ThaiPublica > เกาะกระแส > ผลศึกษาสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงของอพท. ข้อสรุปเส้นทาง-ที่ตั้งสถานี-ระบบแบบเก๋ง 8 ที่นั่ง

ผลศึกษาสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงของอพท. ข้อสรุปเส้นทาง-ที่ตั้งสถานี-ระบบแบบเก๋ง 8 ที่นั่ง

22 มีนาคม 2016


ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/
ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/

ตามที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ว่าได้รับทราบผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย จากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และได้สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการ โดยให้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบและคำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติเป็นสำคัญ เพื่อให้ได้ข้อสรุปแนวทางการดำเนินการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงที่ชัดเจนและเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและธรรมชาติน้อยที่สุด

จากรายงานของ อพท. ได้สรุปแนวคิดความเป็นมาโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงดังนี้

ปี 2525 มีแนวคิดสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง

ปี 2527 คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติให้คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบ ทำเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2528 เห็นควรดำเนินการ

ปี 2539 สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรมป่าไม้ กระทรวงมหาดไทย หารือสร้างกระเช้า และมอบให้กรมป่าไม้ศึกษาขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวต่อจากงานศึกษาของคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ปี 2541 กรมป่าไม้มอบหมายให้บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ จำกัด ศึกษาเปรียบเทียบปัญหา ข้อจำกัด ศักยภาพ ข้อดีข้อเสียของการมีและไม่มีกระเช้า เสร็จในเดือนพฤษภาคม 2543

25 ธันวาคม 2546 คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร ตั้งอนุกรรมาธิการศึกษาการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง

21 เมษายน 2547 นายทักษิณ ชินวัตร สั่งการให้ศึกษาเรื่องนี้โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนร่วมเป็นคณะทำงาน โดยรวบรวมผลการศึกษาที่ผ่านมา เพื่อเลือกเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดในการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงเสนอต่อคณะอนุกรรมาธิการการท่องเที่ยว ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2547 และเสนอต่อคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วันที่ 28 กันยายน 2548 และนายกรัฐมนตรีตามลำดับ

มกราคม 2549 มีประชุม ครม.สัญจร ณ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีมติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมศึกษาเพิ่มเติมด้านผลกระทบ แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ

21 กุมภาพันธ์ 2555 จังหวัดเลยเสนอวาระโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงต่อ ครม. นอกสถานที่ ที่จังหวัดอุดรธานี มีมติให้กระทรวงทรัพยากรฯ และ อพท. ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม

29 พฤศจิกายน 2556 อพท. ได้ว่าจ้างกลุ่มที่ปรึกษา นำโดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัท แกรนด์เทค จำกัด และบริษัท ไทยซิสเทมเอนไว แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง การวิเคราะห์ และการประเมินผลการคาดคะเน การกำหนดทางเลือก การสร้างสถานการณ์จำลอง และข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เพื่อเสนอต่อสาธารณชนและ ครม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายงานของ อพท. ชี้ให้เห็นว่า มีการสั่งการให้ศึกษาการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงมาโดยตลอด แต่ไม่ได้ข้อยุติ แม้มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ก็ตาม

สำหรับภูกระดึง เป็นภูเขาหินทรายยอดตัด อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของที่ราบสูงโคราชและใกล้กับด้านลาดทิศตะวันออกของเทือกเขาเพชรบูรณ์ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2505 มีเนื้อที่ทั้งหมด 348.13 ตารางกิโลเมตร หรือ 217,518.25 ไร่

การเดินทางขึ้นที่ราบยอดภูกระดึงเป็นทางชันระยะทางประมาณ 5.5 กิโลเมตร และเดินตามทางราบไปอีก 3 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางอย่างน้อย 5 ชั่วโมง โดยปิดห้ามนักท่องเที่ยวขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน–กันยายนของทุกปี

ทั้งนี้ ผลการศึกษาแนวเส้นทางเลือกของกระเช้าไฟฟ้า มี 5 เส้นทาง (ดูรายละเอียด 5 เส้นทางเลือก) และทางเลือกของรูปแบบและระบบกระเช้าไฟฟ้า รวมทั้งรูปแบบสถานีต้นทาง ปลายทาง (ดูเพิ่มเติมรูปแบบสถานีต้นทาง-ปลายทาง)

ข้อสรุปเส้นทางและตำแหน่งที่ตั้งสถานีที่มีความเหมาะสมที่สุดคือแนวทางเลือก B โดยมีความยาว (ทางราบ) 4.4 กิโลเมตร สถานีต้นทางและปลายทางอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง โดยสถานีต้นทางอยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐานไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 3.5 กิโลเมตร ส่วนสถานีปลายทางตั้งอยู่ห่างจากหลังแปไปทางทิศตะวันตกประมาณ 600 เมตร และมีระยะจากสถานีปลายทางไปถึงสถานีบริการนักท่องเที่ยววังกวาง 3.7 กิโลเมตร ความลาดชันเฉลี่ยของแนวกระเช้าไฟฟ้า 27% และมีเสารองรับจำนวน 7 ต้น ซึ่งแนวนี้ไม่มีผลกระทบต่อทัศนียภาพของทางเดินเท้าและมุมมองธรรมชาติของภูกระดึง โดยได้นำเสนอทางเลือกนี้ในที่ประชุมสัมมนาในอำเภอภูกระดึงและได้รับการยอมรับจากประชาชนท้องถิ่นแล้ว

ส่วนรูปแบบระบบของกระเช้าไฟฟ้าคือระบบ Aerial Ropeways แบบเก๋ง (Monocable Detachable Gondola-MDG) ชนิด 8ที่นั่ง

ค่าก่อสร้าง 633.89 ล้านบาท ประมาณการผลประโยชน์และต้นทุนใช้ระยะดำเนินการ 30 ปี ทั้งนี้ จะมีความคุ้มค่าต่อชุมชนในการสร้างรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ โครงการนี้เข้าข่ายต้องศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ทั้งนี้ ได้สรุปผลกระทบสิ่งแวดล้อมในประเด็นสำคัญ (อ่านรายละเอียดผลกระทบสิ่งแวดล้อม) และแผนบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในแต่ละพื้นที่บนภูกระดึง (อ่านรายละเอียดแผนดำเนินการในแต่ละแหล่งท่องเที่ยว)

ภูกระดึง1

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/4/41/N._sp._Phukradung.jpg/640px-N._sp._Phukradung.jpg
ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/4/41/N._sp._Phukradung.jpg/640px-N._sp._Phukradung.jpg