ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 20-26 มี.ค. 2559: “แอร์พอร์ตลิงก์ขัดข้อง ผู้โดยสารขาดอากาศหายใจ” และ “‘แจส’ ไม่จ่ายค่าคลื่น เผย ‘พันธมิตรจีน’ ทำเรื่องไม่ทัน”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 20-26 มี.ค. 2559: “แอร์พอร์ตลิงก์ขัดข้อง ผู้โดยสารขาดอากาศหายใจ” และ “‘แจส’ ไม่จ่ายค่าคลื่น เผย ‘พันธมิตรจีน’ ทำเรื่องไม่ทัน”

26 มีนาคม 2016


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 20-26 มี.ค. 2559

  • แอร์พอร์ตลิงก์ขัดข้อง ผู้โดยสารขาดอากาศหายใจ
  • แจกราชการ 1.5 หมื่นล้าน กระตุ้นบริโภค
  • บึมบรัสเซลส์ ตายนับสิบ เจ็บนับร้อย “ไอซิส” เคลมผลงาน
  • คลังไล่บี้เบี้ยวหนี้ กยศ. เล็งมหาดไทยไม่ต่อบัตรประชาชน
  • “แจส” ไม่จ่ายค่าคลื่น เผย “พันธมิตรจีน” ทำเรื่องไม่ทัน
  • แอร์พอร์ตลิงก์ขัดข้อง ผู้โดยสารขาดอากาศหายใจ

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์คมชัดลึก (http://www.komchadluek.net/detail/20160321/224464.html)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์คมชัดลึก (http://www.komchadluek.net/detail/20160321/224464.html)

    เว็บไซต์คมชัดลึกเว็บไซต์คมชัดลึก รายงานว่า วันที่ 21 มี.ค. 2559 เกิดเหตุรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์สายมุ่งหน้าจากสถานีสนามบินสุวรรณภูมิไปพญาไทเกิดการขัดข้องที่ช่วงระหว่างสถานีหัวหมากและสถานีรามคำแหง

    จากคำบอกเล่าของผู้ประสบเหตุหลายรายในข่าวสามารถสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ว่า หลังขบวนรถหยุดชะงักได้ 10 นาที ระบบเครื่องปรับอากาศก็หยุดทำงานจนอากาศเริ่มร้อนและมีผู้เป็นลม โดยพนักงานผู้ควบคุมขบวนได้เปิดประตูท้ายรถเพื่อให้อากาศถ่ายเท แต่ด้วยความที่ขบวนรถยาวมากทำให้อากาศถ่ายเทได้ไม่สะดวกเพียงพออยู่ดี ผู้โดยสารจึงตัดสินใจทุบกระจกและที่เปิดประตูฉุกเฉิน จนสามารถออกมาจากขบวนรถได้ แต่ก็เป็นไปโดยทุลักทุเล เนื่องจากผู้โดยสารบางส่วนเป็นลมไป อีกทั้งรถอีกขบวนที่นำมาเทียบก็ไม่สามารถลากรถขบวนที่ขัดข้องไปได้ จึงใช้ขนถ่ายผู้โดยสารบางส่วนไปที่สถานีหัวหมากแทน

    ทั้งนี้ เหตุการณ์เริ่มต้นเวลาประมาณ 07.40 น. และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์กลับมาให้บริการตามปรกติได้ในเวลาประมาณ 10.30 น. โดยเหตุดังกล่าวทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บต้องส่งโรงพยาบาล 6 ราย

    ด้าาน พล.อ. ดรัณ ยุทธวงษ์สุข กรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ระบุว่า สาเหตุเกิดขึ้นจากระบบไฟฟ้าขัดข้องบริเวณรามคำแหง ประกอบกับช่วงสถานีรามคำแหงเครื่องสำรองไฟซึ่งถูกใช้งานมา 5 ปีแล้วไม่สามารถใช้งานได้ จึงส่งผลให้ขบวนรถไฟฟ้าดังกล่าวต้องหยุดทำการเดินรถและค้างอยู่กลางสถานี

    ในส่วนของมาตรการรองรับหลังจากนี้ แอร์พอร์ตลิงก์จะหารือร่วมกับการไฟฟ้านครหลวงถึงแนวทางแก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับบริเวณดังกล่าว ขณะที่การแก้ไขปัญหาของแอร์พอร์ตลิงก์ปัจจุบันได้เสนอไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดให้พิจารณาจัดซื้อเครื่องสำรองไฟใหม่ทั้งหมด 8 สถานี งบประมาณข้างต้นราว 34 ล้านบาท เนื่องจากเครื่องสำรองไฟที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีอายุมาแล้วประมาณ 5 ปี และพบว่าบางสถานีไม่สามารถใช้การได้ โดยกระบวนการในขณะนี้ได้ยื่นเสนอไปยัง ร.ฟ.ท. แล้วเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา พร้อมทั้งรายงานให้นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รับทราบแล้ว ซึ่งคาดว่าจะเร่งรัดดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้

    แจกราชการ 1.5 หมื่นล้าน กระตุ้นบริโภค

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์มติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news/77396)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์มติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news/77396)

    วันที่ 21 มี.ค. 2559 เว็บไซต์มติชนออนไลน์ รายงานว่านายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบ เป็นมาตรการที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างเหมาะสม และดูแลกลุ่มคนที่มีความจำเป็นต้องดูแลเพิ่มเติม ส่วนหนึ่งเป็นมาตรการบ้านประชารัฐ ซึ่งนอกจะทำให้คนมีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยแล้ว ยังทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก

    นอกจากนี้ เว็บไซต์มติชนออนไลน์ยังอ้างรายงานจากรายงานข่าวกระทรวงการคลังว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 จากมาตรการการคลังครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่วงเงิน 1.36 แสนล้านบาท และครั้งที่ 2 เป็นมาตรการเพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้าน 3.5 หมื่นล้านบาท สำหรับมาตรการรอบ 3 จะมีมาตรการใหม่เพิ่มเติม คือการแจกเงินให้กับราชการเป็นวงเงินรวม 1.5 หมื่นล้านบาท โดยให้กับข้าราชการระดับล่างและกลางที่ไม่มีเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งมีอยู่จำนวน 1 ล้านคน ได้เงินคนละประมาณ 1,000 กว่าบาท คาดว่าจะจ่ายเงินให้ได้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในช่วงวันหยุดยาว เพื่อกระตุ้นการบริโภคให้เกิดความคึกคักทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพิ่ม เหมือนกับการลดภาษีช็อปปิ้งของรัฐบาลในช่วงส่งท้ายปีเก่า 2558 ที่ผ่านมา

    “การแจกเงินข้าราชการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต่อรายเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่ในภาพรวมเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ทำให้เกิดความคึกคักทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น และข้าราชการเป็นกลุ่มที่ยังไม่เคยได้รับความช่วยเหลือมาเลย

    บึมบรัสเซลส์ ตายนับสิบ เจ็บนับร้อย “ไอซิส” เคลมผลงาน

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (http://www.thairath.co.th/content/594707)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (http://www.thairath.co.th/content/594707)

    วันที่ 22 มี.ค. 2559 เกิดเหตุระเบิด 3 ครั้งในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยสองครั้งแรกเกิดบริเวณใกล้กับเคาน์เตอร์เช็คอินของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ส ภายในอาคารผู้โดยสารขาออก สนามบินนานาชาติซาเวนเทม และการระเบิดอีกครั้งเกิดขึ้นบริเวณสถานีรถไฟใต้ดินมาลบีค ใกล้ที่ตั้งสำนักงานใหญ่สหภาพยุโรป โดยการระเบิดทั้งหมดทำให้มีผู้เสียชีวิต 34 ราย และบาดเจ็บกว่า 170 ราย

    ทั้งนี้ ตามรายงานของเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ เหตุระเบิดดังกล่าว เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากทางการเบลเยียมจับกุมตัวนายซาเลาะห์ อับเดสลาม ผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวในกลุ่มผู้ก่อเหตุโจมตีกรุงปารีสของฝรั่งเศสเมื่อ 13 พ.ย. ปีก่อน (2558) ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 130 ราย โดยกลุ่มไอซิสอ้างตัวเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดครั้งนั้น

    และในครั้งนี้ ล่าสุด กลุ่มไอซิสก็ได้โพสต์แถลงการบนโลกออนไลน์ อ้างตัวเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดหลายระลอกในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียมดังกล่าว มีใจความว่า

    “นักรบของรัฐอิสลามก่อเหตุระเบิดหลายระลอกด้วยเข็มขัดและวัตถุระเบิดในวันอังคาร มีเป้าหมายที่สนามบินและสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินในย่านใจกลางกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม ประเทศซึ่งเข้าร่วมในกองกำลังพันธมิตรนานาชาติต่อต้านรัฐอิสลาม โดยนักรบของรัฐอิสลามได้เปิดฉากยิงปืนในสนามบินซาเวนเทม ก่อนที่นักรบหลายคนจะจุดระเบิดที่เข็มขัดของตัวเอง ในขณะเดียวกับที่มือระเบิดพลีชีพเพื่อศาสนาจุดระเบิดที่สถานีรถไฟใต้ดินมาลบีค การโจมตีเหล่านี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากกว่า 230 คน”

    คลังไล่บี้เบี้ยวหนี้ กยศ. เล็งมหาดไทยไม่ต่อบัตรประชาชน

    นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ที่มาภาพ: เว็บไซต์มติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news/83094)
    นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์มติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news/83094)

    เว็บไซต์มติชนออนไลน์ รายงานว่านายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม กยศ. ได้ลงนามกับองค์กรนายจ้าง 36 หน่วยงาน ทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวช่วยหักบัญชีเงินเดือนของลูกจ้างที่เป็นลูกหนี้ กยศ. โดยก่อนหน้านี้ กยศ. ได้ลงนามกับหน่วยงานต้นแบบ 5 แห่ง คือ กรมบัญชีกลาง, บริษัท บาธรูม ดีไซน์ จำกัด, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และวิทยาลัยเทคโนโลยีตะวันออก ไปแล้วได้ผลเป็นอย่างดี โดยจะพยายามผลักดันให้หน่วยงานราชการทั้ง 200 แห่ง และรัฐวิสาหกิจ 50 แห่งเข้าร่วมให้มากขึ้น

    ในส่วนของข้าราชการที่เป็นหนี้ กยศ. และไม่ยอมใช้หนี้กว่า 6 หมื่นรายนั้น จะพยายามให้ข้าราชการทั้งหมดใช้หนี้ด้วยการขอให้หน่วยงานราชการมาเข้าร่วมโครงการกับ กยศ. ทั้งหมด ซึ่งการลงนามระหว่างหน่วยงานนายจ้างกับ กยศ. จะทำให้สามารถหักบัญชีรายเดือนสำหรับคนที่เป็นหนี้ได้ โดยหักต่อเดือนไม่มาก เพียง 100 บาท สำหรับหนี้ 1 แสนบาท หรือปีละประมาณ 1,500 บาท ดีกว่าถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและต้องออกจากราชการ

    นอกจากนี้ ยังเตรียมไปหารือกับสำนักงานประกันสังคม ในการเช็คข้อมูลผู้กู้ที่มีการทำประกันสังคมเพื่อตามมาชำระหนี้ รวมถึงกำลังประสานไปยังกระทรวงมหาดไทย ขอให้ไม่ต่ออายุบัตรประชาชนให้ผู้ที่ไม่ใช้หนี้ กยศ. ซึ่งกระทรวงมหาดไทยกำลังไปดูว่าผิดกฎหมายหรือผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่

    “แจส” ไม่จ่ายค่าคลื่น เผย “พันธมิตรจีน” ทำเรื่องไม่ทัน

     ที่มาภาพ: เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ (http://goo.gl/2a9WXJ)

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ (http://goo.gl/2a9WXJ)

    วันที่ 21 มี.ค. 2559 เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า พ.อ. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า ณ เวลา 16.30 น. ซึ่งถือว่าเป็นเวลาสิ้นสุดการรอให้บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด มาชำระเงินประมูลงวดแรก จำนวน 8,040 ล้านบาท พร้อมหนังสือรับรองค้ำประกันทางการเงิน (แบงก์การันตี) แล้ว แต่ปรากฏว่า แจสไม่ได้ติดต่อและไม่ได้เข้ามาชำระเงินจำนวนดังกล่าวแต่อย่างใด ทำให้ กสทช. ต้องยึดตามมติที่ประชุม กทค. เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2559 ซึ่งประกอบด้วย 4 ข้อ คือ

    1. ริบเงินหลักประกันการประมูล จำนวน 644 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้เป็นเช็คเงินสดที่สามารถนำไปขึ้นเงินได้ทันที นอกจากนี้ ยังจะต้องเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย หรือประกาศที่กำหนดไว้เพิ่มเติม และจะตรวจสอบคุณสมบัติของการเป็นผู้ประกอบกิจการที่รับใบอนุญาตเดิมจาก กสทช. ทั้งกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

    2. หากมีการประมูลใหม่ ราคาเริ่มต้นต้องเป็นราคาที่แจสชนะประมูล คือ 75,654 ล้านบาท เพื่อให้ความเป็นธรรมต่อบริษัทที่ชนะการประมูลและมาชำระแล้ว คือ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด

    3. การประมูลครั้งใหม่ไม่มีการตัดสิทธิผู้ชนะการประมูลที่ได้ชำระเงินค่าประมูลเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้มีผู้เข้าร่วมประมูลมากราย และ

    4. หากมีการประมูลครั้งใหม่ สามารถทำได้ภายใน 4 เดือน แต่หากไม่มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลต้องเก็บคลื่นความถี่ไว้ไม่น้อยกว่า 1 ปี และราคาเริ่มต้นก็ยังคงต้องไม่ต่ำกว่าราคาที่แจสชนะการประมูล

    อย่างไรก็ตาม กทค. จะมีการประชุมเพื่อสรุปแนวทางทั้งหมดในวันที่ 23 มี.ค. นี้ เพื่อสรุปเป็นมติที่ประชุมว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง และรายงานให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบต่อไป ซึ่งก็แล้วแต่ว่านายกฯ จะมีข้อเสนอแนะหรือแสดงความคิดเห็นอย่างไร

    ทั้งนี้ ตามรายงานจากเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์วันที่ 22 มี.ค. 59 นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ชี้แจงว่า ที่แจสโมบายไม่สามารถนำหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินจำนวนประมาณ 72,000 ล้านบาท มามอบให้แก่สำนักงาน กสทช. ได้ เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศจีน (ซึ่งสนใจร่วมลงทุนในแจสโมบาย และได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งของประเทศจีน) ติดข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาในการขออนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องของประเทศจีน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางเดือนเมษายน 2559 ไม่ทันกำหนดระยะเวลา 90 วันตามที่ระบุใบประกาศ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ก็ไม่สามารถผ่อนปรนหรือผ่อนเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาใดๆ ตามที่ระบุไว้ในประกาศ กสทช. ดังกล่าวให้แก่แจสโมบายได้ ทำให้แจสโมบายไม่สามารถนำหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินจำนวนประมาณ 72,000 ล้านบาท มามอบให้แก่สำนักงาน กสทช. ได้ตามกำหนดเวลา

    ขณะเดียวกัน ทางด้านเว็บไซต์สำนักข่าวประชาไท ได้แผยแพร่ข้อเขียนของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ต่อกรณีดังกล่าว ซึ่งมีใจความว่า

    1. การเรียกค่าเสียหายจากส่วนต่างของมูลค่าการประมูลที่ผ่านมากับมูลค่าการประมูลครั้งใหม่ จะมีความซับซ้อนพอสมควร และต้องดำเนินการในทางแพ่ง โดยผลจะเป็นอย่างไรจะขึ้นกับการประมูลของ กสทช. และการห้าม (แบล็กลิสต์) ผู้ถือหุ้นใหญ่ของแจสเข้าร่วมในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการต่างๆ จาก กสทช. ในอนาคต เป็นสิ่งที่ กสทช. อาจทำได้ แต่ต้องเป็นไปอย่างได้สัดส่วน

    2. กสทช. ไม่ควรเก็บคลื่นที่แจสประมูลได้ไว้นานเป็นปีอย่างที่เคยให้ข่าว เพราะจะทำให้ประเทศเสียโอกาสจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรสาธารณะที่มีมูลค่ามหาศาล นอกจากนี้ การประมูลที่ล่าช้าจะทำให้การเรียกค่าเสียหายจากแจสทำได้ยากขึ้น เพราะไม่ทราบมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง กสทช. ควรจัดการประมูลใหม่โดยเร็ว เช่น ภายใน 2-3 เดือน เพราะสังคมมีความต้องการใช้คลื่นความถี่ และทำให้มูลค่าคลื่นไม่ตกลงมาก

    3. แนวคิดของ กสทช. ที่ต้องการให้การประมูลใหม่ต้องได้ราคาไม่ต่ำกว่าราคาที่แจสชนะประมูลคือ 75,654 ล้านบาทไม่สมเหตุผล เพราะเป็นราคาที่สูงกว่าผู้ประมูลรายอื่นที่เหลือทั้ง 3 รายเคยเสนอไว้ กสทช. ควรนำคลื่นมาประมูลใหม่โดยเริ่มที่ราคาสุดท้ายที่ผู้ประกอบการทุกรายยังรับได้คือ 70,180 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ผู้ประกอบการรายแรกที่ออกจากการประมูลเสนอไว้เป็นครั้งสุดท้าย นอกจากนี้ การประมูลครั้งใหม่ ควรให้ผู้ชนะการประมูลครั้งเดิมคือ ทรู เข้าร่วมประมูลด้วย ทั้งเพื่อเพิ่มการแข่งขันในการประมูล และให้ความเป็นธรรมแก่ทรูในการได้คลื่นความถี่เพิ่ม หากเห็นว่าราคาที่ผู้ประกอบการอื่นเสนอนั้นต่ำเกินไป

    ทั้งนี้ อีกทางเลือกหนึ่งในการประมูลคือ การตั้งต้นการประมูลที่ราคาซึ่งแจสประมูลได้ แล้วค่อยๆ ลดราคาลงมาจนกว่าจะมีผู้ยอมรับราคา ซึ่งเรียกว่า “การประมูลแบบดัทช์” (Dutch auction) ตามที่เป็นข่าว อย่างไรก็ตาม การประมูลแบบนี้อาจทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อสาธารณชน เพราะเมื่อเวลาผ่านไป รัฐจะได้ราคาต่ำลง ตรงกันข้ามกับ “การประมูลแบบอังกฤษ” (English auction) ซึ่งทำให้ราคาสูงขึ้นดังเช่นการประมูลที่ผ่านมา

    4. ในการประมูลครั้งใหม่ กสทช. ควรเรียกเก็บค่าประกันการประมูลที่สูงขึ้น เช่น ให้ใกล้เคียงกับราคาตั้งต้น เพื่อป้องกันปัญหาที่ผู้ชนะการประมูลทิ้งใบอนุญาตอีก

    5. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ควรตรวจสอบการซื้อขายหุ้นและธุรกรรมอื่นๆ ของบริษัทที่เกี่ยวข้องว่ามีธุรกรรมใดผิดปรกติในลักษณะที่เป็นการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือไม่ เพราะในช่วงที่ผ่านมา บางบริษัทมีธุรกรรมจำนวนหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ถือหุ้นกลุ่มต่างๆ ได้