ThaiPublica > เกาะกระแส > เรือแสนแสบระเบิด กรมเจ้าท่าจับมือ ปตท. มา 5 ปี แต่ไม่มีข้อบังคับเฉพาะสำหรับเรือติดแก๊ส – ระบุตรวจตามความรู้ จนท.

เรือแสนแสบระเบิด กรมเจ้าท่าจับมือ ปตท. มา 5 ปี แต่ไม่มีข้อบังคับเฉพาะสำหรับเรือติดแก๊ส – ระบุตรวจตามความรู้ จนท.

8 มีนาคม 2016


นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม(กลางสูทดำ) นางจิราภรณ์ จันทรศิริ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านความปลอดภัย(ซ้ายสุด) แถลงข่าวเรือคลองแสนแสบระเบิด
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม(กลางสูทดำ) นางจิราภรณ์ จันทรศิริ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านความปลอดภัย(ซ้ายสุด) แถลงข่าวเรือคลองแสนแสบระเบิด

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายดรุณ แสงฉาย รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า นายณัฐ จับใจ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ และนางจิราภรณ์ จันทรศิริ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านความปลอดภัย ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้ากรณีเกิดเหตุระเบิดท้ายเรือโดยสารในคลองแสนแสบเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2559 จนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนทั้งสิ้น 68 ราย และยังพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลจำนวน 28 ราย รวมทั้งมาตรการเชิงป้องกันอื่นๆ

ทั้งนี้ เรือดังกล่าวมีชื่อว่า "ภูมิรินทร์โชคชัย" เป็นเรือโดยสารประจำทางที่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลร่วมกับแก๊สแอลเอ็นจีและติดตั้งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนกลางลำ มีนายเชาวลิต เมธยะประภาส เป็นเจ้าของเรือ บรรทุกคนโดยสารจำนวน 123 คน โดยใบอนุญาตใช้เรือยังไม่หมดอายุและตรวจสภาพเรือประจำปีไปเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558

ตั้งคณะสอบ "เรือแสนแสบ" ระเบิด คาด 10 วันรู้ผล

ทั้งนี้ สาเหตุของการระเบิด นายออมสินกล่าวว่ากระทรวงได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2559 เพียง 1 วันหลังเกิดเหตุ โดยคาดว่าจะใช้เวลา 10 วันจะรู้ผล โดยในเบื้องต้นพบว่าสภาพเครื่องยนต์ขับเคลื่อนในเรือไม่ได้รับความเสียหาย และถังแก๊สยังอยู่ในสภาพปกติ

ขณะที่ “มาตรการเผชิญเหตุเบื้องต้น” กรมเจ้าท่าสั่งห้ามนำเรือที่ติดตั้งถังแก๊สออกรับส่งผู้โดยสารในคลองแสนแสบเด็ดขาด โดยเรือโดยสารประจำทางในคลองแสนแสบทั้งหมดมี 71 ลำ เป็นเรือที่ติดตั้งถังแก๊สจำนวน 26 ลำ และใช้น้ำมันดีเซล 45 ลำ และล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2559 กรมเจ้าท่าสั่งให้เรือทั้ง 26 ลำถอดถังแก๊สออกและกลับมาใช้ระบบน้ำมันดีเซลหมดแล้ว พร้อมกันนี้ยังส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบสภาพเรือที่ใช้รับส่งผู้โดยสารอีกครั้ง เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน

นอกจากนี้ กรมเจ้าท่ายังออกคำสั่งตามนัยมาตรา 170 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2546 ว่า “เมื่อเจ้าท่าตรวจพบว่าเรือที่ได้รับอนุญาตให้บรรทุกคนโดยสาร บรรทุกสินค้า หรือบรรทุกคนโดยสารและสินค้าลำใด อยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัยต่อคนโดยสาร มีสภาพไม่เหมาะสมกับการใช้ ให้เจ้าท่ามีอำนาจสั่งห้ามใช้เรือลำนั้นจนกว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองจะได้แก้ไขให้เรียบร้อย” โดยสั่งห้ามใช้เรือที่มีการติดตั้งระบบแก๊สโดยเด็ดขาด กรณีฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับสูงสุด 10,000 บาท

ด้าน “มาตรการลดผลกระทบด้านการขนส่งต่อภาคประชาชน” กรมเจ้าท่าระบุว่า เพื่อให้ประชาชาชนเชื่อมั่นในความปลอดภัยว่าเรือที่ให้บริการในคลองแสนแสบเป็นเรือที่ใช้ระบบน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลเท่านั้น กรมได้สั่งให้เจ้าของเรือติดตั้งป้ายแสดงที่ตัวเรือว่า “เรือนี้ใช้ระบบน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลเท่านั้น” รวมทั้งติดตั้งป้ายแสดงที่ท่าเทียบเรือโดยสารให้เห็นเด่นชัดว่า “ปัจจุบันมีเรือโดยสารที่ใช้ระบบน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลเท่านั้นให้บริการในคลองแสนแสบ” รวมทั้งกำชับพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำท่าเทียบเรือในคลองแสนแสบให้ตรวจดูและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่มาใช้บริการเรือโดยสารได้ทราบว่าเรือนั้นเป็นเรือที่ใช้น้ำมันดีเซลอย่างเดียว

สุดท้าย “มาตรการควบคุมและป้องกันอุบัติเหตุ” กรมเจ้าท่าออกคำสั่งให้ 1) หน่วยงานในสังกัด ตรวจตราเรือทุกประเภท โดยในระยะแรกให้ตรวจเรือโดยสารว่ามีการติดตั้งระบบแก๊สหรือไม่ หากมีให้สั่งห้ามใช้เรือ และหากฝ่าฝืนให้ดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไป เบื้องต้นยังไม่พบว่ามีเรือในน่านน้ำไทยที่ติดตั้งแก๊สอีก 2) หากมีความจำเป็นในอนาคต เนื่องจากต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น และภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนให้ใช้พลังงานทางเลือกเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน กรมเจ้าท่าอาจออกกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับระบบการติดตั้งแก๊สในเรือต่อไป

เรือคลองแสนแสบ1

"กรมเจ้าท่า" ไม่มีระเบียบตรวจเรือติดแก๊ส

นางจิราภรณ์กล่าวถึงที่มาของเรือติดแก๊สในคลองแสนแสบว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันปรับขึ้นสูงมากจนกระทบต่อผู้ประกอบการ ขณะที่ด้านราคาโดยสาร กรมเจ้าท่าจะพยายามไม่ให้ปรับขึ้นเนื่องจากจะกระทบต่อภาคประชาชนโดยรวม รัฐบาลจึงอุดหนุนให้หันมาใช้แก๊สธรรมชาติที่มีความปลอดภัยเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการนำแก๊สแอลเอ็นจีมาใช้ร่วมกับน้ำมันดีเซล โดยมีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาในการติดตั้งทั้งหมด กรมเจ้าท่ายังไม่มีกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือในประเด็นของการติดตั้งแก๊ส แต่กรมเจ้าท่ายังมีอำนาจตามมาตรา 170 สามารถสั่งห้ามผู้ประกอบการได้ทันทีกรณีที่เห็นว่าระบบแก๊สดังกล่าวไม่ปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันได้ใช้อำนาจตามมาตราดังกล่าวสั่งห้ามติดตั้งแก๊สบนเรือทั้งหมดแล้วหลังเกิดเหตุการณ์

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กรมเจ้าท่ามีกฎระเบียบหรือข้อบังคับสำหรับการกำกับ/ตรวจเรือที่ติดแก๊สหรือไม่ นางจิราภรณ์กล่าวว่า กรมเจ้าท่าได้ไปตรวจอยู่เป็นประจำทุกปีและเห็นว่ายังมีสภาพใช้การได้ มีความปลอดภัยเพียงพอ แต่อุบัติเหตุย่อมเกิดขึ้นได้ เขาเดินเรือมา 30 ปี ทดลองใช้แก๊สมา 5 ปี เพิ่งจะเกิดครั้งนี้ครั้งแรก มันเหมือนเหตุสุดวิสัยแม้จะใช้ความระมัดระวังที่สุดแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า การตรวจเรือติดแก๊สใช้มาตรฐานอะไรและทำอย่างไร นางจิราภรณ์กล่าวว่า กรมใช้กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือ เจ้าพนักงานของกรมเจ้าท่าจะลงไปตรวจสอบเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง ก่อนจะต่อใบอนุญาตให้แก่เรือแต่ละลำ ส่วนการตรวจส่วนติดตั้งแก๊ส แม้จะไม่มีกฎข้อบังคับเฉพาะ แต่เจ้าพนักงานของกรมเจ้าท่าเองพอมีความรู้เรื่องนี้มาตรวจให้ ทั้งนี้ ในอนาคต ถ้าราคาน้ำมันปรับขึ้นอีกและจำเป็นต้องนำแก๊สกลับมาใช้ กรมเจ้าท่าจะต้องออกกฎข้อบังคับสำหรับตรวจเรือโดยตรงก่อนแน่นอน ซึ่งสถานะปัจจุบันคือได้สั่งห้ามเด็ดขาดไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการเรือติดแก๊สนั้นทางกรมเจ้าท่าได้ร่วมมือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำโครงการนี้เพื่อลดภาระแก่ผู้ประกอบการ แต่กรมเจ้าท่าไม่ได้ออกกฎระเบียบข้อบังคับสำหรับการกำกับดูแลเรือติดแก๊ส จึงทำให้เจ้าพนักงานผู้ตรวจเรือไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะตรวจเรือโดยตรงและสั่งห้ามการใช้งานหรืองดต่อใบอนุญาตในกรณีการติดตั้งดังกล่าวไม่ปลอดภัย

สำหรับมาตรฐานการตรวจเรืออื่นๆ เจ้าพนักงานจะต้องตรวจสอบในเรื่องต่างๆ เช่น อุปกรณ์ประจำเรือ สภาพตัวเรือ สภาพเครื่องยนต์กลไกต่างๆ จำนวนผู้โดยสาร ประกาศนียบัตรของผู้ควบคุมเรือและเครื่องจักร ซึ่งมีระดับที่หลากหลายตามความสามารถ แตกต่างจากใบขับขี่ของรถยนต์(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

จำนวนเที่ยวเรือและผู้โดยสารคลองแสนแสบ ปี 2558

ปี 2558 ยอดผู้โดยสาร 18 ล้านคน

ด้านจำนวนผู้โดยสาร มีกฎข้อบังคับการตรวจเรือ (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2534 ระบุจำนวนคนตามขนาดเรือ ซึ่งเรือในคลองแสนแสบจะมี 2 ประเภท คือ เรือขนาดใหญ่วิ่งตั้งแต่ประตูน้ำถึงวัดศรีบุญเรือง เนื่องจากคลองค่อนข้างกว้าง สามารถรับคนได้สูงสุด 123 คน/ลำ ขณะที่เรือขนาดเล็กจะวิ่งตั้งแต่ประตูน้ำถึงสะพานผ่านฟ้าจะรับได้เพียง 80 คน/ลำ เนื่องจากขนาดสะพานและคลองที่เล็กลง โดยไม่ได้กำหนดว่าต้องนั่งหรือยืนแต่อย่างใด ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้วยดี

“ส่วนที่ถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่ารับคนเกินไม่เกิน เรามีเจ้าหน้าที่ดูอยู่ในแต่ละท่าเรือ แต่จะให้นับเป๊ะคงไม่ไหว ผู้โดยสารคงไม่รอเรานั่งนับ เราดูประมาณการด้วยตาว่าที่นั่งเต็มหรือไม่ มียืนอีกเท่าไร คงนับทุกครั้งทุกลำไม่ได้ ขึ้นลงกันตลอดเวลา” นางจิราภรณ์กล่าว

ขณะที่สถิติในปี 2558 มีผู้ใช้บริการเรือคลองแสนแสบ 18.49 ล้านคน และมีจำนวนเที่ยวเรือ 124,728 เที่ยว

ส่วนความเร็วของเรือโดยสารในคลองแสนแสบไม่ได้ระบุว่าต้องเร็วแค่ไหน แต่ระบุว่าต้องวิ่งในระดับที่ไม่ก่ออันตรายต่อตลิ่งข้างเคียงหรือทำให้ประชาชนเดือดร้อน โดยกรมเจ้าท่าจะมีพนักงานประจำตามท่าเรือต่างๆ คอยกำกับดูแลและเตือนไม่ให้ขับเร็วเกินไปกว่าที่ควรจะเป็น

สำหรับการพัฒนาในอนาคต นายณัฐกล่าวว่า ได้วางแผนจะปรับรูปแบบเรือในคลองจากระบบเปิดเป็นระบบปิด คือเป็นเรือติดเครื่องปรับอากาศ เพื่อยกมาตรฐานการให้บริการ ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้งบประมาณประมาณ 75 ล้านบาท และคาดว่าจะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า

นักวิชาการชี้แก๊สระเบิด การกำกับตรวจสอบต้องได้มาตรฐาน

แหล่งข่าวจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า การนำเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) มาใช้ในภาคขนส่งเริ่มดำเนินการในช่วงปี 2552 โดยมีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่จัดหาก๊าซที่เหลือจากแหล่งก๊าซธรรมชาติหนองตูม จังหวัดสุโขทัย ส่งให้ผู้ประกอบการขนส่งนำไปเติมลงในถังแก๊สชนิดพิเศษเก็บความเย็น -160 องศาเซลเซียส และทนแรงดันได้ 10 บาร์ ซึ่งติดตั้งอยู่ในเรือขนส่งผู้โดยสารใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยมีกรมเจ้าท่ากำกับดูแลการขออนุญาตติดตั้งแอลเอ็นจีและตรวจสภาพรอยรั่วทุกๆ 1 ปี เช่นเดียวกับกรมการขนส่งทางบก

เปรียบเทียบคุณสมบัติของก๊าซ

เรือคลองแสนแสบที่ระเบิด ที่มาภาพ :  http://www.nationmultimedia.com/
เรือคลองแสนแสบที่ระเบิด ที่มาภาพ : http://www.nationmultimedia.com/
ถัง LNG
ถัง LNG

สำหรับเหตุการณ์เรือขนส่งผู้โดยสารระเบิดที่คลองแสนแสบ สาเหตุสำคัญเกิดจากการรั่วซึมตามจุดที่เป็นข้อต่อต่างๆ เช่น ข้อต่อระหว่างท่อส่งก๊าซกับหม้อต้มหรือข้อต่อระหว่างท่อกับตัวกรองแก๊ส เป็นต้น ตัวถังบรรจุก๊าซ แอลเอ็นจีไม่ได้รับความเสียหาย คุณสมบัติของแอลเอ็นจีจะมีน้ำหนักเบาและจุดติดไฟยาก เมื่อมีแก๊สรั่วซึมออกมาจากข้อต่อต่างๆ แก๊สก็จะไหลเวียนอยู่ในห้องเครื่องและลอยเข้าสู่ห้องผู้โดยสารซึ่งมีหลังคาผ้าใบปกคลุม ผสมกับออกซิเจนในอากาศในสัดส่วนที่เหมาะสม เกิดประกายไฟ เช่น การสันดาปของเครื่องยนต์นอกห้องจุดระเบิด (backfire) หรือ ถ้าเป็นเครื่องยนต์เบนซินมีสายหัวเทียนรั่วเกิดประกายไฟ ก็จะเกิดไฟลุกไหมคล้ายกรณีลูกโป่งสวรรค์ระเบิด

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่จะทำให้แก๊สระเบิดได้ต้องมี 3 องค์ประกอบ คือ แก๊สรั่ว, ออกซิเจนและประกายไฟ หากองค์ประกอบไม่ครบก็ไม่ระเบิด ดังนั้น เรื่องการกำกับดูแลมาตรฐานการติดตั้งก๊าซแอลเอ็นจีในเครื่องยนต์จึงมีความสำคัญมาก วิศวกรหรือช่างติดตั้งต้องมีความชำนาญ ผ่านการอบรมจาก ปตท. และมีการออกแบบระบบป้องกันก๊าซรั่วซึมที่มีมาตรฐาน เช่น จุดที่เป็นข้อต่อระหว่างท่อส่งแก๊สต้องมีท่อยางหุ้มหรือล้อมท่อเหล็กเอาไว้ เพื่อบังคับก๊าซที่รั่วซึมออกมาไม่ให้ไหลเข้าไปที่ห้องเครื่องยนต์และห้องผู้โดยสาร และถ้ายังมีก๊าซรั่วซึมออกนอกท่อยางที่หุ้มท่อเหล็ก ต้องมีระบบตรวจจับแก๊สและส่งสัญญาณเตือนภัย พร้อมกับระบายอากาศทันที