ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > Over Fishing เรือล้นทะเล สัตว์น้ำขนาดเล็กสูญ 3 แสนตัน/ปี – อัดงบ 2,000 ล้าน ลุ้น EU ปลดใบเหลือง

Over Fishing เรือล้นทะเล สัตว์น้ำขนาดเล็กสูญ 3 แสนตัน/ปี – อัดงบ 2,000 ล้าน ลุ้น EU ปลดใบเหลือง

7 มีนาคม 2016


“ปลากำลังจะหมดทะเลไทย” คำกล่าวนี้ไม่ใช่เรื่องเกินจริง ที่ผ่านมามีการใช้ทรัพยากรทางทะเลจนเกินขีดจำกัด ซึ่งการทำประมงเกินเป็นหนึ่งในสาเหตุหลัก เพราะจำนวนเรือประมงที่เพิ่มขึ้นโดยไม่มีการควบคุม ประกอบกับกฎหมายประมงที่ไทยมียังล้าสมัย นำไปสู่ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือประมง IUU

ที่ผ่านมาไทยส่งออกสัตว์น้ำเป็นจำนวนมาก อาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกสัตว์น้ำรายใหญ่ของโลก โดยในปี 2557 มีปริมาณการส่งออกรวมทั้งสิ้น 1.7 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 6,749 ล้านเหรียญสหรัฐ และปริมาณการนำเข้ารวมทั้งสิ้น 1.6 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 2,740 ล้านเหรียญสหรัฐ จากสัตว์น้ำที่จับได้ทั้งหมดนี้สร้างรายได้และการจ้างงานแก่ชาวประมงประมาณ 172,430 คน ซึ่งกว่า 80% เป็นชาวต่างชาติ และประมาณ 515,000 คน ไม่ได้อยู่ในภาคการประมงโดยตรง แต่อยู่ในอุตสาหกรรมประมงที่เกี่ยวของ อาทิ โรงงานปลาป่น โรงงานปลากระป๋อง(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

iuu

เรือล้นทะเล สูญสัตว์น้ำขนาดเล็ก 3 แสนตัน/ปี

จากข้อมูลกรมประมง (สิงหาคม 2558) ระบุว่า จํานวนเรือประมงไทยที่ยังทําการประมงมีทั้งสิ้น 42,512 ลํา* โดยมีเพียง 9,370 ลำที่เป็นเรือประมงพาณิชย์ คิดเป็น 22% ใช้อวนลากหน้าดิน อวนล้อมจับ และอวนครอบ เป็นเครื่องมือหลักในการทำประมง ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพสูงมาก ขณะที่เรือประมงพื้นบ้านมีจำนนวน 33,205 ลำ คิดเป็น 78% ของเรือประมงทั้งหมด ส่วนใหญ่ใช้อวนติดตาในการทำประมง ประกอบกับเครื่องมือพื้นบ้านอื่นๆ

จากพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะที่เรือประมงที่สามารถทำประมงในน่านน้ำได้ทั้งหมด 420,280 ตารางกิโลเมตร กับจำนวนเรือประมงที่พุ่งสูงถึง 42,512 ลำ ทำให้ไทยเกิดปัญหาการทำประมงเกินขีดความสามารถการผลิตของทรัพยากรหรือOver Fishing

ในปี 2557 กรมประมงรายงานว่า ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ทั้งสิ้น 1.56 ล้านตัน ปลากว่า 85% ได้จากเรือประมงพาณิชย์ โดยการประมงอวนลากพาณิชย์จับปลาขนาดเล็กหรือปลาเป็ดได้ถึง 45% ของสัตว์น้ำที่จับได้ทั้งหมด ซึ่งประมาณ 35% เป็นสัตว์น้ำขนาดเล็กที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ หากแยกตามรายเครื่องมือจะพบว่า ผลการจับสัตว์น้ำจากอวนลากและอวนล้อมจับเป็นผลจับสัตว์น้ำหลัก คิดเป็น 80% ของผลจับสัตว์น้ำในปี 2557 มีปริมาณ 628,470 และ 530,441 ตัน ส่วนเครื่องมือประมงอื่นๆ (อวนติดตา การล่อสัตว์น้ำด้วยไฟ เบ็ด และเครื่องมือประมงประจําที่ ฯลฯ) จับสัตว์น้ำได้ 297,784 ตัน (20%) การประมงพื้นบ้านจับสัตว์น้ำได้หลากหลายชนิด

โดยประเภทของสัตว์น้ำสําคัญ ได้แก่ หมึก ปลาผิวน้ำ ฯลฯ การประมงพาณิชย์จับสัตว์น้ำทั้งปลาผิวน้ำและสัตว์น้ำหน้าดิน รวมทั้งจับปลาขนาดเล็กที่มีมูลค่าต่ำหรือปลาเป็ดได้เป็นจํานวนมาก ซึ่งการประมงอวนลากพาณิชย์มีองค์ประกอบของปลาขนาดเล็กที่มีมูลค่าต่ำหรือปลาเป็ดคิดเป็น 45% ของผลจับสัตว์น้ำทั้งหมด (290,000 ตัน ในปี 2557) โดยมีประมาณ 35% เป็นสัตว์น้ำขนาดเล็กชนิดที่มีความสําคัญทางเศรษฐกิจ(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

สำรวจเรือประมงไทย Over fishing

อัดงบ 2,000 ล้าน เดินตามคำแนะนำ EU

ด้วยกำลังการผลิตที่สูงสวนทางกับจำนวนทรัพยากร เนื่องจากที่ผ่านมาการทำประมงของไทยเป็นการทำประมงแบบเสรี (Open access) มาโดยตลอด แม้จะมีการออกกฎ ระเบียบ เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU ซึ่งรวมถึงปัญหาการทำประมงเกินกำลังการผลิตของทรัพยากรอยู่บ้างแล้วก็ตาม แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามเท่าใด และรัฐเองก็ไม่ได้มีการบังคับใช้โดยเคร่งครัด ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาหลักของรัฐไทย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ออกมายืดอกยอมรับความล้มเหลวที่เกิดขึ้นภายหลังการประกาศอย่างเป็นทางการว่าไทยได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรป เกี่ยวกับปัญหาประมง IUU เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558

และล่าสุด เมื่อเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา ผู้แทนจากสหภาพยุโรปได้เดินทางเข้ามาตรวจประเมินการแก้ปัญหาประมง IUU ของไทยอีกครั้ง หลังจากไทยได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 ซึ่งในเดือนตุลาคม 2558 ทางสหภาพยุโรปเข้ามาตรวจการบ้านไทยและได้ให้ข้อแนะนำในการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ทำให้ไทยได้ต่อเวลาในการแก้ไขการบ้านไปอีกประมาณ 3 เดือน ซึ่งขณะนี้ไทยต้องลุ้นกันต่อไปว่าการดำเนินการทั้งหมดที่ผ่านมาจะช่วยปลดใบเหลืองให้ได้หรือไม่

ทั้งนี้ ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นไปตามข้อเสนอแนะของสหภาพยุโรปทั้ง 5 ข้อ ซึ่งเกี่ยวโยงกับอุตสาหกรรมประมงทั้งระบบ ตั้งแต่การปรับปรุงระบบปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การทำประมง ไปจนถึงการแปรรูปสัตว์น้ำ ทั้งในเรื่องของการปรับปรุงกฎหมายประมง โดยการออกพระราชกำหนดการประมง 2558 และกฎหมายลูกอีกหลายฉบับ การติดตั้งระบบติดตามเรือ (Vessel Monitoring System: VMS) การควบคุมการเข้าออกเรือประมงอย่างเคร่งครัด การพยายามลดจำนวนเรือประมง ไปจนถึงการควบคุมแรงงานบนเรือประมง และแรงงานในโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำต่างๆ

โดยรายงานของกรมประมงระบุว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาประมง IUU ตามมาตรการการจัดการทั้ง 7 เป้าหมาย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 – เมษายน 2559 ใช้งบประมาณรวม 2,446.80 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้

เป้าหมายที่ 1 การลดศักยภาพในการทําการประมงและการลงแรงประมง 1,459.10 ล้านบาท
เป้าหมายที่ 2 การฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำโดยการจัดสร้างปะการังเทียมและการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ 105 ล้านบาท
เป้าหมายที่ 3 การลดการทําประมง IUU ผานการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) ที่มีประสิทธิภาพ 800 ล้านบาท
เป้าหมายที่ 4 การลดการจับลูกสัตว์น้ำชนิดที่มีความสําคัญทางเศรษฐกิจ 43.25 ล้านบาท
เป้าหมายที่ 5 การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหวางชาวประมงพื้นบ้านและชาวประมงพาณิชย์ 15 ล้านบาท
เป้าหมายที่ 6 การปรับปรุงข้อมูลและสารสนเทศการประมง 23.95 ล้านบาท
เป้าหมายที่ 7 การเสริมสร้างศักยภาพในการจัดการการประมง 0.5 ล้านบาท

ทั้งนี้ การงบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหาประมง IUU ในระยะแรก (เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม 2558 ) จำนวน 346 ล้านบาท ถูกนำไปแก้ไขปัญหาภายในองค์กรเป็นส่วนใหญ่ อาทิ การปรับปรุงระบบการบริหารงาน การพัฒนาและการเก็บข้อมูล การตรวจสอบย้อนกลับ การทำการสำรวจเรือ และจ้างเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม

และเพื่อควบคุมการทำการประมงในเบื้องต้นในระยะแรก รัฐได้ประกาศวันหยุดทำการประมงออกมาตามประกาศศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ฉบับที่ 14/2558 เรื่อง กําหนดเงื่อนไขในการห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือมีไว้ในครอบครอง เพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทําการประมงบางชนิด ทําการประมงในที่จับสัตว์น้ำในเวลาที่กําหนด โดยเฉพาะผู้ใช้เครื่องมือทําการประมงอวนลากและอวนล้อมจับ

กำหนดห้ามเรือประมงที่ใช้อวนลากทุกชนิด ทุกขนาด ทำการประมงในทะเลฝั่งอ่าวไทยและในทะเลฝั่งอันดามัน ระหว่างวันที่ 1-3 และวันที่ 11-12 ของเดือนกันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายน 2558

กำหนดห้ามใช้หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งเครื่องมือทําการประมงอวนล้อมจับ ยกเว้นอวนล้อมจับปลากะตัก ทําการประมงในที่จับสัตว์น้ำในเดือนกันยายน ตุลาคม และ พฤศจิกายน 2558 ดังนี้ (1) ในทะเลฝั่งอ่าวไทย ในห้วงเวลาระหว่างวันที่ 1-3 วันที่ 11-13 และวันที่ 21-23 ในทะเลฝั่งอันดามัน ในห้วงเวลาระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 3 และวันที่ 11 ถึงวันที่ 12

การจับสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่ยังมีขนาดเล็ก ซึ่งจะได้รับการจัดการโดยการจํากัดขนาดตาอวน และการห้ามทําประมงในบางพื้นที่และบางฤดูกาล ความขัดแย้งระหว่างชาวประมงกลุ่มต่างๆ จะได้รับการจัดการโดยการประกาศสิทธิในการทําประมงในเขตต่างๆ (ตามระยะหางจากชายฝั่งทะเล) แหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำซึ่งอยู่ในภาวะวิกฤติจะได้รับการฟื้นฟู(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

แผนการลดศักยภาพการทำประมง

แผนลดการจับลูกสัตว์น้ำ

“หักดิบ” กระทบประมง รัฐทุ่มงบซื้อเรือทำปะการังเทียม

จากมาตรการดังกล่าว เห็นได้ว่าการดําเนินมาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการ “หักดิบ” ของรัฐบาลทำให้มีผู้ได้รับกระทบเป็นจํานวนมาก โดยเฉพาะการเริ่มมาตรการตรวจสอบเรือประมง เพื่อนำไปสู่การลดจํานวนเรือ การยกเลิกใบอนุญาตทําการประมง การยกเลิกทะเบียนเรือทำให้เรือประมงหลายลำต้องหยุดทำการประมง รวมทั้งการยกเลิกการใช้เครื่องมือประมงบางประเภทที่สงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น อวนรุนประกอบเรือยนต์ โพงพาง อวนล้อมที่มีขนาดตาอวนเล็กกว่าที่กฎหมายกําหนด ลอบพับได้ อวนลากที่มีขนาดตาอวนเล็กกว่าที่กฎหมายกําหนด เป็นต้น

โดยกรมประมงได้ทำการแบ่งประเภทชาวประมงที่ได้รับผลกระทบไว้ 3 ประเภท ประเภทแรก คือ เรือประมงที่ใช้เครื่องมือที่ถูกห้าม อาทิ อวนรุนและโพงพาง ต้องหยุดทําการประมง และบางส่วนต้องเปลี่ยนเครื่องมือประมง บางส่วนต้องการเปลี่ยนอาชีพ

ประเภทที่สอง ชาวประมงที่ทําการประมงผิดกฎหมาย (ไม่มีทะเบียนเรือและ/หรือใบอนุญาตทําการประมง) รัฐให้ทางออกโดยมีทางเลือกให้เปลี่ยนเครื่องมือประมงหรือเปลี่ยนอาชีพ

ทั้งนี้มีข้อกำหนดว่า การเปลี่ยนเครื่องมือประมงจะต้องเป็นไปตามที่รัฐบาลกําหนดและเมื่อนำมาคิดคำนวณแล้วจะต้องมีศักยภาพในการทำประมงที่ไม่สูงเกินค่า MSY สําหรับการเปลี่ยนอาชีพ รัฐบาลได้ร่วมมือกับกระทรวงแรงงานในการจัดการอบรมความรู้ในสาขาอาชีพต่างๆ กระทรวงพาณิชย์ในการช่วยหาตลาดสําหรับจําหน่ายผลิตภัณฑ์หรือสินค้า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความช่วยเหลือในการเปลี่ยนอาชีพเป็นการเพาะเลี้ยงปลาหรือหอย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดลอมและกระทรวงมหาดไทยช่วยเหลือในเรื่องที่ดิน ธนาคารออมสินและธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ช่วยสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ

ประเภทที่สาม ชาวประมงที่มีหนี้สินที่เกิดจากเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐ รวมทั้งเงินกู้จากหน่วยงานอื่นๆ ในการนําเงินมาปรับปรุงเรือประมงและเครื่องมือประมง เมื่อต้องหยุดทําการประมงทําให้ไม่สามารถชําระเงินกู้และดอกเบี้ยได้ ซึ่งรัฐแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวประมงโดยมอบหมายให้ศูนย์ดํารงธรรมใน 22 จังหวัดชายฝั่งทะล รวบรวมข้อมูลภาวะหนี้สิน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสมาคมธนาคารไทยในการปรับโครงสร้างหนี้และพักชําระหนี้ในช่วงระยะเวลาการที่ผู้ประกอบการประมงกําลังปรับตัว

อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวประมงที่ต้องเปลี่ยนอาชีพและหยุดการออกเรือทำประมงถาวร ได้มีข้อเสนอให้รัฐทำการซื้อเรือคืนและนำเรือเหล่านั้นไปทำปะการังเทียมต่อไป โดยรัฐได้ตอบสนองแนวทางดังกล่าวโดยการตั้ง “คณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมของราคากลางในการซื้อ-ขายเรือประมง” เพื่อทำการกําหนดราคาที่เหมาะสมในการซื้อ-ขายเรือพร้อมส่วนประกอบ และตั้ง “คณะกรรมการพิจารณากลุ่มผู้ประกอบการที่สมควรได้รับเงินชดเชยจากการหยุดออกเรือประมงและความเหมาะสมของวงเงิน” สืบเนื่องจากมีชาวประมงที่ต้องหยุดทําการประมงตามประกาศ ศปมผ.

ทั้งนี้ ได้มีการคํานวณเงินช่วยเหลือในเบื้องต้นดังนี้
– ค่าจ้างแรงงานในขณะที่รอการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมง 300 บาท/คน/วัน
– ค่าเช่าที่จอดเรือและค่าไฟ 200 บาท/วัน
– ค่าใช้จ่ายในการดํารงชีพของครอบครัว และค่าเสียโอกาสรายได้ เฉลี่ย 3 คน/ครอบครัว เป็นเงิน 500 บาท/คน หรือ 1,500 บาท/ครอบครัว/วัน

ส่วนเงินช่วยเหลือชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกเครื่องมือประมงสามารถแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้
– เรือประมงขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่มีอาชญาบัตรอวนรุนถูกต้อง จะได้รับการช่วยเหลือ 2,100 บาท/วัน ขนาด 10-30 ตันกรอส จะได้รับการช่วยเหลือ 2,900 บาท/วัน ขนาด 30-60 ตันกรอส จะได้รับการช่วยเหลือ 3,300 บาท/วัน และขนาดมากกว่า 60 ตันกรอส จะได้รับการช่วยเหลือ 4,100 บาท/วัน
– เรือประมงขนาดระหว่าง 30-60 ตันกรอส ที่ใช้อวนลาก แต่มีอาชญาบัตรไม่ถูกต้อง จะได้รับ การช่วยเหลือ 2,460 บาท/วัน ส่วนเรือประมงที่เหลือที่ไม่มีอาชญาบัตร จะได้รับการช่วยเหลือ 2,070 บาท/วัน

ด้านขั้นตอนการซื้อเรือคืนสําหรับเจ้าของเรือประมงที่ต้องการออกจากภาคประมงโดยสมัครใจ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
– เรือประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย รัฐบาลจะจ่ายค่าเครื่องยนต์ เปลือกเรือ และเครื่องมือประมงในราคาที่ยุติธรรม ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการฯ
– เรือประมงส่วนที่เกินระดับการลงแรงประมง รัฐบาลจะจ่ายเงินตามขนาดตันกรอสของเรือเป็นมูลค่า 10-20% ของต้นทุนเรือ ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับเจ้าของเรือประมง

สำหรับขั้นตอนการนําเรือประมงพาณิชย์จํานวน 1,177 ลํา ออกจากระบบการทําประมง มีดังนี้
– เรือที่ไม่ได้จดทะเบียนและไม่มีใบอนุญาตทําการประมง จํานวน 197 ลํา จะถูกถอนออกจากการทําประมงอย่างถาวรในปี 2558
– เรือที่จดทะเบียนแต่ไม่มีใบอนุญาตทําการประมง จํานวน 980 ลํา จะถูกถอนออกจากการทําประมงอย่างถาวรในปี 2559

เรือออก 1,000 ลำไม่พอ เล็งลดวันทำประมงเพิ่ม แก้ Over Fishing

เรือประมงไทย-4

อาจไม่สามารระบุได้แน่ชัดว่าตอนนี้เหลือจำนวนสัตว์น้ำเท่าใด แต่นักวิชาการใช้ค่าอัตราการจับสัตว์น้ำจากการทำประมงแต่ละครั้ง หรือค่า CPUE (Catch per Unit of Effort) และค่าผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน หรือค่า MSY (Maximum Sustainable Yield) ในการประเมินสภาพทรัพยากรทางทะเลเบื้องต้น

โดยค่า CPUE ข้อมูลจากกรมประมงระบุว่าประเทศไทยได้ทำการสํารวจทรัพยากรทางทะเลอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 2503 ซึ่งผลสำรวจต่อเนื่องชี้ให้เห็นว่า อัตราการจับสัตว์น้ำในอ่าวไทยลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2504 จนถึงปี 2533 แสดงถึงความอุดมสมบูรณที่เริ่มลดลง โดยปัจจุบันเหลือเพียง 9% ของอัตราการจับสัตว์น้ำแรกเริ่มสํารวจ ด้านทะเลอันดามันมีอัตราการจับสัตว์น้ำลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในปี 2557 เหลือเพียงประมาณ 25% ของอัตราการจับสัตว์น้ำในปี 2509

สำหรับค่า MSY ซึ่งเป็นค่าที่ใช้หาความเหมาะสมของการทำการประมงโดยเฉพาะ เปรียบเทียบระหว่างปริมาณการทำประมงกับค่าความสมบูรณ์ของปริมาณสัตว์น้ำที่มี โดยขณะนี้ผลการประเมินแสดงให้เห็นว่า สัตว์น้ำส่วนใหญ่คิดเป็น 82% ของสัตว์น้ำหน้าดิน (สัตว์น้ำทุกชนิดที่อาศัยที่พื้นทะเล รวมกุ้ง กั้ง ปู และหมึก) และ 78% ของปลาผิวน้ำ มีการใช้ประโยชน์มากเกินควร หมายถึงไทยกำลังทำประมงในจุดที่ Over Fishing นั่นเอง ซึ่งจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ Over Fishing เริ่มตั้งแต่ปี 2534

จากผลสำรวจล่าสุดในช่วงปี 2558 ของกรมประมง หากแยกการประเมินเป็นฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ค่าการจับสัตว์น้ำหน้าดินเกินจุดสมดุล หรือเกินค่า MSY ถึง 38.2% ขณะที่ฝั่งอันดามันเกินค่า MSY 5.3% ส่วนค่าการจับปลาผิวน้ำ ฝั่งอ่าวไทยเกินค่า MSY 27% ฝั่งอันดามันเกินค่า MSY 16.5% อย่างไรก็ตาม สำหรับปลากะตักแล้วค่า MSY บ่งชี้ว่าการทำประมงปลากะตักยังอยู่ในระดับสมดุล ซึ่งในส่วนที่ยังมีค่าการจับสัตว์น้ำเกิน MSY นั้น ทางกรมประมงระบุว่าการผลักดันเรือออกจากระบบคงทำไม่ได้มากกว่านี้ การแก้ไขต่อไปจึงอยู่ที่การปรับลดวันทำการประมงลงอีก จนกว่าปัญหา Over Fishing จะหมดไป

*หมายเหตุ: จำนวนเรือประมงจากทั้งกรมประมงและกรมเจ้าท่ายังมีความคลาดเคลื่อนกันอยู่จำนวน 759 ลำ ทั้งนี้ สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รับคำชี้แจงจากกรมประมงว่า ขณะทำการจัดทำข้อมูลเรือประมงระหว่างทั้ง 2 หน่วยงานอยู่ระหว่างการปรับปรุงข้อมูลให้ตรงกัน ซึ่งคาดว่าภายหลังจากการเปิดคืนสิทธิ์ทะเบียนเรือครั้งสุดท้ายเสร็จสิ้น ตัวเลขจำนวนเรือจะถูกปรับให้ตรงกัน