ละร้านมีความแตกต่างกันไหม ส่วนตัวคิดว่าถ้ามาอยู่ติดกันคงเจ๊ง เพราะมันคล้ายๆ กัน เพียงแต่ที่ยังอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้เพราะทุกคนอยู่ในพื้นที่ของใครของมัน

ไทยพับลิก้า: เพราะถ้าแต่ละร้านคาแรกเตอร์ไม่ชัด ก็จะขายหนังสือที่คล้ายๆ กัน

อย่างน้อยๆ เจ้าของร้านต้องตอบให้ได้ว่า ทำไมตั้งชื่อร้านแบบนั้น มันสะท้อนอะไร คือชื่อร้านเป็นหน้าตาของร้าน เป็น branding มันควรจะกุมคอนเซปต์ในสิ่งที่คุณเป็น และคุณควรจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกหนังสือมาขายด้วย ถ้าคิดไม่ออก ตาย ทำออกมาไม่ต่างจากที่อื่น งั้นก็ไปซื้อหนังสือจากร้านหนังสือขนาดใหญ่ก็ได้ เขามีหนังสือมากกว่าคุณตั้งเยอะ

การทำร้านหนังสือให้อยู่รอด บางทีมันไม่สามารถตอบโจทย์ทุกคนได้ แต่จะทำอย่างไรในการสร้างนักอ่านกลุ่มหนึ่งขึ้นมา ที่ไม่จำเป็นต้องมากมาย แค่เพียงพอให้ร้านอยู่รอด ต้องหาคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นนักอ่านของคุณ

ร้านหนังสืออิสระในเมืองไทยยังไม่ค่อยชัดในมุมนี้ ถามว่าจำเป็นต้องชัดไหม คิดว่าเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แต่ส่วนตัวมองว่าจำเป็น ยกตัวอย่างที่ร้านหนังสือนิยมขายกาแฟไปด้วย มันเป็นออปชันเสริมเท่านั้น ไม่ใช่ว่าถ้ามีคู่กันแล้วจะผ่าน ต้องเอาปัจจัยอื่นมาประกอบด้วย

ไทยพับลิก้า: ร้านหนังสือเดินทางมีกาแฟขาย

เรามีมาตั้งแต่เปิดร้านเลย เพราะตอนนั้นสมมติว่าถ้าเป็นนักอ่านคนหนึ่ง เดินเข้าไปในร้านหนังสือ บรรยากาศแบบไหนที่อยากได้ ก็เอาตรงนั้นเป็นจุดตั้งต้น ผมไม่ชอบบรรยากาศที่หรูหรามากจนขยับตัวไมได้ ผมไม่ชอบร้านที่หยิบหนังสือมาอ่านไม่ได้ ผมอยากจะสร้างร้านหนังสือที่ตัวเองชอบ เพราะเราอยู่กับมันนานที่สุดไง (ยิ้ม) และถ้าเรามีความสุขก็เชื่อว่าคนอ่านน่าจะแชร์ตรงนั้นกับมันได้ ผมไม่อยากให้คนมาแล้วกลับเลย ถ้าเขาอยากนั่งอ่านเราควรจะมีออปชันเสริมให้กับเขา แต่ผมยืนยันว่า ร้านหนังสือเดินทางเป็นร้านหนังสือที่มีกาแฟนะ ไม่ใช่ร้านกาแฟที่มีหนังสือ บางร้านมีหนังสืออยู่นิดเดียว กลายเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว และผมไม่เห็นด้วย

ไทยพับลิก้า: หลังๆ ร้านหนังสืออิสระหลายแห่ง พยายามหาวิธีให้อยู่รอดได้ บางร้านไปขายผ่านออนไลน์ บางร้านเลือกแต่หนังสือขายดีเข้ามาขาย คุณหนุ่มมองวิธีการเช่นนี้ว่าอย่างไร

ตอนที่ตัดสินใจทำร้าน ผมไม่รู้ระบบวงการหนังสือเลย แต่เราไม่เรียกร้อง ฟูมฟาย เขาจัดงานสัปดาห์หนังสือ มี เราก็ไป ประเด็นคือเมื่อเรากระโดดลงมาเล่นก็ต้องยอมรับกติกาที่มันเป็นอยู่ตั้งแต่ต้น หาวิธีให้อยู่ได้อย่างไรในสภาพแวดล้อมนี้ หาจุดยืน-จุดแข็งของตัวเอง ซึ่งการตอบตัวเองในเชิงคาแรกเตอร์มันคุมทุกอย่างได้หมด และกลายเป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นไปเลย

ถามว่าระบบหนังสือที่เป็นอยู่ตอนนี้มันเวิร์กไหม ส่วนตัวเชื่อว่ามันไม่เวิร์ก แต่ก็อยู่ได้ และหาวิธีสอดแทรกไปตามวิธีของเรา

ที่คิดกันว่าถ้ากระจายให้เยอะแล้วจะเข้าถึงลูกค้าได้เยอะ มันไม่จริงเสมอไป บางทีเวลามีงานสัปดาห์หนังสือ ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับงานประเภทนี้ เพราะคิดว่าหนังสือก็ควรจะไปหาซื้อที่ร้านหนังสือ แต่ก็ต้องเข้าใจและยอมรับ เพราะระบบหนังสือเมืองไทยเป็นแบบนี้

ไทยพับลิก้า: ระบบไหนอีกที่คิดว่าไม่เวิร์ก

การที่สำนักพิมพ์ต่างๆ จะพิมพ์หนังสือออกมา 2 ครั้ง/ปี เฉพาะสำหรับงานสัปดาห์หนังสือ แล้วก็ไปลดราคาขายกันมาเรียบร้อย พอจบงานสัปดาห์หนังสือก็เอามาขายในระบบปกติตามหน้าร้าน ซึ่งเอาเข้าจริงมันก็ไม่ค่อยดี เหมือนสินค้าที่คุณไป dump ราคามาแล้ว ตลาดจะอิ่มตัวแล้ว แล้วค่อยมาขายในราคาปกติ

งานสัปดาห์หนังสือที่จัดกัน 10 กว่าวัน แม้จะมีคนได้กำไรเยอะมาก แต่มันเป็นการตัด เป็นการฆ่ากันเอง สุดท้าย ถ้าร้านหนังสืออยู่ไม่รอด หนังสือเหล่านี้ก็ต้องกลับไปหาคุณ แล้วคุณก็ต้องเอากลับมาขายลดราคา 50% ผมสนับสนุนอย่างที่มีคนเสนอว่า หนังสือใหม่ไม่ควรจะลดราคา เพราะมันเหมือนกับไปตัดช่องทาง พอทำอย่างนั้น หน้าร้านมันก็ขายได้น้อย พอหน้าร้านขายได้น้อย หนังสือของคุณก็มีอายุสั้นลงไปอีก

แต่ผมกระทบจริงๆ ก็จะตกไปอยู่ที่นักอ่าน เพราะเขาไม่ลดราคาให้ขาดทุนหรอก ดังนั้น ราคาหน้าปกจะตั้งมาเผื่อลดราคาไว้แล้ว ถ้าเขาไม่ตั้งราคาไว้สำหรับลดราคาแตกต่าง ราคาหนังสือก็น่าจะต่ำลงมาอีก เรื่องแบบนี้มันเลยเป็นความลักลั่นในวงการหนังสือของไทย ผมว่ามันเพี้ยน

ไทยพับลิก้า: แต่สำนักพิมพ์เขาอาจจะมองว่า ไปขายงานสัปดาห์หนังสือแค่ 10 กว่าวันแต่ได้เต็มๆ ต่างกับไปวางขายหน้าร้าน ใช้เวลานานกว่าจะได้กำไร

มันอยู่ที่ว่าคุณจะเอาช้าหรือเอาเร็ว ถ้าเอาเร็ว การขายตามงานสัปดาห์หนังสือมันก็เวิร์กสำหรับคุณ คุณได้เยอะ แต่ว่าได้ในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ถ้ามาขายตามหน้าร้าน แม้จะต้องหักค่าใช้จ่ายให้กับร้านค้า ให้กับสายส่ง แต่คุณก็ยังขายได้ทั้งปี ในระยะยาวน่าจะดีกว่า

ทีนี้ ถ้าคุณหันมาให้ความสำคัญกับร้านมากขึ้น ก็จะเกิดวัฒนธรรมอีกแบบในการหาหนังสือใหม่ คือเราไม่จำเป็นต้องไปรอหนังสือใหม่ในงานสัปดาห์หนังสือที่จัดแค่ 2 ครั้ง/ปีแล้วนะ พอคนอ่านหาตามร้านหนังสือได้ ทุกคนก็จะได้ไม่ต้องหน้าดำคร่ำเคร่งกันแค่ 2 ครั้ง/ปี โรงพิมพ์ก็จะไม่โหลดมาก อยากออกเมื่อไรก็ออก คุณภาพของงานก็จะดีกว่าเดิมด้วย ผมมองว่ามันจะนำมาสู่อะไรหลายๆ อย่างที่ดีขึ้น ร้านหนังสือก็อาจจะขยายได้มากขึ้น แล้วถ้าหนังสือมันดีจริง ไม่ต้องเซลก็ยังขายได้หลายปี เวลาผ่านไปยอดมันยิ่งค่อยลดราคาดึงดูดใจนักอ่าน

ไทยพับลิก้า: เคยได้ยินหลายคนบ่นว่าระบบสายส่งหนังสือเมืองไทยมีปัญหา เท็จจริงเป็นอย่างไร

ปัญหาสายส่งที่เจอ คือเขาไม่ค่อยให้ความสำคัญกับร้านเล็กๆ มากกว่า แต่ผมจะเจอปัญหานี้แค่ช่วง 5 ปีแรกที่มาทำร้าน เขาจะบอกว่า ถ้าจะเอาหนังสือจากสายส่งนี้ ต้องวาง bank guarantee เท่านี้ แล้วเอาหนังสือของเราไปทั้งหมด คุณไม่มีสิทธิเลือก หรืออาจให้เลือก แต่ให้เลือกเฉพาะหนังสือที่เขาอยากให้ ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะร้านเรามีพื้นที่แค่นี้ ถ้าเอาของคุณมา ตูม ก็เป็นร้านของคุณพอดี เราต้องการจัดสรรร้านของเราเอง

สายส่งเจ้าใหญ่สุดเวลานี้คือ Se-ed และเคล็ดไทย ซึ่งเคล็ดไทยมีหนังสือในหมวดที่เหมาะกัร้านหนังสือเดินทางมากที่สุด และเราก็ทำยอดให้เขาได้เยอะที่สุด ส่วนตัวรู้สึกว่าเคล็ดไทยก็ดูเข้าอกเข้าใจ และ blend ให้เข้ากับร้านเล็กๆ ได้ดี มีเงื่อนไขที่ทำงานร่วมกันได้ดี เลยไปกับสำนักพิมพ์ขนาดเล็กได้ดี คือคุณจะพิมพ์สัก 1,000 เล่ม เขาก็รับไปจำหน่ายให้ได้ ไม่ต้องยอดใหญ่มาก

มีช่วงหนึ่งที่หนีไปใช้ชีวิตที่ประเทศนิวซีแลนด์ 1 ปี ผมได้ไปคุยกับเจ้าของร้านหนังสือหลายๆ ร้านที่นั่นก็พบปัญหาที่ไม่ค่อยต่างจากประเทศไทย สิ่งที่ต่างคือปรากฏว่าร้านหนังสือที่มีปัญหาจนแทบจะไปไม่รอดคือร้านหนังสือใหญ่ๆ ที่ใช้บุคลากรมากแล้วต้องแบกขนาดของร้าน โดยเฉพาะค่าเช่าพื้นที่ ร้านเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากออนไลน์ค่อนข้างมาก …ร้านที่รอดกลับเป็นร้านหนังสือเล็กๆ ที่มีบุคลิกชัดเจน ซึ่งจริงๆ ผมก็เชื่ออย่างนี้อยู่แล้ว แต่ไปเพื่อยืนยันความเชื่อตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง

ไทยพับลิก้า: การที่ร้านหนังสือเดินทางมีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจน เคยมีใครมาติดต่อขอนำคาแรกเตอร์นี้ไปใช้บ้างหรือไม่

เคยมีร้านหนังสือ chain store ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเข้ามาพูดคุย มาถึงก็ถ่ายรูปที่ร้านใหญ่ แล้วก็นัดไปกินข้าว ผู้บริหารของเขาก็เล่าให้ฟังว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ปัญหาหนึ่งคือเขาไม่มีคนที่เข้าใจว่าต้องขายอะไร จึงไม่รู้ว่าจะเลือกหนังสือประเภทไหนเข้าร้าน เขาอยากจะสร้าง book guru นี่คือคำที่เขาใช้นะ แต่ไม่รู้จะใช้วิธีไหน ก็เลยมาขอคำปรึกษากับผมว่าจะทำอย่างไรดี คือเขาก็ไปเรียนรู้เรื่องการสร้างบุคลากรจากร้าน Kinokuniya ที่ทำได้โอเค แต่ไม่รู้ทำไมร้านตัวเองสร้างไม่ได้

ไทยพับลิก้า: ส่วนหนึ่งเพราะร้านหนังสือขนาดใหญ่สร้างใหญ่มักจะเน้นขยายหนังสือให้ถึงคนมากที่สุด ไม่ได้เน้นเฉพาะกลุ่มผู้อ่านที่มีรสนิยมแบบหนึ่ง ใช่หรือไม่

ผมคิดว่าต่อไปธุรกิจร้านหนังสือมันจะต่างคนต่างอยู่ พวกร้านใหญ่ chain store จะอยู่ของเขาได้ แต่ต้องขายสินค้าอีกแบบหนึ่ง ซึ่งหาไม่ได้จากร้านเล็กๆ พวกร้านเล็กก็จะมีสินค้าอีกแบบหนึ่งที่อาจจะเข้าระบบร้านใหญ่ไม่ได้ สุดท้ายมันจะต่างคนต่างมีคาแรกเตอร์ของตัวเอง นักอ่านก็จะเดินได้ว่า ถ้าไปร้าน Se-ed นายอินทร์ B2S จะได้หนังสืออะไร แล้วถ้ามาร้านเล็กๆ จะได้หนังสืออีกอย่าง เพราะค่าใช้จ่ายในการฝากขายกับร้านใหญ่ปัจจุบัน ทำให้สำนักพิมพ์ขนาดเล็กรับสภาพนั้นไม่ได้

ตอนนี้หลายคนเริ่มมาใช้วิธี print on demand อย่างสำนักพิมพ์ภาพพิมพ์ก็เพิ่งซื้อเครื่องนี้มาใช้ ทำให้ไม่ต้องแบกสต็อกไว้มาก เหมือนพิมพ์ด้วยระบบ off-set ที่ต้องพิมพ์ทีละ 3-5 พันเล่ม แต่ print on demand พิมพ์ทีละไม่กี่ร้อยเล่มก็ได้ แล้วก็เปลี่ยนวิธีขาย แทนที่จะไปขายผ่านร้านใหญ่ ก็มาขายผ่านเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก หรือหาร้านหนังสือเล็กๆ ขาย ซึ่งร้านเล็กก็คงได้จากหนังสือพวกนี้ด้วย

ผมไม่ได้บอกว่า ใครดีว่าใคร แต่ระบบมันบีบให้ทุกคนต้องปรับตัว เหมือนอย่างร้านใหญ่ทำไมต้องเอาสินค้า non-book มาขาย เพราะพื้นที่มันเยอะเกินไปใช่ไหม เลยต้องหารายได้จากอย่างอื่นที่ไม่ใช่หนังสือมาประกอบด้วย

ไทยพับลิก้า: จากอดีตสู่อนาคต การเดินทางของร้านหนังสือเดินทางจะเป็นอย่างไรต่อไป

ตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่ถนนพระสุเมรุ ไม่มีเดือนไหนเลยที่ทำยอดขายได้เท่าสมัยยังอยู่ที่ถนนพระอาทิตย์ แต่ต้นทุนมันก็น้อยกว่ามาก คือมันอยู่ได้ในเชิงธุรกิจ ผมสามารถปิดร้านไปเที่ยว 10 วัน 15 วันได้ทันที ถ้าอยากพัก เวลานี้เหมือนเราได้เจอสิ่งที่ต้องการแล้ว ก็ enjoy กับมันไปเรื่อยๆ ถ้ามองย้อนกลับไป ถามว่าได้ติ๊กผ่านกับชีวิตแล้วหรือยัง ก็คิดว่าผ่านแล้ว ถ้าย้อนไป 15 ปีที่แล้ว ถ้าไม่มาทำร้าน ก็จะมีแต่คำถาม แล้วไปคลุ้มคลั่งฟูมฟายกับอะไรไม่รู้ แต่ตอนนี้เราได้ในสิ่งไม่เคยคิดว่าจะได้ เราอยู่รอดได้ในขณะที่คนอื่นบอกว่าไม่น่ารอด ใครบอกว่าทำร้านหนังสืออยู่รอดไม่ได้ ผมคัดค้านนะ

ในอนาคต ผมอยากให้ร้านมีพื้นที่ขายอาหารว่างเล็กๆ น้อยๆ มากกว่านี้ แล้วจะเปิดพื้นที่ชั้นสองให้เป็นพื้นที่อ่านหนังสือเงียบๆ เพราะเสาร์-อาทิตย์ คนจะมากันเยอะ ส่วนคนที่อยากคุยก็มาอยู่ข้างล่าง คือจริงๆ ชั้นสองมันมีลำโพง แต่ลำโพงเสีย แต่ปรากฏว่าคนกลับชอบ มันเหมือนที่ญี่ปุ่นเปิด silent café เพราะคนเราไม่ได้ต้องการเสียงอึกทึกตลอดเวลา ยังต้องการพื้นที่สามารถนั่งอ่านหนังสือหรือคุยกันเงียบๆ เลยคิดว่าจะไม่ซ่อมลำโพงแล้ว ทำให้เป็น silent café ไปเลย ให้คุณมาอ่านหนังสือ ได้ enjoy กับตัวเอง

ไทยพับลิก้า: แม้ต่อไปคนอาจจะไม่อ่านหนังสืออีกแล้ว

ผมว่าออนไลน์จะกระทบกับสื่อสิ่งพิมพ์อะไรที่มันหวือหวาหรือเป็นรายวัน ไม่จำเป็นต้องเสพ content ยาวๆ เช่น นิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ เพราะออนไลน์มันตอบโจทย์ได้มากกว่า มันตอบโต้ได้ ตรงนี้ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ที่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับเวลา มันไม่น่าจะอยู่รอด

แต่สำหรับหนังสือเล่ม มันอยู่เหนือเงื่อนไขเรื่องเวลา ส่วน e-book คนไทยก็ยังไม่นิยมมาก เพราะอุปกรณ์ในการเข้าถึงอย่าง Kindle ก็ยังไม่ใช่ของที่คนมีทั่วไป ขณะที่การอ่านจากออนไลน์ หลายคนก็บอกว่าทำได้ไม่นาน  ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่านะ เพราะผมไม่ได้อ่าน แต่จากการพิสูจน์มันบอกแล้วว่า การอ่านจากกระดาษมันสบายตามากกว่า

หนังสือเล่มแนวการเดินทางท่องเที่ยวจะอยู่อย่างไร ในยุคที่เว็บและเพจแชร์ประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวโผล่ขึ้นมาเป็นดอกเห็ด?
หนังสือเล่มแนวการเดินทางท่องเที่ยวจะอยู่อย่างไร ในยุคสมัยที่เว็บและเพจรีวิวสถานที่หรือแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยวโผล่ขึ้นมาเป็นดอกเห็ด?

อนาคต “หนังสือเดินทาง” ท่ามกลางเว็บรีวิวท่องเที่ยว

“อำนาจ รัตนมณี” เจ้าของร้านหนังสือเดินทาง ยังกล่าวถึงอนาคตของ “หนังสือเดินทางท่องเที่ยว” ในยุคที่งานเขียนแนวเดินทางท่องเที่ยวโผล่ขึ้นบนโลกออนไลน์เป็นดอกเห็ดว่า เท่าที่สังเกต หนังสือเดินทางในยุคหลังจะเป็นลักษณะรีวิวสถานที่ท่องเที่ยว เช่น 10 ที่กิน 10 ที่เที่ยว ต่างจากสมัยก่อนที่จะเน้นเขียนแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยว อย่างงานเขียนของเพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย, ธีรภาพ โลหิตกุล, ภาณุ มณีวัฒนกุล, กรกฎ พัลลภรักษา ฯลฯ ถามว่าหนังสือรีวิวพวกนั้นขายดีทั้งหมดไหม ก็ไม่ เพราะแทบไม่ต่างจากที่รีวิวบนอินเทอร์เน็ตเลย

“สิ่งที่ขาดไปคือประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร ต้องอ่านเล่มนี้เท่านั้นถึงจะรู้ หนังสือแนวนี้มันยังขายได้”

เขาว่า ส่วนพวกไกด์บุ๊กต้องมีธีม ต้องฉีกจากไกด์บุ๊กทั่วๆ ไป เพราะการเดินทางหลังคนอื่นค่อนข้างเหนื่อย อย่างสำนักพิมพ์วงกลม ที่ช่วงแรกมาแรงมาก แต่ช่วงหลังหันไปทำไกด์บุ๊ก ต้องไม่ลืมว่าหนังสือแนวนี้มันมีอายุ ผ่านไป 3 ปี ร้านที่เคยไปรีวิวมันไม่อยู่แล้ว หนังสือเดินทางท่องเที่ยวแนวพวกนี้แหล่ะที่จะถูกออนไลน์ฆ่ามากที่สุด ถามว่ายังขายได้ไหม ยังขายได้อยู่ แต่มันมีอายุขัย ไม่ใช่จะขายได้ตลอด

“ผมยังเชื่อในเรื่องราว อย่างหนังสือ New York 1st Time ของธนชาติ ศิริภัทราชัย ที่นอกจากเรื่องราวดี ลีลาการเขียนยังลงตัวด้วย หนังสือเดินทางท่องเที่ยวมันต้องมีอะไรที่ ว้าว! ต้องเปิดหูเปิดตาคน ได้เบิ๊ดกระโหลกคนอ่าน”

เขายังบอกว่า แม้หนังสือเดินทางท่องเที่ยวเกี่ยวกับญี่ปุ่นจะยังขายได้ แต่ถ้าจะให้ขายได้ดีควรมีเรื่องราวที่ฉีกออกไปจากคนอื่น เหมือนหนังสือ Tokyo Craft Beer (เล่าเรื่องวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นในการดื่มกินผ่านการเดินทางชิมเบียร์ท้องถิ่นในโตเกียวและปริมณฑล) เล่มนี้ในร้านก็ขายได้ดี เพราะเนื้อหามีความแตกต่าง

สำหรับนักเขียนหนังสือแนวเดินทางท่องเที่ยวที่น่าสนใจ อำนาจมองว่า นักเขียนหลายคนในเครือ a day มีความสามารถ ถ้ารุ่นใหญ่หน่อยก็ “โตมร ศุขปรีชา” ขณะที่นักเขียนในเครือ Salmon Books ยังต้องรอดูผลงานชิ้นต่อๆ ไป ว่าจะไปได้แค่ไหน ส่วนคนที่ข้ามพ้นการพิสูจน์ตัวเองไปแล้วก็มีอย่าง “นิ้วกลม” ซึ่งพัฒนาจนมีแนวทางของตัวเองไปแล้ว