ThaiPublica > คอลัมน์ > คดี Insider Trading ประเดิมปีใหม่

คดี Insider Trading ประเดิมปีใหม่

18 มีนาคม 2016


พิเศษ เสตเสถียร

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2559 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ลงโทษผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลวงในหรือ Insider Trading จำนวน 2 คดี นับเป็นคดีแรกเริ่มประเดิมปีใหม่ 2559 ซึ่งมีข้อกฎหมายที่น่าสนใจทีเดียว

ก่อนอื่นขอยกมาตรา 241 ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งบัญญัติถึงความผิดเรื่อง Insider Trading มาไว้ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบและอ้างอิง

“ในการซื้อหรือขายซึ่งหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการซื้อหรือขายหรือเสนอซื้อหรือเสนอขาย หรือชักชวนให้บุคคลอื่นซื้อหรือขายหรือเสนอซื้อหรือเสนอขาย ซึ่งหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก โดยอาศัยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ที่ยังมิได้เปิดเผยต่อประชาชนและตนได้ล่วงรู้มาในตำแหน่งหรือฐานะเช่นนั้น และไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะกระทำเพื่อประโยชน์ต่อตนเองหรือผู้อื่น หรือนำข้อเท็จจริงเช่นนั้นออกเปิดเผยเพื่อให้ผู้อื่นกระทำดังกล่าวโดยตนได้รับประโยชน์ตอบแทน

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ บุคคลตามวรรคหนึ่งให้รวมถึง

(1) กรรมการ ผู้จัดการ ผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานหรือผู้สอบบัญชีของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือบริษัทที่มีหลักทรัพย์ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์

(2) ผู้ถือหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือบริษัทที่มีหลักทรัพย์ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ที่ถือหลักทรัพย์ตามมูลค่าที่ตราไว้เกินร้อยละห้าของทุนจดทะเบียน ในกรณีนี้ให้คำนวณมูลค่าหลักทรัพย์ของผู้ถือหลักทรัพย์โดยนับหลักทรัพย์ของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้ถือหลักทรัพย์ดังกล่าวรวมเป็นหลักทรัพย์ของผู้ถือหลักทรัพย์ด้วย

(3) เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ หรือกรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงานของตลาดหลักทรัพย์ หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งหรือฐานะที่สามารถล่วงรู้ข้อเท็จจริง อันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์อันได้จากการปฏิบัติหน้าที่

(4) ผู้ใดซึ่งเกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ และหรือการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์”

คดีแรก ผู้บริหารของบริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL ความผิดที่ว่านี้เป็นเรื่องมาจากการทำข้อตกลงระหว่าง GLOBAL กับบริษัท เอสซีจี ดีสทริบิวชั่น จำกัด (SCG) บริษัทย่อยของ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ในการที่ SCG จะเข้าถือหุ้นในบริษัท GLOBAL ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมด ด้วยการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ GLOBAL จะออกเสนอขายให้แบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement)

ข้อตกลงดังกล่าวเพิ่งได้รับการเปิดเผยต่อประชาชนเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2555 แต่พบว่าระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. – 23 ส.ค. 2555 กรรมการคนหนึ่งซึ่งเป็นกรรมการบริหารของ GLOBAL ได้อาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้น GLOBAL จำนวน 8,022,881 หุ้น และใบสำคัญแสดงสิทธิ GLOBAL-W จำนวน 3,500,700 หน่วย ผ่านบัญชีบุคคลใกล้ชิดอื่นหลายบัญชี

การกระทำดังกล่าวเป็นการซื้อหลักทรัพย์โดยอาศัยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อประชาชน ถือเป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก เป็นความผิดตามมาตรา 241 แต่ผู้ถูกกล่าวหายินยอมเข้าเปรียบเทียบปรับ ก.ล.ต. ก็เลยปรับไปเป็นเงิน 24,322,064.40 บาท นับว่าโทษปรับไม่เบา

คดีนี้เป็นคดีที่เหมือนๆ กับคดีก่อนๆ คือ ผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนแสวงหาประโยชน์จากราคาหุ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อประชาชน ซึ่งตามกฎหมายของเรา ถ้าผู้ถูกกล่าวหายอมเข้ารับการเปรียบเทียบปรับ คดีก็เป็นอันเลิกจบกันไป

ในเว็บเพจ “กฎหมายบริษัทและหลักทรัพย์” ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า แม้ “เรื่องของคดีจะจบไปแล้ว แต่สมาคมบริษัทจัดการลงทุนในฐานะสมาคมของผู้ลงทุนสถาบันของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์จะมาถามหาธรรมาภิบาล (good governance) ของผู้บริหาร GLOBAL อย่างกรณีของ 7-Eleven หรือไม่ ก็ต้องคอยดูกันต่อไป

http://www.bloomberg.com/news/articles/2013-06-04/
http://www.bloomberg.com/news/articles/2013-06-04/

รวมทั้งบริษัท เอสซีจี ดีสทริบิวชั่น จำกัด (SCG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ซึ่งลงทุนไปแล้ว 30% จะทำอย่างไร เพราะก็เป็นที่ทราบกันดีว่าเครือซิเมนต์ไทยนั้นเคร่งเรื่องธรรมาภิบาล”

ที่น่าสนใจในคดีนี้อย่างมากคือ นอกจากกรรมการบริหารแล้ว ยังมีกรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระอีกคนหนึ่งของ GLOBAL ได้ซื้อหุ้น GLOBAL จำนวน 75,000 หุ้น ในวันที่ 22 ส.ค. 2555 ด้วย ซึ่ง ก.ล.ต. พบพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าล่วงรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเข้าร่วมทุนดังกล่าว แต่กรรมการผู้นั้นไม่ยินยอมเข้ารับการเปรียบเทียบความผิด ก.ล.ต. จึงได้กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อให้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ตามธรรมดาเรามักจะได้ยินเรื่องที่กรรมการ ผู้บริหาร กระทำความผิดฐาน Insider Trading แต่คดีนี้มีกรรมการอิสระที่เป็นกรรมการตรวจสอบเป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วย เรามักจะสงสัยว่าการที่เป็นกรรมการอิสระก็ดี หรือกรรมการตรวจสอบก็ดี มีความรับผิดชอบที่กฎหมายกำหนดเพิ่มขึ้นจากกรรมการทั่วไป จะมีความรับผิดทางกฎหมายแตกต่างไปจากคนที่เป็นกรรมการทั่วไปหรือไม่

คำตอบก็คือ ไม่มีความแตกต่าง เหตุผลก็เพราะถือกันว่า กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบทำหน้าที่ตรวจตราเรื่องต่างๆ นั้นเป็นเพียงหน้าที่ที่เป็นที่ปรึกษา (Advisory Roles) และนำเสนอให้คณะกรรมการของบริษัทพิจารณาให้ความเห็นชอบในชั้นสุดท้าย ในทางกฎหมาย กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ รวมไปถึงกรรมการอื่น เช่น กรรมการค่าตอบแทน กรรมการสรรหา ฯลฯ ก็ไม่มีความรับผิดที่แตกต่างไปจากกรรมการทั่วไป

แต่กรรมการเหล่านี้จะมีบทบาทและหน้าที่ที่แตกต่างไปจากกรรมการอื่น เช่น คณะกรรมการตรวจสอบ ตามประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง คุณสมบัติและขอบเขตการดําเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบ เป็นต้น

อีกคดีหนี่งก็มีความน่าสนใจไม่น้อย เป็นคดีผู้บริหารบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI คดีนี้ ก.ล.ต. ได้รับแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ขณะเกิดเหตุ ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารของ BKI เสนอให้มีการจ่ายหุ้นปันผลให้กับผู้ถือหุ้น BKI ในอัตราส่วน 5 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นปันผล เพิ่มเติมจากการจ่ายเงินปันผลตามปกติของ BKI จากผลการดำเนินงานประจำปี 2556 ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญและจะมีผลด้านบวกต่อราคาหุ้น BKI โดยผู้บริหารได้เปิดเผยข้อมูลนี้ให้แก่บุคคลอื่นทราบ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้ซื้อหุ้น BKI ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2557 ก่อนที่ข้อมูลดังกล่าวจะถูกเปิดเผยต่อบุคคลทั่วไปในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 จึงเป็นการเอาเปรียบบุคคลภายนอก การกระทำของผู้บริหารจึงเป็นความผิดตามมาตรา 241 ต้องระวางโทษตามมาตรา 296

คดีนี้เป็นคดีที่ผู้บริหารมิได้ทำการซื้อขายหุ้นของตนเองโดยตรง แต่มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อประชาชนแก่บุคคลอื่น ให้บุคคลอื่นนั้นไปซื้อขายหุ้นและได้ประโยชน์ไป ฝรั่งเรียกการให้ข้อมูลแบบนี้ว่า Tipper-Tippee คือมีผู้ให้ข้อมูลและผู้รับข้อมูล ในต่างประเทศในปัจจุบัน การกระทำความผิดโดยกรรมการ และผู้บริหารลดน้อยลงมาก คดี Insider Trading ส่วนใหญ่เป็นการกระทำของ Tipper-Tippee ซึ่งวิธีการให้ข้อมูลมีมากมายหลายรูปแบบ มีทั้งที่เป็นการให้ข้อมูลโดยตรง ข้อมูลที่บอกกันมาหลายทอด หรือข้อมูลที่แอบได้ยินมา ฯลฯ

ผู้รับข้อมูลหรือ Tippee ยังไม่ชัดเจนในกฎหมายไทยว่าจะรวมถึงบุคคลดังกล่าวหรือไม่ แต่ผู้ให้ข้อมูลหรือ Tipper นั้นผิดแน่นอน เพราะ มาตรา 241 ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ได้กำหนดให้การ “ชักชวนให้บุคคลอื่นซื้อหรือขาย” เป็นการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดด้วย โดยผู้กระทำผิดไม่ได้ซื้อขายเอง

เรื่องนี้ผู้บริหารเข้ารับการลงโทษทางอาญาโดยการถูกปรับ ส่วนโทษที่ลงนั้น ตามปกติต้องปรับเป็นเงินไม่เกินสองเท่าของผลประโยชน์ที่บุคคลนั้นๆ ได้รับไว้หรือพึงจะได้รับเพราะการกระทำฝ่าฝืนดังกล่าว แต่คดีไม่ปรากฏชัดว่า Tipper ได้รับประโยชน์จากการบอกข่าวให้ (แต่ตามข่าว ก.ล.ต. บอกว่า มูลค่าผลประโยชน์ที่บุคคลดังกล่าวได้รับเมื่อนำมาพิจารณากำหนดเป็นค่าปรับแล้วมีมูลค่าไม่สูง และยังต่ำกว่ามูลค่าเปรียบเทียบปรับขั้นต่ำ) ดังนั้น คณะกรรมการเปรียบเทียบจึงมีคำสั่งเปรียบเทียบปรับในจำนวนขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดเป็นเงิน 500,000 บาท

นอกจากนี้ ผู้บริหารคนดังกล่าวยังเป็นกรรมการของบริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับใบอนุญาตนายหน้า ค้า หรือจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน (LBDU) ซึ่งเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน การกระทำข้างต้นถือเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน จึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการของบริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้เป็นเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2559 และไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นบุคลากรในตลาดทุน ทั้งผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อื่นได้ในช่วงเวลาเดียวกัน

คดีนี้เป็นตัวอย่างอันดีของการกระทำผิดเกี่ยวกับ Tipper-Tippee ในประเทศไทย ซึ่งกฎหมายของเรายังไปไม่ถึง ซึ่งก็คงจะต้องมีการพิจารณากันต่อไปว่าจะแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้อย่างไร

ความผิดฐาน Insider Trading แรกเริ่มของปีใหม่ 2559 นี้ก็มีข้อกฎหมายเป็นที่น่าสนใจเสียแล้ว คิดว่าต่อๆ ไปจะต้องมีอะไรที่เป็นที่น่าสนใจตามมาอีก โปรดคอยติดตาม

ป้ายคำ :